ผู้เขียน หัวข้อ: ''สันโดษกับความรับผิดชอบต่อสังคม'' พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร  (อ่าน 1175 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


''สันโดษกับความรับผิดชอบต่อสังคม''
พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร (2548)

๑. ความนำ
สันโดษ เป็นหลักธรรมข้อหนึ่งที่ถูกเข้าใจคลาดเคลื่อนบ่อย ๆ ในสังคมไทย เมื่อเราพูดถึงการที่คนโน้นคนนี้ประพฤติสันโดษ ภาพที่เกิดขึ้นในการรับรู้ของคนไทยทั่วไปคือภาพของคนสมถะ มักน้อย ชอบปลีกวิเวกอยู่เงียบ ๆ คนเดียว และไม่ชอบยุ่งเกี่ยวคลุกคลีกับใคร ๆ หรือถ้ามองในแง่เศรษฐกิจและสังคม ก็คือภาพของคนที่ “ปลง” คือไม่มีความกระตือรือร้นและไม่ทะเยอทะยานเพื่อความก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนั้น คนประพฤติสันโดษ ยังถูกมองในแง่ลบอื่น ๆ ได้อีก เช่น เป็นคนเกียจคร้าน เฉื่อยชา ไม่เอาธุระ เป็นต้น ความเข้าใจคลาดเคลื่อนทำนองนี้น่าจะมีมานานแล้วในสังคมไทย แต่ยังไม่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากนักในยุคที่สังคมไทยยังเป็นสังคมแบบเกษตรกรรม เพราะคนในยุคนั้นยังไม่มีความรู้สึกในเชิงลบว่าสันโดษคือตัวขัดถ่วงกิจกรรมด้านการเกษตรของพวกเขา ตรงกันข้าม กลับมองเชิงบวกว่าสันโดษคือหลักธรรมที่ช่วยหนุนความสมานสามัคคีและการพึ่งพาอาศัยกันภายในชุมชนของพวกเขาด้วยซ้ำไป อย่างไรก็ตาม กระแสวิพากษ์วิจารณ์สันโดษและหลักธรรมอื่น ๆ เช่น กรรมในอดีตชาติ และบุญบารมี เป็นต้น ได้ปรากฏอย่างชัดเจนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังเริ่มพัฒนาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักรัฐศาสตร์อเมริกันที่เข้ามาวิจัยภาคสนามในสังคมไทย

 สันโดษเป็นหลักธรรมข้อหนึ่งที่ถูกนักรัฐศาสตร์กลุ่มนี้โจมตีว่าเป็น จริยธรรมที่ขัดขวางการพัฒนาอุตสาหกรรมในสังคมไทย แนวคิดความเชื่อทำนองนี้ได้สะท้อนออกมาในสาส์นของนายกรัฐมนตรีที่มีถึงที่ประชุมสัมมันตนาพระสังฆาธิการทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ว่า “พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามีอยู่ทุกทาง ที่สามารถจะเลือกเอามาสอนหรือจูงใจให้คนประพฤติปฏิบัติ มีคำสอนให้คนมักสันโดษ ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากได้อะไร อย่างที่เคยสอนกันว่า ไม่จำเป็นต้องขวนขวาย ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ คำสอนอย่างนี้อาจจะเหมาะสำหรับกาลสมัยหนึ่ง แต่ไม่เหมาะสำหรับสมัยปฏิวัติ…” โดยสรุปแล้ว ความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความหมายของสันโดษในสังคมไทย อาจแบ่งคร่าว ๆ ได้ ๓ ลักษณะ คือ (๑) ในแง่แรงจูงใจ : คนประพฤติสันโดษถูกมองว่าเป็นคนขาดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ขาดความทะเยอทะยาน และไม่อยากได้ใคร่ดีอะไร (๒) ในแง่บุคลิกภาพ : คนประพฤติสันโดษถูกมองว่าเป็นคนมีบุคลิกภาพเฉื่อยชา ขาดความกระตือรือร้น (๓) ในแง่มิติทางสังคม : คนประพฤติสันโดษถูกมองว่าเป็นคนที่ชอบอยู่เงียบ ๆ ชอบปลีกตัวออกจากสังคม หรือไม่ชอบเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม

จากความเข้าใจคลาดเคลื่อนดังกล่าว ได้มีชาวพุทธหลายท่านพยายามออกมาอธิบายชี้แจงให้เห็นว่าความหมายของสันโดษที่แท้จริงคืออะไร โดยเฉพาะความหมาย ๒ ลักษณะแรก คือ ในแง่แรงจูงใจ และในแง่บุคลิกภาพ โดยคำอธิบายที่น่าจะให้ความกระจ่างได้มากที่สุด คือคำอธิบายของท่านพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต, ปัจจุบันคือพระธรรมปิฎก) ในงานเขียนชื่อว่า “พุทธศาสนากับสังคมไทย” (๒๕๒๖) พระเทพเวทีได้อธิบายว่าการปฏิบัติสันโดษจะต้องรู้ทั้งขอบเขตและจุดมุ่งหมายในการปฏิบัติ ขอบเขตของสันโดษจำกัดเฉพาะในเรื่องปัจจัย ๔ เท่านั้น ส่วนจุดมุ่งหมาย คือเพื่อลดความกังวลในเรื่องปัจจัย ๔ ให้เหลือน้อยที่สุด แล้วออมกำลังแรงงาน กำลังความคิด และเวลาสำหรับมาทุ่มเทให้กับการปฏิบัติธรรมหรือการสร้างสรรค์ความดีงามอื่น ๆ เรียกว่าลดด้านหนึ่งเพื่อมาทุ่มเทให้กับอีกด้านหนึ่ง ดังนั้น คนที่สันโดษตามที่พระเทพเวทีนำเสนอ จึงไม่ใช่คนเฉื่อยชาหรือไม่อยากได้ใคร่ดีอะไร หากแต่เป็นคนที่มุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับการพัฒนาตนเองอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าคำอธิบายต่าง ๆ ที่พยายามเสนอออกมานั้น มักจะเน้นในแง่การสร้างความเข้าใจความหมายของสันโดษในเชิงปัจเจกเป็นส่วนมาก (individual) คือเน้นในเรื่องการประพฤติธรรมส่วนบุคคล ส่วนความหมายอีกมิติหนึ่งของสันโดษ คือ “มิติทางสังคม” (social) แทบจะไม่มีใครกล่าวถึงเลย ดังนั้น ประเด็นหลักของงานเขียนชิ้นนี้ ผู้เขียนจึงมุ่งที่จะวิเคราะห์ให้เห็นความหมายของสันโดษในมิติทางสังคมเป็นสำคัญ เพื่อตอบคำถามที่ว่าสันโดษมีความสัมพันธ์กับการก่อตั้งชุมชนอุดมคติหรือชุมชนสงฆ์อย่างไร ? ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเน้นแสดงสันโดษแก่พระภิกษุเท่านั้น ?

