ผู้เขียน หัวข้อ: คิริมานนทสูตร (อุบายรักษาโรค) นิกายมหายาน  (อ่าน 2609 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
คิริมานนทสูตร(นิกายมหายาน)
คิริมานนทสูตร (อุบายรักษาโรค) แปลจากภาษาสยามฝ่ายเหนือสู่ภาษาสยามกลาง
โดย  พระธรรมธีรราชมหามุนี  (พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ จันทร์  สิริจนฺโท)

รายละเอียดเพิ่มเติม:
คิริมานนทสูตร ที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาส วัดบรมนิวาสแปลและเลือกคัดดัดแปลงจากต้นฉบับเดิม ซึ่งได้มาจากอุบาสก-อุบาสิกา จากจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นหนังสือแปลร้อย 12 ผูก เป็นสุภาษิตจับใจ แสดงทางสุข ทางทุกข์ ทางสวรรค์ ทางนิพพาน โดยเป็นการแปลจากภาษาสยามฝ่ายเหนือให้ลงสู่ภาษาสยามกลาง

- http://pantip.com/topic/13114036

คิริมานนทสูตร (พระยาธรรมิกราช)
พิจารณารูป-นาม (รูปสัญญา-นามสัญญา)

บัดนี้ จักแสดงพระสูตรอันหนึ่ง อันโบราณาจารย์เจ้าหากกำหนดไว้ว่า คิริมานนทสูตร อ้างเนื้อความว่า ครั้งปฐมสังคายนา พระมหาสังคาหกเถรเจ้าทั้งหลาย ๕๐๐ องค์ หย่อนโอกาสไว้ให้พระอานนท์องค์หนึ่ง ได้เข้ามาสู่ที่ประชุมพร้อมแล้ว คอยพระอานนท์องค์เดียว กำลังเจริญสมถวิปัสสนาอยู่ ยังไม่ได้สำเร็จพระอรหันต์ ครั้งพระอานนทเถรเจ้าได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว ก็เข้าจตุตถฌานเอาปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ไปปรากฏบนอาสนะท่ามกลางสงฆ์ ให้พระสงฆ์สิ้นความสงสัยในอรหัตคุณ ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ปฏิญาณตนในอเสขภูมิ ด้วยประการฉะนี้แล้ว พระมหาสังคาหกเถรเจ้าทั้งหลาย มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน จึงได้อารธนาเชื้อเชิญให้พระอานนท์ขึ้นนั่งเหนือธรรมาสน์ แสดงพระสุตันตปิฎกยกคิริมานนทสูตรนี้ขึ้นเป็นที่ตั้งลำดับไว้อย่างนี้

พระมหากัสสปเถรเจ้า จึงถามพระอานนท์ว่า
ดูกรอานนท์ พระสูตรอันชื่อว่าคิริมานนทสูตรนั้น พระพุทธเจ้าแสดงแก่บุคคลผู้ใดและตรัสเทศนา ณ ที่ไหน ปรารภอะไรให้เป็นเหตุ จึงได้ตรัสเทศนา มีวิตถาร พิสดารอย่างไร ขอให้พระอานนท์เจ้า จงแสดงต่อไปในกาลบัดนี้
พระอานนทเถรเจ้า ผู้นั่งอยู่บนธรรมาสน์ ได้โอกาสแต่พระสงฆ์แล้วจึงวิสัชนาพระสูตรนี้มีคำปฏิญญาในเบื้องต้นว่า ข้าพเจ้าผู้ชื่อว่าอานนท์ หากได้สดับมาแต่พระผอบแก้วกล่าวคือ พระโอษฐ์แห่งพระพุทธเจ้า ดำเนินความว่า
สมัยกาลครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จสำราญพระอิริยาบถ อยู่ ณ พระเชตวันวิหาร อันเป็นอารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ใกล้กรุงสาวัตถี ในกาลนั้น พระผู้เป็นเจ้าชื่อว่า คิริมานนทเถระผู้มีอายุ เกิดอาพาธหนักเหลือกำลังที่จะอดกลั้น พระผู้เป็นเจ้าจึงให้เชิญข้าพเจ้าผู้ชื่อว่าอานนท์เข้าไปยังสำนักแห่งตน แล้วจึงกล่าวว่า

ดูกรอานนท์ ข้าพเจ้าผู้ชื่อว่าคิริมานนท์นี้ บังเกิดอาพาธหนักเหลือกำลังที่จะพึงอดกลั้น ไม่สามารถจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ ขอนิมนต์ท่านอานนท์ นำเอาอาการอาพาธอันร้ายแรงแห่งข้าพเจ้า ไปกราบทูลให้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ เพื่อทรงพระมหากรุณาสงเคราะห์ ให้ทุกขเวทนาเจ็บปวดซึ่งเบียดเบียนอยู่ในร่างกายแห่งข้าพเจ้าผู้ชื่อว่าคิริมานนท์นี้ ระงับอันตรธานหายเถิด ข้าพเจ้าผู้ชื่อว่าอานนท์ รับเถรวาทีแล้ว ก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลอาการแห่งอาพาธ แลทุกขเวทนา ตามคำสั่งของพระคิริมานนท์ให้ทรงทราบทุกประการ
ในกาลครั้งนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อได้ทรงทราบอาการแห่งพระผู้เป็นเจ้าคิริมานนท์ ดังนี้แล้ว จึงตรัสแก่ข้าฯ อานนท์ว่า

ดูกรอานนท์ เธอจงกลับคืนไปสู่สำนักของท่านคิริมานนท์โดยเร็ว เมื่อไปถึงสำนักพระคิริมานนท์แล้ว เธอจงบอก สัญญา ๒ ประการ คือ รูปสัญญา ๑ นามสัญญา ๑ คือว่ารูปร่างกายตัวตนทั้งสิ้นก็ดี คือ นามได้แก่จิตเจตสิกทั้งหลายก็ดี ก็ให้ปลงธุระเสีย อย่าถือว่า รูปร่างกาย จิต เจตสิก เป็นตัวตน และอย่าเข้าใจว่าเป็นของๆ ตน ทุกสิ่งทุกอย่างความจริงหากเป็นของภายนอกสิ้นทั้งนั้น

ดูกรอานนท์ ถ้าหากว่ารูปร่างกายเป็นตัวตนเราแท้ เมื่อเขาแก่เฒ่า ชรา ตามัว หูหนวกเนื้อหนังเหี่ยวแห้ง ฟันโยกคลอน เจ็บปวด เหล่านั้น เราก็จักบังคับได้ตามประสงค์ว่า อย่าเป็นอย่างนั้น อย่าเป็นอย่างนี้ นี่เราบังคับไม่ได้ตามประสงค์ เขาจะเจ็บ จะไข้ จะแก่จะตาย เขาก็เป็นไปตามหน้าที่ของเขา เราหมดอำนาจที่จะบังคับบัญชาได้ เมื่อตาย เราจะพาเอาไปสักสิ่งสักอันก็ไม่ได้ ถ้าเป็นตัวตนของเราแล้ว เราก็คงจะพาเอาไปได้ตามความปรารถนา

ดูกรอานนท์ ถึง จิต เจตสิก ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของๆ ตน หากว่า จิต เจตสิก เป็นเราหรือเป็นของๆ เรา ก็จักบังคับได้ตามประสงค์ว่า จิตของเราจงเป็นอย่างนี้ จงเป็นอย่างนั้น จงสุขสำราญทุกเมื่อ อย่าทุกข์อย่าร้อนเลย ดังนี้ ก็จักพึงได้ตามปรารถนา นี่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เขาจะคิดอะไรเขาก็คิดไป เขาจะอยู่จะไปก็ตามเรื่องของเขา เพราะเหตุร่างกายจิตใจเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของๆ ตน ให้ปลงธุระเสียอย่าเข้าใจถือเอาว่าเป็นตัวตนแลของๆ ตนเถิด

ดูกรอานนท์ เธอจงไปบอกซึ่งสัญญาทั้ง ๒ ประการ คือ รูปและนามนี้ โดยเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน แลไม่ใช่ของๆ ตน ให้พระคิริมานนท์แจ้งทุกประการ เมื่อพระคิริมานนท์แจ้งแล้วอาพาธความเจ็บปวดแลทุกขเวทนา ก็จักหายจากสรีระร่างกายแห่งพระคิริมานนท์สิ้นเสร็จหาเศษบ่มิได้ จักหายโดยรวดเร็วด้วย ข้าฯแต่พระอริยกัสสปะผู้เป็นประธานในสงฆ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่ข้าฯ ผู้ชื่อว่าอานนท์ ด้วยประการดังนี้แล


พิจารณาอสุภานุสสติกรรมฐาน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเทศนาแก่ข้าฯ สืบต่อไปว่า
ดูกรอานนท์ ตัวตนเราก็ดี ตัวตนแห่งผู้อื่นก็ดี ตัวตนแห่งสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายก็ดี ก็มีอยู่แต่กองกระดูกสิ้นด้วยกันเสมอกันทุกตัวคนและตัวสัตว์ จะหาสิ่งใดเป็นแก้วเป็นแหวนเป็นแท่งเงินแท่งทองแต่สักสิ่งสักอันก็หาไม่ได้ จะหาเอาอันใดเป็นตัวเป็นตน เป็นจิตเป็นเจตสิกแห่งบุคคลผู้ใดสักอันหนึ่งก็ไม่มี ล้วนเป็นอนัตตาหาแก่นสารมิได้ บุคคลหญิงชาย คฤหัสถ์ นักบวชทั้งหลาย มาพิจารณาเห็นแจ้งชัดใน รูป นาม จิต เจตสิกโดยเป็นอนัตตา ดังนี้แล้ว ก็จักมีอานิสงส์ไม่มีส่วนที่จะพึงประมาณได้ เหมือนดังสุภัทท สามเณร ท่านพิจารณาแต่คำว่า อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก เท่านั้น ท่านถือเอาอัฏฐิกสัญญาอย่างเดียวเป็นอารมณ์ ก็ผ่องใสรุ่งเรืองเห็นแจ้งในร่างกายของตน จนได้บรรลุธรรมวิเศษ เหตุถือเอาอัฏฐิกสัญญาเป็นอารมณ์ เห็นอนัตตาแจ่มแจ้งด้วยประการดังนี้

ดูกรอานนท์ มรณสัญญา พิจารณาความตายก็ดี อัฏฐิกสัญญา พิจารณากองกระดูกก็ดี ปฏิกูลสัญญา พิจารณาร่างกายนี้โดยเป็นของพึงน่าเกลียด น่าสะอิดสะเอียน เต็มไปด้วยหมู่หนอนและสัตว์ทั้งหลายมีประการเป็นอันมาก ตามลำไส้น้อยลำไส้ใหญ่ ตามเส้นเอ็นทั่วไปในร่างกาย แลเต็มไปด้วยเครื่องเน่าเหม็น มีอยู่ในร่างกายนี้ทุกสิ่งทุกอย่าง ร่างกายนี้นับว่าเป็นของเปล่า ไม่มีอะไรเป็นของเราสักสิ่งสักอัน เกิดมาสำคัญว่าเป็นสุข ความจริงก็หากสุขอย่างนั้นเอง ถ้าจะให้ถูกแท้ ต้องกล่าวว่าเกิดมาเพื่อทุกข์ เกิดมาเจ็บเกิดมาไข้ เกิดมาเป็นพยาธิเจ็บปวด เกิดมาแก่ เกิดมาตาย เกิดมาพลัดพรากจากกัน เกิดมาหาความสุขมิได้ ความสุขนั้น ถ้าพิจารณาดูให้ละเอียดแล้ว มีน้อยเหลือประมาณไม่พอแก่ความทุกข์ นอนหลับนั้นแลนับว่าเป็นความสุข แต่เมื่อมาพิจารณาดูให้ละเอียดแล้ว ซ้ำเป็นทุกข์ไปเสียอีก ถ้าผู้ใดพิจารณาเห็นตาม ดังเราตถาคตแสดงมานี้เป็นนิมิตอันหนึ่ง ครั้งจดจำได้แน่นอนในตนแล้ว ก็เป็นเหตุให้ได้มรรคผลนิพพานในปัจจุบันนี้โดยไม่ต้องสงสัย

ดูกรอานนท์ นักปราชญ์ทั้งหลายผู้ฉลาดด้วยปัญญา ท่านบำเพ็ญอสุภานุสสติกรรมฐานปรารถนาเอาพระนิพพานเป็นที่ตั้งนั้น ท่านย่อมถือเอาอสุภะในตัวเป็นอารมณ์ของกรรมฐาน ถ้ายังเอาอสุภะภายนอกเป็นอารมณ์อยู่แล้ว ยังไม่เต็มทางปัญญา เพราะยังอาศัยสัญญาอยู่ ถ้าเอาอสุภะในตัวเป็นอารมณ์ของกรรมฐานได้ จึงเป็นที่สุดแห่งทางปัญญา เป็นตัววิปัสสนาญาณได้

ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ใดปรารถนาพระนิพพาน จงยังอสุภานุสสติกรรมฐานในตนให้แจ้งชัดเถิด ครั้นไม่เห็น ก็พิจารณาปฏิกูลสัญญาลงในตนว่า แม้ตัวของเรานี้ ถึงยังมีชีวิตอยู่ก็หากเป็นของน่าเกลียดพึงเบื่อหน่ายยิ่งนัก ถ้าหากว่าไม่มีหนังหุ้มห่อไว้แล้ว ก็จะพึงเป็นของน่าเกลียดเหมือนอสุภะแท้ หากมีหนังหุ้มไว้จึงพอดูได้ อันที่แท้ตัวตนแห่งเรานี้จะตั้งอยู่ได้ก็ด้วยลมอัสสาสะ-ปัสสาสะ เท่านั้น ถ้าขาดลมหายใจเข้าออกแล้วตัวตนนี้ก็จักเน่าเปื่อยผุพังไป แต่นั้นก็จะเป็นอาหารแห่งสัตว์ทั้งหลายมีหนอนเป็นต้น จักมาเจาะไชกิน ส่วนลมหายใจเข้าออกซึ่งเป็นเจ้าชีวิตนั้นเล่า ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ของๆ ตัวเขาอยากอยู่เขาก็อยู่ เขาอยากดับเขาก็ดับ เราจะบังคับบัญชาไม่ได้ตามปรารถนา ถ้าขาดลมหายใจเข้าออกแล้ว ความสวยความงามในตน แลความสวยความงามในภาย นอก คือ บุตร ภรรยา แลข้าวของเงินทอง และเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งปวง ก็ย่อมหาย ไปสิ้นด้วยกันทั้งนั้น เหลียวซ้ายแลขวาก็จะได้เห็นบุตรภรรยาแลนัดดาหามิได้ ต้องอยู่คนเดียวในป่าช้า หาผู้ใดจักเป็นเพื่อนสองมิได้

ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ใดมาพิจารณาเห็นอสุภกรรมฐาน ๓๒ โกฎฐาส เห็นซากผีดิบในตน ชื่อว่าได้ถือเอาความสุขในทางพระนิพพาน วิธีเจริญอสุภกรรมฐานตามลำดับ คือให้ปลงจิตลงในเกศา ให้เห็นเป็นอสุภะ แล้วให้สำคัญในเกศานั้นว่าเป็นอนัตตา แล้วให้เอาโลมาตั้งลง ปลงจิตให้เห็นเป็นอสุภะเป็นอนัตตา แล้วเอานขา ทันตาตั้งลง ปลงจิตให้เห็นเป็นอสุภะเป็นอนัตตา แล้วให้เอาตโจตั้งลงตามลำดับไป จนถึงมัตถเกมัตถลุงคังเป็นที่สุด พิจารณาให้เห็นเป็นอสุภะ เป็นอนัตตาโดยนัยเดียวกัน

ดูกรอานนท์ เราตถาคตแสดงมานี้โดยพิสดาร ให้กว้างขวางทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแท้จริงบุคคลผู้มีปัญญารู้แล้ว ก็ให้สงเคราะห์ลงใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เท่านั้น บุคคลผู้มีปัญญาจะเจริญอสุภกรรมฐานท่านมิได้เจริญแต่ต้นลำดับไปจนถึงปลาย เพราะเป็นการเนิ่นช้า ท่านยกอาการอันใดอันหนึ่งขึ้นมาพิจารณา สงเคราะห์ลงใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านก็ย่อมได้ถึงมรรคผลนิพพานโดยสะดวก การที่เจริญอสุภกรรมฐานนี้ ก็เพื่อจะให้เบื่อหน่ายในร่างกายของตน อันเห็นว่าเป็นของสวยของงาม ทั้งวัตถุภายในและภายนอกให้เห็นเป็นของเปื่อยเน่าผุพัง จะได้ยกตนให้พ้นจากกิเลสตัณหา ผู้มีปัญญารู้แล้ว ไม่ควรชื่นชมยินดีในรูปตนแลรูปผู้อื่น ทั้งรูปหญิง รูปชาย ทั้งวัตถุข้าวของ ดีงาม ประณีตบรรจง อย่างใดอย่างหนึ่งเลย เพราะว่าความรักทั้งปวงนั้นเป็นกองกิเลสทั้งสิ้น ถ้าห้ามใจให้ห่างจากกองกิเลสได้ จึงจะได้รับความสุขทั้งชาตินี้และชาติหน้า ถ้าหากใจ ยังพัวพันอยู่ในกองกิเลสแล้ว ถึงแม้จะได้รับความสุขสบายก็เพียงแต่ชาตินี้เท่านั้น เบื้องหน้าต่อไปไม่มีทางที่จะเสวยสุข มีแต่ได้เสวยทุกข์โดยถ่ายเดียว ผู้มีปัญญาเมื่อได้เจริญอสุภานุสสติกรรมฐาน เอาทวัตติงสาการ ๓๒ เป็นอารมณ์ ก็ควรละกองกิเลสตัณหาให้ขาดสูญ เมื่อรู้แล้วปฏิบัติตาม จึงจะเป็นผลเป็นกุศลต่อไป เมื่อรู้แล้วไม่ปฏิบัติตามก็หาผล อานิสงส์มิได้ เพราะละกิเลสตัณหามิได้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้ตกเข้าไปในกองเพลิง เมื่อรู้ว่าเป็นกองเพลิงก็รีบหลีกออกหนี จึงจะพ้นจากความร้อน ถ้ารู้ว่าตัวตกเข้าอยู่ในกองเพลิง แต่มิได้พยายามที่จะหลีกหนีออก จะพ้นจากความร้อนความไหม้อย่างไรได้ ข้ออุปมานี้ฉันใด บุคคลผู้รู้แล้วว่าสิ่งนี้เป็นโทษ แต่มิได้ละเสีย ก็มิได้พ้นจากโทษเหมือนกับผู้ไม่พ้นจากกองเพลิงฉะนั้น

