ริมระเบียงรับลมโชย > รับสายลมเย็นหน้าระเบียง

ข้อคิดดีๆ จากจีน

<< < (4/9) > >>

sithiphong:
“โพวฟู่ฉางจู” : "ผ่าท้องซ่อนมุก"
 
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
18 สิงหาคม 2553 09:52 น.
 
 
《剖腹藏珠》
       
       剖 (pōu) อ่านว่า โพว แปลว่า ผ่า
       腹 (fù) อ่านว่า ฟู่ แปลว่า ท้อง
       藏 (cáng) อ่านว่า ฉาง แปลว่า เก็บงำ/ ซ่อน
       珠 (zhū) อ่านว่า จู แปลว่า ไข่มุก


 
 
ภาพจาก http://www.bookuu.com
 
 
       ครั้งหนึ่งในรัชสมัยของฮ่องเต้ถังไท่จง แห่งราชวงศ์ถัง ขณะที่องค์ฮ่องเต้กำลังสนทนาปราศรัยอยู่กับเหล่าข้าราชสำนัก ถังไท่จงฮ่องเต้ ได้กล่าวถึงเรื่องราวหนึ่งว่า
       
       "ณ ดินแดนตะวันตกอันไกลโพ้น มีพ่อค้าวานิชย์ผู้หนึ่ง ด้วยความบังเอิญได้มีโอกาสครอบครองไข่มุกล้ำค่ามากชนิดที่ไม่เคยได้พบเจอมาก่อน ทำให้เขาตื่นเต้นยินดีเป็นอันมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีความกังวลว่ามุกเลอค่านั้นจะโดนขโมยไป ไม่ว่าจะเก็บรักษาไว้ที่ใดก็ไม่ทำให้เขารู้สึกวางใจได้ สุดท้ายจึงได้คิดวิธีการหนึ่งขึ้นมา คือคิดที่จะผ่าท้องของตัวเองแล้วนำไข่มุกไปซ่อนเอาไว้ในนั้น เพราะมีแต่ทำเช่นนี้จึงจะแน่ใจว่ามุกจะไม่ถูกมือดีโจรกรรมไปเป็นแน่ ทว่าเมื่อลงมือผ่าท้องตัวเอง ชายผู้นั้นก็สิ้นใจทันที"
       
       เมื่อเล่าจบ ถังไท่จงจึงกล่าวต่อไปว่า "เรื่องเล่านี้เป็นเรื่องที่เราเคยได้ยินมา พวกท่านเล่า คิดว่าโลกนี้ยังมีคนเช่นนี้อยู่จริงหรือ?"
       
       เหล่าข้าราชบริพารต่างพากันตอบว่า "น่ากลัวมี"
       
       ถังไท่จงจึงกล่าวอีกว่า "ทุกคนต่างทราบดีว่า เหตุการณ์ที่พ่อค้าวานิชย์รักถนอมไข่มุกมากกว่ารักถนอมชีวิตตนเองนั้น เป็นเรื่องชวนหัว น่าสมเพช แต่กลับมีขุนนางบางรายเนื่องเพราะกินสินบาท คาดสินบนจนทำร้ายทำลายถึงชีวิตของตัวเอง มีจักรพรรดิ์ที่เสพสุขอย่างไร้ขีดจำกัดจนกระทั่งต้องสูญเสียประเทศชาติ เช่นนี้มิใช่เรื่องน่าขันเช่นเดียวกับเรื่องของพ่อค้าผู้นี้หรอกหรือ?"
       
