https://www.youtube.com/v/5mkm22yO-bsThe Jungle Book หรือที่คนไทยคุ้นหูในชื่อ “เมาคลีลูกหมาป่า” เป็นวรรณกรรมชื่อก้องโลกของ “โจเซฟ รัดยาร์ด คิปลิง” นักประพันธ์ชาวอังกฤษ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เมาคลีเป็นสุดยอดงานชิ้นเอกที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง ล่าสุด บริษัท วอลท์ ดิสนีย์ ได้นำมาดัดแปลงเพิ่มเติม แต่ทว่าแก่นของเรื่องก็ยังเข้มข้น เต็มไปด้วยคติข้อคิดสอนใจ
เรื่องราวเปิดขึ้น ณ ผืนป่าดงดิบอันเขียวขจีในอินเดีย เมื่อเด็กน้อยคนหนึ่งวิ่งไปตามพงไพร ร่วมกับฝูงหมาป่า กระโดดขึ้นบนกิ่งไม้อย่างคล่องแคล่ว แต่กิ่งไม้แห้งนั้นเปราะบางเกินกว่าจะรับน้ำหนักของเด็กชาย เขาจึงตกลงสู่พื้น และโดนเสือดำตัวหนึ่งตะปบ !! แต่เรื่องราวไม่ได้น่าเศร้าอย่างที่คิด เพราะเสือดำตัวนี้ คือ “บาเคียร่า” ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ปกครอง และอาจารย์ของเด็กน้อย ที่มีนามว่า “เมาคลี”
เมาคลีเดินกลับไปร่วมกับฝูงหมาป่าที่มี “อาคีล่า” เป็นหัวหน้าฝูง เฉลยให้เห็นว่า เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกของฝูง ซึ่งมีแม่หมาป่านามว่า “รัคชาร์” ที่รักเด็กชายไม่ต่างจากลูกของตน
ในฤดูร้อนอันแสนแห้งแล้ง ทำให้แหล่งน้ำลดน้อยลงเรื่อยๆ จนเห็นหินก้อนใหญ่กลางหนองน้ำ หินก้อนนี้สิงสาราสัตว์ขนานนามว่า “หินแห่งสันติ” หมายถึง ถ้าปริมาณน้ำลดจนมองเห็นก้อนหิน สัตว์ป่าทุกตัวจะมีสิทธิ์เข้ามากินน้ำ โดยมีกฎเหล็กว่า ห้ามมิให้มีการทำร้าย ไล่ล่ากันเด็ดขาด
ฝูงหมาป่าก็พากันมากินน้ำ เพื่อประทังชีวิตในฤดูร้อน แต่แล้วความหวาดหวั่นชวนสะพรึง ก็แผ่ขยายไปทั่วบริเวณ เมื่อ “แชร์คาน” เสือโคร่งที่แสนดุร้าย ปรากฏกายอยู่บนเนินผา ก่อนจะเดินย่องเข้ามาบริเวณหนองน้ำ
แชร์คานเดินไปมา แล้วเอ่ยคำที่แฝงด้วยการข่มขู่ ว่าไม่ต้องการให้มนุษย์คนใดอยู่ในผืนป่าแห่งนี้ อาคีล่าที่เป็นหัวหน้าฝูงหมาป่า ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องเมาคลีด้วยนั้น มิได้ครั่นคร้ามต่อคำขู่ แต่ทว่าเหตุการณ์หลังจากนั้น ก็กลายเป็นเรื่องแสนโศกเศร้า
การมาเยือนของฤดูฝน พัดพาความชุ่มฉ่ำกลับคืนสู่พงไพรอีกครั้ง น้ำไหลนองขึ้นเต็มโขดหิน เป็นสัญญาณแห่งความอุดมสมบูรณ์ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาณอันตรายบางอย่าง ที่ฝูงหมาป่ารับรู้ถึงคำอาฆาตของเสือโคร่ง และสิ่งนี้เองทำให้ฝูงหมาป่าเริ่มเกิดความคิดแบ่งแยก บ้างมองว่าเมาคลีต้องออกจากฝูงไป เพราะเป็นชนวนก่อให้เกิดอันตราย บ้างก็มองว่าเมาคลีคือส่วนหนึ่งของฝูง ที่ต้องให้การคุ้มครอง
แต่ท้ายที่สุด เด็กน้อยได้ตัดสินชะตาชีวิตตนเอง ด้วยการเดินไปบอกจ่าฝูงว่า ขอเลือกออกจากฝูงไปอยู่กับสัตว์ชนิดอื่น เพื่อไม่ให้ครอบครัวหมาป่าที่ตัวเองรักต้องเดือดร้อน
