ริมระเบียงรับลมโชย > รับสายลมเย็นหน้าระเบียง

ข้อคิดดีๆ จากจีน

(1/9) > >>

sithiphong:
นิ่งเหวยอี้ว์ซุ่ย,ปู้เหวยหว่าฉวน: ยอมเป็นหยกแหลกลาญไม่ขอเป็นกระเบื้องสมบูรณ์
 
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 สิงหาคม 2553 13:46 น.


《宁为玉碎,不为瓦全》




宁(nìng) อ่านว่า นิ่ง แปลว่า ยอม

为(wéi) อ่านว่า เหวย แปลว่า เป็น
玉(yù) อ่านว่า อี้ว์ แปลว่า หยก
碎(suì) อ่านว่า ซุ่ย แปลว่า แตกสลาย
不(bù) อ่านว่า ปู้ แปลว่า ไม่
瓦(wǎ) อ่านว่า หว่า แปลว่า กระเบื้อง
全(quán) อ่านว่า ฉวน แปลว่า เต็ม สมบูรณ์




 
 
ภาพจาก sucaitianxia.com 
 
 
ในสมัยคริสตศักราชที่ 550 ยุคราชวงศ์เหนือ อัครเสนาบดี “เกาหยาง” กุมอำนาจเด็ดขาดในราชสำนักแผ่นดินเว่ยตะวันออก (ตงเว่ย) จึงบีบให้กษัตริย์ “เสี้ยวจิ้งตี้ (หยวนซ่าน)” สละราชบังลังก์ แล้วตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์แทน สถาปนาราชวงศ์ฉีเหนือ (เป่ยฉี) ขึ้นมา


เกาหยางเป็นคนโหดเหี้ยมทารุณ เพื่อกำจัดเสี้ยนหนามที่อาจจะกลับมาทิ่มแทงในอนาคต จึงตัดสินใจสังหารเสี้ยวจิ้งตี้พร้อมทั้งราชโอรสทั้งสามไปในปีคริสตศักราชที่ 551 ทว่าการก่อกรรมทำชั่วอย่างมากมายเช่นนั้น ทำให้ในใจของเกาหยางอัดแน่นไปด้วยความหวาดกลัว


ครั้งหนึ่งเกาหยาง เอ่ยถามคนสนิทว่า "ยุคปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ซีฮั่น) ครั้งที่พระญาตินาม “หวังหมั่ง” แย่งชิงอำนาจมาจากตระกูลหลิวสำเร็จ เหตุใดภายหลังจึงปล่อยให้ “หลิวซิ่ว (ฮั่นกวงอู่)” ช่วงชิงอำนาจกลับไปได้สำเร็จ?" คนสนิทของเกาหยางไม่ทราบเหตุผลอันใด เพียงแต่ตอบเพื่อเอาใจนายเหนือหัวว่า "เป็นเพราะหวังหมั่งไม่ขุดรากถอนโคน กวาดล้างราชนิกูลตระกูลหลิวไปให้หมดสิ้นในคราวเดียว" เมื่อเกาหยางได้ฟังก็เห็นว่าคำกล่าวนี้มีเหตุผล จึงได้นำมาใช้ โดยออกคำสั่งให้กวาดล้างสังหารพระญาติราชนิกูลตระกูลหยวน ของเสี้ยวจิ้งตี้ ให้สิ้นซากจากแผ่นดิน ไม้เว้นแม่แต่เฒ่าชราหรือทารก ส่งผลให้คนตระกูลหยวนระส่ำระสาย รู้สึกหวาดกลัว เพราะไม่รู้ว่าวันใดตนจะถูกฆ่าตาย จึงได้จัดการพบปะในหมู่เครือญาติเพื่อหารือ


