ผู้เขียน หัวข้อ: วิถีพุทธะ แห่ง วัชรยาน  (อ่าน 1116 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
วิถีพุทธะ แห่ง วัชรยาน
« เมื่อ: กรกฎาคม 06, 2016, 11:59:04 pm »


     "เราอยู่ ใต้ฟ้า ศาสนาเดียว
ต่างเคี่ยว ต่างกรำ แผ้วถาง
รากกิเลส ปฏิเวธ เกิดเป็นทาง
เราต่างมุ่ง สู่สร้าง ทางนิพพาน"
 
 
วิถีพุทธะแห่งวัชรยาน

นางสาวนภาดา สุขกฤต

ภาพท้องฟ้าสดใสปลอดโปร่งแห่งธิเบต เทือกเขาหิมาลัยที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ ต้นไม้เขียวขจี ทะเลสาบน้ำใสแจ๋ว ดอกไม้เล็ก ๆ สีเหลืองสดใสตัดกับสีท้องฟ้าและสีขาวของหิมะ ทันใดนั้นนกที่มองคล้าย กับนกอินทรีย์ก็ทะยานลงมาจากฟากฟ้าพุ่งตรงลงมายังเบื้องล่างซึ่งมีคนหนึ่งนอนนิ่งไม่ไหวติง นกทั้งฝูงนั้นก็ลงมาจิกกินร่างนั้น มันคือนกแร้ง เสียงของมันดังน่ากลัว ผู้เขียนนึกเห็นภาพนั้นของพวกเขาแล้วให้นึกสงสัยถึงที่มาก็ได้ทราบว่า ชาวธิเบตต้องการเป็นผู้ที่มีประโยชน์จนนาทีสุดท้าย แม้ร่างที่ไร้วิญญาณก็ยังเป็นอาหารของนกแร้ง ทำคุณประโยชน์แก่โลกอย่างถึงที่สุด ระหว่างที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ก็ดำรงชีวิตอย่างสอดคล้องกับพระไตรปิฎกที่ทั้งหมดรวมกันเป็นข้อเดียวคือ ไม่ประมาท และในวาระสุดท้ายก็ยังคงยังประโยชน์สูงสุดโดยไม่ยึดติดกับคำว่าอุจาดตา หรือภาพลักษณ์ใดๆ

ในประเทศธิเบตมีวัดไม่มากนักในขณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาอากาศหนาวรุนแรง  หากหิมะตกก็จะตกติดต่อกันตลอดเดือน ในขณะที่แสงอาทิตย์จะร้อนแรงราวกับประเทศในเขตเมืองร้อน คงเนื่องจากแผ่นดินสูงจากน้ำทะเลมากทั้งประเทศพื้นที่ต่ำสุดอยู่ที่ราว  ๕,๒๐๐ ฟุตจากระดับน้ำทะเล ในขณะที่ภูกระดึงของไทยสูงราว ๔,๓๐๐ ฟุตและ ดอยอินทนนท์สูงราว ๘,๐๐๐ ฟุต จากระดับน้ำทะเล แสดงว่าพื้นที่ในธิเบตทั้งประเทศอยู่สูงกว่าภูกระดึง ในหน้าแล้งก็จะไม่มีฝนตลอดเดือน  ชาวธิเบตมีความเป็นอยู่แบบสมถะ และพวกเขายึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ชีวิตผู้คนเรียบง่ายอยู่กับธรรมชาติ ทุกคนมีศรัทธาในพระพุทธเจ้า ในพระโพธิสัตว์อย่างมาก ภาพผู้คนกราบพระพุทธรูปกราบแล้วกราบอีกเป็นพันเป็นหมื่นครั้ง ปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ราวกับไม่อยากประมาทเลยแม้แต่วินาทีเดียว พวกเขามีแนวความคิดดำเนินชีวิตกันอย่างไร เอาศรัทธาอย่างนี้มาจากไหน จุดใดที่จะทำให้เรานำเรื่องราวของความศรัทธาต่อการปฏิบัติธรรม ต่อพระพุทธเจ้าของชาวพุทธวัชรยานในธิเบตมาเป็นเยี่ยงอย่างได้บ้าง

พระพุทธศาสนาแบบวัชรยานเป็นอย่างไร

วัชรยาน (Vajrayana) เป็นนิกายหนึ่งในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นระบบที่ซับซ้อนในหลายมิติในการคิดและการปฏิบัติ ที่ได้มีวิวัฒนาการในหลาย ๆ ร้อยปี วัชรยานมีชื่ออื่น ๆ อีก เช่น พระพุทธศาสนาลัทธิตันตระ (Tantric Buddhism) ตันตรยาน(Tantrayāna) มันตรยาน (Mantrayāna) และคุยหยาน (Esoteric Buddhism) วัชรยาน มีผู้นับถือในธิเบต จีน ญี่ปุ่น และไทย

