ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อสูงอายุ - เมื่อสูงวัย (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)  (อ่าน 2339 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ lek

  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • ****
  • กระทู้: 1724
  • พลังกัลยาณมิตร 687
    • ดูรายละเอียด


เมื่อความชรา คือ ธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง 
เป็นขบวนการซึ่งมีความต่อเนื่องมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว 
เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์มีอายุยืนยาวขึ้นนั้น หมายความว่า 
มนุษย์ผู้นั้นต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาตินั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความเปลี่ยนแปลงที่พบได้ในวัยชรานั้น พบได้หลายด้านอาทิ เช่น

๑. การเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพอนามัย

ด้วยอวัยวะที่เสื่อมสลายประสิทธิภาพการทำงานย่อมลดลง 
ผู้สูงอายุจึงอาจมีโรคต่างๆ ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป 
โรคเหล่านี้ล้วนมีสาเหตุมาจากความเสื่อมเสียเป็นส่วนใหญ่ 
ทั้งป้องกันได้และป้องกันไม่ได้ เช่น โรคสมองเสื่อม ข้อเสื่อม 
ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง 
แม้ไม่เป็นโรคประสิทธิภาพในการด้านอื่นๆ อาจลดลง 
เช่น ขี้หลงขี้ลืม คิดช้า ความต้านทานโรคลดลง 
การย่อยอาหารลดลง ทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ

๒. การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ

ผู้สูงอายุจะพบกับการสูญเสียในสิ่งต่างๆ มากขึ้น 
ซึ่งล้วนแต่เป็นขบวนการทางธรรมชาติเกือบทั้งสิ้น 
เช่น การสูญเสียสมรรถภาพความแข็งแรงของร่างกาย 
สูญเสียคู่ครอง เพื่อนสนิท ญาติ ผู้ใกล้ชิด สูญเสียความเชื่อถือจากผู้อื่น 
จากการเกษียณอายุ ญาติมิตร คู่ครอง ลูกหลาน แยกครอบครัวไปอยู่ต่างหาก 
บางรายพึ่งตนไม่ได้ ภาวะต่างๆ เหล่านี้ ต้องการปรับตัวอย่างมาก 
รายที่ไม่สามารถปรับตัวได้ดี จะเกิดโรคต่างๆ 
เช่น วิตกกังวล หวาดระแวง ซึมเศร้า เป็นต้น 
รายที่ปรับตัวได้พอสมควร อาจแสดงด้วยการจู้จี้ขี้บ่น อารมณ์แปรปรวนง่าย

๓. การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม

การเกษียณอายุจากงานที่ทำประจำ ความแข็งแรงของร่างกายที่ลดลง 
ความเจ็บป่วยจากโรคทางกายและใจ ล้วนทำให้ผู้สูงอายุพึ่งตัวเองได้น้อยลง 
การสูญเสียคู่ครอง เพื่อนฝูงในวัยเดียวกัน ทำให้ต้องพึ่งอาศัยลูกหลานมากยิ่งขึ้น 
ในภาวะสังคมปัจจุบันซึ่งครอบครัวไทยจำนวนมาก 
ต่างแยกเป็นครอบครัวเดียวที่มีขนาดเล็กลง 
ทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสถูกทอดทิ้งได้ง่าย

๔. การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ

ความสามารถในการหารายได้ลดลง ทำให้ผู้สูงอายุต้องอาศัยเงินทอง
หรือทรัพย์สินที่สะสมมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาวเพื่อการดำรงชีวิต 
ผู้ที่สะสมทรัพย์สินไว้น้อยหรือไม่ได้สะสม จึงจำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่น 
เช่น บุตรหลาน ญาติมิตร โอกาสจะประสพปัญหาจึงมีมาก

การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ 
ซึ่งมนุษย์สามารถเรียนรู้และคาดการณ์ได้ 
การเตรียมตัวเตรียมใจไว้เผชิญความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว 
ต้องการเรียนรู้และศึกษาจากประสบการณ์ และแหล่งความรู้ต่างๆ 
จึงเป็นการเตรียมตัวเพื่อการเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ดีมีสุข

ธรรมะกับผู้สูงอายุ

ธรรมะรักษา คำว่า ธรรม ในที่นี้ ขอให้ความหมายตามความเห็น 
ของท่านพันเอกปิ่น มุทุกันต์ ว่าความถูก และความดี 
ใครก็ตามปฏิบัติตนถูกต้องและดีงามก็ถือว่า ผู้นั้นมีธรรมะหรือปฏิบัติตามธรรมะแล้ว

