ผู้เขียน หัวข้อ: จิตวิวัฒน์ : คำสอนสุดท้ายของหลวงพ่อคูณ โดย พระไพศาล วิสาโล  (อ่าน 1031 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน 2558

ในรอบปีที่ผ่านมา การมรณภาพของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ หรือ พระเทพวิทยาคม เป็นข่าวใหญ่ที่สุดข่าวหนึ่ง แม้จะมีพระมหาเถระและเกจิอาจารย์เป็นอันมากละสังขารไปในช่วงดังกล่าว ก็ไม่เป็นข่าวดังเท่ากับการสิ้นลมของหลวงพ่อคูณ และหากมีการพระราชทานเพลิงศพของท่านอย่างที่นิยมปฏิบัติกันโดยทั่วไป ก็เชื่อได้ว่าจะเป็นข่าวใหญ่ระดับชาติที่ผู้คนทั้งประเทศตั้งตารอคอยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่างานดังกล่าวมิอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะหลวงพ่อคูณได้เขียนไว้ในพินัยกรรมของท่านอย่างชัดเจนว่า “ห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ โกศ และพระราชพิธีอื่นๆ เป็นกรณีพิเศษเป็นการเฉพาะ” ยิ่งกว่านั้นท่านยังกำชับว่า งานศพของท่านั้น “ให้จัดงานแบบเรียบง่าย ละเว้นการพิธีสมโภชใดๆ” ว่าจำเพาะพิธีกรรมทางศาสนา ท่านระบุว่า ให้มีการสวดอภิธรรมศพ เพียง ๗ วันเท่านั้น

ใช่แต่เท่านั้นท่านยังได้สั่งเสียอย่างชัดเจนว่า “ศพของอาตมา ให้มอบแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใน ๒๔ ชั่วโมง หลังจากมรณภาพลง” เพื่อเป็น “อาจารย์ใหญ่”ให้แก่นักศึกษาแพทย์ นี้เป็นการให้ครั้งสำคัญและครั้งสุดท้ายของหลวงพ่อคูณ ในยามที่ยังมีชีวิตท่านให้ทุกอย่างที่ท่านมีหรือได้มา ไม่ว่า เงินทอง วัตถุมงคล และคำสอน ด้วยเมตตาจิตอันใหญ่หลวง สมกับโวหารที่กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวท่านว่า “กูให้มึง” เป็นการสอนด้วยการกระทำตลอดทั้งชีวิตว่า “ยิ่งเอามันยิ่งอด ยิ่งสละให้หมดมันยิ่งได้” สุดท้ายเมื่อท่านสิ้นลม แม้เอาอะไรไปไม่ได้เลยสักอย่าง แต่ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ให้ได้ นั่นคือ ร่างกายของท่าน

นอกจากเจตนาที่จะให้จน “หยดสุดท้าย” เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้คนแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งก็คือหลวงพ่อคูณไม่อยากให้ผู้คนเดือดร้อนเพราะท่าน ดังท่านได้กล่าวไว้หลายปีก่อนมรณภาพว่า “กูเองไม่อยากเป็นภาระกับคนอื่น ....กูไม่ต้องการให้ศิษยานุศิษย์เดือดร้อน หรือเกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อยามที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อไม่ต้องการให้เกิดเป็นปัญหาระหว่างลูกศิษย์ด้วยกัน”

หลวงพ่อคูณคงเห็นอยู่เนืองๆ ว่า งานศพพระมหาเถระชื่อดังนั้นมักสิ้นเปลืองเงินทองอย่างมากมาย อีกทั้งยังมักก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างลูกศิษย์ลูกหาทั้งพระและฆราวาส เนื่องจากมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับการจัดพิธีศพ ยังไม่ต้องพูดถึงการทะเลาะเบาะแว้งเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นเพื่อตัดปัญหาเหล่านี้ ท่านจึงเขียนระบุไว้ในพินัยกรรมของท่านอย่างชัดเจนดังกล่าว

๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ คือวันที่หลวงพ่อคูณมรณภาพ สิ่งที่ท่านปรารถนาได้ปรากฏเป็นจริง งานศพของท่านเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีการนำศพของท่านไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านไร่ตามที่ลูกศิษย์จำนวนหนึ่งขอร้อง สังขารของท่านถูกเคลื่อนไปยังมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมีการสวดพระอภิธรรมที่นั่นเป็นเวลา ๗ วัน ตามที่ท่านระบุไว้ เหตุการณ์ผ่านไปด้วยดี ไม่มีความวุ่นวายหรือความขัดแย้งเกิดขึ้นในหมู่ลูกศิษย์ลูกหา

