ผู้เขียน หัวข้อ: คิริมานนทสูตร (เต็ม) [Girimananda Sutta Full]  (อ่าน 1152 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
คิริมานนทสูตร (เต็ม) [Girimananda Sutta Full]
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 25, 2015, 04:09:51 pm »
http://youtu.be/Q5e_Fcji5RQ tomstantine Published on Sep 9, 2013

ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตะวันมหาวิห­าร ครั้งนั้น ท่านคิริมานนท์อาพาธ(เจ็บป่วย) หนัก กระสับกระส่ายเพราะพิษไข้ ท่านพระอานนท์จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากรา­บทูลให้เสด็จไปเยี่ยม พระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้าอานนท์จะไปเยี่ยมพระคิริมานนท์จงแสดงสั­ญญา ๑๐ อย่าง ให้พระคิริมานนท์ฟังด้วย เพราะเมื่อฟังจบแล้วจะหายจากโรคาพาธนั้นโด­ยเร็วพลัน จากนั้นทรงแสดงสัญญา ๑๐ ให้ท่านพระอานนท์ได้เรียนและจดจำเพื่อนำไป­แสดงแก่พระคิริมานนท์ต่อไป

สัญญา ๑๐
๑. อนิจจสัญญา
๒. อนัตตสัญญา
๓. อสุภสัญญา
๔. อาทีนวสัญญา
๕. ปหานสัญญา
๖. วิราคสัญญา
๗. นิโรธสัญญา
๘. สัพพโลเกอนภิรตสัญญา
๙. สัพพสังขาเรสุอนิฏฐสัญญา
๑๐. อานาปานสติ

สัญญา หมายถึง ความจำได้, ความหมายรู้ได้,
หรือความกำหนดหมาย เป็นสัญญาชั้นสูงที่จะนำไปสู่ปัญญา มี ๑๐

*****************************************************

ดูกรอานนท์ การตกนรกและขึ้นสวรรค์ จะเอาตัวไปไม่ได้ เอาแต่จิตไป
จิตนั้นใครจะจับต้องลูบคลำไม่ได้ เป็นแต่ลมเท่านั้น
เพราะจิตเป็นของละเอียด ใครจะจับถือ ไม่ได้
เมื่อจิตไปตกนรก ใครจะไปช่วยยกขึ้นได้
ถ้าจิตนั้น เป็นตนเป็นตัวก็พอช่วยกันได้

บุคคลจำพวกใด คอยท่าให้ ผู้อื่นมาช่วยยกตัวให้พ้นจากทุกข์
นำตัวไปให้ได้เสวยสุข บุคคลจำพวกนั้นเป็นคนโง่เขลาหาปัญญามิได้
เราตถาคต รู้นรกสวรรค์ทุกข์สุขอยู่แล้ว และหาอุบายที่จะพ้นจากทุกข์
ให้เสวยสุข ก็เป็นการแสนยากแสนลำบาก
จะไปพาจิตใจ ของท่านผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ได้อย่างไร
ถึงแม้พระพุทธเจ้า องค์จะตรัสรู้ในเบื้องหน้าก็เหมือนกัน
มีแต่แนะนำสั่งสอน ให้รู้สุขทุกข์สวรรค์และพระนิพพานเท่านั้น
ผู้ที่จะต้องการ สุขทุกข์อย่างใดนั้น แล้วแต่อัธยาศัย

แต่ว่าต้องศึกษาให้ รู้แท้แน่นอนแก่ใจเสียก่อนว่าทุกข์ในนรกเป็นอย่างนั้น
สุข ในสวรรค์เป็นอย่างนั้น สุขในพระนิพพานเป็นอย่างนั้น
เมื่อรู้แล้วยังจะมีทางได้ทางถึงบ้าง
คงจะไม่ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏสงสารเนิ่นนานเท่าไรนัก

ถ้ายังไม่รู้แจ้งแต่เมื่อยังมี ชีวิตอยู่ก็ไม่อาจจะพ้นได้เลย
และได้ชื่อว่าเป็นผู้เกิดมา เสียชาติเป็นมนุษย์เสียความปรารถนาเดิม
 ซึ่งหมายว่าจะ เป็นผู้เกิดมาเพื่อความสุข
ครั้นเกิดมาแล้วก็พลอยไม่ให้ตน ได้รับความสุข
ซ้ำยังตนให้จมอยู่ในนรก ทำให้เสียสัตย์ ความปรารถนาแห่งตน
น่าสังเวชสลดใจยิ่งนัก


ข้าแต่ พระมหากัสสปะผู้มีอายุ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้แล.


