ในโอกาสวันมาฆบูชาปีนี้ เราขอถ่ายทอดแง่คิดดีๆ เป็นธรรมะในการใช้ชีวิตสำหรับผู้หญิง
พระผู้เทศน์ให้เข็มทิศจิตใจแก่เรา ก็คือ ภิกษุณีธัมมนันทา แห่งวัตรทรงธรรมกัลยาณี อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ผู้ศึกษาธรรมะอย่างรู้จริงถ่องแท้ และตัดสินใจบวชเป็นภิกษุณี ที่ลูกศิษย์ลูกหาพากันเรียกท่านว่า ‘หลวงแม่’
พระผู้หญิง “ภิกษุณีธัมมนันทา”ให้ธรรมะในการใช้ชีวิตสำหรับลูกผู้หญิง
ภิกษุณีธัมมนันทา แห่งวัตรทรงธรรมกัลยาณี
“พระพุทธเจ้าทรงงดงาม ทรงประกาศชัดเจนว่าผู้หญิงมีความสามารถในการบรรลุธรรมได้เช่นกัน สามารถบรรลุโสดาบันขั้นพระอรหันต์ได้เช่นเดียวกับผู้ชาย
สังคมอินเดียมีการแบ่งวรรณะ พระพุทธเจ้าทรงล้มระบบวรรณะ โดยกล่าวว่า จัณฑาลไม่ได้เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นจัณฑาล แต่เกิดจากการกระทำ การพูดเช่นนี้เป็นการท้าทายต่อคุณค่าทางสังคมของอินเดียสมัยนั้น นอกเหนือจากการท้าทายระบบวรรณะแล้ว พระพุทธเจ้ายังท้าทายเรื่องศักยภาพของความเป็นมนุษย์ เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาปฏิบัติธรรมอย่างเป็นระบบ
ศาสนาพุทธงดงามมาก เปิดประตูให้ผู้หญิงได้รับอิสรภาพโดยสิ้นเชิง
การหลุดพ้นของผู้หญิงไม่ได้ขึ้นกับสามี ไม่ได้ขึ้นกับลูกอีกต่อไป ผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานก็สามารถบรรลุธรรมได้"
หลวงแม่เล่าว่า ผู้หญิงอินเดียสมัยดั้งเดิมจะมีคุณค่าต่อเมื่อแต่งงานแล้ว และต้องมีลูกชายด้วย เพราะความเชื่อว่าหลังจากพ่อแม่ตาย ลูกชายจะป็นคนไหว้พระส่งวิญญาณพ่อแม่ไปสู่สรวงสวรรค์ ผู้หญิงที่แต่งงานจึงมีหน้าที่มีลูกผู้ชาย หากไม่มีไม่ว่าสาเหตุใด ผู้หญิงก็เป็นฝ่ายถูกตำหนิติเตียน ผู้หญิงอินเดียสมัยก่อนต้องแบกภาระทั้งลูกและสามีเฉกเช่นเดียวกัน สังคมไทยรับประเพณีค่านิยมเหล่านี้มาด้วย กระทั่งปัจจุบัน
“ผู้หญิงชอบสวยชอบงาม เนื่องจากติดค่านิยมดั้งเดิม-ลูกผู้หญิงโตขึ้นมาต้องแต่งงาน การปลูกฝังอบรมเลี้ยงดูทั้งหลายล้วนเป็นไปเพื่อให้ลูกผู้หญิงเป็น ‘กุลสตรี’ ทำการบ้านการเรือน เย็บปักถักร้อย และต้องมีความงามเพียบพร้อม เพื่อพร้อมออกเรือน”
‘ความงาม’ ที่หลวงแม่หมายถึง คือ งามทางกาย
ทีนี้ผู้หญิงไม่ได้เกิดมามีความงามเพียบพร้อม แทนที่ผู้หญิงจะให้ความสำคัญกับงามทางจิตใจ กลับไปให้ความสำคัญแต่ความสวยทางกาย ค่านิยมปัจจุบันต้องจมูกโด่ง ต้องตาสองชั้น ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ เราเอาค่านิยมตะวันตกเข้ามา นำพลาสติกมาทำให้สวยขึ้น
คำว่า ‘สวยขึ้น’ กลายเป็นคุณค่าที่ตั้งกันขึ้นมา
จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่ากลุ่มผู้หญิงที่นิยมทำศัลยกรรมกันมากที่สุด คือ พยาบาล ถ้าเป็นอาชีพดาราที่ต้องขายรูปร่างหน้า ยังเข้าใจได้ แต่นี่กลับเป็นอาชีพพยาบาล
