ผู้เขียน หัวข้อ: รพินทรนาถ ฐากูร :คีตาญชลี  (อ่าน 2413 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
รพินทรนาถ ฐากูร :คีตาญชลี
« เมื่อ: มิถุนายน 15, 2015, 11:38:32 am »

รพินทรนาถ ฐากูร :คีตาญชลี

              วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 ราชบัณฑิตยสถานแห่งสวีเดน ประกาศจากกรุง สต๊อกโฮล์มว่า ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปีคือ ระพินทรนาถ ฐากูร เจ้าของบทประพันธ์เรื่อง คีตาญชลี
                      นักเขียนภาพล้อเลียนประจำหนังสืงพิมพ์เยอรมัน ใช้พู่กันตวัดวาดออกมาเป็นรูปชาวฮินดู ตัวดำปิ๊ดปี๋ เปลือยกายท่อนบน โพกหัวใหญ่โต กำลังปีนต้นมะพร้าว ชูอวดประกาศนียบัตรรางวัลโนเบล ด้วยอาการเร่อร่าราวกับคางคกขึ้นวอ
                     ข่าวคราวยังคงสับสนต่อไปอีก หนังสือ Daily Citizen ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ. 2475 รายงานว่า ชื่อเสียงและเกียรติคุณของ ระพินทรนาถ ฐากูร กวีชาวอินเดียกำลังเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่าน แต่ก็ยังไม่กระจ่างชัด ห้องสมุดประจำกรุงลอนดอน แห่งหนึ่งได้รับคำขอร้องจากสมาชิกเนืองๆ
                    จดหมายฉบับหนึ่งแสดงความประสงค์ว่า " โปรดส่งหนังสือ คีตญชลี ของนักเขียนชาวยิว ซึ่งดูเหมือนว่าจะชื่อ ฐากูร มาให้ข้าพเจ้าด้วย "
                     ยังมีอีกฉบับหนึ่งถามมาว่า " คุณมีหนังสือของ ฐากูร ชาวรัสเซียบ้างไหม "
                     ส่วนอีกฉบับหนึ่งปรารภว่า " ข้าพเจ้าใคร่ขอยืม ชุมนุมบทเพลงชุดใหม่ ประพันธ์โดยกวีอาหรับ "
                     ตอนท้ายของรายงานชิ้นนี้สรุปว่า หาก ฐากูร ได้ยินคำขอร้องเหล่านี้ คงจะหัวเราะเป็นแน่แท้ เพราะเขาเป็นผู้มากไปด้วยอารมณ์ขัน อารมณ์ซึ่งแทบไม่มีใครจะคิดถึงกันแล้ว....
                     " คีตญชลี " อันมีความหมายว่า การบูชาด้วยเพลง แม้จะเป็นกวีที่ระเกะระกะไปด้วย คำว่าพระเจ้าก็จริง แต่พระเจ้าองค์นี้ไม่เอาแต่สถิตอยู่บนแท่นเฉยๆ รพินทรนาถ ได้แสดงความคิดเห็นใหม่ๆออกมา ดังในบทที่ 11ความว่า

                    " หยุดเสียเถิดการสาธยาย การขับขานและการนั่งนับลูกประคำอะไรเหล่านี้ ท่านบูชาผู้ใดกันในมุมสลัวลาง...และเปล่าเปลี่ยวของเทวลัยที่หับบานประตูหน้าต่างมิดชิดรอบด้าน ลืมตาขึ้นแล้วมองดู พระเจ้ามิได้ประทับอยู่เบื้องหน้าท่านเลย
                  พระองค์สถิตอยู่ ณ ที่ซึ่งชาวนากำลังไถท้องทุ่งอันแข็งกระด้าง และคนทำถนนกำลังระดมแรงทุบก้อนหินให้แตก พระองค์ทรงอยู่กับพวกเขาท่านกลางเปลวแดดและสายฝน เส้นผมที่เต็มไปด้วยคราบฝุ่น จงถอดอาภรณ์ที่แสนสะอาดของท่านออก แล้วก้าวลงไปยังแผ่นดิน ที่คละคลุ้งไปด้วยละอองธุลีบ้าง
                   ความหลุดพ้นนะหรือ ความหลุดพ้นจะหาได้จากที่ใด พระผู้เป็นเจ้าของเราผูกพันอยู่กับ นิรมิตกรรม ด้วยความเปรมปราโมทย์ พระองค์ใกล้ชิดสนิทแนบ กับพวกเราชั่วนิรันดร์
                   จงพักการเพ่งภาวนาของท่านไว้เพียงนี้ ทิ้งดอกไม้ธูปเทียนไว้ก่อน จะเป็นไรหรือ หากเครื่องแต่งกายของท่านขาดและเปอะเปื้อนบ้าง ออกไปพบและทำงานด้วยหยาดเหงื่อร่วมกับพระเจ้าของพวกท่านเถิด"