๒. ความหมายเชิงสังคมของสันโดษ
พระอรรถถาจารย์ได้นิยามความหมายของ “สันโดษ” ว่า “ความพอใจยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ชื่อว่า สนฺตุฏฺฐิ” (สนฺตุฏฺฐิ นาม อิตรีตรปฺปจฺจยสนฺโตโส) คำนิยามนี้หมายความว่า ตนมีและได้ปัจจัยอย่างไร ก็ให้ยินดีพอใจในปัจจัยตามที่มีตามที่ได้นั้น ไม่ให้ปรารถนาเกิน (อตฺริจฺโฉ) หรืออยากได้มากเกิน (อติโลโภ) ไปกว่านั้น นอกจากนั้น ท่านยังได้วิเคราะห์ศัพท์ว่า “สนฺตุฏฺฐิ” มาจากคำว่า “สํ + ตุฏฺฐิ” เฉพาะคำว่า “สํ” ใช้ในความหมาย ๓ อย่าง คือ “สกํ” (อันเป็นส่วนของตน) “สนฺตํ” (ที่มีอยู่, เท่าที่มีอยู่) และ “สมํ” (สม่ำเสมอ, ราบเรียบ) ดังนั้น ลักษณะของภิกษุผู้สันโดษ คือผู้ยินดีพอใจในปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรค อันเป็นส่วนของตน (สกํ) เท่าที่ตนมีอยู่ (สนฺตํ) และด้วยการวางท่าทีทางจิตสม่ำเสมอราบเรียบ (สมํ) ไม่หวั่นไหวเพราะได้ปัจจัยที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ ดังคำนิยามของท่านที่ว่า

๑) ผู้ยินดีพอใจด้วยปัจจัยของตน (สเกน ตุสฺสโก) : ดังข้อความที่ว่า “ภิกษุไม่แสดงวิการ (อาการผิดปกติ เช่น ลิงโลดหรือห่อเหี่ยว) ทั้งในเวลารับ ทั้งในเวลาบริโภค ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยปัจจัย ๔ นั้น ที่ดีหรือไม่ดี ซึ่งทายกถวายแล้ว โดยเคารพหรือไม่เคารพก็ตาม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้สันโดษด้วยปัจจัยของตน”

๒) ผู้ยินดีด้วยปัจจัยที่มีอยู่ (สนฺเตน ตุสฺสโก) : ดังข้อความที่ว่า “ภิกษุยินดีอยู่ด้วยปัจจัย ๔ นั้น ซึ่งมีอยู่เท่านั้น ไม่ปรารถนาปัจจัยอื่นไปจากปัจจัยนั้น ละความเป็นคนมักมากเสีย พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ผู้สันโดษด้วยปัจจัยที่มีอยู่”

๓) ผู้ยินดีโดยสม่ำเสมอ (สเมน ตุสฺสโก) : ดังข้อความที่ว่า “การละความยินดีและความยินร้ายในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ชื่อว่า สม (สม่ำเสมอ) ภิกษุยินดีอยู่ในอารมณ์ทั้งปวง โดยความสม่ำเสมอนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ผู้สันโดษโดยสม่ำเสมอ”

จากคำนิยามที่ยกมา จะเห็นว่า หัวใจสำคัญของสันโดษ คือ การตีกรอบแห่งความรู้สึกพอใจยินดีให้อยู่ภายในขอบเขตแห่งปัจจัยของตนหรือที่ตนมีอยู่ ถ้ายินดีเกินเลยขอบเขตนี้ไป ท่านเรียกว่า “ปรารถนาเกิน” (อตฺริจฺโฉ) หรือ “โลภเกิน” (อติโลโภ) ถามว่า อะไรจะเกิดขึ้นถ้าภิกษุปรารถนาเกินหรือโลภเกินกว่าปัจจัยของตน ? แน่นอนว่าความปรารถนาเกินก็บ่งชัดอยู่ในตัวอยู่แล้วว่าความปรารถนานั้นได้ล้ำแดนเข้าไปอยู่ในขอบเขตปัจจัย ๔ ที่ไม่ใช่ของตนหรือที่ตนไม่ควรมีควรได้ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยของเพื่อนพระภิกษุด้วยกันหรือปัจจัยของฆราวาสที่เขาไม่ได้ถวายก็ได้ผลกระทบที่จะตามมา คือ ความปรารถนาเกินจะเป็นเหตุให้เกิดการแย่งชิงกันในเรื่องปัจจัย ๔ ภายในชุมชนสงฆ์เอง และจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสงฆ์กับชุมชนฆราวาสด้วย เพราะจะเป็นเหตุให้ภิกษุเข้าไปสร้างภาระการพึ่งพาหรือเบียดเบียนปัจจัย ๔ จากชุมชนฆราวาสหนักยิ่งขึ้น

๓. สันโดษกับเจตนารมณ์ทางสังคม
๓.๑ สันโดษกับความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสงฆ์กับชุมชนฆราวาส

เป็นที่ทราบกันดีว่า ชุมชนสงฆ์เป็นชุมชนพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับบุคคลจากทุกชนชั้นวรรณะที่สละบ้านเรือนออกบวชเพื่อหวังการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิต เป็นชุมชนของผู้มีอุดมการณ์ชีวิตอย่างเดียวกัน คือการสละความสุขทางวัตถุ (สามิสสุข) เพื่อมาค้นหาความสุขที่ประณีตขึ้นไปหรือความสุขที่เป็นอิสระจากวัตถุ (นิรามิสสุข) และเป็นชุมชนของผู้ไม่มีการประกอบอาชีพและไม่ครอบครองทรัพย์สมบัติ การออกแบบชุมชนในลักษณะอย่างนี้ มองผิวเผินเหมือนต้องการจะให้เป็นสังคมปิดหรือสังคมที่ตัดขาดจากโลกภายนอก แต่ความจริงแล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่ จุดที่ผู้เขียนมองว่าเป็นช่องทางที่พระพุทธเจ้าเปิดเอาไว้เพื่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสงฆ์กับชุมชนภายนอก คือ การกำหนดไม่ให้พระสงฆ์ประกอบอาชีพและครอบครองทรัพย์สมบัติ นี้คือการจงใจที่จะให้พระสงฆ์ฝากชีวิตในเรื่องปัจจัย ๔ ไว้กับชาวบ้าน นี้คือช่องทางที่เปิดไว้เพื่อให้มีการสื่อสารกันและการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างชุมชน ๒ ชุมชน โดยแต่ละชุมชนต่างก็เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ชุมชนฆราวาสเป็นผู้ให้ปัจจัย ๔ และเป็นผู้รับหลักธรรมคำสอนจากชุมชนสงฆ์ ในส่วนชุมชนสงฆ์ก็เป็นผู้ให้หลักธรรมคำสอนและเป็นผู้รับปัจจัย ๔ จากชุมชนฆราวาสเช่นเดียวกัน เรียกง่าย ๆ เป็นระบบความสัมพันธ์ระหว่างการให้ “ทาน” (อามิสทาน) กับการให้ “ธรรม” (ธรรมทาน)

