ผู้เขียน หัวข้อ: ศีลธรรมและสันติสุขจะกลับมาได้อย่างไร (๕) เหตุผลของสันติวิธี  (อ่าน 1079 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ศีลธรรมและสันติสุขจะกลับมาได้อย่างไร(๕)เหตุผลของสันติวิธี
ศีลธรรมและสันติสุขจะกลับมาได้อย่างไร(๕)เหตุผลของสันติวิธี : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพระไพศาล วิสาโล
           มีเหตุการณ์หนึ่งน่าสนใจ มีสำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งในอเมริกา สมาชิกเป็นฆราวาสทั้งนั้น กรรมการสถานปฏิบัติธรรมนี้มีความเห็นว่าควรจัดให้มีการจัดอบรมสันติวิธีแก่สมาชิก เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการคลี่คลายความขัดแย้ง ไม่ว่าในครอบครัว ในที่ทำงาน ในสังคม จึงเชิญวิทยากรคนหนึ่งมาฝึกอบรมสันติวิธีเป็นเวลาสองวัน โดยใช้ห้องสวดมนต์เป็นสถานที่จัดอบรม

           วันแรกผ่านไปด้วยดี วันที่สองวิทยากรอยากจะฝึกให้ยากขึ้น จึงสร้างเหตุการณ์สมมุติขึ้นมาว่า มีผู้ก่อการร้ายจับตัวประกันสองคน ให้สมาชิกสองคนรับบทเป็น “ตัวประกัน” คนที่เหลือสวมบทบาทเป็นผู้เจรจาเพื่อให้สองคนนั้นได้รับอิสรภาพ ส่วนวิทยากรรับบทเป็นผู้ก่อการร้าย เมื่อชี้แจงบทเรียบร้อยแล้ว เขาก็ควักบุหรี่ออกมาสูบ

           ผู้เข้าฝึกอบรมคนหนึ่งประท้วงขึ้นมาทันทีว่า “ที่นี่ห้ามสูบบุหรี่ เพราะนี่เป็นห้องสวดมนต์” ผู้ก่อการร้ายตอบว่า “ผมไม่สนใจหรอก คุณอยากเจรจาเรื่องสูบบุหรี่ หรืออยากให้เพื่อนของคุณได้อิสรภาพ?” ผู้เข้าอบรมก็บอกว่า “ถ้าคุณสูบบุหรี่ในนี้ เราก็ไม่เจรจากับคุณ” ผู้ก่อการร้ายจึงพูดว่า “ก็ได้ หยุดสูบก็ได้” ว่าแล้วก็เดินไปที่แท่นบูชา แล้วขยี้ก้นบุหรี่บนตักพระพุทธรูป”

           ทุกคนในห้องไม่พอใจมาก มีคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “คุณรู้ไหมว่าทำอะไรลงไป นี่พระพุทธรูปนะ”

           ผู้ก่อการร้ายตอบว่า “ผมไม่สนใจ นี่ไม่ใช่พระพุทธรูปของผม และนี่ก็ไม่ใช่ห้องสวดมนต์ของผม ตอนนี้ผมหยุดสูบบุหรี่แล้ว พวกคุณอยากเจรจาเรื่องเพื่อนของคุณหรือเปล่า ไม่งั้นผมก็จะออกจากห้องนี้ไป”    ตอนนี้ทุกคนโมโหจนลืมไปว่าตนกำลังสวมบทบาทสมมุติ มีคนหนึ่งบอกเขาว่า “เราเชิญคุณมาที่นี่เพื่อจัดอบรม เรารู้ว่าคุณไม่ใช่ชาวพุทธ แต่นี่คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเรา คุณควรเคารพสถานที่แห่งนี้ด้วย”

           วิทยากรซึ่งยังสวมบทผู้ก่อการร้ายอยู่จึงพูดว่า “คุณอยากรู้ว่าผมเคารพสถานที่นี้แค่ไหนหรือ?” ว่าแล้วเขาก็เดินไปมุมห้องแล้วฉี่ใส่พื้น

           เท่านั้นแหละทุกคนอดใจไม่อยู่ ต่างวิ่งไปทำร้ายเขา เตะต่อยสารพัด จนเขาล้มลง แต่ก็หนีออกมาได้ พร้อมกับบอกให้ “ตัวประกัน” เป็นอิสระ แล้วเขาก็ไม่กลับมาอีกเลย

