ผู้เขียน หัวข้อ: The Fountain , เรารู้จักความตายมากมายแค่ไหนกัน (ศาสนา+จิตวิทยา+วิทยาศาสตร์)  (อ่าน 1076 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


...ผมมีโจทย์ให้ลองตอบเล่นๆอยู่สองข้อ

1.ถ้าคนที่คุณรัก อาจจะเป็น พ่อ แม่ ลูก หรือ คู่ชีวิต ป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้ายที่รู้ว่าใกล้ตายในไม่กี่วันข้างหน้า และ รักษาไม่หายแน่ๆ

คุณอยากให้เขาหรือเธอ ใช้เวลาในช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างไร จะยินยอมให้หมอผ่าตัดครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อยืดเวลา จะใช้ยาเคมีบำบัดพร้อมรอใส่เครื่องช่วยหายใจให้หมอยื้อชีวิตเต็มที่ หรือ อยากจะพาเขากลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านกับคนที่รักและห่วงใย

ลองคิดคำตอบไว้ในใจ

แล้วมาดูโจทย์ข้อที่ 2.


2.ถ้าคุณป่วยเป็นมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้ายที่รู้ว่าใกล้ตายในไม่กี่วันข้างหน้า และ รักษาไม่หายแน่ๆ

คุณอยากจะใช้เวลาในช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างไร จะยินยอมให้หมอผ่าตัดครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อยืดเวลา จะใช้ยาเคมีบำบัดพร้อมรอใส่เครื่องช่วยหายใจให้หมอยื้อชีวิตเต็มที่ หรือ อยากจะกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านกับคนที่รักและห่วงใย


หากเราได้มองด้วยใจในโจทย์ทั้งสองข้อ เราก็จะพอเข้าใจ สิ่งที่เกิดขึ้นกับ พระเอกและนางเอกในหนังเรื่องนี้

... บางคน อาจตอบข้อ1 กับ ข้อ 2 ไม่เหมือนกัน เพราะ หวังอยากจะให้คนที่เรารักมีชีวิตยืนยาว อยากได้มีโอกาสอยู่กับเขาให้นานที่สุด อยากจะหวังปาฏิหาริย์ที่จะเรียกชีวิตของคนรักกลับมา หรือ กลัวว่า คนรักของเราจะมองว่า เราพยายามช่วยเหลือเขาไม่เต็มที่

แต่พอมาถึงตัวเอง ลองคิดให้ดีๆ ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต เราอยากจากไปในหอพักผู้ป่วยที่เต็มไปด้วยสายระโยงระยางและคนไม่รู้จัก หรือ อยากอยู่ในอ้อมกอดของคนรักในสถานที่ที่เราเคยมีความสงบสุขยามมีชีวิต


...เรื่องของ พระเอกและนางเอกคู่หนึ่ง สองชีวิตที่กำลังจะต้องพรากจากกัน

 


ทอม เป็นทั้งหมอและนักวิทยาศาสตร์ ผู้พยายามค้นคว้าหาวิธีการที่จะ Stop dying

อิซซี่ เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่ค้นพบวิธีการ Accept dying

...Elisabeth Kübler-Ross ไม่ได้เป็นตัวละครในหนังเรื่องนี้ แต่เธอเป็นจิตแพทย์ ผู้ให้ความสนใจกับชีวิตของกลุ่มผู้ป่วยใกล้ตาย ได้มีงานวิจัยและศึกษาออกมาพบว่า ปฎิกิริยาเมื่อคนพบเจอกับการสูญเสียจะแบ่งเป็น 5 ระยะ เช่น ถ้ารู้ว่าภรรยากำลังจะเสียชีวิตจากมะเร็งระยะสุดท้ายที่ไม่มีทางรักษาในไม่กี่วันข้างหน้า

1.Denial : การปฏิเสธความจริง เช่น ผมไม่เชื่อ ภรรยาผมไม่ได้เป็นอะไร

2.Anger : โกรธขึ้ง โกรธหมอที่รักษาไม่หาย โกรธพระเจ้าที่ทำให้ต้องเป็นเช่นนี้

3.Bargaining : ต่อรอง เช่น ขอเวลาอีกซักสองปีเถอะ ให้ภรรยาผมได้ฉลองวันเกิดครบห้าขวบของลูกก่อน

