หลวงพี่นิรามิสา หลวงพี่จำได้ว่าตอนที่เหงา... เหงาครั้งสุดท้ายตอนนั้นอยู่ที่ประเทศลาว ยังไม่บวช ตอนนั้นเช่าบ้านอยู่ริมแม่น้ำโขง นั่งอยู่ริมแม่น้ำโขง แล้วรู้สึกว่าเหงา เหงาจังเลย แต่ว่าครั้งนั้นเริ่มปฏิบัติแล้ว พอความรู้สึกว่าเหงาขึ้นมาปุ๊บ เรากลับมาอยู่กับลมหายใจ กลับมาสัมผัสกับลมหายใจ ไม่ใช่เฉพาะความคิดอย่างเดียว แต่กลับมาอยู่กับลมหายใจ มันต้องอาศัยการปฏิบัติด้วย ... ทุกครั้งที่เหงา ไม่เคยเตือนตัวเองกลับมาอยู่กับลมหายใจ เหงาแล้วก็ไปหาอย่างอื่นทำ ไปหาขนมทาน ออกไปข้างนอก โทรศัพท์ไปคุยกับเพื่อน ขับรถออกไปที่โน่นที่นี่ แต่ครั้งนั้นก็นั่งอยู่ตรงนั้นแหละ แล้วก็กลับมาอยู่กับลมหายใจ ... หายใจเข้า ฉันรู้ว่าฉันกำลังเหงา ... หายใจออก ฉันยิ้มกับความเหงาที่เกิดขึ้น ... หายใจเข้า ฉันพยายามโอบรับความเหงา เหมือนกับโอบกอดความเหงา เหมือนแม่ที่กำลังกล่อมลูก อุ้มลูก ... นี่เขาเรียกว่า “พลังแห่งสติ” คือเราอยู่ตรงนั้นกับความเหงา ... และทำอยู่สักระยะหนึ่ง แล้วดู เสร็จแล้วความเหงามันก็ค่อยๆ หายไป พอมันหายไป มันกลายเป็นความอิ่ม และตั้งแต่วันนั้นรู้แล้วว่า ไม่กลัวความเหงา
สัญญา แปลว่า ความรู้สึกจะเป็นบวกหรือลบ จะเหงา จะเศร้า จะคิดถึง จะอะไรก็ตามแต่ อยู่ที่เราทั้งสิ้น
หลวงพี่นิรามิสา ค่ะ
สัญญา เมื่อเราทำความเข้าใจ เราจะอยู่กับความรู้สึกอะไรก็ได้
หลวงพี่นิรามิสา ค่ะ และเราต้องมีการปฏิบัติ
สัญญา ต้องฝึก ไม่ใช่เข้าใจแล้วได้
หลวงพี่นิรามิสา ใช่ๆ ต้องฝึกให้เป็นรูปธรรม ให้เป็นความเป็นจริง ... ถ้าเข้าใจ บางทีเรายังอยู่แต่ในสมองเฉยๆ เรายังไม่ได้เอามาใช้
สัญญา มีภาพของหมู่บ้านพลัมที่อยากให้ท่านผู้ชมได้จินตนาการออกว่าที่นั่นเป็นอย่างไร และขอให้หลวงพี่ช่วยเล่าให้ฟังด้วยนะครับ
หลวงพี่นิรามิสา ได้ค่ะ ... (บรรยายภาพ) นี่เป็นวัดใหม่ที่หลวงพี่อยู่ ที่เห็นเป็นทิวนั่นคือ ต้นพลัม
สัญญา ถึงเรียกว่าหมู่บ้านพลัม
หลวงพี่นิรามิสา ค่ะ ใช่ ทุกวันนี้เราก็จะเก็บต้นพลัมกันเอง เราทำกันเอง แล้วเอาไว้ใช้ในชุมชน เอาไปทำแยมบ้าง เอามาขายในร้านที่วัดบ้าง เล็กๆ น้อยๆ ... นี่เป็นวัดใหม่ เป็นที่ที่หลวงพี่พัก
สัญญา ดูเหมือนหอพัก เหมือนตึก ทั้งหอนี่เป็นภิกษุณีหมดเลยหรือครับ
หลวงพี่นิรามิสา ค่ะ ภิกษุณีกับสามเณรี
หลวงพี่นิรามิสา นี่เป็นวัดบน เป็นอีกวัดหนึ่งที่เป็นที่ของพระภิกษุ สามเณร และฆราวาสชาย ... นี่เป็นหอใหญ่ ปฏิบัติธรรม เหมือนกับอุโบสถของบ้านเรา ... นี่เป็นวัดภูล่าง วัดของพระภิกษุ ส่วนใหญ่จะเป็นพระภิกษุชาวตะวันตก ... และนี่เป็นวัดบนของพระภิกษุ สามเณร
