ผู้เขียน หัวข้อ: ระบำหน้ากาก นาฏกรรมแห่งศรัทธา ของชาวภูฏาน  (อ่าน 1034 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ระบำหน้ากาก นาฏกรรมแห่งศรัทธา ของชาวภูฏาน

การแสดงระบำหน้ากากที่พูนาคานั้นเป็นเรื่องที่พิเศษมาก ด้วยเหตุที่พูนาคามีเรื่องราวให้น่าจดจำเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ได้ ในส่วนของการต่อสู่ระหว่างกองทัพของท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล กับกองทัพของทิเบตที่กล่าวมาแล้ว

อีกทั้งการร่ายรำ ยังเสมือนเป็นการถ่ายทอดตำนานแห่งพระพุทธศาสนาตันตระยาน และอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของพระโพธิสัตว์และเทพยดาทั้งปวง ท่วงท่าที่ร่ายรำนั้นเป็นแบบโบราณที่สืบทอดกันมายาวนานหลายร้อยปี และชาวภูฏานเชื่อว่าท่าร่ายรำต่างๆนี้มาจากนิมิตของท่านกูรู รินโปเช ดังนั้นการแต่งกายและท่วงท่าร่ายรำจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มิอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆได้

ระบำทางศาสนาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ :

ระบำเทศนาซึ่งมีเนื้อหาในการสั่งสอนศีลธรรม (ระบำเจ้าชายและเจ้าหญิง ระบำกวางกับสุนัขล่าเนื้อ ระบำพิพากษาวิญญาณ)

ระบำเพื่อสร้างความบริสุทธิ์และปกป้องคุ้มครองสถานที่ไม่ให้วิญญาณร้ายมาคุกคาม (ระบำเจ้าแห่งเชิงตะกอน ระบำกวาง ระบำเทพเจ้าภาคดุร้าย ระบำหมวกดำ ระบำกิงกับโชลิง ระบำกิงรำไม้เท้า ระบำกิงรำดาบ)

ระบำประกาศชัยชนะของพุทธศาสนาและบารมีของท่านคุรุริน เปโช (ระบำที่ใช้กลอง ระบำวีระบุรุษ ระบำภาคสำแดงเดชทั้งแปดของคุรุรินเปโช)



ดรอมเช (Dromche) : เป็นพิธีกรรมร่ายรำบูชาเทพเยเชกมโป (ท้าวมหากาฬ เทพยดาผู้ปกปักรักษาภูฏาน) และเทพเปลเด็นฮาโม (เทพมหากลี เทพธิดาผู้ปกปักรักษาภูฏาน) หรือเรียกรวมๆว่า “ธรรมบาล” หรือผู้ปกป้องพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งอาจจะปรากฏในร่างสัตว์นานาชนิด เช่น ควายป่า วานร กวาง ครุฑ และอื่นๆอีกมากมาย ตามคติความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายวัชระยานตันตระ หรือศาสนาพุทธแบบทิเบต

ซึ่งเดิมนั้นแม้ภูฏานจะดินแดนทางตอนใต้ของทิเบต แต่เมื่อทิเบตถูกผนวกไปเป็นส่วนหนึ่งของจีน และภูฏานแยกตัวออกมาเป็นประเทศอิสระ … ปัจจุบันภูฏานจึงเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีผู้คนนับถือศาสนาพุทธนิกายวัชระยานตันตระอย่างเคร่งครัด

นิกายนี้เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีหลายองค์ แต่ละองค์มีคู่ครอง หรือ “ตาระ” เช่นเดียวกับเทพเจ้าของฮินดูที่มีชายา โดยเพศชายเป็นสัญลักษณ์ของความกรุณา และเพศหญิงเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา

รูปเคารพของฝ่ายวัชระยานจึงตันตระจึงปรากฏเป็นพระพุทธรูปที่มีสตรีเปลือยกายนั่งคร่อมอยู่ที่ตัก อันมีความหมายว่าหาก “ปัญญา” กับ “กรุณา” มาสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็จะเป็นพลังไปสู่การหลุดพ้นหรือการบรรลุธรรม หาใช่เรื่องวิตถารลามกอย่างที่เข้าใจกันผิดๆ

ความเชื่อนี้ถูกแปลเป็นคำสอนให้ผู้ที่เลื่อมใสนิกายวัชระยานตันตระนำไปปฏิบัติจริง คือ “ให้ความกรุณา”ต่อผู้อื่นโดยไม่จำกัด แล้วจะได้ “ปัญญา” กลับมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด



นิกายนี้เต็มไปด้วยเครื่องมือช่วยให้บรรลุธรรม เช่นบทสวดที่ยืดยาวก็ถูกย่อให้สั้นและง่ายเพียง 6 พยางค์ คือ “โอม มณี ปัทเม หุม” (ขออัญเชิญสัจธรรมคำสอนของพระพุทธองค์อันล้ำค่าดุจอัญมณี มาสถิตย์ในดวงใจบริสุทธิ์ดั่งบัวพ้นน้ำของข้าพเจ้าเทอญ) ปากก็ท่องไป มือก็หมุนกงล้อมนตราไป ชั่วเวลาที่กงล้อหมุนก็เท่ากับสวดมนต์จบไปอีกบทหนึ่ง

วันหนึ่งๆ ชาววัชระยานอาจจะสวดมนต์จบเป็นหมื่นๆบท ยังไม่นับการประดับธงมนตราหลากสี ให้ลมพัดมนตราปลิวไปคุ้มครองบ้านเรือน ไร่นา และผู้คน

.:.:.: นี่จึงเป็นที่มาของชื่อนิกาย “วัชระยาน” อันมีความหมายถึงคำประกาศที่ว่า นี่คือ “ยาน” ที่สามารถบรรลุธรรมได้รวดเร็วปานวัชระ (สายฟ้า) ละยังเป็นยานที่แข็งแกร่งดั่งวัชระ (เพชร) อันยากที่จะมีสิ่งใดมาทำลาย :.:.:.



ในสมัยขอเดสิ เต็นซิน รับแก ได้มีการสืบสานประเพณีดรอมเชนี้ ซึ่งเป็นเทศกาลทางพระพุทธศาสนา เพื่อสวดมนตราและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องรักษาภูฏานไว้ ให้ดำรงคงอยู่ อันเป็นประเพณีที่ตกทอดมาจากการบุกเบิกของท่านงาวัง นัมเกล จนเป็นเอกลักษณ์ของภูฏานไปแล้ว

นอกจากนี้เต็นซิน รับเก ยังได้เพิ่มรายละเอียดของพิธีกรรม ชุดการแสดง และการรายรำของพระลามะในเทศกาลสำคัญที่ทั่วโลกรู้จักกันดี นั่นคือ เทศกาลเซจู หรือ เทศกาลระบำหน้ากาก (Mask Dance Festival) เพื่อรำลึกถึงวันประสูติของกูรู รินโปเช ที่ชาวภูฏานเคารพศรัทธา



ณ ลานกว้างใจกลางป้อมปราการแห่งเมืองพูนาคา ราชธานีเก่าของภูฏาน เสียงฉาบ กลอง และแตรยาวที่บรรเลงโดยพระสงฆ์ดังขึ้น เป็นสัญญาณว่าบัดนี้ “ดรอมเช-เตชู” เทศกาลแห่งพลังศรัทธากำลังจะเริ่มขึ้น

หากเราย้อนกลับไปยังช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว คำสอนของพระองค์ถูกตีความไปหลายทาง … จากทางตรงตามคำสอนในพระไตรปิฎกของ “สายเถรวาท” สู่การตีความของพระสงฆ์ชั้นหลังที่เรียกว่า “อาจาริยะวาท” หรือ “มหายาน” พัฒนาการไปสู่ “วัชระยาน” และ “วัชระยานตันตระ” หรือนิกายลามะแบบทิเบตตามลำดับ … ซึ่งนิกายลามะเองก็ยังแบ่งออกไปเป็นหลายสำนัก มีการต่อสู้แย่งชิงการนำกันเอง รวมถึงต้องต่อสู้แย่งมวลชนกับศาสนาฮินดูอย่างมาก

เวทมนตร์ คาถา เสื้อผ้าสีฉูดฉาด เครื่องดนตรีให้จังหวะ จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเสริมการสวดมนต์ที่กระแทกจังหวะหนักๆ เพื่อกำราบภูตผีปีศาจ และเรียกความสนใจจากมวลชน ทั้งยังเป็นมรรควิธีในการต่อสู้กับความหนาวเหน็บบนดินแดนหลังคาโลกอีกด้วย





ในช่วงเทศกาลการแสดงระบำหน้ากาก … สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ “อัตซารา” หรือนักแสดงตลก ผู้ใช้หน้ากากและท่วงท่าสื่อถึงอารมณ์ คอยแสยะหน้าล้อเลียนพระและเล่าตลกสองแง่สองง่าม ทำท่าชวนหัวให้ผู้คนได้หัวเราะเฮฮาเมื่อระบำธรรมะเริ่มจะน่าเบื่อขึ้นมา … เชื่อกันว่า อัตซารา เป็นตัวแทนของบรรดาเกจิอาจารย์ในอินเดีย พวกเขาเป็นกลุ่มเดียวที่ได้รับอนุญาตให้นำเอาศาสนามาล้อเลียนได้ในสังคมที่ถือว่าเรื่องพระเรื่องเจ้าเป็นของสูง