4.Depression : ตกอยู่ในภาวะหดหู่ซึมเศร้า

5.Acceptance : ยอมรับในความตายที่กำลังจะมาถึง

...สภาวะจิตพระเอกของเรา ขึ้นๆลงๆอยู่ในระยะที่ 1-4 ยกเว้นขั้นตอนสุดท้ายซึ่งยากที่ใครจะยอมรับได้ง่ายๆ ในขณะที่นางเอกอยู่ในขั้นตอนนั้นแล้ว

ด้วยเหตุนี้ พระเอกจึงพยายามทุกวิถีทาง ใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องแล็บ เพื่อค้นหาวิธียืดชีวิตให้กับภรรยา โดยไม่ทันรู้ตัวว่า เวลาที่สูญเสียไป คือ ความเดียวดายของภรรยา ที่รอคอยคนรักมาอยู่เคียงข้างในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

...หนังเริ่มต้นในยุคสมัยปัจจุบัน ก่อนจะนำเสนอภาพชีวิตของพระเอกนางเอก ในโลกสามใบ สามยุคสมัย ซึ่งเชื่อมต่ออดีตกับปัจจุบันโดยมี นิยายเรื่อง The Fountain ที่นางเอกเขียนทิ้งไว้ให้พระเอกเป็นสื่อกลาง และ เชื่อมต่อปัจจุบันกับอนาคตด้วย ชิบาลบา ดวงดาวและหมอกควันที่กำลังจะดับสูญ


 


ในช่วงเวลาปัจจุบัน พระเอกที่เป็นทั้งหมอและนักวิทยาศาสตร์ หมกมุ่นกับการค้นหาวิธีรักษามะเร็งให้หายขาด โดยใช้ส่วนผสมจากยางต้นไม้ชนิดหนึ่งมาทดลองผ่าตัดในสัตว์ทดลอง เขาหวังว่า หากทำสำเร็จจะสามารถยืดชีวิตคนรักที่เป็นมะเร็งสมองระยะสุดท้าย

ในช่วงเวลาอดีต ภาพเหตุการณ์ในประเทศสเปน เกิดขึ้นตามนิยาย The Fountain ที่ภรรยาเขียนทิ้งไว้ เขาเป็นทหารเอกของราชินี พยายายามค้นหา Tree of life ที่จะก่อกำเนิดชีวิตและอยู่กับราชินีตลอดไป เขาต้องเอาชีวิตเข้าเสี่ยงภัยเพื่อค้นหาต้นไม้ในตำนานที่มีมาแต่โบราณกาล ตั้งแต่ยุคสมัยอดัมกับอีฟ

ในโลกอนาคต เขาอาศัยในห้องทรงกลมที่ลอยอยู่กลางอวกาศ เขาเพียรพยายามบอกต้นไม้ตัวแทนชีวิตของภรรยาที่จะมีปฏิกิริยาตอบสนองยามเขากระซิบใกล้ ว่า จะหาทางเยียวยารักษาให้มีชีวิตสืบกลับมาขอเพียงว่าอย่าเพิ่งตายจากไป และเขาก็จะหลุดลอยไปในยุคอดีตครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อพยายามไปให้บรรลุจุดหมาย

โลกทั้งสามใบคืออะไร ?


อาจจะเป็นเรื่องราวตามหลักศาสนา ที่พูดถึงชาติภพ ที่พระเอกเวียนว่ายตายเกิดขึ้นกับชีวิตรูปแบบเดิมๆเหมือน เป็น กรรม ที่ต้องใช้ชีวิตวนตามวงจรเดิม ตราบเท่าที่พระเอกยังไม่อาจหลุดพ้น

อาจจะเป็นวิทยาศาสตร์ ที่พระเอกในโลกอนาคต เป็น จุดศูนย์กลางเรื่อง พยายามย้อนอดีตจนกว่าจะสามารถหาทางรักษาคนรักได้

หรือ อาจจะว่าด้วยทฤษฎีทางจิตวิทยา ว่าด้วย การทำงานของจิตใต้สำนึกเช่น ในฝัน ที่ภาพในปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยสัญลักษณ์ต่างๆนานามาผสมปนเปกัน(condensation) โดยความเป็นจริงคือพระเอกในปัจจุบัน ส่วนอดีตและอนาคตคือสภาวะจิตของพระเอก ในช่วงอดีตเป็นความฝันที่ดึงเอา นิยายเรื่อง the Fountain ไปผสมกับชีวิตจริงของตัวเอง(สังเกตว่าพระเอกจะหลับแล้วตื่นหลังจากช่วงอดีต) ส่วนในอนาคต คือ สภาพจิตของพระเอกที่กำลังพยายามต่อสู้เพื่อยื้อชีวิตคนรัก

ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีใด ทั้งสามโลกล้วนมีจุดร่วมที่เราเห็นในคนๆเดียว คือ





ชายหนุ่มที่กำลังจะสูญเสียคนรัก
ชายหนุ่มที่ไม่อาจยอมรับสัจธรรมความจริงของชีวิต
ชายหนุ่มที่หมกมุ่นกับการหา ความเป็นอมตะ
ชายหนุ่มที่ไม่อาจละวาง
ชายหนุ่มที่แหวนหายไป


ชายหนุ่มจากโลกทั้งสามคือคนเดียวกัน อาจจะเป็น การชดใช้กรรมต่างชาติภพ อาจจะเป็นคนๆเดิมพยายามย้อนเวลา หรือ เป็นคนๆเดียวที่ภายในจิตใต้สำนึกกำลังทำงานอย่างหนัก

แต่ไม่ว่าจะเป็นโลกไหน เราก็จะเห็นภาพของการยึดติด ผ่านสัญลักษณ์ที่สื่อออกมาจากสามยุคสมัย



 


อดีต – การดิ้นรนหายาอมตะและดื่มกินอย่างตะกละตะกลาม

ปัจจุบัน – การไม่ยอมกลับบ้าน การเลือกเดินไปผ่าตัดแทนที่จะออกไปเดินเล่นกับภรรยาเมื่อเธอร้องขอ

อนาคต - การติดอยู่ในกรอบทรงกลม

.. ไม่แปลกอะไร ที่ ทอมจะหาแหวนแต่งงานไม่เจอ




เพราะ แหวนแต่งงาน คือ สัญลักษณ์ของชีวิตคู่ การอยู่ร่วมกัน ความรักและความผูกพัน

แหวนที่หายไป ก็สื่อให้เห็นว่า ช่วงเวลาเหล่านั้นของทอม คือ การทิ้งห่างจากคนรักและเป็นช่วงเวลาที่ปล่อยให้ความรักอยู่ห่างออกไป ทอดทิ้งให้อิซซี่ต้องเผชิญความตายเพียงลำพัง

ยิ่งเขาพยายามเท่าไหร่ เขายิ่งไม่มีทาง หาแหวนวงนั้นพบ

เพราะสิ่งที่เขาพยายาม ไม่ใช่ สิ่งที่ภรรยาต้องการ สิ่งที่เขาตามหาคือการฝืนสัจธรรมความเป็นจริงตามธรรมชาติ

แต่ สิ่งที่เธอต้องการมากที่สุดในช่วงเวลาสุดท้ายของเธอ คือ การใช้เวลาอยู่เคียงคู่กัน




...อิซซี่ พยายามบอก ทอม หลายหนว่า “ทำให้มันจบซะ” การทำให้จบของเธอมิได้แปลว่า การหายาที่จะทำให้เธอมีชีวิตเป็นอมตะ แต่ เธออยากให้เขาได้หลุดพ้นจากทุกข์ที่มันเกาะเกี่ยวใจ

เพราะ

การยึดติดของ ทอม ก็มีค่าเท่ากับการวนเวียนใน 4 ระยะของ Elisabeth Kübler-Ross และ เท่ากับการใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในสงสารวัฏ ไม่อาจละจากกิเลสไปได้

...จนกระทั่งในตอนจบ โลกทั้งสามใบก็เวียนมาบรรจบกัน และ แหวนวงนั้นก็กลับมาเป็นสัญลักษณ์บอกเราว่า พระเอกของเราได้กลับมาอยู่กับภรรยาที่รักได้สำเร็จ ไม่ใช่แค่ในระดับกายภาพ(Physical) ที่ตัวอยู่ข้างๆแต่ใจลอยไปอยู่ห้องแล็บ แต่ ลึกลงถึงในระดับจิตวิญญาณ(Psychological-Spiritual)ที่อยู่เคียงคู่ภรรยาทั้งดวงจิตทั้งชีวิตที่มี

...การยอมรับความจริง การปล่อยวาง ความหลุดพ้นจากการยึดติด ได้แสดงออกผ่านสัญลักษณ์ของโลกทั้ง 3 ใบ


 


พระเอกในอดีต – ไม่กลัวและสามารถยอมรับความตายตรงหน้า แต่ก็อดไม่ได้ที่จะคว้าความเป็นอมตะ สุดท้ายก่อเกิดชีวิตใหม่ขึ้นมาแทนที่ชีวิตเก่าที่ดับสูญไป ดั่งที่ในตอนต้นหนังบอกเราแล้วว่า การดับสูญอยู่เคียงคู่กับการก่อเกิด