       ในตอนนั้น เว่ยเจิง ขุนนางและที่ปรึกษาคู่ใจขององค์ฮ่องเต้ถังไท่จง ได้กล่าวว่า "เนื่องเพราะผู้ที่ถูกอำนาจเงินตราบังตา ละโมบโลภมาก จนกระทั่งลืมแม้แต่ชีวิตของตนเองนั้นมีอยู่จริง ในสมัยที่ขงจื๊อเป็นขุนนางอาวุโสแห่งแคว้นหลู่นั้น หลู่อายกง เจ้าครองแคว้นได้กล่าวกับขงจื๊อว่า "มีคนป่วยเป็นโรคขี้ลืมบางจำพวก ย้ายบ้านไปแต่กลับลืมเลือนภรรยา" ขงจื๊อตอบว่า "นั่นไม่นับว่าแปลก ยังมีคนที่เป็นโรคขี้ลืมหนักว่านั้น "เจี๋ย, โจ้ว กระทั่งลืมเลือนแม้แต่ตัวตนของตนเอง" (เจี๋ย หมายถึง กษัตริย์ทรราชย์สมัยราชวงศ์เซี่ย ส่วน โจ้ว หมายถึง กษัตริย์ทรราชย์สมัยราชวงศ์ซาง ซึ่งทั้งสองต่างก็เป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย ก่อนที่ราชวงศ์ของตนเองจะโดนล้มล้าง)
       
       “โพวฟู่ฉางจู” หรือ "ผ่าท้องซ่อนมุก" ใช้เพื่อเปรียบเปรยกับการเห็นแก่ทรัพย์สมบัติจนทำลายตนเอง หรือการเรียงลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ กลับตาลปัตร
       
       ที่มา http://baike.baidu.com
 
http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9530000113968

sithiphong:
"อีจี้จือฉาง" :"รู้ทักษะกระจ่างเพียงอย่างเดียว"
 
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 1 กันยายน 2553 09:02 น
 
 
《一技之长》
       
       一(yī) อ่านว่า อี แปลว่า หนึ่ง
       技(jì) อ่านว่า จี้ แปลว่า ทักษะ
       之(zhī) อ่านว่า จือ ในที่นี้ทำหน้าที่เป็นคำช่วย วางระหว่างคำนามและส่วนขยายคำนาม
       长(cháng) อ่านว่า ฉาง แปลว่า เชี่ยวชาญ


ภาพประกอบโดย ไต้จิ้น(戴进) ศิลปินสมัยราชวงศ์หมิง

ในสมัยสงครามระหว่างรัฐ (จั้นกั๋ว) รัฐเจ้ามีพหูสูตผู้มีชื่อเสียงนามว่า กงซุนหลง ซึ่งคนผู้นี้ได้ชุบเลี้ยงบริวารเอาไว้มากหลาย โดยแต่ละคนล้วนมีความถนัดความสามารถในเรื่องที่แตกต่างกัน เขากล่าวเสมอว่า "ผู้ฉลาดต้องรู้จักเปิดรับทุกผู้คนที่มีความสามารถในแบบฉบับของตนเอง"
       
       วันหนึ่ง มีคนผู้หนึ่ง สวมใส่เสื้อผ้าเก่าขาดโกโรโกโส เดินทางมาขอพบกงซุนหลง ทั้งยังกล่าวคำนำเสนอตนเองว่า "ข้าน้อยมีความสามารถพิเศษอย่างหนึ่ง" กงซุนหลงจึงถามว่าคืออะไร คนผู้นั้นจึงตอบว่า "เสียงของข้าน้อยดังกังวานเป็นพิเศษ มีความสามารถในการกู่ร้องตะโกน" เมื่อฟังจบ กงซุนหลงจึงหันกายไปถามคนในสังกัดของตนเองว่า "พวกเจ้า ใครมีความสามารถกู่ร้องตะโกน" ปรากฏว่าไม่มีแม้แต่ผู้เดียว ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจรับชายผู้ถนัดการตะโกนเอาไว้ในตำแหน่งผู้ติดตาม
       
