ผู้เขียน หัวข้อ: แนวทางแก้ไขความขัดแย้งทางศาสนา  (อ่าน 1159 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด

 
แนวทางแก้ไขความขัดแย้งทางศาสนา

จากเหตุการณ์ต่าง ๆ อันเป็นที่มาแห่งความขัดแย้งทางศาสนา ล้วนแต่มาจากการศึกษาศาสนาที่ไม่ถ่องแท้ นักการศาสนาควรจะมองเห็นความสำคัญของการศึกษาศาสนาอย่างจริงจัง  และหาแนวทางป้องกันความขัดแย้งทางศาสนาอันจะเกิดขึ้นจากความแตกต่างหลายประการโดยมีวิธีที่พอจะหาแนวทางป้องกันความขัดแย้งทางศาสนาได้ดังนี้

1.  ไม่ศึกษาและนับถือศาสนาด้วยความลำเอียง เมื่อไหร่ก็ตามที่เราศึกษาศาสนาโดยมีอคติเข้าไปเกี่ยวข้องย่อมจะไม่เห็นแก่นแท้ของศาสนานั้น ๆ  อคติในที่นี้คือ 

1.   ฉันทาคติ  ความลำเอียงเพราะชอบ  เข้าข้างศาสนาตัวเอง
2.   โทสาคติ  ความลำเอียงเพราะไม่ชอบ  มองเขาในแง่ไม่ดี
3.   โมหาคติ  ความลำเอียงเพราะความไม่รู้  มีแต่ความเชื่อย่างเดียวขาดปัญญา
4.   ภยาคติ    ความลำเอียงเพราะความกลัวขาดการไตร่ตรองที่ดี
ทุกศาสนาล้วนสอนให้คนเป็นคนดี  คำว่า มุสลิม แปลว่า ผู้รักสันติหรือผู้นำสันติมาใช้ในการดำเนินชีวิต  คริสต์ศาสนาก็เช่นกันก็เป็นผู้รักสันติ  ไม่ต้องการการมีเรื่องกับใครดังคำที่ว่า “เมื่อเขาตบแก้มขวา  จงเอียงแก้มซ้ายให้เขาตบอีกข้าง” แต่อย่างไรก็ดีถ้าเราศึกษาจริยธรรมขั้นพื้นฐานของแต่ละศาสนาจะเห็นได้ว่าแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลยดังเช่น  บัญญัติ 10 ประการกับศีล 5  เป็นสิ่งไปด้วยกันได้ เป็นหลักประกันได้เป็นอย่างดีดังนี้

ศีลข้อ 1  ห้ามเบียดเบียน ฆ่าสัตว์   เป็นหลักประกันชีวิต
ศีลข้อ 2  ห้ามลักขโมยของที่เจ้าของเขาไม่อนุญาต   เป็นหลักประกันทรัพย์สิน
ศีลข้อ 3  ห้ามประพฤติผิดในกาม   เป็นหลักประกันความสามัคคี
ศีลข้อ 4  ห้ามพูดปด กล่าวเท็จ   เป็นหลักประกันศักดิ์ศรี
ศีลข้อ 5 ห้ามดื่มสุรายาเสพติด   เป็นหลักประกันสุขภาพ
โดยจริยธรรมขั้นพื้นฐานแล้วจะสามารถโยงหากันได้เป็นอย่างดี.

