ธรรมะให้ลูกดี
คัดลอกจากหนังสือ "ธรรมมะให้ลูกดี"
งานนิพนธ์ โดย เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทฒาจารย์{เกี่ยว อุปเสโณ}
การระวังกายไม่ให้ทำร้ายผู้ใด หรือสัตว์ใดจนเกิดความลำบากเดือดร้อน การระวังวาจาไม่ให้กระทบกระทั่งผู้ใดหรือสัตว์ใด จนเกิดความลำบากเดือดร้อน การระวังใจไม่ให้คิดที่จะทำร้ายผู้ใดหรือสัตว์ใด ไม่ให้มีความต้องการที่จะเห็นผู้ใดหรือสัตว์ใด ได้รับความพินาศย่อยยับ การระวังดังกล่าวนี้ชื่อว่า "การรักษาศีล"
สำหรับศีลในระดับพื้นฐานที่ชาวบ้านโดยทั่วไปรักษามี ๕ ประการ คือ
ศีล ๕ นี่แหละเป็นสิ่งสำคัญ เป็นส่วนเบื้องต้นในการประคับ ประคองจิตใจให้สูงขึ้น หากไม่มีโอกาสไปรับจากพระสงฆ์ที่วัด ตื่นเช้ามาก็ให้นึกอธิษฐานในใจทุกวัน เป็นการรักษาศีลด้วยการอธิษฐานศีลว่า
"วันนี้จะตั้งใจรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ให้ด่างพร้อย ไม่ให้เศร้าหมอง"
คำว่า "ด่างพร้อย" นี้ หมายถึง ศีลยังไม่ขาด แต่ศีลเศร้าหมอง หรือมีรอยด่าง เช่น อยากกินปลา แล้วบอกลูกบอกหลานไปหาปลาให้กิน จึงเป็นเหตุให้ลูกหลานต้องฆ่าปลา อย่างนี้ศีลยังไม่ขาด แต่ศีลด่างพร้อย หรือเศร้าหมอง เพราะแม้เราไม่ได้ฆ่าสัตว์ด้วยตัวเอง แต่ก็เป็นเหตุให้ผู้อื่นฆ่า อาหารการกินก็อย่าไปยุ่งยาก ลูกหลาน จัดหาอะไรให้กินก็กินตามมีตามได้ กินพอให้ร่างกายดำรงอยู่เพื่อทำคุณงามความดีต่อไป คนแก่มีชีวิตอยู่เพื่อเป็นหลักใจให้กับลูกกับหลาน เพื่อให้ลูกหลานได้ปลดหนี้ชีวิต แค่นี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องบ่นไม่ต้องว่าให้ลูกหลาน ยิ่ง มีอายุยืนอยู่นาน ลูกหลานก็ยิ่งมีโอกาสได้ปลดเปลื้องหนี้ชีวิตได้มาก
เมื่อถึงวันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ โยมทั้งสองไปวัดไม่ได้ ก็ให้อธิษฐานศีลอุโบสถที่บ้าน ถ้าตั้งใจอธิษฐานศีลอุโบสถจะมีอานิสงส์มาก ศีลนั้นสำเร็จได้ด้วยการอธิษฐาน คือ การตั้งใจรักษาศีลอย่างหนึ่ง และสำเร็จได้ด้วยการสมาทาน หรือ การรับศีลจากพระสงฆ์อย่างหนึ่ง
การรักษาศีลทั้งสองอย่างมีอานิสงส์เช่นเดียวกัน เราสะดวกอย่างไรก็เลือกตามความเหมาะสม อย่าให้เกิดเป็นความยึดติดรูปแบบ จนทำให้ชีวิตดูแปลกแยกจากสังคม อึดอัดขัดข้องไปเสียหมด ตนเองก็ขัดข้อง คนรอบข้องก็อึดอัด สังคมก็มองด้วยสายตาแปลกประหลาด เอาความเหมาะสมแก่สังขาร และให้สอดคล้องไปกับการดำเนินชีวิตเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องนุ่งขาวห่มขาวใส่เสื้อม่อฮ่อม อวดให้คนอื่นเห็นว่าเราเคร่งศีลเคร่งธรรม ศีลอยู่ที่กาย วาจา ใจ ไม่ได้อยู่ที่เครื่องแต่งตัว
งดเว้นจากการทำบาปทุกอย่าง
