ผู้เขียน หัวข้อ: ดร.อัมเบดการ์ มหาบุรุษผู้นำพุทธศาสนากลับคืนสู่ มาตุภูมิ ( อินเดีย )  (อ่าน 2324 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ประวัติ ดร.เอ็มเบดก้าร์

ประวัติชีวิต

ด.ร. อัมเบดการ์ หรือชื่อเต็มของท่าน คือ บาบาสาเหบ พิมเรา รามจิ อัมเบดการ์(Dr. Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar) เกิดในวรรณะศูทร ที่ยากจนที่สุดตระกูลหนึ่งของอินเดีย ในเมืองนาคปูร์ รัฐมหาราษฏร์ ทางตอนกลางของอินเดีย เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๓๔ ท่านเกิดในหมู่บ้านคนอธิศูทร (คนวรรณะจัณฑาล มีชื่อเรียกมากมาย เช่น หริจันทร์ จัณฑาล อธิศูทร ในที่นี้จะใช้คำว่า อธิศูทร) ชื่อว่า อัมพาวดี เป็นบุตรชายคนสุดท้อง คนที่ ๑๔ ของ รามจิ สักปาล และนางพิมมาไบ สักปาล ก่อนที่ท่านอัมเบดการ์จะเกิดนั้น มีเรื่องเล่าว่า ลุงของพ่อเขา ซึ่งไปบวชเป็นสันยาสี(ผู้ถือสันโดษ ตามแนวคิดเรื่องอาศรม ๔ ของฮินดู) อาศัยอยู่ตามป่าเขา ได้มาพำนักในแถบละวกบ้านของเขา รามจิได้ทราบจากญาติคนหนึ่ง ว่าหลวงลุงของตนมาพำนักอยู่ใกล้ๆ จึงไปนิมนต์ให้มารับอาหารที่บ้าน นักบวชสันยาสีนั้นปฏิเสธ แต่ได้ให้พรแก่รามจิว่า \"ขอให้มีบุตรชาย และบุตรชายของเธอจงมีชื่อเสียง เกียรติในอนาคต ได้จารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ชาติอินเดีย\" ซึ่งพรนั้นก็มาสำเร็จสมปรารถนา เมื่อวันที่ท่านอัมเบดการ์เกิดนั้นเอง บิดามารดาได้ตั้งชื่อให้ว่า \"พิม\"
แม้จะเกิดมาในครอบครัวอธิศุทรที่ยากจน แต่บิดาก็พยายามส่งเสียจนเด็กชายพิม สามารถเรียนจนจบประถม ๖ ได้ เมื่อจบแล้ว บิดาก็ไม่ได้หยุดที่จะให้บุตรได้รับความรู้ พยายามอดมื้อกินมื้อ เงินที่ได้รับจากการรับจ้างแบกหาม ก็เอามาส่งเสียเป็นค่าเล่าเรียนให้กับเด็กชายพิม จนกระทั่ง สามารถส่งให้เรียนจนจบมัธยมได้สำเร็จ แต่ในระหว่างการเรียนนั้น พิมจะต้องเผชิญหน้ากับความดูหมิ่นเหยีดหยามของทั้งครูอาจารย์ และนักเรียนซึ่งเป็นคนในวรรณะสูงกว่า


ดร.เอ็มเบดการ์(ยืนประนมมือ) เมื่อครั้งเรียนหนังสือระดับมัธยม ต้องนั่งเรียนกับพื้น

เรื่องบางเรื่องที่กลายเป็นความช้ำใจในความทรงจำของพิม เช่นว่า เมื่อเขาเข้าไปในห้องเรียน ทั้งครู และเพื่อนร่วมชั้นต่างก็แสดอาการขยะแขยง รังเกียจ ในความเป็นคนวรรณะต่ำของเขา เขาไม่ได้รับอนุญาตแม้แต่การที่จะไปนั่งบนเก้าอี้ในห้องเรียน เขาต้องเลือกเอาที่มุมห้อง แล้วปูกระสอบ นั่งเรียนอยุ่อย่างนั้น แม้แต่เวลาจะส่งงานต่ออาจารย์ อาจารย์ก็มีทีท่ารังเกียจ ไม่อยากจะรับสมุดของเขา