“คำว่าผู้สูงอายุ” ในที่นี้ ให้หมายเอาบุคคลที่มีอายุตัวหน้าเลข ๕ นำไปแล้ว 
แม้ว่าบางคนจะดูไม่แก่ไม่ชรา เพราะเหตุว่าบริหารร่างกายและจิตใจดีก็ตาม

คนสูงอายุ ๓ ประเภท

ก. สูงอายุทางร่างกาย

ได้แก่ บุคคลที่ร่างกายเจริญเติบโตไปตามวัยหรือตามธรรมชาติ 
พร้อมทั้งอายุสมองก็เจริญตามไปด้วย 
ถ้าเกิดว่ามีใครอายุสมองเจริญไม่ทันร่างกายก็จะได้ชื่อว่า เฒ่าทารก 
กล่าวคือ มีอายุร่างกายมากแล้ว 
ไปทำอะไรๆ ให้ลูก ๆ หลานๆ อับอายหรือหัวเราะเยาะเอาได้

ข. สูงอายุทางสมอง

ได้แก่ บุคคลที่สมองเจริญเติบโตไปตามวัย ไม่เป็นคนปัญญาอ่อน 
หรือประเภทที่เรียกว่า “เลี้ยงไม่รู้จักโต” 
ถ้าสมองเจริญกว่าร่างกายเขาก็เรียกว่า แก่แดด 
เรามักจะว่าเด็กที่รู้อะไรเกินวัยว่าเป็นเด็กแก่แดด 
แต่ถ้าใครเกิดว่าอายุสมองเจริญมากเกินไป ก็เรียกว่า “อัจฉริยะ”

ค. สูงอายุทางคุณธรรม

ได้แก่ บุคคลที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญามีคุณธรรมประจำจิต 
จัดว่าเป็นบุคคลที่มีแก่น หรือมีสาระแห่งชีวิต เป็นคนสูงอายุที่มีค่าและประเสริฐ 
ยิ่งมีอายุมากเท่าไรก็ยิ่งจะมีค่ามากขึ้นเท่านั้น 
เพราะย่อมจะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกๆ หลานๆ ได้พึ่งพิง 
ถ้าเป็นมะพร้าวก็เรียกว่า ยิ่งแก่ยิ่งมัน

บุคคลที่สมบูรณ์จะต้องผนวกเอาทั้ง ๓ สิ่งที่กล่าวมาไว้ในตนให้ครบ 
แต่ถ้าเกิดว่าใน ๓ สิ่งนี้มันจะขาดไปสัก ๑ หรือ ๒ ก็ตาม 
ก็ควรจะเป็นข้อ ก. และข้อ ข. ตามลำดับ 
ถ้าขาดข้อ ค. ไปเพียงข้อเดียวก็จะทำให้ทุกคน มิใช่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้นที่ไร้ค่า 
หรือจะเรียกว่า เสียชาติเกิดก็คงจะไม่ผิดความจริงไปนักมิใช่หรือ 
เพราะตามหลักธรรมะนั้น มิได้วัดค่าของคนที่ร่างกายหรือสมอง 
แต่ท่านวัดคนที่คุณธรรม เพราะค่าของคนมิได้อยู่ที่ร่างกายหรือสมอง 
แต่อยู่ที่สาระแห่งชีวิตหรือคุณธรรมที่มีอยู่ประจำอยู่ที่จิตใจ 
สมกับค่าของคนสมัยก่อนที่ว่า 
“คนเรามิได้แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะเกิดนาน” เท่านั้นดอก 
แต่จะต้องเป็นคนสูงอายุเพราะมีสาระและคุณธรรมต่างหาก 
ที่ยิ่งมีอายุมากขึ้นก็ยิ่งจะเป็นที่ภาคภูมิใจ 
หรือเป็นหลักให้เกิดความอบอุ่นใจแก่ลูกหลาน หรือคนทั่วไป

ธรรมะให้ความสุขแก่ผู้สูงอายุ

คนสูงอายุนั้น เมื่ออนุสรณ์ถึงชีวิตของตนเองว่า 
ได้ทำดีไว้ให้ลูก ทำถูกไว้ให้หลานอย่างครบถ้วนแล้ว 
ก็ย่อมจะเกิดปีติหล่อเลี้ยงจิตใจให้เกิดความสุขทางจิตใจได้

คนสูงอายุที่ไม่มีธรรมะนั้นมักจะรู้สึกว้าเหว่และสิ้นหวัง 
เพราะยิ่งเมื่อสูงอายุมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งจะพึ่งตัวเองได้น้อยลงเท่านั้น 
แม้ว่าจะมีเงินจ้างคนอื่นช่วย แต่ถ้าเราขาดคุณธรรมหรือไม่มีน้ำใจ 
ก็จะหาคนรับจ้างยาก หรือไม่ทำด้วยน้ำใจ 
ทำพอให้พ้นๆ หน้าที่ไปเท่านั้น 
หรือถ้าเป็นผู้สูงอายุที่โหดร้ายด้วยเงินก็จะไร้ค่าไปทันที

