ผู้เขียน หัวข้อ: (หลวงพ่อตอบปัญหา) ทำอย่างไรจึงจะฝึกตนให้เป็นคนมีเหตุผล  (อ่าน 973 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ nubthong

  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • ***
  • กระทู้: 137
  • พลังกัลยาณมิตร 65
    • ดูรายละเอียด
คนมีเหตุผล คือผู้ที่สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ เนื่องจากมีความเห็นถูกตามมาตรฐานของผู้รู้จริง คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เองความเห็นถูก ภาษาพระเรียกว่า สัมมาทิฐิ หมายถึง ความเห็นถูกหรือความเข้าใจถูกในเรื่องของกรรม

     หลักเหตุและผลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ซึ่งเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ที่มีผลบังคับต่อทุกสรรพชีวิตในโลก ไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้กฎนี้ก็ตามพระพุทธองค์ทรงค้นพบกฎนี้ที่มีอยู่ก่อนแล้ว เมื่อรู้แล้วก็นำมาเปิดเผยให้ชาวโลกทราบความจริงเรื่องนี้ เพราะทรงมีมหากรุณาจะช่วยชาวโลก แม้ว่ายังต้องอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมก็ต ามแต่ทรงต้องการให้รู้เท่าทันจะได้เลือกดำเนินชีวิตแต่ในส่วนที่เป็นกรรมดี เวลาที่กฏแห่งกรรมส่งผล ก็จะได้ส่งผลในทางที่ดีที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต

     พระพุทธองค์ทรงสอนให้ชาวโลกเป็นผู้มองการณ์ไกล เพราะชีวิตยังต้องดำเนินต่อไปอีกยาวนาน จากชาตินี้ภพนี้สู่ชาติหน้าภพหน้า สู่ชาติต่อ ๆ ไป จนกว่าจะกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้สำเร็จ

     ดังนั้น ทุกจังหวะของชีวิต จะตัดสินใจทำอะไร ไม่ทำอะไร จะดำเนินชีวิตไปสู่จุดไหน จำเป็นต้องคิดและชั่วน้ำหนักให้ดีถึงผลดีผลเสียของการกระทำ

     ในคราวใดที่ได้รับผลร้ายของการกระทำที่ทำผิดพลาดไว้ในอดีต จะต้องไม่มัวแต่หาคนผิดเพราะเรานั่นเองคือผู้รับผิดชอบการกระทำของตัวเรา สิ่งที่ควรจะทำคือยอมรับและแก้ไข คือทำใหม่ให้ดีกว่าเดิม  อย่าให้ผิดพลาดอีก  เราจึงจะเป็นผู้ที่ลิขิตชีวิตที่ดีให้แก่ตนเองได้

     สิ่งสำคัญของผู้ที่จะเข้าใจกฎแห่งกรรมได้ดีจริงๆ คือ คนๆ นั้นจะต้องได้ทำความดีมาจนคุ้นในระดับหนึ่งเพราะถ้าไม่เคยทำความดีมาก่อน หรือไม่เคยเห็นผลแห่งความดีที่ทำมาก่อนเลยเขาจะไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่า ทำดีได้ดีเป็นอย่างไร ทำชั่วได้ชั่วเป็นอย่างไร ผลสุดท้ายเขาก็เลยแยกแยะไม่ได้ ว่าอะไรคือ ถูก-ผิด ดี-ชั่วบุญ-บาป ควรทำไม่ควรทำ ตามความเป็นจริง

     สำหรับการฝึกฝนเรื่องนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ยังเป็นเด็ก โดยเริ่มจากผู้ใหญ่ในครอบครัว ได้แก่ คุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย คุณลุงคุณป้า หรือคุณน้าคุณอา ควรจะทำตัวเป็นแบบอย่าง และนำให้ลูกหลานทำความดีจนคุ้น เพราะตัวอย่างที่ดีย่อมมีค่ากว่าคำสอนที่ดีแต่ไม่ทำเป็นตัวอย่างให้เด็กดู