       เวลาผ่านไปไม่นาน กงซุนหลง พร้อมทั้งบริวารได้ออกเดินทางไปท่องเที่ยวนอกเมือง เมื่อพวกเขามาถึงริมฝั่งแม่น้ำที่กว้างใหญ่ พบว่าเรือข้ามฝากนั้นยังคงอยู่ที่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลพอสมควร คนเรือจึงไม่ทันสังเกตเห็นว่าพวกเขากำลังรอข้ามฟาก ขณะที่ไม่รู้จะทำอย่างไรดี พลันกงซุนหลงก็นึกขึ้นมาได้ว่ามีผู้ติดตามผู้หนึ่งซึ่งถนัดการตะโกน จึงได้กล่าวกับคนผู้นั้นว่า "เจ้าบอกว่าเจ้าตะโกนเก่ง ครานี้จงตะโกนเรียกเรือข้ามฝากให้ข้าชมดู" คนผู้นั้นเมื่อพบโอกาสที่จะแสดงความสามารถของตนก็ยินดียิ่งนัก จึงได้ป้องปากตะโกนอย่างสุดกำลังว่า "คนเรือ รีบพายเรือข้ามฝั่งมาทางนี้ พวกเราต้องการข้ามฟาก" เมื่อกล่าวจบ คนเรือที่อยู่บนเรือ ณ อีกฝั่งของแม่น้ำ ก็พยักหน้ารับ พร้อมทั้งพายเรือมุ่งหน้ามา ส่วนกงซุนหลงก็พอใจในความสามารถของบริวารคนนี้ยิ่งนัก
       
       ภายหลัง สำนวน "อีจี้จือฉาง" หรือ "รู้ทักษะกระจ่างเพียงอย่างเดียว" ใช้เพื่อเปรียบเปรยถึงการมีความรู้ความสามารถ หรือเชี่ยวชาญในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างกระจ่างแจ้ง ทั้งยังแฝงความหมายว่า คนเรานั้นควรมีความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แม้เพียงเรื่องเดียว แต่หากเข้าใจอย่างถ่องแท้ย่อมเกิดประโยชน์อย่างมหาศาล
       
       ที่มา : http://baike.baidu.com/
       http://www.china.org.cn/

http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9530000120981

sithiphong:
"เปาฉางฮั่วซิน" : "แอบซ่อนจิตมาร"
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    15 กันยายน 2553 06:13 น.
http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9530000129098



ภาพโดย หลี่ถัง ศิลปินสมัยราชวงศ์ซ่ง

《包藏祸心》
       
         
       包藏(bāo cáng) อ่านว่า เปาฉาง แปลว่า แอบซ่อน
       祸心(huò xīn) อ่านว่า ฮั่วซิน แปลว่า จิตใจชั่วร้าย


       ในสมัยชุนชิว แคว้นเจิ้งมีที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือติดกับแคว้นฉู่ เจ้าครองแคว้นมีดำริที่จะให้ธิดาของอำมาตย์ต้วนแห่งแคว้นเจิ้ง ไปสมรสกับแม่ทัพเหวยแห่ง แคว้นฉู่ เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างสองแคว้นให้แนบแน่น แต่ไม่คาดคิดว่า แคว้นฉู่กลับวางแผนถือโอกาสที่แม่ทัพเหวยต้องเดินทางมารับเจ้าสาว นำกำลังทหารมามากมายเพื่อเตรียมบุกยึดแคว้นเจิ้ง
       
       เมื่อถึงวันรับเจ้าสาว แม่ทัพเหวยแห่งแคว้นฉู่ขึ้นนั่งบนรถม้าศึก นำกองทัพมุ่งหน้าสู่แคว้นเจิ้ง
       
       เจ้าครองแคว้นเจิ้งรู้เท่าทันแผนการของแคว้นฉู่ จึงได้ส่งจื่ออี่ว์ นักปกครองและนักการทูตคนสำคัญของแคว้นเจิ้งออกไปรับหน้า จื่ออี่ว์จึงกล่าวกับตัวแทนของแม่ทัพเหวยว่า "แคว้นเจิ้งของข้าพเจ้า เป็นแคว้นเล็ก พวกท่านนำคนมารับเจ้าสาวมากเกินไป แคว้นเราไม่อาจรับรองได้หมด ดังนั้นจึงขอจัดพิธีสมรสที่นอกเมือง"
       