สัญญา สวยงามนะครับ
หลวงพี่นิรามิสา มีดอกบัวหลวง เป็นธรรมชาติ เราจะเน้นให้ใช้ ... นี่เป็นกุฏิของหลวงปู่ ... และนี่เป็นบรรดาพระภิกษุ ภิกษุณี และบรรดาหลวงปู่ หลวงย่าทั้งหลายที่เข้ามาร่วมในพิธีบวชศีลปาฏิโมกข์ บวชภิกษุ ภิกษุณี
สัญญา ชุมชนนี้อยู่ได้ด้วยอะไรครับ มีการทำงานอื่นไหมครับ หรือเป็นองค์กรต่างๆ บริจาคมาดูแล
หลวงพี่นิรามิสา ก็มีทั้งสองส่วน อันหนึ่งคือ ส่วนที่เราปลูกผัก พยายามช่วยตัวเอง และอีกส่วนหนึ่งคือ เวลาที่เขามา เขาก็จะบริจาค ก็จะเป็นทุนอันหนึ่งจะเข้ามาช่วยจ่ายค่าอาหารให้นักบวช
ปิยะ (ภาพหมู่บ้านพลัม ปกคลุมด้วยหิมะ) นี่หิมะตก ใบไม้ร่วงหมดต้นเลย
หลวงพี่นิรามิสา ค่ะ นี่เป็นฤดูหนาวที่เพิ่งผ่านมา หนาวมาก... นี่เป็นเส้นทางเดินจงกรม ... มีหอระฆัง หิมะตกเยอะมาก ... นี่หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ท่านออกมาเล่นหิมะด้วย เดินจงกรมด้วย ... อันนี้เป็นพิธีเปิดสำหรับรับศีล ทุกปีเราจะมีการบวชภิกษุ ภิกษุณี ซึ่งในนั้นก็จะเป็นเหมือนกับ...อาทิตย์แห่งการรับศีลต่างๆ เริ่มตั้งแต่ศีล ๕, ศีล ๑๔ ข้อ, ศีลสามเณร สามเณรี, ศีลสิกขามณา และศีลภิกษุ ภิกษุณี .... นี่เป็นหอปฏิบัติธรรมที่เราทำวัตรเช้า วัตรเย็น ... นี่วัดใหม่ที่หลวงพี่อยู่ ... นี่เป็นสระบัว บัวหลวง เป็นที่ที่เราออกมาเดินชมธรรมชาติด้วยวิถีแห่งสติ
สัญญา ชาวฝรั่งเศสที่อยู่รอบๆ ชุมชนนี้นับถือพุทธหรือครับ
หลวงพี่นิรามิสา ไม่ใช่ค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นคาทอลิก หรือไม่ก็เป็นคริสต์ แต่ว่าคนที่มาฝึกกับเราส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวต่างชาติ เป็นบุคคลที่มีทั้งนับถือคริสต์ คาทอลิก คริสเตียน ชาวยิว มุสลิม มีมาหลายๆ ที่
สัญญา ชุมชนธรรมะนี้มีการทำกิจกรรมหรือทำงานร่วมกับผู้คนอื่นๆ ที่ไม่ใช่พระ ไม่ใช่ฆราวาสที่ประจำอยู่กับเราบ้างไหมครับ
หลวงพี่นิรามิสา มีค่ะ ทุกๆ ปี เราจะได้รับนิมนต์เข้าไปเปิดอบรมธรรมะมากมาย
สัญญา พระเล่นดนตรีได้ไหมครับ
หลวงพี่นิรามิสา ได้ค่ะ เป็นการเป่าขลุ่ย แต่ก็จะต้องเน้นในเรื่องของทำนอง การเป่าโดยวิถีแห่งสติ เป็นการทำภาวนา ... นี่เป็นวันพักผ่อน เราเรียก Lazy Day หรือวันขี้เกียจ
สัญญา วันนั้นเป็นอย่างไรครับ ต่างจากวันอื่นอย่างไร