เทศกาลทางศาสนาส่วนใหญ่แล้วจะจักแสดงระบำเพียง 2-3 อย่าง … การแสดงของพระลามะและฆราวาสในเทศกาลนี้ที่พูนาคา ซองก์ จึงเป็นการจัดการแสดงให้คนหลายสิบคนแต่งตัวถืออาวุธเป็นนักรบกองทัพทิเบต ยืนส่งเสียงโห่ร้อง ทำกิริยาคุกคาม … ต่อมาทางฝ่ายธรรมะก็เข้ามาต่อสู่ และแน่นอนค่ะ เป็นฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ



ระบำหมวกดำ (Chang Nga Cham-Black Hat Dance) : การแสดงชุดนี้ใช้ผู้แสดงเป็นตัวแทนของเทพเจ้าทางตันตระผู้ทรงฤทธานุภาพ เสด็จลงมาเพื่อขับไล่วิญญาณร้ายและสร้างความบริสุทธิ์ให้กับมณฑลที่ใช้แสดงระบำในทุกย่างก้าวที่เยื้องกรายไป











พระลามะจะใส่ชุดนักรบสวมหมวกดำ กวัดแกว่งดาบฟาดฟันศัตรู แสดงถึงพลังการเคลื่อนไหวในชุดเครื่องแต่งกายที่ตระการตา ประกอบเข้ากับจังหวะของฉาบ กลอง และเสียงก้องกังวานของแตรขนาดใหญ่ …

เล่าขานตำนานการสังหารพระเจ้าลังดามาแห่งทิเบตในปี 842 พระองค์ชิงชัง รังเกียจ และกระทำย่ำยีพุทธศาสนา โดยสั่งให้เผาวัด เผาคัมภีร์พระไตรปิฎก จับพระลามะมาแล่เนื้อ หวังกำจัดนิการลามะ หรือลัทธิวัชระยานตันตระให้สิ้นซาก









จนมีลามะผู้กล้ารายหนึ่งนามว่า เปลกี โดร์จี ทนไม่ได้ จึงปลอมตัวไปร่วมพิธีเต้นรำบูชาปีศาจที่กษัตริย์อธรรมจัดขึ้น ซ่อนคันธนูไว้ในแขนเสื้อ … พอได้จังหวะก็ชักธนูออกมาปลงพระชนม์ แล้วขี่ม้าสีดำหนีไปทางแม่น้ำ

ม้าที่ดูเป็นสีดำเพราะถูกเขม่าทา พอขึ้นจากน้ำก็กลับกลายเป็นม้าสีขาว … ส่วนพระลามะก็เปลี่ยนชุดกลับไปร่วมพิธีโดยไม่มีใครจับได้ หลังจากนั้นนิกายลามะก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว พุทธวัชระยานจึงคงอยู่ในดินแดนแถบหิมาลัยอย่างยั่งยืนตลอดมา











ในช่วงที่มีการแสดงชุดนี้ ผู้แสดงจะรัวกลองไปในขณะที่ขยับตัวไปตามจังหวะ เพื่อแสดงชัยชนะที่มีเหนือภูติผีปีศาจและวิญญาณชั่วร้าย



ระบำกิงกับโชลิง : กล่าวกันว่าคุรุริน โปเช ทรงแสดงระบำนี้เป็นครั้งแรกด้วยพระองค์เองในศตวรรษที่ 8 ที่อารามซัมเม ในประเทศทิเบต









โชลิง คือบรรดาเทพเจ้าผู้ปกปักรักษาพุทธศาสนาในภาคดุร้าย ออกมาสำแดงกายเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายและสร้างความบริสุทธิ์ให้กับสถานที่ จากนั้นพวกกิง (เหล่าผู้ติดตามคุรุ โปเช) ก็จะออกมาไช้โชลองโป แล้วยึดครองพื้นที่แทน พร้อมรัวกลองแสดงชัยชนะของพระพุทธศาสนา

















ระบำหน้ากากจากตำนานเก่าแก่นี้ ทำให้เราประทับใจมาก ทั้งในส่วนที่ผู้แสดงสวมเครื่องแต่งกายตัดเย็บด้วยผ้าไหมยกดอกที่สวยงามอลังการมาก … ศีรษะของผู้แสดงสวมหน้ากากใบหน้าคนในสีต่างๆ ท่าทาง การเคลื่อนไหวที่ทรงพลัง แสดงถึงการฝึกซ้อมที่ยาวนาน ในบางช่วงพระลามะกระโดดจนกระโปรงบานพลิ้วน่าตื่นตา ตื่นใจมาก