ดูกรอานนท์ ผู้รู้แล้วและมิได้ทำตามนั้น จะนับว่าเป็นคนรู้ไม่ได้ เพราะไม่เกิดมรรคเกิดผลสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เราตถาคตอนุญาตตั้งศาสนธรรมคำสั่งสอนไว้นี้ก็เพื่อว่า เมื่อรู้แล้วว่าสิ่งใดเป็นโทษให้ละเสีย มิใช่ตั้งไว้เพื่อ อ่านเล่น ฟังเล่น พูดเล่น เท่านั้นเลย บุคคลทั้งหลายได้เสวยทุกข์ในมนุษย์ แลในอบายภูมิ นั้น ไม่ใช่สิ่งอื่นเลย เป็นเพราะกิเลส ราคะ ตัณหา นั้นอย่างเดียว ถ้าบุคคลผู้ยังไม่พ้นจาก กิเลส ราคะ ตัณหา ได้ตราบใด ก็ยังไม่เป็นผู้พ้นจากอบายทุกข์ได้จนตราบนั้น บุคคลผู้มิได้พ้นจากกิเลส ราคะ ตัณหา นั้น จะทำบุญให้ทานสร้างกุศลอย่างแข็งแรงเท่าใดก็ดี ก็จักได้เสวยความสุขในมนุษยโลก แลเทวดาโลกเพียงเท่านั้น ที่จะได้เสวยสุขในพระนิพพานนั้น เป็นอันไม่ได้เลย ถ้าประสงค์ต่อพระนิพพานแท้ ให้โกนเกล้าเข้าบวชในพระศาสนา ไม่ว่าบุรุษหญิงชาย ถ้าทำได้อย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติใกล้ต่อพระนิพพาน เพราะว่าเมืองนิพพานนั้น ปราศ จากกิเลสตัณหา เมืองมนุษย์แลเมืองสวรรค์เป็นที่ทรงไว้ซึ่งกิเลสตัณหา ไม่เหมือนเมืองพระนิพพาน ผู้มีปัญญาเมื่อปรารถนาความสุขในพระนิพพาน จงออกบวชในพระพุทธศาสนา แล้วตั้งใจเจริญสมถวิปัสสนา อย่าให้หลงโลกหลงทาง ถ้าไม่รู้ทางพระนิพพาน มีแต่ตั้งหน้าปรารถนาเอาเท่านั้น ก็จักหลงขึ้นไปในอรูปพรหม ชื่อว่าหลงโลกหลงทางไปในภพต่างๆ ให้ห่างจากพระนิพพานไป การทำบุญกุศลทั้งหลาย นั้น มิใช่ว่าจะทำให้บุญนั้นพาไปในที่อื่น ทำเพื่อระงับดับกิเลสอย่างเดียว อย่าเข้าใจว่าทำบุญกุศลแล้ว บุญกุศลนั้นจักยกเอาตัวนำเข้าไปสู่พระนิพพาน เช่นนั้นหามิได้ ทำเพื่อระงับกิเลสตัณหาแล้วจึงจักไปพระนิพพานได้ กิเลสตัณหานั้นมีอยู่ที่ตัวของเรา ถ้าเราไม่ทำให้ดับใครจะมาช่วยดับให้ ต้นเหง้าเค้ามูลของกิเลสตัณหาอยู่ที่เรา ถ้าเราดับไม่ได้ก็ไม่ถึงซึ่งความสุขในพระนิพพานเท่านั้น
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 12, 2015, 05:26:18 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
เมืองพระนิพพาน
ในลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า

ดูกรอานนท์ อันชื่อว่าเมืองพระนิพพานย่อมตั้งอยู่ในที่สุดแห่งโลก โลกมีที่สุดเพียงใดพระนิพพานก็ตั้งอยู่ที่สุดนั้น พระนิพพานเป็นพระมหานครอันใหญ่ เป็นที่บรมสุขหาที่เปรียบมิได้ คำที่ว่า ที่สุดแห่งโลก นั้น จะถือเอาอากาศโลก หรือจักรวาลโลกเป็นประมาณนั้นมิได้ อากาศโลกและจักรวาลโลก นั้น มีที่สุดเบื้องต่ำก็เพียงใต้แผ่นดิน แผ่นดินนี้มีน้ำรอง ใต้น้ำนั้นมีลม ลมนั้นหนาได้ ๙ แสน ๔ หมื่นโยชน์ สำหรับรองน้ำไว้ ใต้ลมนั้นลงไปเป็นอากาศหาที่สุดมิได้ ที่สุดโลกเบื้องต่ำก็เพียงลมเท่านั้น อันว่าที่สุดแห่งจักรวาลโลกเบื้องขวางนั้น มีอนันตจักรวาลเป็นเขต นอกอนันตจักรวาลออกไปก็เป็นอากาศว่างๆ อยู่ จึงว่าโดยขวางมีอนันตจักรวาลเป็นที่สุด อันว่าที่สุดแห่งจักรวาลโลกเบื้องบนนั้น มีอรูปพรหมเป็นเขต เพราะอรูปพรหม ๔ ชั้น นั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นนิพพานพรหมหรือนิพพานโลก นิพพานโลกนี้เป็นที่ไม่สิ้นสุด ส่วนว่านิพพานของพระพุทธเจ้าซึ่งมีนามว่าโลกุตตรนิพพาน นั้น เป็นนิพพานที่สุดที่แล้ว ต่อจากอรูปพรหม ๔ ชั้นขึ้นไป ก็เป็นแต่อากาศว่างๆ อยู่ จึงว่าที่สุดเบื้องบนเพียงอรูปพรหมเท่านั้น จะเข้าเข้าใจเอาเองว่าลมรองน้ำ แลอนันตจักรวาล แลอรูปพรหมเป็นที่สุดของโลก เมืองพระนิพพานคงตั้งอยู่ในที่สุดของโลกเหล่านั้น ดังนี้ พระพุทธเจ้าห้ามเสียว่า อย่าพึงเข้าใจอย่างนั้นเลย ที่ทั้งหลายเหล่านั้น ใครๆ ก็ไม่สามารถจักไปถึงด้วยกำลังกาย หรือด้วยกำลังพาหนะมียานช้างยานม้าได้ อย่าเข้าใจว่าเมืองนิพพานตั้งอยู่ในที่สุดของโลกเหล่า นั้นหรือตั้งอยู่ในที่แห่งนั้นแห่งนี้ อย่าเข้าใจว่าตั้งอยู่ในที่ใดที่หนึ่งเลย แต่ว่าพระนิพพานนั้นหากมีอยู่ในที่สุดของโลก เป็นของจริงไม่ต้องสงสัย ให้ท่านทั้งหลายศึกษาให้เห็นโลก รู้โลกเสียให้ชัดเจน ก็จักเห็นพระนิพพาน พระนิพพานก็หากตั้งอยู่ในที่สุดแห่งโลก นั่นเอง

ดูกรอานนท์ บุคคลทั้งหลายถึงที่สุดโลก ออกจากโลกได้แล้ว จึงชื่อว่าถึงพระนิพพาน แลรู้ตนว่าเป็นผู้พ้นทุกข์แล้ว แลอยู่สุขสำราญเบิกบานใจทุกเมื่อ หาความเร่าร้อนโศก เศร้าเสียใจมิได้ ถ้าผู้ใดยังไม่ถึงที่สุดโลก ยังออกจากโลกไม่ได้ตราบใด ก็ชื่อว่ายังไม่ถึงพระนิพพาน จะต้องทนทุกข์น้อยใหญ่ทั้งหลาย เกิดๆ ตายๆ กลับไปกลับมาหาที่สุดมิได้อยู่ตราบนั้น บุคคลทั้งหลายเป็นผู้ต้องการพระนิพพาน แต่หารู้ไม่ว่าพระนิพพานนั้นเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน ชั้นแต่ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นทางจะไปสู่พระนิพพานก็ไม่เข้าใจ เมื่อไม่รู้ไม่เห็นไม่เข้าใจแล้ว จะไปสู่พระนิพพานนั้นก็เป็นการลำบากยิ่งนัก หนา เปรียบเหมือนคน ๒ คน ผู้หนึ่งตาบอด ผู้หนึ่งตาดี จะว่ายข้ามน้ำมหานทีอันกว้างใหญ่ ในคนทั้งสองนั้น ผู้ใดจักถึงฝั่งข้างโน้นก่อน คนผู้ตาดีต้องถึงก่อน ส่วนคนผู้ตาบอดนั้น จะว่ายข้ามไปถึงฝั่งฟากโน้นได้แสนยากแสนลำบาก บางทีจะตายในท่าม กลางแม่น้ำ เพราะไม่รู้ไม่เห็นว่าฝั่งอยู่ที่ไหน ข้ออุปมานี้ฉันใด คนไม่รู้ไม่แจ้งว่าพระนิพพานอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร ชั้นแต่ทางจะไปก็ไม่เข้าใจ เป็นแต่อยากได้อยากถึง อยากไปพระนิพพาน เมื่อเป็นเช่นนี้ การได้การถึงของผู้นั้น ก็ต้องเป็นของลำบากยากแค้นอยู่เป็นธรรมดา บางทีก็ตายเสียเปล่า จักไม่ได้เห็นเงื่อนเค้าของพระนิพพานเลย ผู้ศึกษาพึงเข้าใจว่า พระนิพพานอยู่ที่สุดของโลก ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางไปพระนิพพาน ถ้ารู้อย่างนี้ ยังมีทางที่จะถึงพระนิพพานได้บ้าง แม้เมื่อรู้แล้วอย่างนั้น ก็ยังต้องพากเพียรพยายามเต็มที่จึงจะถึง เหมือนคนตาดีว่ายข้ามน้ำ ก็ต้องพยายามจนสุดกำลัง จึงจะข้ามพ้นได้ มีอุปไมยเหมือนกัน ฉะนั้น

ดูกรอานนท์ บุคคลทั้งหลายผู้ปรารถนาพระนิพพาน ควรศึกษาให้รู้แจ้ง ครั้นรู้แจ้งแล้วจักถึงก็ตาม ไม่ถึงก็ตาม ก็ไม่เป็นทุกข์แก่ใจ ถ้าไม่รู้แต่อยากได้ ย่อมเป็นทุกข์มากนัก เปรียบเหมือนบุคคลอยากได้วัตถุสิ่งหนึ่งแต่หากไม่รู้จักวัตถุสิ่งนั้น ถึงวัตถุสิ่งนั้นจะมีอยู่ ในที่จำเพาะหน้า ก็ไม่อาจถือเอาได้เพราะไม่รู้ถึงจะมีอยู่ก็มีเปล่าๆ ส่วนตัวก็ไม่หายความอยากได้ จึงเป็นทุกข์ยิ่งนัก ผู้ปรารถนาพระนิพพานแต่ไม่รู้จักพระนิพพาน ก็เป็นทุกข์เช่นนั้น จะถือเสียว่าไม่รู้ก็ช่างเถิด เราปรารถนาเอาคงจะได้ คิดอย่างนี้ก็ผิดไปใช้ไม่ได้แม้แต่ผู้รู้แล้ว ตั้งหน้าบากบั่นขวนขวายจะให้ได้ให้ถึง ก็เป็นการยากลำบากอย่างยิ่ง บุคคลผู้ไม่รู้ไม่เห็นพระนิพพานและจะถึงพระนิพพานจักมีมาแต่ไหน อย่าว่าแต่พระนิพ พานเลย แม้จะกระทำการสิ่งใดก็ดี เป็นต้นว่า ช่างเงิน ช่างทอง ช่างเหล็ก ช่างไม้ ช่างวาดเขียนต่างๆ เป็นต้น ต้องรู้ด้วยใจหรือเห็นด้วยตาเสียก่อน จึงจะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้ ผู้ปรารถนาพระนิพพานก็ต้องศึกษาให้รู้จักพระนิพพานไว้ก่อนจึงจะได้ มาตั้งหน้าปรารถ นาเอาโดยความไม่รู้นั้น จะมีทางได้มาแต่ที่ไหน

ดูกรอานนท์ บุคคลทั้งหลายควรจะศึกษาให้รู้แจ้งคลองแห่งพระนิพพานไว้ให้ชัดเจน แล้วไม่ควรประมาท แม้ปรารถนาจะไปก็ไป แม้ไม่ปรารถนาจะไปก็อย่าไป ครั้งเห็นดีแล้ว จิตประสงค์แล้ว ก็ให้ปฏิบัติในคลองแห่งพระนิพพานด้วยจิตอันเลื่อมใส ก็อาจจักสำเร็จ ถึงไม่สำเร็จก็จักเป็นอุปนิสัยปัจจัยต่อไป ผู้ที่ไม่รู้ แม้ปรารถนาจะไปหรือไม่ไป อยู่ใกล้ที่นั้นบ่อยๆ ก็ไม่อาจถึง เพราะเข้าใจผิด คิดว่าอยู่ที่นั้นที่นี้ ก็เลยผิดไปตามจิตที่คิด หลงไปหลงมาอยู่ในวัฏสงสาร ไม่มีวันที่จะถึงพระนิพพานได้

ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ไม่รู้ไม่แจ้ง ไม่เข้าใจในพระนิพพาน ไม่ควรจะสั่งสอนพระนิพพานแก่ท่านผู้อื่น ถ้าขืนสั่งสอนก็จะพาท่านหลงหนทาง จักเป็นบาปเป็นกรรมแก่ตน ควรจะสั่งสอนแต่เพียงคลองแห่งทางมนุษย์สุคติ สวรรค์สุคติ เป็นต้นว่า สอนให้รู้จักทาน ให้รู้จักศีล ๕ ศีล ๘ ให้รู้คลองแห่งกุศลกรรมบถ ให้รู้จักปฏิบัติมารดาบิดา ให้รู้จักอุปัชฌาย์อาจารย์ ให้รู้จักก่อสร้างบุญกุศลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น เพียงเท่านี้ก็อาจจะได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติพอสมควรอยู่แล้ว ส่วนความสุขในโลกุตตรนิพพานนั้น ผู้ใดต้องการจริง ต้องรักษาศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีลพระปาติโมกข์เสียก่อน จึงชื่อว่าเข้าใกล้ทาง มีโอกาสที่จักได้จักถึงโลกุตตรนิพพานโดยแท้ แม้ผู้จะเจริญคลองพระนิพพานนั้น ก็ให้รู้จักท่านผู้เป็นครูว่ารู้แจ้งทางพระนิพพานจริง จึงไปอยู่เล่าเรียน ถ้าไปอยู่เล่าเรียนในสำนักของท่านผู้ไม่รู้แจ้ง ก็จักไม่สำเร็จโลกุตตรนิพพานได้ เพราะว่าคลองแห่งโลกุตตรนิพพานนี้ เล่าเรียนได้ด้วยยากยิ่งนัก ด้วยเหตุสัตว์ยินดีอยู่ในกามคุณ อันเป็นข้าศึกแก่พระนิพพานโดยมาก ข้าแต่พระอริยกัสสปะผู้มีอายุ พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ ด้วยประการดังนี้ ขอให้พระสงฆ์ทั้งหลายจงทราบด้วยพลญาณแห่งตน ดังแสดงมานี้เถิด

ครูที่ดี
ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า

ดูกรอานนท์ อันว่าบุคคลทั้งหลายผู้ปรารถนาซึ่งพระนิพพาน ควรแสวงหาซึ่งครูที่ดี ที่อยู่เป็นสุขสำราญมิได้ประมาท เพราะพระนิพพานไม่เหมือนของสิ่งอื่น อันของสิ่งอื่นนั้น เมื่อผิดไปแล้วก็มีทางแก้ตัวได้ หรือไม่สู้เป็นอะไรนัก เพราะไม่ละเอียดสุขุมมาก ส่วนพระนิพพานนี้ละเอียดสุขุมที่สุด ถ้าผิดแล้วก็เป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์เป็นนักหนา ทำให้หลงโลกหลงทางห่างความสุข ทำให้เสียประโยชน์เพราะอาจารย์ ถ้าได้อาจารย์ที่ถูกที่ดี ก็จะได้รับผลที่ถูกที่ดี ถ้าได้อาจารย์ที่ไม่รู้ไม่ดีไม่ถูกไม่ต้อง ก็จักได้ รับผลที่ผิดเป็นทุกข์พาให้หลงโลกหลงทาง พาให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารสิ้นกาลนาน เปรียบเหมือนผู้จะพาเราไปในที่ตำบลใดตำบลหนึ่ง แต่ผู้นั้นไม่รู้จักตำบลนั้น แม้เราเองก็ไม่รู้ เมื่อกระนั้น ไฉนเขาจึงจะพาเราไปให้ถึงตำบลนั้นได้เล่า ข้ออุปมานี้ฉันใด อาจารย์ผู้ไม่รู้พระนิพพาน และจะพาเราไปพระนิพพานนั้น ก็จะพาเราหลงโลกหลงทางไปๆ มาๆ ตายๆ เกิดๆ อยู่ในวัฏสงสารไม่อาจจะไปถึงพระนิพพานได้ เหมือนคนที่ไม่รู้จักตำบลที่ไปและเป็นผู้พาไป ก็ไม่อาจจะถึงได้ มีอุปไมยฉะนั้น ผู้คบครูอาจารย์ที่ไม่รู้ดี และได้ผลที่ไม่ดี มีในโลกมิใช่น้อย เหมือนดังพระองคุลีมาลเถระ ไปเรียนวิชาในสำนักครูผู้มีทิฏฐิอันผิด ได้รับผลที่ผิดคือเป็นมหาโจรฆ่าคนล้มตายเสียนับด้วยพัน หากเราตถาคตรู้เห็น มีความสงสารเวทนามาข้องข่ายสยัมภูญาณ จึงได้ไปโปรดทรมานให้ละเสียซึ่งพยศอันร้าย เป็นการลำบากมิใช่น้อย ถ้าไม่ได้พระตถาคตแล้ว พระองคุลิมาลก็จักได้เสวยทุกข์อยู่ในวัฏสงสารสิ้นชาติเป็นอันมาก

ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ไม่รู้พระนิพพานไม่ควรเป็นครูสั่งสอนท่านผู้อื่นในทางพระนิพพาน เลย ต่างว่าจะสั่งสอนเขา จะสั่งสอนว่ากระไรเพราะตัวไม่รู้ เปรียบเหมือนบุคคลไม่เคยเป็นช่างเขียนหรือช่างต่างๆ มาก่อนแล้ว แล้วอยากจะเป็นครูสั่งสอนเขา จะบอกแก่เขาว่ากระไร เพราะตัวเองก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ จะเอาอะไรไปบอกไปสอนเขา จะเอาแต่คำพูด เป็นครูทำตัวอย่างให้เขาเห็นเช่นนั้นไม่ได้ จะให้เขาเล่าเรียนอย่างไร เพราะไม่มีตัวอย่างให้เขาเห็นด้วยตา ให้รู้ด้วยใจ เขาจะทำตามอย่างไรได้ ตัวผู้เป็นครูนั้นแลต้องทำก่อน ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ควรเป็นครูสอนเขา ถ้าขืนเป็นครู ก็จักพาเขาหลงโลกหลงทาง เป็นบาปเป็นกรรมแก่ตัวนักหนาทีเดียว พระพุทธเจ้าตรัสแก่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้แล
ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า

ดูกรอานนท์ อันว่าบุคคลผู้จะสอนพระนิพพานนั้น ต้องให้รู้แจ้งประจักษ์ชัดเจนว่า พระนิพพานมีอยู่ในที่นั้นๆ มีลักษณะอาการอย่างนั้นๆ ต้องรู้ให้แจ้งชัด จะกล่าวแต่เพียงวาจาว่านิพพานๆ ด้วยปาก แต่ใจไม่รู้แจ้งชัดเช่นนั้น ไม่ควรเชื่อถือเลย ต้องให้รู้แจ้งชัดในใจก่อน จึงควรเป็นครูเป็นอาจารย์สอนท่านผู้อื่นต่อไป จะเป็นเด็กก็ตาม ผู้ใหญ่ก็ตาม ถ้ารู้แจ้งชัดซึ่งพระนิพพานแล้ว ก็ควรเป็นครูเป็นอาจารย์ แลควรนับถือเป็นครูเป็นอาจารย์ได้ แม้จะเป็นผู้ใหญ่สูงศักดิ์สักปานใดก็ตาม ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจแล้ว ไม่ควรนับถือเป็นครูเป็นอาจารย์เลย

ดูกรอานนท์ ถ้าอยากได้สุขอันใด ก็ควรรู้จักสุขอันนั้นก่อนจึงจะได้ เมื่ออยากได้สุขในพระนิพพาน ก็ควรรู้จักสุขในพระนิพพาน อยากได้สุขในมนุษย์ แลสวรรค์ ก็ให้รู้จักสุขในมนุษย์แลสวรรค์นั้นเสียก่อนจึงจะได้ ถ้าไม่รู้จักสุขอันใด ก็ไม่อาจยังความสุขอันนั้นให้เกิดขึ้นได้ ไม่เหมือนทุกข์ในนรก อันทุกข์ในนรกนั้น จะรู้ก็ตามไม่รู้ก็ตาม ถ้าทำกรรมที่เป็นบาปแล้ว ผู้ที่รู้หรือผู้ที่ไม่รู้ก็ตกนรกเหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักนรก ก็ยิ่งไม่มีเวลาพ้นนรกได้ ถึงจะทำบุญให้ทานสักปานใดก็ไม่อาจพ้นจากนรกได้ แต่มิใช่ว่าทำบุญให้ทานไม่ได้บุญ ความสุขที่ได้จากการทำบุญนั้นมีอยู่ แต่ว่าเป็นความสุขที่ยังไม่พ้นจากทุกข์ในนรก เมื่อยังไม่รู้ไม่เห็นนรกตราบใด ก็ยังไม่พ้นจากนรกอยู่ตราบนั้น ครั้นได้เข้าถึงนรกแล้ว เมื่อได้รู้ทางออกจากนรกได้แล้วปรารถนาจักพ้นจากนรกก็พ้นได้ เมื่อไม่อยากพ้นก็ไม่อาจพ้นได้ ต้องรู้จักแจ้งชัดว่านรกอยู่ในที่นั้นๆ มีลักษณะอาการอย่างนั้นๆ และควรรู้จักทางออกจากนรกให้แจ้งชัด ทางออกจากนรกนั้น ก็คือ ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีลพระปาติโมกข์นั่นเอง เมื่อรู้แล้วอยากจะออกให้พ้นก็ออกได้ ไม่อยากจะออกให้พ้น ก็พ้นไม่ได้ ผู้ที่รู้กับผู้ที่ไม่รู้ย่อมได้รับทุกข์ในนรกเหมือนกัน ส่วนความสุขในมนุษย์ แลสวรรค์ และพระนิพพานนั้น ต้องรู้จักจึงจะได้ ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจไม่ได้เลย มีอาการต่าง กันอย่างนี้