           คำถามคือ ทำไมผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งตั้งใจฝึกสันติวิธี จึงลงเอยด้วยการเตะต่อยวิทยากร ทั้งที่หลายคนไม่เคยทำร้ายใคร ยุงก็ไม่ตบ บางคนกินมังสวิรัติด้วย คำตอบก็คือ เพราะคนเหล่านั้นเห็นว่า วิทยากรทำไม่ถูกต้อง แต่เขาลืมไปว่า นี่เป็นการแสดง ไม่ใช่ของจริง และเป็นความตั้งใจของวิทยากรที่อยากให้โจทย์ยากๆ ว่าจะใช้สันติวิธีได้อย่างไรหากถูกยั่วยุหรือเจอเรื่องกระทบใจ แต่ผู้ปฏิบัติธรรมเหล่านั้นกลับลืมตัวเมื่อถูกยั่วยุ หันไปใช้ความรุนแรงกับวิทยากร

           ทำไมเขาเหล่านั้นลืมตัว ก็เพราะเขาเห็นความไม่ถูกต้อง และเนื่องจากยึดมั่นในความถูกต้องมาก พอเห็นคนอื่นทำสิ่งไม่ถูกต้อง ก็เลยลืมตัว ลืมไปว่า นี่คือเรื่องสมมุติ เป็นแบบฝึกหัดเพื่อใช้สันติวิธีแก้ปัญหา ผลก็คือ ทุกคนสอบตกหมดเลย ทั้งๆ ที่เป็นแค่การซ้อมหรือเป็นสถานการณ์จำลองเท่านั้น

           นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การมีสำนึกเรื่องความถูกต้อง แม้เป็นเรื่องดี แต่ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นมันมาก เราอาจจะลงเอยด้วยการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องขึ้นมาได้

           ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวว่า "ความดี ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นมาก มันก็กัดเจ้าของได้" ผู้คนจำนวนไม่น้อยทุกข์เพราะความดี ไม่เพียงเท่านั้นยังอาจทำให้คนอื่นทุกข์ เพราะยึดมั่นในความดีแบบของตนด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ บินลาดิน หรือไอเอส คนเหล่านี้เชื่อมั่นว่าเขาทำความดี เขากำลังอุทิศตนเพื่อพระเจ้า เมื่อมีความไม่ดีหรือความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น เขาก็ต้องจัดการโค่นล้มหรือทำลาย ซึ่งรวมถึงสังหารคนที่คิดหรือทำไม่เหมือนเขา

           กลุ่มไอเอสเกลียดคนยุโรปมาก เพราะว่าเป็นพวกวัตถุนิยม บูชาเนื้อหนัง กระทำสิ่งที่เหยียดหยามพระเจ้า เพราะฉะนั้นจึงต้องทำลาย เมื่อเร็วๆ นี้ ก็เข้าไปก่อการร้ายในปารีส ฆ่าผู้คนนับร้อย กลายเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก คนเหล่านี้ทำในนามของความถูกต้อง ในนามของสิ่งสูงส่ง คือพระเจ้า แต่ความยึดมั่นถือมั่นนั้น กลับทำให้เขาทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทำสิ่งที่ชั่วร้ายได้

           นี้เป็นสิ่งที่เราต้องระวังมาก โดยเฉพาะผู้ใฝ่ธรรม เมื่อใดก็ตามที่เราคิดว่าเราเป็นคนดี มีความเชื่อที่ดีงาม หากยึดมั่นในความเชื่อของเรา เราก็อยากให้คนอื่นเป็นเหมือนเรา เชื่อเหมือนเรา แต่ถ้าเขาเชื่อไม่เหมือนเรา เห็นแย้งเรา เราก็เห็นเขาเป็นศัตรู แล้วความโกรธความเกลียดก็ตามมา

           พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คำสอนของพระองค์เหมือนกับแพ แพนั้นมีไว้ข้ามฝั่ง เมื่อข้ามฝั่งแล้วก็ทิ้งแพไว้ที่ฝั่ง ไม่ต้องแบกขึ้นฝั่งด้วย ฉันใดก็ฉันนั้น ธรรมของพระพุทธองค์ ก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี่ขนาดกุศลธรรมยังไม่ควรยึดติดถือมั่น ไม่ต้องพูดถึงอกุศลธรรม ยิ่งยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เลย

           ถ้าเรามีความใจกว้าง และตระหนักถึงโทษของความยึดติดถือมั่นในความคิด เห็นโทษของความยึดติดถือมั่นในความถูกต้องแล้ว เราต้องพยายามรู้เท่าทันตนเอง รู้จักทักท้วงตนเอง ขณะเดียวกันก็พยายามก้าวข้ามความคิดที่แบ่งเราและเขา แบ่งดีและชั่วให้ได้ อย่าไปมองว่า เราดี คนอื่นชั่ว พวกเราดี พวกนั้นชั่ว เพราะจริงๆ แล้ว คนดีกับคนชั่ว ไม่ได้แยกกัน ในทำนองเดียวกันความดีกับความชั่วนั้นแยกจากกันได้ยาก

