ผู้เขียน หัวข้อ: พลิกทุกข์ สู่สุขอย่างฉับพลัน  (อ่าน 2262 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
พลิกทุกข์ สู่สุขอย่างฉับพลัน
« เมื่อ: สิงหาคม 30, 2014, 04:43:33 pm »


สรุปคำสอนนิกายเซ็น ตอนที่ 1
 Category: พลิกทุกข์ สู่สุขอย่างฉับพลัน
Published on 03 September 2013
 Written by นิโรธ จิตวิสุทธิ์

หัวใจสำคัญของหลักธรรมคำสอนพุทธศาสนานิกายเซ็น ก็เป็นเช่นเดียวกับหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนานิกายเถรวาทนั่นเอง เพราะทั้งสองนิกายนี้ล้วนเป็นหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่มีพระศาสดาองค์เดียวกัน มิอาจจะแบ่งแยกหลักธรรมคำสอนเป็นสองสิ่ง ที่เรียกว่า “ทวิลักษณ์” ใด ๆ ได้



 ที่สำคัญยิ่งก็คือทั้ง เซ็น และ เถรวาท ก็เป็นเพียงชื่อเรียกเท่านั้นเอง โดยสภาวะแล้ว ก็หาได้มี เซ็น และมี เถรวาท แต่ประการใดไม่ นั่นเป็นเพราะทั้ง เซ็น และ เถรวาท ล้วนเป็นคำพูด หรือตัวอักษรที่มนุษย์บัญญัติขึ้น ก็มาจากความไม่มีไม่เป็นนั่นเอง นั่นก็คือ ทั้งคำพูดและตัวอักษรที่นำมาบอกกล่าวกัน เช่น คำว่า เซ็น  เถรวาท  ความว่าง  ความไม่ว่าง  ความไม่มี  ความไม่เป็น  หรือที่เรียกกันว่า “ภาวะ” และ “อภาวะ” นั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มี ไม่เป็น และล้วนแต่เกิดจากความคิดปรุงแต่งของมนุษย์ ทั้งนี้ การที่ธรรมชาติทั้งหลายมี 2 สภาวะ หรือหลายสภาวะ ก็เพราะความคิดปรุงแต่ง  เฉพาะอย่างยิ่งทันทีที่เริ่มต้นคิดปรุงแต่งในทางที่เป็นตัวเป็นตน เป็นเราขึ้นมา ก็ทำให้เกิด 2 สภาวะขึ้นอย่างฉับพลัน

ว่าไปแล้ว วัตถุสิ่งของหรือสรรพสิ่งที่กระทบหรือสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ที่เรียกกันว่า “อายตนะ” นั้น เป็นกระบวนการทำงานของรูป นาม หรือ ขันธ์ 5 ที่ส่งและรับต่อกันไป เข่น ทันทีที่รับรู้ทางอายตนะแล้วส่งไปที่ความจำ (สัญญา)  แล้วบันทึกไว้ จากนั้นก็ส่งต่อไปที่ความคิดปรุงแต่ง (สังขาร)  คือคิดนึกตามความรู้และความจำนั่นเอง ถ้าเป็นปุถุชน คิดปรุงแต่ง ก็จะปรุงแต่งว่าดีหรือเลว พอใจหรือไม่พอใจ สวยหรือน่าเกลียด แต่ถ้าเป็นความคิดปรุงแต่งของอริยชน หรืออริยสงฆ์ ก็จะปรุงแต่งว่า ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ เป็นเพียงสิ่งสมมุติ



เฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดปรุงแต่งใด ๆ ก็ไม่ใช่ความคิดปรุงแต่งของใคร
และ แท้ที่จริงแล้ว ไม่มีใครคิดปรุงแต่ง  ไม่มีใครเป็นผู้รู้  ไม่มีใครเป็นผู้จำ
ที่จำ ที่รู้ ที่คิดปรุงแต่ง ก็เป็นเพียงสักแต่ว่า ... เท่านั้นเอง