พระเอกในปัจจุบัน - ยอมรับความจริง ตัดสินใจปล่อยวาง และ เดินตามภรรยาที่ขอร้องให้ไปเดินเล่นด้วยกัน แทนที่จะเข้าไปผ่าตัดเพื่อหาวิธีเอาชนะธรรมชาติต่อในห้องแล็บ

พระเอกในอนาคต - ล่องลอยออกจากกรอบทรงกลมที่ขังเขาไว้ตลอดมา และ นำไปสู่การหลุดพ้นอย่างแท้จริง




...และสุดท้าย ทฤษฏีทางจิตวิทยา และ ศาสนา ก็มาบรรจบในจุดเดียวกัน เพราะต่างก็พูดในเรื่องเดียวกัน

ระยะ Acceptance ตามทฤษฎีของ Elisabeth Kübler-Ross ของพระเอก ก็เท่ากับ การปล่อยวางจนสามารถหลุดพ้นจากการยึดติดตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา

เมื่อเขาได้ค้นพบว่า การอยู่ด้วยกันชั่วนิรันดร์เกิดขึ้นได้จริง แต่มิใช่ การต่อสู้ดึงดันฝืนธรรมชาติด้วยการพยายามเอาชนะความตาย เพราะใดๆในโลกล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ สุดท้ายก็ต้องดับไป และเมื่อถึงคราดับไปนี้เอง ที่ทั้งคู่จะมีโอกาสได้อยู่ด้วยกันตลอดกาล

ช่วงเวลาที่ยาวนานแต่อยู่อย่างไร้คุณภาพ ต่อให้เป็นอมตะ ก็ไม่มีความหมายอันใด เมื่อเทียบกับ เวลาเพียงชั่วสั้นๆแม้เพียง สองนาที ที่เราสองคนได้อยู่คู่กัน แล้วก่อเกิดความสุขความผูกพันที่จะจดจำไปตลอดชั่วชีวิต

จะมีชีวิตเป็นอมตะไปเพื่ออะไร หากชีวิตที่เหลือจากนั้นคือ การดูคนรักของเราจากไป และ หลงเหลือแต่ความโดดเดี่ยวทุกข์ทรมานกับกิเลสที่เราต้องยึดติดไปอีกพันๆหมื่นๆปี



...เสียงวิจารณ์จากฝรั่งมังค่าและรายรับของหนังเรื่องนี้ ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ คว่ำสนิท

จากหนังหวังสร้างปรากฎการณ์ทุนสร้าง 30 ล้านเหรียญ ฝีมือผู้กำกับแววอัจฉริยะจาก Pi และ Requiem of a dreamต้องกลายเป็น ยักษ์ล้ม

กระนั้นก็ดี มีบางสิ่งที่ผม รู้สึกอยากจะดู และ คิดว่าต้องดู แม้เสียงวิจารณ์จะเลวร้ายเพียงใด

แหะๆ งวดนี้ sense ผมทำงานได้ดี เพราะ ผมชอบหนังเรื่องนี้มากทีเดียว

และดูจบก็เข้าใจได้ในทันที ว่าทำไม หนังถึงไม่เวิร์คมอร์

ไม่ต้องดูอื่นไกล โรงที่ผมดู ฝรั่งสองคนข้างหน้าออกจากโรงหลังหนังฉาย ยี่สิบนาที , คนซ้ายมือผมกระสับกระส่ายส่ายหัวขยับตัวเป็นพักๆ , คนขวามือมากับแฟนหลับเป็นช่วงๆแล้วมีทีท่าเบื่อหน่ายคุยกับแฟน และ พอหนังจบ วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งแถวหน้า บ่นกันขรม

ดังนั้น ใครคาดหวังว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังไซไฟ หรือ คลั่งไคล้อยากดู ฮิวจ์ แจ๊คแมน อย่าตีตั๋วไปดูเชียว เพราะมันจะไม่เข้าทาง

แต่

...หนังเรื่องนี้จะเหมาะมากๆสำหรับ

1.ผู้ที่มีความสนใจในเรื่องของ Death and dying
2.ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับเนื้อหาอภิปรัชญา
3.ผู้ที่เคยประสบภาวะการสูญเสียของคนสำคัญในชีวิต
4.ผู้ที่ทำงานในภาคที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน
5.ผู้ที่สนใจและศึกษาในเรื่องราวของศาสนาและการเวียนว่ายตายเกิด


