ผู้เขียน หัวข้อ: ก้าวย่างที่สำคัญของการบวชภิกษุณีในทิเบต แล้วเมืองไทยล่ะ ?  (อ่าน 1531 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
คุณเคยสงสัยไหมคะว่าทำไมผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณีไม่ได้ ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าก็เคยอนุญาตให้ผู้หญิงบวช และตรัสว่าศาสนาพุทธจะเจริญรุ่งเรืองได้ ต้องมีครบทั้งบริษัทสี่ - ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา?

Yongchan จำได้ว่าสงสัยแบบนี้มาตั้งแต่อยู่ป.5 เพราะว่าในหนังสือเรียนเขียนไว้อย่างนั้น เด็กหญิง Yongchan แค่รู้สึกว่า ถ้าการบวชคือหนทางลัดไปสู่การปรินิพพาน เด็กน้อยก็อยากบวชเหมือนกัน ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะตรัสรู้หรอกค่ะ แต่แค่อยากลองดู อยากมีโอกาสได้สัมผัสเส้นทางนี้บ้าง อยากบวชซักพรรษานึง เหมือนกับที่ผู้ชายเค้าทำกัน

แต่หนังสือบอกว่าบวชไม่ได้ พระสงฆ์ไทยก็บอกว่าบวชไม่ได้ เพราะการบวชภิกษุณี ต้องมีภิกษุณีมาบวชให้ด้วย ในเมื่อประเทศไทยไม่มีภิกษุณีแต่เริ่มแรก ผู้หญิงก็บวชไม่ได้ ท่านภิกษุณีธัมมนันทา ที่ไปบวชมาจากศรีลังกาเมื่อ 2534 (และเป็นภิกษุณีในปี 2536) ก็ไม่ได้รับการยอมรับ


ท่านธัมมะนันทา (อดีต ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์)

เมื่อเป็นเช่นนั้น Yongchan ก็ไม่ได้คิดต่อ แต่มีน้อยใจพระพุทธเจ้า ว่าทำไมพระองค์ท่านแอบไม่แฟร์เล็กน้อย (นอกจากไม่ยอมศึกษาหาข้อมูลแล้ว ยังไปโทษพระองค์อีก น่าตีจริงๆ)

ดังนั้น เมื่อได้ยินว่ามีการประชุมว่าด้วยการจัดการบวชภิกษุณีในทิเบต The "1st International Congress on Buddhist Women’s Role in the Sangha: Bhikshuni Vinaya and Ordination Lineages" ก็เลยรู้สึกสนใจเป็นอย่างมาก มันทำให้เกิดความคิดว่า เอ๊ะ!? สิ่งที่คณะสงฆ์ไทยบอกว่า เป็นไปไม่ได้ มันจะทำให้เกิดขึ้นได้เหรอ? Is this mission possible?


(องค์ดาไลลามะ เป็นผู้ริเริ่มการจัดการประชุม และมอบเงินห้าหมื่นฟรังก์สวิสให้เป็นทุนในการจัด)

ขอให้ข้อมูลพื้นฐานซักนิดว่า เรามักได้รับการสอนว่า ศาสนาพุทธในศรีลังกา ไทย และประเทศเพื่อนบ้าน เป็นนิกายเถรวาท  นอกนั้น เป็นมหายาน (เรียกตามพระวินัยว่า ธรรมคุปต์) ซึ่งรวมทิเบตไปด้วย แต่จริงๆ แล้ว ทิเบตเค้ามีนิกายของเค้าเอง เรียกว่า มูลสรวาสติวาท (ออกเสียงว่า มู-ละ-สะ-ระ-วาด-ติ-วาด) ตามพระวินัยที่เค้ายึดถือ

สถานการณ์ในทิเบตก็คล้ายๆ ประเทศไทยค่ะ คือว่ามีพระสงฆ์ผู้ชาย แต่ไม่มีพระสงฆ์ผู้หญิง มาเป็นพันปีแล้ว ที่เราเห็นภิกษุณีนุ่งจีวรแบบทิเบต และปฏิบัติตามคำสอนแบบสงฆ์ในทิเบตนั้น แต่ละท่านต้องไปบวชมาจากคณะสงฆ์ในประเทศอื่นๆ เช่นไต้หวัน เกาหลี  และก็มักไม่ได้การยอมรับจากพระสงฆ์ผู้ชายหัวโบราณในทิเบต หัวอกเดียวกันกับภิกษุณีไทย เด๊ะๆ