ว่าไปแล้วทั้งหลายทั้งปวงเป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นตามสภาวธรรม
หรือตามกฎธรรมชาติ หรือเป็นกฎของจักรวาล
หรือเป็นกระบวนการของสรรพสิ่งที่มีภาวะ “ความเป็นเช่นนั้นเอง
ที่เรียกว่า “ตถาตา
คือ สรรพสิ่งเป็นอย่างที่มันเป็น แม้มนุษย์จะตั้งให้มันเป็นอะไร
มันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้ง  ขอย้ำว่า มันเป็นอย่างที่มันเป็น
มิอาจจะบอกได้ว่ามันเป็นอะไร และมิอาจจะแบ่งแยกสรรพสิ่งด้วยความคิดและคำพูดใด ๆ ได้



กระนั้นเมื่อมนุษย์สมมุติว่า เป็น ว่า มี อย่างหนึ่ง อย่างใดแล้ว  ก็เอากายและจิตกระทำไปตามสมมุตินั้น  เช่นสมมุติว่า มีคนอยู่ในสังคม ก็ต้องสมมุติต่อไปว่า สังคมเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้  ในสังคมมีอย่างนั้น มีอย่างนี้

ดังนั้น จึงมีถ้อยคำ ตัวอักษร และภาษาเกิดขึ้น  เพื่อเป็นสื่อหรือเครื่องมือสำหรับมนุษย์สื่อสารต่อกัน  เพื่อที่จะรู้เรื่องราวต่าง ๆ และเพื่อที่จะได้มีชีวิตอย่างสะดวกสบาย เมื่อคนเข้าใจว่า คำพูดหรือภาษาเป็นเรื่องจริง ต่อมาสังคมมนุษย์เจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ  ก็ได้มีการบัญญัติสิ่งต่าง ๆ ขึ้นด้วยคำพูด เรียกว่า “วจีวิญญัติ” มากมายสุดคณานับ วจีวิญญัติ หมายถึงการกำหนดขึ้น  ตั้งขึ้น  เพื่อเป็นสื่อความหมายในการใช้พูดจา ทั้ง ๆ ที่บางเรื่องบางสิ่ง มนุษย์พูดขึ้นมาลอย ๆ สิ่งที่มนุษย์คิดนึกและพูดจากันนั้น หาได้เป็นของที่มีอยู่ เป็นอยู่ใด ๆ ไม่  และพูดแล้วก็ละลายหายไปกับอากาศธาตุ  เมื่อเกิดความคิดปรุงแต่งใหม่ ก็เก็บความคิดนั้นมาพูดซ้ำ หรือปรุงแต่งใหม่ จึงเกิดสุข เกิดทุกข์อยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญก็คือ มันปรุงแต่งหรือคิดปรุงแต่งแล้วก็ดับไป แล้วก็คิดปรุงแต่งใหม่ ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า

 แต่ถ้ามีสติรู้เท่าทันขันธ์ 5 ว่าแท้จริงแล้ว ขันธ์ 5 นั้น ไม่ใช่ ขันธ์ 5 ของใคร  และไม่เป็นตัวเป็นตน ดังนั้น ขันธ์ 5 จะคิดปรุงแต่งอย่างไร ก็ไม่มีใครไปทำอะไรมันได้ เพียงรู้แค่นี้ เรียกว่า “ปล่อยวางขันธ์ 5”  ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ละสักกายทิฐิ”  คือละความเห็นผิดเกี่ยวกับร่างกาย ว่าไม่เป็นใคร ไม่เป็นอะไร เป็นตถาตา เช่นนั้นเอง  ใครปล่อยวางได้ก็ดับทุกข์ได้ ทำให้ว่างจากผู้กระทำ (กรรม)  จึงไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิด (วัฏสงสาร)  คือเกิดความคิดในความเป็นที่เป็นตัวเป็นตนกันอีกต่อไป



อ่าน สรุปคำสอนนิกายเซ็น ตอนที่ 2

ตามหลักธรรมนิกายเซ็นแล้ว สรรพสิ่งมันเป็นเช่นนั้น  คือมีสภาวะแห่งความว่างเปล่า และปราศจากการยึดมั่น ถือมั่น อยู่แต่เดิม ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ต้องมีการปล่อย หรือวางใด ๆ เพราะความคิดปรุงแต่ง หรือคิดเอาเองว่า มีการยึดมั่น ถือมั่น หรือยึดติด ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใคร (คนไม่มี)  การยึดติดจึงไม่มี  สรรพสิ่งไหลเวียนเปลี่ยนแปลง ไม่คงทนคงที่  หรือไม่อยู่ในสภาพเดิมแม้แต่วินาทีเดียว