ส่วนหนึ่งเพราะพยาบาลใกล้ชิดหมอ รู้ว่าอาจารย์หมอคนไหนเก่ง และสามารถจ่ายค่าทำศัลยกรรมตกแต่งได้ในราคาถูก แต่ที่สำคัญ คือ เรื่องค่านิยม
หลวงแม่มองว่าเนื่องจากผู้หญิงถูกปลูกฝังมาทางด้านเดียวให้เป็นแม่ศรีเรือน ไม่ต้องมีความคิดเห็น มีแต่ความจงรักภักดี ทำทุกอย่างเพื่อเป้าหมายมีสามี ค่านิยมเบี่ยงเบนเช่นนี้เองทำให้ผู้หญิงหันไปสนใจความงามภายนอกกันมาก ซึ่งนี่แหละเป็นรากความทุกข์ของผู้หญิง
หลวงแม่อธิบายชี้ให้เห็นว่า
"ร่างกายประกอบขึ้นด้วยธาตุ-ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุเหล่านี้อาศัยกันและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อเราไปให้ความสำคัญกับร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุ เราพยายามรักษามันให้สวยงาม ขณะที่ธรรมชาติของธาตุทั้งสี่นั้น คือ การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เมื่อให้ความสำคัญผิดจุดด้วยความไม่เข้าใจสภาพแห่งความเป็นจริง ย่อมเป็นทุกข์ เพราะทุกข์แปลว่าตั้งอยู่ไม่ได้ แต่ไปยึดมั่นให้มันตั้งอยู่ให้ได้ ทุกข์จึงเกิด ผู้หญิงหลายคนกังวลเรื่องหน้าตา ทรงผม เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ความกังวลของผุ้หญิงผูกพันกับสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น
เมื่อผู้หญิงเราเอาความกังวลความใส่ใจไปอยู่กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็ย่อมทุกข์ตลอดเวลา เมื่อสังคมไปจัดสรรว่าผู้หญิงจะมีคุณค่าต่อเมื่อผู้หญิงได้ออกเรือน มีสามี มีครอบครัว ผู้หญิงก็ต้องให้ความสำคัญกับการแต่งงาน
ผู้หญิงบางคนมีศักยภาพสูงมาก แต่เพียงเพราะแต่งงานไปแล้วสามีนอกใจ พลังงานทั้งหลายของผู้หญิงคนนี้ไปเวียนวนกับการจัดการกับผู้หญิงที่เข้ามาเป็นบุคคลที่3 แทนที่จะได้พัฒนาศักยภาพที่ตัวเองมีอยู่ให้ประสบความสำเร็จในชีวิตหน้าที่การงาน ต้องไปเสียพลังในเรื่องผู้หญิงของสามี
ตราบใดผู้หญิงตั้งหลักตัวเองไม่ได้ เอาความสำคัญของชีวิตไปทุ่มให้กับสามีและลูกหมด โดยไม่เข้าใจว่าตัวเราก็เป็นมนุษย์อีกคนหนึ่ง นั่นก็เป็นการตั้งฐานความเป็นจริงผิดพลาด”
พระผู้หญิง “ภิกษุณีธัมมนันทา”ให้ธรรมะในการใช้ชีวิตสำหรับลูกผู้หญิง
หลวงแม่ยกตัวอย่างชัด ๆ อีกกรณี
“สามีเติบโตในหน้าที่การงาน เขาย่อมใช้เวลากับการสรรค์สร้างหน้าที่การงาน และหวังว่าภรรยาจะเข้ามาแบ่งปันความรับผิดชอบของครอบครัวลูกที่แม่อยู่ดูแลตั้งแต่เล็กพอโตขึ้น ลูกก็มีความสนใจที่จะไปกับเพื่อน ช่วงนี้เองผู้หญิงจะอยู่ในวัย 40 กว่าขึ้น 50 อาจเกิดภาวะ Middle Life Crisis ช่วงวัยกลางชีวิตที่เลยมาแล้วทันทีทันใดดูเหมือนว่าไม่มีความหมายอีกต่อไป ตรงนี้เองที่ผู้หญิงเราต้องมาเผชิญหน้ากับความเป็นจริง เข้าใจว่าชีวิตของเรามีความหมายโดยตัวเราเอง ไม่ต้องพึ่งพาสามีและลูก”
