พุทธรักขิตาภิกขุ กับการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในแอฟริกา (ตอนที่ 2)เรียบเรียงโดย คุณ สุภาศิริ อมาตยกุล
ตอน 2 พระพุทธศาสนาในยูกันดา...เพาะปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งธรรมะ
ภารกิจธรรมครั้งแรกในแอฟริกา กว่าหนึ่งทศวรรษมาแล้วเมื่ออยู่ที่ประเทศอินเดีย อาตมาเคยวางแผนกับเพื่อนทั้งที่เป็นแอฟริกันและไม่ใช่แอฟริกันว่าจะร่วมกันก่อตั้ง “สมาคมมิตรภาพอัฟโร – ทิเบต (Afro – Tibetan Friendship Society) เพื่อ เผยแผ่ธรรมะในยูกันดาและประเทศอื่นๆในทวีปแอฟริกา โชคร้ายที่แอฟริกายังคงเป็นดินแดนแห้งแล้ง สวนไร่นายังไม่ได้รับการไถพรวน จังหวะเวลายังไม่สุกงอมเต็มที่
เมื่ออยู่ที่ทีเอ็มซีในซานโฮเซ่ แคลิฟอร์เนีย (San Jose, California) ท่านซายาดอว์ ยู สิละนันทะ (Sayadaw U. Silananda) ให้คำแนะนำว่าอาตมาควรจะกลับไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในทวีปแอฟริกาโดยเริ่มจากครอบครัวของอาตมา ซึ่งเมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้านั้นท่านซายาดอว์ ยู บีลิน(Sayadaw U Beelin) ก็เคยเอ่ยปากถามอาตมาถึงความเป็นไปได้ในการกลับไปเผยแผ่ธรรมะที่แอฟริกาโดยเริ่มจากครอบครัวของอาตมาเช่นเดียวกัน
อาตมาจึงไปขอความเห็นจากท่านภันเต กุนารัตนะ(Bhante Gunaratana) ว่าสิ่งใดจะดีกว่ากันระหว่างการไปฝึกวิปัสสนากรรมฐานในถ้ำที่ประเทศอินเดีย (สถานที่ซึ่งเป็นยอดปรารถนาของพระสงฆ์สำหรับการฝึกจิต) กับการกลับไปเผยแผ่ธรรมะในแอฟริกา ท่านให้ความเห็นอย่างหนักแน่นว่าอาตมาควรจะไปเผยแผ่ธรรมะใน แอฟริกามากกว่า และควรกระทำโดยเร็วมากกว่าที่จะปล่อยให้เนิ่นนานออกไป ขณะที่เพื่อนบางคนในอเมริกา ไม่เห็นด้วยกับการกลับไปแอฟริกา เพราะเป็นห่วงว่าอาตมาจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้คนท้องถิ่นทั้งในเรื่องของอาหาร ที่อยู่อาศัย การตระเตรียมสิ่งจำเป็นอื่นๆ ที่อุบาสกอุบาสิกาควรจัดหาให้พระภิกษุสงฆ์ อาตมาพร้อมแล้วหรือที่จะกลับไปพบปะเพื่อนชาวแอฟริกันผู้ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาก่อนเลย อาตมาเอามือมากำหัวใจไว้ ตัดสินใจที่จะนำพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปสู่ทวีปแอฟริกา
จาริกแสวงบุญในดินแดนพุทธอันศักดิ์สิทธิ์