หลวงพี่นิรามิสา วันนั้นเป็นวันที่ต้องปฏิบัติอย่างก้าวหน้ามากเลยค่ะ เพราะว่าจะไม่มีตารางกำหนดไว้เหมือนทุกๆ วัน จะมีแต่บอกเวลาที่จะฉันอาหารเท่านั้น แต่ทุกคนจะต้องกลับมาอยู่กับตัวเอง แล้วก็ผ่อนคลาย เป็นวันที่เน้นให้มีการผ่อนคลาย
สัญญา เลือกเองว่าตนควรจะปฏิบัติพัฒนาตนเองในเรื่องใด
หลวงพี่นิรามิสา ใช่ๆ ค่ะ ... ในหนึ่งสัปดาห์เราจะมีทุกวันจันทร์ค่ะ
ปิยะ นั่นคือวันพักผ่อน หนึ่งวันในหนึ่งสัปดาห์
หลวงพี่นิรามิสา เรียกวันขี้เกียจค่ะ ภาษาอังกฤษเรียก Lazy Day เหมือนกับวันที่หยุด หลวงปู่เริ่มวันนี้เพราะเห็นว่าทุกคน ... บางคนมีความตั้งใจดี แต่ไม่รู้จักที่จะหยุด เราทำงาน ทำอะไรไปแล้วเราวิ่งอยู่เสมอ ไม่รู้จักที่จะหยุดกลับมาอยู่กับตัวเองจริงๆ ... ก็ให้เวลากับตัวเอง ให้การพักผ่อน อยู่กับการผ่อนคลายอย่างแท้จริง
ปิยะ แล้วที่วัดหมู่บ้านพลัมได้เน้นหรือสอนอะไรเป็นพิเศษไหมครับ
หลวงพี่นิรามิสา เราเน้นเรื่องการเจริญสติเป็นพิเศษ เน้นให้ฝึกอย่างไรให้มีสติ กลับมาอยู่กับขณะปัจจุบัน และ Logoของเราก็คือ I have arrived, I’m home “ฉันได้มาถึงแล้ว ฉันได้กลับมาอยู่บ้านที่แท้จริง” เวลาใครมา เราจะสนับสนุนให้ฝึกให้ได้มาถึงจริงๆ หมายถึงว่า กายเราอยู่ตรงนี้ ใจเราอยู่ตรงนี้ด้วย โดยการเจริญสติให้อยู่กับลมหายใจ หายใจเข้า ฉันรู้ว่าฉันอยู่ที่นี่ หายใจออก ฉันรู้ว่าฉันอยู่ในขณะนี้ กายฉันอยู่ที่นี่ ไม่ใช่ว่าใจฉันวิ่งไปไหน ... ส่วนใหญ่คนมาก็มักจะยังเครียดมาจากที่ทำงานบ้าง หรือว่ามีความเจ็บปวดมา หรือว่ามาถึงแล้วก็ยังไม่หยุด ยังวิ่ง วิ่ง หมายถึงวิ่งอยู่ในใจตลอด
สัญญา ใจยังวิ่งอยู่กับเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมาในอดีต
หลวงพี่นิรามิสา ใช่ๆๆ เราก็บอกเขาว่า “กลับมานะ กลับมาอยู่บ้านที่แท้จริง” บ้านที่แท้จริงก็หมายถึง กายและใจเราอยู่ด้วยกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน และเราสามารถที่จะดำรงอยู่ในภาวะปัจจุบัน ขณะปัจจุบัน ในขณะนั้น ซึ่งทำให้เราสัมผัส เห็นทุกอย่างอย่างที่มันเป็นอยู่อย่างชัดเจนได้ และเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น เกิดปัญญาที่จะทำให้เราสัมผัสกับความสุขหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
สัญญา ๙ ปีผ่านไป ถ้าท่านมองกลับไปตอนที่ท่านเป็นฆราวาส ท่านรู้สึกว่าท่านได้เห็นอะไรในมุมมองอื่น ในมุมมองที่ต่างไป ได้เข้าใจ ได้ตอบคำถามที่ท่านถามตัวเองตอนเด็กๆ ว่าเกิดมาทำไม มีชีวิตอยู่อย่างไร แล้วหรือยังครับ