หลวงแม่ย้ำว่าความหมายของความเป็น ‘ผู้หญิง’ ไม่ได้อยู่ที่การเป็น ‘แม่’ เท่านั้น
“ถ้าพูดว่าผู้หญิงจะมีความหมายในชีวิตได้ต่อเมื่อเธอเป็นแม่แล้วไซร้ ผู้หญิงจำนวนมากที่ไม่ได้แต่งงานก็กลายเป็นกลุ่มผู้หญิงที่ไม่มีความหมายกับชีวิตใช่มั้ย... ผู้หญิงเราเองต้องตระหนักคุณค่าของความเป็นมนุษย์ หลวงแม่คิดว่าคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของหญิงชายเท่ากัน
การที่ผู้หญิงเราไม่ยอมออกจากกรอบความคิดของตัวเอง เพราะไม่มีความคิดเป็นระบบ ทำความเข้าใจว่าประเพณีคืออะไร หน้าที่บทบาทของเราเปลี่ยนไปแล้วมันต้องกระทบกับการเปลี่ยนแปลงของประเพณีอย่างไร ส่วนหนึ่งไม่ใช่เฉพาะนิสัยของผู้หญิง แต่เป็นของคนไทย
คนไทยเป็นชาติที่ไม่คิดมาก ไม่มีจิตวิพากษ์ ไม่ค่อยรู้จักการใช้เหตุผล บางทีเอาเหตุของอันนั้นมาประกบกับผลของอันนี้ บ่อยครั้งสังคมไทยทำอะไรผิดฝาผิดตัว และปัญหาของผู้หญิงที่ติดอยู่กับรูปกับเงาก็จะเป็นปัญหาต่อไป เป็นทุกข์ต่อไป ตราบเท่าที่ผู้หญิงยังไม่ตระหนักว่าชีวิตตัวเองมีคุณค่ามีความหมายความสำคัญอย่างไร"
พูดง่ายๆ ผู้หญิงยึดมั่นในรูปโฉมมากเพียงใด ความทุกข์จะทวีคูณเป็นเงาตามตัว
"ประเทศไทยมีประชากรเป็นชาวพุทธ 95% แต่ใน 95% นี้มีสักกี่คนที่เข้าใจธรรมะ หลายคนบอกเป็นธรรมมะลึกซึ้ง แต่หลายคนบอกเป็นธรรมะที่เรียบง่ายมาก เป็นจริงที่เห็นได้ สัมผัสได้ เข้าใจได้
การทำความเข้าใจคอนเซ็ปต์ ‘ทุกข์’ ก็คือ สภาพที่อยู่เฉยๆไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนแปลงไป ทุกคนไม่ว่ายาจกวณิพก หรือพระมหากษัตริย์ ล้วนอยู่ในภาวะทุกข์ทั้งสิ้น ไม่มีใครสามารถล่วงทุกข์นี้ได้ตราบเท่าที่เรายังมีร่างกาย แต่ศาสนาพุทธสามารถล่วงทุกข์ได้ ก็คือ ทุกข์ที่เกิดจากการยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ซึ่งตัวตนแต่เดิมก็ไม่มีความเป็นจริงตรงนี้ คือ แก่นแกนหัวใจของพุทธศาสนา
พระผู้หญิง “ภิกษุณีธัมมนันทา”ให้ธรรมะในการใช้ชีวิตสำหรับลูกผู้หญิง
หลวงแม่คิดว่าการเข้าใจเรื่องทุกข์ เป็น key word เวลามีสุขมีทุกข์เข้ามาจะไม่หวั่นไหว เห็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ พอกระทบเศรษฐกิจหน่อย พ่อก็ฆ่าลูกฆ่าเมียตาย เป็นความทุกข์จากไม่เข้าใจชีวิต ไม่เข้าใจโลก อย่างมหาศาล เป็นการสร้างอกุศลกรรมสืบต่อไปอย่างมากๆ
มีทุกข์แล้วมีสุข
มีสุขก็ย่อมหนีไม่พ้นมีทุกข์เป็นของคู่กัน
ท่านเทศน์ต่อเรื่องความสุข เพื่อให้เข้าใจความทุกข์ยิ่งขึ้น