อาตมาวางแผนเบื้องต้นว่าจะใช้เวลาประมาณหกเดือนในเอเชียและแอฟริกา เดือนตุลาคม ค.ศ. 2004 ท่านคิปปะพันโน (Khippapanno) ตอบรับให้อาตมาเข้าร่วมกลุ่มเดินทางจาริกแสวงบุญไปยังอินเดียและเนปาล แม้จะเคยอยู่ที่อินเดียเป็นเวลาหลายปี แต่นี่เป็นครั้งแรกที่อาตมาได้ไปถึงสถานที่อันเป็นที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ยิ่งทำให้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาของอาตมาเข้มแข็งยิ่งขึ้น จากนั้นอาตมาเดินทางต่อไปยังพม่า ศรีลังกา ก่อนจะไปยูกันดาเพื่อพบกับโยมแม่ของอาตมา พร้อมกับความหวังอย่างยิ่งที่จะถ่ายทอดพระพุทธศาสนาที่นั่น
ที่ศรีลังกา ธรรมะรุวัณ (Dhammaruwan) ชายผู้ปราดเปรื่องชาวพุทธที่มีชื่อเสียงจากการทำสมถะ (การฝึกสมาธิเพื่อความสงบ) และวิปัสสนา (การฝึกสมาธิให้เกิดสติปัญญารู้เท่าทันความเป็นจริง) เป็นเวลากว่ายี่สิบปีตั้งแต่อายุเก้าขวบ ให้อาตมาเลือกระหว่างการนำพระพุทธรูปองค์เล็กหรือองค์ใหญ่กลับไปยังยูกันดา เนื่องจากฉายาทางพระของอาตมาคือ พุทธรักขิตา(Buddharakkhita) ในภาษาบาลีมีความหมายว่า “ผู้ปกปักษ์รักษาพระพุทธเจ้า” อาตมาจึงเลือกพระพุทธรูปองค์ใหญ่พร้อมกับปณิธานที่จะดูแลรักษาท่านโดยหารู้ไม่ว่าการดูแลรักษาพระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้จะนำความยากลำบากมาให้อาตมาตลอดการเดินทางไปยังแอฟริกา
พระพุทธรักขิตารับมอบพระพุทธรูปเพื่อนำไปยูกันดา“โลกนี้มืดมน ไม่กี่คนที่เห็นแจ้ง ดั่งนกติดตาข่ายกับดัก เพียงไม่กี่ตัวที่หนีรอดไปได้”
ธรรมบท : 174
เดินทางไปเคนยา (เดือนมีนาคม ค.ศ. 2005) พร้อมกับพระพุทธรูป หลังตอบคำถามเกี่ยวกับพระพุทธรูปที่เมืองมุมไบ (บอมเบย์) ในประเทศอินเดียเป็นร้อยคำถามเห็น จะได้ในระหว่างรอเครื่องบินเกือบๆ ห้าชั่วโมง และอีกครั้งหนึ่งที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองประเทศเคนยา ทำให้อาตมารู้สึกหมดเรี่ยวหมดแรง ที่แย่กว่านั้นคืออาตมารู้สึกผิดที่ทำพระพุทธรูปที่อาตมาให้คำมั่นว่าจะรักษาแตกตรงส่วนที่ติดกับฐานระหว่างการขนย้าย อาตมาเก็บพระพุทธรูปไว้กับตัวเพื่อจะได้ดูแลสะดวก ห่อท่านไว้ด้วยจีวร แต่ก็ยังดีไม่พอ ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองถามคำถามมากมายเกี่ยวกับพระพุทธรูป
“ในนั้นน่ะ เด็กทารกใช่ไหม? ตั๋วเครื่องบินของเขาอยู่ไหนล่ะ?”
“ไม่ใช่!” อาตมายืนกราน “นี่พระพุทธรูป”
เจ้าหน้าที่อีกคนถาม “หมายถึงมุนกู (Mungu - พระเจ้า) งั้นหรือ?”
“ไม่ใช่! ในพุทธศาสนา พระพุทธรูปไม่ใช่พระเจ้า”
“ท่านห่อผ้าไว้ทำไม? ป้องกันไม่ให้ใครเห็น?”
“เปล่า ที่ห่อไว้เพราะกลัวพระพุทธรูปจะแตกหัก แล้วอาตมาก็ไม่อยากให้พระพุทธรูปเป็นรอย” อาตมาอธิบาย
เมื่ออาตมาวางพระพุทธรูปลงบนเคาน์เตอร์เพื่อจะยื่นเอกสารหลักฐานผ่านเข้าเมือง เจ้าพนักงานถาม “นี่อะไร? มันทำให้คนเขากลัวกัน กรุณาเอาลงด้วย!”