พูดอย่าง เถรวาท แล้ว หมายความว่า สรรพสิ่งเป็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) อย่างนั้นเองอยู่แล้ว  มนุษย์จึงหมดหน้าที่ใด ๆ ในการที่จะไปให้ค่า ให้ความหมาย หรือเข้าไปยึดเป็นเจ้าของสรรพสิ่งบนโลก 

แม้แต่จะคิดว่าร่างกายนี้เป็นเรา ก็ไม่ได้เป็นของเราจริง ๆ หรือจะยึดมั่น ถือมั่น ในกาย  หรือจะปล่อยวางกาย ก็มิได้เป็นจริง เป็นจะอะไร  เพราะกายก็ไม่มี เราก็ไม่มี แล้วจะเอาอะไรมาปล่อยอะไร  การไม่ปล่อยวางอะไรเลยนั่นแหละเป็นการปล่อยวางที่บริสุทธิ์จริง ๆ  เมื่อเราปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างปล่อยวางตัวของมันเอง นั่นก็คือจะเป็นการปล่อยวางที่บริสุทธิ์และเป็นการปล่อยวางที่แท้จริง

ด้วยเหตุที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวง (ธรรมะ) เป็นสิ่งที่เกิดจากความคิดนึกของมนุษย์ ที่พูดเอาเอง คิดเอาเอง ตามความจำและตามความรู้ของตน สรรพสิ่งมิได้เป็นสิ่งใดหรือเรื่องราวใด นั่นก็คือสรรพสิ่งมิได้มีอยู่เป็นอยู่อย่างจริงจังแต่ประการใด ที่เรียกเป็นภาษาธรรมะว่า เป็น “มายาภาพ” หรือของปลอม ของหลอกลวง ของไร้สาระ จึงยึดถือหรือเข้าไปยึดมั่นถือมั่นมิได้

แม้ผู้ใด จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นสักแต่พูดเอาว่า ยึดมั่น ถือมั่น และยึดถือไม่ได้  เพราะคำพูดดังกล่าวนี้ ก็เป็นเพียงสื่อ หรือคำพูดเท่านั้นเอง  ตามคำสอนของเซ็นแล้ว การยึดมั่น ถือมั่นก็เป็นแต่เพียงความคิดปรุงแต่ง ไม่มีความยึดมั่นที่เป็นจริงใด ๆ เลย

แม้แต่คำพูดว่า สรรพสิ่งเป็นมายา แท้ที่จริงแล้วไม่มีอะไรเป็นมายา หรือไม่เป็นมายาใด ๆ เลย  ขอย้ำว่า ตามสภาวธรรมแล้ว ไม่มีอะไรเป็นมายา หรือไม่เป็นมายา สิ่งภายนอกที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปนั้นเป็นธรรมดา เช่นนั้นเอง  ถ้าหากเราพูดว่า สรรพสิ่งล้วนเป็นมายา แสดงว่า เราก็ไปติดดี ติดชั่ว หรือไปหมายดี หมายชั่วอีก 

ดังนั้น จึงต้องกล่าวต่อไปว่า สรรพสิ่งเป็นทั้ง 2 ด้าน คือเป็นทั้งมายา และไม่เป็นมายา หมายถึง มิอาจจะบอกได้ว่าสรรพสิ่งมีสภาวะ หรือมีคุณลักษณ์อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่าง บอกได้แต่เพียงว่า สรรพสิ่งเป็นเช่นนั้นเอง หรือเป็นอย่างที่มันเป็น และเป็นอย่างที่มนุษย์ตั้งให้เป็น


อ่านสรุปคำสอนนิกายเซ็น ตอนที่ 3

กล่าวถึงที่สุดแล้ว มรรควิธี หรือพุทธวิถีแห่งเซ็น ที่เรียกว่า การปฏิบัติธรรมแบบเซ็น ก็คือการหุบปากอย่างเงียงกริบ โดยไม่จำเป็นต้องเอื้อนเอ่ยใด ๆ ให้ตนเองและคนอื่นรู้