     แม้กระทั่งในโรงเรียน ถ้าผู้อำนวยการสถานศึกษาลงมานำคณะครู นักเรียน ลูกจ้าง ภารโรง ให้ทำความดีร่วมกัน เป็นแบบอย่างให้เห็นจนคุ้นตาคุ้นใจ ก็จะเป็นการปลูกฝังให้ทุกคนได้คุ้นเคยกับการทำความดีและเห็นผลแห่งการทำความดีเช่นกัน

     เพราะการทำงานทุกอย่างที่ร่วมมือกันทำด้วยความรับผิดชอบร่วมกัน จะก่อให้เกิดความสามัคคี ความมีวินัย ความอดทน และความเคารพ แล้วคุณธรรมความดีต่าง ๆ จะเกิดตามมาเป็นขบวนเริ่มต้นที่ฝึกความรับผิดชอบ ทำงานอะไรขอให้รับผิดชอบงานนั้น เพียงเท่านั้นคุณธรรมความดีต่าง ๆ จะหลั่งไหลสู่ใจคนทำมากมาย

สิ่งสำคัญที่ทุกคนจะต้องฝึก คือ

     1. ฝึกเป็นคนรู้จักให้ เพื่อเป็นพื้นฐานการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคนความดีเบื้องต้นที่ควรจะปลูกฝังและทำให้คุ้นเคยเริ่มจาก ‘ทาน’ คือ ‘การให้’ เริ่มเรียนรู้การ ‘ให้’ โดยฝึกเอาศักยภาพที่ตนมีออกมาใช้ให้ได้ เอาเรี่ยวแรงมาทำทานเอาสติปัญญาความรู้มาทำทาน เอาออกมาช่วยกันทำงานของส่วนรวม รวมทั้งเอาทรัพย์ออกมาทำทานด้วย

     เมื่อฝึกใช้ศักยภาพที่มีไปถึงจุดหนึ่ง เขาจะมองเห็นเองว่า ยิ่งให้ออกไป ก็ยิ่งได้รับ ยิ่งให้ก็ยิ่งรวย คือรวยทั้งเรี่ยวแรงพละกำลัง รวยเพื่อนฝูง รวยน้ำใจ รวยความคิดสร้างสรรค์

     คนที่เติบโตขึ้นมาจากการฝึกเช่นนี้ ไม่ต้องห่วงว่า ในอนาคตเขาจะสร้างงาน สร้างเงินสร้างคนไม่ได้

     การสร้างงาน สร้างกิจกรรม เพื่อฝึกเรื่องการทำทาน เรื่องของการสงเคราะห์เพื่อนร่วมโลกยามที่ประสบทุกข์ยาก แต่ละบ้านแต่ละโรงเรียนก็คงจะพอมีช่องทางที่จะฝึกลูกหลานเยาวชนให้คุ้นเคยกับการทำความดีเช่นนี้กันได้ แต่ยังมีความดีเบื้องต้นอีกประการที่ขาดไม่ได้ นั่นคือ การเคารพบูชาหรือการยกย่องคนดี

     2. ฝึกความเคารพ เพื่อเป็นพื้นฐานการจับดีและความคิดสร้างสรรค์ เรื่องความเคารพนี้เป็นเรื่องลึกซึ้ง หากผู้ใหญ่ไม่ได้สอนลูกหลานให้เข้าใจซาบซึ้งว่า เราให้ความเคารพทำไม เด็กจะเข้าใจแต่เพียงผิวเผินว่าเป็นเพียงการแสดงกิริยาอาการภายนอกตามมารยาท

     ถ้าเด็กเข้าใจแค่นี้ เด็กจะไม่ได้อะไรที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตัวของเราเลย ผู้ใหญ่ต้องสอนให้เข้าใจลึกถึงที่มาของความเคารพว่าเรากราบเราไหว้ทำไม

