ผู้เขียน หัวข้อ: บัวบานที่ อูกันด้า พุทธรักขิตาภิกขุ กับ การเผยแพร่พระพุทธศาสนาในแอฟริกา  (อ่าน 1438 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


พระพุทธรักขิตาภิกขุ อดีตชาวคริสต์ยูกันดา

พุทธรักขิตาภิกขุ กับการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในแอฟริกา (ตอนที่ 1)


เรียบเรียง โดย คุณ สุภาศิริ อมาตยกุล

หน้าปกหนังสือ Planting Dhamma Seeds แต่งโดยพระพุทธรักขิตาภิกขุ เอง

 บทความนี้เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดชีวิตและประสบการณ์จริงของพุทธรักขิตาภิกขุ พระสงฆ์ชาวแอฟริกันรูปแรกในพระพุทธศาสนาและขณะนี้ก็ยังเป็นเพียงรูปเดียวของโลก พระพุทธรักขิตามีความสนใจในคำสอนของพระพุทธศาสนามานาน ได้จากบ้านเกิดเมืองนอนไปอยู่ประเทศต่างๆ แสวงหาหนทางของชีวิต จนได้บวชเป็นพระภิกษุในปีค.ศ. 2002 จากนั้นท่านกลับไปยูกันดาเพื่อหามารดาและญาติพี่น้อง โดยกลับไปในฐานะพระภิกษุและพระธรรมทูตในพระพุทธศาสนา ท่านต้องฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ ตลอดจนความไม่เข้าใจแม้แต่จากชุมชนท้องถิ่นและญาติพี่น้อง แต่ในที่สุดท่านสามารถสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นได้ และจัดตั้งศูนย์พระพุทธศาสนาขึ้นที่กรุงกัมปาลา (Kampala) นครหลวงของประเทศยูกันดา (Uganda) เมื่อปีค.ศ. 2005
คำนำ

 บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากคำเรียกร้องมากมายของผู้ที่อาตมาพบในแอฟริกา อเมริกา และเอเชีย พวกเขาถามอาตมาด้วยคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์อยู่เสมอ บางครั้งอาตมาได้แต่ตอบพวกเขาไปอย่างสั้นๆ เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วไม่มีเวลามากพอที่จะตอบได้อย่างครบถ้วน
 มีคนถามอาตมาอยู่ตลอดว่า อาตมานับถือศาสนาอะไรก่อนจะบวชเป็นพระ เรียนทำสมาธิจากที่ไหนในยูกันดา บวชได้อย่างไรในยูกันดาทั้งๆ ที่ไม่มีวัดเลย ใครคือแรงบันดาลใจให้ออกบวช ทำไมจึงบวชเป็นพระ การจะบวชต้องทำอย่างไรบ้าง อาตมามีวัดเป็นของตัวเองในยูกันดาหรือไม่ ครอบครัว (โยมแม่) ของอาตมารู้สึกอย่างไรที่อาตมาบวช คนแอฟริกันคิดอย่างไรกับอาตมาในฐานะพระสงฆ์ เป็นต้น

 เป็นเรื่องยากที่จะทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่เป็นอัตชีวประวัติ แต่ถ้าดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นก็ขอให้ผู้อ่านอดทนสักหน่อยเถิด ด้วยจุดประสงค์หนึ่งเดียวของอาตมาคือการพยายามอธิบายให้เห็นถึงพัฒนาการของพระพุทธศาสนาในแอฟริกา โดยเฉพาะในยูกันดา เป็นปณิธานของอาตมาที่ว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยตอบคำถามของท่านทั้งหลาย และเป็นแรงผลักดันให้ท่านก้าวไปข้างหน้าสำหรับการเดินทางในโลกแห่งธรรมะ

“เป็นการยากกว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์ การดำรงชีวิตเป็นเรื่องยากลำบาก เป็นเรื่องยากที่จะได้เกิดมาพบพระธรรม การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง”

ธรรมบท: 182


ตอน 1: ครั้งแรกที่รู้จักพระพุทธศาสนา

ชาติกำเนิด

 ชื่อเดิมของอาตมาคือสตีเว่น คาบอคโกซา (Steven Kaboggoza) เกิดเมื่อปีค.ศ.1966 ในครอบครัวชาวคริสต์ ณ กรุง กัมปาลา ประเทศยูกันดา ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ยูกันดามีพรมแดนทางเหนือติดกับประเทศซูดาน(Sudan) ตะวันตก ติดกับคองโก(Congo) และใต้ติดกับรวันด้า(Rwanda) ส่วนทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดทะเลสาบวิคตอเรีย (Lake Victoria) แทนซาเนีย (Tanzania) และเคนยา (Kenya) ยูกันดาเป็นประเทศเล็กๆ ยากจน ประชากรมีความซับซ้อนเพราะประกอบขึ้นด้วยหลายชนเผ่า หนึ่งในนั้นคือ บูกันดา (Buganda) ประเทศถูกแบ่งแยกอันเป็นผลจากสงครามและเผด็จการทรราชที่กินเวลานานหลายปี สิทธิเสรีภาพถูกจำกัด แต่ในความน่าเศร้านั้นยังมีข้อดีอยู่บ้าง เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล (Sir Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้เคยกล่าวไว้ว่า “เพราะความสวยงามและสีสันอันหลากหลาย อีกทั้งสิ่งมีชีวิต พืช นก แมลง สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ป่าที่มีจำนวนมากมายมหาศาล ทำให้ยูกันดาคือ ไข่มุกแห่งแอฟริกา อย่างแท้จริง”

“คนที่นั่ง พักผ่อน เดินอยู่คนเดียว ด้วยความพากเพียรในการฝึกตน ผู้ซึ่งสามารถควบคุมตัวเองได้เมื่ออยู่เพียงลำพัง ผู้นั้นย่อมพานพบความผาสุขแม้ในป่าใหญ่”

ธรรมบท : 305


วัยเด็ก

 เมื่ออาตมาเป็นเด็ก ในยูกันดาไม่มีใครรู้จักพระพุทธศาสนา เพราะศาสนาหลักคือคริสต์และอิสลาม ในยูกันดาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวอาตมา การไม่เคารพพระเจ้ามักจะถูกมองว่าเป็น “แกะดำ” หรือ “มิตรของปีศาจ”

บทเรียนการทำสมาธิบทแรกอย่างไร้แบบแผนในยูกันดา

 ตอนอาตมาอายุห้าปี โยมแม่ซึ่งเป็นคนใจกว้าง สุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน และมีอิทธิพลอย่างมากกับชีวิตของอาตมา ได้ยอมรับความแตกต่างของเราสองคนอย่างง่ายดาย ท่านไม่พยายามเปลี่ยนแปลงลูกๆให้เป็นอย่างที่ท่านต้องการโดยเฉพาะในเรื่องความเชื่อทางศาสนา โยมแม่มีความปราดเปรื่องตามธรรมชาติในแบบของท่านเอง

 โยมแม่บอกอาตมาอยู่เสมอ “ถ้าไม่มีอะไรจะพูด จงเงียบ ถ้าไม่มีอะไรจะทำ ก็ไปนอนเสีย” คำสั่งสอนสองข้อนี้เข้ากับลักษณะนิสัยของอาตมาอย่างยิ่ง อาตมาไม่ชอบนอนกลางวัน แต่เมื่อไม่มีอะไรจะทำ โยมแม่จึงบังคับให้นอน โชคไม่ดีที่อาตมามักจะหลับไม่ค่อยลง จึงนอนพลิกตัวไปมาอยู่บนเตียง ในที่สุดก็นอนตื่นอยู่อย่างนั้นปล่อยให้ความคิดโลดแล่นไป พร้อมกับเฝ้าดูโยมแม่ซึ่งสามารถหลับได้อย่างรวดเร็ว เมื่อคิดย้อนกลับไป เข้าใจว่าในเวลานั้นอาตมาไม่มีวัตถุสำหรับกำหนดจิตในการทำสมาธิ แต่นั่นไม่ใช่วิธีง่ายที่สุดในการทำสมาธิหรอกหรือ หมายถึงการอยู่อย่างสงบเงียบ เฝ้าดูความคิดต่างๆ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

 โดยส่วนตัวแล้ว อาตมาคิดว่าได้รับบทเรียนที่มีค่ายิ่งในการทำความคุ้นเคยที่จะอยู่กับความเงียบและความว่างเปล่า คงเป็นประโยชน์มากทีเดียวถ้าในเวลานั้นมีคนสอนวิธีทำสมาธิขั้นสูงให้อาตมา แล้วการทำสมาธิแบบที่ว่านั้นจะหาได้จากไหนกัน...

 เมื่ออยู่ชั้นประถม อาตมาชอบไปโรงเรียนทุกวันอาทิตย์ซึ่งจะมีการร้องเพลงและเล่านิทาน แต่ภายหลัง การเข้าโบสถ์ได้กลายเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนเป็นคนเลื่อมใสและเคร่งครัดในศาสนาของท่านมาก ท่านติดตามจดบันทึกว่าใครมาหรือไม่มาเข้าโบสถ์บ้าง การไม่เข้าโบสถ์จะนำไปสู่การลงโทษบางอย่าง วิธีการเช่นนี้ทำให้เกิดการต่อต้านขึ้น ทีละเล็กละน้อยในใจของอาตมา

 ช่วงวัยรุ่น โรงเรียนประจำนิกายแคธอลิคได้อบรมสั่งสอนอาตมาในแนวทางแบบศาสนาคริสต์ ในยูกันดาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวอาตมา การไม่เคารพพระเจ้ามักจะถูกมองว่าเป็น“แกะดำ”หรือ“มิตรของปีศาจ” อาตมาเริ่มเกิดความสงสัยว่าจุดประสงค์ของการไปโบสถ์นั้น เป็นไปเพื่อให้ผู้อื่นพึงพอใจหรือเพื่อพัฒนาจิตใจกันแน่ มันคงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทีเดียวถ้าในตอนนั้นมีใครสักคนหนึ่งสอนวิธีปฏิบัติวิปัสสนาอย่างลึกซึ้งให้กับอาตมา ช่วงวัยนั้นเอง ในความทรงจำลางๆที่พอจะจำได้คืออาตมาเคยเรียนเกี่ยวกับชาวอินเดียคนหนึ่งที่ชื่อโคตมะ (ชื่อราชศากยวงศ์ของเจ้าชายสิทธัตถะ) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงเท่านั้นที่อาตมารู้ โดยรู้เท่าๆ กับคนแอฟริกันทั่วไป

“นี่คือชีวิตทั้งหมดในทางจิตวิญญาณ อานนท์ หมายถึงการมีกัลยาณมิตร เมื่อพระรูปหนึ่งมีกัลยาณมิตรแล้ว ย่อมคาดหวังได้ว่าท่านผู้นั้นจะพัฒนา และเข้าถึงมรรค ๘ ในที่สุด”

- พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (SN 45:2)


เติบโตเป็นผู้ใหญ่ และได้พบพระสงฆ์ในพุทธศาสนา

 ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1990 อาตมาเดินทางไปศึกษาต่อด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นการไปศึกษาพระพุทธศาสนาแทน มีนักศึกษาต่างชาติชาวแอฟริกันและเอเชียอยู่ไม่กี่คน ในจำนวนนั้นมีพระสงฆ์สองรูปจากประเทศไทย อาตมารู้สึกใกล้ชิดกับพระสองรูปนี้และมีเพียงท่านทั้งสองที่เป็นเพื่อนของอาตมา ทั้งสองท่านก็รู้สึกเช่นเดียวกัน ท่านไม่ได้สอนอาตมาเรื่องการทำสมาธิในทันที แต่ค่อยๆ แนะนำทีละเล็กละน้อยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ท่านมีน้ำใจพาอาตมาไปที่ตลาดท้องถิ่นและยังแบ่งปันอาหารให้อีกด้วย ในตอนนั้นอาตมาไม่ทราบธรรมเนียมปฏิบัติของศาสนาพุทธ อาตมาต่างหากที่ควรเป็นฝ่ายถวายภัตตาหารแด่ท่านทั้งสอง

 เดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ท่านสันสิติ (Sandsiti) พระหนึ่งในสองรูปชวนอาตมาให้ไปกับท่านที่วัดเล็กๆ แห่งหนึ่งแถวชานเมืองจัณฑีครห์ (Chandigarh) เมืองหลวงของรัฐปัญจาบ (Punjab) ซึ่งเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ชาวอินเดีย เป็นครั้งแรกที่อาตมาได้เข้าร่วมพิธีกรรมของศาสนาพุทธ

 อาตมาเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่แต่ก็ไม่ได้เข้าใจถึงความสำคัญ เมื่อเวลาผ่านไปอาตมาเริ่มมีความสนใจมากขึ้นในคำสอนของพระพุทธเจ้า อาตมาเคารพชื่นชมพระสงฆ์เหล่านี้ด้วยใจจริง สิ่งต่างๆ ที่ท่านปฏิบัติสัมผัสความรู้สึกเมตตา กรุณา ซาบซึ้งในส่วนลึกของจิตใจอาตมา ระหว่างช่วงวันหยุดที่ท่านทั้งสองเดินทางกลับประเทศไทย อาตมาคิดถึงพวกท่านอย่างมาก ถามตัวเองว่าอาตมาจะไปพบพระสงฆ์รูปอื่นๆได้ที่ไหน

“บุคคลควรเจริญรอยตามผู้เจริญผู้ซึ่งแน่วแน่ ปราดเปรื่อง ใฝ่รู้ รับผิดชอบต่อหน้าที่ และเสียสละทุ่มเท บุคคลควรเจริญรอยตามผู้ซึ่งถึงพร้อมด้วยความดีดุจพระจันทร์โคจรตามเส้นทางของดวงดาว”

ธรรมบท : 208


สายสัมพันธ์พิเศษกับองค์ดาไลลามะ

 ช่วงวันหยุดภาคฤดูร้อน อาตมายังคงตามหาเพื่อนชาวพุทธ อาตมาขึ้นรถเมล์รอบกลางคืนเพื่อไปยังธรรมศาลา (Dhammasala) ซึ่งเป็นที่ประทับขององค์ดาไล ลามะ อาตมาคิดในใจ ‘ประเทศนี้ช่างดีจริงๆ กลางคืนก็ยังเดินทางได้’ ขณะที่ยูกันดานานมากแล้วที่เราไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ในเวลากลางคืนเนื่องจากสงครามและปัญหาทางการเมือง แต่ที่นี่อาตมารู้สึกได้รับอิสรภาพอีกขั้นหนึ่ง เป็นการนั่งรถที่ยาวนานมากในรถ “มะม่วงเชค” (รถโดยสารเก่าคร่ำครึราคาถูก)ไปยังธรรมศาลาที่ตั้งอยู่เชิงเขาหิมาลัย การเดินทางน่าตื่นตาตื่นใจจนอดสงสัยไม่ได้ว่าเป็นความจริงหรือแค่ฝันไป เป็นสิ่งที่อาตมา ไม่สามารถจินตนาการว่าจะทำเช่นนี้ได้หากอยู่ในยูกันดา เป็นความรู้สึกเหมือนครั้งแรกที่อาตมารู้จักกับธรรมะ คำสอนในพระพุทธศาสนาว่า “เราได้พบกับสิ่งที่นำอิสรภาพมาให้”