ระบำการพิพากษาวิญญาณ : เป็นหนึ่งในระบำที่น่าสนใจที่สุดในเทศกาลนี้ เป็นระบำสั่งสอนแบ่งออกเป็น 2 องค์









องค์แรกเริ่มด้วยการเต้นระบำของบรรดา “รักซา” ซึ่งเป็นบริวารของพระยม ผู้แสดงจะสวมชุดกระโปรงสีเหลืองกับหน้ากากรูปสัตว์

จากนั้นพระยายม “เทพชินจี เกอกี กัลโป” จะปรากฏตัวขึ้นพร้อมลูกน้องคนสนิท … พระยายมราช เทพแห่งความตายที่ปรากฏตัวในชุดผ้าไหมยกดอกสีแดงสดที่ศีรษะสวมหัวควายป่า คล้ายกับพระยายมราชของฮินดูที่ทรงมหิงสาเป็นพาหนะ … ชาวพุทธวัชระยาน อธิบายว่า พระยายมราชของพวกเขาเป็นอวตารหนึ่งของพระโพธิสัตว์มัญชุศรี พระโพธิสัตว์ผู้ทรงปัญญาธิคุณ และยังทรงเป็นเทพเจ้าแห่งความตาย เป็นผู้ปกครองโลกทั้งสาม คือโลกบาดาล มนุษย์ และสวรรค์









การร่ายรำโดยพระโพธิสัตว์ของชาวพุทธวัชระยานตันตระนี้จะเป็นคู่ๆกับตาระ เพื่อล้างบาปและอำนวยโชคลาภให้ชาวบ้านที่มาร่วมงาน รวมถึงนำมาซึ่งความสว่างไสวทางปัญญา … เชื่อกันว่าพรศักดิ์สิทธิ์จะขจรขจายจากกระโปรงของพระนักแสดงมาสู่ผู้ชม

ชาวภูฏานที่ส่งสายตาจ้องเขม็งไปยังพระนักเต้นที่กำลังหมุนตัวจนกระโปรงบาน มีคำอธิบายว่า … นี่คืออาการที่พวกเขากำลังรับพรศักดิ์สิทธิ์ที่ขจรขจายมาจากชายกระโปรงของพระลามะนั่นเอง





ภาพของเหล่านักแสดงที่เป็นพระลามะที่สวมศีรษะเป็นรูปสัตว์หลายชนิด ซึ่งกำลังร่ายรำด้วยการหมุนตัวจนกระโปรงพลิ้วบาน สลับกับการย่างสามขุมแล้วกระทืบเท้าไปตามจังหวะฉาบและกลอง … ภาพที่เราเห็นไม่ใช่มหรสพหรือการแสดง หากแต่เป็นพิธีกรรมทางศาสนา เป็นนาฏธรรมแห่งจิตวิญญาณของชาวพุทธวัชระยาน

การร่ายรำมิใช่เพื่อความบันเทิงของผู้รำ หากแต่คือการบูชาคารวะ พร้อมๆกับการทำสมาธิอันเป็นหนทางสู่ปัญญา



หากย้อนกลับไปยังตำนานของการสร้างชาติของภูฏาน … เมื่อครั้งที่ท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล หนีจากทิเบตนั้น ผู้ชี้ทางให้ท่านซับดรุงฯหนีการไล่ล่าจนมาถึงที่นี่ เป็นหัวหน้าปีศาจสองผัวเมียที่มีร่างเป็นคน หัวเป็นนกจำพวกกา ซึ่งชาวภูฏานเรียกว่า “จารก” หรือ Raven …

คุณความดีในครั้งนั้นทำให้หัวหน้าปีศาจได้รับการยกย่องเป็นหัวหน้า “ธรรมบาล” ผู้คุ้มครองคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้นามว่า “มหาบาล” กับ “มหากาลี” มีหน้าที่คุมทัพปีศาจฝ่ายธรรมะไปต่อสู้กับปีศาจฝ่ายอธรรมที่ขัดขวางการเผยแพร่พุทธศาสนา หากมีการต่อสู่ดุเดือด บางทีจะปรากฏร่างเป็นยักษ์หลายหัว ตัวดำ พุงป่องน่าเกลียดน่ากลัว … แต่ยิ่งน่าเกลียดเท่าไหร่ ก็ยิ่งถือเป็นคุณความดีในการปกป้องศาสนาพุทธ ถึงขั้นที่ชาวภูฏานยกย่องธรรมบาลสองตนนี้เทียบเท่าพระโพธิสัตว์ หรือผู้ที่มีคุณสมบัติพร้อมที่จะไปตรัสรู้ แต่ยังไม่ไป เพราะต้องการช่วยชาวโลกที่ตกทุกข์ได้ยากเสียก่อน