ในการหารือของตระกูลหยวน มีคนผู้หนึ่งเสนอว่า ทางที่ดีควรจะเปลี่ยนชื่อสกุลใหม่ จาก หยวน (元) เป็น เกา (高) แต่พระญาตินาม “หยวนจิ่งห้าว” คัดค้านความคิดนี้อย่างหัวชนฝา โดยกล่าวว่า "ลูกผู้ชายยอมเป็นหยกแหลกลาญ ไม่ขอเป็นกระเบื้องสมบูรณ์ ยอมตายอย่างกล้าหาญ ดีกว่ามีชีวิตอยู่อย่างอัปยศอดสู"


ภายหลัง หยวนจิ่งห้าว ถูกทางการสังหารไปในที่สุด ส่วนเกาหยางเองนั้นป่วยหนักเสียชีวิตไปภายหลังจากนั้นไม่นาน ราชวงศ์ฉีเหนือจึงสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วในคริสตศักราชที่ 577


สำนวน "ยอมเป็นหยกแหลกลาญ ไม่ขอเป็นกระเบื้องสมบูรณ์" เดิมใช้ในความหมายว่า ยอมตายไม่ยอมเสียศักดิ์ศรี ภายหลังมักใช้หมายถึงการยึดมั่นในหลักความเชื่อ-อุดมการณ์ของตนอย่างแน่วแน่ แม้จนตัวตายก็ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง


ที่มา baike.baidu.com
 
 

sithiphong:
เฉียนปู้จื๋อ : ไม่มีค่าแม้สตางค์แดงเดียว
China - Manager Online
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
2 มิถุนายน 2553 09:20 น.

《一钱不值 》
  
一 (yī) อ่านว่า อี แปลว่า หนึ่ง
钱 (qián) อ่านว่า เฉียน แปลว่า เงิน ในที่นี้หมายถึงสตางค์
不 (bù) อ่านว่า ปู้ แปลว่า ไม่
值 (zhí) อ่านว่า จื๋อ แปลว่า มีค่า

 
ภาพจาก http://img08.taobaocdn.com/

ชายผู้หนึ่ง นามว่าก้วนฝู ฉายาจ้งหยู เป็นคนสมัยฮั่นตะวันตก มีอุปนิสัยตรงไปตรงมา ยึดถือคุณธรรม พูดจริงทำจริง

ก้วนฝู มักจะไม่นบนอบต่อบุคคลที่ตำแหน่งใหญ่โตหรือร่ำรวยกว่าเขา แต่กับผู้ที่ด้อยกว่าโดยเฉพาะผู้ที่ฐานะยากจน เขาจะเพิ่มความเกรงอกเกรงใจเป็นพิเศษ ทำให้ในเวลานั้นบรรดาผู้คนที่มีความสามารถแต่ไร้ยศถาบรรดาศักดิ์ ล้วนชื่นชมเขา อยากคบหากับเขา

ก้วนฝูชมชอบดื่มสุรา ทั้งยังมักดื่มจนเมามาย ครั้งหนึ่งในงานมงคลสมรสของเถียนเฝิน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ก้วนฝูดื่มสุราอย่างหนัก สักครู่จึงลุกขึ้นเดินไปหยุดตรงหน้าเถียนเฝินเพื่อคารวะสุราหนึ่งจอก ทว่าเถียนเฝินออกตัวว่า "ข้าไม่มีความสามารถดื่มสุราปริ่มถ้วย" ก้วนฝูเห็นว่าคนผู้นี้ไม่ยอมดื่มสุราอย่างโปรดโปร่ง จึงเอ่ยปากแฝงการประชดประชันว่า "ท่านแม้เป็นชนชั้นสูงศักดิ์ แต่ก็ควรดื่มสุราที่ข้าน้อยคารวะให้หมดจอก" ทว่าเถียนเฝินคงยืนยันคำเดิม ก้วนฝูรู้สึกไร้รสชาติจึงเปลี่ยนเป้าหมายเดินไปที่หน้าญาติผู้หนึ่งนามว่า ก้วนเสียนซึ่งเป็นเจ้าเมืองหลินหยูเพื่อคารวะสุรา ทว่าก้วนเสียนนั้นกำลังสนทนาอย่างออกรสอยู่กับเฉิงปู้สื่อ(ขุนนางตำแหน่งเจ้าเมืองปกครองเขตชายแดน) ผู้หนึ่ง โดยกำลังยื่นหน้าไปกระซิบกระซาบกับใบหูของเฉิงปู้สื่อ ดังนั้นจึงไม่ได้แสดงท่าทีสนใจก้วนฝูเท่าใดนัก