 วันหนึ่ง อาตมาไปร่วมในการออกพบปะสาธรณชนขององค์ดาไล ลามะ โดยมีชาวตะวันตกอีกนับร้อยคนที่ไปรอถวายความเคารพแด่ท่านที่ธรรมศาลา คนผิวสีคนเดียวจากแอฟริกาท่ามกลางคนขาวจากทั่วทุกมุมโลก อาตมาจึงโดดเด่นเป็นที่สังเกต เห็นได้โดยง่าย อาตมามีความสุขมากที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับองค์ดาไล ลามะ ยิ่งกว่านั้นยังโชคดีได้จับมือกับท่านอีกด้วย ท่านให้พรกับอาตมา ซึ่งอาตมาสัมผัสได้ถึงรังสีแห่งความอ่อนโยนเปี่ยมด้วยความรักความเมตตาที่นำความสงบสดชื่นมาสู่จิตใจ อาตมามีแรงบันดาลใจเต็มเปี่ยมเมื่อได้ฟังท่านสอนธรรมะ ท่านแสดงความอาทรและความรู้ในธรรมะแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาตมาบอกกับตัวเองว่า “ที่นี่คือบ้าน บ้านทางจิตวิญญาณของอาตมาอยู่ที่ธรรมศาลานี่เอง” อาตมาตัดสินใจที่จะใช้วันหยุดทั้งหมดที่มีในปีต่อๆ มา ณ ที่แห่งนี้

 การเดินทางเข้าสู่พระพุทธศาสนาเริ่มขึ้นเมื่อพบกับพระสงฆ์ในอินเดีย อาตมาได้รับการจูงใจอย่างแรงกล้าจากเพื่อนสนิทที่สนใจเรื่องเดียวกัน และได้พบแนวคำสอนเพื่อเข้าถึงความสุขที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ตัวอย่างเช่น มรรคมีองค์ 8 คำสอนเรื่องกรรม (การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา) ที่ให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบในการกระทำของตน เหล่านี้คือสิ่งที่ ทำให้อาตมาหูตาสว่าง ภายหลังอาตมาได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเข้าถึงพระนิพพาน

คำสอนเหล่านี้น่าสนใจเป็นอย่างมาก เป็นอิสรภาพที่ยิ่งใหญ่ การศึกษาทางวิชาการในประเทศอินเดียที่สุดได้กลายมาเป็นการศึกษาทางจิตวิญญาณ
“ผู้เข้าใจผิดในสิ่งไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ ในสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ เป็นผู้มีความเห็นผิด จะไม่สามารถเข้าถึงสาระที่แท้จริง ผู้เข้าใจสิ่งที่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และไม่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ เป็นผู้มีความเห็นชอบ ย่อมเข้าถึงสิ่งที่เป็นสารัตถะแท้จริง”

ธรรมบท : 11-12


แสวงหาอาจารย์ทางจิตวิญญาณ

 มีวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวกับเรื่องทางจิตวิญญาณมากมายในอินเดีย: ศาสนาฮินดู ศาสนาซิกซ์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธ เป็นต้น แรงจูงใจที่นอนนึ่งอยู่ภายในได้ผลักดันให้อาตมาออกตามหา “บางสิ่ง” แต่ในตอนนั้น “บางสิ่ง” ที่ว่ายังคงคลุมเครือ อาตมาจึงเปิดใจกว้างศึกษาศาสนาต่างๆ เช่น ได้เข้าร่วมกลุ่มที่ศูนย์รวมศรัทธาศาสนาบาไฮ (Baha’i Faith Centre) ในจัณฑีครห์ หรือเข้าร่วมกับกลุ่มกูรุส (Gurus) และสวามิส (Swamis) ที่สร้างความประทับใจให้เป็นอย่างยิ่ง

 อาตมาศึกษาเรื่องจิตและฝึกทำสมาธิกับวิมาลา ทาการ์ (Vimala Thakar) ความมหัศจรรย์ของเธอมากเกินกว่าจะบรรยายออกมาเป็นตัวหนังสือ เธอเป็นคนโอบอ้อมอารี อาตมาเลื่อมใสเธออย่างมากในเรื่องนี้ วิมาลาบอกกับอาตมาว่าเธอไม่ได้นับถือศาสนาพุทธแต่ก็ให้ความนับถืออย่างมากต่อพระพุทธเจ้า เธอสอนสมาธิสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันและประกอบกิจกรรมต่างๆ ทั้งยังให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับความสงบ เธอแนะให้เรานำตัวเองไปใกล้กับธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อประโยชน์ในการเข้าใจจิตใจของตัวเราเอง เป็นการทำให้ร่างกายและจิตใจของเราอ่อนโยน กระฉับกระเฉง และเฉียบคมอยู่เสมอ อาตมารับจดจำคำสั่งสอนนี้ไว้ด้วยหัวใจ

“สมาธิเป็นบาทฐานของปัญญา หากปราศจากสมาธิแล้ว ปัญญาย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ความเข้าใจการเพิ่มขึ้นและลดลงนี้ จะทำให้บุคคลสามารถประพฤติตนเพื่อเป็นไปในทางก้าวหน้าของปัญญา”

ธรรมบท : 282


สำนักวิปัสสนาที่ยอดเยี่ยมในทิเบต

 ในที่สุดโอกาสอันชัดเจนก็มาถึง ในปี ค.ศ. 1994 วัดธุสิตา(Tusita) แห่งธรรมศาลาได้จัดอบรมการฝึกวิปิสสนาเป็นเวลา 12 วัน โดยคนสอนเป็นผู้เชี่ยวชาญการทำสมาธิชาวอเมริกันชื่อ ดร.อเล็กซ์ เบอร์ซิน(Alex Berzin) ระหว่างการอบรม ท่านถ่ายทอดหลักสำคัญเบื้องต้นของพระพุทธศาสนาและขั้นตอนพื้นฐานสำหรับการทำวิปัสสนา เริ่มจากการสังเกตเจตนารมณ์ของเราในทุกสิ่งที่กระทำ ระหว่างการอบรมอาตมาได้เรียนรู้ว่าการสำรวจเจตนาแท้ที่จริงก็คือการมีสติสมบูรณ์ของจิตใจ นี่คือการเดินทางเข้าไปค้นพบตัวตนภายใน

 หลังการฝึกครั้งนี้ อาตมาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง การฝึกวิปัสสนาช่วยสร้างศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า อาตมาออกจากมหาวิทยาลัยและเลือกเส้นทางการแสวงหาทางจิตวิญญาณโดยเข้าร่วมกับเพื่อนในกรุงนิวเดลี (New Dehli) ที่ซึ่งอาตมายังคงฟังบรรยายเรียนรู้เกี่ยวกับจิต ฝึกวิปัสสนา และอ่านหนังสือธรรมะ คำสอนเรื่องความเมตตา กรุณาและปัญญาได้จุดประกายให้อาตมา รวมทั้งคำสอนเรื่องกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เน้นความรับผิดชอบในการกระทำของตนซึ่งจะก่อให้เกิดผลอย่างใด อย่างหนึ่งในชีวิตตามมา (เปรียบเทียบเช่นการกระทำอย่างหนึ่งที่มีผลกระทบไม่ว่าจะในทางดีหรือร้ายต่อสิ่งภายนอก) อาตมาได้เรียนรู้ถึงความเป็นไปได้ของชีวิตที่จะบรรลุนิพพานซึ่งเป็นสภาพที่อยู่เหนือกว่าสวรรค์ขึ้นไปอีก อาตมาประทับใจคำสอนเหล่านี้เป็นอย่างมาก

 หลังจากใช้ชีวิตร่วมกับหมู่สงฆ์ในนิวเดลีเป็นเวลาหนึ่งปี อาตมาจึงออกแสวงบุญจากอินเดียไปยังเนปาล ทิเบต และสุดท้ายมาจบที่ที่ประเทศไทย เคยได้ยินเรื่องหนึ่งพันความสุขหนึ่งพันความเศร้าไหม อาตมาเรียนรู้เรื่องนี้ระหว่างการเดินทาง

“ความสุข ความพอใจใดๆ ที่มี เป็นความพึงพอใจทางโลก สำหรับพระสงฆ์ทั้งหลาย ความพึงใจในทางโลกนั้นไม่มี จึงไม่เกิดความยึดติด แต่เพราะสิ่งในโลกมีนั้นน่าพึงใจ คนจึงหลงไปยึดถือเอา”

AN 3 : 101-2


แสวงหาความพึงพอใจทางโลก


ภาพถ่ายในช่วงที่พระพุทธรักขิตาภิกขุประกอบอาชีพครูสอนดำน้ำ ที่เกาะเต่า ประเทศไทย

ช่วงเวลาแห่งความสุข

 หลังจากอยู่ในทิเบตเป็นเวลาหนึ่งเดือนครึ่ง นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษคนหนึ่งแนะนำให้เดินทางมาประเทศไทย อาตมาเริ่มการเดินทางด้วยการกลับไปเนปาลก่อน จากนั้นจึงมุ่งหน้าไปยังเกาะสวยที่มีชื่อว่าเกาะเต่า ทางตอนใต้ของไทย ตอนนั้นอาตมาต้องหางานทำ จึงตัดสินใจหัดดำน้ำเพิ่มเติมจนกระทั่งเรียนจบถึงขั้นที่เป็นผู้ฝึกสอนได้ อาตมาจึงกลายมาเป็นครูสอนดำน้ำ มันออกจะตลกอยู่บ้างที่มีผู้ยินดีจ่ายสตางค์ให้ได้ทำในสิ่งสนุกสนานเช่นนี้ แล้วอาตมาก็ติดอยู่กับการเป็นครูสอนดำน้ำ มันเป็นงานที่สนุกมากจริงๆ แต่ในเวลาเดียวกันอาตมาก็มองหาช่องทางที่จะศึกษาและฝึกฝนวิปัสสนาระดับสูงไปด้วย ทว่าสถานการณ์ยังไม่สุกงอมเพียงพอให้อาตมาเข้าร่วมการฝึกอบรมอย่างจริงจัง ในทางกลับกันอาตมากลับได้เรียนรู้ความรื่นรมณ์หอมหวานของชีวิตครูสอนดำน้ำ แต่ละวันผ่านไปมีนักเรียนฐานะดีจากทั่วทุกมุมโลกมาเรียนกับอาตมา แต่เมื่อนานเข้าอาตมาก็เริ่มหมดสนุกกับงานและความสุขที่เคยได้รับ มันเป็นไปได้อย่างไรกัน?

“ความสุขจากผัสสะต่างๆไม่มีทางจะปรนเปรอให้พอใจได้ แม้ฝนจะตกลงมาเป็นเงินเป็นทอง การได้สนองตัณหามอบความสุขให้เพียงเล็กน้อย แต่มาพร้อมกับความทุกข์อันใหญ่หลวง เมื่อเข้าใจสิ่งนี้ ผู้มีปัญญาย่อมไม่ปรารถนาความสุขในลักษณะนี้แม้กระทั่งบนสรวงสวรรค์ ผู้ศรัทธามั่นในพระพุทธเจ้าย่อมยินดีในความสุขที่เกิดจากการดับลงของตัณหา”

ธรรมบท : 186-87


ช่วงไม่มีความสุข

 ก่อนหน้านี้อาชีพครูสอนดำน้ำนำความสุขและข้อดีต่างๆ เข้ามามากมาย แต่หลังจากนั้นอาตมารู้สึกเบื่อหน่ายหดหู่ที่ต้องเห็นนักท่องเที่ยวคนแล้วคนเล่าผ่านเข้ามาแล้วก็ลาจากไป รวมไปถึงรีสอร์ทราคาแพงที่คล้ายจะสงวนไว้สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีสตางค์เท่านั้น อาตมาจึงเริ่มรู้สึกไม่มีความสุขกับชีวิตครูสอนดำน้ำและเริ่มเข้าใจถึงอันตรายของมัน หลังตื่นจากมายาภาพแห่งโลกธุรกิจ อาตมาจึงลาออก เดินทางจากประเทศไทยกลับไปยังบ้านเกิดในแอฟริกา เมื่อภายหลังมีชายคนหนึ่งทราบเรื่องที่อาตมาละทิ้งชีวิตอันแสนสุขสบายในรีสอร์ทหรูบนเกาะ เขาคิดว่าอาตมาคงเสียสติไปแล้วและบอกว่าอาตมาควรจะไปพบจิตแพทย์ แต่เดี๋ยวก่อน...ถ้าอาตมาไม่ได้ออกจากเมืองไทยในตอนนั้น อาตมาอาจจะอยู่ที่นั่นเมื่อคลื่นสึนามิพัดถล่มเกาะพีพี เกือบทั้งเกาะเมื่อปี ค.ศ. 2004 มีคนเสียชีวิตมากมาย ณ จุดที่อาตมาเคยดำน้ำอยู่ เป็นความโชคดีของอาตมาที่ออกจากเกาะกลับไปแอฟริกาก่อนหน้าเหตุการณ์นั้น

“อย่ายึดติดในสิ่งที่น่ารัก และอย่ายึดมั่นในสิ่งที่น่าชัง การขาดสูญของสิ่งอันเป็นที่รัก และการปรากฏของสิ่งอันเป็นที่ชัง เป็นทุกข์ทั้งคู่ ดังนั้น จงอย่ายึดถือสิ่งใดว่าเป็นของรัก เพราะการพลัดพรากจากสิ่งนั้นย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ ความอาวรณ์ไม่มีกับผู้เข้าใจว่าทุกสิ่งไม่ควรยึดถือเอา ทั้งสิ่งที่จะทำให้รัก และสิ่งที่จะทำให้ชัง”

ธรรมบท : 210-211


สวัสดีและลาก่อน บ้านเกิดเมืองนอนแอฟริกา

 รวมเวลาได้เจ็ดปีที่อาตมาเดินทางจากแอฟริกามา เป็นการเดินทางยาวนานที่เปี่ยมไปด้วยสีสันไม่อาจคาดเดา เต็มไปด้วยจุดหักเหพลิกผัน อาตมาตื่นเต้นมากกับการกลับไปเยี่ยมบ้านครั้งนี้ อารมณ์พลุ่งพล่านทันทีที่เครื่องบินลงจอด ณ ท่าอากาศยานเอ็นเท็บเบ้ (Entebbe) ในที่สุดก็กลับมาบ้าน ทุกอย่างดูคุ้นตาแต่ขณะเดียวกันก็แตกต่างไปจากเดิมอย่างบอกไม่ถูก

 ทันทีที่ถึงบ้าน รู้สึกได้ว่าเพื่อนๆ ญาติๆ ต่างตั้งความหวังว่าอาตมาจะกลับมาในฐานะนักธุรกิจผู้ร่ำรวยประสบความสำเร็จ ถือกระเป๋าเอกสารอยู่ในมือข้างหนึ่ง แต่เปล่าเลย อาตมาอยู่ในฐานะของโยคีหัวโล้นชาวพุทธธรรมดาผู้ที่ในกระเป๋ามีอุปกรณ์ดำน้ำกับหนังสือธรรมะอยู่หลายเล่ม ทุกคนต่างไม่เข้าใจว่าอาตมานำสองสิ่งนี้กลับมายังแอฟริกาทำไม ในยูกันดาไม่มีวัดหรือครูสอนศาสนาพุทธแม้แต่คนเดียว แล้วก็ไม่มีทะเลให้ดำน้ำด้วย

 ญาติๆ หลายคนเสนอที่จะฆ่าแกะหรือไก่เพื่อนำมาทำอาหารเลี้ยงต้อนรับเป็นการให้เกียรติการกลับมาของอาตมา แต่อาตมาไม่อนุญาติเพราะไม่อยากให้สัตว์ตัวไหนต้องถูกฆ่าเพราะอาตมา