       ตัวแทนแม่ทัพเหวยแห่งแคว้นฉู่ กล่าวตอบว่า "พิธีสมรสเป็นงานใหญ่ จะจัดขึ้นกลางป่าเขาได้อย่างไร หากพวกท่านไม่ให้พวกเราเข้าเมือง ประชาราษฎร์ก็จะดูแคลนแคว้นฉู่เราว่าต่ำต้อยกว่าแคว้นเจิ้ง ทั้งยังจะเป็นการทำให้แม่ทัพเหวยผิดต่อบรรพบุรุษ เพราะก่อนที่จะออกเดินทางมา ท่านแม่ทัพได้ไปจุดธูปคารวะต่อบรรพบุรุษเอาไว้"
       
       จื่ออีว์ เห็นว่าเมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วก็ควรจะกล่าวให้หมดเปลือก จึงกล่าวสืบต่อไปว่า "การ ที่แคว้นเจิ้งของเราเล็กนั้นไม่นับว่าเป็นเรื่องผิด แต่หากเป็นแคว้นเล็กแล้วหวังพึ่งพาแคว้นใหญ่ จึงไม่ระวังป้องกันแคว้นของตน จึงเป็นเรื่องผิดมหันต์ แคว้นเจิ้งเชื่อมสัมพันธ์กับแคว้นฉู่ผ่านการสมรส เดิมทีคิดพึ่งพาให้แคว้นใหญ่ของท่านคุ้มครองแคว้นเล็กของเรา แต่ในเมื่อในใจของพวกท่านมีแผนการร้ายต้องการฮุบเอาแคว้นเจิ้งไปเสียเอง พวกเราก็ไม่อาจยอมได้"
       
       เมื่อแผนการณ์ถูกรู้ทัน แม่ทัพเหวยจึงเกรงว่าแคว้นเจิ้งต้องจัดเตรียมกองกำลังป้องกันอยู่ภายในแล้ว จึงได้แต่ล้มเลิกแผนการ แต่อย่างไรก็ไม่ยอมรับออกมาโดยตรง เพียงแต่ยืนยันขอเข้าเมืองโดยให้ทหารทุกนายปลดอาวุธ เข้าไปมือเปล่า จื่ออี่ว์ค่อยยินยอมให้ทัพฉู่เข้าเมือง
       
       เมื่อแม่ทัพเหวยเข้าเมือง พิธีสมรสก็เกิดขึ้น จากนั้นไม่นานแม่ทัพเหวยจึงนำตัวเจ้าสาวเดินทางพร้อมกองทัพกลับไปยังแคว้น ฉู่โดยดี
       
       สำนวน "เปาฉางฮั่วซิน" หรือ "แอบซ่อนจิตมาร" หมายถึงจิตใจชั่วร้ายที่คิดทำร้ายทำลายผู้อื่น
       
       ที่มา http://baike.baidu.com/

sithiphong:
เหนี่ยวจิ้นกงฉาง : สิ้นนกเก็บคันธนู
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 กันยายน 2553 09:24 น.


《鸟尽弓藏》

鸟(niǎo) อ่านว่า เหนี่ยว แปลว่า นก
尽(jìn) อ่านว่า จิ้น แปลว่า สิ้นสุด หมดสิ้น
弓(gōng) อ่านว่า กง แปลว่าคันธนู
藏(cáng) อ่านว่า ฉาง แปลว่า เก็บ ซ่อน


ภาพจาก http://www.sucaitianxia.com/
ในช่วงปลายยุคชุนชิว ขณะที่ รัฐอู๋ และรัฐเย่ว์ ต่อสู่เพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่ ผลปรากฏว่ารัฐเย่ว์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้จึงขอสงบศึก

