ความเป็นเลิศสามประการในการปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติควรคำนึงถึงความเป็นเลิศสามประการ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในอันที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายอันได้แก่พระสัมมาสัมโพธิญาณ เพื่อยังประโยชน์สูงสุดให้แก่เหล่าสรรพสัตว์ได้
ความเป็นเลิศประการแรกได้แก่ ความเป็นเลิศของความตั้งใจ การปฏิบัติธรรมนั้นสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น การฟังการบรรยายธรรม ก็คือเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ การนำเอาคำสอนมาพิจารณาไตร่ตรอง อ่านหนังสือธรรมะ อธิบายหัวข้อธรรมะให้แก่ผู้อื่น ทำบุญให้ทาน เป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยทำงานทางธรรม นั่งสมาธิ เดินจงกรม สวดมนต์ ถือศีล ต่างก็เป็นการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราควรมีทำการนั้นเพื่อเป็นการมุ่งหน้าไปสู่การตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เพื่อจะได้สามารถยังประโยชน์อันแท้จริงสูงสุดให้แก่เหล่าสรรพสัตว์ได้อย่างบริบูรณ์ นี่ถือเป็นความเป็นเลิศประการแรก
เหตุที่การปฏิบัติของเราควรมีความเป็นเลิศประการนี้ก็คือว่า หากความตั้งใจหรือแรงจูงใจของเรา ไม่ใช่เพื่อประโยชน์สูงสุดของเหล่าสรรพสัตว์แล้ว แต่กลับเป็นเหตุผลส่วนตัวของเรา ซึ่งจะยังประโยชน์ให้แก่เราเพียงคนเดียว การกระทำนั้นก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติที่สมบูรณ์ และไม่อาจพาเราไปสู่เป้าหมายสุดท้ายนี้ได้ ตัวอย่างเช่น หากเราฟังธรรม แต่แทนที่จะคิดว่า เราจะเข้าใจธรรมะเพื่อยังประโยชน์ให้แก่สัตว์โลก แต่เรากลับคิดว่า ฟังธรรมไปเพื่อเอาไปอวดภูมิรู้กับคนอื่นๆ แรงจูงใจของเราก็เรียกได้ว่า “เป็นพิษ” และไม่อาจเป็นการปฏิบัติที่จะให้ผลอย่างแท้จริงได้
การมีจิตตั้งมั่นในการทำสิ่งต่างๆ เพื่อการตรัสรู้ของเหล่าสรรพสัตว์ในท้ายที่สุด เรียกว่า “โพธิจิต” โพธิจิตจะทำให้เรามีกำลังใจเอาชนะอุปสรรคทุกประการ ไม่ว่าอุปสรรคนั้นจะหนักหนาสาหัสเพียงใดก็ตาม แม้แต่คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยอย่างหนัก โพธิจิตก็จะทำให้เขาแช่มชื่นสดใส เพราะการเจ็บไข้ของเขานั้นเท่ากับว่าเขาได้รับเอาความเจ็บไข้ของสัตว์โลกมาไว้ สัตว์โลกจะได้ไม่ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยอีก ความสุขของสัตว์โลกที่พ้นจากความเจ็บไข้นั้นก็คือความสุขของเราเอง (เพราะไม่มีตัวเรา ไม่มีสัตว์โลกที่แบ่งออกจากกัน) และเมื่อเรามีความสุขหรือเกิดปิติจากบุญกุศลใดๆ ความสุขหรือความปิตินั้นก็เป็นของสัตว์โลกทั้งมวล แทนที่จะมีเพียงคนเดียวที่มีความสุขนั้น ก็เป็นสัตว์โลกทั้งหมดในจักรวาลที่มีความสุข ลองคิดดูว่าบุญกุศลจากการคิดอย่างจริงใจเช่นนี้จะมีมากเพียงใด