2.   ศึกษาศาสนาเพื่อรู้และเข้าใจความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก  แน่นอนที่สุดทุกศาสนามีความแตกต่างกัน ทางด้านพิธีกรรมก็ดี ทางด้านคำสอน  แต่ถ้าเราศึกษาเพื่อความเข้าใจและถึงแม้เราจะเห็นความแตกต่าง  แต่เราไม่แสดงความแตกแยก  ในความต่างย่อมมีความเหมือนอยู่เสมอ  เพราะที่สุดของคนเราก็คือ  ต้องการความสุข  รังเกียจทุกข์ไม่ต้องการให้ใครดูถูกตัวเอง  ดูถูกศาสนาที่ตัวเองเคารพ  แม้กระทั่งในสนามรบก็ให้ความเคารพกับศาสนาอื่นเช่นบัญญัติในการรบของผู้ที่ได้รับชัยชนะชาวมุสลิมเขียนไว้ว่า “จะต้องไม่เบียดเบียนพระหรือนักบวชในศาสนาอื่นใดก็ตาม  และจะต้องไม่ทำลายศาสนสถานของศาสนาอื่น”  ขอเราท่านทั้งหลายอย่าได้คิดแม้แต่น้อยเลยว่า  หากเราศึกษาศาสนาของผู้อื่นแล้ว  จะทำให้เราเสื่อมความเชื่อในศาสนาของเรา  แต่นั่นคือการเปิดกว้างสำหรับการยอมสิ่งที่มีอยู่จริงอีกมิติหนึ่ง ผู้ใดที่เข้าถึงหัวใจของศาสนาของตนเองได้  ผู้นั้นย่อมจะเข้าถึงหัวใจของศาสนาอื่นได้เช่นเดียวกัน

3.  จัดตั้งโครงการเพื่อศาสนสัมพันธ์  เพื่อความเข้าใจอันดีขึ้น  ในสังคมที่มีความหลากหลายทางศาสนา  อาจจะให้มีการประชุมทางศาสนาทุก 1 เดือน  มีการเชิญวิทยากรของแต่ละศาสนามาอภิปรายหรือบรรยายในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อความสามัคคีเราสามารถที่จะอยู่รวมกันได้อย่างสันติ  อาจจะช่วยลดภาพลักษณ์บางศาสนาที่คนอื่นมองในแง่ไม่ดีให้มองในแง่ดีได้มากขึ้น นักปราชญ์ทางศาสนาบางท่านยังมีโครงการที่จะรวมศาสนาในโลกเป็นศาสนาสากล  แต่โดยความเป็นจริงแล้ว ศาสนาก็เป็นเพียงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและได้รับการดัดแปลงแก้ไขจากปัญญาของมนุษย์  เพื่อตอบสนองความต้องการศาสนาจึงมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน  เป็นประดิษฐกรรมของมนุษย์  โดยมนุษย์  เพื่อมนุษย์

4.   ให้เกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน  ไม่แบ่งแยกผิวพรรณวรรณะ  เพราะคนที่แบ่งแยกผิวพรรณ  เรื่องของเชื้อชาติ  แต่ความจริงศักยภาพความเป็นคนของเราไม่ได้อยู่ที่ผิวพรรณหรือเชื้อชาติ  แต่อยู่ที่การกระทำและเจตนาที่แสดงออกมา  นั่นแหละคือความสามารถที่แท้จริงของเขา ไม่เหยียดหยามกันเพราะศาสนา ใครจะเกิดในตระกูลต่ำสูงอย่างไรก็ตามถ้าทำดีก็เป็นคนดี  ถ้าทำความชั่วก็เป็นคนชั่ว ดังในสุนทริกสูตร ว่า “ไฟย่อมเกิดได้จากไม้ทุกชนิด  ผู้รู้แม้เกิดในตระกูลต่ำ  แต่เป็นผู้มีความพากเพียร เป็นผู้กันความชั่วด้วยความละอาย มีสัตย์ ฝึกตน ก็เป็นคนอาชาไนยได้”

5.  ยอมรับข้อดีของแต่ละศาสนา  คือเรามองกันในแง่ดี  พิจารณาข้อที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม ร่วมกันจรรโลงสังคม  เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่เราจะมามัวทะเลาะกันเรื่องศาสนา  แต่เราทุกศาสนาควรจะมองถึงปัญหาสังคมมีอยู่ในปัจจุบัน เช่นปัญหายาเสพติด อันเป็นตัวบ่อนทำลายความมั่นคงทุกสถาบันในสังคมทำอย่างไรจะนำหลักธรรมทางศาสนามาปลดปล่อยให้เยาวชนของเราที่ตกเป็นทาสยาเสพติดได้  ทั้งฝ่ายเทวนิยมและอเทวนิยมโดยมีหลักอยู่ 4 ประการคือ