เนื่องเพราะทุกคำพูด ทุกความคิดเห็น ทุกการกระทำ ที่ทางฝ่ายเถรวาทเรียกว่า “กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม” นั้นล้วนเป็นมายา เพราะว่ามันเป็นสิ่งปรุงแต่งที่เกิดขึ้นจากจิตคิดนึกที่ปราศจากสาระใด ๆ  หรือปราศจากความจริงแท้ (ปรมัตถธรรม)



ถ้ามีความคิดความเห็นว่า เป็นคน เป็นสัตว์สร้างกรรม กรรมก็จะเกิดขึ้นตามความคิดนึกหรือตามการกระทำ หากไม่มีคนไม่มีสัตว์เสียแล้ว  กรรมทั้ง 3 ก็จะสิ้นไปโดยอัตโนมัติ

ด้วยเหตุนี้ บรรดาอาจารย์เซ็นในอดีต จึงไม่ใช้คำพูด หรือตัวหนังสือในการอธิบายธรรม หรือใช้ภาษาเพื่อการอบรมสั่งสอนด้านใด ๆ นั่นเป็นเพราะ ท่านต้องการให้ศิษย์ก้าวพ้นทุกข์สู่สุขด้วยการเห็นด้วยตนเอง

อีกทั้งท่านมิต้องการให้ศิษย์ติดยึดในคำพูดอาจารย์  การสอนธรรมของปรมาจารย์เซ็นในอดีต จึงใช้วิธีหุบปากเงียบ  กระนั้น บางครั้งท่านก็สอนโดยวิธีตะโกน ตะคอก หรือตี ให้บรรดาศิษย์ที่เรียนเซ็นได้ตื่นรู้ด้วยตนเอง

ขณะที่อาจารย์เซ็นบางท่าน อาจจะตั้งคำถามให้ลูกศิษย์ตอบ เช่น ถามว่า “ก่อนที่เธอ (ศิษย์) จะเกิดมา  มีรูปร่างหน้าตาเป็นเช่นไร” เป็นต้น

กระนั้น แม้นิกายเซ็น เห็นว่าโลกจะประกอบด้วยความว่าง ปราศจากตัวตนเราเขา  แต่สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คน”  หรือ “มนุษย์” นี้ จำต้องอาศัยอยู่บนโลกนี้อย่างปกติสุข จึงต้องมีสัญญาประชาคม หรือสังคมต้องมีเงื่อนไขร่วมกัน จึงจะมีชีวิตบนโลกใบนี้ได้อย่างปกติสุข ดังนั้น เพื่อโลกียสุข หรือ โลกียวิสัย หรือเพื่อวิวัฒนาการไปตามโลกาภิวัฒน์ มนุษย์ผุ้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด จึงต้องดำรงตนอย่างชาวโลกทั้งหลาย มิใช่ต้องเป็นคนขวางโลกหรือทวนกระแสโลก

ดั่งคำกล่าวที่ว่า  “ปฏิบัติธรรมจนเห็นว่า ไม่มีสรรพสิ่งใดบนโลกนี้  มีแต่ความว่างเปล่า  แต่ต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่มี  และอยู่กับสิ่งที่ว่างเปล่านั้นแหละ  ไม่ต้องแยกตนเองออกจากสังคมแต่ประการใด”


อ่าน สรุปคำสอน นิกายเซ็น ตอนที่ 4

สรุปว่า สุดยอดคำสอนของเซ็นก็คือ การเปลี่ยนทัศนคติ หรือความคิดเห็นเสียใหม่ เฉพาะอย่างยิ่ง เปลี่ยนความคิดเห็นทางด้านอัตตาตัวตนเสียใหม่  จากที่เคยมีความคิด มีความเห็นว่า มีตัวมีตนจริง ๆ หรือมีรูป มีนาม เป็นตัวเป็นตน หรือคิดเห็นว่า มีคนเป็นหญิง เป็นชาย มีสรรพสิ่ง วัตถุสิ่งของ ก็ต้องคิดนึกเสียใหม่ หรือเปลี่ยนความคิดความเห็นเสียใหม่



