ผู้เขียน หัวข้อ: เมตตา และ กรุณา (ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง)  (อ่าน 1411 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


เมตตาและกรุณา

ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน

เมื่อไม่นานมานี้ ดิฉันได้ไปเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง เผชิญความตายอย่างสงบ ของเครือข่ายพุทธิกา เสมสิกขาลัย ซึ่งมีพระไพศาล วิสาโล ร่วมบรรยาย ซึ่งเป็นการอบรมสำหรับผู้สนใจทั่วไป

ในการอบรมครั้งนั้นพบว่ามีประชาชนและแพทย์ พยาบาล มาอบรมร่วมกัน ผู้บรรยายกล่าวว่า ช่วงระยะหลัง ๆ มานี้มีแพทย์และพยาบาลมาร่วมอบรมมากขึ้นทุกปี นั่นย่อมแสดงว่าทีมบุคลากรทางสาธารณสุขเริ่มมีความใส่ใจในเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมทั้งทางกายและจิตใจมากขึ้น

ระหว่างการอบรมมักมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องความคิดเห็นและความเข้าใจเกี่ยวกับความตายหลายอย่าง มีกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือ ให้ทุกคนไปเป็นจิตอาสาเพื่อเยี่ยมผู้ป่วยหนักที่โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม มีการจับคู่กันไปเยี่ยมผู้ป่วยกันเอง จากนั้นก็นำความรู้มาแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มใหญ่อีกที

แพทย์ชายวัยกลางคนท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้อำนวยการของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งได้จับคู่กับชายหนุ่มอายุราว 30 ปีซึ่งเป็นพนักงานบริษัท ได้ไปเยี่ยมหญิงชราอายุ 60 ปีซึ่งป่วยด้วยภาวะหอบเหนื่อยจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ในห้องไอซียู

ทันทีที่ทั้งคู่ไปเยี่ยมหญิงชรา ต่างก็พากันชวนคุยเพื่อให้หญิงชราสบายใจแม้ว่าหญิงชราจะพูดไม่ได้ก็ตาม ชายหนุ่มเริ่มพูดขึ้นก่อนว่า “ป้าชอบทำอะไรครับ ชอบปลูกต้นไม้ ทำสวน ทำกับข้าว หรือไปช็อปปิ้ง”

หญิงชราเริ่มยิ้มน้อย ๆ แล้วส่ายหน้าว่าพูดไม่ได้

“ป้าไม่ต้องพูดหรอก แค่พยักหน้าก็พอแล้ว ป้าชอบตกปลาไหมล่ะ”

หญิงชราพยักหน้าพร้อมกับยิ้มตาเป็นประกาย

ก่อนที่นายแพทย์ซึ่งไปด้วยกำลังจะเอ่ยปากว่า การตกปลานั้นเป็นบาปที่ป้าไม่ควรทำ ทันใดนั้นชายหนุ่มก็เริ่มจับมือของป้าแล้วพูดว่า “อ๋อ ตกปลาสนุกดีใช่ไหมครับ”

จากนั้นก็เริ่มเล่าวิธีตกปลา “ผมก็ไม่ชำนาญหรอกนะ แต่ตอนเด็ก ๆ ผมมักไปตกปลากับพ่อที่แม่น้ำข้างบ้าน ตอนแรกก็ต้องไปขุดหาไส้เดือนก่อน ป้าก็ต้องขุดใช่ไหมหรือป้าซื้อเอา”

หญิงชราขยับริมฝีปากโดยไม่มีเสียงออกมาอ่านได้ว่า…..ขุดเอา

“พอขุดได้แล้วก็เอาไส้เดือนไปเกี่ยวกับอะไรน้า” ชายหนุ่มทำท่าใช้ความคิด

หญิงชราขมุบขมิบปากอีกว่า….ตะขอ

“ใช่แล้ว ๆ จากนั้นก็เหวี่ยงคันเบ็ดไปที่แม่น้ำ ผมเคยตกได้ปลาดุกตัวเท่าแขนเลยนะ”

หญิงชรายิ้มและพยักหน้าอย่างเร็ว ๆ พร้อมกับขมุบขมิบปากว่า…. เหมือนกันเลย

“แต่บางวันโชคไม่ดีก็นั่งมันทั้งวันเลยก็ตกไม่ได้ บางวันหลับไปทั้งวันเลยก็มี ปลาเดี๋ยวนี้มันฉลาดขึ้นเลยจับยากขึ้นทุกที”

หญิงชราขยับปากสนับสนุนขึ้นมา ….ใช่ ๆ

พอดีมีทีมวิทยากรมาตามเพื่อให้คู่นี้ไปเยี่ยมเตียงของผู้ป่วยรายอื่น ๆ อีก เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องไปเยี่ยม

ทันทีที่จิตอาสาคู่นี้ทำท่าจะผละออกจากเตียง หญิงชราก็เริ่มหน้าเศร้าพร้อมกับมีท่าทีเหงาหงอย