 ทุกคนพยายามจะเปลี่ยนให้อาตมากลับไปนับถือศาสนาคริสต์อีกครั้ง แต่ตอนนั้นอาตมามีความเลื่อมใสหนักแน่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าเสียแล้ว ญาติห่างๆ บางคนถึงกับแนะให้อาตมาเผาหนังสือธรรมะทิ้งเสียให้หมดแล้วหันกลับมาอ่านคัมภีร์ไบเบิ้ล (Bible) แทน แต่แน่นอนว่าอาตมาปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น พวกเขาจึงรู้สึกหมดหนทาง ผิดหวัง และไม่ปรารถนาอาตมาอีกต่อไป

 อาตมายังคงฝึกวิปัสสนาเงียบๆ คนเดียวต่อไปในห้องนอน อ่านหนังสือธรรมะที่นำมาด้วยจากเอเชีย แต่หลังจาก หลายปีในอินเดียและเอเชีย ที่ซึ่งอาตมามีเพื่อนและครูที่สนใจเรื่องจิตวิญญาณเหมือนๆ กัน ที่ยูกันดาอาตมากลับไม่มีเพื่อนอย่างที่ว่าให้คบหาพูดคุยด้วยเลยแม้แต่คนเดียว

 อาตมารู้สึกถึงความปรารถนาที่ยังคงพร่องหายไป อีกทั้งรู้สึกสิ้นหวัง ผิดหวัง และหมดความอดทนกับสภาพเช่นนี้ จึงตัดสินใจจากยูกันดาไปเป็นครั้งที่สองเพื่อตามหาสัจธรรมอันลึกซึ้ง และในครั้งนี้อาตมาตั้งใจจะอุทิศเวลาทั้งหมดให้กับการพัฒนาทางจิตใจเพียงอย่างเดียว

“คนคนหนึ่งแม้อายุยืนยาว 100 ปี ถ้าปราศจากปัญญาและการควบคุมตัวเองเสียแล้ว เปรียบไม่ได้กับผู้มีชีวิตเต็มด้วยสติและปัญญาที่มีชีวิตอยู่เพียง 1 วัน” เพียงหนึ่งวันที่มีชีวิตอยู่ด้วยการรักษาศีลและครองสติไว้ให้มั่นคง มีค่ามากกว่าหนึ่งร้อยปีแห่งชีวิตที่ปราศจากศีลและการบำเพ็ญภาวนาเพียงหนึ่งวันที่มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาและการดำรงสติอย่างแน่วแน่ มีค่ามากกว่าหนึ่งร้อยปีของชีวิตที่ปราศจากปัญญาและสติสัมปชัญญะ”

ธรรมบท : 110-111


ยินดีต้อนรับสู่อเมริกา

 อาตมาใช้เวลาหนึ่งปีในทวีปอเมริกาใต้ ท่องเที่ยวและฝึกวิปัสสนาด้วยตนเอง ก่อนที่จะเดินทางถึงสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1999 อาตมาเข้าร่วมกับกลุ่มวิปัสสนากรรมฐานขั้นสูงไอเอ็มเอส (IMS - Insight Meditation Society) ในเมืองแบร์ (Barre) รัฐเมสซาชูเสจ (Massachusettes) เป็นเวลาสามเดือน ในที่สุดอาตมาได้พบกับกลุ่มคนที่มีความสนใจอย่างจริงจังเหมือนๆ กัน กลุ่มคนที่ปฏิบัติตามแนวทางคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ คณะสงฆ์และสถาบันไอเอ็มเอสได้กลายมาเป็นบ้านทางจิตวิญญาณ บ้านหลังที่สองของอาตมา แม้อาตมาวางแผนไว้ว่าจะกลับไปยังอเมริกาใต้หลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรม แต่อาตมากลับเข้าร่วมงานกับทีมงานของไอเอ็มเอสจนถึงปี ค.ศ. 2000 ช่วงนั้นอาตมาทั้งทำงานไปด้วยทั้งเรียนไปด้วยกับอาจารย์หลายท่าน เข้าร่วมกิจกรรมการฝึกฝนอบรมหลายครั้ง

 อาตมาพบกับภันเต กุนารัตนะ (Bhante Gunaratana) ที่ไอเอ็มเอสนี้เองในปี ค.ศ.2000 เมื่อท่านเดินทางมาสอนวิปัสสนา ท่านจะออกไปเดินทุกๆวันของการฝึกอบรม ครั้งหนึ่งหลังจากเสร็จสิ้นการเดินด้วยกัน ภันเต กุนารัตนะชวนให้อาตมาไปเยี่ยมท่านที่กลุ่มภาวนา (Bhavana Society) ที่แห่งนี้ภายหลังได้กลายมาเป็นสถานที่ที่อาตมาใช้จำวัด “บ้านของสมณเพศ” ภายหลังการอุปสมบท

 ทุกสรรพสิ่งเกิดจากเหตุและเงื่อนไขที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาตมาที่ไอเอ็มเอส เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงในชีวิต บางสิ่งบางอย่างอาจดูมั่นคงแข็งแรง แต่ทันทีที่เหตุปัจจัยเปลี่ยนไป ความมั่นคงแข็งแรงนั้นก็สลายลงไปทันที อาตมาจำต้องจากไอเอ็มเอสไปอย่างไม่ทันตั้งตัว

 มีคำกล่าวหนึ่งว่า “หัวมุมไม่ใช่จุดสิ้นสุดของถนนสายนั้น นอกจากคุณไม่เลี้ยวไปตามทาง” ตอนนี้อาตมาต้องหักเลี้ยวครั้งใหญ่ในชีวิต แล้วมันจะพาอาตมาไปที่ไหนน่ะหรือ....

“ทางหนึ่งคือทางสู่ความมั่งมีทางโลก ส่วนอีกทางหนึ่งคือหนทางสู่พระนิพพาน เมื่อเข้าใจสิ่งนี้อย่างแจ่มแจ้งแล้ว พระสงฆ์ศิษย์ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย จงอย่าปล่อยให้เครื่องผูกพันทางโลกมาทำให้ไขว้เขวอยู่เลย จงเร่งพัฒนาเพื่อความหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้น”

ธรรมบท : 75


การละทิ้ง

 อาตมาตัดสินใจแล้วว่าจะทิ้งเรื่องทางโลก ทรัพย์สินภายนอกไม่สามารถทำให้อาตมาพึงพอใจได้อีกต่อไป จากประสบการณ์ในเมืองไทย ความสุขของการศึกษาพุทธศาสนาทำให้อาตมาต้องการจะทุ่มเทชีวิตให้กับการศึกษาและฝึกปฏิบัติ อาตมาจึงตัดสินใจละทิ้งความสุขที่น้อยกว่า (ความสุขทางโลก) เพื่อสิ่งที่สำหรับอาตมาแล้วนับว่าเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่า … นั่นคือการพัฒนาจิตวิญญาณ หลังจากสามเดือนของการอบรมที่ไอเอ็มเอสทำให้อาตมาตระหนักดียิ่งขึ้นไปอีกว่าความสุขที่แท้จริงนั้นมาจากภายใน ไม่ใช่จากปัจจัยภายนอก แน่นอนว่าเราต้องอาศัยปัจจัยภายนอกเป็นตัวช่วย (วัตถุทางโลกต่างๆ)ให้จิตของเราพัฒนาไป แต่ปัจจัยภายนอกเหล่านั้นไม่ใช่แก่นสารหรือจุดหมายปลายทางที่แท้จริง ถ้าเราตั้งปัจจัยภายนอกเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิตแล้วล่ะก็ วัตถุประสงค์ที่มีคุณค่าแท้จริงของชีวิตจะเลือนลาง เป้าหมายของชาวพุทธที่แท้นั้นคือการใช้ชีวิตอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรมเพื่อไปถึงนิพพานให้ได้ในที่สุด

 อาตมาตกลงใจจะเข้าสู่ร่มกาสาวพักตร์ออกบวชเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา แต่การอุปสมบทจะเกิดขึ้นได้ต้องมีวัดและพระสงฆ์อาวุโสรูปหนึ่งซึ่งเต็มใจจะรับอาตมาเป็นศิษย์ อาตมาควรจะไปที่ไหนดี?

“พึงละทิ้งหนทางที่มืดมน ผู้มีปัญญาย่อมเลือกเดินไปตามทางสว่างออกจากทางโลกไปสู่ทางธรรม ปรารถนาพบพานความความสุขจากการปล่อยวางซึ่งยากจะหาความสนุกสนาน ละทิ้งความสุขที่ขึ้นกับผัสสะ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดอีกต่อไป ชำระร่างกายจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตใจทั้งมวล”

ธรรมบท : 87-88


เดินทางเข้าสู่เพศบรรพชิต

 เพื่อนของอาตมาแนะนำให้อาตมาไปที่ศูนย์ปฏิบัติวิปัสสนาตถาคต (Tathagata) ทีเอ็มซี - TMC - Tathagata Meditation Centre ในเมืองซาน โฮเซ่ (San Jose) รัฐแคลิฟอร์เนีย (California) เขาบอกกับอาตมาว่าผู้คนที่นั่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบาสกอุบาสิกาชาวเวียดนามมีจิตใจงดงามยิ่ง ถึงแม้ว่าที่แห่งนี้จะเป็นเพียงศูนย์ปฏิบัติธรรมเล็กๆ ก็ตาม หลังพิจรณาทางเลือกต่างๆอาตมาเดินทางไปที่นั่นในปี ค.ศ. 2001 ได้พบกับท่านปัณณาธิภา (Pannadipa) ที่แปลกคืออาตมาขอบวชกับท่านในทันที อาตมาไม่เคยทราบถึงพิธีการขอบวชมาก่อน ท่านดูแปลกใจอย่างยิ่งที่เห็นชาวแอฟริกันผิวสีคนหนึ่งมีปณิธานแรงกล้าที่จะออกบวชโดยไม่เคยผ่านการอบรมก่อนบวชอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ท่านจะทราบได้อย่างไรว่าอาตมาจริงจังแค่ไหน อาตมาค่อนข้างจะวิตกกับการเปลี่ยนแปลงในคราวนี้ ท่านปัณณาธิภา (Pannadipa) อนุญาติให้อาตมาอาศัยอยู่ที่นี่เพื่อเตรียมตัวสำหรับการอุปสมบท อาตมาเริ่มฝึกวิปัสสนาอย่างเข้มข้นไปพร้อมกับเรียนรู้การใช้ชีวิตในเพศบรรพชิต ซึ่งในที่สุดได้นำไปสู่การบวชเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่ทีเอ็มซี ซาน โฮเซ่ แคลิฟอเนียร์ ในปี ค.ศ.2002 โดยอาจารย์ของอาตมาคือท่านซายาดอว์ ยู สิละนันทะ (Sayadaw U. Silananda)


พระพุทธรักขิตาภิกขุ

 ผ่านไปช่วงหนึ่งอาตมาจึงย้ายไปอยู่กับกลุ่มภาวนา (Bhavana Society) ที่เวสท์ เวอร์จิเนียร์ (West Virginia) เพื่อศึกษากับท่านภันเต กุนารัตนะ(Bhante Gunaratana) การเดินทางในอเมริกาของอาตมาได้มาสิ้นสุดลงในสถานที่สงบสุขแห่งนี้ที่อาตมาใช้พำนักอยู่เป็นการถาวร
แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้าไปถึงยูกันดาได้อย่างไร?

อาตมาพร้อมแล้วหรือที่จะกลับไปพบกับเพื่อนชาวแอฟริกันที่เกือบทั้งหมดไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับศาสนาพุทธมาก่อนเลย
อาตมาควรไปปฏิบัติวิปัสสนาในถ้ำที่ประเทศอินเดียหรือเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแอฟริกามากกว่ากัน

“จงออกไปเผยแผ่ธรรมะด้วยความเมตตาให้กับโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของมวลมนุษย์ ท่านทั้งสองจงอย่าไปทางเดียวกัน แสดงธรรมให้ถึงพร้อมในตอนต้น ให้ถึงพร้อมในตอนกลาง และให้ถึงพร้อมในตอนท้าย”

- พระสัมมาสัมพุทธเจ้า


**************************************

จาก http://tobebuddhist.blogspot.com/




<a href="https://www.youtube.com/v/mwRYvNHbLUs" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/mwRYvNHbLUs</a>
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


พุทธรักขิตาภิกขุ กับการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในแอฟริกา (ตอนที่ 2)

เรียบเรียงโดย คุณ สุภาศิริ อมาตยกุล

ตอน 2 พระพุทธศาสนาในยูกันดา...เพาะปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งธรรมะ


ภารกิจธรรมครั้งแรกในแอฟริกา


   กว่าหนึ่งทศวรรษมาแล้วเมื่ออยู่ที่ประเทศอินเดีย อาตมาเคยวางแผนกับเพื่อนทั้งที่เป็นแอฟริกันและไม่ใช่แอฟริกันว่าจะร่วมกันก่อตั้ง “สมาคมมิตรภาพอัฟโร – ทิเบต (Afro – Tibetan Friendship Society) เพื่อ เผยแผ่ธรรมะในยูกันดาและประเทศอื่นๆในทวีปแอฟริกา โชคร้ายที่แอฟริกายังคงเป็นดินแดนแห้งแล้ง สวนไร่นายังไม่ได้รับการไถพรวน จังหวะเวลายังไม่สุกงอมเต็มที่

   เมื่ออยู่ที่ทีเอ็มซีในซานโฮเซ่ แคลิฟอร์เนีย (San Jose, California) ท่านซายาดอว์ ยู สิละนันทะ (Sayadaw U. Silananda) ให้คำแนะนำว่าอาตมาควรจะกลับไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในทวีปแอฟริกาโดยเริ่มจากครอบครัวของอาตมา ซึ่งเมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้านั้นท่านซายาดอว์ ยู บีลิน(Sayadaw U Beelin) ก็เคยเอ่ยปากถามอาตมาถึงความเป็นไปได้ในการกลับไปเผยแผ่ธรรมะที่แอฟริกาโดยเริ่มจากครอบครัวของอาตมาเช่นเดียวกัน

   อาตมาจึงไปขอความเห็นจากท่านภันเต กุนารัตนะ(Bhante Gunaratana) ว่าสิ่งใดจะดีกว่ากันระหว่างการไปฝึกวิปัสสนากรรมฐานในถ้ำที่ประเทศอินเดีย (สถานที่ซึ่งเป็นยอดปรารถนาของพระสงฆ์สำหรับการฝึกจิต) กับการกลับไปเผยแผ่ธรรมะในแอฟริกา ท่านให้ความเห็นอย่างหนักแน่นว่าอาตมาควรจะไปเผยแผ่ธรรมะใน แอฟริกามากกว่า และควรกระทำโดยเร็วมากกว่าที่จะปล่อยให้เนิ่นนานออกไป ขณะที่เพื่อนบางคนในอเมริกา ไม่เห็นด้วยกับการกลับไปแอฟริกา เพราะเป็นห่วงว่าอาตมาจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้คนท้องถิ่นทั้งในเรื่องของอาหาร ที่อยู่อาศัย การตระเตรียมสิ่งจำเป็นอื่นๆ ที่อุบาสกอุบาสิกาควรจัดหาให้พระภิกษุสงฆ์ อาตมาพร้อมแล้วหรือที่จะกลับไปพบปะเพื่อนชาวแอฟริกันผู้ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาก่อนเลย อาตมาเอามือมากำหัวใจไว้ ตัดสินใจที่จะนำพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปสู่ทวีปแอฟริกา