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในแง่ชุมชนสงฆ์ในฐานะผู้เข้าไปสัมพันธ์กับชุมชนฆราวาสในด้านปัจจัย ๔ และมองในแง่การบริหารจัดการปัจจัย ๔ ภายในชุมชนสงฆ์เอง ผู้เขียนมองว่าหลักธรรมที่จะรักษาความสัมพันธ์ให้ราบรื่นมากที่สุด คือ “สันโดษ” เพราะสันโดษคือจิตสำนึกร่วมหรือสมณสัญญาของนักบวชทุกคนที่ได้สลัดออกจากโลกแห่งวัตถุมาสู่โลกนามธรรม คุณค่าของการเสพบริโภควัตถุเพื่อหาความสุข จึงแทบจะไม่มีความหมายเลยในสายตาของนักบวช ดังนั้น วาทะที่เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ เช่น การพึ่งพาปัจจัย ๔ ของพระภิกษุเหมือนกับการใช้น้ำมันหล่อรื่นหยอดเพลาเกวียนเพื่อให้เกวียนวิ่งไปได้สะดวก หรือการเข้าไปขอปัจจัย ๔ จากชาวบ้าน ให้ทำเหมือนกับการที่แมลงผึ้งไปดูดน้ำหวานจากดอกไม้โดยไม่ทำให้กลีบและเกสรดอกไม้ชอกช้ำ หรือพุทธพจน์ที่ตรัสเตือนภิกษุผู้อยู่ป่าว่า “ควรเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตน ไม่คะนอง ไม่ยึดติดในตระกูลทั้งหลาย” พึงสังเกตว่าเวลาที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงสันโดษ ส่วนมากจะตรัสในบริบทที่สัมพันธ์กับการเข้าไปเกี่ยวข้องกับชุมชนฆราวาสทั้งสิ้น หรือหลักการพิจารณาอาหารบิณฑบาตก่อนบริโภคที่ว่า

ท่านพระโคดมพระองค์นั้น เสวยพระกระยาหารประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ คือ (๑) ไม่เสวยเพื่อเล่น (๒) ไม่เสวยเพื่อมัวเมา (๓) ไม่เสวยเพื่อประดับ (๔) ไม่เสวยเพื่อตกแต่ง (๕) เสวยเพื่อดำรงพระวรกายนี้ไว้ (๖) เสวยเพื่อยังพระชนม์ให้เป็นไปได้ (๗) เสวยเพื่อป้องกันความลำบาก (๘) เสวยเพื่อทรงอนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยทรงพระดำริว่า “เพียงเท่านี้เราก็จักกำจัดเวทนาเก่า จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ร่างกายของเราจักดำเนินไปสะดวก ไม่มีโทษ และอยู่สำราญ”

หลักการบริโภคทั้ง ๘ ประการนี้ แม้จะเน้นการบริโภคเพื่อเกื้อกูลหรือเพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์ ซึ่งอาจจะทำให้มองไม่เห็นมิติทางสังคมเด่นชัดเท่าที่ควร แต่ก็ถือว่ามีเจตนารมณ์ทางสังคมแทรกอยู่ในนั้น โดยเฉพาะ ๔ ข้อแรก คือไม่ให้บริโภคเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อประดับ และเพื่อตกแต่ง โดยความหมายก็คือการห้ามไม่ให้ชุมชนสงฆ์ยึดเอาวัตถุนิยมหรือบริโภคนิยมเป็นจุดหมายในตัวของมันเอง หากแต่ให้อาศัยในฐานะเป็นเครื่องมือหรือเป็นวิถีทางเท่านั้น แน่นอนว่าเมื่อชุมชนสงฆ์มีอุดมการณ์ในการเกี่ยวข้องกับปัจจัย ๔ อย่างนี้ หลักสันโดษจึงเป็นสำนึกร่วมหรือสมณสัญญาอย่างหนึ่งของชุมชนนักบวชที่จะช่วยพยุงให้อุดมการณ์แบบนี้ดำรงอยู่ได้

ระบบความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสงฆ์กับชุมชนฆราวาสที่ตั้งอยู่บนฐานของการบริโภคปัจจัย ๔ ดังจะเห็นได้จากหลักความชอบธรรมในการบริโภค ๔ อย่าง คือ
๑) เถยยบริโภค การบริโภคอย่างขโมย ได้แก่ การบริโภคของภิกษุผู้ทุศีล มีคุณสมบัติไม่สมควรกับเพศหรือภาวะของตน มีเพียงเครื่องนุ่งห่มและอาการภายนอกที่เป็นเครื่องหมายของนักบวชเท่านั้น การบริโภคปัจจัย ๔ ของชาวโลกของภิกษุประเภทนี้ จึงเป็นเหมือนการขโมยหรือแอบลักเขากิน เพราะไม่มีความชอบธรรมในการบริโภคเลย

๒) อิณบริโภค การบริโภคอย่างเป็นหนี้ ได้แก่ การบริโภคของภิกษุผู้มีศีล แต่บริโภคโดยไม่ได้พิจารณา เช่น ฉันอาหารไม่พิจารณาว่าเราฉันเพียงเพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ได้ ยังชีวิตให้เป็นไปได้ ให้มีสภาพเกื้อหนุนกแก่การปฏิบัติธรรม มิใช่ฉันเพื่อโก้เก๋สนุกมัวเมาติดในรสเป็นต้น เรียกว่าเป็นการบริโภคอย่างขาดจิตสำนึกในเป้าหมายของการบริโภค

๓) ทายัชชบริโภค การบริโภคอย่างทายาท ได้แก่ การบริโภคของพระอริยบุคคลประเภทต้น ๆ ที่ยังเข้าไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ถือว่าเป็นผู้มีสิทธิในการบริโภคโดยชอบธรรมในฐานะเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า แต่ก็ถือว่ายังไม่มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ เพราะยังมีภาระต่อการที่จะพัฒนาตนต่อไป เหมือนทายาทที่บริโภคสมบัติของวงศ์ตระกูล ถือว่าเป็นผู้มีสิทธิโดยชอบธรรมในฐานะเป็นทายาท แต่ก็ยังไม่ได้ครอบครองสมบัตินั้นอย่างเต็มที่