ดูกรอานนท์ เมื่ออยากรู้จักนรก แลสวรรค์ และพระนิพพาน ก็ควรให้รู้เสียในเวลาก่อน ที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่ออยากพ้นทุกข์ในนรก ก็รีบออกให้พ้นเสียแต่เมื่อยังไม่ตาย เมื่ออยากได้สุขในมนุษย์ หรือในสวรรค์ หรือในพระนิพพาน ก็ให้รีบขวนขวายหาสุขเหล่านั้นไว้แต่เมื่อยังไม่ตาย จะถือว่าตายแล้วจึงจักพ้นทุกข์ในนรก ตายแล้วจึงจักไปสวรรค์ไปพระนิพพานดังนี้ เป็นอันใช้ไม่ได้ เสียประโยชน์เปล่า อย่าเข้าใจว่า เมื่อมีชีวิตอยู่สุขอย่างหนึ่ง เมื่อตายไปแล้วมีสุขอีกอย่างหนึ่ง เช่นนี้เป็นความที่เข้าใจผิดโดยแท้ เพราะจิตมีดวงเดียว เมื่อมีชีวิตอยู่ก็จิตดวงนี้ เมื่อตายไปแล้วก็จิตดวงนี้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ได้รับทุกข์ฉันใด แม้เมื่อตายไปแล้วก็ได้รับทุกข์ฉันนั้น เมื่อยังมีชีวิตอยู่มีความสุขฉันใด แม้เมื่อตายไปแล้วก็ได้รับความสุขฉันนั้นไม่ต้องสงสัย เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่รู้ไม่เห็น ซึ่งความทุกข์แลความสุขมีสภาวะปานดังนี้ เมื่อตายไปแล้วยิ่งจะซ้ำร้าย จะมีทางรู้ทางเห็นได้ด้วยอาการอย่างไร พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ ด้วยประการดังนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
“คนหลง” และ “คนรู้”
ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า

ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ใดมิได้ ทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น ไว้สำหรับตัวเสียก่อน แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ผู้นั้นก็เป็นคนหลง บุคคลผู้ใดอยากได้ความสุข แต่ไม่ได้กระทำตน ให้ได้รับความสุขไว้ก่อนแต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เข้าใจเสียว่าตายไปแล้วภายหน้าจึงจะได้ รับความสุข เช่นนี้ ผู้นั้นก็เป็นคนหลง บุคคลผู้ใดอยากให้ตนพ้นจากทุกข์ แต่ไม่ได้กระทำตนให้พ้นทุกข์เสียแต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เข้าใจเสียว่าตายไปแล้วจึงจะพ้นทุกข์ดังนี้ ผู้นั้นก็เป็นคนหลง บุคคลผู้ใดที่ทำความเข้าใจว่า เมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้เป็นอย่างหนึ่ง ตายไปแล้วเป็นอีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้นั้นก็เป็นคนหลง บุคคลผู้ใดเข้าใจเสียว่า เมื่อยังเป็นคนมีชีวิตอยู่นี้ ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้ ไม่เป็น ก็ช่างเถิดไม่เป็นไร ตายไปแล้วภายหน้าหากจักรู้ จักเห็น จักได้ จักเป็น ผู้นั้นก็เป็นคนหลง บุคคลผู้ใดเข้าใจเสียว่า เมื่อยังเป็นคนมีชีวิตอยู่นี้ สุขก็ช่างเถิด ตายไปแล้วหากจักได้สุข ผู้นั้นก็เป็นคนหลง บุคคลผู้ใดถือเสียว่า เมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้ ทุกข์ก็ช่างเถิดไม่เป็นไร ตายไปแล้วหากจักได้สุข ผู้นั้นก็เป็นคนหลง บุคคลผู้ใดถือเสียว่า เมื่อยังเป็นคนมีชีวิตอยู่นี้ จะทุกข์ก็ดี จะสุขก็ดี จะชั่วก็ดี ก็ช่างเถิด ตายไปแล้วจักไปเป็นอะไรก็ช่างเถิด ใครจักตามไปรู้ไปเห็น ผู้นั้นก็เป็นคนหลง

ดูกรอานนท์ บุคคลทั้งหลายปรารถนาอยากพ้นทุกข์ หรือ ปรารถนาอยากได้สุขประเภทใด ก็ควรให้ได้ให้ถึงเสียแต่ในชาตินี้ ถ้าถือเอาภายหน้าเป็นประมาณแล้ว ชื่อว่าเป็นคนหลงสิ้นทั้งนั้น แม้ความสุขอย่างสูงคือพระนิพพาน ผู้ปรารถนาก็พึงรีบขวนขวายให้ได้ให้ถึงเสียแต่เมื่อยังเป็นคนมีชีวิตอยู่นี้

ดูกรอานนท์ อันว่าความสุขในพระนิพพานนั้น มี ๒ ประเภท คือ ดิบ ๑ สุก ๑ ได้ความว่า เมื่อยังเป็นคนมีชีวิตอยู่ได้เสวยสุขในพระนิพพาน นั้นได้ชื่อว่า พระนิพพานดิบเมื่อตายไปแล้วได้เสวยสุขในพระนิพพานนั้นชื่อว่า พระนิพพานสุก พระนิพพานมี ๒ ประ เภทเท่านี้ นิพพานโลกีย์ นิพพานพรหม เป็นนิพพานหลง ไม่นับเข้าไปในที่นี้ พระนิพพานดิบนั้นเป็นของสำคัญ ควรให้รู้ ให้เห็น ให้ได้ ให้ถึง ไว้เสียแต่ก่อนตาย ถ้าไม่ได้พระนิพพานดิบนี้ ตายไปก็จักได้พระนิพพานสุกนั้นไม่มีเลย ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็ยิ่งไม่มีทางได้ แต่รู้แล้วเห็นแล้ว พยายามจะให้ได้ให้ถึง ก็แสนยากแสนลำบากยิ่งนักหนา ผู้ใดเห็นว่าพระนิพพานมีอย่างเดียวตายแล้วจึงจะได้ ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นคนหลง ส่วนพระนิพพานดิบนั้น จักจัดเอาความสุขอย่างละเอียดเหมือนอย่างพระนิพพานสุก นั้นไม่ได้ แต่ก็เป็นความสุขอันละเอียด สุขุม หาสิ่งเปรียบมิได้อยู่แล้ว แต่หากยังมีกลิ่นรสแห่งทุกข์กระทบถูกต้องอยู่ จึงไม่ละเอียดเหมือนพระนิพพานสุก เพราะพระนิพพานสุกไม่มีกลิ่นรสแห่งทุกข์จะมากล้ำกราย ปราศจากสรรพสิ่งทั้งปวง แต่พระนิพพานดิบนั้น ต้องให้ได้ไว้ก่อนตาย

ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า
ดูกรอานนท์ บุคคลทั้งหลายที่หลงถึงไปบังเกิดในอรูปพรหมอันปราศจากความรู้นั้น ก็ล้วนแต่บุคคลผู้ปรารถนาพระนิพพาน แต่ไม่รู้จักวางใจให้สิ้นให้หมดทุกข์นั่นเอง ไม่รู้จักวางจิตวิญญาณ อันตนเข้ามาอาศัยอยู่ด้วยกับลมของโลก ทำความเข้าใจว่าเป็นจิตของตัว และเข้าใจว่าพระนิพพานมีอยู่ในเบื้องบนนั้น ตัวก็นึกเอาจิตเอาใจของตัวขึ้นไปเป็นสุขอยู่ในที่นั้น ครั้นตายแล้วก็เลยพาเอาตัวขึ้นไปอยู่ในที่อันไม่มีรูปตามจิตตนนึกไว้นั้น

ดูกรอานนท์ ผู้ที่หลงขึ้นไปอยู่ในอรูปพรหมแล้ว แลจักได้ถึงโลกุตตรนิพพานนั้นช้านานยิ่งนัก เพราะว่าอายุของอรูปพรหมนั้นยืนนัก จะนับว่าเท่านั้นเท่านี้มิอาจนับได้ จึงชื่อว่านิพพานโลกีย์ ต่างกันแต่มิได้ดับวิญญาณเท่านั้น ถ้าหากดับวิญญาณก็เป็นพระนิพพาน โลกุตตรได้ ส่วนความสุขความสำราญในพระนิพพานทั้ง ๒ นั้น ก็ประเสริฐเลิศโลกเสมอกันไม่ต่างกัน แต่นิพพานโลกีย์เป็นนิพพานที่ไม่สิ้นสุดเท่านั้น เมื่อสิ้นอำนาจของฌานแล้วยังต้องมีเกิดแก่เจ็บตาย ร้ายและดี คุณและโทษ สุขและทุกข์ ยังมีอยู่เต็มที่ เพราะ เหตุนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งจะปรารถนานิพพานพรหมไม่มีเลย ย่อมมุ่งต่อโลกุตตรนิพพานด้วยกันทั้งนั้น แต่ไม่รู้จักปล่อยวางวิญญาณ จึงหลงไปเกิดเป็นอรูปพรหม ส่วนโลกุตตร นิพพานนั้นปราศจากวิญญาณ วิญญาณยังมีอยู่ที่ใดความเกิดแก่เจ็บตายก็มีอยู่ในที่นั้น โลกุตตรนิพพานปราศจากวิญญาณ จึงไม่มีเกิด ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ ไม่มีตาย มีแต่ความ สุขสบายปราศจากอามิส หาความสุขอันใดจะมาเปรียบด้วยพระนิพพานนั้น ไม่มี ขึ้นชื่อว่า ความเกิด ความตาย ความร้าย ความดี บาปบุญ คุณโทษ สุข ทุกข์ ความทุกข์ยาก ลำบากเข็ญใจ ทุกข์โศกโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่มีในพระนิพพานเลย พระพุทธเจ้าตรัสแก่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้แล

ดูกรอานนท์ อันว่าพระนิพพานนั้น พึงให้ดูอย่างแผ่นพระธรณีมีลักษณะอาการฉันใด ก็ให้ตัวเรามีลักษณะอาการฉันนั้น ถ้าทำได้เช่นนั้นก็ได้ชื่อว่าถึงพระนิพพานดิบ ถ้าทำไม่ได้แต่พูดว่าอยากได้ จะพูดมากมายเท่าไรๆ ก็ตาม ก็ไม่อาจที่จะได้จะถึงเลย ถ้าปรารถนาจักถึงพระนิพพานแล้ว ต้องทำจิตทำใจของตนให้เป็นเหมือนแผ่นดินเสียก่อน ไม่ใช่เป็นของทำได้ด้วยง่าย ต้องพากเพียรลำบากอย่างยิ่งนักจึงจักได้ จะเข้าใจว่าปรารถนาเอาด้วยปากก็คงจักได้ อย่างนี้เป็นคนหลงไปใช้ไม่ได้ ต้องทำใจให้เป็นเหมือนเป็นแผ่นดินให้จงได้

ลักษณะของแผ่นดินนั้น คนและสัตว์ทั้งหลายจะทำร้ายทำดี กล่าวร้ายกล่าวดีประการใด มหาปฐพีนั้นก็มิได้รู้โกรธรู้เคือง ที่ว่าทำใจให้เหมือนแผ่นดินนั้น คือว่าให้วางใจเสีย อย่าเอื้อเฟื้ออาลัยว่าใจของตน ให้ระลึกอยู่ว่าตัวมาอาศัยอยู่ไปชั่วคราวเท่านั้น เขาจะนึกคิดอะไรก็อย่าตามเขาไป ให้เข้าใจอยู่ว่าเราอยู่ไปคอยวันตายเท่านั้น ประโยชน์อะไรกับวัตถุข้าวของและตัวตนอันเป็นของภายนอก แต่ใจซึ่งเป็นของภายในและเป็นของสำคัญ ก็ยังต้องให้ปล่อยให้วาง อย่าถือเอาว่าเป็นของๆ ตัว กล่าวไว้แต่พอให้เข้าใจเพียงท่านี้โดยสังเขป

ดูกรอานนท์ คำที่ว่าให้ปล่อยวางจิตใจนั้น คือว่า ให้ละ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ปลงเสียซึ่งการร้ายและการดี ที่บุคคลนำมากล่าว มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ นินทาสรรเสริญ สุขทุกข์ อย่ายินดีอย่ายินร้าย แม้ปัจจัยเครื่องบริโภคเป็นต้นว่า อาหารการกิน ผ้าผ่อนเครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่ที่นอน เภสัชสำหรับแก้โรค ก็ให้ละความโลภความหลงในปัจจัยเหล่านั้นเสีย ให้มีความมักน้อยในปัจจัย แต่มิใช่ว่า จะห้ามเสียว่าไม่ให้กินไม่ให้นุ่งห่ม ไม่ให้อาศัยในสถานที่ ไม่ให้กินหยูกกินยา เช่นนั้นก็หามิได้ คือ ให้ละความโลเลในปัจจัยเท่านั้น คือว่าเมื่อได้อย่างดีอย่างประณีต ก็ให้บริโภคอย่างดีอย่างประณีต ได้อย่างเลวทรามต่ำช้า ก็ให้บริโภคอย่างเลวทรามต่ำช้า ตามมีตามได้ไม่ให้ใจขุ่นมัวด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างนี้แลชื่อว่าปล่อยวางใจเสียได้ ถ้ายังเลือกปัจจัยอยู่ คือ ปล่อยให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง เข้าครอบงำ เพราะเหตุแห่งปัจจัย ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ชื่อว่ายังถือจิตถือใจอยู่ ยังไม่ถึงพระนิพพานได้เลย

    ถ้าละความ โลภ โกรธ หลง ในปัจจัยนั้นได้แล้ว จึงชื่อว่าทำตัวให้เป็นเหมือนแผ่นดิน เป็นอันถึงพระนิพพานได้โดยแท้ฯ มีคำสอดเข้ามาในที่นี้ว่า เหตุไฉนจึงมิให้ถือใจ เมื่อไม่ให้ถือเช่นนั้นจะให้เอาใจไปไว้ที่ไหน เพราะไม่ใช่ใจของคนอื่น เป็นใจของตัวแท้ๆ ที่จะเป็นอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีใจนี้เอง ถ้าไม่มีใจนี้แล้วก็ตายเท่า นั้น จะให้วางใจเสียแล้ว จะรู้จะเห็นอะไร มีคำวิสัชนาไว้ว่า ผู้ที่เข้าใจว่าใจนั้นเป็นของๆ ตัวจริง ผู้นั้นก็เป็นคนหลง ความจริงไม่ใช่จิตใจของเราแท้ ถ้าหากเป็นจิตใจของเราแท้ ก็คงบังคับได้ตามประสงค์ว่า อย่าให้แก่ อย่าให้ตาย ก็คงจะได้สักอย่าง เพราะเป็น ของๆตัว อันที่แท้จิตใจนั้น หากเป็นลมอันเกิดอยู่สำหรับโลก ไม่ใช่จิตใจของเรา โลกเขาตั้งแต่งไว้ก่อนเรา เราจึงเข้ามาอาศัยอยู่กับด้วยลมจิตใจ ณ กาลเป็นภายหลัง ถ้าหากว่าเป็นจิตใจของเรา เราพาเอามาเกิด ครั้นเกิดขึ้นแล้วจิตใจนั้นก็หมดไป ใครจะเกิดขึ้นมาได้อีก นี่ไม่ใช่จิตของใครสักคน เป็นของมีอยู่สำหรับโลก ผู้ใดจะเกิดก็ถือเอาลมนั้นเกิดขึ้น ครั้นได้แล้วก็เป็นจิตของตน ที่จริงเป็นของสำหรับโลกทั้งสิ้น ที่ว่าจิตใจของตนนั้น ก็เพียงให้รู้ซึ่งการบุญการกุศล การบาปการอกุศล และเพียงให้รู้ ทุกข์สุข สวรรค์ และพระนิพพาน ถือไว้ให้ถึงที่สุดเพียงพระนิพพานเท่านั้น ถ้าถึงพระนิพพาน แล้ว ต้องวางจิตใจคืนไว้แก่โลกตามเดิมเสียก่อน ถ้าวางไม่ได้ เป็นโทษ ไม่อาจถึงพระนิพพานได้ มีคำแก้ไว้อย่างนี้

ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า
ดูกรอานนท์ บุคคลทั้งหลายที่หลงถึงไปบังเกิดในอรูปพรหมอันปราศจากความรู้นั้น ก็ล้วนแต่บุคคลผู้ปรารถนาพระนิพพาน แต่ไม่รู้จักวางใจให้สิ้นให้หมดทุกข์นั่นเอง ไม่รู้จักวางจิตวิญญาณ อันตนเข้ามาอาศัยอยู่ด้วยกับลมของโลก ทำความเข้าใจว่าเป็นจิตของตัว และเข้าใจว่าพระนิพพานมีอยู่ในเบื้องบนนั้น ตัวก็นึกเอาจิตเอาใจของตัวขึ้นไปเป็นสุขอยู่ในที่นั้น ครั้นตายแล้วก็เลยพาเอาตัวขึ้นไปอยู่ในที่อันไม่มีรูปตามจิตตนนึกไว้นั้น

ดูกรอานนท์ ผู้ที่หลงขึ้นไปอยู่ในอรูปพรหมแล้ว แลจักได้ถึงโลกุตตรนิพพานนั้นช้านานยิ่งนัก เพราะว่าอายุของอรูปพรหมนั้นยืนนัก จะนับว่าเท่านั้นเท่านี้มิอาจนับได้ จึงชื่อว่านิพพานโลกีย์ ต่างกันแต่มิได้ดับวิญญาณเท่านั้น ถ้าหากดับวิญญาณก็เป็นพระนิพพาน โลกุตตรได้ ส่วนความสุขความสำราญในพระนิพพานทั้ง ๒ นั้น ก็ประเสริฐเลิศโลกเสมอกันไม่ต่างกัน แต่นิพพานโลกีย์เป็นนิพพานที่ไม่สิ้นสุดเท่านั้น เมื่อสิ้นอำนาจของฌานแล้วยังต้องมีเกิดแก่เจ็บตาย ร้ายและดี คุณและโทษ สุขและทุกข์ ยังมีอยู่เต็มที่ เพราะ เหตุนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งจะปรารถนานิพพานพรหมไม่มีเลย ย่อมมุ่งต่อโลกุตตรนิพพานด้วยกันทั้งนั้น แต่ไม่รู้จักปล่อยวางวิญญาณ จึงหลงไปเกิดเป็นอรูปพรหม ส่วนโลกุตตร นิพพานนั้นปราศจากวิญญาณ วิญญาณยังมีอยู่ที่ใดความเกิดแก่เจ็บตายก็มีอยู่ในที่นั้น โลกุตตรนิพพานปราศจากวิญญาณ จึงไม่มีเกิด ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ ไม่มีตาย มีแต่ความ สุขสบายปราศจากอามิส หาความสุขอันใดจะมาเปรียบด้วยพระนิพพานนั้น ไม่มี ขึ้นชื่อว่า ความเกิด ความตาย ความร้าย ความดี บาปบุญ คุณโทษ สุข ทุกข์ ความทุกข์ยาก ลำบากเข็ญใจ ทุกข์โศกโรคภัยไข้เจ็บ สิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่มีในพระนิพพานเลย พระพุทธเจ้าตรัสแก่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้แล

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
ความสุขทางโลก (ปล่อยวาง)
ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า

ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ปรารถนาพระนิพพานแต่ยังปล่อยวางใจไม่ได้ ยังอาลัยถึงความ สุขอยู่ คิดว่าพระนิพพานอยู่ในที่นั้นที่นี้ จะเอาจิตแห่งตนไปเป็นสุขในที่แห่งนั้น ครั้นจักปล่อยวางใจเสีย ก็กลัวว่าจะไม่มีอันใดนำไปให้เป็นสุข ถือใจอาลัยสุข เหตุนั้นจึงมิได้พ้นพระนิพพานพรหมฯ