จาริกแสวงบุญในดินแดนพุทธอันศักดิ์สิทธิ์

   อาตมาวางแผนเบื้องต้นว่าจะใช้เวลาประมาณหกเดือนในเอเชียและแอฟริกา เดือนตุลาคม ค.ศ. 2004 ท่านคิปปะพันโน (Khippapanno) ตอบรับให้อาตมาเข้าร่วมกลุ่มเดินทางจาริกแสวงบุญไปยังอินเดียและเนปาล แม้จะเคยอยู่ที่อินเดียเป็นเวลาหลายปี แต่นี่เป็นครั้งแรกที่อาตมาได้ไปถึงสถานที่อันเป็นที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ยิ่งทำให้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาของอาตมาเข้มแข็งยิ่งขึ้น จากนั้นอาตมาเดินทางต่อไปยังพม่า ศรีลังกา ก่อนจะไปยูกันดาเพื่อพบกับโยมแม่ของอาตมา พร้อมกับความหวังอย่างยิ่งที่จะถ่ายทอดพระพุทธศาสนาที่นั่น

   ที่ศรีลังกา ธรรมะรุวัณ (Dhammaruwan) ชายผู้ปราดเปรื่องชาวพุทธที่มีชื่อเสียงจากการทำสมถะ (การฝึกสมาธิเพื่อความสงบ) และวิปัสสนา (การฝึกสมาธิให้เกิดสติปัญญารู้เท่าทันความเป็นจริง) เป็นเวลากว่ายี่สิบปีตั้งแต่อายุเก้าขวบ ให้อาตมาเลือกระหว่างการนำพระพุทธรูปองค์เล็กหรือองค์ใหญ่กลับไปยังยูกันดา เนื่องจากฉายาทางพระของอาตมาคือ พุทธรักขิตา(Buddharakkhita) ในภาษาบาลีมีความหมายว่า “ผู้ปกปักษ์รักษาพระพุทธเจ้า” อาตมาจึงเลือกพระพุทธรูปองค์ใหญ่พร้อมกับปณิธานที่จะดูแลรักษาท่านโดยหารู้ไม่ว่าการดูแลรักษาพระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้จะนำความยากลำบากมาให้อาตมาตลอดการเดินทางไปยังแอฟริกา


พระพุทธรักขิตารับมอบพระพุทธรูปเพื่อนำไปยูกันดา

“โลกนี้มืดมน ไม่กี่คนที่เห็นแจ้ง ดั่งนกติดตาข่ายกับดัก เพียงไม่กี่ตัวที่หนีรอดไปได้”
ธรรมบท : 174


เดินทางไปเคนยา (เดือนมีนาคม ค.ศ. 2005) พร้อมกับพระพุทธรูป

   หลังตอบคำถามเกี่ยวกับพระพุทธรูปที่เมืองมุมไบ (บอมเบย์) ในประเทศอินเดียเป็นร้อยคำถามเห็น จะได้ในระหว่างรอเครื่องบินเกือบๆ ห้าชั่วโมง และอีกครั้งหนึ่งที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองประเทศเคนยา ทำให้อาตมารู้สึกหมดเรี่ยวหมดแรง ที่แย่กว่านั้นคืออาตมารู้สึกผิดที่ทำพระพุทธรูปที่อาตมาให้คำมั่นว่าจะรักษาแตกตรงส่วนที่ติดกับฐานระหว่างการขนย้าย อาตมาเก็บพระพุทธรูปไว้กับตัวเพื่อจะได้ดูแลสะดวก ห่อท่านไว้ด้วยจีวร แต่ก็ยังดีไม่พอ ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองถามคำถามมากมายเกี่ยวกับพระพุทธรูป

   “ในนั้นน่ะ เด็กทารกใช่ไหม? ตั๋วเครื่องบินของเขาอยู่ไหนล่ะ?”

   “ไม่ใช่!” อาตมายืนกราน “นี่พระพุทธรูป”

   เจ้าหน้าที่อีกคนถาม “หมายถึงมุนกู (Mungu - พระเจ้า) งั้นหรือ?”

   “ไม่ใช่! ในพุทธศาสนา พระพุทธรูปไม่ใช่พระเจ้า”

   “ท่านห่อผ้าไว้ทำไม? ป้องกันไม่ให้ใครเห็น?”

   “เปล่า ที่ห่อไว้เพราะกลัวพระพุทธรูปจะแตกหัก แล้วอาตมาก็ไม่อยากให้พระพุทธรูปเป็นรอย” อาตมาอธิบาย

   เมื่ออาตมาวางพระพุทธรูปลงบนเคาน์เตอร์เพื่อจะยื่นเอกสารหลักฐานผ่านเข้าเมือง เจ้าพนักงานถาม “นี่อะไร? มันทำให้คนเขากลัวกัน กรุณาเอาลงด้วย!”

   “พระพุทธรูป” อาตมาตอบ รู้สึกว่าตัวเองตกอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก อาตมาไม่สามารถแบกพระพุทธรูปและยื่นเอกสารได้ในเวลาเดียวกัน พอทิ้งพระพุทธรูปไว้เจ้าหน้าที่ก็ขู่ว่าจะเอาไปทำลาย พอวางบนเคาน์เตอร์ผู้คนก็ไม่กล้าเข้าใกล้

   เจ้าหน้าที่พูดต่อ “มันดูเหมือนมนต์ดำแอฟริกา เหมือนเครื่องรางของขลังแปลกๆ”

   “ท่านแบกพระพุทธรูปไปมาทำไม? เปิดออกเดี๋ยวนี้เลย! ผมขอดูหน่อย? มีอะไรอยู่ข้างในหรือเปล่า? อาจจะยาเสพติด?”

   “ไม่ใช่นะ! แค่พระพุทธรูปจริงๆ” อาตมาตอบแล้วแกะจีวรออก

   “อย่าเอาไปขายที่ไนโรบี (Nairobi) แล้วกัน”

   “อาตมาไม่ได้เอามาขาย” อาตมาตอบอย่างสุภาพ

   สุดท้ายเขาจึงบอกว่า “พระพุทธรูปดูสวยดีนี่!” อาตมาขอบคุณแล้วเดินออกมา

   อาตมาใช้เวลาสองสามวันในเคนยาเพื่อพักผ่อนปรับตัวก่อนจะเดินทางต่อไปยังยูกันดา อาตมาตัดสินใจห่อพระพุทธรูปอย่างดีด้วยจีวร ทับอีกชั้นด้วยหนังสือพิมพ์ และใส่ท่านไว้ในกระเป๋าระหว่างเดินทางไปยูกันดา

ยูกันดาผู้น่ารัก!

   ในที่สุดอาตมาก็มาถึงสนามบินนานาชาติเอ็นเทเบ้ (Entebe) ประเทศยูกันดา ในวันแดดจ้า ท้องฟ้าสดใส รู้สึกสัมผัสได้ถึงสายลมสดชื่นเบาๆ จากทะเลสาบวิคตอเรีย อาตมาไม่แน่ใจว่าทุกคนจะคิดยังไงเมื่อเห็นอาตมาในจีวรเช่นนี้ อาตมาดูเหมือนเป็นคนต่างชาติในบ้านเกิดของตัวเอง แถวที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองยาวเหยียด เป็นอย่าง ที่คิด ผู้คนมองอาตมาอย่างสนอกสนใจปนกังวล พนักงานตรวจหนังสือเดินทางอ่านชื่ออาตมาอย่างประหลาดใจเมื่อเห็นว่าอาตมามาจากเผ่าบูกันดา (Buganda) คนชนบทยูกันดาคนหนึ่งห่มจีวร เพิ่งเดินทางเข้าประเทศมาจากสหรัฐอเมริกา



พระพุทธรักขิตากับชนเผ่ามาไซ

   เขาถามอาตมาอย่างตกใจ “ทำไมต้องปลอมตัวเป็นคนเผ่ามาไซ (Maasai) ในเมื่อจริงๆ ท่านเป็นบูกันดา?”

   อาตมาตอบไปว่าอาตมาเป็นพระในพุทธศาสนา เขาปล่อยให้อาตมาผ่านเข้าเมืองมาอย่างไม่เต็มใจและดูเหมือนจะไม่เชื่อในคำตอบ

“ญาติสนิทมิตรสหายย่อมต้อนรับการกลับมาของญาติที่เดินทางจากไกลห่างหายไปนาน เฉกเช่นเดียวกัน กุศลกรรมจะต้อนรับผู้ประกอบกรรมดีจากโลกนี้ไปสู่อีกโลกหนึ่ง ดั่งที่ญาติมิตรต้อนรับญาติที่เดินทางกลับมา”
 ธรรมบท : 219-220


ต้อนรับลูกชายชาวพุทธที่หายไปนาน

   โยมน้องสาวมารับอาตมาที่สนามบิน เธอดีใจมากเมื่อพบอาตมา เรียกอาตมาด้วยความเคารพว่า“หลวงพี่” เรากลับบ้านไปหาโยมแม่ ท่านดีใจอย่างที่สุดเมื่อเห็นอาตมา มันเหลือเชื่อหลังผ่านไปเจ็ดปีนับตั้งแต่เจอโยมแม่ครั้งสุดท้าย ทั้งครอบครัวประหลาดใจที่เห็นอาตมาในจีวรสงฆ์ โยมแม่แทบไม่เชื่อในสิ่งที่เห็น ท่านถามแล้วถามอีก “นี่ สตีเว่น ลูกแม่จริงๆใช่ไหม ?”

“ใช่ โยมแม่ นี่อาตมาเอง”

   ท่านเดินวนไปรอบๆ ห้องนั่งเล่น มองมาที่อาตมาเป็นระยะๆ น้ำตาไหลอาบหน้าท่าน ท่านเดินวนอีกรอบหนึ่งแล้วพูดขึ้นว่า “ขอบคุณพระเจ้าที่ลูกกลับมา”

   อาตมารู้แก่ใจว่าไม่ใช่พระเจ้าหรอกที่นำอาตมากลับมา แต่อาตมาไม่อยากขัดคอทำให้โยมแม่เสียความรู้สึก ญาติๆ มองจีวรและสังเกตท่าทีของอาตมาไปด้วย อาตมาค่อยๆ ตระหนักว่าทั้งจีวร ธรรมเนียมปฏิบัติในพระพุทธศาสนา และพระพุทธรูปที่อาตมานำมาด้วย อาตมาคงไม่สามารถจะจำวัดที่บ้านได้

“เหมือนน้ำในแม่น้ำทั่วไป – เช่นแม่น้ำคงคา (The Ganges) แม่น้ำยะมุนา (The Yamuna) เมื่อไหลลงสู่มหาสมุทร จะไม่ถูกเรียกว่าแม่น้ำอีกต่อไป กลับถูกเรียกว่ามหาสมุทร ในทำนองเดียวกัน เมื่อบุคคลจากวรรณะทั้งสี่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ สูทร เดินทางจากบ้านเข้ามาสู่สมณะเพศ โดยหลักและพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ พวกเขาจะต้องละชื่อและนามสกุลเดิมทิ้งเสีย และจะถูกจัดไว้ว่าเป็นบุตรแห่งศากยะ”
- พระสัมมาสัมพุทธเจ้า


คนบ้า?

   ฝนตกอย่างไม่ลืมหูลืมตาในวันที่อาตมามาถึงยูกันดา เป็นการยากที่จะหาที่พักที่อื่น ที่สำคัญ อาตมาอยากพักอยู่ใกล้ๆ กับโยมแม่และครอบครัว อาตมาจึงตัดสินใจเข้าพักที่โรงแรมใกล้ๆ แห่งหนึ่ง ผู้คนยังคงประหลาดใจและเป็นกังวลเมื่อเห็นอาตมา บางคนเข้าใจว่าจีวรของอาตมาเป็นชุดประจำเผ่ามาไซ

   เช้าวันหนึ่งขณะออกจากห้องพัก อาตมาเดินผ่านสีกาสองคนระหว่างเดินจงกรมอย่างช้าๆไปมาในระยะยี่สิบก้าว ด้วยความที่จดจ่ออยู่กับระยะสองสามก้าวเท่านั้น ให้บังเอิญได้ยินสีกาสองคนถกเถียงกัน

คนหนึ่งพูดขึ้นว่า “นี่ท่าจะเป็นคนวิกลจริต”

อีกคนกล่าวว่า “คนวิกลจริตจะมีปัญญามาพักในโรงแรมชั้นดีแบบนี้ได้ไงกัน ไม่ใช่แน่ๆ”

   ขณะกลับไปโรงแรม เด็กสองคนมองอาตมาอย่างหวาดๆ วิ่งหนีพร้อมกับพูดขึ้นว่า “ผู้ชายคนนี้จะจับเรากิน!” ทำให้อาตมาหวนนึกถึงตอนเป็นเด็ก มีคนเล่านิทานเผ่าบูกันดาให้ฟังเกี่ยวกับสถานที่และผู้คนแปลกประหลาด เมื่อมีคนจรจัดคนหนึ่งที่อาตมาต้องพบอยู่บ่อยๆ อาตมากลัวมาก คิดว่าเขาจะจับอาตมากิน

“ในบรรดายาทั้งหมดในโลก มากมาย หลายหลาก ไม่มียาตัวใดเหมือนยาแห่งธรรมะ สงฆ์ทั้งหลาย จงฉันเสียเถิด เมื่อฉันแล้วท่านจะอยู่เหนือกาลเวลาและความตาย ท่านจะอิ่มเอิบและเป็นสุข เป็นอิสระจากสิ่งกำหนัดทั้งหลายทั้งปวง”
- พระสัมมาสัมพุทธเจ้า


หมอผีหรือคนทรงเจ้า?