อ๋องรัฐเย่ว์นาม โกวเจี้ยน ถูกรัฐอู๋จับไปเป็นตัว ประกัน แต่เขาได้แอบสั่งสมกองกำลังและฝึกฝนกองทัพของตนเองอย่างลับๆ เพื่อรอวันแก้แค้น โดยในระหว่างนั้นได้มอบหมายให้เสนาบดี เหวินจ่ง และ ฟั่นหลี่ บริหารราชการแผ่นดินรัฐเย่ว์ เวลาผ่านไปหลายปี รัฐเย่ว์จากอ่อนแอเริ่มกลับเข้มแข็งขึ้น จนในที่สุดสามารถยกกองกำลังมาตีรัฐอู๋ได้สำเร็จ
อ๋องรัฐอู๋ในขณะนั้นนาม ฟู่ไช พยายามส่งทูตมา เชื่อมสัมพันธ์กับรัฐเย่ว์ถึง 7 ครั้งด้วยกัน แต่รัฐเย่ว์ไม่ยินยอม ฟู่ไชจึงคิดแผนการโดยส่งจดหมายไปให้ฟั่นหลี่ โดยมีใจความว่า "เมื่อ กระต่ายถูกจับหมดสิ้น สุนัข สุกร ที่ทำหน้าที่จับกระต่ายย่อมหมดประโยชน์ สุดท้ายได้แต่ถูกฆ่ามาเป็นอาหาร เช่นเดียวกับรัฐศัตรูเมื่อถูกปราบปรามแล้ว ขุนนางที่ทำหน้าที่ล้วนโดนกำจัด เหตุใดท่านเสนาบดีทั้งสองไม่ให้รัฐอู๋ดูแลพวกท่าน หาแผ่นดินสำหรับตนเองสักผืน" ทว่าเหวินจ่ง และฟั่นหลี่ ยังคงปฏิเสธ สุดท้ายอ๋องฟู่ไชแห่งรัฐอู๋ถูกรัฐเย่ว์รุกไล่จนตัดสินใจฆ่าตัวตาย

ในคืนแห่งการฉลองชัย โกวเจี้ยนพบว่าเสนาบดีฟั่นหลี่หายตัวไป วันต่อมาที่บริเวณริมทะเลสาปไท่หู พบเสื้อผ้าของฟั่นหลี่กองทิ้งไว้ ผู้คนจึงพากันคิดว่าเขาคงโดดน้ำฆ่าตัวตาย ทว่าผ่านมาไม่กี่วัน มีคนนำจดหมายมาให้เสนาบดีเหวินจ่ง ความว่า "เมื่อ นกหมดสิ้นจากท้องฟ้า คันธนูย่อมถูกเก็บไว้ เมื่อกระต่ายถูกจับไม่มีเหลือ สุนัข สุกร ที่ทำหน้าที่จับกระต่ายย่อมหมดประโยชน์ เมื่อศัตรูถูกทำลายราบคาบ ขุนนางไม่ถูกเนรเทศก็ถูกทำร้ายทำลาย อ๋องเย่ว์เป็นบุคคลที่เพียงร่วมทุกข์กับเขาได้ แต่ไม่ยอมให้ใครมาร่วมเสพย์สุข หากท่านไม่จากอ๋องเย่ว์ไปในวันนี้ ไม่พ้นต้องมีภัยถึงชีวิต" เหวินจ่งจึงได้ทราบว่าที่แท้ฟั่นหลี่ไม่ได้ฆ่าตัวตาย เพียงแต่หลบหนีไป ส่วนเขาแม้ว่าจะไม่ปักใจเชื่อตามฟั่นหลี่ไปเสียทั้งหมด แต่ก็พยายามระวังตัวเอง เก็บตัวอยู่แต่ในบ้านพักโดยอ้างว่าไม่สบายจึงไม่ไปเข้าเฝ้า ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวทำให้โกวเจี้ยนระแวงสงสัย