     เรื่องของการเคารพ เรื่องของการบูชา เป็นเรื่องของการ ‘ค้นหา’ ความดีของคนอื่น เมื่อรู้ว่าเขาดีอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ก็ ‘ยอม’ เขาคนนั้นได้ ไม่ต่อต้าน แล้วยัง ‘รับ’ คือ รับว่าดี อย่างนั้นอย่างนี้จริง และ ‘นับ’ คือ นับจำนวนความดีของเขาว่ามีกี่ข้อที่ค้นเจอ แล้วสุดท้าย ‘ถือ’ คือ นำไปประพฤติปฏิบัติตาม ทำความดีตามเขาไป เพื่อว่าสักวันหนึ่งตนก็จะเป็นคนที่มีคุณความดีในตัวเช่นเขาคนนั้นบ้าง

     ดังนั้น เรื่องของการไหว้ การเคารพพระรัตนตรัย พ่อแม่ ครูอาจารย์ เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องรีบสอนรีบทำให้เป็น  เพราะเป็นทางไหลมาแห่งคุณความดีในตัว

     หากไม่ทำเช่นนั้นแล้ว อาจจะเกิดผลตรงข้าม เพราะคนเรานั้นมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือหากไม่ยอมรับคนอื่นก็ดูถูกเขาถ้าไม่จับจ้องในคุณความดีของเขาก็จ้องจับผิด ซึ่งคนเราทั่ว ไปก็ยังมีข้อบกพร่องกันอยู่ทั้งนั้น การกระทำก็มีทั้งทำถูกและทำผิด ถ้าคนเราจ้องจับผิดกันแล้วจะแก้ไขนิสัยให้มาจับจ้องความดีแทนนั้นยากการเริ่มต้นที่ง่ายและถูกต้อง คือ สอนให้เริ่มจับจ้องแต่คุณความดีของผู้อื่น เพื่อจะรับเอาความดีนั้นมาปฏิบัติเป็นทางแห่งความดีความเจริญของตน
 
     3. ฝึกมองผลกรรมในอนาคต เป็นพื้นฐานของความมีวิสัยทัศน์เมื่อใครก็ตามมีโอกาสทำความดีจนคุ้นเช่นนี้ จะเข้าใจเรื่องของกรรมว่า ‘ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว’ อย่างลึกซึ้ง จะเป็นคนมองการณ์ได้ไกลว่า ประกอบเหตุอย่างไรจะส่งผลอย่างไรต่อไปอีกกรรมที่ทำในชาตินี้ ไม่ได้แค่ส่งผลในชาตินี้ แต่ยังส่งผลไปถึงชาติหน้า ละโลกไปแล้วยังส่งว่าจะไปนรกหรือสวรรค์ พอได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ยังตามมาเป็นที่พึ่งให้เราอีก ตามมาเป็นพวกพ้องได้อีก เป็นโปรแกรมชีวิตให้อีก

     หากเรามองเห็นภาพรวมของชีวิตเช่นนี้ เราจะมองเห็นว่า บนเส้นทางชีวิตอันยาวไกลนี้ทุกสิ่งที่เราทำให้แก่ตนเองในแต่ละวัน ตั้งแต่ตื่นเช้าจรดเข้านอน เราควรประกอบเหตุเช่นไรเพื่อผลในอนาคตอย่างไร

     ดังนั้น ทุกอย่างในอนาคตจึงเป็นไปได้ตามศักยภาพของเรา เราต้องลิขิตเอง เลือกเองและลงมือทำเอง แล้วในที่สุดความเป็นคนมีเหตุมีผล ไม่เป็นคนเชื่อง่าย ไม่ถือมงคลตื่นข่าวสร้างงานเป็น สร้างเงินเป็น สร้างคนเป็น ก็จะเกิดขึ้น ด้วยเหตุที่เราได้ทำความดีมาจนคุ้น และได้ศึกษากฏแห่งกรรมจนเข้าใจนี้เอง