๔) สามิบริโภค การบริโภคอย่างเป็นเจ้าของ ได้แก่ การบริโภคของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้พ้นจากการเป็นทาสของตัณหาแล้ว เป็นผู้มีคุณความดีสมควรแก่ของที่เขาถวายอย่างแท้จริง ในสิทธิสมบูรณ์ในการรับและบริโภคปัจจัย ๔ อย่างแท้จริง

จะเห็นว่า สำนึกอย่างหนึ่งในการบริโภคปัจจัย ๔ ของพระสงฆ์ที่พ่วงมากับสันโดษ คือ สำนึกในเรื่องความชอบธรรมในการบริโภค ภิกษุจะมีความชอบธรรมในการบริโภคปัจจัย ๔ ของชาวโลกมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมมากน้อยเพียงไร นี้คือสำนึกอย่างหนึ่งที่ภิกษุจะต้องเตือนตนอยู่เสมอในการบริโภค เป็นอันว่าการตั้งชุมชนสงฆ์โดยให้พึ่งพาปัจจัย ๔ จากชุมชนฆราวาสนั้น นับว่าเป็นการวางเงื่อนไขที่มีความซับซ้อนและลึกซึ้งมาก ไม่ได้มีความหมายในมิติของการบริโภคเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการเปิดช่องทางให้มีการสื่อสาร การแลกเปลี่ยน และการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างชุมชน ๒ ชุมชนอย่างแยบยลที่สุด คือ เป็นระบบความสัมพันธ์ที่มีแกนกลางอยู่ที่สำนึกในเรื่องคุณธรรม กล่าวคือ การรับปัจจัย ๔ ของพระสงฆ์ ก็ไม่ได้รับด้วยความรู้สึกที่จะหาความสุขจากการเสพวัตถุ หากแต่รับด้วยสำนึกในเรื่องสันโดษและพันธสัญญาในการที่จะพัฒนาตนให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้มีความชอบธรรมต่อการที่จะบริโภคปัจจัยของเขา ในขณะเดียวกัน การให้ทานของชาวบ้าน ก็ไม่ได้ให้เพราะถูกบังคับหรือให้ด้วยความจำใจ หากแต่ให้ด้วยสำนึกในเรื่องการบริจาคหรือการเสียสละเพื่อบูชาคุณของบุคคลผู้มีคุณธรรมและมีอุดมการณ์ในการสละโลกเพื่อค้นหาคุณค่าสูงสุดของชีวิต ดังที่ท่านพระธรรมปิฎก ได้กล่าวไว้ว่า

ชุมชน (สงฆ์) แลกเอาความเป็นอิสระของตน ด้วยการไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคม และไม่วุ่นกับสถาบันต่าง ๆ ที่กำหนดกันไว้ของสังคมนั้นโดยตรง ชุมชนนี้มีระบบความเป็นอยู่ของตนเอง ที่อาศัยความมีจิตใจอิสระเป็นพื้นฐาน และเกื้อกูลแก่สังคมด้วยการดำรงสืบทอดธรรมให้แก่สังคม และด้วยระบบชีวิตที่เป็นอิสระนั้น สมาชิกของชุมชนนี้ ไม่รับเอาผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานของตน เป็นอยู่เพียงด้วยทักขิณาอันเกิดจากการเจียดส่วนอุทิศบูชาธรรมของคนในสังคมใหญ่ ในรูปที่เรียกว่าบิณฑบาตเป็นต้น โดยไม่ทำให้เกิดความกระทบกระเทือนแก่ความเป็นอยู่หรือชีวิตประจำวันของเขา เป็นเหมือนหมู่ผึ้งที่เที่ยวสัญจรไปเก็บรวบรวมเกษรและน้ำหวานนานาพรรณไม้มาทำน้ำผึ้งและสร้างรังของตน โดยไม่ทำให้ดอกไม้ชอกซ้ำ แม้แต่สีและกลิ่นก็ไม่ให้เสื่อมเสีย พร้อมกันนั้น ก็ช่วยให้พืชพรรณต่าง ๆ เจริญงอกงามขยายพันธุ์แพร่หลายออกไป สมาชิกของชุมชน คือสงฆ์นี้ อาศัยผู้อื่นเป็นอยู่ จึงมีพันธะโดยธรรมและจึงเป็นอิสระที่จะประพฤติประโยชน์สุขของคนทั่วไป ชีวิตของท่านจึงขึ้นต่อทุกคน แต่ไม่ขึ้นต่อใครเลย ท่านอาศัยทุกคน จึงเป็นของทุก ๆ คน แต่ไม่เป็นของใครเลย…

จากข้อเสนอ ๕ ประการของพระเทวทัต ๕ ประการที่ว่า
๑) ให้ภิกษุอยู่ป่าตลอดชีวิต ห้ามเข้าบ้าน
๒) ให้เที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต ห้ามรับกิจนิมนต์
๓) ให้ถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ห้ามรับผ้าที่คหบดีถวาย
๔) ให้อยู่โคนต้นไม้ตลอดชีวิต ห้ามอยู่ในที่มุงบัง
๕) ห้ามฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต

ถ้ามองแบบผิวเผิน อาจจะเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ดี เพราะเป็นการส่งเสริมให้ภิกษุถือเคร่งครัด ดังจะเห็นได้ว่ามีภิกษุใหม่ถึง ๕๐๐ รูปให้การสนับสนุนแนวคิดของพระเทวทัต แต่ทำไมพระพุทธเจ้าถึงไม่ยอมรับข้อเสนอเหล่านี้ หลายคนอาจจะให้เหตุผลว่า เพราะเป็นข้อเสนอที่ตึงเกินไป ยากต่อการนำไปปฏิบัติ หรือเพราะพระเทวทัตมีแผนที่จะสร้างศรัทธาแล้วยึดตำแหน่งพระศาสดาจากพระพุทธเจ้า ผู้เขียนคิดว่าเหตุผลเหล่านี้พอฟังได้ แต่เหตุผลเบื้องลึกที่เราไม่ควรมองข้าม คือ ข้อเสนอทั้ง ๕ ข้อเหล่านี้ ล้วนเป็นข้อเสนอที่ขัดต่อระบบความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสงฆ์กับชุมชนฆราวาสที่พระพุทธเจ้าออกแบบไว้ทั้งสิ้น เช่น การให้อยู่ป่าตลอดชีวิต ห้ามเข้าบ้าน หรือให้ถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ห้ามรับผ้าที่เขาถวาย เป็นต้น สมมติว่าชุมชนสงฆ์ยึดถือตามนี้อะไรจะเกิดขึ้น แน่นอนว่าระบบความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลกันจะต้องสิ้นสุดลง ชุมชนสงฆ์จะกลายเป็นชุมชนปิดที่ตัดขาดจากโลกภายนอก และชุมชนฆราวาสจะไม่ได้ประโยชน์ในเชิงคุณธรรมจากผู้นำทางจิตวิญญาณ