คุณธรรมพื้นฐานของชีวิตข้อที่ ๑ การงดเว้นจากการทำบาปทุกอย่าง สาระในหลักการข้อที่หนึ่งนี้เริ่มด้วยการงดเว้นจากสิ่งที่เป็นบาปทุกอย่าง เบื้องต้นของการงดเว้นจากบาปก็คือการมีศีล ๕ จิตของ คนที่มีศีล ๕ ย่อมบ่งบอกได้ว่าเขาเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ หากขาดศีล ๕ ฐานะจิตของเขาก็ต่ำลงกว่าจิตมนุษย์ ซึ่งลักษณะของจิตที่ไม่มีศีล ๕ นี้มิใช่ลักษณะจิตของมนุษย์ ภพชาติต่อไปของเขาจึงเหมาะแก่ภพของสัตว์เดรัจฉาน ภพของเปรต ภพของอสูรกาย หรือภพของสัตว์นรก ทั้งหลาย ตามแต่ความหนักเบาของกรรมที่กระทำ
ศีล ๕ พื้นฐานของความเป็นมนุษย์
ในที่นี้จะกล่าวถึงศีล ๕ ซึ่งเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ มีสาระที่ควรทำความเข้าใจ ดังนี้
(๑) ไม่เบียดเบียนเข่นฆ่าผู้อื่น ให้ได้รับความลำบากเดือดร้อน เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ทั้งทางกายและทางจิตใจ ตลอดจนการฆ่าด้วยสายตา คือ การมองผู้อื่นด้วยสายตาดูหมิ่นดูแคลน
เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หมายถึง มีความเมตตาปราณี สงสารสัตว์ ให้สงสารสัตว์เหมือนสงสารลูกๆ ของตนเอง เรารัก สงสารและห่วงใยลูกของเราอย่างไร จงรักสงสารและห่วงใยสัตว์ อย่างนั้น เรารักชีวิตของเราอย่างไร คนอื่นและสัตว์อื่นก็รักชีวิตเขาอย่างนั้น เราหวาดหวั่นต่อความตายอย่างไร คนอื่นและสัตว์อื่นก็ หวาดหวั่นต่อความตายอย่างนั้น เราหวาดหวั่นต่อความเจ็บปวดทุกข์ ทรมานอย่างไร คนอื่นและสัตว์อื่นก็หวาดหวั่นต่อความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างนั้น จึงไม่ควรฆ่าไม่ควรทำลาย ไม่ควรทำให้เขาได้รับ ความทุกข์ความเจ็บปวด
ความจริง คนมีธรรมะก็ไม่จำเป็นเป็นต้องรักษาศีล เพราะมี ธรรมะก็คือมีศีลอยู่ในตัวนั่นเอง เช่น คนมีเมตตาธรรม มีความเมตตาก็ คือมีความสงสารไม่อยากให้เขาได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน จึงไม่ เบียดเบียนใครๆ ไม่ทำร้ายใครๆ เมื่อไม่เบียดเบียนไม่ทำร้ายเพราะเกิด ความสงสารจึงมีศีลอยู่ในตัว
ผลของการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เบียดเบียนผู้อื่น ผู้ที่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน แม้มีบุญพอที่จะให้เกิดเป็นมนุษย์ได้ แต่ผลกรรม ก็จะทำให้เขาเป็นคนมีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์น่าเกลียด เป็นคนมี โรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนมาก มีอายุสั้น ตายก่อนวัยอันควร และยังเป็น เหตุให้คนอายุสั้นมาเกิดร่วมชายคาเดียวกับเขาด้วย (๒) ไม่ฉ้อโกง ลักขโมย ยักยอก บีบคั้น เบียดบัง คอรัปชั่น เอาสมบัติของผู้อื่น ตลอดจนใช้วิธีการถ่ายเทสมบัติของส่วนรวม หรือชาติมาเป็นสมบัติของตนเอง
เว้นจากการลักทรัพย์ หมายถึง ไม่ปรารถนาสิ่งของทรัพย์ สมบัติที่ได้มาโดยมิชอบธรรม มีการใช้อำนาจฉ้อโกงเบียดเบียนแล้ว ได้มา เป็นต้น เราหวงแหนทรัพย์สมบัติของเราอย่างไร คนอื่นก็หวง แหนทรัพย์สมบัติของเขาอย่างนั้น จึงไม่ควรลักขโมยหรือฉ้อโกงเอา สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตน อันจะเป็นสาเหตุทำให้เขาเป็นทุกข์ เศร้าโศกเสียใจ