******************************
อรรถกถา อาพาธสูตร ที่ ๑๐
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระอานนท์
ว่าด้วยทรงแสดงสัญญา ๑๐ ประการแก่พระคิริมานนท์ ผู้อาพาธ

           [๖๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเขตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก

           ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระคิริมานนท์อาพาธได้รับทุกข์เป็นไข้หนัก ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดอนุเคราะห์เสด็จเยี่ยมท่านพระคิริมานนท์ยังที่อยู่เถิด พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
           ดูก่อนอานนท์ ถ้าเธอพึงเข้าไปหาแล้วกล่าวสัญญา ๑๐ ประการ แก่ คิริมานนท์ภิกษุไซร้ ข้อที่อาพาธของคิริมานนท์ภิกษุจะพึงสงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ สัญญา ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ อนิจจสัญญา ๑ อนัตตสัญญา ๑ อสุภสัญญา ๑ อาทีนวสัญญา ๑ ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑ นิโรธสัญญา ๑ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑ สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ๑ อานาปานัสสติ ๑

           ดูก่อนอานนท์ ก็อนิจจสัญญาเป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้ ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า อนิจจสัญญา.

           ดูก่อนอานนท์ ก็อนัตตสัญญา เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า จักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการเหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้ ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า อนัตตสัญญา.

           ดูก่อนอานนท์ ก็อสุภสัญญา เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้นั้นแล เบื้องต้นแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มโดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆว่า ในกายนี้มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม เนื้อหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามในกายนี้ ด้วยประการดังนี้ ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า อสุภสัญญา.

           ดูก่อนอานนท์ ก็อาทีนวสัญญา เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่างๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้ คือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เชื่อมซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด หูด โรคละอองบวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาต อาพาธอันเกิดแก่ฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้ ด้วยประการดังนี้ ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า อาทีนวสัญญา.

           ดูก่อนอานนท์ ก็ปหานสัญญาเป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งพยาบาทวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งวิหิงสาวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันชั่วช้า อันเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นแล้ว ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า ปหานสัญญา.

           ดูก่อนอานนท์ ก็วิราคสัญญา เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอกกิเลส ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า วิราคสัญญา.

           ดูก่อนอานนท์ นิโรธสัญญา เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืออุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่ดับโดยไม่เหลือ ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า นิโรธสัญญา.

           ดูก่อนอานนท์ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละอุบาย๑ และอุปาทานในโลก อันเป็นเหตุตั้งมั่น ถือมั่น และเป็นอนุสัยแห่งจิต ย่อมงดเว้น ไม่ถือมั่น ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า สัพพโลเกอนภิรตสัญญา.

           ดูก่อนอานนท์ สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมอึดอัด ย่อมระอา ย่อมเกลียดชังแต่สังขารทั้งปวง ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา.

           ดูก่อนอานนท์ อานาปานัสสติ เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอเป็นผู้มีสติหายใจออก เป็นผู้มีสติหายใจเข้า

           เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาวหรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็ชัดว่า หายใจเข้าสั้น ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้กายทั้งปวง(ลมหายใจ) หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้กายทั้งปวงหายใจเข้า ย่อมศึกษาว่า จักระงับกายสังขาร(ลมหายใจ) หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักระงับกายสังขาร หายใจเข้า ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้จิตตสังขาร(เวทนา) หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้จิตตสังขารหายใจเข้า ย่อมศึกษาว่าจักระงับจิตตสังขารหายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักระงับจิตตสังขารหายใจเข้า ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า ย่อมศึกษาว่า จักยังจิตให้บันเทิงหายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักยังจิตให้บันเทิงหายใจเข้า ย่อมศึกษาว่า จักตั้งจิตให้มั่นหายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักตั้งจิตให้มั่นหายใจเข้า ย่อมศึกษาว่า จักเปลื้องจิตหายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักเปลื้องจิตหายใจเข้า ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจเข้า ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัดหายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัดหายใจเข้า ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความดับสนิทหายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความดับสนิทหายใจเข้า ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสลัดคืนหายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสลัดคืนหายใจเข้า ดูก่อนอานนท์ นี้เรียกว่า อานาปานัสสติ.

           ดูก่อนอานนท์ ถ้าเธอพึงเข้าไปหาแล้ว กล่าวสัญญา ๑๐ ประการนี้แก่ คิริมานนท์ภิกษุไซร้ ข้อที่อาพาธของคิริมานนท์ ภิกษุจะพึงสงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้.

           ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เรียนสัญญา ๑๐ ประการนี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้เข้าไปหาท่านพระคิริมานนท์ ยังที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวสัญญา ๑๐ ประการ แก่ท่านพระคิริมานนท์ ครั้งนั้นแลอาพาธนั้นของท่านพระคิริมานนท์สงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้ ท่านพระคิริมานนท์หายจากอาพาธนั้น ก็แล อาพาธนั้นเป็นโรคอันท่านพระคิริมานนท์ละได้แล้วด้วยประการนั้นแล.

จบอาพาธสูตรที่ ๑๐

อังคุตตรนิกาย  ทสกนิบาต  อาพาธสูตร ข้อ ๖๐
ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่ม ๓๘ หน้า ๑๙๐
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 26, 2015, 05:53:47 pm โดย ฐิตา »