   บางคนคิดว่าอาตมาเป็นหมอเมื่อเห็นกระเป๋าใส่พระพุทธรูปของอาตมา “ท่านขายอะไรน่ะ?” พวกเขา จะถาม คนยูกันดาอยากได้ยาอยู่เสมอแม้แต่คนที่ดูแข็งแรงดี การหอบหิ้วกระเป๋าพระพุทธรูปไปมาทำให้คนท้องถิ่นบางคนคิดว่าอาตมาเป็นหมอผี อาตมาทราบหลังจากนั้นว่าพวกเผ่ามาไซมักจะนำยาและสมุนไพรของเผ่ามาขายที่กัมปาลา

   อาตมาเลิกคิดจะเป็นนักธุรกิจเพื่อมาบวชเป็นพระ แต่ผู้คนที่นี่ยังคงคิดว่าอาตมาเป็นนักธุรกิจอยู่นั่นเอง ความจริงมีข้อห้ามไม่ให้พระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจใดๆ ห้ามแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือรักษาผู้คนอย่างเช่นหมอ ธรรมะโอสถนั้นไม่ได้มีไว้ขาย ที่อาตมามีอยู่กับตัวคือเมล็ดพันธุ์แห่งธรรมะโอสถ อาตมาหวังว่าพวกเขาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวยาแห่งธรรมะที่แท้บ้าง อาตมาได้รับการบอกกล่าวในเวลาต่อมาว่ายาของเผ่ามาไซนั้นไม่เพียงมีไว้สำหรับความเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ยังช่วยให้มีสุขภาพดี ทำให้อาตมาคิดถึงพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนสากล มีไว้สำหรับความอยู่ดีมีสุข

“บุคคลผู้ประกอบกรรมชั่ว ย่อมมัวหมองเพราะความชั่วนั้น บุคคลผู้ประกอบกรรมดี ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยกรรมดีที่ได้กระทำ ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ขึ้นอยู่กับตนเอง ไม่มีใครสามารถทำความบริสุทธิ์ให้แก่กันได้”
ธรรมบท : 165


จะไปเล่นลอว์นเทนนิสหรือคุ้มกันพระราชา? ...พระแขนเดียว … การไถ่บาป

   เมื่อเห็นตาลปัตรขนาดใหญ่ที่อาตมานำกลับมาจากพม่า บางคนคิดว่ามันคือไม้เทนนิสแบบใหม่ “เอ็นเซโร่”(ensero) พวกเขาถามว่าจะไปเล่นลอว์นเทนนิสที่ไหนหรือ บางคนก็คิดว่าเป็นโล่ของอาตมา บ้างก็คิดว่าอาตมาเป็นองครักษ์ของพระราชา หรือผู้แทนคนสำคัญแห่งองค์พระสันตปาปาจากนครวาติกันในโรม (อาจเป็นเพราะตอนนั้นอยู่ในช่วงพระราชพิธีศพของพระสันตปาปาจอห์น พอล(John Paul) จึงทำให้ผู้คนเข้าใจผิด)

   จีวรสีส้มอมน้ำตาลยิ่งก่อให้เกิดความสับสนมากขึ้นไปอีก อาตมาเดินทางไปยังหมู่บ้านในบ่ายวันหนึ่งห่มจีวรแบบคลุมทั้งตัวซึ่งมือข้างหนึ่งจะอยู่ในจีวร ขณะที่อีกข้างไว้ใช้หยิบจับอยู่ทางด้านนอก เมื่อเด็กๆ เห็นอาตมา พวกเขาคุยกันว่า “ดูนั่นสิ คนแขนด้วน!” เมื่อไปที่ร้านขายยา อาตมายืนพิงเคาน์เตอร์แขนข้างหนึ่งอยู่ในจีวร เภสัชกรคิดว่าอาตมาแขนหักเข้าเฝือกอยู่ อาตมาต้องบอกกับเภสัชกรว่าแขนอาตมาไม่ได้เป็นอะไร

   ดังนั้น ถ้าท่านเป็นพระสงฆ์แล้วเดินทางไปแอฟริกา ทำใจล่วงหน้าได้เลยว่าท่านจะเป็นเหตุแห่งความปั่นป่วนของผู้คน

   ยังมีที่แย่กว่านั้นอีก วันหนึ่งมหาวิทยาลัยมาเคเรียร์ (Makerere) ในกัมปาลาเชิญอาตมาไปบรรยายให้กับบุคคลทั่วไปในหัวข้อ “ธรรมชาติและความสำคัญของพระพุทธศาสนาในแอฟริกา” อาตมาบรรยายว่า สาเหตุแห่งความทุกข์ของมนุษย์ก็คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ทางออกจากความทุกข์คือการนำออกเสียซึ่งสามสิ่งนี้


พระพุทธรักขิตา ทำการบรรยายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ณ มหาวิทยาลัยมาเคเรียร์

   หลังจบการบรรยาย นักเรียนคนหนึ่งเขียนโน๊ตขึ้นมาถึงอาตมา (เหมือนเป็นการยื่นคำขาด) ว่า “กราบเรียนท่าน สาเหตุของความทุกข์คือปีศาจ เมื่อท่านรับเอาซึ่งพระบุตร (พระเยซู) พร้อมกับพระบิดา (พระเจ้า) เมื่อนั้นท่านจะได้รับความสุข ผมขอแนะนำให้ท่านรับเอาการไถ่บาปเพื่อเข้าถึงความสุขซึ่งไม่อาจหาได้ในพระเจ้าเล็กๆ ของท่าน”

   พุทธศาสนิกชนเข้าใจดีว่าทุกคนเป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนได้ทำลงไป การไถ่บาปขั้นสุดท้ายหรือการถึงซึ่งพระนิพพาน จะเป็นไปได้ก็ด้วยตนเองเท่านั้น

   อาตมาทั้งยินดีทั้งประหลาดใจที่เห็นบนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยมาเคเรีย มีคำกล่าวบรรทัดหนึ่งจากการบรรยายของอาตมาซึ่งนำมาจากธรรมบทว่า “ท่าน, ท่านคือผู้ที่ต้องพากเพียรเอง พระพุทธเจ้าเป็นให้ท่านได้เพียงอาจารย์เท่านั้น” (เป็นเพียงผู้ชี้แนะ)

ผู้ที่นำแนวทางนี้ไปไตร่ตรองปฏิบัติอบรมจิตใจตน เป็นผู้อยู่ไกลห่างจากเส้นทางแห่งอุบาย

“ผู้ถือซึ่งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ ย่อมเข้าใจด้วยปัญญา กล่าวคืออริยสัจจ์ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นำไปสู่การดับของทุกข์” ธรรมบท : 190-191

โยมแม่รับพระรัตนตรัย

   ในตอนแรกมีเพียงโยมแม่ โยมน้อง และสามีของเธอเท่านั้นมาเยี่ยมอาตมาที่โรงแรม ภายหลังญาติคนอื่นและเพื่อนๆ ของพวกเขาจึงตามมา อาจจะมาด้วยความสงสัยก็เป็นได้ อาตมาให้พวกเขาดูรูปเพื่อนชาวพุทธของอาตมา รูปเมื่อตอนอุปสมบท ภาพการเดินทางแสวงบุญในอินเดีย พม่า และศรีลังกา พวกเขาเห็นพ้องกันว่ารูปวัดและพระสงฆ์นั้นมีความงดงาม อาตมานำของขวัญที่อุบาสกอุบาสิกาทั้งไทยและเวียดนามฝากเป็นพิเศษมาให้โยมแม่ ท่านขยับตัวช้าๆ ด้วยความฉงนว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงได้ฝากของขวัญและความปรารถนาดีมายังท่าน

   การอธิบายศาสนาพุทธให้โยมแม่และคนอื่นๆ ในครอบครัวฟังไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โชคดีที่เพื่อนของอาตมาในสหรัฐอเมริกาให้ที่อยู่ชาวไทยและชาวศรีลังกาซึ่งอาศัยอยู่ในยูกันดาไว้ อาตมาจึงตัดสินใจไปหาพวกเขาพร้อมกับโยมแม่ ที่แรกที่อาตมาไปคือร้านอาหารที่มีเจ้าของเป็นชาวไทยสี่คน พวกเขาดีใจมากและปฏิบัติต่ออาตมาด้วยความเคารพ โค้งอย่างนอบน้อมและถวายน้ำส้มให้อาตมา เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เห็นได้ทั่วไปในประเทศพุทธศาสนานิกายเถรวาทเมื่ออุบาสกอุบาสิกาพบพระสงฆ์ โยมแม่ของอาตมาประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง อาจจะสับสนด้วยซ้ำไป หลังจากนั้น เราพากันไปที่โรงงานแห่งหนึ่งที่มีเจ้าของเป็นชาวศรีลังกา ผู้จัดการโรงงานเป็นชายรูปร่างสูงแต่งกายดี ทันทีที่เห็นอาตมาเขาก็โค้งในแบบเดียวกัน

   อีกครั้งที่โยมแม่แปลกใจอย่างที่สุด แน่นอน ท่านไม่เคยรูจักประเพณีการโค้งหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระมารดาของพระสารีบุตร (Sariputta)ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระสารีบุตรกลับบ้านมาพบกับโยมแม่ของท่าน เทวดาหลายรูปมาปรากฏกายเพื่อแสดงความเคารพท่าน เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับโยมแม่ของพระสารีบุตรที่ทำให้ท่านเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ รับเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ต่อมาโยมแม่ของอาตมาก็ทำในสิ่งเดียวกัน อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

“… แค่เศษผงเล็กๆ ที่เข้าตา ก็เพียงพอจะทำให้บางคนเข้าใจธรรมะ”
- พระสัมมาสัมพุทธเจ้า



สัมผัสความงามของพระพุทธรูป

   สองสามวันต่อมา อาตมาย้ายไปอยู่โรมแรมอีกแห่งใกล้กับร้านอาหารไทย อาตมาแกะผ้าที่ห่อพระพุทธรูปออกที่โรงแรมนี้ โยมน้องของอาตมาอุทานออกมาว่า “พระพุทธรูปดูแล้วคล้ายผู้หญิงเลย” อาตมา เห็นด้วยและบอกเธอว่ามีคนมากมายให้ความเคารพในพระพุทธรูปที่วิจิตรนี้ อาตมายังบอกเธออีกว่าผู้ปฏิบัติวิปัสสนาเป็นผู้มีจิตใจสวยงาม เพราะเหตุนี้พวกเขาจึงมีผิวพันธุ์งดงามเช่นกัน ในวันนั้นโยมแม่ของอาตมาก็มาด้วย อาตมาเห็นท่านนั่งจ้องอยู่ที่ตรงมุมห้อง อาตมาจึงถามท่านว่ากำลังจ้องมองอะไร ท่านบอกกับอาตมาว่ากำลัง ชื่นชมความงามขององค์พระพุทธรูป ในตอนนั้นเองที่ท่านบอกกับอาตมาว่าท่านต้องการจะเป็นพุทธศาสนิกชน ครั้งหนึ่งท่านเคยเป็นคริสต์และเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ตอนนี้ท่านต้องการจะเรียนรู้อย่างจริงจังกับสิ่งแปลกใหม่ที่เข้ามาในชีวิตท่านตั้งแต่อาตมากลับมาที่บ้าน ท่านจึงต้องการจะหันมานับถือศาสนาพุทธอย่างเป็นทางการ การจะเข้าเป็นพุทธศาสนิกชนอย่างเป็นทางการ เพียงแค่รับเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ก็เพียงพอ แต่การจะเป็นชาวพุทธได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ต้องมีการสมาทานศีลห้า

ศีล 5

1. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

2. งดเว้นจากการลักทรัพย์

3. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

4. งดเว้นจากการกล่าวเท็จ

5. งดเว้นจากการบริโภคเครื่องดื่มมึนเมาและยาเสพติดที่จะนำไปสู่ความประมาท

   อาตมาใช้เวลานานทีเดียวกว่าที่จะแปลพระรัตนตรัยและศีลทั้งห้าข้อออกมาเป็นภาษาท้องถิ่นของเรา เป็นครั้งแรกที่อาตมาเป็นผู้อัญเชิญพระรัตนตรัยและให้ศีลในภาษาของอาตมา โดยอาตมาทำเพื่อโยมแม่ ท่านสมาทานศีลอย่างง่ายดายและเป็นธรรมชาติ ท่านไม่เคยรู้จักพระพุทธศาสนามาก่อน แต่ในทางปฏิบัติแล้วกล่าวได้ว่าท่านใช้ชีวิตที่ผ่านมาเฉกเช่นพุทธศาสนิกชน แสดงให้เห็นว่าธรรมะเป็นของสากล บางทีท่านอาจจะมีเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะติดตัวท่านมาตั้งแต่อดีตชาติแล้วก็ได้ ใครจะรู้? หนึ่งเดือนหลังจากกลับมาที่นี่ มีสมาชิกครอบครัวและเพื่อนรวมได้ห้าคนที่ขอประกาศตนเป็นพุทธมามกะ (รับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ) รวมถึงโยมแม่ โยมน้อง และโยมน้องเขยของอาตมา เรื่องนี้ทำให้อาตมานึกถึงปัญจวัคคีย์ของพระพุทธเจ้าเมื่อประมาณ 2,500 กว่าปีก่อนหน้านี้



พระพุทธรักขิตาบรรยายธรรมแก่โยมแม่ และครอบครัว

ไม่มีเงินจะเลี้ยงพระรัตนตรัย

   อาตมาให้พรกับผู้ที่ถวายภัตตาหารแด่อาตมาเสมอ มีสีกาท่านหนึ่งที่มีความสนใจในศาสนาพุทธเป็นอย่างยิ่ง เธออยากทราบถึงวิธีการเข้าเป็นพุทธศาสนิกชน อาตมาบอกกับเธอว่าท่านต้องรับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์โดยการพูดตามอาตมา (ซึ่งต้องท่องทั้งหมดสามครั้ง) ดังนี้:

รอบที่ 1

พุทธัง สรณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอรับพระพุทธเป็นสรณะ)

ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอรับพระธรรมเป็นสรณะ)

สังฆัง สรณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอรับพระสงฆ์เป็นสรณะ)

รอบที่ 2

ทุติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอรับพระพุทธเป็นสรณะ)

ทุติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอรับพระธรรมเป็นสรณะ)

ทุติยัมปิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอรับพระสงฆ์เป็นสรณะ)

รอบที่ 3

ตติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอรับพระพุทธเป็นสรณะ)

ตติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอรับพระธรรมเป็นสรณะ)

ตติยัมปิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ (ข้าพเจ้าขอรับพระสงฆ์เป็นสรณะ)

   เมื่ออาตมาสอนเธอต่อไปๆ เธอเริ่มมีสีหน้าไม่สู้ดี เธอขัดอาตมาแล้วกล่าวว่า “เดี๋ยวก่อนค่ะท่าน จะทำอย่างไรถ้าดิฉันไม่มีสตางค์ที่จะเลี้ยงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์”

   “อย่างกังวลไปเลย” อาตมาตอบและอธิบายกับเธอถึงใจความของไตรสรณคม เธอจึงผ่อนคลายลง เธอคงเข้าใจว่านี่คือชื่ออย่างเป็นทางการของค่ายลี้ภัยจาก ซูดาน รวันด้า และคองโก กระมัง

   ก่อนอาตมาเดินทางออกจากยูกันดา เธอมาเยี่ยมเยียนศูนย์พระพุทธศาสนาของเรา จำนวนอุบาสกอุบาสิกาเริ่มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนล้วนถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง

   ไม่กี่สัปดาห์ก่อนอาตมาจะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา หลานสาวสามคนกับหลายชายอีกหนึ่งคนได้เข้าร่วมเส้นทางแห่งพระศาสดา ในเวลาหนึ่งเดือนที่อาตมาอยู่ในยูกันดา มีคนท้องถิ่นทั้งหมดเก้าคนหันมานับถือศาสนาพุทธ เมื่ออาตมากลับมายูกันดาเป็นครั้งที่สอง หลายชายกล่าวกับอาตมาว่า “ผมอยากเป็นเหมือนท่าน” หมายความว่าเขาต้องการจะบวชเป็นสามเณร แผนที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้คือส่งเขาไปยังเอเชียเพื่อบวชเป็นสามเณรที่นั่น

จาก http://sameaf.mfa.go.th/th/country/africa/tips_detail.php?ID=4174&SECTION=41
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


พระพุทธรักขิตาสอนหลานทำสมาธิ

พระเผ่ามาไซ?