ก้วนฝูเดิมทีรู้สึกมีโทสะอยู่ก่อนแล้ว เมื่อประสบเหตุเช่นนี้ จึงอดรนทนไม่ได้ เอ่ยปากด่าทอก้วนเสียนว่า "ข้าบอกแต่ไหนแต่ไรว่าตำแหน่งเฉิงปู้ซื่อไม่มีค่าแม้สตางค์แดงเดียว แต่วันนี้ท่านกับเขากลับทำท่าทางราวกับภรรยาขบกัดใบหูหยอกเย้าสามี!"

"อีเฉียนปู้จื๋อ" หรือ "ไม่มีค่าแม้สตางค์แดงเดียว" แปลว่า ไม่มีคุณค่า ภายหลังสำนวนนี้จึงถูกนำมาใช้เพื่อเปรียบเปรยกับการไม่ให้คุณค่ากับผู้อื่น หรือเปรียบเทียบกับตนเองที่ถูกผู้อื่นมองไม่เห็นค่า รวมทั้งสามารถใช้เปรียบกับบุคคลที่ภายนอกท่าทางดีแต่ความจริงแล้วใช้การอันใดมิได้

สำนวนนี้ใช้ในตำแหน่งภาคแสดง(谓语) กรรม(宾语) หรือส่วนขยายนาม(定语)
 

ตัวอย่างประโยค
“老赵料不到他的'杰作'竟被批评得一钱不值 。”
ผู้แซ่เจ้าคิดไม่ถึงว่า ผลงาน "ชิ้นเอก" ของเขากลับถูกตำหนิเสียจน ~



ที่มา 毛强国。 《成语故事》 。北京。北京理工大学出版社

sithiphong:
เยี่ยว์จู่ไต้ผาว : ข้ามเครื่องเซ่นไหว้ไปเป็นพ่อครัว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
9 มิถุนายน 2553 07:58 น.

《越俎代庖》  
越(yuè) อ่านว่า เยวี่ย แปลว่า ข้าม
俎( zǔ) อ่านว่า จู่ แปลว่า ภาชนะใส่เครื่องบวงสรวงบรรพบุรุษ
代(dài) อ่านว่า ไต้ แปลว่า แทน
庖(páo) อ่านว่า ผาว แปลว่า พ่อครัว


 
ภาพประกอบโดย เฉียนเสวี่ยน ศิลปินสมัยราชวงศ์หยวน

ในยุคโบราณ ก่อนการถือกำเนิดของราชวงศ์ต่างๆ ในประเทศจีน มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ชายผู้ทรงคุณธรรมจริยธรรมผู้หนึ่ง เร้นกายทำไร่ไถนาอยู่ ณ ริมแม่น้ำอี๋สุ่ย เชิงเขาจีซาน เขามีนามว่า "สี่ว์โหยว" ยามใดที่หิวก็ปีนเขาขึ้นไปปลิดผลไม้รับประทาน ยามใดที่กระหายน้ำก็อาศัยสองมือวักน้ำในแม่น้ำอี๋สุ่ยมาดับกระหาย แม้ว่ามีผู้ตักเตือนเขาว่า "ชีวิตคนเราสั้นนัก ใยต้องเร้นกายอยู่อย่างไร้นาม ผ่านชีวิตลำบากยากแค้นถึงเพียงนี้เล่า?" สี่ว์โหยวกลับยิ้มพลางตอบว่า "เช่นนี้จึงสามารถมีชีวิตที่แสนอิสรเสรี ไม่ถือเป็นความยากลำบากอันใด"