ชายหนุ่มรีบเอื้อมมือไปจับและตบมือของหญิงชราเบา ๆ อย่างให้กำลังใจว่า “เดี๋ยวไปเยี่ยมเตียงนั้นแป๊บเดียวก็จะกลับมาใหม่”

หญิงชรายิ้มออกมาอย่างมีความหวัง

หลังจากจิตอาสาคู่นี้ไปเยี่ยมเตียงอื่นสักพักก็กลับมาพูดคุยกับหญิงชราจนกระทั่งหมดเวลาเยี่ยม

ชายหนุ่มแลกเปลี่ยนความรู้กับกลุ่มให้ฟังว่า

“ผมรู้สึกถึงความเหงาของป้า ป้าคงไม่มีใครมาพูดคุยด้วย อาจเป็นเพราะป้าใส่ท่อช่วยหายใจอยู่แล้ว คนคงคิดว่าป้าพูดไม่ได้ แต่พอผมพูดเสร็จ ป้าก็พึมพำขยับปากได้แม้จะไม่มีเสียง แต่เราก็อ่านปากเข้าใจกันได้ ทำให้เราสื่อสารกันได้อย่างออกรสชาติ พอผมจะย้ายไปเตียงอื่นก็สังเกตได้เลยว่าป้ายังอยากคุยกันต่อ อาจเป็นเพราะผมเลือกเรื่องคุยที่ป้าเขาชอบก็ได้”

นายแพทย์ที่ไปด้วยกล่าวว่า “ผมเคยชินกับผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจอยู่แล้ว จนนึกภาพไม่ออกว่าจะไปเยี่ยมกันอย่างไรเพราะเขาพูดไม่ได้ แต่ผมเห็นน้องเขาพยายามชวนพูดคุยเหมือนกับลูกหลานมาเยี่ยม ทำให้หลายครั้งป้าเขายิ้มออกมาได้ เขาก็สื่อสารกันได้ด้วยการอ่านริมฝีปาก ก็นับเป็นการสื่อสารที่ออกรสชาติได้เท่าการพูดคุยกันเลย น้องเขามีการจับมือจับตัวของป้าด้วยก็ยิ่งสร้างความสัมพันธ์กันได้ง่ายขึ้น”

“ตอนแรกก็ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไรกัน อยู่ดี ๆ น้องเขาก็พูดเรื่องตกปลาขึ้นมา ผมกำลังจะพูดว่าการตกปลานั้นเป็นบาป แต่น้องชิงพูดขึ้นมาเรื่องวิธีการตกปลา เอาไส้เดือนเกี่ยวตะขอ จนป้าสนุกสนานไปด้วย”

“ผมว่าน้องเขาเป็นพระเอกมากเลย ผมเกือบจะเป็นผู้ร้ายเลยครับ” นายแพทย์ท่านนั้นกล่าวจบประโยคพร้อมกับรอยยิ้ม

ชายหนุ่มกล่าวเสริมขึ้นว่า “จริง ๆ แล้วผมเห็นด้วยกับคุณหมอว่า การตกปลานั้นเป็นบาป แต่ในสภาพร่างกายของป้าที่เจ็บปวดขนาดนี้ เขาคงอยากมีความสุข ความหวัง ความฝันกับสิ่งต่าง ๆ ในอดีต บางครั้งการได้นั่งคิดถึงอดีตที่มีความสุขก็ทำให้ลืมความทุกข์ที่ประสบอยู่ในปัจจุบันได้…. มันคงไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะจะมาเทศนาเรื่องความดีงามและความถูกต้องนะครับ”

“ผมไม่ได้ชำนาญเรื่องการตกปลาหรอกครับ แต่บังเอิญชวนคุยไปเรื่อยเปื่อยแล้วพบว่า พอพูดถึงการตกปลาแล้วป้ายิ้มอย่างกระตือรือร้น ผมจึงเลือกคุยเรื่องนี้ เวลาพูดคุยผมรู้สึกเหมือนมาเยี่ยมคนในครอบครัวจริง ๆ จนอยากให้เขาสบายใจที่สุด ตอนคุยผมยังได้เรียนรู้วิธีตกปลาที่ถูกต้องไปด้วย จนมั่นใจว่ากลับไปนี่จะตกปลาได้เก่งขึ้นเลยครับ ผมรู้สึกสุขใจที่เห็นป้าเขายิ้มได้ทั้งที่ร่างกายคงทรมานมาก”

การเป็นจิตอาสานี้มีประโยชน์มาก หลายครั้งเราติดกับดักของอาชีพมากเกินไป พอเราไปอยู่ในโรงพยาบาลที่เป็นสภาพคุ้นชินเดิม ๆ ก็ทำให้หัวโขนของความเป็นหมอเหล่านั้นกลับมา เราจึงอยากไปสอนและอบรมผู้ป่วยโดยไม่ได้ดูว่าผู้ป่วยอยู่ในสภาพเช่นไร เพียงเราถอดเปลือกทุกอย่างออกแล้วลองคิดแบบเขาไปพร้อมกับเข้าใจเขา เราก็จะมีความอ่อนโยนมากพอที่จะเจือจานและอยากให้เขาหายหรือสบายใจ