               ด้วยความอยากรู้อยากเห็นตามประสาผู้มีศรัทธาในผลงาน ของฐากูร ไมตรี เทวี   ซักไซ้ ถึงความเป็น คีตญชลี แล้วบันทึกลงในหนังสือ ฐากูรข้างกองไฟ ( Tagore By Friend ) ตอนหนึ่งท่านกวี ฐากูร เล่าว่า
                   " เมื่อแรกแปลออกเป็นภาษาอังกฤษ ฉันไม่นึกว่ามันจะน่าอ่าน ซ้ำยังมีหลายคนกล่าวหาว่า ชาลส์ เฟรีย แอนดรูส์ เป็นคนทำให้ ตอนที่ วิลเลี่ยม บัตเลอร์ ยีตส์ จินตกวีไอร์แลนด์ จัดชุมนุมปัญญาชน ที่บ้านของวิลเลี่ยม โรเธนสไตน์ ฉันบอกไม่ถูกว่ายุ่งยากใจเพียงใด แต่ยีตส์ไม่ฟังเสียง อ่านคีตญชลีให้ฟังจนได้ ผู้ฟังเดินเข้ามานั่งลงเงียบๆ ฟังเงียบๆ แล้วก็กลัยไปแบบเงียบๆ ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีเสียงชื่นชมหรือตำหนิติเตียน ฉันแสนที่จะอดสู อยากให้ธรณีแยกแล้วสูบฉันลงไปเสีย จะได้สิ้นเรื่องสิ้นราวไป ทำไมหนอฉันจึงได้หลงเชื่อยีตส์ขนาดนั้น.... แต่วันรุ่งขึ้น ได้รับจดหมายไม่รู้กี่ฉบับ ผู้ฟังรับว่ารู้สึกประทับใจจริงๆ จนกระทั่งพูดไม่ออก ชาวอังกฤษมีนิสัยสำรวมเช่นนี้เอง ยีตส์รู้เข้าถึงกับตื่นเต้นใหญ่เชียว...."

นั่นเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนการตัดสินมอบรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม

               รพินทรนาถสารภาพว่า ไม่อาจจับหลักภาษาอังกฤษได้ พูดง่ายๆคือขาดกุญแจ จึงต้องเขียนแบบกระโดข้ามรั้ว มันเป็นกายกรรมไม่ใช่การเดินตามธรรมชาติ
                   ขณะที่อยู่ในประเทศอังกฤษเขาส่งเรื่องสั้นมายัง รามนันท์ จัฏเฏอร์จี และกำชับว่า "กรุณาตรวจทานภาษาอังกฤษให้ด้วย เพราะฉันเขียนตามความเคยชิน อาศัยเพียงการสัมผัสทางเสียงเท่านั้นเอง"
                  แม้กระนั้น ผู้คงแก่เรียนซึ่งมีภาษาอังกฤษเป็นการพูด ต่างยืนยันว่าถ้อยคำของเขานั้นคล่องแคล่ว และเป็นอิสระดุจที่ใช้กันในออกซฟอร์ดที่เดียว บทกวีของรพินทรนาถในพากย์ภาษาอังกฤษ ไม่เป็นเพียงงานแปลธรรมดาๆชิ้นหนึ่ง เท่านั้น แท้จริงต้องถือว่าเป็นงานซึ่งให้กำเนิดภาษาใหม่ขึ้นในภาษาอังกฤษ ด้วยพลังที่ริเริ่มและแกร่งกล้า
                หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งแสดงความเห็นว่า "บุคคลผู้นี้ควรได้รับรางวัลโนเบล ไม่ใช่แค่รางวัลเดียวเท่านั้น แต่เป็นหลายๆรางวัลเสียด้วย..." ปานนั้นเชียวแหละท่านทั้งหลาย.....

http://www.baanjomyut.com/library/tagore/page1.html
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 15, 2015, 12:08:40 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: รพินทรนาถ ฐากูร :คีตาญชลี
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มิถุนายน 15, 2015, 11:41:35 am »
              ผลพลอยได้จากการชนะรางวัล นอกจากเกียรติประวัติ และเงินประมาณ 120000 รูปี ซึ่งได้นำไปใช้จ่ายในด้านการศึกษาของเด็กๆแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ รัฐบาลอังกฤษมอบยศ "ท่านเซอร์" ให้ในปีพ.ศ. 2458 แต่ไม่นานเขาก็บอกคืนเป็นการประท้วง ในกรณีที่ นายพลจัตวา ไดเออร์ นำกำลังทหาร เข้าล้อมกลุ่มชาวอินเดีย 20000 คน ซึ่งชุมุนมในงานพิธีทางศาสนา ณ สวนชลิยาวาลา ในรัฐปัญจาป เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2462 ขั่วเวลา 10 ปี กองทหารระดมยิงอย่างบ้าเลือดกว่า 1650 นัด ทำให้ผู้คนเสียชีวิตมากมาย
                     ถึงไม่มีคำว่า "เซอร์" นำหน้าชื่อ ใครๆก็ยังให้ความนิยมดุจเดิม รพินทรนาถ ได้รับคำเชิญจากประมุขรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้เดินทางไปเยี่ยมเยียนและแสดงปาฐกถาตอลดเวลา เขาออกเดินทาง 10 ครั้ง ซึ่งเป็นการเดินทางรอบโลกเสีย 3 ครั้ง เคยล่องอเมริกาใต้ถึงเปรูและอาร์เจนติน่า ในเอเซียก็ผ่าน ญี่ปุ่น จีน และยังได้เคยมาพักอยู่ที่ โรงแรมพญาไท ในกรุงเทพฯอีกด้วย
                    ขณะที่ท่องเที่ยวอยู่ในประเทศเยอรมันนี นิตยสาร Modern Review ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2464 ได้รายงายข่าวว่า....
                 "...ณ มหาวิมยาลัยเบอร์ลิน ท่านกวีใช้เวลาครึ่งชั่วโมงยังไม่สามารถผ่านขึ้นไปยังหอประชุมได้ เพราะประชาชนเบียดแน่นอยู่ทุกขั้นบันได อธิการบดีขอร้องอย่างไรก็ไม่เป็นผล กระทั้งต้องประกาศว่าจะเรียกกำลังตำรวจมาจัดการ ก็ยังไม่มีคนถอย เพราะต่างก็อยากเห็นท่านกวีใกล้ๆกันทั้งนั้น อะไรจะขนาดนั้น.....
                 ในที่สุด ศาสตราจารย์คณะแพทยศาสตร์ท่านหนึ่งอาสาเดินหน้า และนักศึกษาเดินตามประมาณ 600 คน เพื่อผ่อนคลายความคับคั่ง ท่านกวีของเรา สัญญาว่าจะปลีกเวลาไปพบเป็นการพิเศษอีกครั้ง
                หลังจากจบปาฐกถาแล้ว ประชาชนประมาณ 15000 คน ยังเรียงรายตลอดทั้งสองฝั่งถนน พร้อมทั้งเปล่งเสียงแสดงความชื่นชมขณะที่ท่านกวีกลับออกมา..."