หลวงพี่นิรามิสา ได้ค่ะ
สัญญา เป็น ๙ ปีที่ท่านรู้สึกว่าได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ และมาถูกทางแล้วอย่างนั้นไหมครับ
หลวงพี่นิรามิสา ค่ะ เป็น ๙ ปีที่เรารู้สึกว่าชีวิตเราเติบโต และเป็นชีวิตที่ใหม่อยู่เสมอ และเป็นชีวิตที่ประเสริฐ มีความรู้สึกว่า “สบาย” สบายภายใน และมีความหมาย
สัญญา ได้มาเทศน์โปรดครอบครัวบ้างไหมครับ
หลวงพี่นิรามิสา คงมาแลกเปลี่ยนมังคะ และเวลามาเยี่ยมก็จะอยู่ที่บ้าน เป็นวิถีชีวิตที่แลกเปลี่ยนกับท่าน
ปิยะ หลวงพี่ได้หาคำตอบให้กับตัวเองได้แล้ว ทีนี้เป้าหมายในชีวิตที่เรายังบวชต่อไป เป้าหมายของหลวงพี่คืออะไรครับ
หลวงพี่นิรามิสา เป้าหมายจริงๆ มันก็อยู่ที่ขณะนี้ คือขอให้อยู่ในชีวิตขณะนี้ ในทุกๆ วันที่มีวิถีชีวิตแบบนี้ ที่อยู่กับการปฏิบัติ ที่สามารถจะสัมผัสกับความสุขในขณะปัจจุบันได้ สามารถที่จะเข้าใจ สัมผัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหา เป็นความทุกข์ได้ และเรียนรู้แก้ไขมันได้
สัญญา แนวทางคือ ไม่ใช่การวางแผนว่าอีก ๕ ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะอยู่ที่ไหน มีความสุขหรือไม่ อย่างนั้นใช่ไหมครับ ผมไม่ทราบจริงๆ
หลวงพี่นิรามิสา แนวทางคือ ไม่มุ่งหวัง ไม่คาดหวัง
สัญญา ไม่คาดหวังว่าอีก ๕ ปี ๑๐ ปี จะเป็นอย่างโน้น จะเป็นอย่างนี้
หลวงพี่นิรามิสา แต่ว่าวางแผนได้ เราวางแผนอยู่เสมอเลย เพราะว่าเรามีตารางที่ว่าปีหน้าจะต้องเดินทางไปที่ไหน ที่ไหน และจะต้องทำอะไร แต่ในขณะที่เราวางแผน เราอยู่กับขณะปัจจุบัน หมายถึงว่าเรารู้ว่าปีหน้าในช่วงนี้ จะต้องไปแบบนี้ แบบนี้ คือเข้าใจข้อมูลทุกสิ่งทุกอย่าง และเรามองมันอย่างที่มันเป็นอยู่ แต่ไม่ได้วางแผนโดยที่กังวล
สัญญา บางคนวางแผนเสร็จปั๊บ เป็นทุกข์เลย
หลวงพี่นิรามิสา ใช่
สัญญา ฉันต้องเหนื่อยแน่ๆ อะไรอย่างนี้
หลวงพี่นิรามิสา ใช่ๆๆ ใช่ค่ะ อันนั้นคือวิถีการปฏิบัติ เพราะจริงๆ แล้วการกลับมาอยู่กับปัจจุบันทำให้เราวางแผนในอนาคตได้ดีมาก เพราะว่าเราเข้าใจสภาพที่กำลังเกิดอยู่ในขณะนี้ เพื่อที่จะมองอนาคต แต่เรารู้ว่าเรากำลังอยู่ขณะนี้ และเรามองอนาคตให้ชัดเจนจากตรงนี้
สัญญา อย่ากลุ้มล่วงหน้า
หลวงพี่นิรามิสา ใช่ อย่ากลุ้มล่วงหน้า
สัญญา แต่วางแผนล่วงหน้าได้
หลวงพี่นิรามิสา ได้ค่ะ
สัญญา การมาประเทศไทยครั้งนี้หลวงพี่มาธุระ มาเยี่ยมครอบครัว หรือว่ามาทำอะไรครับ