           อเล็กซานเดอร์ โซลเซนิตซิน เป็นนักเขียนชื่อดังชาวรัสเซีย ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ใน พ.ศ.๒๕๑๓ (ค.ศ.๑๙๗๐) เมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้ว เขากล่าวว่า “มันจะง่ายดายสักเพียงใด ถ้าเพียงแต่ว่าคนชั่วร้ายอยู่ที่ไหนสักแห่งและคอยทำแต่สิ่งชั่วร้าย เราก็แค่แยกคนพวกนั้นออกจากพวกเรา แล้วก็ทำลายเขาเสีย เท่านั้นก็จบกัน แต่เส้นแบ่งความดีและความชั่วนั้นผ่าลงไปในใจของมนุษย์ทุกคน ใครเล่าที่อยากจะทำลายส่วนเสี้ยวในใจของตน?”

           การกำจัดคนชั่วที่อยู่ข้างนอกนั้นง่าย แต่การกำจัดความชั่วในใจเรานั้นเป็นเรื่องยาก เพราะคนเรามักจะยอมรับไม่ได้ว่า เรามีความไม่ดี มีความชั่วอยู่ในตัวเอง ดังที่ท่านติช นัท ฮันห์ ได้เตือนเราไว้ เราทุกคนมีระเบิดอยู่ข้างใน และระเบิดก็พร้อมที่จะประทุขึ้นมาได้ทุกเมื่อ แต่ถ้าเรามีสติ ไม่ประมาท ไม่หลงตน เราก็สามารถควบคุมไม่ให้ระเบิดทำงาน และยังสามารถทำให้มันเลือนหายไป ด้วยการกลับมาจัดการกับกิเลสในใจเรา

           มองในแง่พุทธ การกลับมาจัดการกับความชั่วหรือกิเสลในใจเรานั้นง่ายกว่า เป็นกุศลมากกว่า แต่คนส่วนใหญ่มองว่า การเล่นงานความชั่วในใจตนเป็นเรื่องยาก การกำจัดคนอื่นนั้นง่ายกว่า

           เมื่อคิดอย่างนี้ ก็ยากที่ความรุนแรงจะหมดไปจากโลกใบนี้ เพราะนอกจากความโกรธเกลียดและตัณหา มานะ ทิฐิ ถูกปล่อยให้ลอยนวลแล้ว เมื่อกำจัดคนชั่ว หรือกำจัดคนที่เราคิดว่าชั่ว ความโกรธและความเกลียดก็จะเกิดขึ้นในหมู่พี่น้อง ญาติมิตรของเขา แล้วความโกรธ ความเกลียดก็จะยิ่งแพร่ขยาย และนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น มีการตอบโต้ไม่รู้จบ

           ความรุนแรงนั้นแก้ปัญหาไม่ได้ มิหนำซ้ำกลับซ้ำเติมปัญหาให้หนักยิ่งขึ้น อาตมาอยากย้ำว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นก็คือ ความยึดมั่นในความถูกต้องของตนยึดมั่นในความคิดว่า เราดี เขาชั่ว และความคิดที่ว่า เมื่อเป้าหมายถูกต้องจะใช้วิธีการใดก็ได้ หรือความคิดที่ว่า จะทำอะไรกับคนชั่วก็ได้ทั้งนั้น จะรุมกระทืบเขาเวลาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ วิสามัญฆาตกรรม หรือประหารชีวิตเขาก็ได้ทั้งนั้น เพราะถือว่า “คนชั่วหรือคนผิด มีสิทธิ์เป็นศูนย์” นี่เป็นทัศนคติที่แพร่หลายทั่วไปในเวลานี้

           ความคิดแบบนี้ไม่ได้แก้ปัญหา เพราะว่ามันยิ่งทำให้ความโกรธ ความเกลียด แพร่ขยายมากยิ่งขึ้น ยิ่งเป็นชาวพุทธ ก็ยิ่งต้องยึดมั่นในสันติวิธี ความคิดว่า เขาแรงมาก็ต้องแรงไป หรือใช้การตอบโต้แบบ ตาต่อตา ฟันต่อฟันนั้นไม่ใช่วิสัยของชาวพุทธเลย           

(ติดตามตอนจบในวันพระหน้า)

จาก http://www.komchadluek.net/news/amulets/220873
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...