“พระพุทธรูป” อาตมาตอบ รู้สึกว่าตัวเองตกอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก อาตมาไม่สามารถแบกพระพุทธรูปและยื่นเอกสารได้ในเวลาเดียวกัน พอทิ้งพระพุทธรูปไว้เจ้าหน้าที่ก็ขู่ว่าจะเอาไปทำลาย พอวางบนเคาน์เตอร์ผู้คนก็ไม่กล้าเข้าใกล้
เจ้าหน้าที่พูดต่อ “มันดูเหมือนมนต์ดำแอฟริกา เหมือนเครื่องรางของขลังแปลกๆ”
“ท่านแบกพระพุทธรูปไปมาทำไม? เปิดออกเดี๋ยวนี้เลย! ผมขอดูหน่อย? มีอะไรอยู่ข้างในหรือเปล่า? อาจจะยาเสพติด?”
“ไม่ใช่นะ! แค่พระพุทธรูปจริงๆ” อาตมาตอบแล้วแกะจีวรออก
“อย่าเอาไปขายที่ไนโรบี (Nairobi) แล้วกัน”
“อาตมาไม่ได้เอามาขาย” อาตมาตอบอย่างสุภาพ
สุดท้ายเขาจึงบอกว่า “พระพุทธรูปดูสวยดีนี่!” อาตมาขอบคุณแล้วเดินออกมา
อาตมาใช้เวลาสองสามวันในเคนยาเพื่อพักผ่อนปรับตัวก่อนจะเดินทางต่อไปยังยูกันดา อาตมาตัดสินใจห่อพระพุทธรูปอย่างดีด้วยจีวร ทับอีกชั้นด้วยหนังสือพิมพ์ และใส่ท่านไว้ในกระเป๋าระหว่างเดินทางไปยูกันดา
ยูกันดาผู้น่ารัก! ในที่สุดอาตมาก็มาถึงสนามบินนานาชาติเอ็นเทเบ้ (Entebe) ประเทศยูกันดา ในวันแดดจ้า ท้องฟ้าสดใส รู้สึกสัมผัสได้ถึงสายลมสดชื่นเบาๆ จากทะเลสาบวิคตอเรีย อาตมาไม่แน่ใจว่าทุกคนจะคิดยังไงเมื่อเห็นอาตมาในจีวรเช่นนี้ อาตมาดูเหมือนเป็นคนต่างชาติในบ้านเกิดของตัวเอง แถวที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองยาวเหยียด เป็นอย่าง ที่คิด ผู้คนมองอาตมาอย่างสนอกสนใจปนกังวล พนักงานตรวจหนังสือเดินทางอ่านชื่ออาตมาอย่างประหลาดใจเมื่อเห็นว่าอาตมามาจากเผ่าบูกันดา (Buganda) คนชนบทยูกันดาคนหนึ่งห่มจีวร เพิ่งเดินทางเข้าประเทศมาจากสหรัฐอเมริกา
พระพุทธรักขิตากับชนเผ่ามาไซ เขาถามอาตมาอย่างตกใจ “ทำไมต้องปลอมตัวเป็นคนเผ่ามาไซ (Maasai) ในเมื่อจริงๆ ท่านเป็นบูกันดา?”
อาตมาตอบไปว่าอาตมาเป็นพระในพุทธศาสนา เขาปล่อยให้อาตมาผ่านเข้าเมืองมาอย่างไม่เต็มใจและดูเหมือนจะไม่เชื่อในคำตอบ
“ญาติสนิทมิตรสหายย่อมต้อนรับการกลับมาของญาติที่เดินทางจากไกลห่างหายไปนาน เฉกเช่นเดียวกัน กุศลกรรมจะต้อนรับผู้ประกอบกรรมดีจากโลกนี้ไปสู่อีกโลกหนึ่ง ดั่งที่ญาติมิตรต้อนรับญาติที่เดินทางกลับมา”
ธรรมบท : 219-220ต้อนรับลูกชายชาวพุทธที่หายไปนาน โยมน้องสาวมารับอาตมาที่สนามบิน เธอดีใจมากเมื่อพบอาตมา เรียกอาตมาด้วยความเคารพว่า“หลวงพี่” เรากลับบ้านไปหาโยมแม่ ท่านดีใจอย่างที่สุดเมื่อเห็นอาตมา มันเหลือเชื่อหลังผ่านไปเจ็ดปีนับตั้งแต่เจอโยมแม่ครั้งสุดท้าย ทั้งครอบครัวประหลาดใจที่เห็นอาตมาในจีวรสงฆ์ โยมแม่แทบไม่เชื่อในสิ่งที่เห็น ท่านถามแล้วถามอีก “นี่ สตีเว่น ลูกแม่จริงๆใช่ไหม ?”