อย่างไรก็ตามน่าคิดว่าหากพินัยกรรมของท่านระบุเพิ่มเติมว่า ท่านอยากให้ปฏิบัติกับร่างกายของท่านอย่างไรในช่วงที่ท่านป่วยหนักในระยะสุดท้ายและไม่รู้สึกตัวหรือไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ก็เป็นไปได้ว่าชั่วโมงท้ายๆ ของท่านจะไม่กลายเป็นช่วงเวลาแห่งความโกลาหลวุ่นวาย ดังที่ได้เกินขึ้นในช่วง ๓๐ ชั่วโมงสุดท้ายของท่าน

จากปากคำของพยาบาลที่ดูแลหลวงพ่อที่วัดบ้านไร่ ประมาณ ๕.๔๕ น.ของวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พบว่าหลวงพ่อมีอาการหมดสติไม่รู้สึกตัว จึงรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ เมื่อแพทย์มาถึงก็พบว่า หลวงพ่อคูณหยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้นแล้ว จึงทำการปั๊มหัวใจเป็นเวลา ๑ ชั่วโมง เมื่อหัวใจกลับมาเต้นใหม่ ได้ใส่เครื่องช่วยหายใจ พร้อมทั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจ แล้วรีบส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ประมาณ ๒๐.๐๐ น. แพทย์รายงานว่า หลวงพ่อมีสัญญาณชีพไม่คงที่ รวมทั้งมีเลือดออกในทางเดินอาหารจำนวนมาก นอกจากนั้นไตยังหยุดทำงาน เป็นผลให้ไม่มีปัสสาวะออกจากร่างกาย ทั้งนี้ เกิดจากปอดและหัวใจ หยุดทำงานเป็นเวลานาน วันรุ่งขึ้น แพทย์พบว่าระบบหายใจของหลวงพ่อล้มเหลวและหัวใจหยุดเต้นอีกครั้ง จึงทำการปั๊มหัวใจอีก แม้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ แต่อาการของหลวงพ่อก็ยังคงทรุดลงเป็นลำดับ

กระทั่งเวลา ๑๑.๔๕ น. แพทย์ก็ประกาศว่าหลวงพ่อคูณได้มรณภาพแล้ว ต่อมา น.พ.พินิศจัย นาคพันธุ์ หัวหน้าคณะแพทย์ได้แถลงข่าวโดยให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า หลวงพ่อมรณภาพ เนื่องจากหยุดหายใจ เพราะมีลมรั่วเข้าไปภายในปอด หรือที่เรียกว่าปอดแตก ทำให้หัวใจหยุดเต้น จนต้องปั๊มหัวใจเป็นเวลานานถึง ๑ ชั่วโมง ครั้นมาถึงโรงพยาบาลแล้ว. ยังต้องปั๊มหัวใจเพิ่มถึง ๒ รอบ แต่ด้วยความที่หลวงพ่อหมดสติตั้งแต่อยู่ที่วัดบ้านไร่แล้ว เมื่อหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นเป็นเวลานาน ก็ส่งผลให้อวัยวะอื่นๆ วิกฤตตามไปด้วย เข้าสู่ภาวะสมองตายตั้งแต่แรก ต่อมาแพทย์พยายามยื้อหัวใจ และปอด จนมาถึงไต แต่แล้วในที่สุด อวัยวะสำคัญก็ล้มเหลวลงทั้งหมด หลวงพ่อจึงถึงแก่มรณภาพ

เห็นได้ชัดว่าแพทย์พยายามยื้อชีวิตของหลวงพ่อทุกวิถีทาง แต่ก็ไม่สำเร็จ แต่ถึงแม้สำเร็จ หลวงพ่อก็คงมีสภาพไม่ต่างจาก “ผัก” คือไม่รู้สึกตัว เนื่องจากสมองขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน แพทย์เองก็ยอมรับว่าหลวงพ่อเข้าสู่สภาวะสมองตาย (อาจจะตั้งแต่ที่วัดบ้านไร่แล้ว) เหล่านี้ย่อมไม่ใช่สภาวะที่หลวงพ่อปรารถนาเป็นแน่ เพราะท่านไม่ต้องการให้ตัวท่านเป็นภาระแก่ใครมาตั้งแต่แรกแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงว่าท่านไม่มีความหวงแหนในชีวิต ชนิดที่จะต้องยื้อให้ยืนยาวที่สุดไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม เพราะท่านเห็นว่าความตายเป็นธรรมดา