เพียงเรารักษากายของผู้ป่วยไปตามวิชาที่ร่ำเรียนมา และเติมความเข้าอกเข้าใจไปพร้อมกับความเห็นใจเพียงเท่านี้ก็สามารถเยียวยาผู้ป่วยได้ทั้งกายและใจ

ในบทบาทญาติที่มาเยี่ยมผู้ป่วยก็ไม่ควรทุกข์ร่ำไห้เกินหน้าเกินตายิ่งกว่าผู้ป่วย ญาติควรเพิ่มบทบาทเยียวยาใจด้วยการพูดคุยถึงความหวัง ความฝัน และความดีที่เขามีความภาคภูมิใจ รวมทั้งให้กำลังใจว่าพร้อมจะอยู่เคียงข้างก็ยิ่งช่วยให้ผู้ป่วยก้าวข้ามความเจ็บป่วยไปได้อย่างราบรื่น

การอบรมครั้งนี้มีการสอนให้ทำทองเลนซึ่งเป็นการฝึกภาวนาเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น โดยมีหลักการคือ เปิดใจรับความทุกข์ ความเจ็บปวดของผู้อื่นมาที่ตัวเรา และเปิดใจส่งความดี ความสุข ความเข้มแข็งของเราให้ผู้นั้น

“ทองเลน” พลังจักรวาลขั้นสูงสุดแห่งทิเบต เปลี่ยนพลังจักรวาลด้านลบเป็นบวก จากบันทึกของท่าน “โซเกียล รินโปเช” ได้กล่าวถึงการทำสมาธิแบบ “ทองเลน” อันเป็นการทำสมาธิเพื่อเปลี่ยนพลังลบเป็นบวกได้อย่างอัศจรรย์ ท่านโซเกียล รินโปเช ได้ศึกษาสมาธิแบบทองเลนนี้มาจากท่าน “เกะเช เชคาวา” อีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้นำวิชานี้ไปเผยแพร่จนเป็นที่ยอมรับ โดยเริ่มต้นจากการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ไม่มีทางรักษาได้ ด้วยการฝึกสมาธิแบบทองเลนนี้ กลับทำให้พวกเขาหายจากโรคเรื้อนได้อย่างน่าอัศจรรย์ นำไปสู่การยอมรับสมาธิแบบนี้ในเวลาต่อมา

พระไพศาล วิสาโล ประยุกต์กระบวนการทำทองเลนมาใช้ในการฝึกอบรม “เผชิญความตายอย่างสงบ” ของเครือข่ายพุทธิกา ดังนี้

นั่งตามสบาย หายใจเข้า-ออกด้วยความผ่อนคลาย น้อมจิตให้อยู่กับลมหายใจ ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน

รับรู้ถึงความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับกายของเขา

ในใจของเรานั้นเปี่ยมด้วยความเมตตา

ให้สร้างภาพในใจว่า มีควันดำพวยพุ่งขึ้นจากร่างกายที่เจ็บปวดของเขา ให้ใจเราเปิดน้อมเอาควันดำนั้นลอยเข้ามาในตัวเรา ควันนั้นค่อย ๆ ขจัดความเห็นแก่ตัวของเรา จนในที่สุดความยึดถือในตัวเราได้ถูกควันนั้นกัดกร่อนทำลายให้ลดน้อยลง จิตที่เห็นแก่ตัวได้ถูกทำลายไปก็ยิ่งแผ่รังสีขาวนวลจากใจแผ่เมตตาไปที่ผู้ป่วย ให้ความปรารถนาดีไปเยียวยาความทุกข์ของเขา

เราอาจทำง่าย ๆ ได้โดยใช้ใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาอยากให้เขาเป็นสุข และเพิ่มความกรุณาซึ่งอยากให้เขาพ้นทุกข์เข้าไปด้วย

อาจเพียงแค่ส่งความปรารถนาดีผ่านทางการสัมผัส เช่น กุมมือของผู้ป่วยไว้ อาจสื่อได้ด้วยน้ำเสียงแววตา ผู้ป่วยจะรับรู้ได้แม้อยู่ในภาวะโคม่าก็ตาม นอกจากนี้ก็อาจใช้วิธีอื่นที่ทำให้พลังเมตตาส่งไปที่ตัวผู้ป่วยได้ สัมผัสผู้ป่วยในขณะที่ใจเมตตา นึกภาวนาให้เขาหายจากโรคร้ายด้วยใจสงบนิ่งแม้ไม่พูดเลย ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจเราจะมีพลังที่สื่อไปถึงเขาได้

จาก http://www.wongkarnpat.com/viewpat.php?id=1297#.V3wJEHY2veM
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...