เวลาที่เขาถูกสั่งให้มาทำแบบทดสอบหน้าชั้นเรียน นักเรียนในห้องที่เอาปิ่นโต ห่ออาหารที่ห่อมากินที่โรงเรียน วางไว้บนกระดานดำ จะเร่งกรูกันไปเอามาไว้ก่อน เพราะกลัวว่าความเป็นเสนียดของพิม ขะไปติดห่ออาหารของพวกเขาที่วางอยู่บนกระดานดำ

แม้แต่เวลาที่เขาจะไปดื่มน้ำที่ทางโรงเรียนจัดไว้ เขาก็ถูกห้ามอย่างเด็ดขาดที่จะไปจับต้องแท๊งค์น้ำ หรือแก้วที่วางอยุ่ เพราะทุกคนรังเกียจว่าเสนียดของเขา จะไปติดที่แก้วน้ำ เขาต้องขอร้องเพื่อนๆ ที่พอมีความเมตตาอยู่บ้าง ให้ตักน้ำแล้วให้พิมคอยแหงนหน้า อ้าปาก ให้เพื่อนเทน้ำลงในปากของพิม เพื่อป้องกันเสนียด ในความเป็นคน ต่างวรรณะของเขา ซึ่งเป็นความน่าเจ็บช้ำใจยิ่งนัก

อย่างไรก็ตาม ในโลกนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ยักษ์มาร ครูคนหนึ่ง ซึ่งเป็นวรรณะพราหมณ์ แต่เป็นผู้มีเมตตาผิดกับคนในวรรณะเดียวกัน บางครั้งครูท่านนี้ก็จะแบ่งอาหาร ของตนให้กับพิม แต่เขาก็แสดงออกมากไม่ได้ เพราะอาจจะถูกคนในวรรณะเดียวกันเกลียดชังไปด้วย ครูท่านนี้คิดว่า เหตุที่พิมถูกรังเกียจ เพราะความที่นามสกุลของเขา บ่งชัดความเป็นอธิศูทร คือนามสกุล \"สักปาล\"(นามสกุลของคนอินเดีย เป็นตัวบอกวรรณะด้วย) ครูท่านนั้นได้เอานามสกุลของตน เปลี่ยนให้กับพิม โดยแก้ที่ทะเบียนโรงเรียน ให้เขาใช้นามสกุลว่า \"อัมเบดการ์\" พิมจึงได้ใช้นามสกุลใหม่นั้นเป็นต้นมา (จากนามสกุลอัมเบดการ์นี้เอง ทำให้หลายๆคนคิดว่าพิม เป็นคน ในวรรณะพราหมณ์ )

หลังจากอดทนต่อความยากลำบาก การถุกรังเกียจจากคนรอบข้าง ที่รู้ว่าเขาเป็นคนอธิศูทรแล้ว เขาก็ได้สำเร็จการศึกษาจบมัธยม ๖ ซึ่งนับว่าสุงมาก สำหรับคนวรรณะอย่างพิม แต่มาถึงขั้นนี้ พ่อของเขาก็ไม่สามารถที่จะส่งเสียให้เรียนต่อไปได้อีก จนจบปริญญาตรี เคราะห์ดีที่ ในขณะนั้น มหาราชาแห่งเมืองบาโรดา ซึ่งเป็นมหาราชาผุ้มีเมตตา พระองค์ไม่มีความรังเกียจในคนต่างวรรณะ ปรารถนาจะยกระดับการศึกษาแม้คนระดับอธิศูทร ได้มีนักสังคมสงเคราะห์พาพิม อัมเบดการ์ เข้าเฝ้ามหาราชา พระองค์ได้ทรงพระราชทานเงินทุนในการศึกษาต่อของพิม โดยให้เป็นเงินทุนเดือนละ ๒๔ รูปี ทำให้พิม สามารถเรียนจบปริญญาตรีได้ ต่อมา มหาราชาแห่งบาโรดา ได้ทรงคัดเลือกนักศึกษาอินเดีย เพื่อจะทรงส่งให้ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศอเมริกา ซึ่งพิมได้รัลคัดเลือกด้วย เขาได้พบกับสิ่งที่เรียกว่า อิสรภาพ และความเสมอภาค เพราะที่อเมริกานั้นไม่มีคนแสดงอาการรังเกียจเขา ในความเป็นคนอธิศูทร เหมือนอย่างในประเทศอินเดีย หลังจากจบการศึกษา ถึงขั้นปริญญาเอกแล้ว เรียกว่ามีชื่อนำหน้าว่า ด.ร. พิม อัมเบดการ์ ได้เดินทางกลับมาอินเดีย เขาได้พยายามต่อสู้เพื่อคนในวรรณะเดียวกัน ไม่ใช่แต่เท่านั้น เขาพยายามต่อสู้กับความอยุติธรรมที่สังคมฮินดู ยัดเยียดให้กับคนในวรรณะต่ำกว่า