นั่นคือต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า
ทั้งหลายทั้งปวง
ล้วนเกิดขึ้นจากความคิดความเห็นของมนุษย์



โดยสภาวะที่แท้ หรือ ในทาง “ปรมัติธรรม”  แล้ว
ไม่เป็นตัวเป็นตน ไม่เป็นรูป ไม่เป็นนาม
ไม่เป็นธาตุ ไม่เป็นขันธ์ ไม่เป็นคน ไม่เป็นสัตว์แต่ประการใด


สรุปว่าไม่มีบุคคล ไม่มีสัตว์ ไม่มีชีวิต ไม่มีสิ่งที่ไม่มีชีวิต และไม่มีสิ่งที่มีชีวิต มีแต่เพียงสิ่งสมมุติ คือสมมุติว่าเป็นคนหรือบุคคล  เรียกว่า “บุคละบัญญัติ” สมมุติว่าเป็นสัตว์ เรียกว่า “สัตวะบัญญัติ” สมมุติว่ามีชีวิต เรียกว่า “ชีวะบัญญัติ”

ทั้งนี้ อาจจะเรียกอีกประการหนึ่งว่า สรรพสิ่งเป็นแต่เพียง สักแต่ว่า ... เช่น สักแต่ว่าดู สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าลิ้มรส สักแต่ว่าร้อน สักแต่ว่าหนาว สักแต่ว่าทุกข์ สักแต่ว่าร่ำรวย สักแต่ว่ายากจน สักแต่ว่าเป็นผู้ว่า สักแต่ว่าเป็นนายก ฯ สักแต่ว่าเป็นคนเป็นสัตว์ สักแต่ว่าเป็นหญิงเป็นชาย เท่านั้นเอง

ดังนั้น จึงต้องระลึกรู้โดยไม่มีผู้ระลึกรู้ ซึ่งก็คือเป็นเพียงการประกอบของธาตุรู้ขึ้นมาตามสภาวะ  มิได้เป็นความรู้และความไม่รู้ของใคร  คือความรู้ที่ว่า ความคิดนี้สักแต่ว่าคิด จะคิดอะไร จะฟุ้งซ่านมากน้อยแค่ไหน ก็อย่าตามความคิดไป ให้มีสติเห็นความคิดเหล่านั้นว่า มันไม่ได้เป็นตัวตนของตน สักแต่ว่าคิดไปตามเหตุปัจจัยที่กระทบ

อริยชนหรืออริยสงฆ์ จึงไม่ให้ความสำคัญต่อความคิดนึกทั้งหลาย เพราะหากมัวแต่สนใจกับความคิดนึกปรุงแต่งแล้ว  ความคิดปรุงแต่งมันจะพาไปหาเหตุแห่งทุกข์อยู่ร่ำไป

ขอย้ำว่า การเห็นนี้ สักแต่ว่าเห็น เพราะอายตนะมันทำหน้าที่เป็นเพียงสื่อหรือเครื่องมือในการรับภาพ รับเสียง รับสิ่งต่าง ๆ เข้ามา เพื่อให้ขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) รับช่วงต่อ คือทำหน้าที่ปรุงแต่งต่อไป

ทางธรรมะฝ่ายเถรวาทจึงบอกว่าให้เป็นแต่เพียง “เห็นสักแต่ว่าเห็น”  อย่าได้นำสิ่งที่เห็นมาปรุงแต่ง และอย่าให้เกิดความสำคัญมั่นหมาย  เมื่อไม่ให้ความสำคัญ  มันจึงไม่มีความสำคัญพอที่จะทำให้เราต้องมีความสุขทุกข์กับมัน

ความจำนี้ สักแต่ว่าจำได้ ก็มันเคยบันทึกไว้  มันก็ส่งออกมาแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา มันไม่ใช่ว่าเราจำเก่ง เราจำแม่น เราดีกว่าเขา แม้ว่าจะมีความจำได้ดีกว่าเขา แต่เมื่อพออายุมากขึ้นก็ลืมเลือนพอกัน เพราะมันไม่ใช่ของใคร และความจำมันก็เสื่อมถอยไปตามกลไกธรรมชาติ