ครั้งหนึ่ง มีคนนึกห่วงใยสี่ว์โหยว ส่งกระบวยตักน้ำมาเพื่อให้เขาดื่มน้ำสะดวกขึ้น สี่ว์โหยวเอากระบวยนั้นแขวนไว้บนต้นไม้ แต่ยิ่งนานวัน ยามที่ลมโชย กระบวยโดนลมพัดเกิดเสียงดังน่ารำคาญยิ่ง สุดท้ายสี่ว์โหยวจึงโยนกระบวยทิ้งไป

ในยุคเดียวกันนั้น ยังมีมหากษัตริย์นามว่า "ถังเหยา" หรือตี้เหยา กษัตริย์ในตำนานของจีนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ผู้ธำรงคุณธรรม พระองค์ได้ทราบเรื่องราวของสี่ว์โหยว ทรงดำริให้เขาสืบทอดราชบังลังค์ จึงได้เรียกเขามาพบและตรัสว่า "ยามที่สุริยันและจันทราลอยเด่นบนท้องนภา มีคนพยายามจุดฟืนไฟประชันแสง นั่นใช่ยากเย็นหรือไม่? ยามที่หยาดพิรุณโปรยจากฟากฟ้า มีผู้ต้องการให้น้ำรดลงเฉพาะผืนแผ่นดินของตน ครอบครองความชุ่มชื้นที่ประทานมาเพื่อนสรรพสัตว์ มิใช่สิ้นเปลืองแรงงานยิ่งหรือ? บัดนี้ปรากฏท่านผู้กอรปด้วยคุณธรรมจริยธรรมขึ้นมาในแผ่นดินผู้หนึ่ง หากเรารั้งตำแหน่งกษัตริย์ไว้กับตัวเอง ย่อมน่าเสียดายยิ่งนัก"

ยามนั้นสี่ว์โหยวกลับปฏิเสธอำนาจเหนือแผ่นดิน กล่าวว่า "นกบนยอดไม้ใหญ่ยึดเกาะได้เพียงกิ่งไม้ใต้ผ่าเท้า มุสิกดื่มน้ำในลำธารเพียงดื่มได้แค่เต็มกระเพาะ เช่นเดียวกับข้าน้อย จะต้องการอำนาจเหนือแผ่นดินไปเพื่ออะไร...แม้แต่พ่อครัว หากไม่ปรุงอาหารตามหน้าที่ ผู้ควบคุมงานพิธีบูชาบรรพบุรุษยังมิอาจละทิ้งของเซ่นไหว้ ก้าวข้ามภาชนะใส่เครื่องบวงสรวงบรรพบุรุษเพื่อไปทำหน้าที่พ่อครัวแทน" เมื่อกล่าวจบ สี่ว์โหยวจึงได้อำลาถังเหยา เดินทางจากไป

สำนวน "เยี่ยว์จู่ไต้ผาว" หรือ "ข้ามเครื่องเซ่นไหว้ไปเป็นพ่อครัว" เปรียบเปรยถึงการข้ามหน้าข้ามตา หรือล้ำเส้นไปทำงานของผู้อื่นที่อยู่นอกเหนือขอบเขตความรับผิดชอบของตน

สำนวนนี้ใช้ในตำแหน่งภาคแสดง(谓语) หรือส่วนขยายนาม(定语) มีความหมายทางลบ

.
China - Manager Online
China - Manager Online

sithiphong:
หยิ่นหลางรู่ซื่อ : ชักนำจิ้งจอกเข้าห้องหับ

http://www.manager.co.th/China/ViewN...=9530000080650


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 มิถุนายน 2553 16:08 น.


