แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น

นิทานเซน :ชีวิตคนเรายืนยาวเท่าใด? <生命的长度>

(1/2) > >>

ฐิตา:


นิทานเซน
ชีวิตคนเรายืนยาวเท่าใด?
<生命的长度>

นิกายเซนซึ่งก็คือสาขาหนึ่งของพุทธศาสนานิกายมหายาน ได้เล่าถึงนิทานธรรมเรื่องหนึ่ง ใจความว่า...

ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงถามพระลูกศิษย์ว่า
"พวกเจ้าคิดว่าชีวิตของคนเรานั้นยาวนานเท่าใด?"

พระรูปหนึ่งตอบอย่างมั่นใจว่า "โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ได้หลายสิบปี"
พระพุทธองค์ได้ฟังจึงกล่าวว่า "เจ้ายังไม่เข้าใจ"

พระรูปต่อมาตอบว่า "ชีวิตคนเราเป็นดังต้นไม้ใบหญ้า เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึงก็งอกงามสดใส แต่กลับอ่อนแอ สูญสลายในฤดูหนาว" พระพุทธองค์ยิ้มเล็กน้อยพลางกล่าวว่า "เจ้าเข้าใจเพียงเปลือกนอกเท่านั้น"

พระรูปที่สามตอบว่า "ศิษย์กลับคิดว่าชีวิตคนเราแสนสั้นคล้ายดั่งแมลง เพิ่งเกิดมาตอนเช้า เมื่อถึงยามค่ำก็สิ้นใจ" พระพุทธองค์กล่าวชมเชยศิษย์ผู้นี้ว่า "นับว่าเจ้าเข้าใจถึงเนื้อในแล้ว"

ในตอนนั้นเอง พระอีกรูปหนึ่งก็กล่าวขึ้นมาว่า "อาจารย์ ศิษย์เห็นว่า ชีวิตของคนเรามีเพียงลมหายใจเข้า-ออก สั้นเพียงเท่านั้นเอง" ยามนี้พระพุทธองค์จึงแย้มยิ้มพลางกล่าวว่า "ชีวิตคนเราแสนสั้น เพียงหนึ่งลมหายใจเข้า หนึ่งลมหายใจออก มีเพียงเท่านี้ วันนี้นับว่าเจ้าเข้าใจลึกซึ้งถึงแก่นของธรรมแล้ว"

ปัญญาเซน :
ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง อย่าประมาทหลงอยู่ในความสุขลวงตา จงหมั่นเจริญสติระลึกถึงความตายอยู่เสมอ

ที่มา : หนังสือ 《禅的故事精华版, 慕云居
เรียบเรียง, สำนักพิมพ์ 地震出版社, 2006.12,
ISBN 7-5028-2995-4

ฐิตา:


สุดแล้วแต่
<随它去吧>

ณ อารามเซน ยังมีลานดินโล่งที่ถูกทิ้งแห้งแล้งผืนหนึ่ง เณรน้อยเห็นดังนั้นจึงเอ่ยกับอาจารย์เซนว่า "ท่านอาจารย์ ศิษย์คิดว่าเราควรหาเมล็ดพืชมาหว่านลงบนดินผืนนี้สักหน่อยดีไหมครับ ปล่อยไว้แห้งแล้งเช่นนี้เห็นแล้วช่างไม่สบายตาเอาเสียเลย"
อาจารย์เซนตอบว่า "เมื่อไหร่เมื่อนั้น สุดแล้วแต่"

เมื่อถึงกลางฤดูใบไม้ร่วง เณรน้อยนำเมล็ดพืชไปหว่านลงบนดินผืนนั้น แต่กลับมีลมพัดมาหอบใหญ่ ยิ่งหว่านไปเท่าไหร่ เมล็ดพืชก็ถูกลมพัดปลิวไปกับสายลม เณรเห็นดังนั้นก็ตกใจมาก ตะโกนบอกอาจารย์ว่า "แย่แล้วท่านอาจารย์ เมล็ดพืชโดนลมพัดไปแล้ว"

อาจารย์เซนกลับไม่ตื่นตกใจ เพียงกล่าวว่า "ที่ลมพัดไปเป็นเพียงเมล็ดฝ่อ แม่จะหว่านลงในดินก็ไม่งอกเงย ปล่อยให้พวกมันสุดแล้วแต่ลมพาไปเถิด"