ด.ร. อัมเบดการ์ ได้ทำงานในหลายๆเรื่อง หลังจากจบการศึกษาที่อเมริกาแล้ว เขาได้เป็นอาจารย์สอนในวิทยาลัยซิดนาห์ม ในบอมเบย์ ในปี ๒๔๖๑ ต่อมาได้รับการ พระราชทานอุปถัมภ์จากเจ้าชายแห่งเมืองโครักขปูร์ ซึ่งเป็นผู้มีพระทัยเมตตาเช่นเดียวกับมหาราชาแห่งบาโรด้า ในปรารถนาที่จะถอนรากถอนโคนความอยุติธรรม ที่สังคมฮินดู กีดกันคนในวรรณะอื่นๆ ได้ทรงอุปถัมภ์ให้คนอธิศุทร มารับราชการในเมืองโครักขปุร์ แม้นายควาญช้าง พระองค์ก็เลือกจากคนอธิศูทร เจ้าชายแห่งโครักขปุร์ ได้ทรงอุปถัมภ์ในการจัดทำหนังสือพิมพ์ มุขนายก หรือ \"ผู้นำคนใบ้\" ของด.ร.อัมเบดการ์ เช่นอุปถัมภ์ค่ากระดาษพิมพ์ และอื่นๆ ซึ่งอัมเบดการ์ไม่ได้เป็นบรรณาธิการเอง แต่อยู่เบื้องหลัง และเขียนบความลงหนังสือพิมพ์ ในบทความครั้งหนึ่ง มีคำพูดที่คมคายน่าสนใจ ว่า

\"อินเดียเป็นดินแดนแห่งความเหลื่อมล้ำต่ำสูง สังคมฮินดูนั้นช่างสูงส่งประดุจหอคอยอันสูงตระหง่าน มีหลายชั้นหลายตอน แต่ไม่มีบันไดหรือช่องทาง ที่จะเข้าไปสู่หอคอยอันนั้นได้ คนที่อยู่ในหอคอยนั้นไม่มีโอกาสที่จะลงมาได้ และจะติดต่อกับคนในหอคอยเดียวกันในอีกชั้นหนึ่งก็ทำไม่ได้ ใครเกิดในชั้นใดก็ตายในชั้นนั้น\" เขาได้กล่าวถึงว่า สังคมฮินดูมีส่วนประกอบอยู่สามประการ คือ พราหมณ์ มิใช่พราหมณ์ และอธิศูทร พราหมณ์ผู้สอนศาสนามักกล่าวว่า พระเจ้ามีอยู่ในทุกหนแห่ง ถ้าเช่นนั้น พระเจ้าก็ต้องมีอยู่ในอธิศูทร แต่พราหมณ์กลับรังเกียจคนอธิศูทร เห็นเป็นตัวราคี นั่นแสดงว่าเขากำลังเห็นพระเจ้าเป็นตัวราคีใช่หรือไม่

ด.ร. อัมเบดการ์มีผลต่อความเคลื่อนไหวหลายๆอย่างในอินเดียขณะนั้น เขาเป็นอธิศูทรคนแรก ที่ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของอินเดีย หลังจากที่อินเดีย ได้รับเอกราช เป็นผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย เขาเป็นผู้ที่ชี้แจงต่อที่ประชุมในโลกสภา โดยการอนุมัติของด.ร.ราเชนทรประสาท ให้ชี้แจงอธิบายต่อผู้ซักถาม ถึงบางข้อบางประเด็นในรัฐธรรมนูญ หนังสือพิมพ์บางฉบับลงเหตุการ์ตอนนี้ว่า \"ด.ร.อัมเบดการ์ ทำหน้าที่ชี้แจงอธิบาย เรื่องร่างรัฐธรรมนูญต่อผู้ร่วมประชุม ประดุจพระอุบาลีเถรเจ้า วิสัชชนาข้อวินัยบัญญัติ ในที่ประชุมปฐมสังคายนา ต่อพระสงฆ์ ๕๐๐ มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ฉะนั้น\" และเขาเป็นผู้ต่อสู้เพื่อทำลาย ความอยุติธรรม ที่คนในชาติเดียวกัน หยิบยื่นให้กับคนในชาติเดียวกัน แต่ต่างวรรณะกันเท่านั้น



การปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ

ด.ร.อัมเบดการ์ แต่งงานมีครอบครัว สองครั้ง ครั้งแรกแต่งกับคนในวรรณะเดียวกัน ชื่อว่านางรามาไบ ครั้งที่สอง เขาได้พบรักกับแพทย์หญิงในวรรณะพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อว่า ชาดา คาไบ ในโรงพยาบาลที่เขาไปรับการรักษาอาการป่วย เขาได้แต่งงานครั้งที่สอง และเป็นครั้งแรกที่คนในวรรณะต่ำเช่นเขา ได้แต่งงานกับคนในวรรณะสูง คือวรรณะพราหมณ์ เมื่ออายุเขาได้ ๕๖ ปี และมีคนใหญ่คนโต นักการเมือง พ่อค้า คนในวรรณะต่างๆมาร่วมงานแต่งงานของเขามากมาย ต่างจากครั้งแรก ที่เขาแต่งงานในตลาดสด

หลังจากนั้น ด.ร.อัมเบดการ์ ได้ลงจากเก้าอี้ทางการเมือง เขาถือว่าเขาไม่ได้พิศวาสตำแหน่งทางการเมืองอะไรนัก ที่เขาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ก็เพราะเขาต้องการ ทำงานเพื่อเรียกร้องความถุกต้องให้กับคนที่อยุ่ในวรรณะต่ำ ที่ได้รับการข่มเหงรังแกเท่านั้น

เหตุการณ์สำคัญประการหนึ่ง ที่ด.ร.อัมเบดการ์ได้กระทำ และเป็นสิ่งที่มีคุณูปการมากต่อพระพุทธศาสนา ในประเทศอินเดีย คือการเป็นผู้นำชาวพุทธศูทรกว่า๕ แสนคน ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ เหตุการณ์ตอนนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก จึงขอกล่าวถึงอย่างละเอียดสักหน่อย

ความจริง อัมเบดการ์สนใจพระพุทธศาสนามานานแล้ว โดยเฉพาะจากการได้อ่านหนังสือพระประวัติของพระพุทธเจ้า ซึ่งเขียนโดยท่านพระธัมมานันทะ โกสัมพี ชื่อว่า \"ภควาน บุดดา\"(พระผู้มีพระภาคเจ้า) เขาได้ศึกษาแล้วว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่มีข้อรังเกียจในเรื่องวรรณะ ไม่ปิดกั้นการศึกษาพระธรรม ให้ความเสมอภาค และภราดรภาพแก่คนทุกชั้น ในจิตใจของด.ร.อัมเบดการ์ เป็นชาวพุทธอยุ่ก่อนแล้ว แต่เขาตั้งใจจะทำให้เป็นรูปเป็นร่างยิ่งขึ้น สิ่งที่ปรารถนาก็คือ การปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ พร้อมกับพี่น้องชาวอธิศูทร ใน งานฉลองพุทธชยันติ (Buddhajayanti)
ท่านด.ร.อัมเบดการ์ ๆได้กล่าวสดุดีพระพุทธศาสนา เขียนหนังสือเผยแผ่พระพุทธธรรมหลายเล่ม เช่น \"พุทธธรรม \"(Buddha and His Dhamma) \"ลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนา\" (The Essential of Buddhism) และคำปาฐกถาอื่นๆ ที่ได้รับการตีพิมพ์ภายหลัง เช่น \"การที่พระพุทธศาสนาหมดไปจากอินเดีย\" (The down fall of Buddhism in india) เป็นต้น