ความเป็นเลิศประการที่สอง ได้แก่ความเป็นเลิศในการปฏิบัติ ในขณะที่เรากำลังปฏิบัติกรรมอันเป็นกุศลนั้น ไม่ว่าจะเป็นฟังธรรม ถือศีล ให้ทาน หรือนั่งสมาธิ เราทำไปโดยรู้อยู่ว่า โดยแท้จริงแล้ว แม้ตัวเราผู้ปฏิบัติก็ไม่มีอยู่ ผู้รับการกระทำของเราก็ไม่มีอยู่ ตัวการกระนั้นก็ไม่มีอยู่ ตัวอย่างเช่นการให้ทาน เราที่เป็นผู้ให้แท้จริงแล้วก็ไม่มีอยู่ ผู้รับของที่เราให้ก็ไม่มีอยู่ ของที่ให้ก็ไ่ม่มีอยู่ แม้บุญกุศลที่เกิดขึ้นก็ไม่มีอยู่ ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองของปรมัตถธรรม อันเป็นความเป็นจริงอันแท้จริงที่ปราศจากการปรุงแต่งใดๆ ข้อดีประการหนึ่งของการตระหนักเช่นนี้ก็คือว่า จะเป็นการหยุดยั้งหรือทำลายความคิดผิดๆที่คิดว่าการปฏิบัติธรรมนั้นจะก่อให้เกิดบุญกุศลแต่ตนเอง หลายคนที่ปฏิบัติธรรมมักมีความคิดเช่นนี้ เช่นคิดว่าจะปฏิบัติธรรมไปเพื่อให้ตนเองได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือเพื่อให้ตนเองได้รับผลทางโลก เช่นมีชื่อเสียง หรือได้รับยกย่องในทางต่างๆ การคิดเช่นนี้จะทำให้การปฏิบัติธรรมของเรา หรือการปฏิบัติเพื่อให้เกิดบุญกุศลใดๆ เสียไปหมด ตัวอย่างเช่น เราให้ทาน หากเราให้เพื่อหวังว่าจะได้รับชื่อเสียงจากการให้นั้น เช่นจะได้มีคนมามองว่า เรานี้เป็นคนดี ชอบให้ทาน แทนที่จะคิดว่า การให้ทานนั้นเป็นการฝึกตัวเราเองให้ละจากการยึดมั่นถือมั่นในทรัพย์สิน เพื่อที่จะได้ก้าวหน้าไปบนเส้นทางสู่พระพุทธภาวะ ก็จะทำให้การให้ทานของเราเป็นการทำกุศลที่บกพร่อง ขาดปัจจัยที่จะทำให้การกระทำของเรานี้เป็นกรรมอันบริสุทธิ์ ที่จะนำเราไปสู่เป้าหมายอันแท้จริงได้ ดังนั้นเราคิดว่า แม้บุญกุศลก็ไม่มีจริง เพราะที่เราคิดว่าเป็น “บุญกุศล” นั้นก็เป็นเพียงการปรุงแต่งไปด้วยคำพูด เมื่อเข้าใจเช่นนี้ เราก็ปฏิบัติกรรมอันเป็นกุศลไปได้อย่างอิสระ ไร้ข้อผูกมัดใดๆว่าจะต้องมีบุญกุศลเท่านั้นเท่านี้
ยิ่งไปกว่านั้น ความเป็นเลิศของการปฏิบัตินี้ยังบอกเราว่า แม้แต่ตัวเราก็ไม่มี ดังนั้นเมื่อมีการประกอบกุศลกรรมหรือปฏิบัติธรรม ก็ไม่มีความคิดว่า “นี่คือตัวเราผู้กำลังปฏิบัติ” นอกจากการคิดเช่นนี้จะทำให้เราเกิดความหลงผิดว่า มีตัวมีตนแล้ว ยังจะก่อให้เกิดภัยอันใหญ่หลวงขึ้นมาได้แก่ผู้ปฏิบัติ ได้แก่การคิดว่าตนเองดีกว่า เก่งกว่า เหนือกว่าคนอื่น การประจักษ์แจ้งชัดว่าแท้จริงแล้ว เราผู้ปฏิบัติไม่มีอยู่ เป็นการกำจัดต้นตอของการที่อาจจะคิดไปว่า ตัวเราจะดีกว่า หรือเหนือกว่า หรือแม้แต่จะคิดว่าตัวเราด้อยกว่า หรือเท่าเทียมกับผู้อื่น ทั้งนี้เพราะไม่มีตัวเราให้เปรียบแต่อย่างใดเลยนั่นเอง