ดูกรอานนท์ เราตถาคตแสดงว่าให้ปลงใจให้วางใจนั้น เราชี้ข้อสำคัญเอาที่สุดมาแสดงเพื่อให้รู้เข้าให้ใจได้ง่าย การวางใจปลงใจนั้น คือ วางสุข วางทุกข์ วางบาปบุญคุณโทษ วางโลภโกรธหลง วางลาภยศ นินทาสรรเสริญ หมดทั้งสิ้น เหมือนดังไม่มีหัวใจ จึงชื่อว่าทำให้เหมือนแผ่นดิน ถ้ายังทำไม่ได้ อย่าหวังว่าจักได้โลกุตตรนิพพานเลย ถ้าทำตัวให้เหมือนแผ่นดินได้ในกาลใด พึงหวังเถิดซึ่งโลกุตตรนิพพาน คงได้คงถึงในกาลนั้นโดยไม่ต้องสงสัย พระนิพพานเป็นของได้ด้วยยากยิ่งนัก แสนคนจะได้แต่ละคนก็ทั้งยาก

ดูกรอานนท์ ผู้มิได้ทำอริยมรรคปฏิปทาให้เต็มที่ ยังเป็นปุถุชนหนาไปด้วยกิเลส หาปัญญามิได้ แลจักวางใจทำตัวให้เป็นเหมือนแผ่นดินนั้น ไม่อาจทำได้เลย เหตุที่เขาวางใจไม่ได้ เขายังถือตัวถือใจอยู่ว่าเป็นของๆตัวแท้ จึงต้องทรมานทนทุกข์อยู่ในโลก เวียนว่ายตายเกิดแล้วๆ เล่าๆ ไม่สิ้นสุด

ดูกรอานนท์ ผู้ที่วางใจทำตัวให้เป็นเหมือนแผ่นดินนั้น มีแต่บุคคลผู้เป็นนักปราชญ์ และเป็นสัตบุรุษจำพวกเดียวเท่านั้น เพราะท่านไม่ถือตน ถือตัว ท่านวางใจให้เป็นเหมือนแผ่นดินได้ ท่านจึงได้ถึงพระนิพพาน ส่วนผู้ที่ถือตัวถือใจปล่อยวางมิได้นั้น ล้วนแต่เป็นคนโง่เขลาสิ้นทั้งนั้น บุคคลที่เป็นสัตบุรุษท่านเห็นแจ้งชัดซึ่งอนัตตา ท่านถือใจของท่านไว้ก็เพียงแต่ให้รู้บาปบุญคุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ รู้ทางสุขทางทุกข์ในมนุษย์ และสวรรค์ และพระนิพพานเท่านั้น ครั้งถึงที่สุด ท่านก็ปล่อยวางเสียตามสภาวะแห่งอนัตตา ส่วนคนโง่เขลานั้น ถือตน ถือตัว ถือว่าร่างกายเป็นอัตตาตัวตน จึงปล่อยวางมิได้

ดูกรอานนท์ อันว่าบุคคลที่ถือใจนั้น ย่อมเป็นคนมักโลภ มักโกรธ มักหลง บุคคลจำพวกใดที่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น จะเป็นนักบวชก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม ก็หาความสุขมิได้ เบื้องหน้าแต่ตายไป ก็หาความสุขในมนุษย์แลสวรรค์มิได้เลย ย่อมมีอบายเป็นที่ไป ณ เบื้องหน้าโดยแท้

ดูกรอานนท์ บุคคลทั้งหลายผู้ปรารถนาเข้าสู่พระนิพพาน จงวางเสียซึ่งใจ อย่าอาลัยความสุข การวางใจก็คือ วางสุขวางทุกข์ และบาปบุญคุณโทษร้ายดี ซึ่งเป็นของสำหรับโลกนี้เสียให้สิ้น สิ่งเหล่านี้สร้างไว้สำหรับโลกนี้เท่านั้น เมื่อต้องการพระนิพพานแล้ว ต้องปล่อยวางไว้ในโลกนี้สิ้นทั้งนั้น จึงจะได้ความสุขในพระนิพพาน ซึ่งเป็นความสุขอย่างยิ่ง เป็นความสุขอันหาส่วนเปรียบมิได้

ดูกรอานนท์ เมื่อจะถือเอาความสุขในพระนิพพานแล้ว ก็ให้วางใจในโลกีย์นี้เสียให้หมดสิ้น อันว่าความสุขในโลกีย์ก็มีอยู่แต่ในอินทรีย์ทั้ง ๖ นี้เท่านั้น ในอินทรีย์ทั้ง ๖ นั้น ยกเอาใจไว้เป็นเจ้า เอาประสาททั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้น เป็นกามคุณทั้ง ๕ ประสาททั้ง ๕ นี้เอง เป็นผู้แต่งความสุขให้แก่เจ้าพระยาจิตราช ประสาทตา นั้น เขาได้เห็นได้ดูรูปวัตถุสิ่งของอันดีงามต่างๆก็นำความสุขไปให้แก่เจ้าพระยาจิตราช ประสาทหู นั้น เมื่อเขาได้ยินได้ฟังศัพท์สำเนียงที่ไพเราะ เป็นที่ชื่นชมทั้งปวง ก็นำความสุขสนุก สนานไปให้แก่เจ้าพระยาจิตราช ประสาทจมูก นั้น เมื่อเขาได้จูบชมดมกลิ่นสุคันธรสของหอมต่างๆ ก็นำความสุขไปให้แก่เข้าพระยาจิตราช ประสาทลิ้น นั้น เมื่อเขาบริโภคอาหารอันโอชารสวิเศษต่างๆ ก็นำความสุขสนุกสนานไปให้แก่เจ้าพระยาจิตราช ประสาทกาย นั้น เมื่อเขาได้ถูกต้องฟูกเบาะเมาะหมอน และนุ่งห่มประดับประดา เครื่องกกุธภัณฑ์อันสวยงามและบริโภคกามคุณ ก็นำความสุขสนุกสนานไปให้แก่เจ้าพระยาจิตราช เจ้าพระยาจิตราชนั้น ก็คือใจนั่นเอง ส่วนใจนั้นเป็นใหญ่ เป็นผู้คอยรับความสุขสนุกสนานอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนประสาททั้ง ๕ เป็นผู้สำหรับนำความสุขไปให้แก่ใจ ประสาททั้ง ๕ จึงชื่อว่ากามคุณ ส่วนความสุขในโลกนี้ มีแต่กามคุณทั้ง ๕ นี้เท่านั้น จะเป็นเจ้าประเทศราชในบ้านน้อยเมืองใหญ่ ตลอดขึ้นไปจนถึงเทวโลก ก็มีแต่กามคุณทั้ง ๕ นี้เท่านั้น

ดูกรอานนท์ ผู้ที่จะนำตนไปให้เป็นสุขในพระนิพพาน ต้องวางเสียซึ่งความสุขในโลกีย์ ถ้าวางไม่ได้ ก็ไม่ได้ความสุขในพระนิพพานเลย ถ้าวางสุขในโลกีย์มิได้ก็ไม่พ้นทุกข์ ด้วยความสุขในโลกีย์เป็นความสุขที่เจืออยู่ด้วยทุกข์ ครั้งเมื่อถือเอาสุขก็คือถือเอาทุกข์นั้นเอง ครั้งไม่วางสุขก็คือไม่วางทุกข์นั้นเอง จะเข้าใจว่าเราจะถือเอาแต่สุข ทุกข์ไม่ต้องการดังนี้ไม่ได้เลย เพราะสุขทุกข์ เป็นของเนื่องอยู่ด้วยกัน ถ้าไม่วางสุขเสียก็เป็นอันไม่พ้นทุกข์

ดูกรอานนท์ บุคคลทั้งหลายผู้ที่จะรู้ว่าสุขทุกข์ติดกันอยู่นั้น หายากยิ่งนัก มีแต่เราตถาคตผู้ประกอบด้วยทศพลญาณนี้เท่านั้น บุคคลทั้งหลายที่ยังเป็นปุถุชนคนโง่เขลานั้น ทำความเข้าใจว่า สุขก็มีอยู่ต่างหาก ทุกข์ก็มีอยู่ต่างหาก ครั้งเราถือเอาสุข เราก็ได้สุข เราก็ไม่ถือเอาทุกข์ ทุกข์ก็ไม่มีดังนี้ เพราะเหตุที่เขาไม่รู้ว่าสุขกับทุกข์ติดกันอยู่ เขาจึงไม่พ้นทุกข์ เมื่อผู้ใดอยากพ้นทุกข์ให้วางสุขเสีย ก็เป็นอันละทุกข์ วางทุกข์ด้วยเหมือนกัน ใครเล่าจะมีความสามารถพรากสุขทุกข์ออกจากกันได้ ถ้าหากเราตถาคตพรากสุขแลทุกข์ออกจากกันได้ เราจะปรารถนาเข้าสู่พระนิพพานทำไม เราจะถือเอาแต่สุขอย่างเดียว เสวยแต่ความสุขอยู่ในโลกเท่านี้ก็เป็นอันสุขสบายพออยู่แล้ว นี่ไม่เป็นเช่นนั้น เราแสวงหาความสุขโดยส่วนเดียว ไม่มีทางที่จะพึงได้ เราจึงวางสุขเสีย ครั้งวางสุขแล้ว ทุกข์ไม่ต้องวางก็หายไปเอง อยู่กับเราไม่ได้ เราจึงสำเร็จพระนิพพานพ้นจากกองทุกข์ ด้วยประการดังนี้

ดูกรอานนท์ อันสุขในโลกีย์นั้น ถ้าตรวจตรองให้แน่นอนแล้ว ก็หากเป็นกองแห่งทุกข์นั่นเอง เขาหากเกิดมาเป็นมิตรติดกันอยู่ ไม่มีผู้ใดจักพรากออกจากกันได้ เราตถาคตกลัวทุกข์เป็นอย่างยิ่ง หาทางชนะทุกข์มิได้ จึงปรารถนาเข้าพระนิพพาน เพราะเหตุกลัวทุกข์นั้นอย่างเดียว พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้แล

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
“กุศลธรรม” และ “อกุศลธรรม” ( จิตกับตัณหา )
ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาสืบต่อไปอีกว่า

ดูกรอานนท์ กุศลธรรมและอกุศลธรรมนั้น ได้แก่กองกิเลส ๑,๕๐๐ นั่นเอง อัพยากฤตธรรมนั้นคือองค์พระนิพพาน ครั้นพ้นจากกองกุศลธรรมและอกุศลธรรมนั้นแล้ว จึงเป็นองค์แห่งพระอรหังและพระนิพพานโดยแท้ ถ้ายังไม่พ้นจากกุศลและอกุศลตราบใด ก็ยังไม่เป็นอัพยากฤตตราบนั้น คือยังไม่เป็นองค์พระอรหัง ยังไม่เป็นองค์พระนิพพานได้

ดูกรอานนท์ กุศลนั้นได้แก่กองสุข อกุศลนั้นได้แก่กองทุกข์ กองสุขและกองทุกข์นั้น หากเป็นของเกิดติดเนื่องอยู่ด้วยกัน ไม่มีใครจักพรากให้แตกออกจากกันได้ ครั้งถือเอากุศลคือกองสุขแล้ว ส่วนอกุศลคือกองทุกข์นั้น แม้ไม่ถือเอาก็เป็นอันได้อยู่เอง

ดูกรอานนท์ เมื่อบุคคลต้องการพระนิพพาน ก็ให้วางเสียซึ่งความสุขนั้นก่อน (ความสุขในโลกีย์นั้นเองชื่อว่ากุศล) จึงจักถึงพระนิพพาน ถ้าหากว่าไม่มีความสามารถ คือไม่อาจทำพระนิพพานให้แจ้งได้ ก็ให้ยึดเอากุศลนั้นไว้ก่อน พอให้ได้ความสุขในมนุษย์ และสวรรค์ แต่จะให้พ้นทุกข์นั้นไม่ได้ ถ้าแลเมื่อรู้อยู่ว่า ตนจักพ้นทุกข์ไม่ได้ ก็ให้ยึดเอากุศลนั้นไว้เป็นสะพานสำหรับไต่ไปสู่ความสุข ถ้ารู้ว่าตนยังไม่พ้นทุกข์ ซ้ำมาวางกุศลเสียก็ยิ่งซ้ำร้าย เพราะเมื่อวางกุศลเสียแล้ว ตนก็จักเข้าไปหากองอกุศล คือกองบาปเท่านั้น เมื่อตกเข้าในไปกองอกุศล อกุศลนั้นจักนำตัวไปทนทุกขเวทนาในอบายภูมิทั้ง ๔ หาความสุขในโลกมิได้เลย เพราะเหตุนั้น เมื่อตนยังไม่ถึงพระนิพพาน ก็ให้บำเพ็ญบุญกุศลไว้ พอจะได้อาศัยเป็นสุขสบายไปในชาตินี้และชาติหน้า ข้าฯแต่พระอริยกัสสปะ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้

ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า
ดูกรอานนท์ เราตถาคตจักแสดงในข้ออันเป็นที่สุดแต่โดยย่อๆ พอให้เข้าใจง่าย ที่สุดนั้นก็คือ จิตกับตัณหา จิตนั้นจำแนกออกไปเรียกว่า กองกุศล คือ กองสุข ตัณหานั้นจำแนกออกไปเรียกว่า กองอกุศล คือ กองทุกข์ ต้นเหง้าเค้ามูลแห่งทุกข์นั้น ก็คือ จิตและตัณหานี้เอง จิตเป็นผู้คิดให้ได้เป็นดีมีสุขขึ้น ส่วนตัณหานั้นก็ให้เกิดตามเห็นตาม จิต มีความสุขมากขึ้นเท่าใด ตัณหานั้นก็ให้เกิดทุกข์ตามมากขึ้นไปเท่านั้น

ดูกรอานนท์ แต่เบื้องต้น เมื่อเราตถาคตยังไม่รู้แจ้งว่าสุขและทุกข์อยู่ติดด้วยกัน เราก็ถือเอากุศลจิตอันเดียว หมายจักให้เป็นสุขอยู่ทุกเมื่อ ส่วนทุกข์จักไม่ให้มา ก็ตั้งหน้าบำเพ็ญกุศลจิตเรื่อยไป เมื่อได้สุขเท่าใด ทุกข์ก็พลอยเกิดมีเท่านั้น ครั้งภายหลังเราพิจารณาด้วยญาณจักษุปัญญา แลเห็นแจ้งชัดว่า สุขและทุกข์ติดอยู่ด้วยกัน ครั้งรู้แจ้งแล้ว ก็ตรึกตรองหาอุบายที่จะกำจัดสุขและทุกข์ให้พรากออกจากกันนั้น แสนยากลำบาก เหลือกำลังจนสิ้นปัญญาหาทางไปทางมาไม่ได้ เราตถาคตจึงวางเสียซึ่งสุขคืนให้แก่ทุกข์ คือ วางใจให้แก่ตัณหา ครั้งเราวางใจไว้ให้แก่ตัณหาแล้ว ความสุขในพระนิพพาน ก็เลยเข้ามารับเราให้ถึงพระนิพพานดิบในขณะนั้น พร้อมกับด้วยเราวางใจไว้ให้แก่ตัณหา

ดูกรอานนท์ เมื่อวางใจได้จึงเป็นอัพยากฤต จึงเรียกชื่อว่า
ถือเอาอัพยากฤตเป็นอารมณ์
เป็นองค์พระอรหัง คือได้เข้าตั้งอยู่ในพระนิพพานด้วยอาการดังนี้

ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ สืบต่อไปอีกว่า
ดูกรอานนท์ อันว่า อรหัง นั้น จะได้มีจำเพาะแต่เราตถาคต พระองค์เดียวก็หามิได้
ย่อม มีเป็นของสำหรับโลก สำหรับไว้โปรดสัตว์โลกทั่วไป
ไม่ใช่ของแห่งเราตถาคตแลของผู้หนึ่งผู้ใดเลย

ดูกรอานนท์ เราตถาคตเป็นผู้ไกลจากกิเลสแล้วจึงได้ซึ่งพระอรหัง บุคคลผู้ใดปราศจาก กิเลสแล้ว บุคคลผู้นั้นก็เป็นผู้ได้พระอรหังเสมอกันทุกคน บุคคลผู้ใดที่ยังไม่ปราศจากกิเลส ถึงแม้จักอ้อนวอนเราตถาคตว่า อรหังๆ ดังนี้จนถึงวันตาย ก็ไม่อาจได้ซึ่งพระอรหังเลย เป็นแต่กล่าวด้วยปากเปล่าๆ เท่านั้น และมาเข้าใจว่าการละกิเลสได้หรือไม่ได้นั้นไม่เป็นประมาณ เมื่อได้อ้อนวอนหาซึ่งองค์พระอรหังเจ้าด้วยปากด้วยใจแล้ว พระอรหังเจ้าก็จักนำตนให้เข้าสู่พระนิพพาน เข้าใจเสียอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นคนหลงแท้ แม้เมื่อตนยังไม่พ้นลามกมลทินแห่งกิเลส แล้วไปอ้อนวอนพระอรหังที่หมดมลทินกิเลส ให้มาตั้งอยู่ในตัวตนอันแปดเปื้อนด้วยลามกมลทินแห่งกิเลส จักมีทางได้มาแต่ไหน เปรียบเหมือนดังมีสระ อยู่สระหนึ่ง เต็มไปด้วยของเน่าของเหม็นสารพัดทั้งปวง เป็นสระมีน้ำเน่าเหม็น สาบเหม็นคาวน่าเกลียดยิ่งนัก และมีบุรุษคนหนึ่งตกอยู่ในสระนั้น หากว่าบุรุษคนนั้นร้องเรียกให้อานนท์ลงไปอยู่ในสระน้ำเน่ากับด้วยเขา อานนท์จักไปอยู่ด้วยเขาหรือ

ดูกรอานนท์ เราจักบอกให้สิ้นเชิง ถ้าอานนท์ลงไปอยู่ในสระกับด้วยบุรุษผู้แปดเปื้อนด้วยน้ำเน่าได้ดังนั้น องค์พระอรหังเจ้าก็อาจไปตั้งอยู่กับด้วยบุรุษผู้แปดเปื้อนด้วยกิเลสได้เหมือนกัน ถ้าอานนท์ลงไปอยู่กับด้วยบุรุษแปดเปื้อนไม่ได้ องค์พระอรหังเจ้าก็ไม่อาจไปตั้งอยู่กับด้วยบุคคลผู้แปดเปื้อนด้วยราคาทิกิเลสได้เหมือนกันเช่นนั้น

ดูกรอานนท์ เธอจะอาจลงไปอยู่กับด้วยบุรุษแปดเปื้อนได้หรือไม่? มีพุทธฎีกาตรัสถามฉะนี้ ข้าฯ อานนท์จึงกราบทูลว่า ลงไปอยู่ด้วยไม่ได้? ถ้าเธอไม่ลงไป บุรุษผู้นั้นก็กล่าววิงวอนเธออยู่ร่ำไป จะสำเร็จหรือไม่? ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์ไม่ลงไป บุรุษผู้นั้นก็ทำอะไรแก่ข้าพระองค์ไม่ได้ ความปรารถนาก็ไม่สำเร็จ เป็นแต่วิงวอนอยู่เปล่าๆ เท่านั้นเอง

ดูกรอานนท์ ข้ออุปมานี้ฉันใด บุรุษผู้จมอยู่ในน้ำนั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้ไม่ปราศจากมลทินลามกแห่งกิเลส พระอรหังนั้นเปรียบเหมือนตัวของอานนท์ อานนท์ไม่ลงไปอยู่กับด้วยบุรุษแปดเปื้อนฉันใด พระอรหังท่านก็ไม่ไปอยู่กับบุคคลผู้แปดเปื้อนด้วยกิเลสฉันนั้น แม้จักวิงวอนด้วยปากด้วยใจสักเท่าไรก็ไม่สำเร็จ พระอรหังท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้พ้นทุกข์แล้ว ท่านไม่น้อมเข้าไปหาบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งเลย ครั้งบุคคลผู้ใดปรารถนาความสุขแล้ว จงน้อมตัวเข้าไปหาท่าน ท่านก็โปรดให้ได้ความสุขทุกคน จะเข้าใจว่าพระอรหังท่านเลือกหน้าเลือกบุคคล จักติเตียนอย่างนั้นก็ไม่ควร ถ้าแลผู้ใดพ้นจากกิเลสกามและพัสดุกามได้แล้ว ชื่อว่าน้อมตัวเข้าไปหาท่าน ท่านก็โปรดนำเข้าสู่พระนิพพานเสวยสุขอยู่ด้วยท่าน ไม่เลือกหน้าเลือกบุคคลเลย เป็นแต่ผู้จมอยู่ด้วยกิเลสลามก ละกิเลสไม่ได้ ชื่อว่าไม่น้อมตัวเข้าไปหาท่านเอง

