โย ทุกฺขมทฺทกฺขิ ยโตนิทานํ
กาเมสุ โส ชนฺตุ กถํ นเมยฺย
อุปธิํ วิทิตฺวาน สงฺโคติ โลเก
ตสฺเสว ชนฺตุ วินยาย สิกฺเข.
ผู้ใดเห็นทุกข์ว่าเกิดเพราะกาม,
ผู้นั้นจะพึงน้อม (จิต) ไปในกามได้อย่างไร
ผู้รู้จักอุปธิว่าเป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว
พึงศึกษาเพื่อกำจัดอุปธิเสีย.
(พุทฺธ) สํ.ส. ๑๕/๑๗๐.
ทุกข์ แปลว่า สิ่งที่ดำรงคงทนอยู่ได้ยาก คือทุกๆ สิ่งที่ไม่คงทน ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หมายถึงความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เช่น ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาแล้วไม่ได้สมหวัง ก็เป็นทุกข์ รวมความก็คือ ขันธ์ ๕ นั่นเองเป็นทุกข์
กาม ก็คือความใคร่ในอารมณ์ที่น่ารักใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ได้แก่ กิเลสกาม กิเลสเป็นเหตุให้เกิดความใคร่ หมายถึงกิเลสที่ทำสันดานให้เศร้าหมอง มีราคะ ความกำหนัดยินดี โลภะ ความโลภ อิจฉา ความอยากได้ เป็นต้น วัตถุกาม พัสดุอันน่ารักใคร่ ได้แก่ กามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นส่วนอิฏฐารมณ์ที่สัตว์พอใจรักใคร่ ปรารถนากิเลสเหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้นในสันดานของบุคคลใด ก็เป็นเหตุยังจิตของบุคคลนั้นให้เกิดความดิ้นรน กระวนกระวาย ทะเยอทะยาน จนกลายเป็นความขุ่นมัวเศร้าหมองไปตามอำนาจของกิเลสนั้นๆ
อุปธิ ก็คือกิเลส หมายถึงสิ่งนุงนัง สภาวะที่กลั้วกิเลส สิ่งที่ระคนด้วยกิเลส ๑.ร่างกาย ๒.สภาวะอันเป็นที่ตั้งที่ทรงไว้แห่งทุกข์ ได้แก่ กามกิเลส เบญจขันธ์ และอภิสังขาร เมื่อกล่าวโดยสรุปก็คือ กรรมกับกิเลสนั่นเอง พระอริยบุคคลเท่านั้น ท่านละกรรมและกิเลสได้ในระดับต่างๆ จนถึงพระอรหันต์ ท่านละกรรมและกิเลสได้โดยสิ้นเชิงจนบรรลุพระนิพพาน เป็นความสงบจากอุปธิคือกิเลสอย่างแท้จริง
ผู้มีปัญญามาพิจารณาเห็นว่าทุกข์ คือ สิ่งที่ดำรงคงทนอยู่ได้ยากว่าเกิดขึ้นเพราะกาม คือความใคร่ในอารมณ์อันน่ารัก น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ได้อย่างแจ่มแจ้งแล้ว ไม่พึงน้อมจิตไปในกามได้เลย และผู้รู้จักอุปธิคือกิเลสว่าเป็นเครื่องข้องสภาวะที่กลั้วไปด้วยกิเลสในโลกแล้ว ผู้นั้นพึงศึกษาด้วยปัญญาอันเฉียบแหลม เพื่อกำจัดอุปธิเสียได้.
จาก : พุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๓
ฉบับมาตรฐาน (โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง)
วัดพิชโสภาราม
โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำจังหวัดอุบลราชธานี แห่งที่ ๑
สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุบลราชธานี แห่งที่ ๓
เลขที่ ๔๓ หมู่ ๒ บ้านเรืองอุดม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ
จ.อุบลราชธานี ๓๔๑๗๐ โทร. ๐ ๔๕๒๑ ๘๐๒๐
-http://www.watpitchvipassana.com/buddhist-proverb-338.html
..
..
อุปธิ ๔ : อุปธิ ๑๐
http://www.tairomdham.net/index.php/topic,7566.0.html