เมื่อทำการหว่านเมล็ดพืชเรียบร้อย กลับมีนกกระจิบฝูงใหญ่แห่กันมากินเมล็ดพืช พอเณรน้อยเห็นดังนั้นก็กล่าวด้วยความกังวลว่า "แย่แล้วท่านอาจารย์ นกกระจิบคงจะกินเมล็ดผักที่หว่านไว้จนหมดเป็นแน่"
อาจารย์เซนจึงกล่าวกับเณรน้อยว่า "จงอย่ากังวล เมล็ดผักมากมาย นกกินไม่หมด จะกินเท่าไหร่ก็สุดแล้วแต่พวกมันเถิด"

พอตกกลางคืน ฝนตกลงมาห่าใหญ่ ทำเอาเณรน้อยนอนไม่หลับ เนื่องจากเป็นห่วงว่าเมล็ดพืชจะลอยหายไปกับสายน้ำ พอเช้าขึ้นมาจึงรีบไปที่ลานดิน ปรากฏว่าเมล็ดผักอันตรธานไปดังคาด เณรน้อยทุกข์ใจยิ่งนัก จึงรีบวิ่งไปบอกอาจารย์เซนให้มาดู

เมื่ออาจารย์เซนทราบเรื่องก็กล่าวว่า "เณรไม่ต้องทุกข์ใจไป เมล็ดพืชบางส่วนเพียงจมลงไปในดิน ส่วนเมล็ดพืชที่ลอยไปกับสายน้ำ เมื่อมันหยุดลงที่ไหน มันก็จะเจริญงอกงามขึ้น ณ ที่นั้นเอง สุดแท้แต่วาสนาเถิด"

เวลาผ่านไปเพียงไม่กี่วัน ยอดสีเขียวอ่อนของต้นพืชก็ปรากฏขึ้นมาเป็นหย่อมๆ บนลานโล่ง ที่แท้เมล็ดพืชที่ไม่ไหลไปกับสายน้ำได้งอกขึ้นมาแล้ว เมื่อเณรน้อยเห็นดังนั้นก็ดีใจเป็นอันมาก รีบไปรายงานอาจารย์เซนทันทีว่า "พืชที่ศิษย์ปลูกงอกงามขึ้นมาแล้ว ช่างดีจังเลยครับท่านอาจารย์"
อาจารย์เซนพยักหน้าพลางกล่าวแค่เพียงว่า "ดีแล้ว ชอบแล้ว"

ปัญญาเซน :
ละความกังวลต่ออดีตที่ผ่านมาแล้วและอนาคตที่ยังมาไม่ถึง การตื่นรู้อยู่ในปัจจุบันขณะ คือหนทางดับทุกข์

ที่มา : หนังสือ 《禅的故事精华版, 慕云居
เรียบเรียง, สำนักพิมพ์ 地震出版社, 2006.12,
ISBN 7-5028-2995-4

ฐิตา:


ขนาดของใจ
《自信所悟》

สานุศิษย์ผู้หนึ่งเอ่ยถามอาจารย์เซนอู๋เต๋อว่า "ท่านอาจารย์ คนเรามีหัวใจดวงเดียว เหตุใดบางครั้งจึงใจกว้าง บางครั้งจึงใจแคบ?"

อาจารย์เซนมิได้ตอบคำถามข้อนี้ แต่กลับบอกกับสานุศิษย์ว่า "ตอนนี้เจ้าจงหลับตาลง แล้วสร้างภาพกำแพงเมืองแห่งหนึ่งขึ้นมาในใจของเจ้า" สานุศิษย์ผู้นั้นหลับตาลงและปฏิบัติตามคำของอาจารย์เซน จากนั้นสักครู่จึงกล่าวว่า "กำแพงเมืองสร้างเสร็จแล้ว"

อาจารย์เซนจึงบอกว่า "เช่นนั้น เจ้าจงหลับตาต่อไป คราวนี้สร้างภาพเส้นขนเส้นหนึ่งขึ้นในใจ" สานุศิษย์ทำตามคำของอาจารย์ เวลาผ่านไปไม่นาน จึงกล่าวว่า "เส้นขนสำเร็จแล้ว"

จากนั้นอาจารย์เซนจึงให้สานุศิษย์ลืมตา ทั้งยังเอ่ยถามว่า "ยามที่เจ้าสร้างกำแพงเมืองขึ้นมาในใจ เจ้าใช้ใจของเจ้าสร้างมันเพียงคนเดียว หรือใช้ใจของผู้อื่นมาร่วมสร้างด้วย?"
"ใช้ใจของข้าเพียงคนเดียว" สานุศิษย์ตอบ