(ท่านจำปา เซ็ตดรอน ภิกษุณีสายทิเบต ชาวเยอรมัน ผู้จัดการประชุมครั้งนี้)

แต่สิ่งที่แตกต่างระหว่างประเทศไทยกับทิเบต ก็คือผู้นำทางศาสนาของทิเบต องค์ดาไลลามะ ท่านเห็นว่า ผู้หญิงควรได้รับการบวชภิกษุณี ท่านเห็นว่าผู้หญิงก็มีศักยภาพไม่ได้ด้อยไปกว่าผู้ชายเลย เพียงแต่ท่านก็ไม่แน่ใจว่า การจะจัดบวชนั้น จะทำได้หรือไม่? จะขัดกับพระไตรปิฎก พระวินัยหรือเปล่า? ท่านก็เลยสนับสนุนให้มีการวิจัยความเป็นได้ ทำมายี่สิบกว่าปีแล้วค่ะ

นอกจากทำวิจัยแล้ว ท่านก็จัดให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาพระวินัย และบวชเป็นสามเณรีได้ ปัจจุบันนี้ก็เลยมีสามเณรีทิเบตหลายพันคนที่มีความรู้ความสามารถทุกอย่างรอจะบวชเป็นภิกษุณี บางคนบวชเรียนมาสิบห้าปีแล้ว แต่ยังเป็นสามเณรีอยู่ พอบวชเป็นพระไม่ได้ ก็ไปสอนคนอื่นต่อไม่ได้ ไม่ได้รับการยอมรับเทียบเท่ากับสงฆ์ ประกอบกิจกรรมของสงฆ์ไม่ได้ เป็นปัญหาคาใจเหลือเกิน


(ประชุมที่มหาวิทยาลัยฮัมบวร์ก มีทั้งภิกษุ ภิกษุณีเข้าร่วมการประชุม)

และในงานสัมมนาที่ Yongchan ไปมาเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เป็นผลมาจากความพยายามในการรื้อฟื้น การจัดบวชภิกษุณีอีกครั้งในทิเบตนี้ล่ะค่ะ โดยมีภิกษุ ภิกษุณี จากนิกายต่างๆ จากทั้งทิเบต และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมทั้งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธกว่าสามร้อยคน มานำเสนองานวิจัย ว่าจะจัดบวชภิกษุณีตามนิกายของทิเบตได้อีกไหม? ถ้าทำได้ จะทำอย่างไร? โดยสองวันแรก เป็นการเสนอรายงาน และถกเถียง วันที่สาม องค์ดาไลลามะ มาฟังข้อเสนอ และจะแสดงท่าทีว่า จะทำอย่างไรดี?


(แถวหน้าสุดมาจากทิเบต แถวกลางเป็นภิกษุณีไต้หวัน แต่มาจากแคลิฟอร์เนีย
แถวสุดท้ายเป็นพระจากเกาหลีค่ะ)




คณะสงฆ์ทั่วโลกบอกว่าจัดบวชภิกษุณีได้ ไม่ผิด และสนับสนุนให้มีการจัดบวชภิกษุณีร้อยเปอร์เซนต์ เรียกว่าเป็นเอกฉันท์ (ไม่ว่าจะเป็นนิกายใดๆ) แต่เรื่องพิธีการจะเป็นอย่างไรนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ รายละเอียดเยอะมาก  ประมาณว่าฮาร์ดดิสก์ในหัว Yongchan ระเบิดไปหลายรอบ ข้อมูลล้นทะลัก แทบจะเขียนวิทยานิพนธ์ได้เลยค่ะ