เฉพาะอย่างยิ่งมันคือร่างกาย มีการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปเรื่อย คือเซลล์เปลี่ยนแปลงแปรปรวน ถ้าจะไปยึดเกาะสิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมทำให้เป็นทุกข์ได้ตลอดเวลา

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลง การไหลไปของกระแสธรรมชาติ มันไหลไปตลอดเวลา ไม่ได้เป็นของใครแม้แต่น้อยนิด  เพียงแต่ถ้าใครอุปาทานว่าสิ่งนี้ ความคิดนี้ ความจำนี้ อารมณ์นี้เป็นของเรา เราก็ต้องรับผลจาก ขันธ์ 5 ที่มันปรุงแต่งให้เกิดหลากหลายอารมณ์

เฉพาะอย่างยิ่ง มันปรุงแต่งว่าเป็นของเขา ว่าเป็นของเรา อีกทั้งยังมีการปรุงแต่งสิ่งว่างเปล่าให้มีตัวตน และมีลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งที่มันเป็นแต่เพียงกลไกธรรมชาติเท่านั้น เมื่อเกิดความรู้สึกนึกคิดเป็นตัวตน ก็จะมีตัวเราผู้กระทำกรรม  ซึ่งก็ย่อมมีการบันทึกผลของกรรมนั้น ๆ การที่จิตมีการบันทึกไว้ก็จะเป็นการชดใช้ทั้งกรรมดีและกรรมชั่วต่อไป

ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เห็นว่าเป็นตัวเป็นตนหรือมีตัวมีตนจริง ๆ จึงต้องเวียนว่ายตายเกิด ใช้เวรใช้กรรมกันต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นั่นก็คือเมื่อมีตัวตนผู้กระทำ จึงมีตัวตนของผู้รับกรรม ต้องชดใช้กันไปไม่มีที่สิ้นสุด คือต้องเวียนเกิดเวียนตายเพื่อมาชดใช้กรรม อย่างที่มนุษย์กำลังกระทำกันอยู่ในทุกวันนี้


http://zensiam.com/feature/zen-literature/102-sorrowtohappy/71-zeninbrief01
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 30, 2014, 05:02:56 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: พลิกทุกข์ สู่สุขอย่างฉับพลัน
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 02, 2015, 12:41:53 pm »


ยิ่งคิดผิดยิ่งพูดผิดยิ่งทำผิดติดขันธ์ห้า
Category: พลิกทุกข์ สู่สุขอย่างฉับพลัน
Published on 10 October 2013
Written by นิโรธ จิตวิสุทธิ์

การปฏิบัติธรรมด้วยวิธีการลัดสั้น ทั้งแบบ เถรวาท และแบบ เซน ผสมผสานกัน เป็นวิถีทางที่จะเข้าถึงสัจจธรรมหรือความจริงที่เหนือความจริง คือความจริงที่เหนือโลกสมมติบัญญัติ ด้วยการไม่หลงยึดติดในตัวตนว่าเป็นของตน ไม่ยึดติดสมบัติพัศฐานหรือวัตถุ  และนามธรรมหรือสิ่งที่จับต้องไม่ได้

เช่น ยศถาบรรดาศักดิ์ ความดีความชั่ว ความสุขความทุกข์ ความยึดมั่นถือมั่น ความจำได้หมายรู้ (สัญญา) ความรู้สึกที่เกิดจากการสัมผัส (เวทนา) และความคิดปรุงแต่ง (สังขาร) รวมทั้งการรับรู้ทางอายตนะ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ซึ่งล้วนแต่เป็นระบบการทำงานของ ขันธ์ ๕ (อันเป็นสิ่งสมมติเรียกชื่อร่างกายและจิตใจ)

นั่นก็คือ ขันธ์๕  นี้ เป็นสิ่งสมมติบัญญัติขึ้น เพื่อให้เรียกกระบวนการทำงานของร่างกายและจิตใจอย่างเป็นระบบ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสภาวธรรมทางธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ที่เป็นนามธาตุที่เกิดดับ อันเป็นไปตาม กฎพระไตรลักษณ์ คือความเป็นอนิจจัง ความไม่แน่นอนตามลักษณะของสิ่งปรุงแต่ง ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งไม่จริงและเป็นสิ่งที่ไม่ถาวร