             เมื่อแปลเป็นภาษาสำคัญๆ ของโลก คีตญชลี ได้กลายเป็นหนังสือที่ขายดีอันดับหนึ่งอย่างรวดเร็ว นิตยสาร John O'London's Weekly ฉบับประจำวันที่ 30 กัยายน พ.ศ. 2465 ลงเป็นบทความว่า...
                 " ไม่เคยปรากฎว่านักเขียนนวนิยาย นักเขียนบทละคร หรือกวีชาวเยอรมันท่านใด จะประสบความสำเร็จเทียบเท่ากับ นักฝันผู้สุภาพชาวอินเดียคนนี้เลย แถวหนัวสือยาวเยียดของฐากูร ในราคาและรูปแบบต่างๆกัน วางเต็มตู้ตามร้านทั่วไป ฉบับย่อมเยาราคา 15 มาร์ก ฉบับสมบูรณ์จำหน่ายกันชุดละ 250 มาร์ก ถึง 300 มาร์ก เฉพาะที่สำนักพิมพ์ วูลฟฟ์ แห่งเดียว จำหน่ายไปแล้ว 800000 เล่ม
                เจ้าของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในนิวยอร์ค หลังการกลับจากตระเวนยุโรปแล้ว เปิดเผยว่า ขณะที่เขาอยู่ในเบอร์ลิน เห็นเจ้าของสำนักพิมพ์หลายแห่ง สั่งกระดาษหนักถึงหนึ่งล้านกิโลกรัม หรือมากกว่าสองล้านปอนด์ เพื่อพิมพ์หนังสือของรพินทรนาถ ให้ได้จำนวนสามล้านเล่ม

               นักอ่านชาวตะวันตกเปรียบเทียบ คีตญชลี ไว้ในลักษณะต่างกัน บ้างว่าปราดเปรื่องเสมอด้วย "บทเพลงของโซโลม่อน" (Song of Solomon) และบ้างก็ว่าบริสุทธิ์กว่า "บทสวดชองเดวิด" (Psalms of David) เอซรา พาวนด์ ไปไกลกว่านั้น คือเปรียบสูงส่งเท่ากับ "คัมภีร์ไบเบิล" เลยที่เดียว...ว๊าว... โดยเขาให้เหตุผลว่า "กล่าวโดยสรุป ข้าพเจ้าได้พบสามัญสำนึกในบทกวีเหล่านั้น มันได้เตือนให้พวกเราได้คำนึงถึงสิ่งอันได้เลือนหายไปจากคลองจักษุ ท่ามกลางความสับสนแห่งวิถีชีวิตแบบตะวันตก..."
              ส่วนรพินทรนาถได้รับการยกย่องว่าเป็นเสมือน "ยอห์นผู้ประกอบพิธีศีลจุ่ม" หรือเรียกตามสำนวนของหอพระคริสตธรรมว่า "โยฮันผู้ให้บัพติสมา" คือผู้ที่ทำหน้าที่วางรากฐาน เพื่อให้พระเยซูประกาศสัจธรรมโดยสะดวก และยิ่งกว่านั้นยังมีบางคนพูดตรงๆเลยว่า ต้องเปรีบยกับพระเยซูเอง จึงจะตรงกับความเป็นจริงมากกว่า....เฮ้ย...ขนาดนั้นเลยหรอ....เอาเข้าไป
              แต่งานชิ้นต่อมาแทนที่จะปรากฎในทำนองเอาใจผู้อ่าน รพินทรนาถกลับเสนอบทนิพนธ์ "คนทำสวน" (The Gardener) เขาชี้แจงอย่างไม่อ้อมค้อมว่า " เพื่อเห็นแก่พระเจ้า โปรดอย่าลืมว่าข้าพเจ้าไม่ใช่นักสอนศาสนา แท้ที่จริงข้าพเจ้าเป็นกวีต่างหาก"
              ปรัชญาชีวิตของรพินทรนาถ ยึดมั่นอยู่กับการต่อสู้ ไม่หลีกเร้นเอาตัวรอดอย่างคนสิ้นคิด ตอนหนึ่งของบทนิพนธ์เรื่อง "ผู้หลบหนี" (The Fugitive) บรรยายว่า....