-   มีความจริงใจไมตรีจิตจะให้สัตว์ทั้งปวงมีสุขถ้วนหน้า
-   มีความเอ็นดูสงสารและความตั้งใจจริงที่จะช่วยให้พ้นทุกข์
-   พลอยยินดีและร่วมเป็นแรงกายแรงใจ ไม่อิจฉาริษยากัน
-   วางใจเป็นกลางในการทำงานร่วมกัน

6.  เผยแผ่ศาสนาอย่างถูกต้อง  คือไม่ไปแย่งชิงศาสนิกของศาสนาอื่น  โดยวิธีการบังคับ ขู่เข็ญ และแบบมีเล่ห์เพทุบายก็หมายความว่าศาสนาที่เสียศาสนิกไปย่อมเกิดความไม่พอใจ  แต่ควรชี้ให้เขาเห็นข้อดีของศาสนาของเราจริง ๆ   แต่ถ้าเป็นการเผยแผ่โดยเอาผลประโยชน์ทางการศึกษา  ทางเศรษฐกิจ  ทางสังคมเข้ามาเป็นเหยื่อล่อก่อนไม่ควรกระทำเพราะไม่ใช่การประกาศอย่างตรงไปตรงมา  แต่เป็นการใช้เหยื่อล่อเหมือนล่อปลามาติดเบ็ด  เท่ากับเป็นการหลอกลวงโดยตรง

7.  ศาสนาเปรียบกับต้นไม้  ตามแนวของท่านศ.ดร.แสง  จันทร์งาม  ธรรมดาต้นไม้ย่อมมีส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ส่วนคือ
ราก   เปรียบเหมือน   ความเป็นมนุษย์
ลำต้น   เปรียบเหมือน   ความต้องการทางจิตวิญญาณ 5 ประการคือ  ปรัชญา
ชีวิต  ที่พึ่งอันประเสริฐ สิ่งสมบูรณ์ที่สุด  ความดีและความสุขชั้นสูง
กิ่ง   เปรียบเหมือน   ศาสนาต่าง ๆ
นกทั้งหลาย   เปรียบเหมือน   ศาสนิกชน
ก่อนที่นกจะลงจับต้นไม้นั้น  มันจะต้องพิจารณาดูเสียก่อนว่ากิ่งไหนจะเหมาะสมขนาดตัวของมันนกตัวใหญ่จะจับที่กิ่งใหญ่  นกขนาดกลางจับกิ่งขนาดกลาง  นกตัวน้อยจะจับกิ่งขนาดเล็ก นกตัวใหญ่จะไม่เกิดความหยิ่งผยองในกิ่งใหญ่ของตน  และจะไม่หันไปดูถูกกิ่งเล็กของนกตัวอื่น  เพราะมันรู้ดีว่าไม่ว่าจะกิ่งใหญ่หรือเล็ก  ก็ล้วนมาจากลำต้นเดียวกัน  เป็นต้นไม้ต้นเดียวกันให้ประโยชน์ที่สำเร็จแก่นกทุกตัวอย่างเท่าเทียมกัน มันก็จะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข
     
โลกทั้งผองพี่น้องกัน

แม้แตกต่าง           ศาสนา                  สามัคคี
ดังน้องพี่               มวลมิตร             จิตรแจ่มใส
ขอก้าวไป             มอบดวงใจ         ให้ห่วงใย
ร่วมสร้างไทย      ให้มีธรรม             ค้ำชูชน.
                                   
โดย.....ชูวิทย์  ไชยเบ้า
อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาสังคมศึกษา

อนุโมทนา หลวงพี่
jiann tracheewa Google+
Shared publicly  -  10:06 AM 22/3/2558