"แล้วตอนที่เจ้าสร้างเส้นขนขึ้นมาในใจเล่า เจ้าใช้เพียงเสี้ยวหนึ่งของใจ หรือว่าใช้ทั้งหมดของใจในการสร้างมันขึ้นมา?"
สานุศิษย์ตอบว่า "ใช้ทั้งหมดของใจ"

ยามนี้อาจารย์เซนจึงกล่าวว่า "เจ้าสร้างกำแพงเมืองทั้งหลังก็ใช้ใจเพียงดวงเดียว หรือจะสร้างขนแค่เส้นเดียวก็ต้องใช้ใจดวงนี้ดวงเดียวเช่นกัน แสดงว่าใจเพียงหนึ่งใจนั้นสามารถใหญ่ได้ เล็กได้ แคบได้ กว้างได้ ขึ้นอยู่กับเจ้าว่าจะเลือกให้มันเป็นเช่นไร"

แม้ในที่คับแคบเพียงใด แต่ใจคนยังสามารถกว้างใหญ่ได้เสมอ

ที่มา : หนังสือ 《禅的故事精华版, 慕云居
เรียบเรียง, สำนักพิมพ์ 地震出版社, 2006.12,
ISBN 7-5028-2995-4

ฐิตา:


นกอินทรีบินข้ามพ้นความตาย
《大鹏鸟飞度生死》

ยังมีสมณะรูปหนึ่งนามว่า "เต้าซิ่ว" เป็นผู้มีความมุมานะในการบำเพ็ญเพียรอย่างยิ่ง ทว่าทำอย่างไรก็ยังมิอาจบรรลุธรรม มองไปรอบข้างนักบวชรูปอื่นๆ ที่เพิ่งศึกษาธรรมทีหลังตน มีไม่น้อยสามารถเข้าถึงแก่นแท้แห่งเซนแล้ว สมณะเต้าซิ่วเห็นดังนั้นจึงเข้าใจว่าตนเองคงไม่มีคุณสมบัติในการศึกษาเซน ขาดปฏิภาณไหวพริบ สุดท้ายตัดสินใจออกธุดงค์เพื่อหวังว่าจะมีความสำเร็จ

ก่อนเดินทางสมณะเต้าซิ่ว ได้เข้ามากราบลาอาจารย์เซนก่วงอี่ว์ โดยกล่าวกับอาจารย์ว่า "ท่านอาจารย์ ศิษย์ทำให้ความเมตตากรุณาของท่านต้องสูญเปล่า นับตั้งแต่ศิษย์ออกบวชอยู่ที่วัดนี้มานานนับ 10 ปียังคงไม่อาจเข้าถึงเซนได้แม้เพียงกระผีก ดูไปศิษย์คงไร้วาสนา จึงได้แต่ออกไปธุดงค์เพื่อหาทางเข้าถึงธรรมด้วยวิธีอื่น"

อาจารย์เซนก่วงอี่ว์จึงตอบศิษย์ว่า "ในเมื่อเจ้ายังไม่บรรลุธรรม เหตุใดจึงออกเดินทางจากที่นี่ไป หรือว่าเจ้าจะรู้แจ้งเห็นจริงได้ในสถานที่อื่น?"

เต้าซิ่วจึงอธิบายความในใจต่ออาจารย์เซนว่า "ศิษย์อยู่ที่นี่ ทุกๆ วันนอกจากรับประทานอาหารและนอนหลับแล้ว ล้วนใช้เวลาทั้งหมดไปกับการบำเพ็ญเพียร ศิษย์ทุ่มเททว่าไร้วาสนา ขณะที่สมณะรูปอื่นแม้ไม่พากเพียรเท่าแต่กลับพบความก้าวหน้ามากกว่า เห็นทีศิษย์คงต้องออกธุดงค์พบความลำบากเผื่อว่าจะสามารถบรรลุธรรม"

อาจารย์เซนก่วงอี่ว์ได้ฟังจึงกล่าวว่า "รู้แจ้ง...คือสิ่งที่ออกมาจากภายในตนเอง ไม่ใช่สิ่งที่สามารถอธิบายความได้ ทั้งยังไม่อาจส่งต่อให้ผู้อื่น หากยังไม่รู้ก็มิอาจเร่งให้รู้ ผู้อื่นก็คือผู้อื่น เจ้าก็คือเจ้า เจ้าต้องศึกษาเซนไปตามวิถีของตนเอง มิสามารถนำสองเรื่องนี้มาปนกันได้"

"ท่านอาจารย์ ท่านยังไม่เข้าใจ เมื่อเทียบการเรียนรู้ของตัวศิษย์กันผู้อื่น ก็ไม่ต่างกับนำพญาอินทรีมาเทียบกับนกกระจอกอย่างไรอย่างนั้น" สมณะเต้าซิ่วยังคงดึงดัน
"ใหญ่อย่างไร เล็กอย่างไร" อาจารย์เซนถาม