หลวงพี่นิรามิสา ประการแรกคือ กลับมานำภาวนาให้กับผู้ที่สนใจ และในคณะกลุ่มที่ได้ฝึกปฏิบัติตามแนวของท่านก็สนใจที่อยากจะสร้างหมู่บ้านพลัมที่เมืองไทย ให้เกิดแนววิถีปฏิบัติแบบนี้ อันนั้นก็เป็นอันหนึ่งที่กลับมาช่วยพี่ๆ น้องๆ ทางธรรมที่นี่... อันที่สองก็คือ หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เป็นนิมิตหมายอันดีมากที่ท่านจะเดินทางมาประเทศไทยในเดือนพฤษภา
สัญญา ท่านเคยมาไหมครับ ก่อนหน้านี้เคยมาไหม
หลวงพี่นิรามิสา เมื่อ ๓๑ ปีก่อนค่ะ มาเยี่ยมเฉยๆ แต่ว่าครั้งนี้จะมาอย่างเป็นทางการ ท่านจะเดินทางมาในวันที่ ๑๙ พฤษภา และหลวงพี่ก็อยู่ที่นี่ช่วยเตรียมงานด้วย
สัญญา อย่างนี้พวกเรา ฆราวาสก็มีโอกาสได้ฟังธรรมจากท่านได้ ได้ร่วมปฏิบัติธรรมก็ได้
หลวงพี่นิรามิสา ค่ะ
สัญญา ถ้าอย่างนั้นผมขอถามคำถามสุดท้าย ในโอกาสอันดีนี้ วันที่เราออกอากาศเป็นวันสตรีสากล มีสุภาพสตรีหลายท่านตั้งใจ สนใจอยากปฏิบัติธรรม อยากศึกษาธรรมะ อยากได้รับความรู้ ท่านมีคำแนะนำอะไรสำหรับคนที่ยังเป็นฆราวาสอยู่ ในการสนใจอยากรู้ธรรมะ โดยเฉพาะสุภาพสตรี
หลวงพี่นิรามิสา อันหนึ่งที่หลวงพี่คิดว่าจะแนะนำคือว่า ทุกคนมีความสามารถที่จะเข้าถึงการปฏิบัติได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ที่แนะนำตรงนี้เพราะมีน้องที่เห็นหลวงพี่แล้วบอกว่า ไม่นึกว่าผู้หญิงบวชได้ ... ผู้หญิงก็บวชได้ ผู้ชายก็บวชได้ เพราะทุกคนมีความเป็นพุทธะอยู่ภายใน ทุกคนมีความสามารถที่จะตื่นรู้ และถ้าเรามีจิตฝักใฝ่ที่เราอยากจะดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ที่มีความสุข ถ้าเราตั้งปณิธาณตรงนั้นไว้ มันจะมีเส้นทางที่ให้เราสัมผัสได้ในวิถีการปฏิบัติ ถ้าเราสามารถที่จะปฏิบัติ และทำให้เราเปลี่ยนแปรความทุกข์ให้เป็นความเข้าใจ มีความสุข มีความรัก เมตตามากขึ้น หรือเราสัมผัสกับความสุขที่แท้จริงภายในได้ ขอให้เราสืบต่อ ดำเนินแบบนั้นต่อไปเรื่อยๆ แล้วเราจะเห็นหนทางในชีวิตของเราอย่างแท้จริง และที่จริงเป็นของขวัญ ที่จริงๆ แล้วองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้ตื่นรู้ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น บรรดาพระ อาจารย์ทั้งหลายท่านได้มอบไว้ให้เป็นของขวัญกับเราอยู่แล้ว และจะเป็นผู้หญิงก็ทำได้ ผู้ชายก็ทำได้ ปฏิบัติได้ และเราทำร่วมกันได้ อันนั้นคือสิ่งที่งดงาม
จาก
http://group.wunjun.com/agaligohome/topic/216551-5757