แต่เอาเป็นว่า หลักๆ แล้ว มีทางเป็นไปได้สองแบบ คือ

หนึ่ง จัดบวชครั้งเดียว โดยคณะสงฆ์ผู้ชายทิเบต ทีเดียวจบ ข้อดี คือสะดวก ประหยัด

สอง จัดบวชสองครั้ง โดยผ่านทั้งพระสงฆ์ผุ้ชาย และผู้หญิง (ซึ่งตอนเริ่มต้น ก็ต้องเชิญภิกษุณีจากนิกายอื่นมาบวชให้ก่อน) ข้อดี คือนักบวชผู้หญิง ก็ได้มีส่วนรวมในกระบวนการคัดสรรด้วย และจะทำให้เกิดความผูกพันในหมู่ภิกษุณีด้วยกันมากขึ้น


(ท่านธัมมนันทา นำเสนอ paper)

ในขณะที่ภิกษุ ภิกษุณีทิเบตเห็นด้วยกับข้อหนึ่ง ภิกษุ ภิกษุณีจากต่างชาติเห็นด้วยกับข้อสอง แต่ทุกคนก็บอกว่าข้อไหนก็รับได้ทั้งนั้นแหละ แต่ขอให้ท่านดาไลลามะ เซย์เยส ว่าจัดบวชได้แล้วนะ

ความคาดหวังก็เลยมาตกอยุ่ที่องค์ดาไลลามะ เหมือนโดนกดดันจากสงฆ์ทั่วโลก (นี่พูดจากความรู้สึกของคนที่นั่งฟังมาตลอดสามวัน) ประมาณว่าท่านคะ วิจัยกันมายี่สิบปีแล้ว วิจัยจนไม่รู้จะวิจัยอะไรอีกแล้ว ตัดสินเถอะค่ะ


(บรรยากาศตอนที่องค์ดาไลลามะมาถึง ถ้าพูดภาษาวัยรุ่น ก็ต้องบอกว่าท่าน ชิลล์ๆ เป็นกันเองมาก ยกมือไหว้คนอื่นด้วยนะ... ไม่ถือตัวเลย)


(ดูท่านั่งท่านซะก่อน พระที่นั่งด้วยกันอีกรูป เป็นล่ามค่ะ)

หลังจากฟังข้อเสนอทุกอย่างเสร็จ ท่านบอกว่าท่านสนับสนุนการจัดบวชภิกษุณีเต็มที่ แต่เรื่องนี้ยังมีภิกษุทิเบตจำนวนมากที่ “หัวโบราณ” และไม่เห็นด้วย ในเมื่อความคิดเห็นในบรรดาคนของท่านเองยังไม่เป็นเอกฉันท์ ท่านจึงยังไม่สามารถตัดสินได้ เพราะท่านไม่ใช่เผด็จการ

ท่านบอกด้วยว่า ถ้าพระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยุ่ก็คงดี เพราะพระองค์นี่แหละตัดสินได้เลย และท่านก็เชื่อว่าพระองค์จะบอกว่าบวชได้ เพราะมันเป็นการยกระดับศาสนาพุทธให้ครบสมบูรณ์เต็มที่ แต่เนื่องจากท่านไม่ใช่พระพุทธเจ้า ท่านก็บอกไม่ได้



(องค์ดาไลลามะพูดเป็นภาษาอังกฤษนะคะ
แต่ถ้าท่านติดตรงไหน ท่านจะบอกให้ล่ามแปลให้เดี๋ยวนั้นเลยค่ะ)


แหม... คนประชุม คนฟัง คนที่ทำวิจัยมาตลอดยี่สิบปี ก็แอบอกหักกันพอสมควร เพราะคิดว่าวันนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาแล้วเชียว

แต่องค์ดาไลลามะ ก็พูดให้พวกเราได้ตระหนักว่า จริงๆ แล้วการมีภิกษุณีเกิดขึ้นในสังคมหนึ่งๆ นั้น มันไม่ใช่แค่การตัดสินว่าจะบวชได้หรือไม่ และพิธีกรรมจะเป็นอย่างไร แต่ภิกษุณีจะต้องประพฤติปฏิบัติ ทำกิจกรรมตามที่พระพุทธเจ้าบอกไว้ด้วย