               " ชายหนุ่มคนหนึ่งบำเพ็ญเพียรในป่าลึก เด็กสาวคนเก็บฟืนพบเข้าจึงนำผลไม้ไปถวาย แต่ชายหนุ่มกลับไม่ยอมแตะต้อง ซ้ำหลบไปหาที่พำนักแห่งใหม่ เพื่อให้พ้นจากการรบกวน ในที่สุดพระอิศวรทรงรับรู้ถึงในตบะอันแก่กล้า จึงเสด็จลงมาประกาศว่า โยคีรูปนี้มีสิทธิ์ในสวรรค์แล้ว ชายหนุ่มกลับปฎิเสธว่า ไม่ปรารถนาดอก มหาเทพทรงซักว่าประสงค์สิ่งใดเล่า เขาตอบว่า ข้าอยากพบหญิงเก็บฟืนผู้นั้น "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: รพินทรนาถ ฐากูร :คีตาญชลี
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มิถุนายน 15, 2015, 11:46:27 am »
              งานในชีวิตของรพินทรนาถ ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ศิลปะเพียงด้านเดียว ทั้งที่ไม่โดเข้าไปคลุกคลีกับการเมืองโดยตรง เขาก็คือผู้รักชาติอย่างแรงกล้า ไม่เกรงต่อการปะทะกับผู้ใด แม้บุคคลนั้นจะมีอาญาสิทธิ์ล้นหล้า ขณะที่ประชาชนเดินตาม มหาตมะคานธี ต้อยๆ หากแลเห็นว่าเรื่องใดอาจก่อให้เกิดความเสียหาย เขาก็จะท้วงออกมาโดยไม่อ้อมค้อม ดังในกรณี "สัตยาเคราะห์" คืดการไม่ร่วมมือกับรัฐบาลอังกฤษ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน คานธีเสนอแนะให้ลาออกจากโรงเรียนและวิทยาลัยเสีย รพินทรนาถ คำคำถามว่า "การไม่สนับสนุนโรงเรียนและวิทยาลัย มีความหมายอย่างใด จะให้เยาวชนเสียสละเพื่อผลอันใด ไม่ใช่เพื่อการศึกษาที่สมบูรณ์ขึ้นแน่ หากแต่กลายเป็นการไม่ศึกษาไปเสียต่างหากเล่า..."
               รพินทรนาถ ไม่เชื่อว่าลำพังคนๆเดียว จะรอบรู้ไปหมด คานธีไม่เคยปรารถนาอำนาจ แต่บรรดาสาวกพยายามยัดเยียดอำนาจบริหารให้จนปราศจากขอบเขต รพินทรนาถจึงอุธรณ์ ว่า
              " คานธี ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน ปัจจุบันท่านไม่แบกภาระไว้หนักเกินกว่าคนๆเดียวอยู่หรือ ภาระอันหนักอึ้งของอินเดีย ไม่ควรอาศัยการตัดสินในของบุคคลเพียงคนเดียว มหาตมะเป็นผู้ทรงสัจจะและความรัก แต่การบรรลุถึง "สวราช" หรือการปกครองตนเอง เป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน พลังในชาติทั้งหมดต้องถูกระดมมา นักเศรษฐศาสตร์ต้องค้นหาหลักปฎิบัติที่มีประสิทธิภาพ นักการศึกษาต้องทำการอบรมสั่งสอน รัฐบุรุษต้องใช้ปัญญากำหนดทิศทางสู่อนาคต กรรมกรต้องออกเองทำงาน......"
            โชคดีที่ประเทศอินเดียขณะนั้น มีความสามัคคีเหนียวแน่น เกิดปัญหาใดขึ้นก็โต้ตอบกันด้วยเหตุผล คานธีไม่เคยถือโกรธ และยังคงเรียกขานรพินทรนาถเสมอว่า "คุรุเทพ" เช่นเดียวกับที่รพินทรนาถเรียกท่านว่า "มหาตมา" ด้วความเทิดทูนตลอดชั่วชีวิต

             งานที่ยิ่งใหญ่ของระพินทรนาถอีกสิ่งหนึ่งคือ สถาบันการศึกษา ด้วยใจรักการเป็นครู จนได้รับการสดุดีว่า "คุรุเทพ" เขาเริ่มตั้งโรงเรียนขึ้นตั้งแต่มีนักเรียนเพียง 10 คน ที่ศานตินิเกตัน ซึ่งหมายถึงสถานที่แห่งความสงบ สอนกันแบบ "คุรุกุล" ของอินเดียโบราณ คือ ครูสัมพันธ์กับศิษย์เหมือนพ่อกับลูก แล้วค่อยๆขยายออกไปตามกำลังความสามารถ จนกระทั่งอีก 21 ปีต่อมา จึงยกฐานะขึ้นเป็น มหาวิทยาลัย และให้นามว่า "วิศวภารตี" หมายถึงสถานอันเป็นที่พักพิงแห่งโลก
                ความคิดที่จะก่อตั้งมหาวิทยาลัยเช่นนี้ เริ่มตั้งแต่รพินทรนาถเดินทางอยู่ในประเทศเยอรมัน ขณะนั้นเพิ่งจะมีการสถาปนาสันนิบาตชาติ เขาปรารภกับ ดร.ฟอร์ทนอร์ตัน ว่า
                "องค์การที่อาศัยอำนาจไม่ใช้ศีลธรรมเป็นบรรทัดฐาน ย่อมจะไม่มั่นคงได้นาน ควรจะมีสถาบันการศึกษาชนิดที่นักศึกษาเป็นพลเมืองในอาณาจักรแห่งอุดมคติเสียก่อน สันนิบาตชาติ ที่แท้จริงจึงจะอุบัติขึ้น