   ก่อนกลับสหรัฐอเมริกา อาตมาอยู่ในเคนยาหนึ่งสัปดาห์ ผู้คนในเคนยาเป็นมิตรและอาตมาก็เข้ากับสังคมที่นั่นได้ดี ครั้งหนึ่งชาวมาไซคนหนึ่งเรียกให้อาตมาหยุด “เออ-โว” อาตมารู้สึกงงเพราะไม่ทราบถึงความหมาย อาตมาจึงยืนเงียบอยู่ครู่หนึ่งด้วยไม่รู้จะพูดอะไรกลับไป หลังจากนั้นจึงนึกออกว่านั่นอาจจะเป็นคำกล่าวทักทายในภาษามา ไซ ชาวเผ่ามาไซคลุมตัวด้วยผ้าชูกาส (Shukas) สีใกล้เคียงมากกับสีจีวรของอาตมา

   เมื่อผ่านไปยังหมู่บ้านกันเจมิ (Kangemi) หญิงมาไซขายยาแผนโบราณจะต้อนรับอาตมาด้วยการพนมมือทุกครั้ง ซึ่งน่าสนใจมากเพราะนี่คือวิธีที่ชาวพุทธแสดงความเคารพเมื่อพบพระสงฆ์ อาตมาไม่ทราบว่าเธอไปเรียนรู้มาจากไหน

   ความคล้ายคลึงกับชนเผ่ามาไซและความเป็นมิตรของพวกเขาทำให้อาตมารู้สึกกลมกลืน มีที่ว่างเพียงพอสำหรับพระสงฆ์ในเผ่ามาไซ ต่อมาอาตมาใช้ความเป็นมิตรนี้เผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับชาวพื้นเมือง ผู้เต็มใจจะรับฟัง เพราะเขารู้สึกว่าอาตมาเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา

   ยังมีภารกิจธรรมเหลือให้อาตมาทำในแอฟริกาอีกหรือ? ไม่ต้องสงสัยเลย อาตมารู้สึกมุ่งมั่นด้วยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนหน้าใหม่เหล่านี้ และมีความตั้งใจที่จะเดินหน้าหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งธรรมะต่อไป

“ไม่มีชีวิตใดอยากเจ็บปวด สัตว์โลกย่อมรักชีวิตของตน เอาใจเขามาใส่ใจเรา บุคคลไม่ควรฆ่าและไม่ควรเป็นเหตุให้ผู้อื่นต้องทำลายชีวิต” ธรรมบท : 130
กลับมาเพื่อรดน้ำให้เมล็ดพันธุ์แห่งธรรมะ....การวางฐานรากและความขัดแย้งเชิงวัฒนธรรม

   ในการเดินทางกลับไปยังแอฟริกาเป็นครั้งที่สองหลังใช้เวลาเกือบหนึ่งปีเต็มในสหรัฐอเมริกา อาตมาสังเกตเห็นอยู่ตลอดว่าผู้คนต่างมองอาตมาด้วยความสงสัยใคร่รู้ พยายามทำความเข้าใจถึงบทบาทของอาตมาในสังคม บางครั้งอาตมาก็ได้รับแรงสนับสนุนและกำลังใจจากคนท้องถิ่นและผู้สนใจในธรรม อาตมาเดินทางไปเคนยาหนึ่งเดือนหลังจากอยู่ในยูกันดา ทุกๆ เช้าอาตมาจะออกบิณฑบาตร

   ยามเฝ้าประตูประจำมหาวิทยาลัยไนโรบีชื่อ จอห์น เป็นนักเล่าเรื่องตัวยง ช่วงคริสมาสต์ เพื่อนที่น่ารักคนนี้เอ่ยปากถามว่าอาตมาประสงค์จะฉันอะไรสำหรับเพลในวันพิเศษนี้ อาตมากล่าวกับเขาว่าอาตมาฉันทุกอย่างที่ได้รับถวายมา แต่ถ้าเลือกได้ อาตมาประสงค์ให้เป็นอาหารมังสวิรัติจะดีกว่า เขากล่าวว่าในวันพิเศษอย่างนี้จะมีการ ‘ชินจา’(chinja) ล้มวัว ฆ่าไก่ และสัตว์อื่นๆ เพื่อแสดงความหมายว่าวันนี้เป็นสำคัญพิเศษกว่าวันอื่นๆของปี

   อาตมาถามเขาว่าฆ่าสัตว์ไปทำไมกัน เขาตอบว่าเป็นบัญชาของพระเจ้าให้ฆ่าวัว แกะ ไก่ และสัตว์อื่นๆ แต่ห้ามมิให้ฆ่าและกินเนื้อมนุษย์ เสือดาว ช้าง เป็นต้น อาตมาจึงถามกับเขาว่าถ้าสัตว์ต่างๆ มีสิทธิที่จะมีความสุขในวันคริสมาสต์เหมือนเขาบ้างเล่า “สัตว์ไม่รู้จักคริสต์มาสต์หรอก” เขาตอบ อาตมายืนกรานว่าเราไม่ควรฆ่าสัตว์เพราะมันก็เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกันย่อมรู้สึกเจ็บปวดระหว่างที่ถูกฆ่า เขายืนกรานเช่นกันว่าคนชอบฆ่าสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหาร เขาพูดถึง ‘เนียมา โชมา’ (nyama choma - roasted meat - เนื้ออบ) และเหล้าต้มที่ชื่อว่า ‘ชางา’ (cha’ngaa) ว็อดก้าแอฟริกัน เป็นอาหารและเครื่องดื่มสำหรับฉลองคริสมาสต์ อาตมาจึงบอกเขาว่าพระไม่สามารถดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ ซึ่งเขาก็พยายามโน้มน้าวอาตมาว่าไวน์แค่นิดหน่อยคงไม่เป็นไรหรอก “นิดเดียวเท่านั้นเอง!” เมื่อพูดถึงอาหารมังสวิรัติที่อาตมาแนะนำกับเขา เขากล่าวว่าการกินผักเพื่อสุขภาพมากจนเกินไป ‘ซูกูมะ วิกิ’ (sukuma wiki) คาเลส (kales) ผักสวนครัวเพื่อสุขภาพ อาจทำให้มันไปเติบโตขึ้นในท้อง เขาเตือนอาตมาไม่ให้ฉันผักแต่เพียงอย่างเดียว

“มีความสุขแท้ในชีวิต เราผู้ไม่มีสมบัติอะไร เป็นผู้ให้ซึ่งความสุข ดั่งเช่นพระผู้นำทาง”
ธรรมบท : 200


คนร่ำรวย

   หลังจากหลายๆ ครั้งที่พบกับจอห์น เขาได้รับทราบที่มาที่ไปการมาบวชเป็นพระของอาตมาและได้ทราบว่าอาตมาเป็นผู้ถือสัญชาติอเมริกัน เขากล่าวว่า “ท่านเป็นคนรวยนี่ ท่านแบ่งเงินที่ได้จากอเมริกาให้ผมบ้างได้ไหม?” เขาทำให้อาตมาหัวเราะเมื่อบอกว่าเขาจะยินดีเป็นอย่างยิ่งถ้าได้ทำงานที่วัด เพราะยามที่ศูนย์พระพุทธศาสนามีท้องใหญ่ (tumbo kubwa - ทัมโบ คุบวา) ตรงข้ามกับความเชื่อของชาวตะวันตก ชาวแอฟริกันเชื่อว่าความอ้วนบ่งบอกถึงคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อจอห์นเห็นยามของเรา เขาจึงเชื่อว่าที่วัดมีอาหารและเงินเยอะ คนงานที่นั่นจึงได้รับการเลี้ยงดูที่ดีกว่า อาตมาจึงต้องอธิบายจอห์นว่าสิ่งเดียวที่อาตมาจะให้กับเขาได้คือการสวดให้พร ตอนที่กำลังจะให้พร เขาทำให้อาตมาประหลาดใจเมื่อเขาถอดหมวกออกแล้วโค้ง ก่อนอาตมาจะกลับ เขาถามว่า “แค่สวดให้พรเท่านั้นหรือ?” เขาดูจะให้คุณค่ากับสิ่งที่จับต้องได้มากกว่าการสวด จากนั้นเป็นต้นมา เขาพยายามขอเงินอีกหลายครั้ง อาตมาตอบเขาไปว่าอาตมาไม่มีเงิน และอธิบายพระในพระพุทธศาสนาไม่มีเงินเดือนหรือทรัพย์สินอะไร อาตมาช่วยให้เขาเข้าใจว่าเราเหล่าพระสงฆ์มีชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยความเอื้อเฟื้อของคนอื่น เราจึงต้องออกบิณฑบาตรทุกวันในตอนเช้า ขณะเดียวกันอุบาสกอุบาสิกาก็พึ่งพาอาศัยพระสงฆ์ในแง่ของผู้ชี้นำทางจิตวิญญาณ ดังนั้นจึงเกิดความผูกพันเชิงสัญลักษณ์ในหมู่พุทธบริษัท

“ดังผึ้งที่ไม่ได้ทำความเสียหายแก่ดอกไม้ สีหรือกลิ่นของมัน เก็บเกี่ยวไว้แต่เพียงน้ำหวาน เหมือนพระสงฆ์ออกบิณฑบาตรในหมู่บ้าน (โดยมิได้สั่นคลอนศรัทธา ความมีน้ำใจ หรือฐานะของผู้คน)”
ธรรมบท : 41-42



ออกบิณฑบาตร

   บาตรของอาตมาตกเป็นที่โจษจันท์ของผู้คนอย่างต่อเนื่อง หลายคนคิดว่าอาตมาหิ้วกลองแอฟริกัน บ้างก็เข้าใจว่าเป็นกลองเจมเบ้ (jambe) เล็กๆ ครั้งหนึ่งในลอนดอน พนักงานเสิร์ฟหญิงคนหนึ่งเข้าใจผิดว่าบาตรของอาตมาเป็นกลองแอฟริกัน เธอจึงมาลองตีมันดู อาตมาต้องบอกว่ามันคือบาตรของอาตมา เธอจึงรีบขอโทษเป็นการใหญ่

   ในการบิณฑบาตรทุกวันที่เคนยา เมื่ออาตมาเดินผ่านประตูมหาวิทยาลัย จอห์นมักจะถามคำถามหรือ ไม่ก็มีเรื่องมาเล่าให้ฟังเสมอ เขาสงสัยมากว่าทำไมคนแอฟริกันที่ไม่ใช่ชนเผ่ามาไซถึงได้ห่มจีวรเดินทางไปมาพร้อมกับ “บาคูลิ” (bakuli – บาตร) อาตมาอธิบายให้เขาฟังถึงความสำคัญของจีวรและบาตรของคณะสงฆ์

   วันหนึ่งเมื่ออาตมาออกบิณฑบาตร อาตมาตัดสินใจที่จะไม่ใส่รองเท้า จอห์นประหลาดใจและบอกว่าอาตมาดูน่าขบขัน เขาหัวเราะอย่างบ้าคลั่งบอกอาตมาเดินเท้าเปล่าเหมือนกับไก่ เขาว่าการเดินเท้าเปล่าเป็นสัญลักษณ์ของคนยากจนและตกงาน ที่สำคัญมีเศษแก้วเยอะแยะตามถนน เขากังวลว่าสุดท้ายอาตมาจะไปจบอยู่ที่ห้องฉุกฉินในโรงพยาบาลแทน

   เขาถามว่า “ท่านไม่มีรองเท้าแตะเลยหรือ?” เขาเตือนอาตมาทีเล่นทีจริง “คราวหน้าถ้าท่านเดินเท้าเปล่ามาอีกล่ะก็ ผมจะปิดประตูไม่ให้ท่านเข้า” เป็นคำเตือนที่หวังดี หลังอาหารกลางวัน อาตมาเดินทางกลับและอธิบายให้จอห์นฟังถึงธรรมเนียมของพระที่เดินเท้าเปล่าขณะออกบิณฑบาตร ในที่สุดเขาก็เข้าใจ

   ก่อนหน้านี้จอห์นถามเกี่ยวกับบาตรของอาตมาซึ่งสำหรับเขาดูคล้ายหม้อมากกว่า ทำให้ดูเหมือนกับอาตมากำลังอยู่ระหว่างเดินทางไกล เขาถามว่าอาตมาจะเดินทางไปต่างประเทศหรือเปล่า อาตมาตอบเขาว่า “เปล่า อาตมาออกบิณฑบาตภัตตาหาร” จอห์นก็หัวเราะออกมา “อาหารอย่างงั้นเหรอ ท่านรวยอยู่แล้วนี่” จอห์นกล่าว (มีข้อบัญญัติห้ามไม่ให้ภิกษุ ภิกษุณีครอบครองทรัพย์สิน นี่จึงเป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง)

   อาตมาหยุดและถามเขา “โยมจอห์นเป็นคริสต์ใช่ไหม?” เขาตอบ “ใช่”

   อาตมาถามเขาอีก “ท่านบริจาคทานให้กับบาทหลวงหรือโบสถ์บ้างหรือเปล่า?” เขาตอบอีกว่า “ใช่”

   “เมื่อท่านบริจาค ท่านรู้สึกอย่างไร?”

   “อา … ผมมีความสุข” เขาตอบพร้อมฉีกยิ้มกว้าง

   อาตมากล่าวต่อ “เห็นไหม มันก็เหมือนกัน เราไม่ได้ไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ แต่เราออกบิณฑบาตรทุกวันแทน เพื่อให้โอกาสผู้คนได้บริจาคทาน เวลาที่โยมจอห์นให้ โยมมีความสุขมิใช่หรือ? ดูเหมือนจอห์นจะเข้าใจในที่สุด จอห์นถวายกล้วยหวานให้อาตมาหนึ่งใบ กว่าจะได้กล้วยใบนั้นมาเปรียบราวกับว่าอาตมาต้องรีดเลือดออกมาจากปูยังไงยังงั้น อาตมาสวดให้พรจอห์น เขาแสดงความเคารพอย่างงดงาม อาตมามีความสุขที่ได้สวดให้พรกับจอห์น กล้วยใบนั้นมีรสชาติพิเศษแตกต่างจากกล้วยใบอื่นๆ - รสชาติแห่งทาน (ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่)

“สุขภาพดีเป็นลาภอันประเสริฐ ความพึงพอใจเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด บุคคลที่ไว้ใจได้เป็นเพื่อนที่ดีที่สุด นิพพานเป็นความสุขขั้นสูงสุด” ธรรมบท : 204

เป็นแค่พระธรรมดา เท่านั้นจริง ๆ

   น่าประหลาดใจที่การบิณฑบาตรครั้งต่อมา จอห์นเอ่ยปากขอให้อาตมามอบบางสิ่งให้กับเขา อาตมารับปากว่าจะให้หนังสือธรรมะกับเขาเมื่อตีพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จอห์นมีความสุขราวกับว่าเขาลงทุนด้วยกล้วยหนึ่งใบในองค์กรซึ่งจะให้ผลตอบแทนเป็นเงินมหาศาล อาตมาไม่แปลกใจเพราะคนทั่วไปก็ให้เพื่อหวังผลตอบแทนเหมือนกัน อย่างน้อยที่สุดก็หวังจะได้รับคำขอบคุณ จริงอยู่ที่เราควรจะสำนึกในบุญคุณเมื่อมีคนช่วยเหลือเรา แต่โดยประเพณีแล้ว ผู้ถวายของแด่พระภิกษุหรือภิกษุณีจะเป็นผู้รู้สึกซาบซึ้งในบุญกุศลที่เขาได้ทำ พวกเขาไม่หวังคำขอบคุณจากพระหรือภิกษุณี พวกเขารู้อยู่แก่ใจถึงบุญกุศลเหล่านั้น จอห์นไม่เข้าใจว่าคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เป็นมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาจะออกบิณบาตรเพื่อ“ขอ”อาหารเช่นนี้ไปทำไม อันที่จริงพระต้องรับอาหารทุกอย่างที่มีคนถวาย (เป็นความผิด แม้จะไม่ถึงกับคอขาดบาดตาย สำหรับพระที่เจาะจงประเภทอาหารจากคนที่ไม่ใช่ญาติของตน)

   อาตมาอธิบายให้จอห์นฟัง แม้อาตมาจะอาศัยอยู่ในประเทศร่ำรวย แต่อาตมาก็เป็นเพียงพระธรรมดาๆรูปหนึ่งที่เกิดในยูกันดา เรื่องนี้ทำให้อาตมานึกถึงสีกาชาวอเมริกันที่ครั้งหนึ่งเคยถามอาตมาขณะที่อาตมากำลังเตรียมตัวออกบิณฑบาตรในวินเชสเตอร์(Winchester) เวสท์เวอร์จิเนียร์ (West Virginia) “ท่านคิดอย่างไรกับการออกบิณฑบาตในฐานะชาวแอฟริกันผิวสี ห่มจีวรสีส้ม เพื่อขอรับถวายภัตตาหารในเมืองแห่งเทือกเขาแถบชนบทในมลรัฐที่ได้ชื่อว่าอนุรักษ์นิยมมากที่สุดรัฐหนึ่งในอเมริกา”

“ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดความกลัว สำหรับคนที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง ตัณหาไม่อาจเป็นเหตุโศกเศร้า และยิ่งไม่อาจทำให้กลัว”
 ธรรมบท : 216



หิ้วระเบิด ลูกบอล หรือตะกร้า

   ระหว่างบิณฑบาตรตอนเช้า ชายคนหนึ่งเข้าใจผิดว่าบาตรเป็นลูกฟุตบอล นอกจากนี้อาตมายังพบกลุ่มสีกาที่รอเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟอยู่ใกล้ๆ กับโรงงานกาแฟ พวกเธอหยุดอาตมาแล้วถามว่า “ฮาบาริ ยาโกะ (habari yako – how are you? – เป็นอย่างไรบ้าง ผู้หญิงคนหนึ่งในกลุ่มนั้นทำหน้าเบ้ใส่อาตมา เธอดูหวาดๆ “ดิฉันกลัวระเบิดที่ท่านถือมาด้วย” เธอถามหลังจากนั้น “นั่นระเบิดจริงๆใช่ไหม?”