พุทธศาสนิกชนฝ่ายวัชรยานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงหมุนกงล้อพระธรรมจักรหรือเทศนาในหลักใหญ่ ๆ ไว้ ๓ เรื่อง ๓ วาระ ได้แก่ที่ เมืองสารนาถ แคว้นพาราณสี เทศนาเกี่ยวกับพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ที่กฤตธาราโกติ แคว้นราชคฤห์ และที่ไวศาลี ซึ่งในการเทศนาครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ นั้นได้เทศนาเกี่ยวกับมหายาน ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในเรื่องของอุดมคติการหลุดพ้นของสรรพสัตว์ทั้งหมด เรียกว่า "โพธิจิต" (จิตที่ต้องการตรัสรู้ธรรมเพื่อประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย)

บุคคลใดที่มีอุดมคติแบบโพธิจิตนี้และปฏิบัติอุดมคตินี้ บุคคลนั้นก็คือพระโพธิสัตว์ ให้บุพการี และสรรพสัตว์หลุดพ้นไปก่อนแล้วท่านค่อยหลุดพ้นตามไปซึ่งพระอาจารย์ชาวธิเบตได้กล่าวไว้ในศตวรรษที่ ๑๔ ว่าความทุกข์ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการเห็นแก่ตัว ความสุขทั้งหมดเกิดขึ้นจากการหวังดีให้ผู้อื่นมีความสุขหน้าที่ของพระโพธิสัตว์การแลกความสุขของตนเปลี่ยน กับความทุกข์ของผู้อื่น กล่าวคือ พระโพธิสัตว์ต้องประกอบไปด้วยบารมี ๖ ประการประกอบด้วยทาน ศีล ขันติ วิริยะ สมาธิ และปัญญา เมื่อปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว พระโพธิสัตว์ก็บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าได้ สามารถบรรลุความเป็นตรีกายได้คือธรรมกาย สัมโภคกาย และนิรมาณกาย พระพุทธเจ้าได้สอน เรื่องของวัชรยานไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล เช่น กาลจักรตันตระ หลังจากได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ๑ ปี แก่พระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญในภูมิที่สูง ฉะนั้นคำสอนตันตระจึงถือว่าเป็นคำสอนลับเฉพาะ ถ่ายทอดแก่ผู้ที่มีความพร้อมในการปฏิบัติธรรมชั้นสูง

คำสอนมหายานเป็นที่เริ่มสนใจปฏิบัติในช่วงของท่านนาคารชุนในปี ค.ศ. ๑ ท่านนาคารชุนได้ปฏิบัติคำสอนตันตระได้อย่างเป็นเลิศ ท่านได้เขียนเรื่องการปฏิบัติตันตระเรื่องกูเยียซามูจาตันตระ ในศตวรรษที่ ๑๖ ท่านตารานาถ พระอาจารย์ชาวธิเบตในนิกายโจนังปะ (Jonangpa) ได้บันทึกไว้ว่าท่านคุรุนาคารชุนได้เขียนคำสอนเกี่ยวกับตันตระ ไว้มากเพียงแต่ช่วงที่ท่านมีชีวิตอยู่ไม่เป็นที่นิยมและแพร่หลาย ทิเบตเริ่มรับคำสอนจากอินเดีย ในช่วงศตวรรษที่ ๗-๘ ในช่วงนั้นการปฏิบัติตันตระในอินเดียได้พัฒนาขึ้นถึงจุดสูงสุดไปจนถึงศตวรรษที่ ๑๒ การปฏิบัติในวัชรยานมีเงื่อนไขสำคัญอยู่หนึ่งข้อ คือ ก่อนที่จะศึกษาปฏิบัติตันตระ จะต้องได้รับการมนตราภิเษก (Initiation/ Empowerment) จากพระอาจารย์ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมและได้รับอนุญาตจากครูบาอาจารย์ในสายของท่านให้เป็นผู้ประกอบพิธี และเมื่อเขาฝึกฝนตนเองตามบทปฏิบัติจิตของเขาจะประสานเป็นหนึ่งเดียวกับพระพุทธเจ้าองค์ที่เขาปฏิบัติบูชาได้ และการให้มนตราภิเษกชั้นสูงจะมอบให้เพียงศิษย์ที่คุรุไว้วางใจว่ามีจิตเยี่ยงพระโพธิสัตว์ และจะสามารถรักษาและปฏิบัติตามคำสอนได้อย่างเคร่งครัด คำสอนวัชรยานมีไว้สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานปัญญาจากมหายานเป็นอย่างดีจึงสามารถเข้าใจคำสอนอันลึกซึ้งได้ เป็นที่รู้กันว่าในธิเบต ท่านมิลาเรปะได้บรรลุธรรมในช่วงชีวิตของท่านด้วยการปฏิบัติตันตระ การปฏิบัติวัชรยานสามารถ ทำให้เราบรรลุถึงจุดนั้นได้ด้วยเวลาอันสั้น คำสอนต่างๆในตันตระได้ถูกบันทึกไว้ด้วยวิธีการ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งไว้ เราสามารถศึกษาตันตระได้จากคำสอนต่างๆที่พระอาจารย์ชาวอินเดียได้บันทึกไว้และได้แปลทั้งหมดสู่ภาษาธิเบตเนื่องจากคำสอนดั้งเดิมที่เป็นภาษาสันสกฤตได้สูญหายและถูกทำลายไปนานแล้ว