                 " วิศวภารตี ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้งหลายหน นับตั้งแต่วาระแรกที่ได้ถือกำเนิดมา อย่างไรก็ตาม มันยังคงดำรงสภาพเป็นพินัยกรรมแห่งศรัทธาและ มโนภาพ ที่สร้างสรรค์ของท่านผู้เป็นมหากวีไว้ดังเดิม...."
                 ดร.ภวานี ภัฏฏาจารย์ ผู้แปลชุมนุมเรื่องสั้นของท่านรพินทรนาถบางส่วนออกเป็นภาษา อังกฤษ ในชื่อว่า"สำเภาทอง" ได้กล่าวไว้ไนตอนต้นของหนังสือ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: รพินทรนาถ ฐากูร :คีตาญชลี
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มิถุนายน 15, 2015, 11:50:33 am »
              รพินทรนาถ เป็นนามซึ่งรู้จักกันในหมู่นักอ่านชาวตะวันตกว่า The Sun of India  ดวงอาทิตย์แห่งอินเดีย
                     รพินทรนาถ เกิดที่คฤหาส์น โชราสังโก นครกัลกัตตา เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2404 และกลับมาถึงแก่กรรมที่คฤหาส์นหลังเดิม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2484 รวมอายุ 80 ปี 
3 เดือน
                      รพินนาถเขียนหนังสือไว้ไม่ต่ำกว่า 300000 บรรทัด มีทั้งกวี เรื่องสั้น นวนิยาย อัตตชีวประวัติ และทรรศนวิจารณ์ นอกจากนั้นยังได้แต่งเพลงไว้เป็นจำนวนนับพัน กระทั่งวงการศิลปะของอินเดียต้องแยกประเภทไว้ต่างหาก ในนาม "รพินทรสังคีต" ซึ่งใช้ศึกษากันถึงระดับปริญญา และยังมีงานจิตรกรรมที่เคยแสดง ณ Galerie Pigalle แห่งกรุงปารีส จำนวน 125 ชิ้น

                   การศึกษาขั้นต้นของรพินทรนาถ เริ่มขึ้นที่บ้าน พร้อมกับเด็กชายซึ่งเป็นญาติกันอีก สองคน โดยจ้างคูรพิเศษมาสอน ต่อมา สัตยา ลูกของพี่สาวซึ่งมีอายุแก่กว่าสองปีถูกส่งไปโรงเรียน ตกบ่ายก็กลับมาเล่าอะไรต่อมิอะไรให้ฟังอย่างสนุกสนานตามประสาเด็ก และด้วยเหตุที่รพินทรนาถ ไม่เคยนั่งรถม้า หรือแม้แต่จะออกไปนอกบ้านเลย รุ่งขึ้นจึงร้องไห้ตาม   คูรพยายามปลอบใจก็หาเงียบไม่ จึงได้ตบหน้าพร้อมทั้งพูดว่า
                " เดี๋ยวนี้เธอร้องไห้จะไปโรงเรียน แต่วันข้างหน้าเถอะเธอจะร้องไห้ยิ่งกว่านี้อีก เพราะอยากลาออก "
                  เขาจำคำพูดประโยดนั้นได้ดี มันช่างเป็นคำพยากรณ์ที่แม่นยำที่สุด ตลอดชีวิตของรพินทรนาถไม่เคยได้ยินคำพยากรณ์ใดที่ตรงกับความจริงเช่นนั้นเลย

                  นอกเวลาเรียน รพินทรนาถถูกจำกัดอาณาเขตอยู่ในเรือนคนใช้ ทางด้านตะวันออกของคฤหาส์น คนใช้คนหนึ่งชื่อ ศยาม ตัวดำเป็นเหนี่ยง รูปร่างล่ำเตี้ย และเส้นผมหยิกจนเป็นก้นหอย เป็นผู้ดูแลเขา ศยามจะเลือกจุดเหมาะ เข้าสักจุด แล้วหยิบชอล์กลากวงกลมลงไป ออกคำสั่งด้วยใบหน้าขมึงว่า
               " อย่าบังอาจเยื้อนออกนอกเส้น เด็ดขาด"
               แล้วรพินทรนาถก็นั่งสงบอยู่ในนั้นตลอดทั้งวัน เขาเชื่อฟังโดยเคร่งครัด เพระาเคยได้อ่านคัมภีร์ รามยณะ และพบความตอนหนึ่งว่า นางสีดาถูกลักตัวไปทนทุกข์อยู่นานในกรุงลงกา เพราะฝ่าฝืนเดินข้ามเส้นซึ่งลักษมันขีดกั้นไว้
              ระหว่างอายุ 6- 15 ปี รพินทรนาถ เข้าเรียนสามแห่ง คือ โรงเรียนโอเรียนทัล เซมินารี่ โรงเรียนนอร์มัล และโรงเรียนเซนท์ ซาเวียร์ นอกจากเรียนตามหลักสูตรแล้ว พี่ชายคนที่สามยังสรรหาคูรพิเศษมาสอนที่บ้านอีกหลายคน   โดยเริ่มตั้งแต่ก่อนสว่างเรียนมวยปล้ำ แล้วก็ปัดฝุ่นออกจาดตัวไปเรียนวิชาวรรณคดี คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ จากนั้ก็ไปโรงเรียน พอกลับมาถึงบ้านก็เริ่มเรียนวิชาวาดเขียน ต่อด้วยกายกรรม และภาษาอังกฤษ ส่วนเช้าวันอาทิตย์ก็ต้องเรียนวิชาขับร้อง และวิชาวิทยาศาสตร์ เพิ่มเติม...