นี่จึงเป็นที่มาของเทศกาลดรอมเช หรือเทศกาลบูชาธรรมบาลมหากาลกับมหากาลีผู้ยิ่งใหญ่ พร้อมๆกับการระลึกถึงท่านสังฆราชงาวัง นัมเกล ผู้ที่ทุกคนยกย่องในฐานะผู้รวมชาติสำเร็จเป็นท่านแรก





ช่วงเวลาอีกไม่นานต่อมา กลอง ฉาบ ก็ประโคมขึ้นมาอีกครั้ง …. คราวนี้มีพระลามะนักเต้นระบำหน้ากากออกมาเป็นชุดใหญ่จนเต็มของลานทั้งสี่ด้าน

แต่ละรูปสวมชุดผ้าไหมยกดอกหลากสีสันและรูปแบบบนศีรษะ นำโดยพญาครุฑ ตามมาด้วยเสือ สิงห์ ลิง กวาง สุนัขจิ้งจอก และควายป่า … ต่างเต้นระบำ และกระโดดหมุนตัวพร้อมกันตามจังหวะดนตรี





ชุดนี้เป็นการร่ายรำที่โด่งดังในชื่อ “รักชา มางชัม” (Raksha Mangcham) หรือการ่ายรำเพื่อพิพากษาบาป บุญ คุณโทษ ของผู้วายชนม์ (Dance of judgment of the death) เนื้อหาเล่าถึงเรื่อนายพรานที่ถูกวิญญาณสรรพสัตว์ที่เขาเคยล่ากลับมาจองเวร จับนายพรานมาสับเป็นชิ้นๆ … ต้องถือว่าเป็นการสอนศีลธรรม ว่าด้วยบาปแห่งการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายว่า สรรพสัตว์ที่ออกมาร่ายรำนั้น ในอดีตคือภูตผีวิญญาณร้ายที่สิงสถิตอยู่ในบริเวณนี้มาก่อน เมื่อท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล จะสถาปนา พูนาคาซองก์ ท่านจะต้องกำราบวิญญาณร้ายให้หมด หากภูตผีตนใดร้องขอชีวิต ท่านจะยื่นเงื่อนไขให้มาเป็นธรรมบาล คอยปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนา และชี้นำทางคนตายไปสู่สรวงสวรรค์

การเฝ้าชมพิธีกรรมระบำหน้ากาก จึงเป็นการมาล้างบาป มารับพร และขัดเกลาศีลธรรมจรรยา รวมถึงเป็น การมาทำความรู้จักกับธรรมบาลในร่างของสัตว์ เพื่อเวลาที่เราตายแล้วไปพบท่าน ก็จะไม่ตกใจกลัว แล้วท่านจะชี้นำทางเราไปสู่สรวงสวรรค์

ธรรมบาลบางองค์ เช่นธรรมบาลวานร เดินด้วยท่วงท่าตลกๆ … เพื่อเรียกรอยยิ้ม แก้ง่วง รวมถึงขอรับบริจาคไปด้วย … ก่อนที่จะชมการร่ายรำชุดต่อไป











ระบำและดนตรีทางโลก : นอกจากระบำธรรมะแล้ว ยังมีการแสดงทางโลก โดยอาจใช้ผู้แสดงทั้งชายและหญิง แสดงร่วมกันหรือแยกกันก็ได้ โดยปกติผู้แสดงจะเต้นไปร้องไป ส่วนในวาระที่เป็นทางการเช่นวันนี้จะมีดนตรีประกอบด้วย

ระบำส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมทิเบต หรือเนปาล ส่วนบทเพลงที่ใช้มักจะมีต้นกำเนิดมาจากศาสนาเป็นส่วนใหญ่

<a href="https://www.youtube.com/v/NpOsExM6A5M" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/NpOsExM6A5M</a>

การแสดงระบำหน้ากากในวีดีโอด้านบน เป็นการแสดงของทิเบตที่เปิดการแสดงในกรุงเทพฯเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งคล้ายกับที่ภูฏานมาก ด้วยเหตุที่มีรากเหง้ามาจากที่เดียวกัน

จาก http://www.oknation.net/blog/supawan/2012/05/12/entry-2
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...