   “ไม่ใช่หรอก โยม” อาตมาตอบพร้อมกับเปิดฝาบาตรขณะที่พวกเธอเข้ามาล้อมรอบ อาตมาอธิบายว่ามันคือบาตรใส่อาหาร

   เมื่ออาตมาเปิดฝาบาตรออก พวกเธอพากันตะโกน “อ้าว! ข้างในไม่มีอะไรนี่”

   อาตมาจึงตอบ “ใช่ มันเต็มไปด้วยอากาศ”

   พวกเธอถามอย่างบริสุทธิ์ใจ “พระเจ้าองค์ใดที่ท่านสวดถึงหรือ ที่วัดของท่าน?”

   ก่อนอาตมาจะตอบอะไร พวกเธอถามว่าจะไปเที่ยวที่วัดบ้างได้หรือไม่ อาตมาแปลกใจกับความกระตือรือร้นที่จะไปเยี่ยมชมวัด

   สรุปแล้วการอยู่ในแอฟริกาเป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจ อาตมาได้เรียนรู้มุมมองที่คนท้องถิ่นมีต่อพระสงฆ์และพระพุทธศาสนา (ธรรมะ) ที่อาตมานำเสนอ

   อาตมาออกบิณฑบาตรในแอฟริการวมแล้วก็หลายครั้ง แต่ที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เหตุผลหนึ่งก็คือเมื่อผู้คนเห็นบาตรของอาตมาเขามักจะขอซื้อมัน พวกเขาคิดว่ามันคือตะกร้าหรือไม่ก็กระเป๋าถือ

   “ขายเท่าไหร่?” พวกเขาจะเข้ามาถามอยู่ตลอด ราคาบาตรอันหนึ่งตกอยู่ที่ราวๆ 50 ดอลลาร์ ถือว่าค่อนข้างแพงสำหรับชาวยูกันดาทั่วไป บางครั้งเขาก็คิดว่าอาตมาคือหมอผี หรือคนทรงเจ้า (shaman) ขายยารักษาโรค ที่อาตมายังคงไม่ประสบความสำเร็จเพราะบางคนก็คิดว่าอาตมาเป็นคนบ้าที่ออกมาเก็บของเก่า



การออกบิณฑบาตรของพระพุทธรักขิตา

“จงประกอบแต่กุศลกรรม ทำความดีไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ แสวงหาสุขจากการทำความดีเหล่านั้น ความสุขคือผลของกุศลกรรมที่ได้สะสมมา”
- พระสัมมาสัมพุทธเจ้า


บาทหลวงของพระพุทธเจ้า ปรมจารย์วัดเส้าหลิน หรืออาจารย์ลูกเสือ?

   เมื่ออยู่ในยูกันดา อาตมายังคงเดินบิณฑบาตรเป็นประจำ อาตมาตัดสินใจไปยังเอ็มเม็นโก้ (Mmengo) ระหว่างที่เดินผ่านประตูพื้นที่ตั้งแคมป์เข้าไปยังที่ที่อาตมาใช้ตั้งวัดชั่วคราว ยามถามอาตมาว่ากำลังจะไปไหน อาตมาอธิบายเหตุผลที่อาตมามีบาตรติดตัวและเหตุผลของการบิณฑบาตร เขาใส่บาตรอาตมาด้วยถั่วห่อเล็กๆ หนึ่งห่อ อาตมาชื่นชมในอิริยาบทของเขา จากนั้นอาตมาจึงเดินบิณฑบาตรต่อไปยังเอ็มเม็นโก้ คนที่นั่นต่างมองอาตมาด้วยความสงสัยและยังไม่เลิกขอซื้อตะกร้า (บาตร) ซึ่งอาตมาปฏิเสธพร้อมบอกว่าอาตมาต้องใช้มันในการฉันอาหาร อาตมากลับมายังที่ตั้งแคมป์โดยไม่ได้อาหารกลับมาเลย คนที่แคมป์ไซต์คนหนึ่งเสนอที่จะถวายภัตตาหารให้อาตมาด้วยความเต็มใจ เป็นครั้งแรกที่อาตมาได้รับถวายจากคนในแคมป์ พวกเขาเริ่มจะเข้าใจอาตมาดีขึ้นบ้างแล้วในตอนนี้ คนในแคมป์คนหนึ่งอีกเช่นกันที่เรียกอาตมาว่าบาทหลวงของพระพุทธเจ้า อาตมาบอกเธอว่าอาตมาเป็นพระธรรมดาเท่านั้น ไม่ใช่บาทหลวง

   หลังผ่านไปนาน ในที่สุดคนที่นั่นก็ดูจะมีความสุขที่ได้ใส่บาตรอาตมาแม้จะมีฐานะความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ศรัทธาของพวกเขาแข็งแกร่งขึ้นเมื่อได้สัมผัสกับรูปแบบชีวิตที่เรียบง่ายของพระสงฆ์ ที่สำคัญ พวกเขาเริ่มเปลี่ยนความคิดที่มีต่อคนที่พวกเขาเคยเข้าใจว่าเป็นบาทหลวงในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งคู่สามีภรรยาชาวอังกฤษถวายกล้วยสองใบและผลเสาวรสให้อาตมาด้วย

   การออกบิณฑบาตรช่วยฝึกให้เกิดความสมถะ อาตมาไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าสิ่งต่างๆ จะออกมาในรูปใด อาตมากลายมาเป็นศูนย์กลางความสนใจในยูกันดา ผู้คนเอาแต่จ้องมองเวลาอาตมาเดินไปบนถนน ศีรษะ ไม่มีผม ห่มจีวร บ่อยครั้งที่อาตมาไม่ได้อาหารกลับมาจากการบิณฑบาตร แต่โชคดีที่ร้านอาหารครัวไทยใน กัมปาลาที่มีชาวไทยสี่คนเป็นเจ้าของรับปากให้ความอุปถัมภ์ในวันอย่างที่ว่าจนกว่าอาตมาจะเดินทางออกจากยูกันดา นอกจากนี้ โยมแม่ก็นำอาหารมาถวายให้อาตมาอยู่เป็นระยะๆ

   บางทีที่ออกไปไกลจากตัวเมืองกัมปาลา มีการวิจารณ์กันว่าอาตมาเป็นปรมจารย์จากวัดเส้าหลิน ไม่พูดจากับใคร เพราะอาตมาไม่ค่อยได้พูดกับใคร หรืออย่างเวลาอาตมาเดินจงกรม พวกเขาจะคิดกันว่าอาตมาหลงทางและกำลังหาทางไปอยู่ บ้างก็เข้าใจผิดว่าอาตมาเป็นนักเต้นหรือนักแสดงโชว์ตอนกลางคืนและพากันสงสัยว่าอาตมาออกมาเต้นในตอนเช้าตรู่เช่นนี้ทำไม กระทั่งรู้สึกว่ามันยากที่จะบ่งบอกเพศของอาตมา หญิงคนหนึ่งตั้งคำถาม “นั่นผู้ชายหรือผู้หญิงน่ะ?” หรือบางคนดูจากชุดก็คิดว่าอาตมาเป็นอาจารย์ลูกเสือ ชายคนหนึ่งถามตอนเดินอยู่ในเมืองมหาวิทยาลัยว่าอาตมาเรียนจบมาเมื่อไหร่ เข้าใจไปว่าอาตมากำลังสวมใส่ชุดครุยของมหาวิทยาลัย

“ขันติเป็นประธานแห่งกุศลธรรมทั้งปวง มีนิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุด” พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
“ผู้ที่ทำอันตรายหรือกดขี้ข่มเหงผู้อื่น ไม่ใช่พระหรือผู้ละทิ้งทางโลกที่แท้จริง”
 ธรรมบท : 184


ไม่มีใครให้ขึ้นรถหรือพักอาศัย

   บางคนเหมือนจะหวาดกลัวมากกว่าจะให้ความสนใจ สังเกตได้ว่าคนขับแท็กซี่ในยูกันดากลัวและกังวลกับอาตมามากกว่าใครเพื่อน คนขับแท็กซี่สามคนปฏิเสธจะรับอาตมาแม้ป้ายจะบอกว่ามีที่ว่างในรถเหลือพอสำหรับอีกคน ทีแรกคนขับก็ชะลอ แต่พอเข้าใกล้อาตมาก็เร่งความเร็วจากไป บางทีอาตมาต้องเดินเป็นระยะทางไกลเพราะไม่มีแท็กซี่คันไหนรับอาตมา ซึ่งอาตมาพบเหตุการณ์ท้าทายมากมาย บางครั้งเราก็ต้องเชิดหน้าขึ้นเผชิญกับเหตุการณ์เหล่านั้นเพื่อหาหนทาง แน่นอนว่าการเดินเท้าทำให้อาตมาต้องเจอผู้คนมากขึ้น อาตมาเปิดกว้างให้กับผู้คน สุดท้ายก็พบว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางที่แห่งนั้น พยายามปลูกฝังความรัก ความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ ความอดทน และความเข้าใจ

   เมื่อแรกมาถึงอาตมาแบกเต็นท์มาด้วย (ภายหลังได้กลายมาเป็นวัดเคลื่อนที่) แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการหาที่ตั้งเตนท์ ชายคนหนึ่งที่อาตมาติดต่อแนะนำให้อาตมาเช่าห้องพักจากเขา แต่อาตมาตัดสินใจจะหาที่ตั้งเตนท์ที่อื่น(เพื่อให้ใกล้กับเมืองที่โยมแม่อยู่) สุดท้ายเมื่อหาไม่ได้อาตมาจึงติดต่อกลับไปหาชายคนเดิมที่เคยเสนอห้องเช่าให้อาตมา เมื่อโทรกลับไปเขากลับแจ้งว่าเขาไม่มีห้องให้อาตมาแล้ว ความสงสัยได้เกิดขึ้นในใจเขา อาตมาจึงไปพักที่อื่นสองสามวันจนกระทั่งพื้นที่ที่จัดไว้ให้ตั้งเตนท์มีที่ว่างสำหรับอาตมา พุทธมามกะชาวยูกันดาจะมาที่นั่นเพื่อช่วยเหลือกิจการและฝึกสมาธิวิปัสสนา

   ภายหลังอาตมาพร้อมกับผู้ศรัทธาในธรรมคนหนึ่งได้เดินทางไปดูที่ดินบอกขายซึ่งราคาไม่แพงนัก อาตมาจึงเกิดความคิดว่าน่าจะเป็นการดีสำหรับพุทธศาสนิกชนชาวยูกันดาที่จะมีสถานที่ไว้ประกอบกิจกรรมของพวกเขาเอง ประชาชนที่อาศัยอยู่แถวๆ ที่ดินจะไม่ยอมพูดจากับอาตมา พวกเขาคิดว่าอาตมาเป็นพ่อมด แต่ยอมพูดกับเพื่อนเดินทางของอาตมา เป็นความรู้สึกแปลกอยู่เหมือนกันที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม

   อีกครั้งหนึ่งเมื่อต้องการจะจดทะเบียนศูนย์พระพุทธศาสนา อาตมาเดินทางไปยื่นเอกสารคำร้องที่คณะกรรมการเขต (Regional District Commissioner - RDC) ก็ถูกสงสัยว่ามีสภาพจิตไม่ปกติเช่นกัน แต่เขาก็เซ็นต์เอกสารให้อาตมาแม้จะลังเลใจ อาตมาเดินทางต่อไปยังสำนักจดทะเบียนในกัมปาลา ผู้หญิงที่สำนักจดทะเบียนซึ่งเป็นองค์กรอิสระ (NGO) ทำหน้าบึ้งตึงใส่อาตมาเมื่ออาตมาเดินเข้ามายังสำนักงาน เธอยอมรับว่าเกือบจะวิ่งหนีอาตมาเมื่อเห็นอาตมาเดินเข้ามาที่โต๊ะของเธอ

   ผู้คนยังคงตัดสินคุณค่าของหนังสือทั้งเล่ม เพียงดูแต่หน้าปกกันต่อไป

“เป็นสิ่งประเสริญที่มีเพื่อนให้ความช่วยเหลือเมื่อเราต้องการ เป็นสิ่งประเสริฐที่สามารถพึงพอใจในสิ่งที่มีอยู่ เป็นสิ่งประเสริฐที่มีบุญกุศลค้ำชูเมื่อชีวิตใกล้จะสิ้นที่สุด เป็นสิ่งประเสริฐที่สามารถนำออกได้ซึ่งความทุกข์ทั้งปวง”
ธรรมบท : 331


เมล็ดพันธุ์แห่งธรรมะได้รับการหว่านลงไป

   เมื่อศูนย์พระพุทธศาสนาในยูกันดาได้รับการสถาปนา นับว่าเราโชคดีมากที่ได้ที่ดินขนาดสองเอเคอร์ใกล้กับทะเลสาปวิคตอเรียที่เกรูก้า (Geruga) บนถนนเอ็นเท็บเบ้ อาตมารู้สึกปีติสุขเมื่อรู้ว่าผู้คนในยูกันดาจะมีสถานที่สำหรับศึกษาพระพุทธศาสนาและทำวิปัสสนาสมาธิ เมื่อนึกถึงการต้องข้ามมหาสมุทรอินเดียเพื่อรู้จักกับธรรมะ อาตมาสุขใจที่ได้เห็นธรรมะเริ่มหยั่งรากลงใน“ไข่มุกแห่งแอฟริกา” แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะถือกำเนิดขึ้นในโลกนี้มากว่า 25 ศตวรรษแล้วก็ตาม แอฟริกายังรู้จักพระพุทธศาสนาเพียงน้อยนิดหรือแทบจะเรียกได้ว่าไม่รู้จักเลย พระพุทธศาสนายังอ่อนแออยู่มากในทวีปแห่งนี้ ในยูกันดา คนท้องถิ่นไม่เคยมีใครนับถือศาสนาพุทธก่อนที่อาตมาจะออกบวชและกลับมายังที่แห่งนี้