๓.๒ สันโดษกับความสัมพันธ์ภายในชุมชนสงฆ์
นอกจากสันโดษจะมีเจตนารมณ์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสงฆ์กับชุมชนฆราวาสแล้ว ยังมีเจตนารมณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การสร้างความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันภายในชุมชนสงฆ์เอง ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านแบ่งสันโดษออก ๓ อย่าง คือ

๑) ยถาลาภสันโดษ ความยินดีตามที่ได้ คือ ได้สิ่งใดมาด้วยความเพียรของตน ก็พอใจด้วยสิ่งนั้น ไม่เดือดร้อนเพราะของที่ไม่ได้ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของคนอื่น ไม่ริษยาของคนอื่น ดังข้อความในอรรถกถามงคลสูตรที่ว่า “อนึ่ง เสนาสนะ ย่อมถึงแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอยินดีด้วยเสนาสนะนั้นเท่านั้น ไม่รับเสนาสนะอื่นแม้ที่ดีกว่า ซึ่งถึง ( แก่ตน ) อีก อาการของภิกษุนั้น นี้ชื่อว่า ยถาลาภสันโดษ ในเสนาสนะ”

สันโดษข้อนี้มุ่งเน้นไปในแง่ของการจำกัดขอบเขตของความพอใจยินดี คือ ให้ยินดีพอใจเฉพาะปัจจัย ๔ ที่ถึงแก่ตนหรือที่ตนมีตนได้ แม้ว่าจะมีปัจจัยอื่นที่ดีกว่าเพิ่มเข้ามาอีก ก็ไม่ให้รับอีก ให้ยินดีเฉพาะปัจจัยตามที่ตนได้ (ครั้งแรก) นั้น จะเห็นว่ามิติทางสังคมของสันโดษข้อนี้ คือ การป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นภายในชุมชนสงฆ์จากการละเมิดหรือจากเบียดบังเอาปัจจัย ๔ ของเพื่อนสมาชิกภายในชุมชนเดียวกัน นอกจากนั้น ความสันโดษในข้อนี้ ยังช่วยทำให้มีปัจจัย ๔ เหลือเพียงพอต่อการที่จะเฉลี่ยแบ่งปันไปยังสมาชิกคนอื่น ๆ ได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย ในพระวินัย พระพุทธเจ้าได้ตรัสห้ามไม่ให้ภิกษุเก็บอติเรกจีวร (จีวรส่วนเกินจากจีวร ๓ ผืน) และอติเรกบาตร (บาตรส่วนเกินจากบาตรที่ใช้อยู่) ไว้เกิน ๑๐ วัน ถ้าเกิน ๑๐ วันต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ และต้องสละส่วนเกินนั้นให้เป็นสมบัติส่วนกลางก่อนจึงจะแสดงอาบัติตก ในการอนุญาตให้เก็บได้ ๑๐ วันนี้ ก็มิได้หมายความว่าให้เก็บไว้ใช้เอง แต่ให้เก็บด้วยมุ่งหวังจะมอบให้เพื่อนบรรพชิตรูปใดรูปหนึ่งที่ตนเห็นว่าสมควรจะได้ ส่วนสาเหตุของการบัญญัติสิกขาบทห้ามนั้น เกิดมาจากภิกษุกลุ่มหนึ่งได้เก็บสะสมอติเรกจีวรและอติเรกบาตรไว้เป็นจำนวนมาก จนมีเสียงตำหนิติเตียนจากภิกษุผู้มักน้อยสันโดษและประชาชนที่ได้พบเห็น เป็นที่ชัดเจนว่า จุดมุ่งหมายของการบัญญัติสิกขาบทในลักษณะนี้ ก็เพื่อป้องกันการกักตุนหรือการกระจุกตัวของปัจจัย ๔ อันจะเป็นที่มาของปัญหาขาดแคลนและการเฉลี่ยแบ่งปันไม่ทั่วถึงภายในชุมชนสงฆ์นั่นเอง

๒) ยถาพลสันโดษ : ยินดีตามกำลัง คือพอใจเพียงพอแก่กำลังร่างกายสุขภาพและขอบเขตการใช้สอยของตน ของที่เกินกำลังก็ไม่หวงแหนเสียดาย ไม่เก็บไว้ให้เสียเปล่าหรือฝืนใช้ให้เป็นโทษแก่ตน ดังข้อความในอรรถกถามงคลสูตรที่ว่า “ก็ถ้าว่า ภิกษุเป็นผู้อาพาธ บริโภคบิณฑบาตที่เศร้าหมองแล้ว ย่อมถึงความแสลงโรคอย่างหนัก เธอถวายบิณฑบาตนั้นแก่ภิกษุผู้ชอบพอกัน แล้วบริโภคเนยใส นมส้มน้ำผึ้ง และนมสดเป็นต้น จากมือของภิกษุผู้ชอบพอกันนั้น แม้ทำสมณธรรมอยู่ ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าสันโดษแท้ อาการของภิกษุนั้นนี้ ชื่อว่า ยถาพลสันโดษ ในบิณฑบาต”

มิติทางสังคมของสันโดษข้อนี้ คือ การมีน้ำใจและการพึ่งพาอาศัยกันภายในชุมชน นั่นคือ ให้ยินดีพอใจในปัจจัย ๔ ที่จำเป็นต่อสุขภาพร่างกาย และจำเป็นต่อการใช้สอยของตน ปัจจัยใดที่เห็นว่าไม่เหมาะกับภาวะของตน หรือเห็นว่าคนอื่นมีความจำเป็นที่จะบริโภคมากกว่า เช่น ภิกษุผู้อาพาธ เป็นต้น ก็พร้อมที่จะสละหรือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนสมาชิกคนอื่น ๆ จะเห็นว่าแทนที่สันโดษจะเรื่องของการปลีกตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับสังคม กลับเป็นเรื่องของการเอาใจใส่และห่วงใยในความเป็นอยู่ของเพื่อนสมาชิกในชุมชนเดียวกัน