ดูกรอานนท์ ถึงตัวเราตถาคตก็ต้องน้อมตัวเข้าไปหาท่าน ท่านจึงโปรดให้ตถาคตนี้ได้เป็นครูแก่โลกเห็นปานดังนี้ เพราะว่าพระอรหังท่านเป็นผู้ดี แลจักให้ท่านเข้าไปคบหาคนชั่วนั้นเป็นไปไม่ได้และผิดธรรมเนียมด้วย สมควรแก่ผู้เลวทรามต่ำช้า จะเข้าไปหาท่านผู้ดีผู้สูงศักดิ์โดยส่วนเดียว ข้าฯแต่พระมหากัสสปะผู้มีอายุ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้แล

ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาสืบต่อไปอีกว่า
ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ใดปรารถนาซึ่งพระอรหัง ก็พึงยกตัวและห้ามใจให้ห่างไกลจากกองกิเลส เพราะพระอรหังท่านเป็นผู้ไกลจากกิเลส จะบริกรรมแต่ด้วยปากด้วยใจ ว่า อรหังๆ แล้วเข้าใจว่าตนได้พระอรหัง เห็นว่าเป็นบุญเป็นกุศล จักได้ความสุขในมนุษย์ แลสวรรค์ และพระนิพพาน จะทำความเข้าใจอย่างนี้ไม่สมควร พระนามชื่อว่าพระอรหังนี้ เราบอกไว้ให้รู้ว่า ผู้ไกลจากกิเลส จะถือเอาแต่พระนามว่าอรหัง ๆ แล้วเข้าใจว่าตนได้สำเร็จเช่นนี้ไม่ควร เพราะคำที่ว่าอรหังใครๆ ก็กล่าวได้ จะมิเป็นพระอรหังกันเต็มโลกหรือ

ดูกรอานนท์ พระอรหังก็คือเราตถาคตนี้เอง เหตุที่เราปราศจากกิเลส ละกิเลสสิ้นแล้ว เราจึงได้ถึงที่สุดแห่งพระอรหัง องค์พระอรหังกับเราตถาคตก็หากเป็นอันเดียวกัน จะร้องเรียกพระอรหังว่า เป็นเราตถาคตก็ไม่ผิด หรือจะร้องเรียกเราพระตถาคตเป็นพระอรหังก็ไม่ผิด ผู้ใดละกิเลสได้สิ้นเชิงแล้ว ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าถึงที่สุดแห่งพระอรหังสิ้นด้วยกัน จะได้ถึงพระอรหังแต่เราตถาคตองค์เดียวหามิได้ จงเข้าใจองค์แห่งพระอรหังดังเราตถาคตแสดงมานี้เถิด ข้าฯแต่พระมหากัสสปะผู้มีอายุ พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาแก่ข้าฯอานนท์ ดังนี้แล

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
วิธีดับกิเลสตัณหา
ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า

ดูกรอานนท์ สิ่งที่ให้สัตว์โลกเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ทรมานทุกข์อยู่ในนรกและกำเนิดสัตว์เดรัจฉานแล้วๆ เล่าๆ ไม่รู้สิ้นสุดนี้ มิใช่สิ่งอื่น คือ ตัวกิเลสและตัณหา ล่อลวงให้ดวงจิตของสัตว์ทั้งหลาย มิให้พ้นทุกข์ภัยในวัฏสงสารและมิได้ถึงพระนิพพานได้ ถ้าผู้ใดมิได้รู้กองแห่งกิเลสแล้ว ผู้นั้นก็จักประสพภัยได้รับทุกข์ ในอบายภูมิทั้ง ๔ มิได้มีเวลาสิ้นสุดฯ

ดูกรอานนท์ จงจับตัวตัณหาให้ได้ ถ้าจับได้แล้ว เมื่อตัวต้องทุกข์ก็จักเห็นได้ว่าตัวเป็นอนัตตา ถ้าจับไม่ได้ก็เห็นตัวเป็นอนัตตาไม่ได้ บุคคลทั้งหลายที่มาเป็นสานุศิษย์แห่งพระตถาคตนี้ ก็มีความประสงค์ด้วยพระนิพพาน การที่จะรู้ว่าใครดีหรือชั่วกว่ากัน ก็อาศัยกิเลสเป็นผู้ตัดสิน ด้วยว่าพระนิพพานเป็นที่ปราศจากกิเลสตัณหา ถ้าผู้ใดเบาบางจากกิเลสตัณหา ผู้นั้นก็เป็นผู้ดียิ่งกว่าผู้ยังหนาอยู่ด้วยกิเลสตัณหา ผู้ใดตั้งอยู่ในนิจศีล คือศีล ๕ ผู้นั้นชื่อว่ายังหนาอยู่ด้วยกิเลส แต่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บางจากกิเลสได้ชั้นหนึ่ง ถ้าตั้งอยู่ในอุโบสถศีล คือศีล ๘ ได้ชื่อว่าบางจากกิเลสได้ ๒ ชั้น ถ้ามาตั้งอยู่ในทศศีล คือศีล ๑๐ ผู้นั้นได้ชื่อว่าบางจากกิเลสได้ ๓ ชั้น ผู้เข้ามาตั้งอยู่ในศีลพระปาติโมกข์ คือศีล ๒๒๗ ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าบางจากกิเลสได้ ๔ ชั้น ผลอานิสงส์ก็มีเป็นลำดับขึ้นไปตามศีลนั้น ผู้ที่มีศีลน้อยอานิสงส์ก็น้อย ผู้ที่มีศีลมากอานิสงส์ก็มากขึ้นไปตามส่วนของศีล บุคคลที่มิได้ตั้งอยู่ในศีล ๕ ถึงจะมีความรู้ความฉลาดมากมายสักเท่าใดก็ดี ก็ไม่ควรจะกล่าวคำประมาทแก่ผู้ที่มีศีล ๕ ผู้ที่มีศีล ๕ ก็ควรยินดีแต่เพียงชั้นศีลของตน ไม่ควรที่จะกล่าวคำประมาทในท่านผู้ที่มีศีล ๘ ผู้ที่มีศีล ๘ ก็ควรยินดีแต่เพียงศีลของตน ไม่ควรที่จะกล่าวคำประมาทในท่านผู้ที่มีศีล ๑๐ ผู้ที่มีศีล ๑๐ ก็ควรยินดีอยู่ในชั้นศีลของตน ไม่ควรจะกล่าวคำประมาทในท่านที่มีศีลพระปาติโมกข์ ถ้าแลขืนกล่าวโทษติเตียนท่านที่มีศีลยิ่งกว่าตน ชื่อว่าเป็นคนหลง เป็นคนห่างจากทางสุขในมนุษย์ แลสวรรค์ และพระนิพพานแท้

ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ไม่มีศีล ปราศจากการรักษาศีล ไม่ควรกล่าวซึ่งคำประมาทแก่ท่านผู้มีศีล ตัวตั้งอยู่ภายนอกศีล แล้วมาเข้าใจว่าตัวเป็นผู้ดีกว่าท่านผู้มีศีล แล้วกล่าวคำสบประมาทดูหมิ่นในท่านผู้มีศีล บุคคลจำพวกนั้นชื่อว่าเป็นเจ้ามิจฉาทิฏฐิใหญ่ ชื่อว่าเป็นคนหลงทาง คือ ผู้ห่างจากความสุขในมนุษย์และสวรรค์

ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ตั้งอยู่ภายนอกศีลนั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในระหว่างกิเลส ยังเป็นผู้หนาแน่นอยู่ด้วยกิเลส แม้จะเป็นผู้มีความรู้ความฉลาดมากมายสักปานใดก็ตาม ก็ไม่ควรจะถือตัวว่าเป็นผู้ยิ่งกว่าผู้มีศีล เหตุว่าผู้ที่ไม่มีศีลนั้นยังห่างจากพระนิพพานมากนัก ผู้ที่มีศีลชื่อว่าใกล้ต่อพระนิพพานอยู่แล้ว ถึงจะไม่รู้อะไร รู้แต่เพียงศีลเท่านั้น ก็ยังดีกว่าผู้ไม่มีศีลอยู่นั่นเอง เพราะท่านเป็นผู้บางจากกิเลส บุคคลผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส แม้จะเป็นผู้รู้มากแตกฉานในข้ออรรถและข้อธรรมประการใดก็ตาม ก็ควรจะทำความเคารพยำเกรงในท่านที่มีศีล จึงจะถูกต้องตามคลองธรรมที่เป็นทางแห่งพระนิพพาน ถ้าให้ผู้มีศีลเคารพยำเกรงในผู้ที่ไม่มีศีลและเป็นผู้หนาแน่นด้วยกิเลส เป็นความผิด ห่างจากทางพระนิพพานยิ่งนัก

ดูกรอานนท์ จะถือเอาความรู้และความไม่รู้เป็นประมาณทีเดียวไม่ได้ ต้องถือเอาการละกิเลสได้เป็นประมาณ เพราะว่าผู้จะถึงพระนิพพานต้องอาศัยกครั้งระงับดับกิเลสได้แล้ว เป็นเหตุให้ได้ประสพสุขและพ้นจากทุกข์ เมื่อละกิเลสไม่ได้สุขก็ไม่ได้ ทุกข์ก็ไม่พ้น

ดูกรอานนท์ การที่จะได้ประสพสุขก็เพราะละกิเลสต่างหาก ที่มีความรู้แต่มิได้ละเสียซึ่งกิเลส ย่อมไม่เป็นประโยชน์แม้แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งแก่ผู้มีความรู้นั้น แม้จะรู้มากแสนพระคัมภีร์ หรือมีความรู้หาที่สุดมิได้ก็ตาม ก็รู้อยู่เปล่าๆ จะเอาประโยชน์อันใดอันหนึ่งไม่ได้ แลจะให้เป็นบุญเป็นกุศลและได้เสวยความสุขเพราะความรู้นั้นไม่มี เราตถาคตไม่สรรเสริญผู้ที่มีความรู้มากแต่ไม่มีศีล ผู้ที่มีความรู้น้อยแต่เป็นผู้ตั้งอยู่ในศีล เราสรรเสริญและนับถือผู้นั้นว่าเป็นคนดี ถ้าผู้ใดนับถือผู้ที่มีกิเลสว่าดีกว่าผู้ไม่มีกิเลส บุคคลผู้นั้นชื่อว่าถือศีลเอาต้นเป็นปลาย เอาปลายเป็นต้น เอาสูงเป็นต่ำ เอาต่ำเป็นสูง ถ้าถืออย่างนี้ผิดทางพระนิพพานเป็นคนมิจฉาทิฏฐิ การที่นับถือบุคคลผู้หนาไปด้วยกิเลส ว่าดีกว่าผู้ปราศจาก กิเลส เราตถาคตไม่สรรเสริญเลย บุคคลจำพวกที่บางเบาจากกิเลส ใกล้ต่อพระนิพพาน เราตถาคตสรรเสริญ และอนุญาตให้เคารพนับถือ

    การที่ทำบุญทำทานทำกุศล ปรารถนาเพื่อจะให้บุญกุศลนั้นพาตนเข้าสู่พระนิพพาน ถ้าไม่รู้ว่าบำเพ็ญบุญกุศลเพื่อให้ช่วยระงับดับกิเลส ก็เป็นอันบำเพ็ญเสียเปล่า ได้ชื่อว่าเป็นคนหลงโลกหลงทางแห่งพระนิพพาน การที่จะถึงพระนิพพานต้องละกิเลสเสียให้สิ้น ถ้ายังละมิได้ ก็ไม่ถึงพระนิพพาน ถึงจะรู้มากสักเท่าใดก็ตาม ถ้ายังละกิเลสไม่ได้ก็รู้เสียเปล่าๆ เราตถาคตตั้งศาสนาไว้ไม่ได้หวังเพื่อให้บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งบำเพ็ญหาประโยชน์อย่างอื่น ตั้งไว้เพื่อประสงค์จะให้บุคคลบำ เพ็ญภาวนา เพื่อให้ระงับดับกิเลสตัณหา เท่านั้น การบำเพ็ญภาวนา เมื่อไม่คิดว่าจะให้ระงับดับกิเลสตัณหาแห่งตน ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนหลงโลกหลงทาง ส่วนกุศลที่เกิดจากการบำเพ็ญภาวนานั้น จะว่าไม่ได้ไม่มีเช่นนั้นก็หามิได้ อันที่จริงก็หากเป็นบุญเป็นกุศลโดยแท้ แต่ว่าเป็นทางหลงจากพระนิพพานเท่านั้น การกระทำความเพียรบำเพ็ญภาวนาทำบุญทำกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง มากน้อยเท่าใดก็ตาม ก็ให้รู้ว่าบำเพ็ญบุญกุศลและเจริญภาวนา เพื่อระงับดับกิเลสตัณหาของตนให้น้อยลง ให้พ้นจากกองกิเลสนั้น เช่นนี้ ชื่อว่าเดินถูกทางพระนิพพานแท้

ดูกรอานนท์ จงพากันประพฤติตามคำสอนที่เราแสดงไว้นี้
ถ้าผู้ใดมิได้ประพฤติตาม ก็พึงเข้าใจว่าผู้นั้นเป็นคนนอกพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าได้ตรัสแต่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้ แล้ว จึงทรงแสดงต่อไปอีกว่า

ดูกรอานนท์ บุคคลผู้บำเพ็ญศีลน้อยศีลมากประเภทใดประเภทหนึ่งก็เพื่อให้รู้ซึ่งการละกิเลส และยกตนให้พ้นจากกิเลส เมื่อไม่รู้เช่นนั้น ได้ชื่อว่าเป็นคนหลง ส่วนผลอานิสงส์ ที่ได้บำเพ็ญศีลนั้น เราตถาคตได้กล่าวอยู่ว่ามีผลอานิสงส์จริง แต่ว่ามีอานิสงส์น้อยและผิดจากทางพระนิพพาน ถ้าเข้าใจว่าการรักษาศีลเพื่อจะยกตนให้พ้นจากกิเลส รักษาศีล ๕ ได้แล้ว จะเพียรพยายามรักษาศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลพระปาติโมกข์เป็นลำดับไป เพื่อจะยกตนให้พ้นจากกองกิเลสทีละเล็กละน้อยตามลำดับ เมื่อเราตั้งอยู่ในศีลประเภทใดก็ตั้งใจรักษาโดยเต็มความสามารถ รู้ดังนี้จึงมีผลอานิสงส์มากไม่เป็นคนหลง และตรงต่อทางพระนิพพานโดยแท้

ดูกรอานนท์ กุลบุตรผู้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเป็นศิษย์แห่งเราตถาคตนี้ ก็หวังเพื่อความระงับดับกิเลส ไม่อยากเกิดในโลกสืบต่อไป เพราะกิเลสนั้นเป็นเชื้อสายสืบโลก บันดลบันดาลใจให้ยินดีไปในทางโลก ครั้งเกิดมาแล้วก็ให้เจ็บไข้ แก่ ตาย แลให้ฉิบหายพลัดพรากจากกัน ให้รัก ให้ชัง ให้อด ให้ตี ให้ด่า ให้อยาก ให้ทุกข์ ให้ยากเข็ญใจ อาการกิริยาแห่งกิเลสเป็นเช่นนี้ เราตถาคตจึงอนุญาตให้บวชเพื่อความระงับดับกิเลส ไม่ให้เกิดมีเป็นเชื้อสายสืบโลกต่อไป เมื่อรู้อย่างนี้แล้วตั้งใจรักษาศีลเพื่อให้ดับกิเลส และตรึกตรองหาอุบายเพื่อทำลายกิเลสอันเป็นต้นเค้าให้ขาดสูญ การรักษาศีลพระปาติโมกข์ก็ดี การรักษาข้อวัตรในธุดงค์ ๑๓ นั้นก็ดี ก็เป็นอันประมวลลงในศีลนั้นทุกอย่าง มิใช่ว่าจะรักษามากมายหลายสิ่งหลายอย่างจนสิ้นจนหมดหามิได้ รักษาศีลพระปาติโมกข์ก็ดี รักษาธุดงควัตร ๑๓ ก็ดี ก็ไม่มีเพื่อประโยชน์อย่างอื่น เพื่อความระงับดับกิเลสอย่างเดียวเท่านั้น

    เมื่อรู้ว่ากิเลสเป็นเค้าเงื่อนแห่งกองทุกข์กองโทษ กองบาปกองกรรมเช่นนั้นแล้ว ข้อวัตรอันใดที่เป็นไปเพื่อจะยกตนออกจากกิเลสได้ก็จงกระทำข้อวัตรนั้นให้บริบูรณ์เถิด การรักษาศีลพระปาติโมกข์ แลรักษาธุดงควัตรทุกอย่าง เมื่อมิได้เข้าใจว่าเพื่อความระงับดับกิเลส ก็ชื่อว่าเป็นการรักษาเปล่าๆ เมื่อเรารู้ว่ารักษาเพื่อระงับดับกิเลส ไม่ได้รักษาเพื่ออย่างอื่นแล้ว แม้จะรักษาแต่เล็กแต่น้อยโดยเอกเทศ ไม่ครบตามจำนวนในพระปาติโมกข์ ในจำนวนแห่งธุดงควัตร ก็ได้ชื่อว่าเป็นอันรักษาครบทุกอย่าง เพราะจับต้นจับรากเหง้าแห่งกิเลสได้แล้ว เปรียบดังบุรุษตัดต้นไม้ ถ้าตัดเหง้าตัดรากแก้วขาดแล้ว กิ่งก้านสาขาแม้ไม่ต้องตัดก็ตายเอง ถ้าไปตัดรอนแต่กิ่งก้านสาขารากเหง้าไม่ได้ตัด ต้นไม้นั้นก็อาจงอกงามขึ้นได้อีก

ดูกรอานนท์ บุคคลที่บวชในพระศาสนานี้ ก็เปรียบเหมือนบุคคลผู้ตัดต้นไม้ ฉะนั้น การบวชมิใช่ว่ามุ่งประโยชน์อย่างอื่น บวชเพื่อระงับดับกิเลสเท่านั้น ถ้าไม่หวังเพื่อความดับกิเลสแล้ว ไม่ต้องบวชดีกว่า การที่บวชโดยที่ไม่ได้มุ่งเพื่อการดับกิเลส แม้จะมีความรู้วิเศษสักปานใด ก็ได้ชื่อว่ารู้เปล่าๆ แต่ว่าการที่เป็นผู้มีความรู้ความฉลาดนั้น เรามิได้ติว่า เป็นไม่รู้ไม่ดี ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นกุศล ก็คงเป็นอันรู้อันดีเป็นบุญเป็นกุศลอยู่นั่นเอง แต่ว่าเป็นความรู้ที่ผิดจากทางพระนิพพาน