พุทธศาสนาได้เข้าสู่ธิเบตในสมัยกษัตริย์ซงซัน กัมโป ในคริสต์ศตวรรษที่ ๗ พุทธศาสนาเข้าสู่ธิเบตทั้งจากอินเดียและจีน ได้มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ทิเบตว่ามีการสังคายนาพระพุทธศาสนา ณ นครลาซา โดยผ่านการโต้วาทีธรรมระหว่างนิกายเซนของจีนและวัชรยานจากอินเดีย ผลปรากฏว่า ชาวธิเบตเลื่อมใสในวัชรยานมากกว่า ดังนั้นพุทธศาสนาวัชรยานจึงลงรากฐานมั่นคงในธิเบตสืบมา พระเจ้าตรีซง เตเซ็น ได้ทรงนิมนต์ท่านศานตรักษิต ภิกษุชาวอินเดียและพระคุรุปัทมสัมภวะเข้ามาเพื่อเผยแผ่พระธรรม โดยเฉพาะพระคุรุปัทมสัมภวะได้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวธิเบตอย่างมาก จนท่านได้รับการยกย่องว่า เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ ของชาวธิเบต ท่านได้ร่วมกับท่านศานตรักษิตสร้างวัดสัมเย่ขึ้นในปี ค.ศ. ๗๘๗ และเริ่มมีการอุปสมบทพระภิกษุชาวทิเบตขึ้นเป็นครั้งแรก ในความอุปถัมภ์ของกษัตริย์ตรีซง เตเซ็น ทั้งนี้ยังได้จัดนักปราชญ์ชาวธิเบตเข้าร่วมในการแปลพระพุทธธรรมเป็นภาษาธิเบตด้วยอย่างมากมาย

นิกาย

พุทธวัชรยานแบ่งเป็นหลากหลายนิกาย แต่ละนิกายล้วนมีสังฆราช หรือผู้ปกครองสุงสุดของคณะสงฆ์ในแต่ละนิกายนั้น ๆ แต่ทุกนิกายล้วนแต่ยึดสมเด็จองค์ดาไลลามะ (ทะไลลามะ) เป็นประมุขทางจิตวิญญาณ

๑. นิกายยุงตรุงเพิน หรือสาขาย่อยของวัชรยานที่มีต้นกำเนิดมาจากธิเบต (ไม่ได้เผยแผ่มาจากอินเดีย) เป็นพุทธโบราณที่สืบทอดมานับหมื่นปี แบ่งเป็น ๙ ยาน และมี ๓ มรรควิถีแห่งพระสูตร ตันตระ และซกเช็น พระสังฆราชของนิกายนี้คือสมเด็จแมนรี ทริซิน รินโปเช (His Holiness Menri Trizin Rinpoche) ปัจจุบันทรงประทับอยู่ที่วัดแมนรี ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่สำคัญของนิกายนี้โดยมีการศึกษาในระดับปริญญาเกเช เทียบเท่าปริญญาเอก