๓) ยถาสารุปปสันโดษ : ยินดีตามสมควร คือพอใจตามที่สมควรแก่ภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิต และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน เช่น ภิกษุพอใจแต่ของอันเหมาะกับสมณภาวะ หรือได้ของใช้ที่ไม่เหมาะกับตนแต่จะมีประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็นำไปมอบให้แก่เขา เป็นต้น ดังข้อความในอรรถกถามงคลสูตรที่ว่า “ภิกษุอื่นอีก เป็นผู้ได้ปัจจัยอันประณีต บรรดาปัจจัยมีบาตรและจีวรเป็นต้น เธอได้จีวรที่มีค่ามากผืนในผืนหนึ่งแล้วคิดว่า ‘จีวรนี้ สมควรแก่พระเถระทั้งหลายผู้บวชนาน จีวรนี้สมควรแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหุสูต’ แล้วถวายจีวรมีค่ามากนั้นแก่พระเถระหรือภิกษุผู้พหุสูตเหล่านั้น แล้วเสาะหาผ้าไม่มีชายแต่ที่ไหน ๆ คือ แต่กองหยากเยื้อ หรือแต่ป่า ด้วยตน แม้ทำสังฆาฏิด้วยผ้าไม่มีชายเหล่านั้น ใช้สอยอยู่ ย่อมเป็นผู้ชื่อว่า สันโดษแท้ อาการของภิกษุนั้นนี้ ชื่อว่า ยถาสารูปปสันโดษ ( ยินดีตามสมควร ) ในจีวร”

มิติทางสังคมของสันโดษข้อนี้ ก็คล้าย ๆ กับข้อที่ ๒ คือ เน้นในเรื่องของการพึ่งพาอาศัยกันภายในชุมชน แต่จะมุ่งไปที่เรื่องความเหมาะควรเป็นสำคัญ กล่าวคือ ให้สำนึกว่าปัจจัย ๔ ที่ถึงแก่ตนนั้น เหมาะควรกับภาวะและฐานะของตนหรือไม่ เช่น ภิกษุได้ปัจจัยอันประณีตมา ก็ให้ไตร่ตรองดูว่าระดับภูมิธรรมภูมิปัญญาและขีดขั้นการพัฒนาของตน เหมาะสมที่จะบริโภคปัจจัยชนิดนั้นหรือไม่ ถ้าเห็นว่าตนไม่เหมาะก็ให้ยอมเสียสละหรือแลกเปลี่ยนกับพระเถระผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมกว่า ตรงนี้อาจจะเรียกว่าระบบการอยู่ร่วมกันแบบพี่แบบน้องหรือการเคารพกันตามลำดับอายุพรรษาก็ได้ แม้พิธีกรานกฐิน ก็น่าจะเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่สะท้อนออกมาจากแนวคิดเรื่องกันอยู่ร่วมกันแบบสันโดษ คือการที่ภิกษุทุกรูปในชุมชนเดียวกันช่วยเหลือกันทำจีวร เริ่มตั้งแต่ตัด กะ เย็บ ย้อม จนสำเร็จรูปเป็นจีวร แล้วสงฆ์พร้อมใจกันมอบให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่มีคุณสมบัติเหมาะสม นี้คือรูปแบบหนึ่งของ “ยถาสารุปปสันโดษ” หรือการยินดีพอใจตามความเหมาะสมทีแสดงออกมาในรูปของกิจกรรมชุมชน (สังฆกรรม)

๔. สันโดษกับความอยู่รอดของชุมชนและพระศาสนา
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า สันโดษเป็นหลักธรรมที่ออกแบบมาเพื่อรองรับชุมชนสังฆ์เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นชุมชนของผู้ไม่มีการครอบครองทรัพย์สมบัติและต้องพึ่งพาปัจจัย ๔ จากชุมชนฆราวาส ดังนั้น ชุมชนสงฆ์จะอยู่รอดหรือไม่ก็อยู่ที่ว่าสามารถรักษาอุดมการณ์แบบสันโดษของชุมชนไว้ได้หรือไม่ คำว่าอยู่รอดในที่นี้ หมายรวมถึงความอยู่รอดของหลักธรรมคำสอนและพระศาสนาโดยรวมด้วย เพราะถ้าชุมชนสงฆ์ขาดสันโดษ ก็หมายความว่าระบบความสัมพันธ์กับชุมชนฆราวาสบนฐานของคุณธรรมจะสูญหายไป และระบบการพึ่งพาอาศัยกันแบบพี่น้องภายในชุมชนสงฆ์เองจะต้องเสื่อมลงเช่นกัน นี้คือจุดอันตรายที่จะนำมาซึ่งการล่มสลายของชุมชนสงฆ์และความเสื่อมของพระศาสนาโดยรวม ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นแม้ธรรมอันหนึ่งอื่น ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเลือนหาย เพื่ออันตรธานแห่งพระสัทธรรมอย่างนี้ เหมือนความเป็นผู้ไม่สันโดษนี้เลย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นผู้ไม่สันโดษ ย่อมเป็นไป เพื่อความเลือนหาย เพื่ออันตรธานแห่งพระสัทธรรม” และว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นแม้ธรรมอันหนึ่งอื่น ซึ่งจะเป็นไป เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อไม่อันตรธานแห่งพระสัทธรรม อย่างนี้ เหมือนความเป็นผู้สันโดษนี้เลย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นผู้สันโดษย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ฯ ล ฯ แห่งพระสัทธรรม” นอกจากนั้น ท่านพระสิริมังคลาจารย์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของสันโดษในคัมภีร์มังคลัตถทีปนีว่า “ภิกษุผู้ประสงค์ความดำรงอยู่ได้นานแม้แห่งพระศาสนาพึงเป็นผู้สันโดษเถิด เพราะความเป็นผู้สันโดษ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่พินาศแห่งพระศาสนา ความเป็นผู้ไม่สันโดษ ย่อมเป็นไปเพื่อความพินาศ”

จากข้อความที่ยกมา เป็นที่น่าตั้งคำถามว่าสันโดษมีความสำคัญถึงขนาดเป็นตัวกำหนดความเจริญและความเสื่อมสูญของพระศาสนาขนาดนั้นเลยหรือ ? ถ้าเรามองในแง่หลักธรรมของปัจเจกบุคคล การที่ภิกษุรูปหนึ่งรูปใดไม่ประพฤติสันโดษ ก็ไม่น่าจะเสียหายร้ายแรงถึงขนาดนั้น ในทัศนะของผู้เขียน ข้อความตรงนี้ท่านมองสันโดษในแง่มิติทางสังคมอย่างแน่นอน นั่นคือถ้าชุมชนสงฆ์ไม่ได้ยึดถือคติความสัมพันธ์กับปัจจัย ๔ บนพื้นฐานของสันโดษแล้ว ก็เท่ากับว่าอุดม-การณ์และระบบความสัมพันธ์ภายในชุมชนได้ถึงจุดอวสานเสียแล้ว ดังจะเห็นได้ในเหตุการณ์ครั้งสังคายนาพระธรรมวินัยครั้ง ๒ เหตุผลจำนวนหนึ่งที่ท่านยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการสังคายนา คือ การที่ภิกษุชาววัชชีเก็บสะสมเกลือไว้ในเขนง (กระบอกเขาสัตว์) สำหรับปรุงอาหาร และการประกาศขอรับบริจาคเงินทองจากอุบาสกอุบาสิกา ถ้าเรามองด้วยสายตาของคนปัจจุบันอาจจะเห็นว่าเรื่องเล็กน้อยแบบนี้ไม่น่าจะร้ายแรงจนถึงกับยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการทำสังคายนา อย่างไรก็ตาม ถ้ามองด้วยมาตรฐานการรับรู้ของสังคมสมัยนั้น ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและร้ายแรงมาก เพราะนี้คือสัญญาณอันตรายและเป็นพฤติกรรมที่เดินสวนทางกับอุดมการณ์แบบสันโดษของชุมชนสงฆ์