ผลของการลักทรัพย์ ผลของการลักทรัพย์ ฉ้อโกง คอร์รัปชั่น คือ เขาจะกลายเป็นคนยากจนข้นแค้น มีความอดอยาก ไม่ได้ในสิ่งที่ตน ปรารถนา มีความผิดหวังในการประกอบอาชีพอยู่ร่ำไป ไม่ประสบผล สำเร็จในการค้าขาย หรือหากเป็นคนร่ำรวยมีทรัพย์สมบัติเป็นมรดกตกทอดมาจากตระกูล จะเป็นคนไม่มีปัญญารักษามรดกนั้นไว้ได้ ทรัพย์สมบัติจะพินาศล่มจมในที่สุด (๓) ไม่ประพฤติผิดลูกเมียผู้อื่น อันจะเป็นเหตุให้พ่อ แม่ ญาติ พี่น้องเขาเจ็บปวดใจ ตลอดจนการค้าประเวณี และการทำตน หรือประดิษฐ์สิ่งให้เกิดการยั่วยุทางเพศ
เว้นจากการประพฤติผิดจากครองธรรมในเรื่องกาม กามเป็นเรื่องของชาวโลก เป็นธรรมชาติของมนุษย์ตลอดจนสัตว์ทุกจำพวก แต่มีข้อแตกต่างกันระหว่างกามในมนุษย์กับสัตว์ตรงที่มนุษย์มี ครองธรรมในการเสพกาม สัตว์ทั้งหลายไม่มีครองธรรมในการเสพกาม
ครองธรรมในกามของมนุษย์ ได้แก่ "ขอบเขตของการเสพ กาม" ซึ่งพระพุทธองค์กำหนดไว้ในศีล ๕ ข้อที่สาม คือ มนุษย์ควรมี กามแต่เฉพาะกับคู่ครองของตน ตลอดจนไม่แสดงพฤติกรรมเบี่ยงเบน กามผิดไปจากประเวณี เช่น ผู้หญิงแสดงกามด้วยกันเอง หรือผู้ชาย แสดงกามด้วยกันเอง
เป็นความจริงที่ว่า กามเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ปุถุชน ทั่วไป แต่ก็ไม่ควรให้กามท่วมท้นจิตใจ จนทำลายความดีงามของความ เป็นมนุษย์ บางคนอาจพูดว่าถ้าเขายอมล่ะ? แม้จะยอมก็ไม่ได้หมาย ความว่าจะพ้นจากการผิดศีลข้อนี้ เพราะคนทุกคนนั้นมีการคุ้มครอง จากหลายสิ่ง คือ
๑.พ่อแม่คุ้มครอง
๒.หมู่ญาติคุ้มครอง
๓.ธรรมะ คือ ความถูกต้องคุ้มครอง
ถ้าเราละเมิดการคุ้มครองดังกล่าวข้างต้น ก็เป็นอันผิดศีลทั้งนั้น ถ้าตัวเขายินยอมเราก็ล่วงละเมิดพ่อแม่เขา หรือถ้าพ่อแม่เขายินยอม ในกรณีของการส่งลูกมาค้าประเวณีตามค่านิยมของบางท้องถิ่น เราก็ล่วงละเมิดญาติเขา หรือแม้ถ้าญาติเขายอมรับ ก็ไม่ได้พ้นจากการล่วงละเมิดการคุ้มครองจากธรรม
ผลของการประพฤติผิดในกาม ผู้ที่ประพฤติผิดในกามเป็นประจำ เพราะเศษกรรมที่เหลือตกค้างจะทำให้เกิดในตระกูลต่ำ มีผู้เกลียดชังมากโดยไม่ทราบสาเหตุ มีผู้คิดปองร้ายมาก มักถูกมองด้วยสายตาที่ดูหมิ่น เกิดเป็นหญิง ก็มีจิตวิปริตอยากเป็นชาย เกิดเป็นชายก็มีจิตวิปริตอยากเป็นหญิง มีเหตุต้องให้ได้รับความอับอายขายหน้าอยู่เป็นประจำ เป็นคนขี้ขลาดกล้าๆ กลัวๆ ขาดความมั่นใจในตนเอง จนกลายเป็นคนวิตกจริต เขาจะมีเหตุให้ต้องพลัดพรากจากคนที่ตนรักอยู่ร่ำไป หากมีลูกสาว ก็จะถูกกระทำเช่นนั้นให้ได้รับความเจ็บปวดใจ (๔) ไม่โกหกพกลม หลอกลวง ปลิ้นปล้อน มีเล่ห์เหลี่ยม ตลอดจนใช้คารมให้มวลชนหลงเชื่อ โดยที่ตนเองไม่มีคุณสมบัติเช่นนั้นอยู่ในตัว หรือใช้ภาษาโน้มน้าวฝูงชน ให้เกิดความคิดเห็นไปในทางที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง แก่พวกพ้องบริวาร หรือประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมด้านใดด้านหนึ่ง