《引狼入室》

 
引(yǐn) อ่านหว่า หยิ่น แปลว่า ชักนำ
狼(láng) อ่านว่า หลาง แปลว่า สุนัขจิ้งจอก
入(rù) อ่านว่า รู่(ยู่) แปลว่า เข้า
室(shì) อ่านว่า ซื่อ แปลว่า ห้อง



ภาพจาก http://img.blog.163.com


มีคนเลี้ยงแกะผู้หนึ่ง ปล่อยแกะกินหญ้าอยู่ในหุบเขาลึก วันหนึ่งเขาพบว่าในที่ห่างไกลออกไปนั้น มีสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งค่อยๆ เลาะเลียบติดตามฝูงแกะอยู่ ช่วงเวลาดังกล่าวคนเลี้ยงแกะจึงได้เพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

เวลาผ่านไปหลายเดือน สุนัขจิ้งจอกยังคงตามฝูงแกะอยู่ห่างๆ เช่นเดิม ทว่าไม่ได้เข้าใกล้ฝูงแกะมากขึ้นแม้แต่น้อย ทั้งยังไม่ได้ทำร้ายแกะแม้สักตัวเดียว ทำให้คนเลี้ยงแกะค่อยๆ เปลี่ยนความคิดระแวดระวังในตัวสุนัขจิ้งจอกลงเรื่อยๆ ต่อมาคนเลี้ยงแกะถึงกับคิดว่าการที่มีสุนัขจิ้งจอกตามหลังฝูงแกะนั้นก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ไม่ต้องคอยระวังภัยจากสัตว์ป่าอื่นๆ จะมาทำร้ายฝูงแกะ จากนั้นอีกไม่นานนัก คนเลี้ยงแกะจึงยึดถือว่าสุนัขจิ้งจอกตัวนั้นเป็นเพียงสุนัขเลี้ยงแกะไม่มีพิษสง ถึงกับเรียกให้มันมาทำหน้าที่ดูแลฝูงแกะและคอยต้อนแกะ

สุนัขจิ้งจอกทำหน้าที่ดูแลแกะโดยอยู่ในสายตาของคนเลี้ยงแกะตลอดเวลา คนเลี้ยงแกะเห็นว่าสุนัขจิ้งจอกทำหน้าที่ได้อย่างดี ในใจคิดว่า "ผู้คนต่างเห็นว่าสุนัขจิ้งจอกเป็นสัตว์ร้ายไว้ใจไม่ได้ แต่ข้ากลับเห็นว่าความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น..."

วันหนึ่ง คนเลี้ยงแกะมีธุระต้องเดินทางเข้าไปในเมือง จึงได้ฝากให้สุนัขจิ้งจอกดูแลฝูงแกะตามลำพังด้วยความไว้ใจ มิคาด...เมื่อคนเลี้ยงแกะลับตาไป สุนัขจิ้งจอกกลับเปล่งเสียงกู่ร้องเรียกฝูงสุนัขจิ้งจอกออกมาจากป่า จากนั้นจึงจับฝูงแกะกินเป็นอาหารจนราบคาบ

สำนวน "หยิ่นหลางรู่ซื่อ" หรือ "ชักนำจิ้งจอกเข้าห้องหับ" ใช้เปรียบเทียบกับการนำคนชั่วหรือศัตรูมาไว้ใกล้ตัวก็ไม่ต่างกับการนำเภทภัยมาไว้ข้างกาย สุดท้ายกลับส่งผลร้ายต่อตนเองเกินกว่าที่จะคาดคิด มีความหมายคล้ายคลึงกับคำว่า "ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน" ในภาษาไทย

สำนวนนี้ใช้ในตำแหน่งภาคแสดง(谓语) หรือส่วนขยายนาม(定语)

ตัวอย่างประโยค
雇请保姆照顾老人要更加小心,要不会变成引狼入室。
การจ้างแม่บ้านมาดูแลคนแก่ต้องระวังให้มาก มิฉะนั้นจะกลายเป็น ~

sithiphong:
โว่ซินฉางต่าน : นอนฟืนชิมน้ำดีขม

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
30 มิถุนายน 2553 07:43 น.


