กลางดึกคืนหนึ่งขณะที่หลวงปู่กำลังจำวัดอยู่ ท่านได้สะดุ้งขึ้นอย่างแรง พระผู้ปฏิบัติอยู่ใกล้ๆ ต่างรีบจัดหมอนและผ้าห่มถวายท่าน องค์หนึ่งสงสัยจึงกราบเรียนถามท่านว่า ท่านสะดุ้งตื่นด้วยเหตุใด หลวงปู่เลยบอกศิษย์ว่า ดูเมื่อกี้นี้ ไม่เห็นพระมีแต่จระเข้อยู่เต็มกุฏิ
ไปดูซิ นอนอยู่ใต้ถุนตัวหนึ่ง นอนอยู่บนเตียงตัวหนึ่ง ตัวใหญ่ๆ นอนอยู่ตรงกลาง ไปดูซิ...ใช่ไหม...
พระเณรรีบไปดู ก็จริงดังท่านว่า...!
กล่าวคือ แทนที่จะเห็นภาพพระเณร ศิษย์ของท่านกำลังนั่งภาวนาอย่างเอาเป็นเอาตาย ให้สมกับที่ปวารณาตัวถวายเป็นศิษย์พระกรรมฐาน แต่กลับมีพระเณรนอนอยู่ใต้ถุน...บนเตียง...องค์ใหญ่นั้นนอนตรงกลาง....
ไม่น่าประหลาดใจที่ทำไมบรรดาศิษย์จึงเกรงกลัวท่านกันนัก ท่านไม่ต้องลุกเดินไปตรวจตราดูใคร ท่านเป็นอัมพาต นอนอยู่กับที่ แต่ท่านก็ทราบได้ดีว่า ศิษย์คนไหนภาวนาหรือไม่
ผู้ไม่ภาวนา ท่านเห็นเป็นภาพจระเข้นอนกลิ้งเกลือกกองกิเลสอยู่...!
หลวงปู่เตือนเสมอถึงภัย ๔ อย่างของพระกรรมฐาน ท่านสอนให้ศิษย์ของท่านควรระวัง...ระวังเหมือนถ้าเฮาจะลงไปในฮ้วงน้ำข้ามโอฆสงสารก็ต้องระวังภัย ๔ อย่างคือ คลื่น หนึ่ง จระเข้ หนึ่ง วังน้ำวน หนึ่ง....และปลาร้าย อีกหนึ่ง ท่านบอกศิษย์ให้ระวัง ทั้งคลื่น ทั้งจระเข้ ทั้งวังน้ำวน และปลาร้าย
ความดื้อดึงไม่อดทนเชื่อฟังต่อโอวาทที่ครูบาอาจารย์พร่ำสอนแนะนำ
เปรียบด้วยภัย คือ คลื่น
ความเห็นแก่ปากแก่ท้อง เห็นแก่หลับแก่นอน ไม่บำเพ็ญเพียร
เปรียบด้วยภัย คือ จระเข้
กามคุณ ๕ อย่าง...รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
เปรียบด้วยภัย คือ วังน้ำวน ใครหลงติดกามคุณทั้ง ๕ นี้ ก็จะ “ติด” เหมือนลิงติดตัง อยู่ในวังน้ำวน และมีแต่จะถูกกระแสน้ำดูดจมลงอย่างไม่ต้องสงสัย
มาตุคาม
ที่พระพุทธเจ้าสอนพระอานนท์ไว้ก่อนจะเสด็จปรินิพพานว่า...ควรหลีกเลี่ยงไม่พบปะด้วย...หากจำเป็นต้องพบปะก็ไม่ควรพูดด้วย...หากจำเป็นต้องพูดด้วยก็ต้องพูดด้วยความสำรวมมีสติ...ท่านเปรียบด้วยภัย คือ ปลาร้าย...!
ผู้จะผ่านพ้นโอฆสงสาร หรือห้วงน้ำใหญ่ ไปถึงพระนิพานได้ จะต้องอาศัยหลักของความเชื่อ...ต้องเชื่อมั่นในหลักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เชื่อมั่นในปฏิปทาทางดำเนินของครูบาอาจารย์ จะต้องมีความเชื่อมั่นแน่นอนว่า มรรคผลนิพพานเป็นของมีอยู่จริง เมื่อเราเชื่อว่า มรรคผลนิพพานมีอยู่จริง เราก็ปฏิบัติมุ่งต่อมรรคผลนิพพานได้ เมื่อเราเชื่อว่ามนุษยสมบัติมี สวรรคสมบัติมี เราก็ทำทาน รักษาศีล ไหว้พระ เจริญเมตตาภาวนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
เมื่อเราเชื่อว่าจิตของเราเป็นธรรมชาติที่ไม่ตาย รูปร่างกายเราต่างหากที่แตกดับ เมื่อเราเชื่อว่าโอวาทคำสอนของครูบาอาจารย์ เราก็ขวนขวายสร้างคุณงามความดี สร้างบุญกุศล เป็นอริยทรัพย์อริยบารมีฝังไว้สำหรับติดตัวเราไปทุกชาติทุกภพ จนกว่าจะถึงพระนิพพาน
ถ้าเราไม่เชื่อโอวาท ไม่เชื่อกรรมดีกรรมชั่ว จิตใจก็หวั่นไหวเป็นลูกคลื่นมากระทบจิตใจ สู้คลื่นแรงที่ซัดโถมมาไม่ไหวก็อาจจะจมน้ำตาย
ผ่านคลื่นมาได้ หากมาติดการเห็นแก่ปากท้อง ไม่ปรารภความเพียรถูกจระเข้ร้ายฟาดฟันงับลงสู่ใต้ท้องน้ำ หรือกลายเป็นจระเข้ไปเสียเอง ดังนิมิตเกิดขึ้นฟ้องหลวงปู่ก็ได้
ผ่านคลื่น ผ่านจระเข้ ก็อาจมาติดวังน้ำวน มัวรัก มัวชอบ มัวหวง มัวห่วง มัวอาลัย ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เกิดความยึดถือมั่นหมายว่าเป็นของเรา เดี๋ยวเจ็บ เดี๋ยวป่วย กลัวเป็นหนัก กลัวล้มตาย กลัวแก่ กลัวตาย ไม่แต่ร่างกายของเรา แม้ที่อยู่ ที่อาศัยก็ห่วงก็หวง กลัวชำรุด ทรุดโทรม ร่างกายของคนอื่น ก็ห่วง ก็หวง ก็อาลัยไปด้วย จิตใจก็หวั่นไหว แหวกว่ายอยู่กลางวังน้ำวน หลงยึด หลงติด ก็ถูกกระแสน้ำดูดลงสู่วังน้ำวน เป็นวัฏฏวนตลอดไป
หลบคลื่น หลบจระเข้ หลบวังน้ำวน เผลอๆ อาจจะถูก ‘ปลาร้าย’ จับกินเป็นภักษาหาร ศิษย์ของท่านเองก็ต้องสึกหาลาเพศออกไปนักต่อนักแล้ว ท่านจึงเตือนศิษย์เสมอถึงภัย ๔ อย่างของผู้ภาวนา
จากหนังสือ : ฐานสโมบูชา หน้า ๙๒-๙๔
http://variety.teenee.com/saladharm/31330.html