“ใช่ โยมแม่ นี่อาตมาเอง”
ท่านเดินวนไปรอบๆ ห้องนั่งเล่น มองมาที่อาตมาเป็นระยะๆ น้ำตาไหลอาบหน้าท่าน ท่านเดินวนอีกรอบหนึ่งแล้วพูดขึ้นว่า “ขอบคุณพระเจ้าที่ลูกกลับมา”
อาตมารู้แก่ใจว่าไม่ใช่พระเจ้าหรอกที่นำอาตมากลับมา แต่อาตมาไม่อยากขัดคอทำให้โยมแม่เสียความรู้สึก ญาติๆ มองจีวรและสังเกตท่าทีของอาตมาไปด้วย อาตมาค่อยๆ ตระหนักว่าทั้งจีวร ธรรมเนียมปฏิบัติในพระพุทธศาสนา และพระพุทธรูปที่อาตมานำมาด้วย อาตมาคงไม่สามารถจะจำวัดที่บ้านได้
“เหมือนน้ำในแม่น้ำทั่วไป – เช่นแม่น้ำคงคา (The Ganges) แม่น้ำยะมุนา (The Yamuna) เมื่อไหลลงสู่มหาสมุทร จะไม่ถูกเรียกว่าแม่น้ำอีกต่อไป กลับถูกเรียกว่ามหาสมุทร ในทำนองเดียวกัน เมื่อบุคคลจากวรรณะทั้งสี่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ สูทร เดินทางจากบ้านเข้ามาสู่สมณะเพศ โดยหลักและพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ พวกเขาจะต้องละชื่อและนามสกุลเดิมทิ้งเสีย และจะถูกจัดไว้ว่าเป็นบุตรแห่งศากยะ”
- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคนบ้า? ฝนตกอย่างไม่ลืมหูลืมตาในวันที่อาตมามาถึงยูกันดา เป็นการยากที่จะหาที่พักที่อื่น ที่สำคัญ อาตมาอยากพักอยู่ใกล้ๆ กับโยมแม่และครอบครัว อาตมาจึงตัดสินใจเข้าพักที่โรงแรมใกล้ๆ แห่งหนึ่ง ผู้คนยังคงประหลาดใจและเป็นกังวลเมื่อเห็นอาตมา บางคนเข้าใจว่าจีวรของอาตมาเป็นชุดประจำเผ่ามาไซ
เช้าวันหนึ่งขณะออกจากห้องพัก อาตมาเดินผ่านสีกาสองคนระหว่างเดินจงกรมอย่างช้าๆไปมาในระยะยี่สิบก้าว ด้วยความที่จดจ่ออยู่กับระยะสองสามก้าวเท่านั้น ให้บังเอิญได้ยินสีกาสองคนถกเถียงกัน
คนหนึ่งพูดขึ้นว่า “นี่ท่าจะเป็นคนวิกลจริต”
อีกคนกล่าวว่า “คนวิกลจริตจะมีปัญญามาพักในโรงแรมชั้นดีแบบนี้ได้ไงกัน ไม่ใช่แน่ๆ”
ขณะกลับไปโรงแรม เด็กสองคนมองอาตมาอย่างหวาดๆ วิ่งหนีพร้อมกับพูดขึ้นว่า “ผู้ชายคนนี้จะจับเรากิน!” ทำให้อาตมาหวนนึกถึงตอนเป็นเด็ก มีคนเล่านิทานเผ่าบูกันดาให้ฟังเกี่ยวกับสถานที่และผู้คนแปลกประหลาด เมื่อมีคนจรจัดคนหนึ่งที่อาตมาต้องพบอยู่บ่อยๆ อาตมากลัวมาก คิดว่าเขาจะจับอาตมากิน
“ในบรรดายาทั้งหมดในโลก มากมาย หลายหลาก ไม่มียาตัวใดเหมือนยาแห่งธรรมะ สงฆ์ทั้งหลาย จงฉันเสียเถิด เมื่อฉันแล้วท่านจะอยู่เหนือกาลเวลาและความตาย ท่านจะอิ่มเอิบและเป็นสุข เป็นอิสระจากสิ่งกำหนัดทั้งหลายทั้งปวง”
- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมอผีหรือคนทรงเจ้า? บางคนคิดว่าอาตมาเป็นหมอเมื่อเห็นกระเป๋าใส่พระพุทธรูปของอาตมา “ท่านขายอะไรน่ะ?” พวกเขา จะถาม คนยูกันดาอยากได้ยาอยู่เสมอแม้แต่คนที่ดูแข็งแรงดี การหอบหิ้วกระเป๋าพระพุทธรูปไปมาทำให้คนท้องถิ่นบางคนคิดว่าอาตมาเป็นหมอผี อาตมาทราบหลังจากนั้นว่าพวกเผ่ามาไซมักจะนำยาและสมุนไพรของเผ่ามาขายที่กัมปาลา