ดูกรอานนท์ เราตถาคตเทศนาไว้โดยอเนกปริยายนั้น ก็เพื่อจะให้หมู่ปุถุชนคนเขลาเห็นเป็นอัศจรรย์ และเพื่อให้ได้รับความเชื่อความเลื่อมใส เมื่อพาลชนทั้งหลายไม่เห็นเป็นอัศจรรย์แล้ว ก็จักไม่มีความเชื่อความเลื่อมใสในคุณของพระตถาคต ถ้ากล่าวแต่ น้อยพอเป็นสังเขปก็ไม่เข้าใจ ไม่เหมือนผู้ที่มีบุญมีวาสนา แม้จะกล่าวแต่เพียงเล็กน้อย ก็เข้าใจได้มากมายหลายอย่างหลายนัย ธรรมชาติผู้ที่มีปัญญาแท้ไม่ต้องกล่าวอะไรเลยก็รู้ได้ด้วยปัญญาของตนเอง ไม่ต้องให้กล่าวเป็นการลำบาก เราตถาคตได้รับความลำบากเพราะพาลปุถุชนเท่านั้น ว่ากล่าวสั่งสอนแต่เพียงเล็กน้อยก็ไม่เข้าใจ เพราะเขาถือว่าเขาดีเสียแล้ว แท้ที่จริงความรู้ของเหล่าพาลชนจะรู้ดีไปสักเท่าไร ก็ดีอยู่แต่เพียงมีลม อัสสาสะ-ปัสสาสะ เท่านั้น ถ้าลมอัสสาสะ-ปัสสาสะขาดแล้ว ก็มีแต่เน่าเป็นเหยื่อหนอนนอนกลิ้งเหนือแผ่นดิน จะหาสาระสิ่งใดไม่มีเลย มีแต่เครื่องอสุจิเต็มไปสิ้นทั้งนั้นจะถือแต่ว่าตัวมีความรู้ดี เมื่อมีความรู้ความดีแล้วจักไม่ตายหรือ จะมีความรู้มากรู้มายเท่าใดก็คงไม่พ้นตายไปได้ จะมีความรู้ดีวิเศษไปเท่าไร ก็รู้ไปหาตาย จะมีความรู้ความดีไปเท่าไร ก็รู้อยู่บนแผ่นดิน จะรู้จะดีให้พ้นแผ่นดินไปไม่ได้เมื่อลมยังมีก็อยู่เหนือแผ่นดิน เมื่อลมออกแล้วก็คงอยู่เหนือแผ่นดินนั้นเอง จะพ้นจากแผ่นดินไปไม่ได้ และจะมาถือว่าตัวว่าตนอยู่นั้น เพื่อประโยชน์อะไร ส่วนของเน่าของเหม็นมีอยู่เต็มตัวก็ไม่รู้ไม่เห็น เห็นแต่ว่าตัวรู้ตัวดี ถือเนื้อถือตัวอยู่ เราตถาคตเบื่อหน่ายความรู้ความดีของพาลปุถุชนมากนัก

ดูกรอานนท์ ธรรมดาบุคคลผู้ที่เป็นนักปราชญ์มีปรีชาทั้งหลาย ย่อมไม่ถือเนื้อถือตัว ว่าเรารู้เราดีอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านจะมีความรู้มากมายเท่าใดก็มิได้ถือเนื้อถือตัวเหมือนอย่างพาลปุถุชน พวกพาลปุถุชนที่เขาห่างไกลจากพระนิพพาน ก็เพราะเหตุที่เขาถือเนื้อถือตัว การถือเนื้อถือตัวมีมากเท่าใดก็ยิ่งทำให้ห่างไกลจากพระนิพพานมากขึ้นเท่านั้น เหตุว่าประตูเมืองพระนิพพานนั้นแคบนักหนา ผมเส้นเดียวผ่าออกเป็น ๓ เสี้ยว เอาแต่เสี้ยวเดียวไปแยงเข้าที่ประตูพระนิพพาน ก็ยังคับแคบเข้าไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านต้องการพระนิพพานแล้ว ไม่ควรจะถือว่าตัวรู้ตัวดี เป็นผู้ใหญ่เป็นผู้สูงศักดิ์กว่าท่าน ยิ่งถือตนถือ ตัวขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งให้คับประตูพระนิพพานเข้าเท่านั้น จึงว่าพาลปุถุชนทั้งหลายเป็นผู้ห่าง ไกลจากพระนิพพาน ด้วยเหตุที่เขามัวถือเนื้อถือตัวว่าตัวรู้ตัวดีอยู่

ดูกรอานนท์ บุคคลที่เข้ามาบวชเป็นลูกศิษย์ของพระตถาคตแล้ว ยังมีปล่อยให้ตนได้รับความทุกข์อยู่ ผู้นั้นเรากล่าวว่าเป็นพาลปุถุชน คือเป็นคนโง่เขลา ผู้ที่ไร้ปัญญา เช่นนั้นจะเรียกว่าเป็นศิษย์ของพระตถาคตยังไม่ได้ เมื่อบวชแล้วประพฤติตัวให้เป็นสุขอยู่ทุกเมื่อ นั่นแล จึงจะเป็นลูกศิษย์ของพระตถาคตแท้ เราตถาคตหวังเพื่อความสุขจึงได้ออกบวช เมื่อบวชแล้วมาทำตนของตนให้เป็นทุกข์ บุคคลผู้นั้นชื่อว่าเป็นคนโง่เขลาเบา
ปัญญาหาที่เปรียบมิได้ ถ้าบุคคลผู้มีปัญญาแล้ว ไม่ทำตัวให้เป็นทุกข์เลย บุคคลผู้ไม่มีปัญญาจึงทำตัวให้เป็นทุกข์ ไม่เฉพาะแต่นักบวชจำพวกเดียว แม้คฤหัสถ์ถ้าหาปัญญามิได้ ก็ได้รับความทุกข์ยากลำบากเหมือนกัน ปราชญ์ผู้มีปรีชาเมื่อออกบวชแล้ว ท่านย่อมพิจารณาเห็นแจ้งซึ่งประโยชน์แลสิ่งซึ่งมิใช่ประโยชน์ ท่านพิจารณาเห็นแจ้งซึ่งศีลและข้อวัตรที่หนักและเบา แล้วท่านไม่ต้องรักษามากมายหลายอย่างหลายประการนัก เลือกรักษาแต่เล็กแต่น้อย ก็ย่อมได้รับความสุขกายสบายใจ

    ผู้ที่โง่เขลาเบาปัญญา นั้น ย่อมรักษามากมายหลายอย่างต่างๆ นานา เพราะเหตุที่ต้องรักษามากเกินไปจึงเป็นทุกข์ ผู้ที่มีปัญญาแล้ว ย่อมเลือกรักษาแต่สิ่งที่จริงที่แท้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็ย่อมนำมาซึ่งความสุข เปรียบเหมือนบุคคลผู้ฉลาด ไปตัดไม้ในป่ามาทำกิจอย่างหนึ่ง เมื่อตัดได้แล้วก็ถากเปลือกและกระพี้ทิ้งเสีย เหลือไว้แต่ที่ต้องการ แล้ววัดตัดเอาแต่พอแก่การงานของตัวเท่านั้น ไม่ต้องลำบากแก่การแบกการหาม ส่วนบุคคลที่ไม่ฉลาด ไม่รู้เท่าต่อการงานที่จะพึงทำ เมื่อไปตัดไม้ได้แล้ว จะถากเอาแต่ที่ต้องการก็กลัวจะเสีย เพราะตัวไม่เข้าใจการงาน ต้องแบกมาทั้งเปลือกทั้งกระพี้ทั้งส่วนยาว ได้รับความเหนื่อยหนักอย่างทวีคูณ ก็เพราะความที่ตัวเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา

ดูกรอานนท์ การที่รักษาแก้วไม่ดีไม่มีราคา แม้จะรักษามากหลายพันดวง ก็สู้ผู้ที่รักษาแก้วที่ดีมีราคาดวงเดียวไม่ได้ แก้วที่ไม่ดีไม่มีราคาจะขายก็ไม่ได้ จะเก็บไว้ก็ไร้ประโยชน์ ตกลงต้องรักษาไปเปล่าๆ ส่วนแก้วที่มีราคานั้น จะขายก็ได้เงินมาก หากจะเก็บไว้ก็เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตน แลการเรียนมนต์และเรียนคาถาที่ไม่ดีไม่ขลัง แม้จะเรียนตั้งร้อยตั้งพันบท ก็สู้มนต์คาถาที่ดีที่ขลังบทเดียวไม่ได้ แม้การที่รักษาพระวินัยบัญญัติและข้อวัตรก็เหมือนกันเช่นนั้น เมื่อรู้ประโยชน์แห่งศีลและข้อวัตรแล้ว ก็ไม่ต้องรักษามาก เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็รักษาพร่ำเพรื่อไปจนไม่มีเขตแดน จึงต้องได้รับความลำบาก เหมือนผู้ที่ไม่รู้การงาน ต้องแบกเอาไม้ทั้งเปลือก ทั้งพระพี้ ทั้งส่วนยาว ไปเปล่าๆ ฉะนั้น ผู้มีปรีชาท่านรักษาวินัยและข้อวัตรไม่มาก แต่หากได้รับอานิสงส์เพียงพอ เหมือนอย่างผู้รักษาแก้วดีดวงเดียว หรือผู้ที่เรียนมนต์แลคาถาที่ดีที่ขลังบทเดียวเท่านั้น ก็ให้สำเร็จประโยชน์ได้เต็มที่ฉะนั้น

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
บุญ - บาป

ดูกรอานนท์ การที่เราตถาคตต้องการให้บวชนั้น ก็เพื่อจะให้ได้บุญและกุศล อะไรชื่อว่าเป็นตัวบุญตัวกุศล ตัวบุญตัวกุศลนั้น ไม่ใช่สิ่งอื่น คือ ความดับเสียซึ่งกิเลส การรักษากิจวัตรและพระวินัยอย่างไรก็ตาม ถ้าดับกิเลสได้มากก็เป็นบุญมาก ถ้าดับกิเลสได้น้อยก็เป็นบุญน้อย ถ้าดับกิเลสไม่ได้ก็ไม่เป็นบุญเลย บาปอกุศลนั้นก็ไม่ใช่อื่น คือตัวกิเลสนั้นเอง กิเลสก็คือตัวตัณหานั้นเอง ดับกิเลสตัณหาได้เท่าใดก็เป็นบุญเท่านั้น ถ้าดับกิเลสตัณหาไม่ได้ก็เป็นอันไม่ได้บุญ ไม่ได้กุศลเลย ผู้ที่ไม่รู้จักบุญและบาปนั้นมาทำความเข้าใจว่า บวชรักษาข้อวัตรรักษาศีลเอาบุญ บุญนั้นมีอยู่นอกตนนอกตัว มีอยู่ที่ดินฟ้าอากาศ เมื่อบวชได้รักษากิจวัตรแล้ว บุญนั้นจักเลื่อนลอยมาจากสถานที่ต่างๆ มีนภาลัยเวหาอากาศเป็นต้น มานำเอาตัวขึ้นไปสู่สวรรค์และพระนิพพาน เห็นไปโดยผิดทางเช่นนี้ ล้วนแต่เป็นคนหลงสิ้นทั้งนั้น

ดูกรอานนท์ ผู้ที่ไม่รู้จักบาป เข้าใจว่าบาปนั้นอยู่นอกตนนอกตัว
เมื่อทำบาปแล้ว บาปนั้นก็จะลุกมาแต่นรกใต้พื้นดิน มาจับกุมคุมเอาตัวลงไปสู่นรก
การทำความเข้าใจอย่างนี้ ย่อมเป็นคนหลงสิ้นทั้งนั้น

ดูกรอานนท์ สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี บาปบุญคุณโทษก็ดี ย่อมอยู่ที่เรา จะเข้าใจว่าบาปบุญอยู่ภายนอกตัว ทำบุญแล้วคอยท่าบุญจักมานำเอาตัวไปสู่สุคติ คิดอย่างนี้ตั้งร้อยชาติแสนชาติก็ไม่อาจได้ อันว่า บุญบาป สุขทุกข์ ย่อมไม่มี ณ ภายนอกตัว บุญกุศลและความสุขนั้นก็คือดวงจิต ส่วนบาปกรรมทุกข์โทษนั้นก็คือหมู่แห่งตัณหา ตัณหานั้นจักมี ณ ที่อื่นนอกจากตัวตนของเราแล้วไม่มี ตัวบุญและตัวบาปก็อยู่ที่ใจของเรา เมื่อตัวไม่ชอบทุกข์อยากได้ความสุข ก็จงพยายามแก้ใจของเรานั้นเถิด ถ้าเราไม่เป็นผู้แสวงหาความสุขและให้พ้นจากทุกข์แล้ว ใครเขาจะมาช่วยตัวเราให้พ้นจากทุกข์ให้ได้รับความ สุขได้เล่า เพราะสุขทุกข์อยู่ที่ตัวของเรา เมื่อเราหามิได้แล้ว ใครคนอื่นที่ไหนเขาจะหามาให้เราได้


ทางไปสู่พระนิพพาน

ดูกรอานนท์ บุคคลผู้ที่เข้าใจว่าบุญกุศล สวรรค์ และพระนิพพานมีผู้นำมาให้ บาปกรรม ทุกข์โทษ นรก และสัตว์เดรัจฉาน ก็มีผู้พาไปทั้งสิ้น บุคคลผู้ที่เข้าใจอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้หลงโลกหลงทางหลงสงสาร บุคคลจำพวกนั้น แม้จะทำบุญให้ทานสร้างการกุศลใดๆ ที่สุดจนออกบวชในพระพุทธศาสนา ก็หาความสุขมิได้ จะได้เสวยแต่ความทุกข์โดยถ่ายเดียว

ดูกรอานนท์ บุญกับสุขหากเป็นอันเดียวกัน เมื่อมีบุญก็ชื่อว่ามีความสุข บาปกับทุกข์ก็เป็นอันเดียวกัน เมื่อมีบาปก็ได้ชื่อว่ามีทุกข์ ถ้าไม่รู้บาปก็ละบาปไม่ได้ ถ้าไม่รู้จักบุญก็หาบุญไม่ได้ เปรียบเหมือนเราอยากได้ทองคำ แต่เราหารู้ไม่ว่าทองคำนั้นมีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร ถึงทองคำนั้นมีอยู่ แลเห็นอยู่เต็มตา ก็ไม่อาจถือเอาได้โดยเหตุที่ไม่รู้จัก แม้บุญก็เหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักบุญก็หาบุญไม่ได้ อย่าว่าแต่บุญซึ่งเป็นของที่ไม่มีรูปร่างเลย แม้แต่สิ่งของอื่นๆ ที่มีรูปมีร่าง ถ้าหากว่าเราไม่รู้จักก็ถือเอาไม่ได้

ดูกรอานนท์ บุคคลที่ไม่รู้จักบุญและไม่รู้จักสุข ทำบุญจะไม่ได้บุญไม่ได้สุขเสียเลย เช่นนั้น ตถาคตก็หากล่าวปฏิเสธไม่ ทำบุญก็คงได้บุญและได้สุขอยู่นั่นแล แต่ทว่าตัวหากไม่รู้ไม่เข้าใจ บุญและความสุขก็ยังเกิดอยู่ที่ตัวนั่นเอง แต่ตัวหากไม่รู้ไม่เข้าใจ จึงเป็นอันมีบุญและสุขไว้เปล่าๆ

ดูกรอานนท์ บุคคลจำพวกที่ไม่รู้จักว่าบุญคือความสุข เมื่อทำบุญแล้วปรารถนาเอาความสุข น่าสมเพชเวทนานักหนา ตัวทำบุญก็ได้บุญในทันใดนั้นเอง มิใช่ว่าเมื่อทำแล้วนานๆ จึงจักได้ ทำเวลาใดก็ได้เวลานั้น แต่ตัวไม่รู้ นั่งทับนอนทับบุญอยู่เปล่าๆ ตัวก็ไม่ได้รับบุญคือความสุขเพราะตัวไม่รู้ จึงว่าเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ ด้วยประการดังนี้
ข้าแต่พระมหากัสสปะผู้มีอายุ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า
ดูกรอานนท์ บุคคลที่เข้าใจว่าทำบุญไว้มากๆ แล้วจะรู้แลไม่รู้ก็ไม่เป็นไร บุญหากจักพาไปให้ได้รับความสุขเอง เช่นนี้ชื่อว่าเป็นคนหลงโดยแท้ เพราะเหตุไรบุญจึงจักพาตัวไปให้ได้รับความสุข เพราะบุญกับความสุขเป็นอันเดียวกัน เมื่อไม่รู้สุขก็คือไม่รู้จักบุญ เมื่อเรารู้สุขเห็นสุข ก็คือเรารู้บุญเห็นบุญนั่นเอง จะให้ใครพาไปหาใครที่ไหน

ดูกรอานนท์ สุขทุกข์นี้ใครจักช่วยใครไม่ได้ ใครจะพาใครไปนรก แลสวรรค์ และพระนิพพานนั้น ไม่ได้ จะไปนรก หรือสวรรค์ และพระนิพพานต้องไปด้วยตนเอง จะพาเอาคนอื่นไปด้วยไม่ได้เป็นอันขาด ก็แลผู้ใดอยากพ้นจากนรกสุกในเมืองผี ก็จงทำตนให้พ้นจากนรกดิบในเมืองคนเรานี้เสียก่อน จึงจะพ้นจากนรกสุกในเมืองผีได้ ถ้าอยากได้ความสุขในภายหน้า ก็จงทำตนให้ได้ให้ถึงสวรรค์ดิบในเมืองคนเรานี้เสียก่อน ถ้าไม่ได้สวรรค์ดิบในเมืองคนนี้ แม้เมื่อตายไปแล้วก็ไม่อาจได้สวรรค์สุกเลย ถ้าไม่ได้สวรรค์ดิบไว้ก่อนแล้ว ตายไปก็มีนรกเป็นที่อยู่โดยแท้ แม้ความสุขในสวรรค์ก็ยังไม่ปราศจากทุกข์ มิใช่จะมีทุกข์แต่สวรรค์ดิบในเมืองคนเราเท่านั้นก็หามิได้ ถึงสวรรค์สุกในชั้นฟ้าชั้นใดๆ ก็ดี สุขกับทุกข์ มีอยู่เสมอกัน เป็นความสุขที่ยังไม่ปราศจากทุกข์ ไม่เหมือนพระนิพพานซึ่งเป็น เอกันต บรมสุข มีแต่สุขโดยส่วนเดียว ไม่ได้เจือปนด้วยทุกข์เลย

ดูกรอานนท์ อันว่าสวรรค์ดิบในเมืองคนเรานี้ ก็คือ ความได้เป็นเจ้าเป็นใหญ่มีสมบัติข้าวของ และเกียรติยศ และบริวารยศ และนามยศ เมื่อบุคคลผู้ใดได้เป็นเจ้าเป็นใหญ่เช่นนั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้ได้เสวยสุขในสวรรค์ดิบ ผู้ปรารถนาความสุขในภายภาคหน้า ก็จงให้ได้รับความสุขแต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่อย่าเห็นแก่ความลำบากยากแค้น ในสวรรค์ชั้นใดๆ จะเป็นสวรรค์ดิบในเมืองคน หรือสวรรค์สุกในเมืองฟ้าทุกชั้น ย่อมเจือปนอยู่ด้วยความทุกข์ทั้งนั้น ไม่แปลกต่างกัน และไม่มากไม่น้อยกว่ากัน ความสุขในสวรรค์ก็หากเป็นความสุขจริง จะว่าไม่สุขนั้นไม่ได้ แต่ว่าเป็นสุขที่เจืออยู่ด้วยทุกข์ แม้ถึงกระนั้นก็คงดีกว่าตกอยู่ในนรกโดยแท้

ดูกรอานนท์ สวรรค์ดิบในชาตินี้กับสวรรค์สุกในชาติหน้า อย่าสงสัยว่าจะต่างกัน ถึงจะต่างบ้างก็เพียงเล็กน้อย เมื่อต้องการความสุขเพียงใดก็จงพากเพียรให้ได้แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ในเมืองคนนี้ จะนั่งจะนอนคอยให้สุขมาหานั้นไม่ได้ ไม่เหมือนพระนิพพาน ความสุขในพระนิพพานนั้นไม่ต้องขวนขวาย เมื่อจับถูกที่แล้ว นั่งสุขนอนสุขได้ทีเดียว ความสุขในพระนิพพานนั้น ว่าจะยากก็เหมือนง่าย ว่าจะง่ายก็เหมือนยาก ที่ว่ายาก นั้น ยากเพราะไม่รู้ ไม่เห็น พาลปุถุชนคนตามืดทั้งหลาย รู้ไม่ถูกที่ เห็นไม่ถูกที่ จับไม่ถูกที่ จึงต้องพากเพียรพยายามหลายอย่างหลายประการ และเป็นการเปล่าจากประโยชน์ด้วย ส่วนท่านที่มีปัญญาพิจารณาถูกที่ จับถูกที่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรให้ยากหลายสิ่งหลายอย่าง นั่งๆ นอนๆ อยู่เปล่าๆ เท่านั้น ความสุขในพระนิพพานก็มาบังเกิดขึ้นแก่ท่านได้เสมอ เพราะเหตุฉะนั้น จึงว่าความสุขในพระนิพพานไม่เป็นสุขที่เจือปนไปด้วยทุกข์