"จริงๆแล้ว ไม่มีแบ่งแยกความสุขของผู้หญิงหรือผู้ชายความสุขเป็นสภาวะจิตใจที่รู้สึกพอใจกับสภาพเป็นอยู่ อาจเป็นบ้านช่อง ความสัมพันธ์กับลูกสามี กับคนรอบข้าง เรารู้สึกพอ เรารู้สึกสบาย นั้นเรียกว่าเป็นความสุขที่เป็นสภาวะจิตใจ หรือสภาวะภายใน นั่นเองความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุภายนอก เพราะวัตถุภายนอกทำให้สบายกาย สภาวะภายในไม่ขึ้นอยู่กับกาย
ทีนี้ความสุขของผู้หญิงเรามักเป็นความสุขที่ติดกับรูปแบบ ซื้อกระเป๋าใบนี้มาใหม่ มีเพื่อนถือวิสาสะหยิบไปใช้และโดนฝนกลับมา สภาพหนังเสียหายหมด นี่เป็นของรักของหวงนะ ลูกโกรธจนตัวสั่น เพราะลูกถือว่ากระเป๋าใบนี้เป็นของรักของเรา ตอนที่กระเป๋าใบนี้อยู่ในร้าน อะไรเกิดขึ้นกับมัน เราไม่เดือดร้อนใช่มั้ย ที่ลูกรู้สึกเดือดร้อนเพราะลูกรู้สึกเป็นเจ้าของ ความรู้สึกเป็นเจ้าของทำให้เดือดร้อนมาก"
อารมณ์ความรู้สึกเดือดร้อนผลักให้เราตกลงไปในกับดักของความทุกข์นั่นเอง
“แต่งงานแล้วสามีนึกว่าภรรยาเป็นของเขา ทันทีที่ผู้หญิงคลอดลูก ก็นึกว่าลูกเป็นของเรา เข้าไปครอบครองกำหนดชีวิตลูก ซึ่งความเป็นจริงมันไม่ใช่
เป็นแม่ลูกกัน เพราะมีบุญกรรมด้วยกัน วิบากกรรมของคนสองคนได้สัดส่วนกัน ณ เวลาที่มาอาศัยท้องเกิด แต่หลังจากนั้น แม่มีวิบากกรรมของตัวเอง ลูกที่มาเกิดในท้องแม่ก็มีวิบากกรรมของเขาเอง ไม่มีใครเป็นของใคร
แม้แต่ตัวของเรา ก็ไม่ใช่ของๆเราอย่างแท้จริง ถ้าตัวเราเป็นของๆ เราอย่างแท้จริง เราต้องบงการได้ เรามองดูกระจก -วันนี้สวยนะ ขอให้สวยอย่างนี้ตลอดไป มันก็ไม่ได้ เวลาผ่านไป ความแก่เริ่มเข้ามา มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ภาษาพุทธพูดว่า-ไม่มีอะไรฝืนการเปลี่ยนแปลงได้
พระผู้หญิง “ภิกษุณีธัมมนันทา”ให้ธรรมะในการใช้ชีวิตสำหรับลูกผู้หญิง
ความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวขึ้นกับเหตุปัจจัย เวลาผู้ชายบอก-ผมรักคุณที่สุดในโลก หลวงแม่เชื่อนะว่าพูดจริง แต่เป็นความจริง ณ วันนั้น 5 ปีผ่านไป เอ้า แล้วทำไมเขาไปมีคนอื่นด้วยล่ะ?
5 ปีผ่านไป ผู้หญิงต้องทราบว่าเราเปลี่ยน เขาก็เปลี่ยน ช่วง 5 ปีนี้ยาวนานมาก มันมีเหตุปัจจัยอื่นเข้ามาแทรก เหตุปัจจัยที่ทำให้เขาบอกว่าเขารักเราที่สุด เวลานี้ไม่มีเหตุปัจจัยนั้นแล้ว
เราจะไปว่าเขาไม่รักษาสัจจะวาจาไม่ได้ เพรามันเป็นสัจจะวาจาที่รักษาไม่ได้ เพราะมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ถ้าเข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่ง-อ๋อ มันเป็นเช่นนั้นเอง แทนที่เราจะทุกข์ 100% เราอาจจะกระสับกระส่ายสักหนึ่งชั่วโมง ชั่วโมงที่สองค่อยๆคลี่คลาย ไม่กระสับกระส่ายตลอดไป”
ทว่ากว่าจะ ‘นิ่ง’ มี ‘สติ’ ‘เข้าใจ’ ธรรมชาติสรรพสิ่งได้ เราคนทำงานหลายคนคงสงสัย ต้องเข้าวัด อ่านหนังสือธรรมะเหรอ มีวิธีอื่นที่ง่ายและใกล้ตัวกว่านี้มั้ย?