            แววกวีของรพินทรนาถเริ่มปรากฎในช่วงนั้นเอง นึกอะไรออกก็จดไว้ในสมุดส่วนตัว พี่ชายของเขาพบเข้าก็เกิดตื่นเต้นใหญ่โต ช่วยประชาสัมพันธ์อย่างเกรียวกราว
              วันหนึ่ง นวโคปาล มิตเตอร์ บรรณาธิการ The National Paper แวะมาธุระ พี่ชายของรพินทรนาถจึงแนะนำว่า
              " นี่แนะ นวโคปาล บาบู! จะไม่ลองฟังบทกวีของรพีบ้างหรือ"
              ท่านบรรณาธิการเลยต้องหยุดฟังตรงหัวบันไดนั่นเอง
              อีกคนหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญ คือ คุณคูรสัตการี แห่งโรงเรียนนอร์มัล อันที่จริงคูรคนนี้ไม่ได้สอนชั้นของรพินทรนาถ แต่ก็ชอบพอกันดี คูรเคยแต่งแบบเรียนเกี่ยวกับวิชาประวัติธรรมชาติ ไม่รู้เหมือนกันว่าเหตุใดจึงเรียกรพินทรนาถไปพบ และถามว่า
           " เธอเขียนบทกวีด้วยหรือ"
            เขารับว่าใช่ จากนั้นคูรก็มักจะเรียกไปพบเสมอ ยื่นคำประพันธ์ให้ท่อนหนึ่งแล้วสั่งให้เขียนต่อ คูรประพฤติแปลกๆเช่นนี้เสมอๆ จนแยกย้ายจากกันไป
             รพินทรนาถอ่านหนังสือได้ทุกประเภท และอ่านด้วยอาการของคนหิวโหย ครั้งหนึ่งพบหนังสือ "คีตาโควินทะ" ของกวี ชัยเทพ พิมพ์เป็นอักษรเบงกาลี เขาอ่านรวดเดียวจบ ทั้งๆที่ไม่เข้าใจโศลกสันสกฤตเลย ก็ยังว่าเป็นทำนองเสนาะเสียงเจื้อยแจ้ว กังวานดนตรีแห่งอักษร ทำให้ต้องคัดลอกไว้เป็นสมบัติของตัวเองทั้งเล่ม

             ระหว่างการจัดงานประจำปีซึ่งเรียกว่า "ฮินดูเมลา" โดยมี นาย นวโคปาล มิตเตอร์ เป็นประธาน วัตถุประสงค์คือพยายามสร้างความสำนึกในหมู่ประชนว่า อินเดียเป็นมาตุภูมิอันควรค่าแก่การปกป้อง มีการแสดงศิลปะและหัตถกรรมพื้นเมืองด้วย พี่ชายคนที่สองของรพินทรนาถแต่งเพลงชาติให้ชื่อว่า "ภารตชัย" เพื่อบรรเลงในงาน ส่วนรพินทรนาถเขียนเพลงปลุกใจ พาดพิงถึงงานมหกรรมเดลฮีเดอร์บาร์ โดยดำริห์ของ ลอร์ด ลิททัน ด้วยท่าทีเย้ยหยัน เพระาเป็นความสนุกสนานท่ามกลางภาวะขาดแคลนของประเทศในขณะนั้น ความโด่งดังของรพินทรนาถ วัย 14 ปี ทำให้ได้รับสมญานามว่า
" เกอเธ่แห่งอินเดีย"

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: รพินทรนาถ ฐากูร :คีตาญชลี
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: มิถุนายน 15, 2015, 11:52:25 am »
              สองปีต่อมา พี่ชายคนโตของรพินทรนาถ รับเป็นบรรณาธิการนิตยสรา "ภารตี" ซึ่งช่วยกันทำโดยสมาชิกในครอบครัว ชื่อรพินทรนาถถูกบรรจุเข้าไปในกองบรรณาธิการด้วย ฉบับปฐมฤกษ์เขาเขียนคำประพันธ์ขนาดยาว ให้ชื่อว่า"เรื่องราวของกวี" The Poet's Story เพื่อนของรพินทรนาถชอบใจ คัดลอกเอาไปพิมพ์เป็นเล่มโดยไม่ปรึกษา เสร็จแล้วส่งมาให้ โทษที่เพื่อนได้รับคือหนังสือเล่มนั้นคือขายไม่ออก เหลือมากมาย ทำเอาเพื่อนผู้นั้นจนไปนาน คำกล่าวที่ว่า พอตื่นขึ้นมาในเวลาเช้าก็ประสบความสำเร็จแล้วนั้น คงเป็นเรื่องคุยสนุกเสียมากกว่า นักเขียนมิได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดายเลย..... (อันนี้ผมนั่งยันนอนยันได้เลย....เป็นการส่วนตัวได้เลย ท่านทั้งหลาย)
                   ส่วนรพินทรนาถก็ยังคงฝึกฝนอีกนาน เขาใช้กระดานชนวนเขียน เพื่อจะได้ลบโดยไม่ต้องเสียดาย ทุกครั้งที่หยิบกระดานขึ้นมา เขาเหมือนจะได้ยินมันกระซิบบอกว่า
                "อย่ากลัว เขียนลงมาตมาใจชอบ ลบเพียงครั้งเดียวก็หายหมดแล้ว..."

                 บิดาของรพินทรนาถ คือ เทเวนทรนาถ ฐากูร มีความมุ่งหมายจะให้ลูกชายเป็นนักศึกษากฎฟมาย จึงได้ส่งรพินทรนาถไปประเทศอังกฤษ ในปีพ.ศ. 2421 ตอนนั้นเขาอายุได้ 17 ปี ครั้งแรกเข้าเรียนที่โรงเรียน"บรทัน แล้วไปต่อที่ ยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ เขามักจะใช้เวลาศึกษาดนตรีตะวันตกบ้าง เข้าชมวัตถุโบราณบ้าง ถ้ามีโอกาสก็จะไปฟังอภิปรายของนักการเมืองอย่าง แกลดสโตน ในสภาผู้แทนราษฎร และยังเขียนบทประพันธ์ส่งมาตีพิมพ์ในกัลกัตตาอยู่เนื่องๆ