ความเป็นเลิศประการสุดท้ายได้แก่ความเป็นเลิศของการลงจบ ในการปฏิบัติธรรมหรือประกอบกุศลกรรมใดๆ เช่น ถือศีล ให้ทาน นั่งสมาธิ ฟังธรรม ภาวนาหัวข้อธรรม เมื่อถึงเวลาที่จะจบการกระทำนั้น เราต้องไม่ลืมอุทิศบุญกุศลที่เกิดขึ้นให้แก่สรรพสัตว์เสมอ เราทำเช่นนี้ก็เพราะว่า เราไม่อาจเก็บบุญกุศลนั้นไว้ที่เราเพียงผู้เดียว แต่เรากำลังเดินทางสู่การบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพื่อยังประโยชน์ให้แก่สรรพสัตว์ ดังนั้นที่เราทำไปทั้งหมดนี้ ก็เพียงเพื่อเหล่าสัตว์โลกนี้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีเหตุผลอันมีน้ำหนัก ที่เราจะต้องอุทิศบุญกุศลนี้ให้แก่สัตว์โลก หลังจากการปฏิบัติธรรมทุกครั้ง
ตัวอย่างเช่น หลังจากให้ทาน เช่นถวายของแก่พระ เสร็จแล้ว เราก็อุทิศบุญกุศลให้แก่สรรพสัตว์ด้วยการคิดว่าขอให้บุญกุศลที่ได้จากการถวายของแก่พระภิกษุนี้ จงเป็นปัจจัยให้สรรพสัตว์ทั้งปวงจงเข้าถึงเป้าหมายอันสูงสุด อันเป็นประโยชน์สูงสุดทุกคนๆหรือทุกตัวๆ เราทำเช่นนี้ก็เพราะว่า เราเข้าใจว่าไม่มีตัวเราที่จะเป็นผู้รับบุญกุศลนั้น แต่บุญกุศลนั้นกลับเป็นประโยชน์แก่เหล่าสัตว์โลกในสังสารวัฏอย่างมหาศาล เพราะสัตว์โลกเหล่านี้ยังมีกิเลสปิดบังดวงตา ทำให้มองไม่เห็นว่าแท้จริงแล้วตัวตนของพวกเขามิได้มีอยู่จริง แต่เมื่อพวกเขายังถูกปิดบังอยู่เช่นนี้ เราก็ช่วยเหลือพวกเขาด้วยการให้อำนาจของบุญกุศลที่เราทำนี้แผ่ไปยังสัตว์โลกทั้งมวล ให้สัตว์โลกได้รับประโยชน์สุขจากบุญกุศลของเรานี้ทั้งหมด
นอกจากนี้ประโยชน์และความเป็นเลิศของการอุทิศบุญกุศลก็คือว่า จะทำให้การปฏิบัติธรรมของเรานั้นได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งก็ต้องทำไปควบคู่กับความเป็นเลิศสองประการแรกด้วย เหตุที่ทำให้มีประสิทธิภาพเช่นนี้ก็เพราะว่า แทนที่เราจะเก็บบุญกุศลไว้ที่ตัวเราคนเดียว ซึ่งจะทำให้บุญกุศลนั้นเหือดแห้งไปเพราะแปดเปื้อนไปด้วยการยึดมั่นกับตัวตน เรากลับแผ่บุญกุศลนั้นออกไปทุกทิศทุกทาง บุญกุศลนั้นก็จะเพิ่มพูนขึ้นอย่างมหาศาล เพราะประกอบไปด้วยการไม่ยึดมั่นกับตัวตน และด้วยความปรารถนาอันจริงใจที่ยังประโยชน์ให้แก่สรรพสัตว์
(จากคำสอนของเตชุง ริมโปเชใน การเห็นทั้งสาม)
จาก
https://soraj.wordpress.com