๕. สันโดษกับอุดมการณ์ของชุมชน
อุดมการณ์ในการก่อตั้งชุมชนสงฆ์ของพระพุทธเจ้า ก็คือ ต้องการให้มีศูนย์กลางรองรับบุคคลทุกชนชั้นวรรณะที่ออกบวชเพื่อค้นหาคุณค่าสูงสุดของชีวิต และต้องการให้เป็นชุมชนที่เป็นอิสระจากอิทธิพลของระบบความเชื่อแบบพราหมณ์ รวมทั้งเป็นสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตของสมาชิกในชุมชนด้วย สันโดษเป็นหลักธรรมอย่างหนึ่งที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับอุดมการณ์ของชุมชนอย่างใกล้ชิด กล่าวคือเป็นหลักธรรมที่จะเข้ามาช่วยจัดระบบสังคมและจัดระบบความสัมพันธ์กับปัจจัย ๔ รูปแบบที่เกื้อกูลต่อการเข้าถึงเป้าหมายชีวิตได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะเมื่อชุมชนสงฆ์ยึดความสันโดษในปัจจัย ๔ แล้ว ก็เท่ากับว่าระบบของชุมชนได้ช่วยทำให้สมาชิกได้สงวนเวลา แรงกำลัง และความคิดสำหรับทุ่มเทให้กับการปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ และช่วยทำให้สมาชิกแต่ละคนมีเวลาและโอกาสที่จะช่วยเหลือเอาใจใส่ในเรื่องการปฏิบัติธรรมของกันและกันมากขึ้นด้วย เรียกง่าย ๆ ว่า เป็นการลดภาระด้านปัจจัย ๔ เพื่อที่จะเร่งภาระด้านการปฏิบัติธรรมและการเอาใจใส่ในการศึกษาของกันและกัน ดังคำกล่าวของพระสิริมังคลาจารย์ที่ว่า “ก็พระดำรัสนั่นทั้งหมด พระผู้มีพระภาคตรัสหมายเอาความเป็นผู้สันโดษ และความเป็นผู้ไม่สันโดษในปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้น อันความเป็นผู้สันโดษในธรรมอันหาโทษมิได้ มีทาน ศีล เป็นต้น ไม่ชอบ (ไม่ถูกต้อง) ความเป็นผู้ไม่สันโดษในธรรมเหล่านั้นนั่นแล ชอบ (ถูกต้อง)” ข้อความตรงนี้แสดงให้เห็นเป้าหมายของสันโดษอย่างชัดเจน นั่นคือการลดความสนใจในวัตถุลงให้อยู่ในระดับที่พอให้ชีวิตอยู่ได้เท่านั้น แล้วให้ทุ่มเทความสนใจในเรื่องการฝึกฝนพัฒนาตนอย่างเต็มที่ การทุ่มเทความสนใจตรงนี้ ท่านเรียกว่า “ภิยฺโยกมฺยตา” แปลว่า ความใคร่ที่จะทำให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปจนกว่าจะถึงจุดหมายสูงสุด ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับภาษาสมัยใหม่ว่า “แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์” (desire for achievement) ดังข้อความที่ว่า

บุคคลบางคนในโลกนี้ เบื้องต้นเทียว ย่อมถวายปักขิกภัต (ภัตรประจำปักข์) บ้างสลากภัตบ้าง เขาเป็นผู้ไม่สันโดษด้วยการถวายนั้น จึงถวายธุวภัต (ภัตรประจำ) สังฆภัต ( ภัตรเพื่อสงฆ์ ) ผ้าจำนำพรรษา สร้างอาวาส ถวายปัจจัย ๔ เพิ่มขึ้น เป็นผู้ไม่สันโดษ แม้ในการถวายนั้น ย่อมรับสรณะ สมาทานศีล ๕ เป็นผู้ไม่สันโดษ แม้ในการกระทำนั้น ย่อมบวช ครั้นบวชแล้ว ย่อมเรียนนิกายหนึ่ง ๒ นิกาย พุทธวจนะคือพระไตรปิฎก ย่อมยังสมาบัติ ๘ ให้เกิดเจริญวิปัสสนาแล้ว ย่อมถือเอาพระอรหัต จำเดิมแต่การบรรลุพระอรหัต เขาย่อมชื่อว่าเป็นผู้สันโดษใหญ่ ก็ความใคร่โดยวิเศษในพระอรหัตดังกล่าวนี้ ชื่อว่าภิยฺโยกมฺยตา

ถามว่าแรงจูงใจแบบ “ไม่สันโดษ” หรือแบบ “ภิยฺโยกมฺยตา” เกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าตอบแบบช่วงยาวที่สุดก็ต้องบอกว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่บุคคลจะเข้ามาสู่ชุมชนสงฆ์ แต่เป็นแรงจูงใจที่ค่อนข้างจะพร่ามัวพอสมควร คือแฝงมากับความปรารถนาที่จะเข้าถึงความหลุดพ้น แต่ยังไม่แสดงตัวออกมาอย่างชัดเจนนัก แต่เมื่อบุคคลเข้ามาสู่ชุมชนแล้ว บรรยากาศ สภาพแวดล้อม และระบบความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันภายในชุมชน จะเป็นตัวกระตุ้นเร้าให้แรงจูงใจดังกล่าวนี้ได้รับการพัฒนาให้มีพลังมากยิ่งขึ้น ตรงนี้เองที่ผู้เขียนมองว่าเป็นจุดที่ความสันโดษในปัจจัย ๔ ได้เข้ามาเกื้อหนุนความไม่สันโดษในการปฏิบัติธรรม หรือแรงจูงใจแบบ “ภิยฺโยกมฺยตา”