               เขาเกลียดลัทธิจักรวรรดินิยม แต่ไม่เกลียดชาวต่างประเทศเป็นส่วนบุคคล ขณะอยู่ในอังกฤษเขาเคยพบคนเลว และเคยถูกโกงด้วย แต่เขาก็ยังคงยืนยันว่าคนดียังมีมากกว่า ที่น่าแปลกใจคือนักเรียนโรงเรียนไบรทัน ไม่เคยหยาบคายต่อเขาเลย ตรงกันข้ามบางครั้งยังแอบเอาผลไม้ พวกส้มบ้างแอปเปิ้ลบ้าง มาใส่กระเป๋าให้บ่อยๆ แล้ววิ่งหนีไป
             วันหนึ่งในฤดูหนาว รพินทรนาถ เดินไปตามถนนในทันบริดจ์ เวลส์ เห็นชายคนหนึ่งยืนอยู่ข้างทาง รองเท้าขาดจนนิ้วโผล่ออกมา เขาจึงหยิบเหรียญส่งให้ สักคูร่ชายคนนั้นก็วิ่งตามหลังมา พลางร้องว่า
               " ท่านครับ ท่านหยิบผิดแล้ว นี่มันเหรียญทองนะครับ " พูดจบก็ส่งคืนให้

              นักศึกษาทางสังคมอะไรสักอย่าง ให้ข้อคิดประการหนึ่งว่า การที่เพื่อนร่วมชาติไม่ยอมยกย่อง รพินทรนาถ เท่ากับบุคคลชั้นนำอื่นๆ ก็เพราะเขายึดมั่นต่ออุดมคติ แห่งสากลนิยมเป็นสำคัญนั่นเอง รพินทรนาถ กลับสู่มาตุภูมิ ในปี พ.ศ. 2423 โดยมิได้รับปริญญาสาขาใดๆเลย (แปลกไหมเล่าท่านทั้งหลาย เข้าใจว่าท่านมหากวีผู้นี้ของผม คงไม่ทราบว่าจะเอาไอ้เจ้ากระดาษปริญญานั่นไปทำอะไรดี หลังคาบ้านท่านคงไม่มีรอยรั่วนั่นเอง....ท่านจึงเลือกที่จะรับปริญญาชีวิตแทน... ผมจะโกรธมากถ้าใครบังอาจมานินทาท่านมหากวีในดวงใจของผมท่านนี้ว่า...ปัญญาทึบ)

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: รพินทรนาถ ฐากูร :คีตาญชลี
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: มิถุนายน 15, 2015, 11:58:16 am »
              ชีวิตครอบครัวของรพินทรนาถ เริ่มขึ้นเมื่อ อายุ 22 ปี โดยได้แต่งงานกับ มฤณาลิณี เทวี จากนั้นก็เริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงจัง รวมทั้งเขียนบทละครด้วย ในทรรศนะของเขา บทละคร คือการแสดงออกซึ่งความคิดเป็นสำคัญ ไม่ใช่การบรรยาย อากัปกิริยา เขายังได้ร่วมแสดงด้วยหลายเรื่อง

- กลุ่มดาวไม่ละอายเลยว่า มันจะปรากฎออกมาในลักษณะเดียวกับฝูงหิ่งห้อย
- นกกระจอกสงสารนกยูง ที่ต้องทนแบกน้ำหนักหางของตนเอง
- "ใครนั่นจะรับช่วงภาระของข้า" อาทิตย์อัสดงร้องถาม

                     ในฤดูร้อนของเบงกอล มีคนตายเพราะพิษแดดทุกปี รพินทรนาถจะหลบไปตากอากาศแถบเชิงเขาที่ไหนสักแห่ง และเขียนหนังสืออยู่ภายใต้หลังคาเตี้ยๆ ภายในห้องซึ่งมีเครื่องเรือนราคาถูกๆ และบ่อยทีเดียวที่ไม่ใช้พัดลม เขาชี้แจงว่า พลเมืองจำนวนหนึ่งในสามประเทศก็มีความเป็นอยู่กันเช่นนั้น อาหารของเขาใส่จานหินอ่อนสวยงาม ตามวิสัยของผู้รักความประณีต แต่ก็เป็นอาหารที่แสนจะธรรมดาทั่วไป ส่วนเสื้อผ้าที่แลดูสง่าก็ตัดเย็บด้วยผ้าพื้นเมือง   เขาไม่ชอบที่จะทำตัวให้เป็นภาระของใคร แม้จะกับคนในครอบครัวเดียวกันก็ตาม รพินทรนาถ นิยมสิ่งเรียบง่าย....

             หลังจากใช้ชีวิตร่วมกับ ภรรยาได้ 19 ปี มีลูก 5 คน มฤณาลิณี เทวี ผู้เป็นภรรยา ก็ถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ. 2445 รพินทรนา๔ได้เขียนบทกวีขึ้นเพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงความหลัง ให้ชื่อว่า " สมรณะ" หมายถึง ความทรงจำ และแทนที่จะท้อแท้สิ้นหวัง เขากลับประกาศชัยชนะ ออกมาว่า
              " แต่วันนี้ฉันตระหนักว่า เราทั้งสองได้พบกันแล้ว ณ ส่วนลึกแห่งหัวใจ "