เสือดำเห็นด้วยกับการตัดสินใจนี้ และเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปกับเมาคลี ระหว่างทางแชร์คานก็พุ่งพรวดออกมาหมายจะปลิดชีพเด็กน้อย บาเคียร่าเข้าต่อสู้ปัดป้องเต็มที่ แต่รู้ตัวดีว่าทำได้เพียงยื้อเวลาเท่านั้น เขาสั่งให้เมาคลีรีบหนีไป แล้วไปพบกันที่ปลายทางผืนป่าตอนใต้
เด็กน้อยวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต โชคดีที่พบฝูงควายป่าซึ่งหนีแชร์คาน วิ่งผ่านมาพอดี เด็กชายจึงกระโดดเกาะหลังควายป่า หลบหนีเอาตัวรอดจากพยัคฆ์ร้ายไปได้
ในที่สุดเมาคลีก็เดินทางมาถึงผืนป่าตอนใต้ ที่เป็นป่าดิบ เต็มไปด้วยรากไม้รูปทรงประหลาด แฝงความน่าสะพรึง ซึ่งที่แห่งนี้ “คา” นางพญางูเหลือมตัวยักษ์ ก็ปรากฏกายออกมาทักทายเด็กชาย
นางพญางูเหลือมมีอำนาจสะกดจิตเหยื่อได้ด้วย นางจึงหลอกล่อให้เด็กน้อยฟังเรื่องราวในอดีต ซึ่งตรงนี้ทำให้ผู้ชมได้รับรู้ปมอาฆาตของแชร์คาน ว่ามีที่มาอย่างไร
คากล่อมเมาคลีด้วยเรื่องจริงในวัยเยาว์ ว่าพ่อของเขาเป็นพรานป่า มีอำนาจเหนือกว่าสัตว์ป่า นั่นคือ ดอกไม้สีแดง(ไฟ) แชร์คานผ่านมาเห็น และยังไม่รู้ถึงอำนาจของดอกไม้สีแดง จึงตรงเข้าทำร้าย สังหารพ่อของเด็กน้อย แต่ก็ได้รับบาดเจ็บจากดอกไม้สีแดง จนหนีเตลิดไป โดยไม่ทันสังเกตว่า ทายาทตัวน้อยวัยแบเบาะของมนุษย์อยู่ตรงนั้นอีกคน
เด็กน้อยวัยไม่ประสีประสา เดินเตาะแตะออกมาจากถ้ำ เสือดำตัวหนึ่งมาเห็นเข้า และรู้ว่าความเยาว์วัยไร้เดียงสานั้น ไม่มีอันตรายใดๆ จึงเห็นใจ และนำไปฝากไว้กับแม่หมาป่า
ขณะที่เมาคลีกำลังเคลิ้มไปกับเหตุการณ์ในอดีต นางพญางูเหลือมก็ค่อยๆโอบรัดตัว พลางบอกว่า นางจะกอดให้ความอบอุ่น แต่วินาทีที่นางอ้าปาก ก็เกิดการชุลมุนบางอย่าง ที่เมาคลีไม่มีสติรับรู้ในเวลานั้น แต่เมื่อเขาตื่นมาอีกครั้ง จึงรู้ว่า “บาลู” หมีเฒ่าได้ช่วยชีวิตไว้
เมาคลีกับบาลูจึงเริ่มสนิทสนมเป็นเพื่อนรัก จนกระทั่งบาเคียร่าตามมาเจอ เสือดำไม่สบอารมณ์ที่เห็นศิษย์เอก ใช้ทักษะความรู้แบบมนุษย์ในการดำรงชีพ เพราะอยากให้เมาคลี ฝึกวิธีการเอาตัวรอดแบบสัตว์ป่ามากกว่า
แต่เช้าวันหนึ่ง ทั้งบาลูและบาเคียร่า ได้เห็นเมาคลีช่วยลูกช้างป่าที่ตกลงไปในหลุม ด้วยวิธีการแบบมนุษย์ คือ ใช้เชือกโอบลูกช้าง แล้วให้พ่อช้างดึงขึ้นมา มุมมองบางอย่างของเสือดำก็เปลี่ยนไป
ส่วนอีกด้านหนึ่ง อาคีล่าก็โดนแชร์คานสังหาร พร้อมประกาศกร้าวให้สัตว์ป่าทุกตัว กระจายข่าวออกไปว่า จะรอเมาคลีอยู่ที่เนินผาฝูงหมาป่า เพื่อรอวันชำระแค้น
ขณะที่เมาคลีก็โดนฝูงลิงลักพาตัวไปเจอ “คิง ลูอี้” ราชาแห่งวานร อุรังอุตังพันธุ์ยักษ์ที่มีขนาดตัวมหึมา ซึ่งดูเหมือนไม่มีพิษมีภัยอะไร แต่ทว่าเป็นลิงจอมละโมบ เจ้าเล่ห์ อยากให้เมาคลีสร้างดอกไม้สีแดง (ไฟ) ให้ แล้วมาอยู่ด้วยกัน เพราะเจ้าลิงยักษ์รู้ดีว่า มันจะทำให้ตนเองมีอำนาจสมบูรณ์แบบที่สุด และไม่มีสัตว์ป่าใดกล้าต่อกร