   ตอนนี้อาตมาพยายามที่จะหว่านเมล็ดพันธุ์ออกไปให้กว้างไกลในพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์ด้วยการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์ไปยังทุกคนที่ใจกว้างพอและเต็มใจที่จะรับมันไว้ พระสงฆ์รูปแรกของยูกันดาได้เกิดขึ้น หลานชายแสดงเจตจำนงที่จะอุปสมบทเป็นสามเณร เช่นเดียวกัน โยมแม่และหลานสาวสามคนของอาตมาประสงค์จะบวชชี (โยมแม่ได้บวชเป็นชีเมื่อปีค.ศ. 2008) อาตมารู้สึกขอบคุณสมาคมชาวเวียดนามและอื่นๆที่ ทีเอ็มซี ซานโฮเซ่ ในแคร์ลิฟอร์เนียสำหรับความช่วยเหลือมหาศาลในการจัดตั้งศูนย์พระพุทธศาสนา อาตมาขออนุโมทนาไปยังกลุ่มคนไทยในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาผู้ซึ่งบริจาคพระพุทธรูปแอฟริกันจำนวนสององค์ ขอให้บุญกุศลจากการทำบุญของเป็นประตูนำพวกเขาไปสู่อิสรภาพ พระพุทธรูปองค์แรกจะประดิษฐานอยู่ที่ศูนย์พระพุทธศาสนาในยูกันดานี้และอีกองค์หนึ่งจะบริจาคให้กับสำนักงานใหญ่ศูนย์พระพุทธศาสนาโลก(World Buddhist Summit) เพื่อนำไปประดิษฐานไว้ที่หอประชุมใหญ่(Royal Grand Hall)ในประเทศญี่ปุ่น อาตมาขอแสดงความขอบคุณเป็นอย่างสูงแก่ประธานศูนย์พระพุทธศาสนาโลก(World Buddhist Summit) ที่ญี่ปุ่น สำหรับความช่วยเหลือในการวางรากฐานธรรมะในยูกันดาและแผนพัฒนาศูนย์พระพุทธศาสนายังคงดำเนินต่อไป

   สุดท้ายนี้ เมล็ดพันธุ์แห่งพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้ถูกปลูกฝังลงในยูกันดาเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้เป็นเวลาแห่งการดูแลให้เติบใหญ่ หวังว่าเมล็ดพันธุ์ที่มีประโยชน์นี้จะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและเติบโตอย่างแข็งแรง แผ่ขยายไพศาลเป็นผลไม้แห่งประโยชน์ของสัตว์โลกทั้งปวง

   ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายดำเนินชีวิตตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนเข้าถึงอิสรภาพสุดท้ายหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวงในชีวิตนี้ด้วยเถิด



ศูนย์พระพุทธศาสนายูกันดาที่พระพุทธรักขิตาได้ก่อตั้งขึ้น


********************************************


ภาพประกอบ จากหนังสือ Planting Dhamma Seeds by Buddharakkhita Bhikkhu

Website ศูนย์พระพุทธศาสนายูกันดา :

 http://www.ugandabuddhistcenter.org/home.php
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


พระยูกันดาถอดบทเรียนสร้างสันติภาพที่แอฟริกา

พระยูกันดาถอดบทเรียนสร้างสันติภาพภายในที่แอฟริกา : นิสิตปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มจร รายงาน

             ชื่อเสียงของพระพุทธรักขิตะชาวยูกันดา ซึ่งเป็นพระสงฆ์เถรวาทรูปแรกที่นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในทวีปแอฟริกา เป็นที่ทราบของชาวไทยพุทธบ้างในระดับหนึ่ง และที่ทราบมากขึ้นเมื่อได้ออกหนังสือเกี่ยวกับอัตชีวประวัติเรื่อง "บัวบานที่ยูกันดา"  ที่เขียนคำนิยมโดยพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือพระว. วชิรเมธี พระนักเทศน์นักเขียนชื่อดังแห่งศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย

             ด้วยชื่อเสียงดังกล่าวพระพุทธรักขิตะจึงได้รับเชิญไปบรรยายในเวทีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและและสันติภาพอยู่เป็นระยะๆ  รวมถึงล่าสุดได้รับนิมนต์ไปบรรยายเสนอบทความในการประชุมนานาชาติ ณ เมืองมัณฑเลย์ ประเทศเมียนมาร์ ในหัวข้อ "The World Peace Buddhist Conference"  หรือ "พระพุทธศาสนากับสันติภาพโลก" ที่สถาบันวิชาการสีตะกู  ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ภายใต้การนำของพระสยาดอจี อชิน ญาณิสสระ อธิการบดี ซึ่งมีนักสันติภาพจากหลากหลายศาสนาทั่วโลกกว่า ๑,๐๐๐ รูป/คน ได้เข้าร่วมและเสนอบทความ รวมถึงพระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้เดินทางไปปาฐกถาพิเศษ และพระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดี มจร ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก  ได้นำคณาจารย์และนิสิตปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มจร เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นผู้นำเสนอประสบการณ์จากทำงานด้านสันติภาพในประเด็น "หมู่บ้านสันติภาพ" ต่อที่ประชุมด้วย

             จากเวทีสันติภาพที่ประเทศเมียนมาร์นั่นเองพระมหาหรรษาจึงได้นิมนต์พระพุทธรักขิตะเดินทางมาประเทศไทย เป็นวิทยากรพิเศษบรรยายประสบการณ์การสร้างสันติภาพเรื่อง "ถอดบทเรียนการสร้างสันติภาพในทวีปแอฟริกาใต้ : กรณีศึกษา ประเทศยูกันดา" ให้แก่นิสิตปริญญาโท สาขาสันติศึกษา  มจร  และบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ารับฟังที่ห้องสันติศึกษา อาคารเรียนรวม มจร อ.วังน้อย  จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันเสาร์ที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๙




 พระพุทธรักขิตะได้ระบุว่า ได้เดินทางมาบรรยายที่ มจร ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ โดยขอนำเสนอวีดีโอสั้นๆเป็นเรื่องราวเมล็ดพันธุ์แห่งธรรมะ ซึ่งสันติภาพนั้นมี ๓ ระดับ คือ ๑ สันติภาพทั่วไป ๒. สันติภาพภาวนา และ ๓ .ผลจากการปฏิบัติ ซึ่งสันติภาพนั้นแบ่งออก ๒  แบบ คือ สันติภายในและสันติภายนอก  ปัจจุบันนี้สร้างได้เพียงสันติภาพภายนอกจึงจำเป็นต้องพัฒนาให้ถึงสันติภาพภายในโดยผ่านการปฏิบัติภาวนา ซึ่งแนวทางการพัฒนาเพื่อไปสู่สันติภาพมี ๓ ระดับคือ ปริยัติ  ปฏิบัติ และปฏิเวธ



 "คำว่าสันติภาพในมุมมองของผม คือ อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ถึงแม้เราจะไม่มีสงครามแล้ว แต่ความรู้สึกเกี่ยวกับสงครามยังมีอยู่ เพราะเราเคยเป็นเหยื่อของสงคราม ซึ่งที่ประเทศยูกันดามีพระสันติภาพเหมือนประเทศไทยมีพระเเก้วมรกต  โดยอาตมาเป็นพระรูปแรกที่ไปสร้างวัดที่ประเทศยูกันดาซึ่งก็เป็นสิ่งแปลกเพราะเป็นสิ่งที่ชาวยูกันดาไม่เคยรู้จักมาก่อน" พระพุทธรักขิตะกล่าวและว่า



    คำถามก็คือจะใช้อะไรในการไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา  คำตอบก็คือว่า ใช้ความเมตตา กรุณา  ทำให้ชาวบ้านเห็น เช่น ให้ทาน แจกอาหาร ด้วยการแบ่งปัน โดยเอาธรรมไปทำ  ที่ประเทศยูกันดาขาดแคลนน้ำจึงช่วยเรื่องน้ำให้ทานเรื่องน้ำสะอาดให้กับชาวยูกันดา  ซึ่งใช้วิธีการสงเคราะห์หรือสังคหธุระ  และที่ยูกันดามีปัญหาด้านการศึกษาจึงเริ่มด้วยการสอนภาษาอังกฤษ ปลูกฝังการศึกษาและสอดแทรกธรรมะเข้าไปด้วย



 พระพุทธรักขิตะกล่าวด้วยว่า จึงอยากขอความร่วมมือ มจร ในการเปิดโรงเรียนและส่งครูไปช่วย เพราะครูตัวจริงต้องไปสอนในสถานที่เขาไม่รู้ ให้เขารู้ สอนคนไม่รู้ ให้รู้ได้ เพราะการสอนเป็นการเรียนรู้ไปในตัวด้วย เช่นกัน
         
             "เราควรจัดการความขัดแย้งภายในตัวเองก่อน ซึ่งที่ผ่านมาอาตมานับถือมาทุกศาสนาทุกนิกาย   จึงมาค้นหาว่าอะไรคือความต้องการที่แท้จริง  จึงมีโอกาสได้ไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ๓  เดือน จึงค้นพบความต้องการที่แท้จริง  ความจริงศาสนาพุทธก็มีหลายนิกายทั้งเถรวาทและมหายาน  แม้แต่การปฏิบัติของเถรวาทในการกำหนดท้องบ้างลมหายใจบ้าง  ไม่รู้จะกำหนดที่ไหนกันแน่ เพียงเท่านี้ก็ขัดแย้งในตัวเองแล้ว จึงทำให้ไปปฏิบัติกรรมฐานที่ประเทศเมียนมาร์เพื่อสร้างสันติภายใน" พระชาวยูกันดา กล่าวและว่า
           
             ถ้าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่าไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แต่ให้เปรียบเทียบกับตนเอง อดีตเราปฏิบัติได้แค่ไหน ตอนนี้เราได้แค่ไหน  เพราะถ้าเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่นก็จะเกิดทิฐิมานะเราต้องมั่นใจและศรัทธาเท่านั้น มีคำถามว่าทำไมถึงเลือกมาเป็นชาวพุทธและทำไมถึงเลือกเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา  เหตุเพราะว่าศาสนาอื่นที่ศึกษาไม่สามารถให้คำตอบของชีวิตได้  แต่พระพุทธศาสนาสามารถตอบคำถามของชีวิตได้ ศาสนาพุทธให้คำตอบที่ถูกต้องมากๆแต่ต้องปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานถึงจะได้คำตอบนั้น

             พระพุทธรักขิตะกล่าวว่า อาตมาถือว่าเป็นแกะดำในครอบครัว เพราะคนในครอบครัวนับถือศาสนาอื่น แต่อาตมาคนเดียวที่มานับถือศาสนาพุทธ  คนในครอบครัวรับประทานเนื้อแต่อาตมาฉันผักจึงเกิดความขัดแย้งในครอบครัว   แม้แต่ลุงผู้ส่งให้ศึกษาอยากให้เป็นนักธุรกิจ แต่มาวันหนึ่งอาตมานับถือพระพุทธศาสนาและบวชเป็นพระภิกษุจึงทำให้ลุงเกิดความผิดหวังเป็นอย่างมากถือว่ายังขัดแย้งเพราะยังไม่เข้าใจ   แต่ มจร ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งได้ดีมากๆ โดยเมื่อเป็นเจ้าภาพจัดงานวิสาขบูชาโลกทำให้ลุงได้ร่วมเดินทางมาด้วยและได้รับพระพุทธรูปจากบุคคลสำคัญของประเทศไทย  ทำให้ลุงเกิดการยอมรับเป็นอย่างมาก
         
             สันติภาพจะเกิดต้องมี ๓  ระดับ คือ   ความรักต่อกัน     ต่อสู้กับตนเอง   ร่วมมือกันด้วยความอดทนต่อกัน    เพราะความขัดแย้งในชุมชน ซึ่งเราเป็นสัตว์สังคมต้องอยู่ร่วมกัน  ที่ประเทศยูกันดาไม่เคยสัมผัสคุ้นเคยกับพระสงฆ์  จึงเกิดความขัดแย้งทางสังคมอย่างหนึ่ง  เพราะไม่เคยรู้จักนักบวช แม้แต่เห็นชุดการแต่งกายก็มองว่าเป็นแฟชั่นสวยงาม คิดว่าเป็นนายแบบ ถามถึงราคาชุดที่ใส่ก็เป็นความขัดแย้งจากความไม่รู้ บางกลุ่มคิดว่า บ้า วิกลจริต   เพราะแต่งกายไม่เหมือนคนอื่น   จึงใช้วิธีกำหนดได้ยินหนอๆๆ ไม่เอาไปปรุงแต่ง  เป็นสร้างพุทธสันติวิธี กำหนดว่าได้ยินก็ผ่านไป   ได้ยินอะไรก็ปล่อยสักว่าได้ยิน แล้วมันก็ผ่านไปเป็นการสร้างสันติภายใน

             พระชาวยูกันดา กล่าวว่า ต่อไปอยากให้พวกเราสร้างสันติภายในด้วยการนั่งสมาธิและแผ่เมตตาและแบ่งปันความขัดแย้งเกี่ยวกับสังคม การเมือง  เราเคยมีความขัดแย้งแบบรุนแรงหรือไม่  แต่เราต้องสามารถให้อภัยคนอื่นได้ ซึ่งไม่ใช่ความอ่อนแออะไรเลยแต่คือความแข็งแกร่งของจิตใจเรา    เราต้องฝึกการให้อภัย  คนที่จะถูกเยียวยาคนแรกคือตัวเราเอง ซึ่งพุทธศาสนาสอนเรื่องการเผยแผ่เมตตา ความขัดแย้งทางศาสนาก็มีส่วนสำคัญ   ซึ่งเราเรียนทฤษฎีเกี่ยวสันติภาพในห้องเรียนแต่พอเราไปเจอความขัดแย้งจริงๆจะท้าทายเรามาก  ซึ่งบางอย่างเราต้องมีอุเบกขา พร้อมทั้งเข้าใจเกี่ยวกับโลกธรรมให้มากๆ
           
             ส่วนความขัดแย้งทางการเมือง พระสงฆ์ควรจะมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือไม่นั้น   ความจริงแล้วพระสงฆ์ไม่ควรไปเล่นการเมือง แต่ควรให้ คำแนะนำชี้แนะเตือนสติมากกว่าลงไปเล่น  เหมือนเล่นฟุตบอลต้องมีโค้ช พระเหมือนโค้ชให้ธรรมะ ให้ข้อคิดในการเล่นการเมืองการปกครอง
           
             พระพุทธรักขิตะกล่าวสรุปว่า ทุกความขัดแย้งแม้จะแค่เล็กๆ ย่อมมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันและกัน จึงต้องฝึกปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง การจัดการความขัดแย้งต้องเริ่มต้นจากตัวเราเอง ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นการสร้างสันติภายใน

ขอ ขอบคุณ คมชัดลึก http://www.komchadluek.net/news/amulets/221514
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...