ในทางตรงกันข้าม ผู้สูงอายุที่มีคุณธรรม 
มีเมตตาอารีต่อลูกหลานและบุคคลทั่วไป 
ใคร ๆ ก็อยากเข้าใกล้ เพราะมันทำให้เขาสงบและอบอุ่น

สติและสมาธิของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุทั่วไปมักจะหลงลืมง่าย แม้กระทั่งกินอาหารแล้วก็ว่ายังไม่กิน 
เหตุเพราะขาดสติ หรือไม่เจริญสติอยู่เป็นประจำวันไว้ก่อน 
แม้ว่าจะมาเจริญในเมื่อสูงอายุก็มักจะไม่ทันใช้ คือมักจะไม่ได้ผล

ผู้สูงอายุทั่วไปมักมีจิตใจฟุ้งซ่าน ด่าหรือบ่นเก่ง จนลูกหลานไม่อยากเข้าใกล้ 
เพราะเบื่อระอาในความจู้จี้ขี้บ่น เหตุเพราะจิตขาดสมาธิและไม่มีสติควบคุม

สติและสมาธิจึงเป็นยอดธรรมะที่คนสูงอายุต้องมีประจำใจ 
จึงจะเป็นคนสูงอายุที่น่าเคารพรักเป็นหลักให้ลูกหลานได้มีที่พึ่งทางใจ 
และการที่ผู้สูงอายุจะทำตนให้เป็นที่พึ่งของผู้อ่อนอายุได้ 
ตนเองต้องเริ่มทำตนเองให้มีที่พึ่งเสียแต่บัดนี้ 
ด้วยการสละหรือแบ่งเวลาให้แก่ธรรมะบ้าง 
หมั่นศึกษาค้นคว้า ฟัง อ่านธรรมะให้มากตั้งแต่บัดนี้ 
ที่ควรสังวรก็คืออย่ามัวแต่อ่านหรือฟังอย่างเดียว 
ควรจะมีการปฏิบัติควบคู่กันไปด้วย

การปลงอายุ

ผู้สูงอายุควรหัดปลงอายุไว้เป็นประจำ 
จะได้ไม่เกิดการสะดุ้งกลัวต่อความตาย 
ที่จะต้องมาถึงในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน 
ถึงเราจะเกลียดและกลัวความตายอย่างไร ทุกคนก็ไม่อาจหลีกหนีความตายได้พ้น 
ถ้าใครกลัวความตายก็จะต้องทำให้ไม่เกิด “นั่นแหละจึงจะพ้นได้อย่างแท้จริง” 
นั่นก็คือ จงรีบปฏิบัติธรรมเสียในบัดนี้และตลอดไป

คนที่ไม่มีที่พึ่งย่อมกลัวความตาย

การที่ทุกคนจะปฏิบัติตนให้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน นั้น 
ดูออกจะไกลเกิดเอื้อมไปมาเอากันที่ง่ายๆ และสามารถทำกันได้ทุกคนกันดีกว่าดังนี้

๑) จงงดเว้นความชั่วต่างๆ โดยสิ้นเชิง

๒) จงหมั่นให้ทาน มีการใส่บาตรประจำวัน 
บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ต่างๆ และรักษาศีลอยู่เป็นประจำชีวิต โดยเฉพาะศีล ๕

๓) หมั่นเจริญสติอยู่เป็นประจำ เพื่อให้เกิดกับความคุ้นความตาย 
จะช่วยต้านทานความกลัวตายได้วิเศษนัก

๔) ทาน ศีล ภาวนา (รวมทั้งมรณสติ) 
นี่แหละย่อมจะเป็นหลักและเป็นที่พึ่งของผู้สูงอายุอย่างแท้จริง 
ทรัพย์สมบัติต่างๆ อันมากมาย ลูกหลานบริวารรอบข้างก็ไม่อาจที่จะติดตามเราไปได้ 
มีแต่บาปกับบุญเท่านั้น ที่เป็นของเราอย่างแท้จริง

๕) ผู้สูงอายุที่มีปัญญา จึงควรจะเว้นจากบาปและบำเพ็ญกุศลทุกระดับชั้น 
เพราะบุญเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของผู้สูงอายุและทุกคนอย่างแท้จริง


คัดลอกจาก... http://jarun.org







ขอบคุณที่มาจาก http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=18453