อาตมาเลิกคิดจะเป็นนักธุรกิจเพื่อมาบวชเป็นพระ แต่ผู้คนที่นี่ยังคงคิดว่าอาตมาเป็นนักธุรกิจอยู่นั่นเอง ความจริงมีข้อห้ามไม่ให้พระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจใดๆ ห้ามแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือรักษาผู้คนอย่างเช่นหมอ ธรรมะโอสถนั้นไม่ได้มีไว้ขาย ที่อาตมามีอยู่กับตัวคือเมล็ดพันธุ์แห่งธรรมะโอสถ อาตมาหวังว่าพวกเขาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวยาแห่งธรรมะที่แท้บ้าง อาตมาได้รับการบอกกล่าวในเวลาต่อมาว่ายาของเผ่ามาไซนั้นไม่เพียงมีไว้สำหรับความเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ยังช่วยให้มีสุขภาพดี ทำให้อาตมาคิดถึงพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนสากล มีไว้สำหรับความอยู่ดีมีสุข
“บุคคลผู้ประกอบกรรมชั่ว ย่อมมัวหมองเพราะความชั่วนั้น บุคคลผู้ประกอบกรรมดี ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยกรรมดีที่ได้กระทำ ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ขึ้นอยู่กับตนเอง ไม่มีใครสามารถทำความบริสุทธิ์ให้แก่กันได้”
ธรรมบท : 165จะไปเล่นลอว์นเทนนิสหรือคุ้มกันพระราชา? ...พระแขนเดียว … การไถ่บาป
เมื่อเห็นตาลปัตรขนาดใหญ่ที่อาตมานำกลับมาจากพม่า บางคนคิดว่ามันคือไม้เทนนิสแบบใหม่ “เอ็นเซโร่”(ensero) พวกเขาถามว่าจะไปเล่นลอว์นเทนนิสที่ไหนหรือ บางคนก็คิดว่าเป็นโล่ของอาตมา บ้างก็คิดว่าอาตมาเป็นองครักษ์ของพระราชา หรือผู้แทนคนสำคัญแห่งองค์พระสันตปาปาจากนครวาติกันในโรม (อาจเป็นเพราะตอนนั้นอยู่ในช่วงพระราชพิธีศพของพระสันตปาปาจอห์น พอล(John Paul) จึงทำให้ผู้คนเข้าใจผิด)
จีวรสีส้มอมน้ำตาลยิ่งก่อให้เกิดความสับสนมากขึ้นไปอีก อาตมาเดินทางไปยังหมู่บ้านในบ่ายวันหนึ่งห่มจีวรแบบคลุมทั้งตัวซึ่งมือข้างหนึ่งจะอยู่ในจีวร ขณะที่อีกข้างไว้ใช้หยิบจับอยู่ทางด้านนอก เมื่อเด็กๆ เห็นอาตมา พวกเขาคุยกันว่า “ดูนั่นสิ คนแขนด้วน!” เมื่อไปที่ร้านขายยา อาตมายืนพิงเคาน์เตอร์แขนข้างหนึ่งอยู่ในจีวร เภสัชกรคิดว่าอาตมาแขนหักเข้าเฝือกอยู่ อาตมาต้องบอกกับเภสัชกรว่าแขนอาตมาไม่ได้เป็นอะไร
ดังนั้น ถ้าท่านเป็นพระสงฆ์แล้วเดินทางไปแอฟริกา ทำใจล่วงหน้าได้เลยว่าท่านจะเป็นเหตุแห่งความปั่นป่วนของผู้คน
ยังมีที่แย่กว่านั้นอีก วันหนึ่งมหาวิทยาลัยมาเคเรียร์ (Makerere) ในกัมปาลาเชิญอาตมาไปบรรยายให้กับบุคคลทั่วไปในหัวข้อ “ธรรมชาติและความสำคัญของพระพุทธศาสนาในแอฟริกา” อาตมาบรรยายว่า สาเหตุแห่งความทุกข์ของมนุษย์ก็คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ทางออกจากความทุกข์คือการนำออกเสียซึ่งสามสิ่งนี้