เมาคลีรู้ดีว่า ที่นี่คงไม่เหมาะที่เขาจะอยู่ด้วยแน่ๆ และก็เป็นจังหวะเดียวกับที่ บาเคียร่ากับบาลูเข้ามาชิงตัวเด็กน้อยหนีออกจากฝูงลิงได้สำเร็จ
ไม่นานเด็กน้อยก็ได้รู้ข่าวร้ายว่า ฝูงหมาป่ากำลังตกอยู่ในอันตราย ความเสียใจ เคียดแค้นของเมาคลี ทำให้เขาลอบเข้าไปในหมู่บ้านมนุษย์ และนำดอกไม้สีแดงออกมาได้ช่อหนึ่ง (คบไฟ) เขาวิ่งถือมันกลับไปยังถิ่นหมาป่า ท้าทายให้เสือร้ายออกมาสู้กัน
แต่ขณะเดียวกัน เด็กน้อยก็ได้เห็นว่า ระหว่างทางที่เขาวิ่งถือดอกไม้สีแดงมานั้น ทำให้ผืนป่าด้านหนึ่ง โดนเผาไหม้จนลุกลามใหญ่โต เขาจึงรู้สึกผิด และเมื่อเสือเจ้าเล่ห์ ใช้คำพูดตอกย้ำความผิดนั้น เมาคลีจึงตัดสินใจทิ้งอาวุธ เปิดโอกาสให้เสือร้ายกล้าที่จะจู่โจม
แต่การต่อสู้ครั้งนี้ ไม่เหมือนที่ผ่านมา เพราะทั้งหมีเฒ่า เสือดำ และฝูงหมาป่าที่เหลือ พร้อมเข้าสู้กับแชร์คาน แม้ไม่อาจเอาชนะได้ แต่ก็ทำให้เมาคลีมีเวลามากพอ ที่จะใช้ทักษะ ความคิดแบบมนุษย์ที่เขามี หลอกล่อแชร์คานไปพบจุดจบ
หลังจากนั้น เหล่าโขลงช้างป่า ที่เมาคลีเคยให้ความช่วยเหลือ ก็มาช่วยดับไฟป่า และทุกอย่างก็จบลงด้วยความสุข เมื่อผืนป่าที่พวกเขารัก กลับคืนสู่ความสงบอีกครั้ง
หากเราวิเคราะห์ลักษณะนิสัยของตัวละครในเรื่องเมาคลี เราจะเห็นข้อคิด หลักธรรมมากมาย แต่สิ่งที่ผู้เขียนเห็นชัดใน “เมาคลีและผองเพื่อน” คือ “สังคหวัตถุ 4” ที่ประกอบด้วย ทาน ปิยวาจา อัตจริยา และสมานัตตา
สังคหวัตถุ เป็นธรรมที่สื่อถึงความมีน้ำใจซึ่งกันและกัน ครอบคลุมทั้งการสงเคราะห์ การยึดเหนี่ยว หรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จากการกระทำ 4 ประการ ได้แก่ ทาน (การให้ การเสียสละ แบ่งปัน) ปิยวาจา (ที่นอกเหนือจากคำพูดที่อ่อนหวานน่าฟังแล้ว ยังรวมถึงการพูดที่สร้างประโยชน์ เหมาะสมกาลเทศะ) อัตถจริยา (การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่น) และสมานัตตา (ความสม่ำเสมอ การกระทำที่เสมอต้นเสมอปลาย)
หลักธรรมดังกล่าว จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันให้เกิดสงบสุข เพราะแก่นของสังคหวัตถุ เป็นธรรมะที่เกี่ยวข้องกับการอยู่ร่วมกันในหมู่มาก และ “สังคหวัตถุ 4” ยังเป็นส่วนหนึ่งของ “สามัคคี” ซึ่งเป็นปัจจัยที่ใช้เอาชนะอุปสรรคทั้งหลายได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังบทสรุปในเรื่องนั่นเอง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 186 มิถุนายน 2559 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)
จาก
http://www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9590000055033