๒. นิกายพุทธจากอินเดีย ๔ นิกาย ได้แก่

๒.๑ นิกายญิงมาปะ เป็นนิกายแรกที่เผยแผ่มาจากอินเดีย โดยถือว่ากำเนิดจากท่านคุรุปัทมสมภวะ "ญิงมาปะ" ซึ่งแปลว่าโบราณสัญลักษณ์ของนิกายคือใส่หมวกสีแดงชาวธิเบตเลื่อมใสศรัทธา ท่านคุรุปัทมสัมภพมาก เชื่อว่าท่านเป็นผู้ทรงพลานุภาพอย่างมากในการให้ความช่วยเหลือขจัดอุปสรรค ต่างๆได้จนหมดสิ้น ญิงมาปะได้เน้นในด้านพุทธตันตระ คำว่า ตันตระ นั้นแปลว่าเชือกหรือเส้นด้ายใหญ่ๆ หรือความต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการถ่ายทอดคำสอนจากอาจารย์ไปสู่ศิษย์ โดยไม่มีการขาดตอนโดยผ่านพิธีมนตราภิเษก และเป็นการถ่ายทอดคำสอนปากเปล่าจากอาจารย์สู่ศิษย์

๒.๒ นิกายกาจูร์ปะ เป็นนิกายสำคัญนิกายหนึ่งในต้นศตวรรษที่ ๑๑ "กาจูร์ปะ" แปลว่า การถ่ายทอดคำสอนด้วยการบอกกล่าวจากอาจารย์สู่ศิษย์ ผู้ก่อตั้งคือท่านมาร์ปะ ผู้สืบสายคำสอนมาจากนาโรปะ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งมหาวิหารนาลันทา ผู้รับสืบทอดคำสอนมาจากติโลปะ ผู้ถือว่ารู้แจ้งเองไม่ปรากฏว่าท่านได้รับคำสอนจากพระอาจารย์ท่านใด แต่ได้มีบันทึกบอกกล่าวไว้ว่าท่านได้รับคำสอนโดยตรงจากพระพุทธวัชรธร มาร์ปะเป็นลามะปราชญ์ผู้แปลพระธรรมที่มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่งของธิเบต ท่านได้ถ่ายทอดคำสอนต่อให้ท่านมิลาเรปะ โยคีผู้บรรลุความรู้แจ้งในชีวิตนี้ นิกายกาจูร์ปะได้ชื่อว่านิกายขาวก็สืบเนื่องจากการครองผ้าของมิลาเรปะซึ่งท่านจะครองผ้าบาง ๆ สีขาว หรืออาจจะมาจากสัญลักษณ์ของวัดในกาจูร์ปะซึ่งจะทาสีขาวทั้งหมด มาร์ปะและมิลาเรปะถือว่ามีความสำคัญมากในพุทธตันตระของธิเบต ท่านที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ กัมโปปะ คำสอนสำคัญของนิกายนี้ คือ ตันตระโยคะทั้ง ๖ และการปฏิบัติมหามุทรา

๒.๓ นิกายสาเกียปะ อยู่ในแคว้นซัง ทางตอนใต้ของ แม่น้ำยาลุงซังโป วัดสาเกียมีเอกลักษณ์คือทาสีเป็น ๓ แถบ คือแถบสีแดง สีขาว และสีดำ สีทั้ง ๓ เป็นสีแห่งพระโพธิสัตว์ ๓ องค์ คือสีแดง เป็นสีแห่งพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ผู้ทรงเป็นองค์แทนปัญญาของพระพุทธเจ้า สีขาว เป็นสีแห่งพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ผู้ทรงเป็นองค์แทนกรุณาของพระพุทธเจ้า และสีดำ เป็นสีแห่งพระวัชรปาณีโพธิสัตว์ ผู้ทรงเป็นองค์แทนพลังของพระพุทธเจ้า นิกายสาเกียปะ ได้ตั้งขึ้นในศตวรรษที่ ๑๑ ผู้ก่อตั้งนิกายคือผู้สืบเชื้อสายขุนนางเก่าตระกูลเกิน ตำแหน่งของเจ้านิกายสาเกียปะเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจทั้งในทางการเมืองและการศาสนา ท่านได้รับการเชิญจากโดยข่านชาวมงโกลให้ไปแผ่แผ่พุทธตันตระในประเทศจีน เป็นที่เลื่อมใสแก่ข่านมงโกลอย่างมาก กุบไลข่านได้แต่งตั้งให้พักปะ โลดุป เกียลเซนให้ปกครองธิเบต และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการที่พระสงฆ์นั้นปกครองทั้งอาณาจักรและศาสนจักร