ดูกรอานนท์ เมื่ออยากรู้ว่าเราจะได้รับความสุขในสวรรค์ หรือจะได้รับความทุกข์ในนรก ก็จงสังเกตดูใจของเราในเวลาที่ยังไม่ตายนี้ ใจของเรามีสุขมากหรือมีทุกข์มาก ทุกข์เป็นส่วนนรกดิบ เมื่อตายแล้วก็ต้องไปตกนรกสุก สุขเป็นส่วนสวรรค์ดิบ เมื่อตายแล้วก็ได้ขึ้นสวรรค์สุก เมื่อยังเป็นคนอยู่ มีสุขหรือทุกข์มากเท่าใด แม้เมื่อตายไปก็คงมีสุขและมีทุกข์มากเท่านั้น ไม่มีพิเศษกว่ากัน บุคคลผู้ปรารถนาความสุขในภพนี้และในภพหน้าแล้ว จงรักษาใจให้ได้รับความสุข ส่วนตัวตนร่างกายข้างนอกนั้นไม่สำคัญ จักได้รับความสุขและความทุกข์ประการใดก็ช่างเถิด เมื่อตายแล้วก็ทิ้งอยู่เหนือแผ่นดินหาประโยชน์มิได้ ส่วนใจนั้นเป็นของติดตามตนไปในอนาคตเบื้องหน้าได้ เพราะจิตใจเป็นของไม่ตาย ที่ว่าตายนั้น ตายแต่รูปร่างกายธาตุแตกขันธ์ดับเท่านั้น ถ้าจิตใจตายแล้ว(โลกุตตรจิตบังกิดขึ้นแล้ว) ก็ไม่ต้องเกิดไม่ต้องตายต่อไปอีก กล่าวคือ ถึงพระนิพพาน

ดูกรอานนท์ ในอดีตชาติ เราตถาคตก็ได้หลงท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏนี้ช้านาน นับด้วยร้อยด้วยพันแห่งชาติเป็นอันมาก ทำบุญทำกุศลก็ปรารถนาแต่จะให้พ้นทุกข์ ให้เสวยสุขในเบื้องหน้า เข้าใจว่าตายแล้วจึงจะพ้นจากทุกข์ ครั้นเมื่อตายจริงก็ตายแต่ธาตุแต่ขันธ์เท่านั้น ส่วนใจนั้นไม่ตายจึงต้องไปเกิดอีก เมื่อไปเกิดอีกก็ต้องตายอีก เมื่อเป็นเช่นนี้จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร ที่นิยมกันว่าตาย ก็คือตายเน่าตายเหม็นกันอยู่อย่างทุกวันนี้ ชื่อว่าตายเล่น ตายไม่แท้ ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย หาต้นหาปลายมิได้ ที่ตายแท้ตายจริงคือตายทั้งรูปแตกขันธ์ดับ ตายทั้งจิตทั้งใจ(โลกุตตรจิตบังเกิดขึ้นแล้ว)มีแต่พระพุทธ เจ้ากับเหล่าพระอรหันตขีณาสพเท่านั้น ท่านเหล่านี้ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก

ดูกรอานนท์ ในอดีตชาติเมื่อเรายังไม่รู้ เข้าใจว่าตายแล้วจึงจะพ้นทุกข์ ทำบุญทำกุศลก็มุ่งแต่เอาความสุขในเบื้องหน้า ครั้งตายไปก็หาได้พ้นจากทุกข์ตามความประสงค์ไม่ มาปัจฉิมชาตินี้เราจึงรู้ว่า สวรรค์และพระนิพพานมีอยู่ที่ตัวนี้เอง เราจึงได้รีบเร่งปฏิบัติให้ได้ให้ถึงแต่เมื่อยังเป็นคนอยู่ จึงพ้นจากทุกข์และได้เสวยสุขอันปราศจากอามิส เป็นพระบรมครูสั่งสอนเวไนยสัตว์อยู่ทุกวันนี้ ข้าฯแต่พระมหากัสสปะผู้มีอายุ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้แล

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
ทศพลญาณ (ตถาคตพลญาณ ๑๐ ประการ)
ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า

ดูกรอานนท์ ความทุกข์ในนรกและความสุขในสวรรค์ และพระนิพพานนั้นใครจะช่วยใครไม่ได้ เมื่อใครชอบอย่างใดก็ทำอย่างนั้น แม้เราตถาคตก็ช่วยใครให้พ้นทุกข์ และช่วยใครให้ได้สวรรค์และพระนิพพานไม่ได้ ได้แต่เพียงสั่งสอนชี้แจงให้รู้สุขรู้ทุกข์ ให้รู้สวรรค์ ให้รู้พระนิพพานด้วยวาจาเท่านั้น อันกองทุกข์โทษบาปกรรมทั้วปวงนั้น ก็คือตัวกิเลสตัณหา ครั้งดับกิเลสตัณหาได้แล้วก็ไม่ต้องตกนรก ถ้าดับกิเลสตัณหาได้มาก ก็ขึ้นไปเสวยสุขอยู่ในสวรรค์ ถ้าดับกิเลสตัณหาได้สิ้นเชิงหาเศษมิได้แล้ว ก็ได้เสวยสุขในพระนิพพานทีเดียว เราตถาคตบอกให้รู้แต่ทางไปเท่านั้น ถ้าผู้รู้ทางแห่งความสุขแล้วประพฤติปฏิบัติตามได้ก็ประสพสุขสมประสงค์ อย่าว่าแต่เราตถาคตเลย แม้พระพุทธเจ้า ทั้งหลายที่ล่วงไปแล้วนับไม่ถ้วนก็ดี และจักมาตรัสรู้ในกาลเป็นภายหลังก็ดี จักมาช่วยพาเอาสัตว์ทั้งหลายไปให้พ้นจากทุกข์ แล้วให้ได้เสวยสุขเช่นนั้นไม่มี มีแต่มาแนะนำสั่งสอนให้รู้สุขรู้ทุกข์ รู้สวรรค์ และพระนิพพานอย่างเดียวกับเราตถาคตนี้ พระพุทธเจ้า ทั้งหลายก็ทรงไว้ซึ่งทศพลญาณ มีอาการเหมือนอย่างเราตถาคตนี้ทุกๆ องค์

    บุคคลจำพวกใดเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าต่างกัน ด้วยศีล ด้วยฌาณ ด้วยญาณ ด้วยอิทธิ บุคคลจำพวกนั้นเป็นคนหลง ผู้ที่ได้นามว่าพระพุทธเจ้านั้น ต้องมีทศพลญาณสำหรับขับขี่เข้าสู่พระนิพพานด้วยกันทุกองค์ จะได้เป็นพระพุทธเจ้าแต่เราพระองค์เดียวนั้นหามิได้ ผู้ใดมีทศพลญาณ ผู้นั้นได้ชื่อว่า พระพุทธเจ้าด้วยกันทุกองค์ ไม่ควรจะมีความสงสัย ญาน ๑๐ ประการ นั้น เป็นเครื่องหมายของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีญาณ ๑๐ ประการ แล้ว จะรู้ดี มีอิทธิดำดินบินบนได้อย่างไรก็ตาม ก็ไม่เรียกว่าพระพุทธเจ้า ถ้ามีญาณ ๑๐ ประการ แล้ว จะไม่มีอิทธาศักดานุภาพอย่างไรก็ตาม ก็ให้เรียกท่านผู้นั้นว่าพระพุทธเจ้า เพราะทศพลญาณ ๑๐ ประการ เป็นเครื่องหมายของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีเครื่องหมายอย่างนี้ผู้ใดมีฤทธิ์มีเดชขึ้น ก็จักตั้งตัวเป็นพระพุทธเจ้าเต็มบ้านเต็มเมือง ก็จะเป็นทางแห่งความเสียหายวายโลกเท่านั้น

ดูกรอานนท์ ทศพลญาณ ๑๐ ประการนั้น เป็นของสำคัญอยู่สำหรับโลก ไม่มีผู้ใดแต่ง ตั้งขึ้น เป็นแต่เราตถาคตเป็นผู้รู้ผู้เห็นก่อน แล้วยกออกตีแผ่ให้โลกเห็น พระพุทธเจ้าทั้งหลายบำเพ็ญญาณ ๑๐ ประการได้แล้ว ก็ขับขี่เข้าสู่พระนิพพาน เมื่อถึงพระนิพพานแล้ว ก็ปล่อยวางญาณนั้นไว้ให้แก่โลกตามเดิม หาได้เอาตัวตนจิตใจเข้าสู่พระนิพพานด้วยไม่ เอาจิตใจไปได้เพียงนรก และสวรรค์ และพรหมโลกเท่านั้น ส่วนพระนิพพาน นั้น ถ้าดับจิตใจ(จิตปุถุชน)ไม่ได้แล้วก็ไปไม่ได้ ถ้าเข้าใจว่าจักเอาจิตไปเป็นสุขในพระนิพพานแล้วต้องหลงขึ้นไปเป็นอรูปพรหมเป็นแน่
ดูกรอานนท์ การตกนรกและขึ้นสวรรค์ จะเอาตัวไปไม่ได้ เอาแต่จิตไป จิตนั้นใครจับต้องรูปคลำไม่ได้ เป็นแต่ลมเท่านั้น เพราะจิตเป็นของละเอียด ใครจะจับถือไม่ได้ เมื่อจิตไปตกนรก ใครจะไปช่วยยกขึ้นได้ ถ้าจิตนั้นเป็นตัวเป็นตนก็พอจะช่วยกันได้

    บุคคลจำพวกใดคอยท่าให้ผู้อื่นมาช่วยยกตัวให้พ้นจากทุกข์ นำตัวไปให้ได้เสวยสุข บุคคลจำพวกนั้นเป็นคนโง่เขลาหาปัญญามิได้ แต่เราตถาคตรู้นรกสวรรค์ทุกข์สุขอยู่แล้ว และหาอุบายที่จะพ้นจากทุกข์ให้ได้เสวยสุข ก็เป็นการแสนยากแสนลำบาก จะไปพาจิตใจของท่านผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ได้อย่างไร ถึงแม้พระพุทธเจ้าองค์ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้าก็เหมือนกัน มีแต่แนะนำสั่งสอนให้รู้สุขทุกข์ สวรรค์และพระนิพพานเท่านั้น ผู้ที่จะต้องการสุขทุกข์อย่างใดนั้น แล้วแต่อัธยาศัย แต่ว่าต้องศึกษาให้รู้แท้แน่นอนแก่ใจเสียก่อนว่า ทุกข์ในนรกเป็นอย่างนั้น สุขในสวรรค์เป็นอย่างนั้น สุขในพระนิพพานเป็นอย่างนั้น เมื่อรู้แล้วจึงจักยังมีทางได้ถึงบ้าง คงจักไม่ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารเนิ่นนานเท่าไรนัก ถ้าไม่รู้แจ้งแต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่อาจจักพ้นได้เลย และได้ชื่อว่าเป็น ผู้เกิดมาเสียชาติเป็นมนุษย์ เสียความปรารถนาเดิมซึ่งหมายว่าจะเป็นผู้เกิดมาเพื่อความสุข

    ครั้นเกิดมาแล้วก็พลอยไม่ให้ตนได้รับความสุข ซ้ำยังตนให้จมอยู่ในนรก ทำให้เสียสัตย์ ความปรารถนาแห่งตน น่าสังเวชสลดใจยิ่งนัก ข้าฯแต่พระมหากัสสปะผู้ มีอายุ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้แล ข้าฯแต่พระอริยเจ้า ทั้งหลาย มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน อันว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ สืบต่อไปว่า

ดูกรอานนท์ อันว่าความทุกข์และความสุขนั้น ก็มีอยู่แต่นรกและสวรรค์เท่านั้น ส่วนพระนิพพานมีอยู่นอกสวรรค์และนรกต่างหาก บัดนี้ จักแสดงทุกข์และสุขในนรกและสวรรค์ให้แจ้งก่อนฯ จิตใจของเรานี้ เมื่อมีทุกข์หรือมีสุขแล้ว ใครจะสามารถมาช่วยยกออกจากจิตใจของเราได้ อย่าว่าแต่ตัวเราเลย แม้ท่านผู้อื่นเราก็ไม่สามารถจะช่วยยกออกได้ มีอาการเหมือนกันทุกรูปทุกนาม ทุกตัวตนสัตว์บุคคล อนึ่ง เมื่อท่านมีทุกข์แล้ว จะนำทุกข์ของท่านมาให้เราก็ไม่ได้ เรามีทุกข์แล้วจะนำทุกข์ไปให้ท่านผู้อื่นก็ไม่ได้ แม้ความสุขก็มีอาการเช่นกัน สุขและทุกข์ไมมีใครจะช่วยกันได้ สิ่งที่จะช่วยให้พ้นจากทุกข์ได้มีแต่อำนาจแห่งกุศลผลบุญ มีการให้ทานและรักษาศีลเป็นต้น เท่านั้น ที่จะเป็นผู้ช่วยให้พ้นจากทุกข์ได้ มนุษย์ และเทวดา อินทร์ พรหม และใครๆ จะมาช่วยให้พ้นทุกข์และให้ได้เสวยสุขนั้นไม่ได้ ที่สุดแม้เราตถาคตผู้ทรงไว้ซึ่งทศพลญาณเห็นปานนี้ก็ไม่อาจช่วยใครได้

    ได้แต่เป็นผู้ช่วยแนะนำตักเตือนให้รู้สุขทุกข์และสวรรค์นรกเท่านั้น ตัวต้องยกตัวเอง ถ้ารู้ว่านรกและสวรรค์อยู่ที่ตัว แล้วยกตัวให้ขึ้นสวรรค์ไม่ได้ ก็ชื่อว่าเกิดมาเสียชาติและเสียเวลาที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา น่าเสียดายชาติที่ได้เกิดเป็นรูปร่างกาย มีอวัยวะพรักพร้อมบริบูรณ์ทุกอย่าง ทั้งได้พบพระพุทธศาสนาด้วย สมควรจะได้สวรรค์และพระนิพพานโดยแท้ เหตุไฉนจึงเหยียบย่ำตัวเองให้จมอยู่ในนรกเช่นนั้น น่าสังเวชยิ่งนัก

ดูกรอานนท์ สุขทุกข์นั้นให้หมายเอาที่จิต จิตสุขเป็นสวรรค์ จิตทุกข์เป็นนรก จะเข้าใจว่านรกและสวรรค์มีอยู่นอกจิตนอกใจเช่นนั้น ได้ชื่อว่าเป็นคนหลง นรก และสวรรค์ บาปบุญ คุณโทษ ย่อมมีอยู่ในอกในใจทั้งสิ้น อยากพ้นทุกข์ ก็ให้รักษาจิตใจจากสิ่งที่เป็นบาปเป็นทุกข์เสีย ถ้าต้องการสวรรค์ก็ทำการงานที่หาโทษมิได้ เพราะการบุญการกุศลนั้น เมื่อทำก็ไม่เดือดร้อน และเมื่อทำแล้วระลึกถึง ก็ให้เกิดความสุขสำราญเบิกบานใจทุกเมื่อ เช่นนี้ชื่อว่า เราได้ขึ้นสวรรค์ และถ้าอยากได้สุขในพระนิพพาน ก็ให้วางเสียซึ่งสุขและทุกข์ คือวางจิตใจอย่าถือว่าเป็นของของตน ก็ชื่อว่าได้ถึงพระนิพพาน เพราะว่าใจเป็นใหญ่ เป็นประธาน สุขทุกข์ทั้งสวรรค์และพระนิพพานสำเร็จแล้วด้วยใจ คือว่ามีอยู่ที่จิตที่ใจของเราทั้งสิ้น บุคคลจำพวกใดไม่รู้ว่าของเหล่านี้ มีในตน แล้วไปเที่ยวค้นคว้าหาในที่อื่นบุคคลจำพวกนั้น ชื่อว่าเป็นคนหลงคนเมา เป็นผู้หนาอยู่ด้วยกิเลสตัณหา มืดมนอยู่ด้วยมลทินแห่งนรก

ดูกรอานนท์ สัตว์ที่ตกอยู่ในนรกมากมายนับมิได้ แน่นอัดยัดเยียดกันอยู่ในนรก ดังข้าวสารหรือเมล็ดถั่วเมล็ดงาในกระสอบ แต่ก็ไม่เห็นกันได้ ด้วยเขาไม่รู้ไม่เห็นซึ่งนรก ไม่รู้สุขทุกข์บาปบุญคุณโทษ ไม่รู้ว่าจิตของตนเป็นทุกข์เป็นสุข มีแต่มัวเมาอยู่ด้วยตัณหากามาราคาทิกิเลส จึงชื่อว่าตกอยู่ในนรก ยัดเยียดกันดังข้าวสารหรือเมล็ดถั่วเมล็ดงาในกระสอบ ร้องเรียกหากันไม่เห็นกัน คือไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นสุขแห่งกันและกันเท่านั้นเอง

ดูกรอานนท์ จิตใจนั้น ใครไม่แลเห็นของกันและกันได้ ผู้ที่รู้เห็นจิตใจของผู้อื่นได้นั้น มีแต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้น พระพุทธเจ้าที่จะรู้เห็นจิตใจของผู้อื่นได้ ก็ด้วยญาณแห่งพระอรหันต์ ถ้าละกิเลสตัวร้ายมิได้ คุณความเป็นแห่งพระอรหันต์ก็ไม่มาตั้ง อยู่ในสันดาน จึงไม่อาจหยั่งรู้วาระจิตของสัตว์ทั้งปวงได้ แม้พระตถาคตจะหยั่งรู้วาระจิตของสัตว์ทั้งปวงได้ ก็เพราะปราศจากกิเลส คือความเป็นไปแห่งพระอรหันต์ บุคคลผู้ที่ไม่พ้นกิเลส คือไม่ได้สำเร็จพระอรหันต์ แล้วจะมาปฏิญญาว่ารู้เห็นจิตแห่งบุคคลอื่น จะควรเชื่อฟังได้ด้วยเหตุใด ถึงแม้จะรู้ได้ด้วยวิชาคุณอย่างอื่น รู้ด้วยสมาธิคุณเป็นต้น ก็รู้ไปไม่ถึงไหน แม้จะรู้ก็รู้ผิดๆ ถูกๆ ไปอย่างนั้น จะรู้จริงแจ้งชัดดังที่รู้ด้วยอรหัตคุณนั้นไม่ได้ ถ้าบุคคลที่ยังไม่พ้นกิเลส มีความรู้ดียิ่งกว่าเราตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์แล้ว การที่เราตถาคตสละบุตรภรรยาทรัพย์สมบัติ อันเป็นเครื่องเจริญแห่งความสุขออกบวชนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่โง่เขลากว่าบุคคลจำพวกนั้น เพราะเขายังจมอยู่ในกิเลส แต่มีความรู้ดียิ่งกว่าพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ผู้ไกลจากกิเลส ข้อที่ละกิเลสไม่ได้ คือไม่ได้สำเร็จพระอรหันต์แล้วจะมีปัญญารู้จิตใจแห่งสัตว์ทั้งหลายยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์หรือจะมีปัญญารู้เสมอกันนั้นไม่มีเลย ผู้ที่ยังละกิเลสไม่ได้คือยังไม่ได้สำเร็จพระอรหันต์ มากล่าวว่า ตนรู้เห็นจิตใจของสัตว์ทั้งหลายนั้น กล่าวอวดเปล่าๆ ความรู้เพียงนั้นยังพ้นนรกไม่ได้ ไม่ควรจะเชื่อถือ

ถ้าใครเชื่อถือ ก็ชื่อว่าเป็นนอกพระศาสนา ไม่ใช่ลูกศิษย์ของเราตถาคตแท้ที่จริง
หากเอาศาสนธรรมอันวิเศษของเรานี้ บังหน้าไว้สำหรับหลอกลวงโลกเท่านั้น
บุคคลจำพวกนี้ แม้ จะทำบุญกุศลเท่าไร ก็ไม่พ้นนรก
แม้ ผู้ที่มาเชื่อถือ บุคคลจำพวกนี้ ก็มีทุคติเป็นที่ไป ในเบื้องหน้าเหมือนกัน

