แสงธรรมนำใจ > หยาดฝนแห่งธรรม
บุญ จาก การบริจาคโลหิต
sithiphong:
ภาวนากับเลือด
Posted on August 17, 2009 by bloomingmind
-http://bloomingmind.wordpress.com/2009/08/17/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94/-
เรื่องราวของการปฏิบัติธรรมระหว่างบริจาคเลือด
เส้นทางการบริจาคเลือด
ประเพณีบริจาคเลือดประจำปี
ฝึกปฏิบัติ — กลั่นเลือดให้เป็นบุญ
การบริจาคเลือดกับมุมมองในพุทธศาสนา
ประโยชน์ของการบริจาคเลือด
“กลัวเลือด” เป็นคำพูดที่ฉันบอกตัวเองเสมอ และเพื่อน ๆ อีกหลายคนก็รู้สึกคล้าย ๆ กัน ในเวลาไปบริจาคเลือด
น่าสนใจนะ เราไม่กลัวเลือดที่ไหลเวียนในร่างกาย แต่เมื่อใดที่มันหลุดออกมาข้างนอก เป็นเรื่อง จิตใจจะหวั่นไหว ยิ่งถ้าปริมาณเลือดที่ออกนอกร่างกายยิ่งมาก ใจจะเริ่มสั่นมากขึ้น พาลจะเป็นลม
ถ้าเรากลัวเลือดที่ไหลออกมาข้างนอกร่างกาย หมายถึง เรากลัวชีวิตที่กำลังไหลออกไปนอกกาย ?
เส้นทางการบริจาคเลือด
ฉันรู้จักการบริจาคเลือดตั้งแต่เด็ก คุณยายชอบเล่าให้ฟังเป็นนิทานก่อนนอนถึงคุณน้าที่ไปบริจาคเลือดและได้รับพระราชทานเข็มผู้บริจาคเลือด “บริจาคเลือดเป็นสิ่งที่ดี ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์” นั้นเป็นความรู้สึกที่ประทับในความทรงจำ แต่ไม่คิดว่าจะทำตามเลย
ต่อมา เมื่อฉันโตขึ้นและกำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ฉันแสวงหาแหล่งบุญที่จะช่วยหนุนเสริมให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ฉันไม่เชื่อเรื่องการติดสินบนเทวดา เพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้และทำให้ภาพลักษณ์ของเทพตกต่ำ แต่ฉันเชื่อในผลของบุญจึงคิดว่า “บริจาคเลือดนี่แหละ บุญน่าจะแรงพอ”
ตอนนั้น สภากาชาดมาที่โรงเรียน ฉันจะไปยืนต่อคิวบริจาคเลือด แม้อายุจะพร่องหล่นเกณฑ์ที่กำหนดไว้เล็กน้อย แต่โชคดีที่น้ำหนักตัวช่วยเอาไว้ได้ ฉันจึงผ่านการคัดเลือกให้บริจาคเลือด
จิตใจเบิกบานอิ่มเอิบทีเดียว ความมั่นใจในการสอบมีเต็มพิกัด แน่นอนว่าทั้งชีวิตที่เรียนหนังสือมา ฉันตั้งใจและทำคะแนนดีมาตลอด บุญที่ทำจึงไม่ใช่ปาฏิหาริย์ แต่เป็นผลของเหตุและปัจจัยที่ทำมาตั้งแต่อดีตเท่านั้น
การบริจาคเลือดไม่ได้อยู่ในหัวขมองอีกเลย จนกระทั่ง 1 ปีกว่า ๆ ให้หลัง เมื่อคุณยายเสียชีวิต
คุณยายได้รับการวินิจฉัยว่า มีเนื้องอกในสมองหลังกระบอกตาข้างขวา ต้องได้รับการผ่าตัดใหญ่
หลังการผ่าตัด ฉันรุดไปที่ห้องไอซียูเพื่อต้อนรับและให้กำลังใจคุณยาย — ฉันแทบทรุด น้ำตาไหลโดยไม่ยังคิดว่าจะรู้สึกอย่างไร คุณยายไม่เคยนอนโรงพยาบาลเลย ภาพที่เห็นจึงเป็นภาพที่สะเทือนใจอย่างยิ่ง