พระพุทธรักขิตา ทำการบรรยายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ณ มหาวิทยาลัยมาเคเรียร์ หลังจบการบรรยาย นักเรียนคนหนึ่งเขียนโน๊ตขึ้นมาถึงอาตมา (เหมือนเป็นการยื่นคำขาด) ว่า “กราบเรียนท่าน สาเหตุของความทุกข์คือปีศาจ เมื่อท่านรับเอาซึ่งพระบุตร (พระเยซู) พร้อมกับพระบิดา (พระเจ้า) เมื่อนั้นท่านจะได้รับความสุข ผมขอแนะนำให้ท่านรับเอาการไถ่บาปเพื่อเข้าถึงความสุขซึ่งไม่อาจหาได้ในพระเจ้าเล็กๆ ของท่าน”
พุทธศาสนิกชนเข้าใจดีว่าทุกคนเป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนได้ทำลงไป การไถ่บาปขั้นสุดท้ายหรือการถึงซึ่งพระนิพพาน จะเป็นไปได้ก็ด้วยตนเองเท่านั้น
อาตมาทั้งยินดีทั้งประหลาดใจที่เห็นบนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยมาเคเรีย มีคำกล่าวบรรทัดหนึ่งจากการบรรยายของอาตมาซึ่งนำมาจากธรรมบทว่า “ท่าน, ท่านคือผู้ที่ต้องพากเพียรเอง พระพุทธเจ้าเป็นให้ท่านได้เพียงอาจารย์เท่านั้น” (เป็นเพียงผู้ชี้แนะ)
ผู้ที่นำแนวทางนี้ไปไตร่ตรองปฏิบัติอบรมจิตใจตน เป็นผู้อยู่ไกลห่างจากเส้นทางแห่งอุบาย
“ผู้ถือซึ่งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ ย่อมเข้าใจด้วยปัญญา กล่าวคืออริยสัจจ์ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นำไปสู่การดับของทุกข์” ธรรมบท : 190-191โยมแม่รับพระรัตนตรัย ในตอนแรกมีเพียงโยมแม่ โยมน้อง และสามีของเธอเท่านั้นมาเยี่ยมอาตมาที่โรงแรม ภายหลังญาติคนอื่นและเพื่อนๆ ของพวกเขาจึงตามมา อาจจะมาด้วยความสงสัยก็เป็นได้ อาตมาให้พวกเขาดูรูปเพื่อนชาวพุทธของอาตมา รูปเมื่อตอนอุปสมบท ภาพการเดินทางแสวงบุญในอินเดีย พม่า และศรีลังกา พวกเขาเห็นพ้องกันว่ารูปวัดและพระสงฆ์นั้นมีความงดงาม อาตมานำของขวัญที่อุบาสกอุบาสิกาทั้งไทยและเวียดนามฝากเป็นพิเศษมาให้โยมแม่ ท่านขยับตัวช้าๆ ด้วยความฉงนว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงได้ฝากของขวัญและความปรารถนาดีมายังท่าน
การอธิบายศาสนาพุทธให้โยมแม่และคนอื่นๆ ในครอบครัวฟังไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โชคดีที่เพื่อนของอาตมาในสหรัฐอเมริกาให้ที่อยู่ชาวไทยและชาวศรีลังกาซึ่งอาศัยอยู่ในยูกันดาไว้ อาตมาจึงตัดสินใจไปหาพวกเขาพร้อมกับโยมแม่ ที่แรกที่อาตมาไปคือร้านอาหารที่มีเจ้าของเป็นชาวไทยสี่คน พวกเขาดีใจมากและปฏิบัติต่ออาตมาด้วยความเคารพ โค้งอย่างนอบน้อมและถวายน้ำส้มให้อาตมา เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เห็นได้ทั่วไปในประเทศพุทธศาสนานิกายเถรวาทเมื่ออุบาสกอุบาสิกาพบพระสงฆ์ โยมแม่ของอาตมาประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง อาจจะสับสนด้วยซ้ำไป หลังจากนั้น เราพากันไปที่โรงงานแห่งหนึ่งที่มีเจ้าของเป็นชาวศรีลังกา ผู้จัดการโรงงานเป็นชายรูปร่างสูงแต่งกายดี ทันทีที่เห็นอาตมาเขาก็โค้งในแบบเดียวกัน