น่าคิดต่อไปด้วยว่าสังขารวัย ๙๑ ของหลวงพ่อซึ่งล้มป่วยมานานนับปี เข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง จะสามารถทนการปั๊มหัวใจถึง ๒-๓ ครั้งได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตามสำหรับแพทย์แล้ว ย่อมไม่มีทางเลือกอื่น หากคนไข้หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ย่อมจำต้องพยายามช่วยชีวิตเอาไว้ก่อน เว้นแต่คนไข้ได้แสดงเจตนาล่วงหน้าว่าไม่ต้องการให้ทำเช่นนั้นเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิต หรือญาติ(และลูกศิษย์)ระบุไว้ชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ยื้อชีวิตคนไข้เพราะคนไข้ได้สั่งไว้ขณะที่ยังมีความรู้สึกตัวอยู่

ในทัศนะของพุทธศาสนา ชีวิตที่ดีไม่ได้หมายถึงชีวิตที่ยืนยาว แต่หมายถึงชีวิตที่ตั้งมั่นในธรรม ประกอบคุณงามความดี ถึงพร้อมด้วยประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน หรืออยู่อย่างไม่ประมาท ในทำนองเดียวกันการตายดีก็ไม่ได้อยู่ที่ว่า ตายที่ไหน ด้วยสาเหตุใด อายุเท่าไร แต่หมายถึงการตายด้วยจิตที่สงบ ปล่อยวางทุกสิ่ง ไร้อารมณ์เศร้าหมอง นั่นหมายความว่าก่อนตายก็ควรมีคุณภาพจิตที่ดี สำหรับปุถุชนคนทั่วไป บรรยากาศแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่เอื้อให้เกิดคุณภาพจิตดังกล่าว แต่หากบรรยากาศรอบตัวคนไข้ในวาระสุดท้ายเต็มไปด้วยความโกลาหล และมีการยื้อชีวิตด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย ที่ก่อให้เกิดทุกขเวทนา เช่น การปั๊มหัวใจ น่าสงสัยว่าบรรยากาศเช่นนี้จะเอื้อให้เกิดการตายดีได้เพียงใด

หลวงพ่อคูณเป็นผู้ที่จัดเจนในการบำเพ็ญทางจิต การยื้อชีวิตของท่านด้วยวิธีการต่างๆ ที่กล่าวมาย่อมไม่อาจรบกวนจิตหรือขัดขวางการตายดีของท่านได้ แต่คนทั่วไปยากจะทำเช่นนั้นได้ภายใต้บรรยากาศดังกล่าว ดังนั้นหากไม่ปรารถนาภาวะเช่นนั้น ควรตัดสินใจไว้แต่เนิ่นๆ ว่า เมื่อเจ็บป่วยจนเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิต อยากให้แพทย์ปฏิบัติกับร่างกายของตนมากน้อยเพียงใด จะยอมให้ปั๊มหัวใจ ใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือผ่าตัดใหญ่ ฯลฯ หรือไม่ หากไม่ประสงค์เช่นนั้น เพราะยอมรับความตาย ไม่ปรารถนาที่จะ “หอบสังขารหนีความตาย” ดังคำของท่านอาจารย์พุทธทาส หรือปรารถนาที่จะตายอย่างสงบ ก็ควรระบุเจตนารมณ์ดังกล่าวเอาไว้ล่วงหน้า ไม่เพียงแต่ทำพินัยกรรมที่จะมีผลหลังตายแล้วเท่านั้น

หลวงพ่อคูณได้สอนธรรมแก่ศิษยานุศิษย์จนถึงวาระสุดท้ายของท่าน คำสั่งเสียเกี่ยวกับการปลงศพของท่าน เป็นแบบอย่างที่ดีทั้งแก่พระและโยม แม้แต่ช่วงท้ายของชีวิตท่านก็ยังให้แง่คิดหรือบทเรียนเพื่อการเตรียมตัวตายที่พึงประสงค์ หากพิจารณาไตร่ตรองและนำไปปฏิบัติก็ย่อมเกิดประโยชน์แก่เรามิใช่น้อย

จาก http://jitwiwat.blogspot.com/2015/11/blog-post.html#more
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...