ฉันมองคุณยายที่นอนนิ่งอยู่บนเตียงอยู่นาน พิจารณาเห็นถุงเลือดและสายยางที่นำเลือดเข้ามาในร่างของท่าน “ถ้าไม่ได้เลือดขวดนี้ ฉันคงไม่มีโอกาสได้เห็นยายอีก”
ฉันรู้สึกขอบคุณเลือดและเจ้าของเลือดถุงนั้นอย่างยิ่ง “ฉันอยากตอบแทนบุญคุณของเขา อยากไปกราบที่ให้ยายมีชีวิตหลังการผ่าตัด” แต่ฉันมองไม่เห็นชื่อผู้บริจาคเลือด “ทำอย่างไรดี ฉันต้องตอบแทนคุณนี้ให้ได้” แล้วสิ่งหนึ่งก็ผุดขึ้นมาในใจ “ก็ทำความดีอย่างที่ผู้บริจาคท่านนี้ทำสิ เป็นการบูชาความดีด้วยการทำความดีตามอย่างที่เห็นดีแล้ว”
ฉันบอกกับตัวเองว่า จะขอตอบแทนบุญคุณผู้บริจาคเลือดด้วยการบริจาคเลือดของตนด้วย
คุณยายมีชีวิตอยู่ 3 สัปดาห์ก็จากฉันไป แต่ปณิธานที่ฉันจะบริจาคเลือดยังคงอยู่ เพราะ 3 สัปดาห์ที่ยายมีชีวิตหลังผ่าตัด เป็นโอกาสให้ฉันได้สัมผัสท่านบ้าง ได้พูดคุย และเห็นพลังความรักของตัวเอง
ประเพณีบริจาคเลือดประจำปี
นับจากนั้น ฉันกำหนดการบริจาคเลือดปีละ 3 ครั้ง เป็นประเพณีส่วนตัวโดยยึดเอาตามปฏิทินความรู้สึก อย่างนี้
ครั้งแรกในเดือน เมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่คุณยายจากไป เวลาไปบริจาคเลือดในเทศกาลนี้ ฉันจะรำลึกถึงการสูญเสียบุคคลที่เป็นเสมือนหัวใจของฉัน บางครั้ง ฉันรู้สึกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตได้จากไป และอีกครึ่งกำลังทำหน้าที่แทนในการมีชีวิตที่ดีและมีคุณค่าอยู่แทนกันและกัน โอกาสนี้เป็นโอกาสให้ฉันรำพันถึงความตาย มรณสติที่เกิดขึ้นกับคนที่ฉันรัก
ครั้งที่สอง ในเดือน สิงหาคม ซึ่งเป็นเดือนเกิดของคุณยาย ทุกปี ฉันจะให้ของขวัญวันเกิดและวันแม่กับคุณยาย เมื่อท่านไม่อยู่แล้ว ฉันจะยังให้ของขวัญท่านเหมือนเดิม และของขวัญนี้จะเป็นของขวัญที่เป็นบุญถึงท่าน เป็นของขวัญที่ท่านเองก็มีส่วนให้ฉันมา – ร่างกายของฉัน ระหว่างที่เลือดไหลออกจากร่างกาย ฉันอธิษฐานให้ท่านรับรู้และรับของขวัญวันเกิดและวันแม่ “ขอบคุณที่คุณยายเลี้ยงดูเรามาด้วยความรักยิ่ง ขอบคุณที่เป็นตัวอย่างของความดีที่หลานพึงทำและสานต่อ”
ครั้งที่สาม ในเดือนธันวาคม เป็นการเปลี่ยนผ่านปีเก่าสู่ปีใหม่ ในเทศกาลนี้ ฉันก็นึกถึงชีวิตเก่า ชีวิตใหม่ ของตัวเองไปตามบรรยากาศ ในช่วงแห่งความสุขนี้ อาจมีหลายคนกำลังทุกข์ บางทีเลือดของฉันอาจให้ชีวิตใหม่กับใครหลายคนได้ และฉันเองก็ปรารถนาจะให้กุศลที่ทำนี้เปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจของฉันให้สดใหม่ งดงามขึ้น
ฝึกปฏิบัติ กระบวนการกลั่นเลือด
การทำบุญนี่ระทึกขวัญก็ได้ด้วย ฉันเริ่มภาวนาอย่างจริงจังเมื่อก้าวเท้าเข้าไปยังสภากาชาดไทย ทำขั้นตอนไม่กี่อย่างก็จะถึงนาทีระทึก