หลวงแม่ท่านแนะนำว่าขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของแต่ละคนว่าสะดวกยังไง
"การหาหนังสืออ่านก็ยากนะลูก เวลาเข้าไปตลาดหนังสือ มันมีเป็นพันเป็นหมื่น ไม่รู้จะหยิบเล่มไหน ต้องดูด้วยพระอาจารย์รูปนี้ท่านเข้าใจปัญหาสังคมมากน้อยแค่ไหน พอจะดึงธรรมะมาประยุกต์กับปัญหาของเราได้มั้ย หรือท่านพูดตามตำรา”
หลวงแม่จึงแนะนำวิธีง่ายๆใกล้ๆ ตัว โดยฝึกจากการทำงานนี่แหละ
“ให้มองคนที่ทำงานเป็นพี่เป็นน้องเวลาไปทำงาน ถ้าเรารู้สึกดีกับคนที่ทำงาน กลไก mechanism ในร่างกายในจิตใจของเราจะเปลี่ยนไปเลย อะไรที่เรารู้สึกรำคาญจะกลายเป็น-ไม่เป็นไร เดี๋ยวหนูจัดการให้เอง เปลี่ยนจากความอิจฉาริษยา การแย่งชิง เป็นความเอื้ออาทรหากเราสามารถเปลี่ยนฐานใจตรงนั้นได้ มันจะทำให้การทำงานของเราสนุก
หลวงแม่ทำงานอยู่ธรรมศาสตร์ 27 ปี อย่างหนึ่งที่ธรรมศาสตร์ให้หลวงแม่ คือ หลวงแม่รู้สึกดี อยากไปทำงาน บางครั้งในการทำงานก็มีการกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่เพราะคนทำงานรู้สึกดี หลวงแม่จึงมีความสุข กระทั่งวาระสุดท้ายของปีที่ 27 หลวงแม่ไม่เคยไม่อยากไปทำงาน รู้สึกรักที่ทำงาน รู้สึกเราได้สร้างพลังที่ดีกับจุดที่เราไปนั่งทำงาน จุดที่เราไปนั่งทำงานไม่ได้เกี่ยวกับเพื่อนร่วมงานเท่านั้น แต่หมายถึงสภาพบรรยากาศรอบๆ ด้วย
ถ้าลูกสามารถรู้สึกอย่างนั้นในที่ทำงานของลูกได้ ลูกจะทำงานด้วยความสุขคิดว่าไปทำงาน คือ ไปเจอะเพื่อนฝูงญาติมิตรที่จะเอื้ออาทรกัน งานนี้เป็นงานของเราและของคนอื่นด้วย ไม่ใช่งานนี้เป็นของเขา หรือของเรา ถ้าปรับฐานจิตตรงนี้ได้ ลูกจะรู้สึกว่าชีวิตการทำงานมันดีมากๆ ผลผลิตของงานที่ออกมา ใครชมนะคะ บอก-เป็นของบริษัทค่ะ แม้จริงๆแล้วเป็นของเรา”
หลวงแม่เน้นว่าคุณค่าของคนอยู่ผลงาน ซึ่งแนวคิดแนวทางของท่านไม่จำกัดเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น
“ไม่ต้องแบ่งหญิงชาย เพราะหลวงแม่คิดว่าไม่จำเป็นต้องอยู่ที่รูปลักษณ์ แต่อยู่ที่ความดี ถ้าเรา shift base ปรับฐานความคิดมาที่ผลงาน และคิดในเชิงพุทธ ไม่ว่าจะเป็นมาฆบูชา วันวิสาขบูชา หรือวันไหนๆของชีวิต ถ้าคนเรามีทิศทางคิดได้ชัดเจนอย่างนี้ ทั้งผู้หญิงผู้ชายก็จะมีความมั่นคง”
https://www.youtube.com/v/5gteGs01ovcจาก
http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9530000028328