เว้นจากการโกหกหลอกลวง การโกหกเป็นการแสดงออกถึงความเป็นคนไม่ซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งแสดงออกทางการพูดปด ตอแหล ปลิ้นปล้อน ส่อเสียด ใส่ความผู้อื่น มีคำกล่าวว่า "ไม่มีความชั่วใดที่คนโกหกทำไม่ได้" ถ้าคนสามารถโกหก โดยมีจิตพยาบาทคิดจะให้เกิดความพินาศเสียหายแก่ผู้อื่นได้แล้ว ก็ไม่มีความชั่วใดที่เขาจะทำไม่ได้
ผลของการพูดโกหก ผลของการพูดโกหก จะทำให้เป็นคนพูดจาน่ารำคาญ ทรัพย์สมบัติจะวิบัติด้วยไฟ ด้วยน้ำ ด้วยโจร หรือด้วยศัตรูคู่แค้น คือ ทรัพย์สมบัติจะถูกไฟไหม้ น้ำท่วม โจรปล้น หรือศัตรูคู่แค้นก่อความเดือดร้อนเสียหาย เกิดการทะเลาะ วิวาทบาดหมางเป็นความไม่รู้จักจบสิ้น เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นคนหมดยางอาย และสุดท้ายจะกลายเป็นคนปัญญาเสื่อม (๕) ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดของมึนเมา ตลอดจนสนับสนุน ส่งเสริม โฆษณาประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้คนเกิดความเห็นคล้อยตามเกิดความนิยมชมชอบสิ่งเสพติดของมึนเมา
เว้นจากการดื่มน้ำเมาและเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดให้โทษ การดื่มน้ำเมาและสิ่งเสพติดให้โทษก่อให้เกิดความผิดพลาดในการครองสติ ทำให้ลืมตัว เป็นสาเหตุในการกระทำความผิดอย่าง ร้ายแรงจนไม่สามารถแก้ได้ การดื่มน้ำเมารวมถึงสิ่งเสพติดทั้งหลายทั้งปวง นอกจากจะมีผลโดยตรงต่อสติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่รักษาจิตให้ มั่นคงแล้วการดื่มน้ำเมาและสิ่งเสพติดต่างๆ ยังมีผลต่อร่างกาย เป็นที่มาของโรคร้ายมากมายอีกด้วยโดยเฉพาะเมื่อขาดสติเพราะเครื่องมึนเมา เราอาจทำผิดศีลได้ทุกข้อ
ผลของการเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดให้โทษ ผลของการเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดให้โทษ คือ เขาจะกลายเป็น คนพูดไม่ชัดถ้อยชัดคำ ฟันไม่เป็นระเบียบ ปากเหม็น มีกลิ่นตัวมาก จิตไม่เที่ยงคล้ายคนวิกลจริต
ผลกรรมที่จะตามมาจากการละเมิดศีล ๕ เป็นนิจตามที่กล่าวมา หากยังไม่ประสบในปัจจุบันทันตาเห็น ก็จะเกิดในภพชาติต่อไปอย่าง หลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน กล่าวโดยสรุป ศีล ๕ นั้น เป็นคุณธรรมเบื้องต้นของความเป็น มนุษย์ เมื่อมนุษย์เริ่มบังคับตนให้รักษาศีล ๕ ได้แล้ว คุณธรรมขั้นสูง อื่นๆ ก็จะตามมา ในขณะเดียวกันทางมาแห่งบาปกรรมอื่นๆ ก็จะเบา บางลงด้วย เช่น การเป็นนักเลงพนัน การเป็นเสือผู้หญิง การเที่ยวเตร่ ความเย่อหยิ่งจองหองลำพองตน ความถือตัวว่าดีว่าเก่งกว่าผู้อื่น ความดู ถูกดูหมิ่นผู้อื่น การคิดจะเอาชนะคนอื่น เป็นต้น เขาจะเริ่มรู้ด้วยตัวเขา เองว่าสิ่งเหล่านี้ๆ เป็นโทษ ควรงดเว้น ไม่ควรให้เกิดขึ้นในจิตใจ ผู้ที่จะเกิดเป็นมนุษย์ได้ในภพชาติต่อไป จึงต้องรักษาระจิตใจให้มีศีล ๕ เป็นอย่างน้อย