๒.๔ นิกายกาดัมปะและเกลุกปะ

เช่นเดียวกับนิกายกาจูร์ปะและสาเกียปะ จุดเริ่มของทั้ง 2 นิกายมาจากอตีศะทีปังกร และศิษย์ของท่านชื่อ ตมเติมปะ ท่านอตีศะได้เน้นมากในเรื่องคำสอนดั้งเดิมของพุทธศาสนาและเน้นในการปฏิบัติพระธรรมวินัยที่เคร่ง ครัดโดยไม่เน้นในคำสอนตันตระ ศิษย์ของท่านอตีศะได้ก่อตั้งนิกายกาดัมปะขึ้น คำว่า กาดัม แปลว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อเวลาผ่านไปกาดัมปะได้สูญเอกลักษณ์ของตนเองไปบ้างด้วยแรงดึงดูดใจจากตันตระ ในศตวรรษที่ 14 พระอาจารย์ซงคาปาได้ศึกษาคำสอนของท่านอตีศะและได้ปฏิวัตินิกายกาดัมปะขึ้นมาใหม่ให้คงเอกลักษณ์เดิมและได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นนิกายเกลุกปะ คำว่าเกลุก แปลว่าความดีงาม คำสอนของเกลุกปะ เน้นที่การศึกษาจากต่ำขึ้นไปสูงเน้นธรรมวินัย เน้นด้านตรรกะและพุทธปรัชญา
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Re: วิถีพุทธะ แห่ง วัชรยาน
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 06, 2016, 11:59:21 pm »



ประเด็นที่ ๑ ที่มาแห่งวิถีศรัทธาของพุทธศาสนิกชนวัชรยาน

พุทธศาสนิกชนชาวธิเบตมีความศรัทธาอย่างสูงยิ่งต่อพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เชื่อในเรื่องการตายแล้วเกิดใหม่และเชื่ออย่างยิ่งในกฎแห่งกรรม หากต้องประสพทุกข์พวกเขาจึงไม่โทษโชคชะตาฟ้าดินหรือต่อว่าพระรัตนตรัยแต่จะหมั่นเพียรในการสวดมนต์ยึดพระรัตนตรัยเป็นสรณะไปจนกว่าตนเองจะเข้าถึง การตรัสรู้ เขาเชื่อว่าการปฏิบัติธรรมอย่างจริงใจโดยการฝึกฝนอบรมจิตใจให้อยู่ในคุณธรรมความดี มีสมาธิ จะเป็นบุญหนุนส่งให้จิตพัฒนาก้าวหน้าไปในธรรมจนเกิดความเจริญแห่งจิตวิญญาณไปเกิดใหม่ในสภาพที่ดีกว่าในชาติหน้า ชาวธิเบตจึงดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวังในชาติปัจจุบัน แล้วพยายามประกอบแต่กุศลกรรมบถสิบซึ่งเป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรม พุทธศาสนิกชนชาวธิเบตพากันประพฤติธรรมให้เป็นอยู่ในวิถีชีวิต

        หลักของวัชรยาน คือ เน้นชำระจิตใจให้ใสสะอาดเปี่ยมด้วยเมตตาและกรุณาพร้อมที่เสียสละทรัพย์สิ่งของแรงกายแรงใจในการช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นจากความลำบากและความทุกข์ แม้ว่าตนเองต้องทุกข์อย่างแสน สาหัสแทนก็ตาม มีโพธิจิต

        ในคำสอนของวัชรยานมีการให้โอกาสทำความดีแก้ตัวด้วยการชำระล้างกรรมหรือการสลายบาปกรรม ทำได้โดยการสารภาพ สำนึกผิดอย่างจริงใจ และชำระล้างอกุศล เช่น เดินรอบพระสถูปหมื่นรอบ เพื่อแก้ความ ผิดที่เคยทำ สวดคาถาสิบล้านจบ หรือปวารณาตัวเป็นคนดีไม่ทำผิดอีกต่อไป เป็นต้น

        ในการฝึกฝนตนด้วยการเข้าถึงการตรัสรู้นั้นมีการผสมอยู่ทั้งเถรวาทและมหายาน คือทางเถรวาทเน้นให้ความสำคัญต่อการปลดปล่อยตนเองออกไปจากสังสารวัฏ ขณะที่มหายานและวัชรยานจะให้ความสำคัญแก่วิถีโพธิสัตว์ที่จะมุ่งปลดปล่อยตนเองไปพร้อม ๆ กับการช่วยเหลือสรรพสัตว์อื่น ๆ หากผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเข้าแนบสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระโพธิสัตว์ทั้งกาย วาจา ใจ จนกระทั่งการแสดงออกทั้งภายนอกและภายใน แสดงว่าเข้าถึงพุทธภาวะแล้วพร้อมกับความเจริญงอกงามแห่งมหากรุณาและมหาปัญญา