อีกครั้งที่โยมแม่แปลกใจอย่างที่สุด แน่นอน ท่านไม่เคยรูจักประเพณีการโค้งหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระมารดาของพระสารีบุตร (Sariputta)ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระสารีบุตรกลับบ้านมาพบกับโยมแม่ของท่าน เทวดาหลายรูปมาปรากฏกายเพื่อแสดงความเคารพท่าน เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับโยมแม่ของพระสารีบุตรที่ทำให้ท่านเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ รับเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ต่อมาโยมแม่ของอาตมาก็ทำในสิ่งเดียวกัน อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
“… แค่เศษผงเล็กๆ ที่เข้าตา ก็เพียงพอจะทำให้บางคนเข้าใจธรรมะ”
- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสัมผัสความงามของพระพุทธรูป สองสามวันต่อมา อาตมาย้ายไปอยู่โรมแรมอีกแห่งใกล้กับร้านอาหารไทย อาตมาแกะผ้าที่ห่อพระพุทธรูปออกที่โรงแรมนี้ โยมน้องของอาตมาอุทานออกมาว่า “พระพุทธรูปดูแล้วคล้ายผู้หญิงเลย” อาตมา เห็นด้วยและบอกเธอว่ามีคนมากมายให้ความเคารพในพระพุทธรูปที่วิจิตรนี้ อาตมายังบอกเธออีกว่าผู้ปฏิบัติวิปัสสนาเป็นผู้มีจิตใจสวยงาม เพราะเหตุนี้พวกเขาจึงมีผิวพันธุ์งดงามเช่นกัน ในวันนั้นโยมแม่ของอาตมาก็มาด้วย อาตมาเห็นท่านนั่งจ้องอยู่ที่ตรงมุมห้อง อาตมาจึงถามท่านว่ากำลังจ้องมองอะไร ท่านบอกกับอาตมาว่ากำลัง ชื่นชมความงามขององค์พระพุทธรูป ในตอนนั้นเองที่ท่านบอกกับอาตมาว่าท่านต้องการจะเป็นพุทธศาสนิกชน ครั้งหนึ่งท่านเคยเป็นคริสต์และเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ตอนนี้ท่านต้องการจะเรียนรู้อย่างจริงจังกับสิ่งแปลกใหม่ที่เข้ามาในชีวิตท่านตั้งแต่อาตมากลับมาที่บ้าน ท่านจึงต้องการจะหันมานับถือศาสนาพุทธอย่างเป็นทางการ การจะเข้าเป็นพุทธศาสนิกชนอย่างเป็นทางการ เพียงแค่รับเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ก็เพียงพอ แต่การจะเป็นชาวพุทธได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ต้องมีการสมาทานศีลห้า
ศีล 5
1. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
2. งดเว้นจากการลักทรัพย์
3. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
4. งดเว้นจากการกล่าวเท็จ
5. งดเว้นจากการบริโภคเครื่องดื่มมึนเมาและยาเสพติดที่จะนำไปสู่ความประมาท
อาตมาใช้เวลานานทีเดียวกว่าที่จะแปลพระรัตนตรัยและศีลทั้งห้าข้อออกมาเป็นภาษาท้องถิ่นของเรา เป็นครั้งแรกที่อาตมาเป็นผู้อัญเชิญพระรัตนตรัยและให้ศีลในภาษาของอาตมา โดยอาตมาทำเพื่อโยมแม่ ท่านสมาทานศีลอย่างง่ายดายและเป็นธรรมชาติ ท่านไม่เคยรู้จักพระพุทธศาสนามาก่อน แต่ในทางปฏิบัติแล้วกล่าวได้ว่าท่านใช้ชีวิตที่ผ่านมาเฉกเช่นพุทธศาสนิกชน แสดงให้เห็นว่าธรรมะเป็นของสากล บางทีท่านอาจจะมีเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะติดตัวท่านมาตั้งแต่อดีตชาติแล้วก็ได้ ใครจะรู้? หนึ่งเดือนหลังจากกลับมาที่นี่ มีสมาชิกครอบครัวและเพื่อนรวมได้ห้าคนที่ขอประกาศตนเป็นพุทธมามกะ (รับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ) รวมถึงโยมแม่ โยมน้อง และโยมน้องเขยของอาตมา เรื่องนี้ทำให้อาตมานึกถึงปัญจวัคคีย์ของพระพุทธเจ้าเมื่อประมาณ 2,500 กว่าปีก่อนหน้านี้