《卧薪尝胆》

卧(wò) อ่านว่า โว่ แปลว่า นอน
薪(xīn) อ่านว่า ซิน แปลว่า ฟืน
尝(cháng) อ่านว่า ฉาง แปลว่า ชิม
胆(dǎn) อ่านว่า ต่าน แปลว่า น้ำดี (ของเหลวหลั่งออกมาจากเซลล์ตับ มีรสขม)




 
ภาพจากhttp://www.1155815.com

496 ปีก่อนคริสตกาล เจ้าครองแคว้นอู๋นาม เหอหลี่ว์ ได้ส่งกองทัพมาโจมตีรัฐเยี่ยว์ ทว่ากลับถูกกองทหารรัฐเยี่ยว์ตอบโต้จนแตกพ่ายไป เหอหลี่ว์เองก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส กระทั่งเสียชีวิต โอรสนามฟู่ไช จึงได้รับเลือกให้ขึ้นครองแคว้นอู๋แทน

ต่อมา เกิดการศึกระหว่างแคว้นอู๋และแคว้นเยี่ยว์อีกครั้ง แคว้นเยี่ยว์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ อู๋ จื่อซีว์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาผู้รักชาติแห่งแคว้นอู๋ แนะนำว่าฟูไชควรกำจัดเจ้าแคว้นเยี่ยว์ นามโกวเจี้ยนให้สิ้นซาก ไม่ควรปล่อยเอาไว้ให้เป็นเสี้ยนหนามแผ่นดิน แต่เจ้าแคว้นอู๋ไม่ฟัง กลับนำโกวเจี้ยนกลับไปเป็นทาสยังแคว้นอู๋

3 ปีผ่านไป โกวเจี้ยนอยู่แคว้นอู๋อย่างสงบเสงี่ยมยิ่งนัก จนทำให้ฟูไชไว้วางใจในตัวโกวเจี้ยนมากขึ้น ถึงขั้นปล่อยตัวให้กลับสู่แคว้นเยี่ยว์ดังเดิม

แต่ในความจริงแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โกวเจี้ยนไม่เคยลืมความคับแค้นที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองของตน เขาได้แอบสั่งสมกองกำลังและฝึกฝนกองทัพของตนเองอย่างลับๆ เพื่อรอวันแก้แค้น โดยในช่วงเวลาดังกล่าวทุกๆ ค่ำคืน ยามหลับไหลโกวเจี้ยนไม่เคยนอนสบายบนฟูก แต่กลับนอนบนฟืนแข็งปูหยาบๆ หนำซ้ำภายในห้องพักของเขายังแขวนถุงน้ำดีเอาไว้ เขาหมั่นลิ้มรสความขมของน้ำดีนั้นอยู่เสมอๆ เพื่อไม่ปล่อยให้ความสะดวกสะสบายทางร่างกายทำให้หลงลืมความคับแค้นที่ผ่านมา

นอกจากนั้น เมื่อกลับสู่แคว้นเยี่ยว์ เพื่อครองใจไพร่ฟ้าโกวเจี้ยนและมเหสีจึงมักลงไปใช้แรงงานร่วมกับชาวบ้านราษฎร สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ร่วมแรงร่วมใจก่อร่างสร้างรัฐเยี่ยว์ขึ้นมาใหม่ สุดท้ายเมื่อโกาสมาถึง โกวเจี้ยนก็สามารถล้างแค้น ยกกองทัพไปโจมตีรัฐอู๋ได้สำเร็จในที่สุด

"โว่ซินฉางต่าน" หรือ "นอนฟืนชิมน้ำดีขม" เป็นสำนวนที่มักใช้เพื่อสอนว่า คนเราต้องผ่านการเคี่ยวกรำตนเอง อดทน เพียรพยายามอย่างยิ่ง เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จดังที่มุ่งหวังเอาไว้


ที่มา

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version