การรักษาศีล
การรักษาศีล คือ การตั้งใจที่จะระวังกายไม่ให้ทำร้ายผู้ใดหรือสัตว์ใดจนเกิดความลำบากเดือดร้อนหรือล้มตาย ตั้งใจที่จะระวังวาจาไม่ให้พูดกระทบกระทั่งผู้ใดหรือสัตว์ จนเกิดความลำบากเดือดร้อน ตั้งใจที่จะระวังใจไม่ให้คิดที่จะอาฆาตพยายาทมุ่งร้ายผู้ใดหรือสัตว์ใด ไม่ให้มีความต้องการที่จะเห็นผู้ใดหรือสัตว์ใดได้รับความพินาศย่อยยับ การระวังเช่นนี้เป็นการระวังกายวาจาใจให้อยู่ในสภาวะปกติชื่อว่า การรักษาศีล การรักษาศีลทำได้ ๒ วิธี คือ
· การอธิษฐานศีล คือการตั้งใจด้วยตัวเองว่าจะรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์
· การสมาทานศีล คือ การรับศีลจากพระภิกษุสงฆ์
การรักษาศีลควรเลือกปฏิบัติตามความเหมาะสม อย่าให้เกิดเป็นความยึดติดรูปแบบ จนชีวิตดูอึดอัดแปลกแยกจากสังคมที่เราอยู่ ให้สอดคล้องกลมกลืนไปกับการดำเนินชีวิต บางคนแต่งชุดขาวตลอดปีไม่ว่าจะเป็นสังคมระดับไหน งานอะไร ตามธรรมเนียมนิยมของสังคม เขาแต่งตัวอย่างไรก็ไม่ใส่ใจ ฉันจะแต่งตัวอย่างนี้ของฉัน เพื่อให้คนอื่นรู้ว่าเราถือศีลกินเจ อย่างนี้เรียกว่า ทำตนให้แปลกแยกจากสังคม หรือ ทำตัวเองให้ผิดปกติจากสังคมที่อยู่ร่วมด้วย เพื่อสร้างจุดเด่นหรือเรียกร้องความสนใจ
แท้จริง ศีลไม่ได้อยู่ที่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ความปกติทั้งกาย วาจา ใจ ที่ไม่สร้างทุกข์ความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น มีความกลมกลืนไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ ชีวิต และสังคม ให้ธรรมชาติ ชีวิต และสังคมอยู่ปกติสุข ต่างหากคือศีล
ศีล ๕
ศีลในระดับพื้นฐานสำหรับชาวบ้านทั่วๆ ไป มี ๕ ประการ คือ
ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ไม่ฉ้อโกงลักขโมย
ไม่ประพฤติผิดลูกเมียผู้อื่น
ไม่โกหกหลอกลวง
ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดของมึนเมาให้โทษ
ศีล ๘
ศีลสำหรับชาวบ้านที่ต้องการปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไปอีก เป็นการทดลองใช้ชีวิตอย่างพระภิกษุ แต่ยังดำเนินชีวิตอย่างชาวบ้านตามปกติเรียกว่าศีล ๘ และศีลอุโบสถ มี ๘ ประการ คือ
. เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
. เว้นจากการลักทรัพย์
· เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์
. เว้นจากการพูดเท็จ
. เว้นจากการดื่มสุราและเมรัย
. เว้นจากการทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้วจนถึงรุ่งอรุณขึ้นมาใหม่
. เว้นจากการร้องรำขับร้องประโคมดนตรีและดูและละเล่นการลูบไล้ทาด้วยของหอม ประดับประดาเครื่องแต่งกาย
. เว้นจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่
ศีล ๘ และศีลอุโบสถ แม้จะมี ๘ ข้อเหมือนกัน แต่ก็มีวิธีการรักษาที่ต่างกัน