ประเด็นที่ ๒ ความหลุดพ้นตามแนวปฏิบัติของวัชรยาน              

        หลักการในการปฏิบัติตามแนวทางของวัชรยาน จากการแสดงธรรมของท่าน ชักดุด ตุลกู หนึ่งในธรรมาจารย์รุ่นสุดท้าย แห่งวัชรนิกายของทิเบต มีหลักการโดยย่อดังนี้

        ๑. ให้ความสำคัญในการฝึกจิต ให้เข้มแข็ง อ่อนน้อมถ่อมตน ควบคุมโทสะให้ได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ในสุขและทุกข์ พิจารณาว่าสุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง ใช้ปัญญาทั้งสาม คือสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา กำจัดอวิชชาให้เบาบาง และหมดไป ด้วยการมีสติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน นอกเหนือจากการปฏิบัติภาวนาด้วย

       ๒. ให้ความสำคัญกับทิฏฐิ ๔ คือ

        ๒.๑ การตระหนักรู้ถึงกำเนิดอันทรงคุณค่าของมนุษย์ และความสำคัญของการใช้มันในการฝึกฝนกายและใจที่ธรรมชาติให้มานั้น เพื่อสั่งสมบุญกุศล โดยอาศัยลามะเป็นผู้นำทาง

        ๒.๒ พิจารณาอนิจจัง คือ ความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณครอง

        ๒.๓ เชื่อในกฎแห่งกรรม คือ เชื่อในเหตุและผล (action and reaction) เหตุดี ย่อมให้ผลดีเชื่อในการเวียนว่ายตายเกิด

        ๒.๔ พิจารณามหาสมุทรแห่งทุกข์ ศึกษาทุกข์ให้เข้าใจ เพื่ออยู่กับความทุกข์ทั้งหลายอย่างมีความสุข

        การปฏิบัติ คือ เริ่มด้วยการพิจารณาข้อหนึ่งข้อใดในทิฏฐิ ๔ นั้น แล้วก็ผ่อนคลายจิตลง สวดถึงลามะ เพื่อขอพรให้บรรลุถึงสิ่งที่จะเป็นคุณต่อตัวเองและผู้อื่น ก่อนที่อนิจจังจะมาเยือน แผ่เมตตาให้เหล่าสัตว์ผู้ทนทุกข์พร้อมทั้งตั้งจิตปรารถนาให้สัตว์เหล่านั้นหลุดพ้นจากวัฏทุกข์ และน้อมนำเอาความเข้าใจหลักธรรมทั้งมวลมาใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง จากนั้นจึงพิจารณาข้อธรรมในทิฏฐิ ๔ ลำดับต่อไป ผ่อนคลายดวงจิตจนสงบรำงับ ด้วยการกระทำดังนี้ จะเข้าใกล้ประสบการณ์ตรงของธรรมชาติแห่งจิต อันเป็นโลกุตตระ ซึ่งไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยคำพูดและความคิด

        ๓. สรณะและโพธิจิต สรณะหมายถึง การปกป้องคุ้มครอง หรือสถานที่อันปลอดภัย การรับไตรสรณคมน์ คือการมีพระพุทธองค์ พระธรรมและพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แลทำตามคำสั่งสอนนั้น จะไม่สิ้นสุดลงเพียงชั่วชีวิตนี้เท่านั้น ทว่าจนกว่าจะบรรลุถึงการตรัสรู้ ไม่ว่าจะยาวนานเพียงใดในกาลภายภาคหน้า

        ในสายธรรมวัชรยาน ต้นกำเนิดภายในแห่งสรณะ คือรากเหง้าทั้งสาม อันได้แก่ ลามะ ยิดัมและฑากินี อันเป็นแหล่งกำเนิดแห่งพระพร การบรรลุธรรม และอริยกิจตามลำดับ ลามะหรือคุรุ คือรากเหง้าแห่งพระพร หมายถึงผู้ที่ส่งผ่านความรู้ อุบาย และปัญญา ซึ่งช่วยให้เราบรรลุถึงอิสรภาพ ยิดัมหรือเทพนิมิต คือแก่นรากแห่งการบรรลุถึงสภาวธรรมเหล่านั้น โดยอาศัยการปฏิบัติ ย่อมสามารถประจักษ์แจ้งถึงธรรมชาติแห่งดวงจิต อาศัยอุบายวิธีแห่งเทพนิมิต ย่อมสามารถประจักษ์แจ้งถึงฑากินี เทวีแห่งปัญญา ซึ่งจะส่งผลสืบเนื่องเป็นอริยกิจ