ท่านบอกว่าพวกท่านยอมรับว่าภิกษุณีสายทิเบตที่บวชมาจากภิกษุณีนิกายอื่น ว่าเป็นภิกษุณีเต็มตัวในสายทิเบต (ก่อนหน้านี้ ไม่ได้รับการยอมรับ) และขอให้ภิกษุณีเหล่านี้เริ่มปฏิบัติกิจของสงฆ์ที่สำคัญสามข้อ นั่นคือ ปาติโมกข์ (ปฏิบัติตามศีลของภิกษุณี) จำพรรษา และปวารณา ถ้าทำได้ปีนี้ให้เริ่มเลย ถ้าไม่ทัน ก็ให้เริ่มปีหน้า


ส่วนข้อเสนอจากคณะสงฆ์ทั้งหญิงและชายทั่วโลกนั้น ท่านจะนำกลับไปบอก ไปคุยกับพวกหัวโบราณในบ้านท่าน บางทีปีหน้าท่านอาจจะเชิญคณะสงฆ์เหล่านี้ไปคุยกับพระทิเบตเองเลยด้วย...

(เผื่อว่าท่านๆ เหล่านี้จะได้รู้ว่าโลกมันเปลี่ยนแปลงไปถึงไหนแล้วเสียที และแท้ที่จริงแล้ว การบวชภิกษุณีให้ผู้หญิงน่ะ มันไม่ได้มีข้อเสียเลยนะ แต่มันกำลังจะทำให้ประชากรผู้หญิงในสังคมนั้นๆ มีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาพระพุทธศาสนา มีคนทำงานเพื่อศาสนามากขึ้น ทำให้ศาสนาแข็งแรงขึ้นด้วยซ้ำ)



ฟังท่านแล้วก็เห็นด้วยว่าจริงอย่างท่านว่า และการปฏิบัติตามกิจของสงฆ์ดังกล่าว ก็เท่ากับว่าเกิดคณะภิกษุณีขึ้นแล้วจริงๆ  แม้ท่านจะไม่ได้เซย์เยส

ในฐานะชาวพุทธคนหนึ่ง อยากบอกว่า การไปประชุมครั้งนี้ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต นอกจากจะเป็นหลักสูตรพระพุทธศาสนาแบบ(โคตร) เร่งรัดแล้ว มันตอบคำถามที่คาใจตัวเองมาตั้งแต่อายุสิบขวบได้ ว่าสิ่งที่ใครๆ บอกเราว่ามันเป็นไปไม่ได้นั้น จริงๆ แล้วมันเป็นไปได้ ทำให้รู้สึกว่าในท้ายที่สุดแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องของ “ทัศนคติ” มากกว่า สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ก็ไม่ได้แปลว่าจะมี ณ วันนี้ไม่ได้ ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ ถ้าเรา “คิด” ที่จะแก้มัน

ในฐานะคนไทย เติบโตมากับสังคมที่มีประชากรนับถือศาสนาพุทธคิดเป็นเปอร์เซนต์แล้วสูงที่สุดในโลก แต่ผู้หญิงบวชไม่ได้ อยู่ในเมืองพุทธที่การเช่าพระเครื่องได้รับความนิยมสูงมากๆ ระดับที่คนเหยียบกันตายเพื่อจะเช่าจตุคามรามเทพ  เมื่อได้มาเห็นการต่อสู้เพื่อที่จะยกระดับพุทธศาสนาที่แก่นของศาสนาในครั้งนี้แล้ว ขอเรียนตรงๆ ว่าชื่นใจ โดยเฉพาะตรงที่ว่าพระสงฆ์ผู้ชายก็สนับสนุนการต่อสู้นี้เหมือนกัน

Yongchan ไม่รู้ว่าวันที่ประเทศไทย สังคมไทย คณะสงฆ์ไทยจะยอมรับการบวชภิกษุณีนั้นจะมาเมื่อไหร่ เพราะแม้แต่ท่านธัมมนันทาเองก็บอกว่า สิ่งใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการประชุมครั้งนี้ ก็ไม่มีผลต่อคณะสงฆ์ไทยทั้งสิ้น แต่อย่างไร ขอเป็นกำลังใจให้ภิกษุณีไทยทุกท่านค่ะ


--- หมายเหตุ Yongchan มิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธ หากใช้คำอะไรผิดไป ต้องขออภัย และขอให้ผู้รู้ชี้แนะด้วยค่ะ ---

จาก http://www.oknation.net/blog/yongchan/2007/07/22/entry-2

http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=3399.0
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...