ศีล ๘ นั้น รักษาด้วยการสมาทาน แต่จะสมาทานรักษาวันไหนเวลาไหนก็ได้แล้วแต่ความตั้งใจ เมื่อสมาทานแล้วก็เป็นอันรักษาศีล จนกว่าจะเลิกสมาทานกลับมารักษาศีล ๕ เช่นเดิม ธรรมเนียมคนไทยมักรักษาศีล ๘ ในช่วงวันที่สำคัญของชีวิต เช่น วันเกิดของตนหรือของคนในครอบครัว หรือช่วงไหนของชีวิตไม่ค่อยดีก็จะรักษาศีล ๘ เพื่อเสริมบุญกุศลให้มากขึ้น
ส่วนศีลอุโบสถนั้นรักษาตามกาลสมัย มีระยะเวลารักษาวันหนึ่งกับคืนหนึ่งในวันอุโบสถเท่านั้น ถ้าให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ศีลอุโบสถมีระยะเวลารักษาเฉพาะในวันอุโบสถเท่านั้น พอตะวันขึ้นวันใหม่ก็เป็นอันหมดเขตศีลอุโบสถ
สำหรับวิธีการรักษาศีลอุโบสถ เมื่อถึงวันพระ แม้จะไม่ไปวัดสมาทานอุโบสถศีลจากพระภิกษุสงฆ์ เพราะเหตุอื่นใดก็ตาม แต่สมาทานได้ด้วยการตั้งใจอธิษฐานว่า
"วันนี้เป็นวันพระ จะรักษาศีลอุโบสให้บริสุทธิ์บริบูรณ์"
เช่นนี้ก็เป็นวิธีการรักษาศีลอุโบสถ จะอธิษฐานต่อหน้าพระพุทธรูปก็ได้ หากที่บ้านไม่มีพระพุทธรูปจะอธิษฐานจิตก็ได้ คนไทยสมัยโบราณนิยมไปรักษาศีลอุโบสถที่วัด พอถึงวันพระจะงดกิจการงานทุกอย่าง ต่างก็ไปวัดสมาทานศีลอุโบสถแล้วค้างคืนที่วัด ช่วยพระทำความสะอาดปัดกวาดลานวัด โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ สวดมนต์ไหว้พระ รุ่งเช้าได้อรุณตะวันขึ้นวันใหม่หมดเขตการรักษาศีลก็กลับบ้าน แม้ในปัจจุบัน ตามชนบทก็ยังถือปฏิบัติเช่นนี้อยูมาก ส่วนในกรุงเทพและเมืองใหญ่ๆนั้นรูปแบบสังคมเปลี่ยนไป มีความไม่สะดวกหลายอย่าง จึงต้องมีการปรับวิธีการให้เหมาะสมกับสภาพสังคม
ในสมัยปัจจุบัน จะรักษาศีลอุโบสถโดยไม่ต้องไปค้างที่วัดก็ได้ พอถึงวันพระให้งดกิจกรรมทางบ้านบางอย่าง แล้วอธิษฐานศีลอุโบสถด้วยตนเอง ในสมัยพุทธกาลอุบาสกอุบาสิการักษาศีลอุโบสถที่บ้าน อย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เมื่อถึงวันอุโบสถสมาชิกในบ้านทุกคนก็จะงดหน้าที่การงานทุกอย่างเพื่อให้มีโอกาสได้รักษาศีลอุโบสถไม่เว้นแม้แต่เด็กและคนใช้ กิจกรรมเกี่ยวกับอาหารการกินทุกอย่างยุติลงหลังเที่ยง ไม่มีเสียงเด็กร้องไห้ขออาหาร ไม่มีเสียงพูดคุยสรวลเสเฮฮา
ตอนหลังการรักษาศีลอุโบสถได้เปลี่ยนรูปแบบไปตามกาลเวลา ชาวบ้านต้องการเข้าใกล้พระศาสนามากขึ้น พอถึงวันอุโบสถก็ไปค้างคืนรักษาศีลที่วัด จึงกลายเป็นธรรมเนียมสืบต่อมา
กล่าวโดยสรุป การรักษาศีล คือ การประคับประคองจิตไม่ให้คิดร้าย ประคับประคองวาจาไม่ให้พูดร้าย ประคับประคองกายไม่ให้ ทำร้ายใครๆ อันเป็นสาเหตุให้เขาเกิดความทุกข์ทรมาน เกิดความเศร้าโศกเสียใจนั่นเอง
คัดลอกจากหนังสือ"ธรรมมะให้ลูกดี"
งานนิพนธ์ โดย เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทฒาจารย์{เกี่ยว อุปเสโณ}สำนักพิมพ์อนัตตะ ถนนเตชะวณิช แขวงบางชื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ๑๐๘๐๐: http://www.jariyatam.com/th/dhamma-book/somdejphrabhuddhajarn/322