พระพุทธรักขิตาบรรยายธรรมแก่โยมแม่ และครอบครัวไม่มีเงินจะเลี้ยงพระรัตนตรัย อาตมาให้พรกับผู้ที่ถวายภัตตาหารแด่อาตมาเสมอ มีสีกาท่านหนึ่งที่มีความสนใจในศาสนาพุทธเป็นอย่างยิ่ง เธออยากทราบถึงวิธีการเข้าเป็นพุทธศาสนิกชน อาตมาบอกกับเธอว่าท่านต้องรับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์โดยการพูดตามอาตมา (ซึ่งต้องท่องทั้งหมดสามครั้ง) ดังนี้:
รอบที่ 1
พุทธัง สรณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอรับพระพุทธเป็นสรณะ)
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอรับพระธรรมเป็นสรณะ)
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอรับพระสงฆ์เป็นสรณะ)
รอบที่ 2
ทุติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอรับพระพุทธเป็นสรณะ)
ทุติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอรับพระธรรมเป็นสรณะ)
ทุติยัมปิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอรับพระสงฆ์เป็นสรณะ)
รอบที่ 3
ตติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอรับพระพุทธเป็นสรณะ)
ตติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอรับพระธรรมเป็นสรณะ)
ตติยัมปิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอรับพระสงฆ์เป็นสรณะ)
เมื่ออาตมาสอนเธอต่อไปๆ เธอเริ่มมีสีหน้าไม่สู้ดี เธอขัดอาตมาแล้วกล่าวว่า “เดี๋ยวก่อนค่ะท่าน จะทำอย่างไรถ้าดิฉันไม่มีสตางค์ที่จะเลี้ยงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์”
“อย่างกังวลไปเลย” อาตมาตอบและอธิบายกับเธอถึงใจความของไตรสรณคม เธอจึงผ่อนคลายลง เธอคงเข้าใจว่านี่คือชื่ออย่างเป็นทางการของค่ายลี้ภัยจาก ซูดาน รวันด้า และคองโก กระมัง
ก่อนอาตมาเดินทางออกจากยูกันดา เธอมาเยี่ยมเยียนศูนย์พระพุทธศาสนาของเรา จำนวนอุบาสกอุบาสิกาเริ่มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนล้วนถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
ไม่กี่สัปดาห์ก่อนอาตมาจะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา หลานสาวสามคนกับหลายชายอีกหนึ่งคนได้เข้าร่วมเส้นทางแห่งพระศาสดา ในเวลาหนึ่งเดือนที่อาตมาอยู่ในยูกันดา มีคนท้องถิ่นทั้งหมดเก้าคนหันมานับถือศาสนาพุทธ เมื่ออาตมากลับมายูกันดาเป็นครั้งที่สอง หลายชายกล่าวกับอาตมาว่า “ผมอยากเป็นเหมือนท่าน” หมายความว่าเขาต้องการจะบวชเป็นสามเณร แผนที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้คือส่งเขาไปยังเอเชียเพื่อบวชเป็นสามเณรที่นั่น
จาก
http://sameaf.mfa.go.th/th/country/africa/tips_detail.php?ID=4174&SECTION=41