                   อีกหกเดือนต่อมาแพทย์มีคำสั่งให้นำ เรณุกา ลูกสาวคนที่สองของเขาไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลบนภูเขา และขณะที่อยู่เป็นเพื่อนลูกสาว รพินทรนาถได้ปลีกเวลาเขียนบทกวีเรื่อง "ศิศ" หมายถึงเด็กๆ    ส่งมาให้ญาติอ่านให้ลูกชายคนสุดท้องชื่อ สมินทรนาถ วัยแปดขวบฟัง ตอนนั้นเขาอายุ 42 ปี แล้ว จึงสามรถเขียนได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ภายหลังได้แปลบางส่วนออกเป็นภาษาอังกฤษ โดยให้ชื่อว่า The Crescent Moon หรือ "จันทร์เสี้ยว" นั่นเอง

                 ชีวิตส่วนตัวของรพินทรนาถ ทุ่มเทให้กับลูกๆ อย่างเต็มกำลังสามรถ เขาทำหน้าที่ทั้งพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน บทเพลงที่เห่กล่อม นิยายสั้นๆ ที่เล่าให้ลูกๆฟังของเขา ได้กลายเป็นวรรณกรรมอันบริสุทธิ์งดงาม
                  มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ติดตามงานเขียนของรพินทรนาถมาโดยตลอด จนในที่สุดก็ลงมติให้คณะผู้แทนนำเอาปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มามอบให้ถึงมหาวิทยาลัยวิศวภารตี เมื่อปี พ.ศ. 2483
                 จากนั้น รพินทรนาถ ต้องเดินทางไปรักษาตัว เกี่ยวกับโรคกระเพาะปัสสาวะที่ กาลิมปอง   ซึ่งเป็นเมืองอยู่ที่เชิงเขาหิมาลัย หลังจากกลับมาแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น แพทย์วินิจฉัยให้ไปรักษาในเมืองกัลกัตตา หลังผ่าตัดรพินทรนาถมือสั่นจนเขียนหนังสือไม่เป็นตัว แต่ทว่าสมองยังคงแจ่มใสโลดแล่น
               รุ่งเช้าของวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2484 เขาอาศัยบอกปากเปล่าให้เลขานุการจดบันทึก บทกวีชิ้นสุดท้าย ซึ่งจบลงในวรรคที่ว่า....

             "รางวัลชิ้นสุดท้าย ซึ่งเขานำไปรวมไว้ในที่เก็บของ คือ สิทธิอันมิอาจทำลายได้ มันหมายถึงสิทธิที่จะพักผ่อนอย่างสงบ...."                                     

            รพิทรนาถ ฐากูร มหากวี หลับตาลงชั่วนิรันดร์ ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2484 ณ คฤหาส์นหลังเดียวกับที่ท่านได้ถือกำเนิดมา เมื่อ 80 ปี ก่อนโน้น.

" การพักผ่อนเป็นสมบัติของการทำงาน
เช่นเดียวกับที่เปลือกตาเป็นสมบัติของดวงตา "
                                                  รพินทรนาถ ฐากูร.

http://www.baanjomyut.com/library/tagore/page6.html

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: เราทอดทิ้งเด็กของเรามากเท่าไร!
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: มกราคม 09, 2016, 06:08:25 pm »


ท่านรพินทรนาถนักปราชญ์ใหญ่
ได้เล่าเรื่องราวไว้ว่าวันหนึ่ง
เด็กน้อยนั่งดูฟ้าพาคำนึง
อยากจะไปให้ถึงที่สุดฟ้า

พลันขนนกสีขาวค่อยคว้างหล่น
ร่วงลงริมร่มสนบนเนินหญ้า
เด็กน้อยดีใจรีบไขว่คว้า
หยิบขึ้นมาปัดแก้มแย้มยินดี

“แน่แล้วนี่ปุยเมฆละมุนละไม
จากฟ้าไกลร่วงถลามาถึงนี่
ช่างสะอาดบอบบางออกอย่างนี้
ใครจะมีโชคบ้างเหมือนอย่างเรา”

ดีใจได้ของดีวิเศษสุด
มีค่ากว่ามงกุฎสักร้อยเท่า
เด็กน้อยหยิบกลีบเมฆอันบางเบา
รีบวิ่งคืนสู่เหย้าในทันใด

ร้องเรียกแม่... “แม่แม่..แม่จ๋า
แม่มาดูซี นี่เห็นไหม
ทายซิว่าของดีนี่อะไร
หนูเก็บได้ให้แม่...แม่ดูซิ”

เด็กน้อยย่องมายังข้างหลังแม่
“แม่ต้องชอบแน่แน่...แม่ดูสิ...”
ขนนกปัดแก้มแม่ค่อยแจ๊ะจิ๊
เด็กน้อยยิ้มแก้มปริดีใจนัก

แม่กำลังทำงานอันหนักหนา
ดึงขนนกกระชากมาแล้วปาปัก
“ไปเก็บของอะไรมาไม่น่ารัก
ไม่รู้จักขนนกสกปรกจริง!”

นับตั้งแต่บัดนั้นถึงบัดนี้
เด็กน้อยได้อะไรดีมีค่ายิ่ง
ไม่ให้แม่ได้รู้ดูติติง
เราทอดทิ้งเด็กของเรามากเท่าไร!

...เราทอดทิ้งเด็กของเรามากเท่าไร!...
‪#‎บทกวี‬ ‪#‎เนาวรัตน์พงษ์ไพบูลย์‬ ‪#‎หยุดสักนิดคิดสักหน่อย‬
#‎เรื่องสั้นวันเด็ก‬ ‪#‎เสาร์9มกราคม2559‬ ‪#‎ภาพ‬ ‪#‎ประคองกูลพงษ์ไพบูลย์‬


Happy Little Eyes ได้เพิ่มรูปภาพใหม่ลงในอัลบั้ม: • รวมภาพ
• ข้อคิด บทกวี ดี๊ดี • กวีเฟซบุ๊ค & เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ ^^