สมณะเต้าซิ่วตอบว่า "พญาอินทรีเพียงกางปีกก็บินไปได้ไกลหลายร้อยลี้ ทว่าศิษย์ได้แต่บินต่ำเตี้ยเรี่ยดินไปได้ไม่กี่จั้ง*เท่านั้น" (*จั้ง คือหน่วยวัดของจีน เท่ากับความยาวประมาณ 2.27 - 2.31 เมตร)

ยามนี้ อาจารย์เซนก่วงอี่ว์จึงกล่าวถามอย่างจริงจังว่า "นกอินทรีเพียงกางปีกก็บินไปได้ไกลหลายร้อยลี้ แต่มันสามารถบินข้ามพ้นความตายไปได้หรือไม่?"

ปัญญาเซน :
ไม่ว่าอินทรีหรือนกกระจอกล้วนมิอาจข้ามพ้นความตายต่างเพียงเร็วหรือช้า การศึกษาธรรมก็เช่นกัน ผู้ใดปฏิบัติผู้นั้นย่อมได้รับผล ย่อมถึงการรู้แจ้งได้ไม่ช้าก็เร็ว

ที่มา : หนังสือ 《禅的故事精华版, 慕云居
เรียบเรียง, สำนักพิมพ์ 地震出版社, 2006.12,
ISBN 7-5028-2995-4

ฐิตา:


พื้นที่อันตราย
《心有滞,而众法皆不通》

ไป๋จีว์อี้ เป็นกวีเอกนามกระเดื่องในสมัยราชวงศ์ถัง โดยในบันทึกของเขาระบุว่าตนเองประพันธ์บทกวีไว้ทั้งสิ้น 3,840 บท ซึ่งหากนับกวีในยุคเดียวกัน ถือว่าเขาประพันธ์บทกวีไว้มากเป็นอันดับหนึ่งของแผ่นดิน

ไป๋จีว์อี้ มีอีกนามหนึ่งว่า เล่อเทียน ในวัยหนุ่มผ่านชีวิตลำบากยากแค้น จึงมีความเข้าอกเข้าใจความทุกข์ทรมานจากความยากจนของคนในสังคม เมื่ออายุได้ 28 ปี เขาสอบจองหงวนได้ในตำแหน่งจิ้นซื่อจึงได้เข้ารับราชการ ต่อมาถูกข้อหากระทำผิดต่อราชสำนักถูกลดยศไปรับตำแหน่งขุนนางดูแลเมืองเจียงโจว สุดท้ายสังกัดกระทรวงยุติธรรม

เล่ากันว่า ครั้งหนึ่ง ไป๋จิว์อี้ เดินทางไปกราบอาจารย์เซนผู้หนึ่ง เมื่อไปถึงพบว่าที่พำนักของอาจารย์เซนคือยอดต้นสนสูงชัน ซึ่งมองดูแล้วไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง
ไป๋จีว์อี้ จึงปรารภกับอาจารย์เซนว่า "ตำแหน่งที่ท่านอาจารย์อยู่ ดูไปอันตรายยิ่งนัก"

อาจารย์เซนจึงกล่าวตอบมาว่า "ตำแหน่งของเจ้าตอนนี้ ยิ่งอันตรายมากกว่ามาก"
ไปจีว์อี้จึงถามกลับด้วยความงุนงงว่า "กระผมมีตำแหน่งทางราชการมั่นคง ทำงานเพื่อบ้านเมือง จะมีอันตรายได้อย่างไร?"

"สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปรตลอดเวลา ดั่งฟืนสุมกองไฟไม่มีหยุด หากใจไม่นิ่ง กระสับกระส่ายวุ่นวายไปตามสิ่งเร้ารอบด้าน ย่อมทำให้เจ้าตกอยู่ในอันตรายอย่างที่สุด" อาจารย์เซนกล่าวตักเตือน

ปัญญาเซน :
ดำรงสติอยู่กับปัจจุบันขณะในทุกการกระทำ ไม่ว่าอยู่ที่ใดล้วนรอดปลอดภัย หากไร้สติอยู่กับตัว ทุกๆ แห่งกลับเป็นที่อันตราย

ที่มา : หนังสือ 《禅的故事精华版, 慕云居
เรียบเรียง, สำนักพิมพ์ 地震出版社, 2006.12,
ISBN 7-5028-2995-4

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version