กรอกใบลงทะเบียนบริจาคเลือดแล้ว ไปตรวจดูความพร้อมของสุขภาพ ใจฉันระทึกอีกเช่นกัน หลายปีแล้วที่ฉันไม่ได้บริจาคเลือด เพราะเลือดไม่ผ่าน “เลือดจางนะคะ เอายาธาตุเหล็กนี้กลับไปทาน แล้วค่อยกลับมาใหม่” เจ้าหน้าที่กาชาดบอก
หลายครั้งที่ฉันไปบริจาคเลือด จะถูกปฏิเสธเพราะเหตุนี้ เพราะฉันดูแลสุขภาพไม่ดี บางทีนอนดึก นอนไม่พอติดต่อกันหลายวัน ไม่สบายบ้าง กินอาหารไม่ดีพอบ้าง เหตุและปัจจัยมากมายที่ทำให้ฉันขาดโอกาสที่จะให้เลือด
การทำความดีบางครั้งก็ไม่ง่าย ร่างกายและจิตใจต้องพร้อมเหมือนกัน
หลังจาก 4 ปีที่ไม่อาจให้เลือดได้ ฉันกลับมาอีกครั้งด้วยความพร้อมกว่าเดิม ทางกายฉันเตรียมอย่างจริงจังสัก 2-4 สัปดาห์
ด้วยความตระหนักรู้ว่า เลือดของฉันจะไปใช้กับผู้ที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ก่อนที่จะไปบริจาคเลือด ฉันจะฟิตร่างกายให้ดี นอนให้เพียงพอ นอนหัวค่ำ กินอาหารดี มีสารอาหารครบ ออกกำลังกายเพื่อให้เม็ดเลือดแข็งแรง กระชุ่มกระชวย ทำใจและอารมณ์ให้ดี
และดีที่สุด คือ ฉันจะนั่งสมาธิภาวนาเพื่อกลั่นเลือดให้ดีที่สุด และอธิษฐานให้เลือดนี้ เข้าไปช่วยหล่อเลี้ยงกายและใจของผู้ป่วย ให้ฟื้นสภาพกาย หายป่วย และช่วยญาติด้วย เพราะฉันรู้ว่า ความสบายดีของคน ๆ หนึ่ง เกี่ยวพันกับหัวใจอีกหลายดวงที่รายล้อมชีวิตนั้น
แม้จะบริจาคหลายครั้ง การบริจาคเลือดสดใหม่เสมอ — ฉันกลัวเสมอ กลัวทั้งเลือด กลัวทั้งเข็ม กลัวเจ็บ กลัว …. แต่ต้องฝึกฝืนความกลัว
ความตั้งใจและมุ่งมั่นเป็นบ่อเกิดของความกล้า
ฉันบอกตัวเองว่า ความเจ็บแค่นี้ยังน้อยกว่าความเจ็บที่สักวันต้องมาแน่ ๆ ความเจ็บช่วงสุดท้ายของชีวิต หรือ เจ็บป่วยหนัก เพราะฉะนั้น ต้องเรียนรู้ที่จะอดทนไว้
ส่วนความกลัว ฉันก็บอกตัวเองว่า หากความกลัวเล็กน้อยนี้ยังไม่ผ่าน เมื่อความตายมา จะก้าวข้ามความกลัวตายได้อย่างไร
การให้เลือดครั้งที่ 17 นี้ ฉันมั่นใจและมั่นคงมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ใจไม่สั่น และฉันนิ่งขึ้นกับการทำตามขั้นตอนการบริจาคเลือด
ฉันกล้ามองและยิ้มกับทุกสิ่งอย่าง เมื่อเจ้าหน้าที่มาแทงเข็ม ฉันรับรู้ถึงความรู้สึกที่เสียดแทงเข้าไปข้างในทีละนิด ความเจ็บคาอยู่ที่แขน ฉันเฝ้าดูและทน จนร่างกายเริ่มชินและความเจ็บหายไป ฉันกล้ามองเลือดที่ไหลออกจากแขน โดยใจไม่สั่นอย่างที่แล้วมา
ฉันเฝ้าตามดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นในกายและใจ และเห็นว่ามีความกลัวบางอย่างแฝงอยู่ ฉันไม่ได้กลัวเลือด แต่เลือดเป็นสัญญะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความตาย
อีกอย่าง มันมีความรู้สึก “เลือดของฉัน” “ร่างกายของฉัน” — ความกลัวในที่นี้ เกี่ยวเนื่องอย่างยิ่งกับ ความรู้สึกที่เรียกว่า “อัตตา”
หากเราไม่มีความรู้สึกว่า เลือดและกายเป็น “ของฉัน” จะต้องกลัวอะไร
ฉันขอบคุณการบริจาคเลือดที่ทำให้ฉันเห็นว่า ฉันยังหวงแหนกายนี้อยู่มาก และการฝึกฝนขัดเกลาตนต้องดำเนินต่อไป
ระหว่างที่เลือดไหลออกจากร่างกาย ฉันภาวนาขอให้เลือดนี้ดี เป็นประโยชน์ต่อผู้รับและครอบครัวของเขา ขอให้ผู้ที่ได้รับเลือดหายป่วย กลับมามีสุขภาพแข็งแรง และทำสิ่งที่ดีงาม ขอให้ญาติของผู้ป่วยมีความสุข และขอให้กุศลนี้ไปถึงทุกคน ครอบครัว ครู เพื่อน ผู้มีพระคุณ สรรพสัตว์ทั้งหลาย ฯลฯ
ใจของฉันอิ่มไปด้วยความรักและความสุข ฉันมองไปรอบ ๆ ห้องบริจาคเลือด ก็เห็นใบหน้าผู้บริจาคเลือดหลายคน มีความสุข น้องมหาวิทยาลัยหลายคนเดินมาบริจาคเลือดพร้อมกับรอยยิ้ม พระคุณเจ้าหลายรูปก็นั่งรอคิวให้เลือดอย่างเบิกบาน คุณน้า คุณป้า พี่ ๆ ทั้งชายและหญิงดูมีความสุข
“ขอบคุณนะ” ฉันบอกร่างกาย “ขอบคุณที่ทำบุญร่วมกัน ขอบคุณที่ให้โอกาสฉันทำสิ่งดี ๆ กับผู้อื่น ถ้าไม่มีร่างกาย ฉันคงทำอะไรอย่างนี้ไม่ได้”
ตระหนักเห็นอย่างนี้ ฉันสัญญากับตัวเองว่า จะดูแลรักษาร่างกายให้ดี เพื่อจะได้ให้ร่างกายนี้ทำประโยชน์อย่างที่ธรรมชาติจะอนุญาตให้เขาทำได้
ฉันดูแลร่างกายให้ดี เพราะร่างกายที่ดีและแข็งแรงจะได้รับใช้คนอื่น ๆ
การคิดอย่างนี้ ทำให้ใจมีพลังมุ่งมั่นที่จะรักษาสุขภาพของตัวเอง ซึ่งโดยมากมักจะมักง่าย ไม่ค่อยใส่ใจ
การตั้งใจจะช่วยเหลือผู้อื่นเป็นเรื่องเดียวกับการช่วยเหลือดูแลตัวเอง
การรักผู้อื่น ทำให้เรารู้จักรักตัวเองมากขึ้น
การบริจาคเลือดกับมุมมองในพุทธศาสนา
พระธรรมปิฏก เคยให้ความรู้เรื่องการบริจาคเลือดและร่างกายไว้ ขอสรุปมาดังนี้
การบริจาคอวัยวะ ถือเป็นการเสียสละเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ต้องการให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์
การบำเพ็ญ “บารมี” ของพระพุทธเจ้าเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ ก็มีการบริจาคเป็นคุณธรรมข้อแรก เรียกว่า “ทาน” และ “ทานบารมี”คือการให้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
ในการบำเพ็ญของพระโพธิสัตว์นั้นการบริจาคอวัยวะเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นความคิดที่จำเป็นเลยที่เดียวที่ต้องทำ เพราะการก้าวไปสู่โพธิญาณ ต้องมีความเข้มแข็งของจิตใจ ในการเสียสละเพื่อความดี ทั้งนี้ทานที่เป็นบารมี จะแบ่งเป็น ๓ ขั้น เช่นเดียวกับบารมีอื่นๆคือ
ทานบารมีระดับสามัญ คือการบริจาคทรัพย์สินเงินทอง