เฉพาะอย่างยิ่งความคิดปรุงแต่งว่ากายนี้เป็นของเรา หรือมีเราในกาย และความรู้สึกนึกคิดเป็นเรา หรือเราเป็นผู้รู้สึกนึกคิด ตลอดถึงความรู้สึกอื่นๆ ที่มีเราเป็นศูนย์กลาง เช่น เราดีเราชั่ว เราสุขเราทุกข์ เราฉลาดเราโง่ เราร่ำรวยเรายากจน จิตเราว่าง จิตเราสงบ จิตเราปรุงแต่ง เป็นต้น

เหล่านี้ล้วนแต่เป็นความรู้สึกนึกคิดที่ผิด  ซึ่งพระท่านเรียกว่าเป็น “มิจฉาทิฏฐิ” คือเป็นความรู้สึกนึกคิด  ที่เกิดจากความคิดหรือเกิดจากจิตคิดปรุงแต่ง



ผลจากการที่เกิดสำคัญผิด  หรือหลงผิดด้วยอวิชชาหรือความไม่รู้ ทำให้เกิดความคิดปรุงแต่ง (สังขาร) คือปรุงแต่งว่า ร่างกายและจิตใจ (นามรูป) เป็นตัวตนของตน หรือตัวเราของเรา หรือตัวกูของกู  จากนั้นก็กระทำผิดคิดผิดพูดผิดอีกมากมาย เมื่ออายตนะสัมผัส (ผัสสะ) กับสิ่งต่างๆ แล้วก็เกิดความพอใจหรือไม่พอใจต่อสิ่งที่สัมผัส จากนั้นก็เกิดความยึดติด (อุปาทาน) กระทั่งส่งผลให้เกิดความสุขความทุกข์ ความดีใจเสียใจติดตามมา ดังคำกลอนของ อาจารย์กตธุโร ที่ว่า

“ยิ่งคิดผิด ยิ่งพูดผิด ติดขันธ์ห้า
ยิ่งใฝ่หา ทางออก หลอกให้หลง
ยิ่งเรียนมาก ยิ่งถลำ ทำให้งง
ยิ่งพูดมาก ก็ยิ่งส่ง ลงอบาย

ยิ่งนั่งเงียบ เหมือนเหยียบ โมหะอยู่
ยิ่งอยากรู้ ยิ่งติดรู้ อยู่เหลือหลาย
ยิ่งพากเพียร ยิ่งติดเรียน จนแก่ตาย
ยิ่งเกิดใหม่ ก็ยิ่งตาย ตามตามกัน

หมดยิ่งยิ่ง ทุกสิ่งสรรพ ดับไม่เหลือ
หมดชาติเชื้อ หมดทุกอย่าง หมดสร้างสรรค์
แม้แต่หมด ก็หมดจด หมดนิพพาน
หมดกล่าวขาน หมดคำพูด หมดหยุดเลย

ความทุกข์ที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับมนุษย์ก็คือ ความทุกข์อันเกิดจากความกลัวตาย  นั่นคือเห็นว่าเพราะความตายจึงต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักและผูกพัน และกลายเป็นปัญหาชีวิตที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติ

ดังที่ พระพุทธเจ้าศาสดาแห่งพระพุทธศาสนาทรงค้นพบสัจจธรรม หรือความจริงนี้ว่า ทั้งร่างกายและจิตใจ (ขันธ์ 5)  เป็นสิ่งปรุงแต่งมาจากธรรมชาติ คือมาจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ธาตุว่างและธาตุรู้   ทั้งร่างกายและจิตใจ  ล้วนต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกันเป็นหนึ่งเดียว และล้วนเป็นแต่สมมติว่าเป็นขันธ์ 5 เป็นรูป เป็นนาม จากนั้นก็สมมติต่อไปว่าทั้งรูปและนามเป็น “อนิจจัง”  “ทุกขัง” “อนัตตา” และเห็นกันว่ามันเกิดดับ  และเสื่อมสลายไปสู่ความว่างเปล่าทั้งสิ้น แต่ผู้ที่ไม่รู้สมมตินั้น  ไม่รู้ว่า ขันธ์ 5 เป็นสิ่งสมมติและมาจากสิ่งว่างเปล่า

ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่าสรรพสิ่งรวมทั้ง ขันธ์ 5 ล้วนแต่เป็นมายาภาพ  หรือเป็นสิ่งที่ไม่จริง เพราะหากเป็นสิ่งจริงก็สามารถบังคับให้มันอยู่คงที่ได้ดังนั้นใครจึงมิอาจเข้าไปยึดถือใน ขันธ์ 5 ว่าเป็นตัวตนของเราหรือเป็นเราได้เลย

เมื่อใดที่รู้แจ้งแทงตลอดด้วยปรีชาญาณ  ก็จะเห็นว่าร่างกายและจิตใจ (ขันธ์๕)  เป็นสภาวะธรรมชาติมิได้เป็นของใคร และกายใจนี้มิได้มีมาก่อน หากแต่มีขึ้นเพราะเหตุปัจจัยคือเพราะมีโลกจึงมีสิ่งมีชีวิตอุบัติขึ้นในโลก มนุษย์จึงเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย คือเกิดขึ้นเพราะสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นก่อน มนุษย์จึงอุบัติขึ้นตามมา

สรุปว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นจากความว่างเปล่า  และเป็นสิ่งสมมติไม่ได้มีอยู่หรือไม่มีอยู่จริง จึงไม่ควรหลงเข้าไปยึดสิ่งต่างๆ ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล มีตัวตนหรือไม่มีตัวตน กระนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เป็นสิ่งที่ว่างเปล่าก็มิใช่  และไม่ว่างเปล่าก็มิใช่เพราะเนื้อแท้ของมันนั้น  มันดำรงสภาวะแห่งความเป็นเช่นนั้น มิอาจที่จะเติมความคิดปรุงแต่งต่อสิ่งนั้น ว่ามี ว่าเป็น ว่าว่างหรือไม่ว่างใดๆ ได้

เมื่อใดที่เห็นว่ามีว่าเป็น หากไม่เห็นว่าสรรพสิ่งล้วนว่างเปล่าทั้งสิ้น ความทุกข์ความกลุ้มใจของมนุษย์ก็จะเกิดขึ้นเพราะความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ล้วนเกิดจากความคิดปรุงแต่งต่อสรรพสิ่ง ว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นคนเป็นสัตว์  เช่นเห็นว่าสวยงามน่าเกลียด ดีเลว มีอยู่ไม่มีอยู่ มีค่าไม่มีค่า ทั้งๆ ที่มันไม่มีค่าหรือปราศจากค่าปราศจากราคา ดังคำกลอนของอาจารย์กตธุโรที่ว่า

“คนไม่มีสัตว์ไม่มีที่ไหนไหน
แม้ต้นหมากรากไม้ไม่เห็นหน
ถ้าไม่ตั้งชื่อมันภาษาคน
ใครจะสนหรือไม่สนคนตั้งเอง

ตั้งแล้วยึดว่าเป็นจริงทุกสิ่งอย่าง
จึงหลงผิดติดทางอย่างโง่เขลา
เลยฆ่าแย่งแบ่งจองว่าของเรา
ผลสุดท้ายตายเปล่าเราไม่จริง

มาหลงตายหลงเกิดเลิศกว่าสัตว์
หลงสมบัติว่าดีดุจผีสิง
เลยทุกข์หนักท่วมท้นไม่พ้นจริง
ยังอวดหยิ่งว่าเลิศเกิดเป็นคน”

สิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้นล้วนเกิดจากความหลงผิดหรือหลงคิด  เฉพาะอย่างยิ่งความไม่รู้  (อวิชชา)เพราะหากมนุษย์รู้และเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ว่าสรรพสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและไม่ได้สร้างขึ้น  รวมทั้งตัวมนุษย์เอง ล้วนเป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติอย่างหนึ่ง  และล้วนแต่เป็นมายา คือเป็นของไม่จริงหรือของปลอม  ดังนั้นสรรพสิ่งที่อยู่บนโลก  จึงไม่มีค่ามีราคาและเป็นสิ่งไร้สาระทั้งสิ้น


: http://zensiam.com/index.php/feature/zen-literature/102-sorrowtohappy/159-talkmissing