วันหนึ่งโกวเจี้ยน เดินทางมาเยี่ยมเสนาบดี เหวินจ่ง ยังบ้านพัก โดยเมื่อกลับไปได้ทิ้งกระบี่เอาไว้เล่มหนึ่ง เหวินจ่งพบว่าบนกระบี่มีตัวอักษร 2 ตัว คือ “属楼” จึงจำได้ว่ากระบี่เล่มนี้เป็นเล่มเดียวกับที่อ๋องอู๋ผู้ล่วงลับ ฟู่ไช ได้ใช้บังคับให้ที่ปรึกษาผู้รักชาติแห่งแคว้นอู๋ นาม อู่ จื่อซีว์ ใช้ ปลิดชีวิตตนเอง เหวินจ่งจึงได้รู้จิตเจตนาของโกวเจี้ยน และนึกเสียดายที่ไม่เชื่อคำเตือนของฟั่นหลี่ สุดท้ายได้แต่ใช่กระบี่นั้นบั่นคอตนเองตายตามบัญชาของโกวเจี้ยน

สำนวน "鸟尽弓藏" หรือ "สิ้นนกเก็บคันธนู" มีความหมายว่า เมื่อภารกิจเสร็จสิ้น กลับกำจัดผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือหรือลงทุนลงแรงในภารกิจนั้นออกไปให้พ้นทาง ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับสำนวนที่ว่า "เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล" นั่นเอง


ที่มา http://baike.baidu.com

-----------------------------

ขณะนี้สุภาษิตในคอลัมน์ "นิทานคติ" ได้ถูกนำมารวมเล่มเป็นหนังสือรวมเรื่องเล่าจากสุภาษิตจีนแล้ว



รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ คำจีนเขียนชีวิต (成语故事)
สำนักพิมพ์ บ้านพระอาทิตย์ (ติดต่อ โทร 0-2587-0234 # 136)
ผู้แปล/เรียบเรียง ดวงพร วงศ์ชูเครือ
ISBN 978-616-536-033-3
พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม พ.ศ. 2553
ราคา 150 บาท

sithiphong:
เจี้ยนรู่เจียจิ้ง : ยิ่งเข้าไปยิ่งดีเลิศ
China - Manager Online - ���¹�����¨�� : ���������觴�����
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 กันยายน 2553 07:41 น.


《渐入佳境》

  
渐(jiàn) อ่านว่า เจี้ยน แปลว่า ค่อยๆ
入(rù) อ่านว่า รู่ แปลว่า เข้าไป
佳(jiā) อ่านว่า เจีย แปลว่า ดีเลิศ
境(jìng) อ่านว่า จิ้ง แปลว่า สถานที่


หนึ่งในภาพวาดอันโด่งดังของกู้ ข่ายจือ

“กู้ ข่ายจือ” เป็นนามของศิลปินผู้โด่งดังในสมัยราชวงศ์ตงจิ้น(จื้นตะวันออก) เขาไม่เพียงมีความสามารถด้านจิตรกรรมเท่านั้น แต่ยังสามารถประพันธ์บทกวี โคลงกลอน และเขียนตัวอักษรด้วยพู่กันจีนได้อย่างวิจิตรงดงาม

เมื่อครั้งที่กู้ ข่ายจือ ยังหนุ่ม ได้เคยสมัครเป็นทหารของซือหม่าหวนเวิน หลายปีนั้น กู้ ข่ายจือ ติดตามหวนเวินไปรบทัพจับศึกตั้งแต่เหนือจรดใต้ ทำให้ทั้งสองมีความผูกพันกันอย่างแนบแน่น

ครั้งหนึ่ง กู้ ข่ายจือ ติดตามหวนเวินไปยังพื้นที่เจียงหลิงเพื่อตรวจสอบกองทัพ เมื่อล่วงเข้าวันที่สองที่อยู่เจียงหลิง มีขุนนางประจำเมืองเจียงหลิงผู้หนึ่งมาคารวะหวนเวิน ทั้งยังมอบของกำนัลซึ่งเป็นของขึ้นชื่อของเมืองนี้ให้กับหวนเวิน นั่นคืออ้อย หวนเวินยินดียิ่ง กล่าวว่า "อ้อยในท้องที่นี้มีชื่อเสียงมาก ทุกท่านลองชิมดู"