ก่อนหน้าที่จะมีงานฉลองพุทธชยันตี เป็นที่ทราบกันดีว่า อินเดียในขณะนั้น มีชาวพุทธอยู่ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นอัพโภหาริก คือน้อยจนเรียกไม่ได้ว่ามี แต่เหตุใดจึงมีงานฉลองนี้ขึ้น คำตอบนี้น่าจะอยุ่กับท่านยวาห์ ราล เนรูห์ ซึ่งท่านได้กล่าวคำปราศรัยไว้ในที่ประชุมโลกสภา (รัฐสภาของอินเดีย เรียกว่า โลกสภา) เรื่องการจัดงานฉลองพุทธชยันตี ว่า
\"พระพุทธเจ้า เป็นบุตรที่ปราดเปรื่องยิ่งใหญ่ และรอบรู้ที่สุดของอินเดีย ในโลกนี้ซึ่งเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เคียดแค้น และรุนแรง คำสอนของพระพุทธเจ้า ส่องแสงเหมือนดวงอาทิตย์ที่รุ่งโรจน์ ไม่มีคนอินเดียคนใด ที่จะนำเกียรติยศ เกียรติภุมิ กลับมาสู่อินเดียได้เท่ากับพระพุทธองค์ หากเราไม่จัดงานฉลองท่านผู้นี้แล้ว เราจะไปฉลองวันสำคัญของใคร\" และได้กล่าวอีกตอนหนึ่งว่า \"ข้าพเจ้าไม่นับถือศาสนาใดๆในโลกทั้งนั้น แต่หากจะต้องเลือกนับถือแล้ว ข้าพเจ้าขอเลือกนับถือพระพุทธศาสนา\"

ในงานฉลองพุทธชยันตินั้น รัฐบาลอินเดียได้จัดสรรงบประมาณการจัดงาน ฉลองตลอด ๑ปี เต็มๆ โดยวนเวียนฉลองกันไปตามรัฐต่างๆ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณต่างๆ เช่น ทำตัดถนนเข้าสุ่พุทธสังเวชนียสถานต่างๆให้ดีขึ้น สร้างธรรมศาลา ทำการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาร่วมงานพุทธชยันตีจากประเทศต่าง จัดพิมพ์หนังสือสดุดี พระพุทธศาสนา จัดทำหนังสือวิชาการพระพุทธศาสนา โดยนักปราชญ์หลายท่านเขียนขึ้น ประธานาธิบดีราธ กฤษนัน เขียนคำนำสดุดีพุทธคุณ ให้ชื่อว่า \"2500 years of Buddhism\" (๒๕๐๐ ปีแห่งพระพุทธศาสนา) ทั่วทั้งอินเดีย ก้องไปด้วยเสียง พุทธัง สรณัง คจฺฉามิ

ส่วนในการปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะนั้น ท่านอัมเบดการ์ได้นำชาววรรณะศูทร ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะที่เมืองนาคปูร์ สาเหตุที่ท่านเลือกเมืองนี้ แทนที่จะเป็นเมืองใหญ่ๆ อย่างบอมเบย์ หรือเดลลี ท่านได้ให้เหตุผลว่า \"ผู้ที่ทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตอนแรกๆ นอกจากพระสงฆ์ คือพวกชนเผ่านาค ซึ่งถูกพวกอารยัน กดขี่ข่มเหง ต่อมาพวกนาคได้พบกับพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมจนพวกนาคเหล่านั้นเลื่อมใส ปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ และเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไปทั่ว เมืองนาคปูร์นี้ เป็นเมืองที่พวกนาคตั้งหลักแหล่งอยู่\" (คำกล่าวของท่านอัมเบดการ์มีมูลอยุ่ไม่น้อย และจะว่าไปแล้ว หลังจากพระพุทธศาสนา เริ่มถูกทำลายจากอินเดีย เมืองนาคปูร์เป็นเมือง ที่มีชาวพุทธอาศัยอยู่มาก และเป็นเมืองที่มีชาวศุทร หรือคนวรรณะต่ำอยู่มากอีกด้วย ดังนั้นศูนย์กลางพุทธศาสนิกชนในอินเดียปัจจุบันที่เป็นคนวรรณะศูทร จึงอยู่ที่นาคปูร์)



ในการปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ ๕ แสนคน เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙นั้น มีพระภิกษุอยู่ในพิธี ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย ๓ รูป คือ ท่านพระสังฆรัตนเถระ (Ven. M. Sangharatana Thera) พระสัทธราติสสะเถระ (Ven. S. Saddratissa Thera) และพระปัญญานันทะเถระ (Ven. Pannanand Thera) ในพิธีมีการประดับธงธรรมจักรและสายรุ้งอย่างงดงาม ในพิธีนั้น ผู้ปฏิญาณตนได้กล่าวคำปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ และคำปฏิญญา ๒๒ ข้อ ของท่านอัมเบดการ์ ดังนี้