        โพธิจิต คือรากฐานของทุกสิ่งที่ทำ ดุจดังพืชสมุนไพร ซึ่งทุกสัดส่วนไม่ว่าจะเป็นกิ่ง ใบ ดอก ราก ล้วนมีสรรพคุณทางยาทั้งสิ้น ความบริสุทธิ์เพียบพร้อมในการปฏิบัติ ขึ้นอยู่กับการใช้อุบายวิธีอย่างเต็มเปี่ยมด้วยโพธิจิต ทำให้ทุกสิ่งดำเนินไปได้ด้วยดี หากปราศจากโพธิจิตเป็นรากฐานแล้ว ก็หามีสิ่งใดสำเร็จผลไม่

        โพธิจิตนั้นประกอบด้วยองค์สาม คือ การแผ่ความกรุณาออกสู่มวลหมู่สัตว์ผู้ได้รับทุกข์ ตั้งปณิธานที่จะบรรลุธรรม อันสามารถที่จะได้ช่วยเหลือสัตว์โลก ซึ่งเรียกว่า ฉันทโพธิจิต กับความพากเพียรในหนทางธรรมเพื่อจะได้บรรลุถึงพระนิพพาน ซึ่งเรียกว่า วิริยโพธิจิต



        โพธิจิต ในภาษาทิเบต คือจังชุบเชม จัง หมายถึงการไถ่ถอนความมืดมัว ชุบ คือการเผยถึงคุณลักษณะอันบริบูรณ์ภายใน และ เชม คือจิต โดยการปฏิบัติโพธิจิต ได้ขจัดความมืดมัว และเสริมกุศลนิสัย ซึ่งจะเผยถึงจิตแห่งพุทธะ การจะบรรลุถึงโพธิจิตปณิธานได้ ต้องอาศัยพรหมวิหาร ๔ เริ่มด้วย อุเบกขา กรุณา เมตตา และมุทิตา

        ๔. สู่วัชรยาน คุณสมบัติ ๗ ประการของวัชรยานคือ

        ๔.๑ มิอาจถอนทำลายโดยหมู่มาร ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการตรัสรู้ ทั้งมิอาจยึดหรือถูกแบ่งแยกด้วยความคิด

        ๔.๒ ไม่อาจถูกทำลายด้วยความคิด อันอาจจำแลงคล้ายดั่งสัจจะ ทว่าหาใช่ไม่

        ๔.๓ เป็นสัจจะอันนิรมล ซึ่งหามีมลทินด่างพร้อยใดๆ ไม่

        ๔.๔ มิใช่ธาตุอันปรุงแต่ง ซึ่งอาจทำลายลงได้

        ๔.๕ มิใช่สิ่งอันเป็นอนิจจัง จึงตั้งมั่นไม่คลอนแคลน

        ๔.๖ มิอาจพิชิตมีชัย

        ๔.๗ ล้ำลึกยิ่งกว่าสิ่งใดๆ จึงปราศจากความกลัว

        โดยอาศัยอุบายต่างๆในวัชรยาน เราจึงอาจน้อมนำเอาธาตุมูล ๓ ประการขึ้นมาในการปฏิบัติธรรม นั่นคือ การชำระล้างความหมองมัว การทำกระแสจิตให้ผ่องแผ้ว และบ่มเพาะกุศลธรรมขึ้นในดวงจิต โดยอาศัยสิ่งเหล่านี้ เราจึงอาจชำระล้างประสบการณ์ทางโลกได้อย่างรวดเร็ว และเข้าถึงมรรคผล ซึ่งอยู่เหนือสังสารและนิรวาณ อันได้แก่ตรีกาย ซึ่งเป็นธรรมชาติพื้นฐานอันหมดจดสมบูรณ์อาศัยวิธีการเหล่านี้ ปัญญาจึงเกิดขึ้นให้ประจักษ์ ช่วยเกื้อหนุนและบ่มเพาะการปฏิบัติให้สุกงอม ศรัทธา และการสวดมนต์ เป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติให้ถึงเป้าหมาย

 

สรุป

       วัชรยานเป็นนิกายหนึ่งในพุทธศาสนามหายาน ซึ่งเป้าหมายคือการทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เหมือนเถรวาทนั่นเอง แต่การเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทาง อาจจะต่างกัน ใช้เวลานานกว่ากัน ใช้ความเพียรไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น การเดินทางไปเชียงใหม่ สามารถไปได้หลายทาง หลายวิธี เช่นโดยเครื่องบิน โดยรถไฟ โดยรถขนส่งผู้โดยสาร โดยขับรถส่วนตัวไป โดยขับขี่มอเตอร์ไซด์ หรือถีบจักรยาน แม้โดยการเดินเท้า แต่ความสะดวกสบาย ความเพียรพยายาม ระยะเวลาต่างกัน ก็อาจถึงจุดหมายปลายทางเหมือนกัน ตามปฏิปทา ๔ การปฏิบัติของท่านผู้ได้บรรลุธรรมพิเศษ มี ๔ ประเภทคือ ๑. ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า ๒. ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว ๓. สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติสะดวกแต่รู้ช้า ๔. สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว

        มหายาน “ยานใหญ่” นิกายพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพาน ประมาณ ๕๐๐ – ๖๐๐ ปี โดยสืบสายจากนิกายที่แตกแยกออกไปเมื่อใกล้ พ.ศ. ๑๐๐ (ถือกันว่าสืบต่อไปจากนิกายสังฆิกะ ที่สูญไปแล้ว) เรียกชื่อตนว่ามหายาน และบางทีเรียกว่าโพธิสัตวญาณ (ยานของพระโพธิสัตว์) พร้อมทั้งเรียกพุทธศาสนาแบบเก่าๆ รวมทั้งเถรวาทที่มีอยู่ก่อนว่า หีนยาน (คำว่าหีนยาน จึงเป็นคำที่เกิดขึ้นภายหลัง แต่ใช้เรียกสิ่งที่เก่ากว่า หรือเรียกว่า สาวกยาน (ยานของสาวก) มหายานมีผู้นับถือมากในประเทศแถบเหนือของทวีปเอเชีย เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ทิเบต และมองโกเลีย บางทีเรียกว่า อุตตรนิกาย (นิกายฝ่ายเหนือ) เป็นคู่กับทักษิณนิกาย (นิกายฝ่ายใต้) คือ เถรวาท ที่นับถืออยู่ในประเทศแถบใต้ เช่น ไทยและลังกา ซึ่งทางฝ่ายมหายานเรียกรวมไว้ในคำว่าหีนยาน เนื่องจากเถรวาทเป็นพุทธศาสนาดั้งเดิม จึงมีคำเก่าเข้าคู่กัน อันใช้เรียกนิกายทั้งหลายที่แยกออกไป รวมทั้งนิกายย่อยมากมายของมหายาน หรือเรียกมหายานรวมๆ ไปว่า อาจริยวาท หรืออาจารยวาท (ลัทธิของอาจารย์ที่เป็นเจ้าของนิกายนั้นๆ) ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่น่าสังเกต คือ เถรวาท ไม่ว่าที่ไหน ในประเทศใด ก็ถือตามหลักการเดิมเหมือนกันหมด ส่วนมหายานแยกเป็นนิกายแยกย่อยมากมาย มีคำสอนและข้อปฏิบัติแตกต่างกันเองไกลกันมาก แม้แต่ในประเทศเดียวกัน เช่น ในญี่ปุ่น ปัจจุบันมีนิกายใหญ่ ๕ แยกย่อยออกไปอีกรวม ๒๐๐ สาขานิกาย และในญี่ปุ่น พระมีครอบครัวได้แล้วแต่ทุกนิกาย แต่ในใต้หวัน เป็นต้น พระมหานิกายไม่มีครอบครัว

 

บรรณานุกรม

ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ษัฏเสน. “พระพุทธศาสนาแบบธิเบต”

เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช. “คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งธิเบต ข้อความเปิดเผยเรื่องเร้นลับของความตาย”. แปลโดยอนุสรณ์ ติปยานนท์. บรรณาธิการโดย พระไพศาล วิสาโล

อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสตร์. “พระพุทธศาสนามหายาน”. สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในพิธีประสาทปริญญาศาสนศาสตร์บัณทิต สมัยที่ ๑๓ (รุ่นที่ ๒๓)

พระญาณวโรดม. “ศาสนาต่าง ๆ”

นางสาวกาญจนา จิตต์วัฒน. “การบูรณาการการเตรียมตัวตายในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับวัชรยาน” บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย. พุทธศักราช ๒๕๕๓

<http://th.wikipedia.org/wiki/วัชรยาน>

โชติ จินตแสวง. “๓๘ มงคล ผู้ใดปฏิบัติแล้วย่อมถึงความสวัสดีในทุกที่ทุกสถาน”

ท่านชัดดุด ตุลกู. ประตูสู่ภาวนา. แปลโดย พจนา จันทรสันติ. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๕๐.๒๖๔ หน้า

สัมภาษณ์พระนเรศ ขันติธัมโม นักศึกษามหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ณ วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร จังหวัดกาญจนบุรี
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...