....เป็นความกล้าของผู้กำกับ ดาเรน อโรนอฟสกี้ เพราะ ขณะดูหนังเรื่องนี้ผมรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์เหมือนตอนที่ดู Matrix ตรงที่เลือกหนังกล้านำเสนอในสิ่งที่ไม่ตลาดเท่าไหร่ และ ประเด็นที่นำเสนอคือสิ่งทีเป็น นามธรรม มากๆ ยากที่จะทำให้เห็นเป็นเรื่องราวรับรู้ได้ ดังนั้น

ถ้าหนังเผอิญคลิกคนดูส่วนใหญ่ หนังเช่นนี้ก็จะกลายเป็น หนังสร้างปรากฏการณ์ แต่หากคนไม่เก็ต หนังก็ย่อมร่วงไม่เป็นท่า กลายเป็นหนังที่คนดูไม่ปลื้ม

ผมชอบบทของหนังเรื่องนี้ ที่ผูกเรื่องราวที่ซับซ้อนและลึกซึ้งแต่ช่างลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์ หากมานั่งเลาะเรียงไล่ลำดับรายละเอียดในแต่ละยุค เราจะพบรายละเอียดปลีกย่อยที่เชื่อมโยงเรื่องราวได้อย่างน่าทึ่ง และ การหยิบยก วิทยาศาสตร์ ปรัชญา ศาสนาและจิตวิทยามาเชื่อมต่อกันได้อย่างน่าสนใจ

 


นอกจากประเด็น การยึดติด หลุดพ้น และ ความตายแล้ว การพูดถึง ความรัก ในหนังเรื่องนี้ก็ทำออกมาได้โรแมนติกและชวนประทับใจมากๆอีกเรื่องหนึ่ง นี่เป็นหนังเรื่องที่ผมได้ดู ฮิวจ์ แจ็คแมน เล่นได้ดีที่สุดเท่าที่เคยดูมา ส่วน ราเชล ไวส์ ไม่ต้องพูดถึง นี่เป็นงานชั้นเยี่ยมที่มือไม่ตกของเธอเหมือนที่เคยทำมา

 


งานภาพในหนังเรื่องนี้คือ ความมหัศจรรย์ หลายต่อหลายฉากในหนังดุจดั่งการเข้าไปชมภาพศิลป์ในพิพิธภัณฑ์ที่ยากเกินจะบรรยายได้ด้วยตัวอักษร และ เป็นงานภาพที่สมควรกับการดูในโรงหนังจึงจะอิ่มเอมได้เต็มสิ่งที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอ

สิ่งที่ชอบ

1.บท ... อัศจรรย์

2.ภาพ ... มหัศจรรย์

3.ประสบการณ์ความรู้สึกในโรง ... สะกดผมให้นั่งติดตรึงกับเบาะชนิดไม่อยากลุกไปไหนทั้งที่หนังก็มิได้ เร้าใจ ระทึกขวัญอะไรเลย

สิ่งที่ไม่ชอบ

1.พระเอกโกนหัวผู้หลุดพ้น ... ไม่ถึงกับไม่ชอบซะทีเดียว แต่ผมรู้สึกขัดตาและรู้สึกว่าฉากนี้โดดๆกับภาพพระเอกโกนหัวลอยตัวตอนบรรลุแล้ว มันดูไม่เข้ากันยังไงก็บอกไม่ถูกกับการพยายามโยงเข้ากับ ศาสนาพุทธ ในฉากนี้

สรุป ... ไม่รับปากว่าทุกคนจะปลื้ม และ คนไม่ปลื้มมีสิทธิหลับสนิทชนิดปลุกไม่ตื่น แต่ ค่อนข้างมั่นใจว่า ถ้าปลื้ม มีโอกาสปลื้มมากมาย ยิ่งถ้าคุณเข้าข่าย คนในห้ากลุ่มข้างต้นที่เขียนไว้ข้างบน ขอแนะนำว่าห้ามพลาด ส่วนตัวผมแน่นอนว่าชอบมากมาย ยังมีโอกาสให้รับชมที่โรงพาราก้อนเท่านั้น (ใจร้ายมากเข้าฉายแค่โรงเดียวแถมโรงแพงอีกต่างหาก)

 :06: http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aorta&month=04-2007&date=06&group=1&gblog=230

The Fountain [Trailer] HD 1080p
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...