เมื่อผู้ติดตามทั้งหลายได้ยิน ก็หยิบอ้อยขึ้นมารับประทานกันพลางกล่าวชื่นชมว่า "ไม่แปลกใจที่มีชื่อเสียง เพราะอ้อยนี้ช่างหวานจับใจจริงๆ"

ในตอนนั้น มีเพียง กู้ ข่ายจือ ผู้เดียวที่ยังคงดื่มด่ำกับการชมทิวทัศน์นอกหน้าต่าง จนเพลิดเพลินเคลิบเคลิ้ม ไม่สนใจชิมอ้อย หวนเวินจึงได้เลือกอ้อยต้นหนึ่งยื่นให้เขาลิ้มลอง กู้ ข่ายจือ ไม่ทันมอง กลับส่งด้านปลายอ้อยเข้าปากเคี้ยวกัดคำหนึ่ง แทนที่จะเป็นด้านโคนที่หวานกว่า

หวนเวินเห็นดังนั้น จึงกลั้นยิ้มพลางเอ่ยถามว่า "อร่อยหรือไม่?"

ผู้คนรอบข้างต่างก็พากันหัวเราะพลางเอ่ยถามว่า "อ้อยที่พวกเรารับประทานช่างหวานล้ำนัก ไม่ทราบอ้อยที่ท่านกู้ รับประทานหวานหรือไม่?"

ตอนนี้กู้ ข่ายจือจึงค่อยรู้สึกตัว มองอ้อยที่อยู่ในมือ จึงได้ทราบว่าเหตุใดคนรอบข้างจึงพากันหัวเราะเยาะเขา จากนั้นจึงกล่าวแก้หน้าว่า "พวกท่านหัวเราะอันใด เป็นพวกท่านที่ไม่รู้จักวิธีการรับประทานอ้อยที่ถูกต้อง แม้กระทั่งการรับประทานอ้อยก็ต้องพิถีพิถัน"

เมื่อคนอื่นๆ เห็นว่ากู้ ข่ายจือกล่าวด้วยความขึงขัง จึงเอ่ยถามพลางหัวเราะพลางว่า "รับประทานอ้อย ยังมีลวดลายอันใด ท่านลองพูดว่าดูว่าเหตุใดจึงกัดกินปลายอ้อยแทนที่จะเป็นโคนอ้อย?"

ยามนั้น กู้ข่ายจือ จึงกล่าวตอบว่า "หาก ตอนเริ่มต้น พวกท่านเลือกกัดด้านที่หวานที่สุดไปแล้ว ยิ่งกัดไปก็ยิ่งหวานน้อยลงๆ จนไร้รสชาติ ส่วนข้าเริ่มต้นกัดจากส่วนปลายที่ไม่หวาน เมื่อยิ่งกัดกินไปเรื่อยๆ ย่อมพบความหวานมากขึ้นๆ วิธีการเช่นนี้เรียกว่า "ยิ่งเข้าไปยิ่งดีเลิศ"

ปัจจุบัน สำนวน "เจี้ยนรู่เจียจิ้ง" หรือ "ยิ่งเข้าไปยิ่งดีเลิศ" มักใช้เปรียบเทียบถึงสถานการณ์ที่ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ หรือเปรียบเทียบถึงความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่นานไป ยิ่งลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ

-----------------------------

ขณะนี้สุภาษิตในคอลัมน์ "นิทานคติ" ได้ถูกนำมารวมเล่มเป็นหนังสือรวมเรื่องเล่าจากสุภาษิตจีนแล้ว



รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ คำจีนเขียนชีวิต (成语故事)
สำนักพิมพ์ บ้านพระอาทิตย์ (ติดต่อ โทร 0-2587-0234 # 136)
ผู้แปล/เรียบเรียง ดวงพร วงศ์ชูเครือ
ISBN 978-616-536-033-3
พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม พ.ศ. 2553
ราคา 150 บาท


.



.



.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version