๖. สรุป
การทำความเข้าใจหลักธรรมเรื่องสันโดษในมิติเชิงปัจเจก อาจจะทำให้เข้าใจหลักการ ความหมายและจุดมุ่งหมายของสันโดษได้ในระดับหนึ่ง แต่สันโดษเป็นมิติความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและลึกซึ้งมาก กล่าวคือสันโดษกับอุดมการณ์ในการก่อตั้งชุมชนสงฆ์มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดชนิดที่แยกกันไม่ออก ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอเสนอว่า วิธีที่จะทำความเข้าใจความหมายของสันโดษในระดับองค์รวมได้ เราต้องทำความเข้าใจโดยเชื่อมโยงกับอุดมการณ์ในการก่อตั้งชุมชนสงฆ์ของพระพุทธเจ้า โดยข้อสรุปที่ได้เขียนได้จากงานชิ้นนี้คือ

๑) ในแง่ความหมายเชิงสังคม : สันโดษ มีความหมายในแง่ของการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมบนฐานของการพึ่งพาอาศัยกันด้วยปัจจัย ๔ คือต้องการให้สมาชิกในชุมชนยินดีพอใจเฉพาะปัจจัยตามที่ตนมีตามที่ตนได้ (อิตรีตรปัจจัย) ไม่ให้มีความปรารถนาเกิน (อตฺริจฺโฉ) และไม่ให้โลภเกิน (อติโลโภ) กว่าขอบเขตปัจจัยของตนนั้นไป เพราะการปรารถนาเกินหรือโลภเกิน ก็คือการปรารถนาล้ำเข้าไปในเขตแดนปัจจัยของคนอื่น ย่อมจะเป็นที่มาของปัญหาความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิของกันและกัน นอกจากนั้น ยังจะเป็นที่มาของการเบียดเบียนและการสร้างภาระให้แก่ชุมชนฆราวาสมากยิ่งขึ้นด้วย

๒) ในแง่เจตนารมณ์ทางสังคม : ชุมชนสงฆ์ถูกออกแบบมาให้เป็นชุมชนที่ไม่มีการผลิต และไม่มีการเก็บสะสมหรือครอบครองทรัพย์สมบัติเป็นของส่วนตัว แต่ให้เลี้ยงชีวิตด้วยความสันโดษ คือ ให้พึ่งพาปัจจัย ๔ ที่ชาวโลกเขาทำบุญ (ทักษิณาทาน) การออกแบบชุมชนสงฆ์ในลักษณะอย่างนี้ มีเจตนารมณ์ที่จะให้เป็นชุมชนที่ปลอดพ้นจากอิทธิพลของความเชื่อแบบพราหมณ์ ในขณะเดียวกัน ก็ได้เปิดช่องทางเอาไว้เพื่อให้มีโอกาสติดต่อปฏิสัมพันธ์กันระหว่างชุมชน ๒ ชุมชน ช่องทางที่ว่านี้คือ การกำหนดให้ชุมชนสงฆ์พึ่งพาปัจจัย ๔ จากชุมชนฆราวาสด้วยอุดมการณ์แบบสันโดษ ในขณะเดียวกันก็ให้ชุมชนฆราวาสได้พึ่งพาในแง่ของหลักธรรมคำสอน อาจจะเรียกว่าระบบ “อามิสทาน” กับ “ธรรมทาน” ก็ได้

มองในแง่ความสัมพันธ์ภายในชุมชนสงฆ์เอง หลัก ยถาลาภสันโดษ ยถาพลสันโดษ และยถาสารุปปสันโดษ เป็นหลักการที่จะทำให้ความสัมพันธ์ภายในชุมชนสงฆ์เป็นไปในลักษณะพึ่งพาอาศัยกันฉันพี่น้องและไม่มีการแย่งชิงกันในเรื่องปัจจัย ๔ กล่าวคือ ความยินดีพอใจตามมีตามได้ (ยถาลาภสันโดษ) จะช่วยป้องกันการละเมิดปัจจัยของกันและกัน ความยินดีพอใจตามกำลัง (ยถาพลสันโดษ) จะทำให้มีการแลกเปลี่ยนปัจจัยกันตามความจำเป็น เช่น ในกรณีที่เจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพ เป็นต้น และความยินดีพอใจตามสมควร (ยถาสารุปปสันโดษ) จะทำให้มีการเคารพและให้เกียรติกันตามความเหมาะสม คือจะทำให้เกิดจิตสำนึกในการบริโภคตามความเหมาะสมแก่สถานภาพของตน ปัจจัยใดที่เห็นว่ามีความเหมาะสมกับผู้มีวัยวุฒิและคุณวุฒิเหมาะสมกว่า ก็ยินดีที่จะมอบปัจจัยนั้นแก่ท่านผู้นั้น เช่น กรณีที่สงฆ์ยินยอมมอบผ้ากฐินแก่ให้แก่ภิกษุผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม เป็นต้น

๔) ในแง่อุดมคติของชุมชน : อุดมคติของชุมชนสงฆ์ คือการจัดสรรสภาพแวดล้อมทางสังคมเพื่อให้เอื้อต่อการฝึกฝนพัฒนาชีวิตให้เข้าถึงความหลุดพ้น สันโดษจึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับจัดระเบียบชีวิตและระบบสังคมให้เกื้อหนุนต่ออุดมคติดังกล่าวนี้ นั่นคือ การจัดระบบความสัมพันธ์กับปัจจัย ๔ ในลักษณะที่จะทำให้ชุมชนสงฆ์ได้มีเวลาและโอกาสสำหรับทุ่มเทให้กับการปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ เรียกว่าเป็นการใช้สันโดษเพื่อส่งเสริมความไม่สันโดษ หรือส่งเสริมแรงจูงใจที่จะพัฒนาตนเองให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปจนกว่าจะถึงความหลุดพ้น (ภิยฺโยกมฺยตา)

บรรณานุกรม
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาบาลี.
ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ, ๒๕๐๐. กรุงเทพมหานคร
: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. อรรถกถาภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาอฏฺฐกถา.
กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

มหามกุฏราชวิทยาลัย. วิสุทฺธิมคฺคสฺส นาม ปกรณวิเสสสฺส ปฐโม ภาโค.
กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). การพัฒนาที่ยั่งยืน. กรุงเทพมหานคร
: สำนักพิมพ์มูลนิธิพุทธธรรม, ๒๕๓๙.

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). พุทธศาสนากับสังคมไทย.
กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๓๒.

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ.
กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.

มหามกุฏราชวิทยาลัย. มงฺคลตฺถทีปนี (ทุติโย ภาโค). กรุงเทพมหานคร
: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๑.

Charles F. Keyes, “Economic Action and Buddhist Morality
in A Thai Village,” Journal of Asian Studies, 42 : 4 (August 1983)
http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?article_id=452&articlegroup_id=102