คนที่เชื่อในเรื่องกรรม ย่อมได้เปรียบกว่าคนที่ไม่เชื่อ
คนที่เชื่อเรื่องกรรมย่อมสามารถอดทน
รับความทุกข์ยากลำบาก ความผิดหวัง
ความขมขื่น และเคราะห์ร้ายที่เกิดแก่ตนได้
เพราะถือว่าเป็นกรรมที่ทำมาแต่อดีต
ไม่ตีโพยตีพายว่าโลกนี้ไม่มีความยุติธรรม
ตนไม่ได้รับความเป็นธรรม
ทำดีแล้วไม่ได้ดี
คนที่เชื่อในเรื่องกรรมจะยึดมั่นอยู่ในการทำความดีต่อไป
จะเป็นผู้สามารถให้อภัยแก่ผู้อื่น
และจะเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ
คนที่ประกอบกรรมทำชั่วทั้งกาย วาจา และใจ
ส่วนใหญ่เป็นคนไม่เชื่อเรื่องกรรม
ไม่เชื่อเรื่องบุญและบาป
ไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิด
คนพวกนี้เกิดมาจึงมุ่งแสวงหาทรัพย์สมบัติ
และความสุขสบายให้แก่ตัว
โดยไม่คำนึงว่าทรัพย์สมบัติ
หรือความสนุกสนานที่ตนได้มาถูกหรือผิด
และทำให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อนหรือไม่
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน
กรรมนั้นย่อมเป็นของเราโดยเฉพาะ
และเราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
จะโอนให้ผู้อื่นไม่ได้
เช่น เราทำกรรมชั่วอย่างหนึ่ง
เราจะต้องรับผลของกรรมชั่วนั้น
จะลบล้างหรอโอนไปให้ผู้อื่นไม่ได้
แม้ผู้นั้นจะยินดีรับโอนกรรมชั่วของเราก็ตาม
กรรมดีก็เช่นเดียวกัน
ผู้ใดทำกรรมดี กรรมดีย่อมเป็นของผู้ทำโดยเฉพาะ
จะจ้างหรือวานให้ทำแทนกันหาได้ไม่
เช่นเราจะเอาเงินจ้างผู้อื่นให้ประกอบกรรมดี
แล้วขอให้โอนกรรมดีที่ผู้นั้นทำมาให้แก่เราย่อมไม่ได้
หากเราต้องการกรรมดีเป็นของเรา
เราก็ต้องประกอบกรรมดีเอง
เหมือนกับการรับประทานอาหาร
ผู้ใดรับประทานผู้นั้นก็เป็นผู้อิ่ม
มนุษย์เรามีภาวะความเป็นไปต่าง ๆ กัน
เช่น ดีหรือชั่ว รวยหรือจน เจริญหรือเสื่อม
สุขหรือทุกข์ ก็เนื่องจากกรรมของตนเองทั้งสิ้น
และกรรมใดที่ทำลงไปจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม
ย่อมให้ผลตอบแทนเสมอ
และย่อมติดตามผู้ทำเสมือนเงาติดตามตน
หรือเหมือนกับล้อเกวียนที่หมุนตามรอยเท้าโคไปฉะนั้น
ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงมีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
หากเราทำกรรมดีเราก็ได้รับความสุขความเจริญ
กรรมดีจึงเหมือนกัลยาณมิตรที่คอยให้ความอุปการะ
และส่งเสริมให้เราประสบแต่ความสุขและความเจริญ
แต่ถ้าเราทำกรรมชั่ว กรรมชั่วก็คอยล้างผลาญเรา
ให้ประสบแต่ความทุกข์และความเสื่อม
http://www.dhammathai.org/store/talk/view.php?No=77ที่มา :
http://www.jarun.orghttp://www.watkoh.com/forum/index.php?topic=334.0