แล้วจึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า
อานนฺท  ดูกรอานนท์  บุคคลผู้มีปัญญาพึงคิดถึงตน  แล้วปราบใจของตนให้พ้นจากทุกข์และความลำบาก  และให้ออกจากบ่วงแห่งกิเลสมารให้ได้เถิด  ถ้าไม่คิดอย่างนี้  แม้จะมีปัญญาก็มีเสียเปล่า  ไม่นับเข้าในจำนวนที่มีปัญญา  กิริยาที่พ้นทุกข์พ้นยากและพ้นออกจากบ่วงแห่งกิเลสมารได้ก็คือพ้นจากกิเลสตัณหาของเรา  เมื่อพ้นจากกิเลสตัณหาได้เช่นนั้น  ก็ได้ชื่อว่าพ้นจากความทุกข์ความยากโดยสิ้นเชิง  ถ้ายังไม่พ้น  ก็ได้ชื่อว่ายังไม่พ้นจากความทุกข์ความยาก  เมื่อตนยังไม่หลุดไม่พ้นก็ไม่ควรสั่งสอนผู้อื่นเพราะตัวยังไม่พ้น  จะสั่งสอนผู้อื่นให้พ้นได้ด้วยอาการอย่างไร  เปรียบเหมือนบุคคลจะข้ามแม่น้ำ  ถ้าตัวของเราข้ามไปถึงฝั่งฟากโน้นแล้ว  จึงร้องบอกให้ท่านผู้อื่นข้ามมาตามตน  เช่นนี้สมควรแท้  เมื่อเราร้องบอกเขา  แล้วเขาพอใจจะไปหรือหาไม่  ก็แล้วแต่ใจเขา  ส่วนตัวของเราข้ามไปได้สมประสงค์แล้ว  ข้ออุปมานี้ฉันใด  ผู้ที่เป็นครูเป็นอาจารย์สอนให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์  ก็ต้องทำตัวให้พ้นทุกข์เสียก่อน  จึงสมควรจะสอนคนอื่น  มีอุปไมยเหมือนผู้ที่จะพาข้ามแม่น้ำฉันนั้น  บุคคลที่เปลื้องตัวให้พ้นออกจากกองกิเลสยังไม่ได้  แล้วจะไปเปลื้องปลดสัตว์ในป่าช้า  ผีทั้งหลายเขาจะหัวเราเยาะเย้นว่า  อะโห  โอหนอ!  ตัวของท่านก็ยังไม่พ้นทุกข์  แล้วจะมาพาเอาพวกข้าพเจ้าออกจากทุกข์ได้อย่างไร  ตัวของท่านและพวกข้าพเจ้าก็ยังไม่พ้นนรกอยู่เหมือนกัน  จะมาพาพวกข้าพเจ้าให้พ้นจากนรกได้ด้วยอาการอย่างไรฯ

ดูกรอานนท์  บุคคลจำพวกใดที่ให้ผีในป่าช้าหัวเราเยาะเย้ยเล่น  เช่นนี้  บุคคลจำพวกนั้น  ถ้ามีขึ้นก็เป็นเหตุให้เกิดโรภภัยไข้เจ็บอันตรายต่างๆ  หาความสุขความเจริญมิได้ฯ

ดูกรอานนท์  คฤหัสถ์ก็ดี  นักบวชก็ดี  มากล่าวว่าตัวรู้ตัวเห็นและได้พูดจากับผีดังนี้  ก็พึงให้รู้ว่าคนจำพวกนั้นไม่ใช่ลูกศิษย์ของเราตถาคต  เป็นพวกมิจฉาทิฏฐิภายนอกพระศาสนา  ไม่ควรเชื่อถือเอาเป็นครูเป็นอาจารย์  เพราะเขาเป็นคนอุบายเจ้าเล่ห์เจ้ากลเท่านั้น  ที่มีความรู้จริงเห็นจริงพูดจาสนทนากับผีได้  มีแต่พระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์เท่านั้น  นอกนั้นไม่มีใครรู้จริงเห็นจริง  เป็นคนอุตริทั้งนั้นฯ

ดูกรอานนท์  เราจะทำนายไว้ให้เห็นในอนาคตกาลเบื้องหน้า  จักเกิดมีพวกมิจฉาทิฏฐิภายนอกศาสนา  อวดอ้างว่าตัวรู้ตัวเห็นผีได้  พูดจากับผีได้  ครั้นบุคคลพวกนั้นเกิดขึ้นแล้ว  ก็จักเบียดเบียนพระศาสนาของเรา  ให้เสื่อมถอยลงไปด้วยวาทะถ้อยคำเสียดสีต่างๆ  พระสงฆ์สามเณรก็จักเกิดความระส่ำระสายหาความสบายมิได้  เขาจักสอนทิฏฐิวัตรอย่างเคร่งครัด  ถืออรัญญิกธุดงค์อย่างพระเทวทัตต์  ภายหลังก็จักเกิดพระบ้านพระป่ากันขึ้นแล้วก็จักแตกกันออกเป็นพวกๆ  ไม่สามัคคีกัน  ต่างพวก็ถือแต่ตัวดีศาสนาของเราจักเสื่อมถอยลงไปเพราะพวกมิจฉาทิฏฐิ  เห็นแก่ลาภและยศหาความสุขมิได้  มรรคผลธรรมวิเศษก็จักไม่เกิดขึ้นแก่เขา  เขาจักเรียนเอาแต่วิชาศีลธรรมอันพวกมิจฉาทิฏฐิสอนให้  รู้อะไรกันขึ้นเล็กน้อยก็อวดดีกันไป  แท้ที่จริงความรู้เหล่านั้นล้วนแต่รู้ดีสำหรับไปสู่นรก  เขาจักไม่พ้นจตุราบายได้เลยฯ

ดูกรอานนท์  ในอนาคตกาลภายหน้าจักมีอย่างนี้ไม่ต้องสงสัย  ถ้าผู้ใดรู้ลัทธิทิฏฐิอย่างนี้ไว้แล้ว  เมื่อได้เห็นก็จงเพียงพยายามละเว้น  ก็จักได้ประสบความสุข  การที่จะระงับดับกิเลส  ก็ให้ระงับบริโภค ๑ ประการให้เบาบางลง  บริโภค ๒ นั้นคือ  จีวรปัจจัย และเสนาสนะ  ปัจจัย ๒ อย่างนี้ชื่อว่าบริโภคภายนอก  นับเป็นอย่างหนึ่ง  บิณฑบาตปัจจัยและคิลานปัจจัย  ๒ อย่างนี้ชื่อว่าปัจจัยภายใน  นับเป็นอย่างหนึ่ง  บริโภคทั้ง  ๒ นี้เป็นตัวกิเลส  ตัวทุกข์  ตัวสุขสิ้นทั้งนั้น  ถ้าบริโภค  ๒ นี้มากขึ้นเท่าใด  ทุกข์ก็มากขึ้นไปตามเท่านั้น  ถ้าบริโภค  ๒ นี้น้อยลง  ทุกข์ ก็น้อยลง  ความสุขก็มากขึ้น  คือว่าบาปน้อยลงเท่าใด  บุญกุศลก็มากขึ้นเท่านั้น  อันบุญกุศลก็มีอยู่ที่ตัวบุคคลทั้งสิ้น   ผู้ที่ละบริโภค ๒ นั้นได้แล้ว  นรกก็พ้น  สวรรค์และพระนิพพานสิ่งใดๆ  ก็ได้ในที่นั้นฯ

ดูกรอานนท์  บุคคลที่บวชเข้าแล้ว  ไม่รู้จักระงับดับกิเลส  คือบริโภค  ๒ ให้เบาบาง  เข้าใจว่าบวชรักษาศีลถือครองวัตรเอาบุญ  ไม่หาอุบายระงับดับกิเลสและบริโภค  ๒  จะได้บุญได้ความสุขมาแต่ที่ไหน  ถ้าคิดอย่างนั้น  แม้จะรักษาศีลตลอดพระปาติโมกข์และธุดงควัตร  ก็หากเป็นอันรักษาเปล่า  รักษาให้เหนื่อยยากลำบากกายเปล่า  ไม่อาจเป็นบุญกุศลได้  พระปาติโมกข์ธุดงควัตรทั้งกลานที่ทรงบัญญัติแต่งตั้งไว้นั้น  ก็เพื่อให้เป็นเครื่องระงับดับกิเลสตัณหาคือบริโภคทั้ง  ๒  ถ้าระงับไม่ได้ก็ไม่เป็นบุญเป็นกุศล  ผู้ที่ทำความเข้าใจว่าพระปาติโมกข์และ ธุดงควัตร  จะช่วยยกตัวให้ขึ้นไปสวรรค์และพระนิพพานเช่นนี้  เป็นความเห็นของคนที่โง่เขลาเบาปัญญา  จักไม่พ้นทุกข์เลย  บริโภคทั้ง  ๒  นั้นได้ชื่อว่าปลิโพธ  ๒  ที่แปลว่าความกังวล  การรักษาพระปาติโมกข์และธุดงควัตร   ก็เพื่อจะตัดปลิโพธความกังวลให้เบาบางลงได้เท่าใด  ก็เป็นบุญเป็นกุศล  เป็นสวรรค์และพระนิพพานขึ้นไปเท่านั้น  พระพุทธเจ้าย่นโอวาทคำสั่งสอนลงสู่ปลิโพธ  ๒  ว่าเป็นที่สุดโดยสิ้นเชิง  คือว่า  นรก  สวรรค์  และพระนิพพาน    มีอยู่ที่ปลิโพธ ๒  ครบบริบูรณ์  ผู้ศึกษาเล่าเรียนจะรู้มากรู้น้อยเท่าไรไม่นิยม  รู้มากหรือรู้น้อย  ถ้าระงับปลิโพธนั้นได้ก็เป็นดี  จะอยู่วัดบ้านหรือวัดป่าประการใดก็ตาม  ถ้าระงับปลิโพธ ๒  นั้นได้  ย่อมเป็นความดีความชอบทั้งสิ้น  ถ้าระงับปลิโพธ ๒  นั้นไม่ได้  แม้จะรู้มากมายและอยู่วัดบ้านวัดป่าประการใด  ย่อมไม่ดีทั้งสิ้นฯ  พระพุทธเจ้าทรงตรัสเทศนาเป็นใจความอย่างนี้ฯ

ลำดับนั้น  จึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า
อานนฺท  ดูกาอานนท์  ธรรมนี้ชื่อว่าพระยาธรรมิกราช  เพราะเป็นใหญ่กว่าธรรมทั้งหลาย  ข้อที่เราตถาคตได้ตรัสไว้แล้วในธรรมหมวดนี้คือได้ชี้นรก  สวรรค์  พระนิพพาน  กิเลสตัณหา  โดยจะแจ้งสิ้นเชิง  เมื่อผู้ใดได้ฟังแล้วปรารถนาสุขทุกข์ประการใด  ก็จงเลือกประพฤติตามความปรารถนา  เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสฉะนี้แล้ว  จึงซ้ำตรัสอนุญาตปัจฉิมบรรพชาไว้แก่ข้าฯ  อานนท์ ว่า

อานนฺท  ดูกรอานนท์  แม้ในปัจฉิมกาล  เมื่อหาพระสงฆ์ครบคณะบรรพชาไม่ได้  โดยที่สุดแม้พระสงฆ์องค์เดียว  เมื่อกุลบุตรมีศรัทธาเลื่อมใสในคุณแห่งเราตถาคต  อยากจะบวชเป็นภิกษุในสำนักแห่งภิกษุองค์เดียวก็จงบวชเถิด  โดยที่สุดลงไปอีก  แม้จักหาภิกษุสักองค์เดียวไม่ได้  กุลบุตรผู้มีศรัทธาใคร่จะบวชสืบศาสนาแห่งเราตถาคต  ก็ให้ศึกษาจตุตถปาราชิกและบริโภค  ๒ นั้นให้เข้าใจ  แล้วเข้าสู่เฉพาะพระพุทธรูป  หรือพระสถูป  หรือพระเจดีย์  หรือแม้หาที่ควรเคารพเช่นนั้นไม่ได้  ก็ให้ระลึกถึงเราตถาคตแล้วบวชเป็นภิกษุเถิด  ให้ตั้งใจสมาทานว่า  อิมํ  ปพฺพชฺชํ  สมาทิยามิ  ทุติยมฺปิ  ตติยมฺปิ  อิมํ  ปพฺพชฺชํ  สมาทิยามิ  แล้วให้สมาทานจตุตถปาราชิกว่า  ปฐมํ  ปาราชิกํ  สมาทิยามิ  ทุติยํ  จตุตฺถํ  ปราราชิกํ  สมาทิยามิ  แล้วบวชเป็นภิกษุเถิด  ถ้าหากพระสงฆ์ยังมีอยู่อย่างน้อยเพียงองค์เดียวแล้ว  จะบวชโดยลำพังไม่ได้  ถ้าขืนบวช  ชื่อว่าดูหมิ่นพระศาสนาเป็นบาปยิ่งนัก  อย่าทำเลย  เมื่อบวชโดยวิธีนี้  ผู้ใดคัดค้านว่าไม่ควร  จักเป็นบาปเป็นกรรมยิ่งนัก  เราอนุญาตไว้สำหรับคราวอันตรธานต่างหาก  ข้าแต่พระมหากัสสปะ  พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่ข้าฯ  อานนท์  ดังนี้ฯ

         ขอพระอริยสงฆ์ทั้งหลายจงทราบด้วยพลญาณของตน  โดยนัยดังข้าพเจ้า  อานนท์  แสดงมานี้เทอญ  แล้วพระองค์ก็หยุด  ไม่ทรงตรัสเทศนาอีกต่อไป  ข้าพเจ้ากราบถวามบังคมแล้วก็กลับไปสู่สำนักท่านคิริมานนท์  แสดงสัญญาทั้ง  ๒ ประการ  คือรูปสัญญา  นามสัญญา  ให้พระผู้เป็นเจ้าฟังโดยพุทธบริหารทุกประการ  ท่านคิริมานนนท์กำหนดตามพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหันต์ผลในขณะที่วางธุระในรูปในนาม  โรคภัยของท่านที่เจ็บปวดก็อันตรธานหายไปในขณะนั้นฯ

         ข้าแต่พระมหากัสสปะผู้มีอายุ  พระสูตรนี้จะได้ชื่อว่า  พระยาธรรมิกราชสูตรตามรับสั่งนั้น  จักเสียนิมิตไป  เพราะอาศัยพระผู้เป็นเจ้าคิริมานนท์เป็นนิมิต

         พระสูตรนี้  พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาที่วัดเชตวนาราม  ปรารภพระคิริมานนท์เกิดอาพาธให้เป็นเหตุ  จึงได้ชื่อว่า  คิริมานนทสูตร  มีเนื้อความดังแสดงมานี้แลฯ

หมายเหตุ คิริมานนทสูตร กับ อาพาธสูตร เป็นพระสูตรเดียวกัน โดยคิริมานนทสูตรเป็นพระสูตรฝ่ายมหายาน ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมกว่า อาพาธสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรฝ่ายเถรวาท

- http://medsai.net/webboard/index.php/topic,3266.0.html

***********************************************************

หมายเหตุ คิริมานนทสูตร กับ อาพาธสูตร เป็นพระสูตรเดียวกัน โดยคิริมานนทสูตรเป็นพระสูตรฝ่ายมหายาน ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมกว่า อาพาธสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรฝ่ายเถรวาท แต่ อาพาธสูตร แยกสัญญา ๒ ประการ คือ รูปสัญญา และนามสัญญา ที่แสดงในคิริมานนทสูตร ออกเป็นสัญญา ๑๐ ประการ ให้เห็นไว้ชัดเจน โดยแสดงอานาปานสติ ๑๖ ขั้น (สมถและวิปัสสนา) ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ในการตรัสรู้ ใช้เป็นวิหารธรรมอยู่หลังตรัสรู้ และทรงเสด็จอยู่จนถึงดับขันธปรินิพพาน ไว้ด้วย สัญญา ๑๐ ประการ คือ

อนิจจสัญญา ๑ อนัตตสัญญา ๑ อสุภสัญญา ๑ อาทีนวสัญญา ๑ ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑ นิโรธสัญญา ๑ สัพพโลเก อนภิรตสัญญา ๑ สัพพสังขาเรสุ อนิจจสัญญา ๑ และ อานาปานัสสติ ๑
อนิจจสัญญา ย่อมพิจารณาเห็นว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ในอุปาทาน ขันธ์ ๕ เหล่านี้
อนัตตสัญญา ย่อมพิจารณาเห็นว่า จักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียง เป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา พิจารณาเห็นโดย ความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการ เหล่านี้

อสุภสัญญา ย่อมพิจารณาเห็นว่า กายนี้แลเบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบเต็มด้วยของไม่สะอาด ในกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง น้ำดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามในกายนี้

อาทีนวสัญญา ย่อมพิจารณาเห็นว่า กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก อาพาธต่าง ๆ เกิด ขึ้นในกายนี้ คือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ในหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด หูด โรคละออง บวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีพิการ โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาต อาพาธอันเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความ กระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ พิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้

ปหานสัญญา ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่ง กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก อันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันชั่วช้า อันเกิดขึ้น และเกิดขึ้นแล้ว (วิหิงสา คือ ความเบียดเบียนทำร้าย)

วิราคสัญญา ย่อมพิจารณาเห็นว่า ธรรมชาตินั้นสงบ ธรรมชาตินั้นประณีต คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิ(กิเลส)ทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอกกิเลส ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์

นิโรธสัญญา ย่อมพิจารณาเห็นว่า ธรรมชาตินั้นสงบ ธรรมชาตินั้นประณีต คือ ธรรมเป็น ที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิ(กิเลส)ทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่ดับโดยไม่เหลือ ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์

สัพพโลเก อนภิรตสัญญา ละอุบาย (ตัณหาทิฐิ) และอุปาทานในโลก อันเป็นเหตุตั้งมั่น ถือมั่น และอนุสัย(กิเลสอย่างละเอียด)แห่งจิต ย่อมงดเว้น ไม่ถือมั่น
สัพพสังขาเรสุ อนิจจสัญญา ย่อมอึดอัด ย่อมระอา ย่อมเกลียดชัง แต่สังขารทั้งปวง

อานาปานัสสติ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เป็นผู้มีสติ หายใจเข้า เป็นผู้มีสติ หายใจออก (จิตสงบได้ถึงปัญจมฌาน หรือ ฌาน ๕)
หายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว
หายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น
ย่อมศึกษาว่า จักเป็นกำหนดรู้แจ้งกาย(ลมหายใจ)ทั้งปวง หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักระงับกายสังขาร(ลมหายใจ) หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้แจ้งปีติ หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้แจ้งสุข หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้แจ้งจิตสังขาร(เวทนา) หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้แจ้งจิต หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักตั้งจิตให้มั่น หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักเปลื้องจิต(ปล่อยจิต) หายใจเข้า-หายใจออก(อุเบกขา)
ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความดับสนิท หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสลัดคืน หายใจเข้า-หายใจออก

ตถาคตพลญาณ ๑๐ ประการ หรือ ทศพลญาณ คือ
๑. ทรงหยั่งรู้สิ่งที่เป็นไปได้ และ เป็นไปไม่ได้
๒. ทรงหยั่งรู้ผลแห่งการกระทำทั้ง อดีต ปัจจุบัน อนาคต
๓. ทรงหยั่งรู้ข้อปฏิบัติ ที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง (คติ-ทางที่จะไปในอนาคต)
๔. ทรงหยั่งรู้สภาวของโลก อันประกอบด้วยธาตุต่างๆ
๕. ทรงหยั่งรู้ความโน้มเอียง และความถนัดแห่งบุคคล

๖. ทรงหยั่งรู้ความยิ่งและความหย่อน แห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย
๗. ทรงหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว การออกแห่งญาณ สมาธิ และ สมาบัติ
๘. ทรงหยั่งรู้ชาติก่อนๆในอดีต
๙. ทรงหยั่งรู้จุติ และอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
๑๐. ทรงหยั่งรู้ความสิ้นไป แห่งอาสวะทั้งหลาย


อนุสัย ได้แก่ กามราคะ(ความกำหนัดในกาม), ปฏิฆะ(ความขัดใจ), ทิฏฐิ(ความเห็นผิด) วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย), มานะ(ความถือตัว), ภวราคะ(ความกำหนัดในภพ), อวิชชา(ความไม่รู้แจ้ง)

[C-137]- http://www.dhammasavana.or.th/article.php?a=145
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 12, 2015, 06:28:21 pm โดย ฐิตา »