ทานระดับรอง หรือจวนสูงสุด เรียกชื่อเฉพาะว่า “ทานอุปบารมี” ได้แก่ ความเสียสละทำความดีถึงขั้นสามารถบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้เพื่อรักษาธรรม
การบริจาคอวัยวะนั้นเป็นบุญธรรมสำคัญ และเป็นบุญมากตามหลักพระพุทธศาสนานอกจากเป็นบารมีขั้นทานอุปบารมีแล้วยังโยงไปหาหลักสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “มหาบริจาค” คือการบริจาคใหญ่ซึ่งพระโพธิสัตว์จะต้องปฏิบัติอีก ๕ ประการ คือ บริจาคทรัพย์ บริจาคราชสมบัติ บริจาคอวัยวะ และนัยน์ตา บริจาคตัวเองหรือบริจาคชีวิตและบริจาคบุตรและภรรยา
ท่านยังให้ข้อคิดในระหว่างการบริจาคอีกด้วยว่า ให้เราทำจิตใจให้ผ่องใสให้ประกอบด้วยคุณธรรม มีเมตตาปรารถนาดีและอันนี้แหละที่จะทำให้เราได้บุญมาก
ประโยชน์ของการบริจาคเลือด
การ บริจาคโลหิตจึงถือว่าได้เสียสละสิ่งที่มีค่าที่สุดในร่างกาย ในชีวิตของคนเรา นอกจากจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจ ที่ได้เสียสละโลหิตในร่างกายของตัวเอง ช่วยต่ออายุให้ชีวิตแก่คนป่วยที่กำลังจะตาย เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลแก่ผู้อื่นที่ได้รับโลหิตจากผู้บริจาคไปแล้ว สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ ผู้บริจาคได้ทราบหมู่โลหิต และได้ตรวจคุณภาพโลหิตของตัวเอง ได้รับการตรวจสุขภาพในทุกๆ ๓ เดือน
ผู้บริจาคโลหิต สามารถบริจาคได้ในทุกๆ ๓ เดือน เพราะเมื่อบริจาคออกไปแล้ว ภายในระยะเวลาที่กำหนด ไขกระดูกจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิต ขึ้นมาทดแทนส่วนที่ขาดหายไป ให้โลหิตในร่างกายมีปริมาณเท่าเดิม ถ้าไม่ได้บริจาคหรือถ่ายเทออกไป ร่างกายก็จะขับเม็ดโลหิตที่สลายตัว ซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้วเพราะหมดอายุ ออกมาในรูปของปัสสาวะ อุจจาระ หรือเหงื่อ อยู่เป็นประจำทุกวัน
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ โทร.๐-๒๒๕๑-๓๑๑ ต่อ ๑๑๓, ๑๖๑, ๑๖๒
-http://www.redcross.or.th/donation/blood_wholeblood.php4-
sithiphong:
เมื่อวานนี้ ผมไปทำบุญมา
ไปบริจาคเลือดที่สภากาชาดไทย , และทำบุญทุกอย่างกับสภากาชาดไทย
ไปทำบุญต่อที่มูลนิธิร่วมกตัญญู ร่วมทำบุญโลงศพ และ ข้าวสาร
มาร่วมโมทนาบุญกันครับ
sithiphong:
การบริจาคอวัยวะ
ผมจะทยอยนำลงให้อ่านกันครับ
ข้อมูลจากสภากาชาดไทย
ส่วนตัวไปทำเรื่องไว้นานแล้ว แจ้งที่บ้านไว้นานแล้วเช่นกัน
sithiphong:
การบริจาคอวัยวะ
ผมจะทยอยนำลงให้อ่านกันครับ
sithiphong:
การบริจาคอวัยวะ
ผมจะทยอยนำลงให้อ่านกันครับ
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version