๑. ข้าพเจ้าจะไม่บูชาพระพรหม พระศิวะ พระวิษณุต่อไป
๒. ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่าพระราม พระกฤษณะ เป็นพระเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่เคารพต่อไป
๓. ข้าพเจ้าจะไม่เคารพบูชาเทวดาทั้งหลายของศาสนาฮินดูต่อไป
๔. ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อลัทธิอวตารต่อไป
๕. ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าคืออวตารของพระวิษณุ การเชื่อเช่นนั้น คือคนบ้า
๖. ข้าพเจ้าจะไม่ทำพิธีสารท และบิณฑบาตแบบฮินดูต่อไป
๗.ข้าพเจ้าจะไม่ทำสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า
๘. ข้าพเจ้าจะไม่เชิญพราหมณ์มาทำพิธีทุกอย่างไป
๙. ข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้มีศักดิ์ศรีและฐานะเสมอกัน
๑๐. ข้าพเจ้าจะต่อสู้เพื่อความมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน
๑๑. ข้าพเจ้าจะปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ โดยครบถ้วน
๑๒. ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ โดยครบถ้วน
๑๓. ข้าพเจ้าจะแผ่เมตตาแก่มนุษย์และสัตว์ทุกจำพวก
๑๔. ข้าพเจ้าจะไม่ลักขโมยคนอื่น
๑๕. ข้าพเจ้าจะไม่ประพฤติผิดในกาม
๑๖. ข้าพเจ้าจะไม่พูดปด
๑๗. ข้าพเจ้าจะไม่ดื่มสุรา
๑๘. ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญตนในทาน ศีล ภาวนา
๑๙. ข้าพเจ้าจะเลิกนับถือศาสนาฮินดู ที่ทำให้สังคมเลวทราม แบ่งชั้นวรรณะ
๒๐.ข้าพเจ้าเชื่อว่าพุทธศาสนาเท่านั้นที่เป็นศาสนาที่แท้จริง
๒๑. ข้าพเจ้าเชื่อว่าการที่ข้าพเจ้าหันมานับถือพระพุทธศาสนานั้นเป็นการเกิดใหม่ที่แท้จริง
๒๒. ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตนตามคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด


หลังจากปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะแล้ว เขากล่าวว่า \"ข้าพเจ้าเกิดมาจากตระกูลที่นับถือศาสนาฮินดู แต่ข้าพเจ้าจะขอตายในฐานะพุทธศาสนิกชน\"

คำปราศรัยในที่ประชุมปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ของด.ร.อัมเบดการ์นั้น เป็นการแสดงถึงความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาของเขา ต่อมาได้มีผู้พิมพ์คำปราศรัยนี้ลงเป็นหนังสือ เป็นคำปราศรัยที่ยาวถึง ๑๒๖ หน้า ขนาด ๘ หน้ายก มีตอนหนึ่งที่ควรกล่าวถึง เช่น

\"พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมาจากตระกูลต่างๆกัน ย่อมมีความเสมอกันเมื่อมาสู่ธรรมวินัยนี้แล้ว เหมือนมหาสมุทร ย่อมเป็นที่รวมของน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำและทะเลต่างๆ เมื่อมาสู่มหาสมุทรแล้วก้ไม่สามารถจะแยกได้ว่าน้ำส่วนไหนมาจากที่ใด\"

\"พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่ปฏิเสธระบบวรรณะ และคนบางคนไม่มีเหตุผลจะโจมตีพระพุทธศาสนา หรือไม่มีเหตุผลมาหักล้างคำสอนของได้ ก็อ้างเอาอย่างหน้าด้านๆว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของพวกนอกวรรณะ\"

\"ถ้าหากจะมีพระนามใด ที่โจษขานกันนอกประเทศอินเดีย ที่โด่งดัง และกล่าวกันด้วยความเคารพสักการะแล้ว จะมิใช่พระนามของพระราม หรือพระกฤษณะ แต่จะเป็นพระนาม ของพระพุทธเจ้า เท่านั้น \"

เมื่อนักหนังสือพิมพ์ถามถึงเหตุผลในการนับถือพระพุทธศาสนา เขากล่าวว่า \"เพราะการกระทำอันป่าเถื่อนของชาวฮินดูที่มีต่อคนวรรณอธิศูทรเช่นเรามานานกว่า ๒๐๐๐ ปี\" พร้อมกันนั้นท่านกล่าวต่อว่า \"พอเราเกิดมาก็ถูกตราหน้าว่าเป็นวรรณะอธิศูทรซึ่งมีค่าต่ำกว่าสุนัข อะไรจะดีเท่ากับการผละออกจากลัทธิป่าเถื่อน ปลีกตัวออกจากมุมมืด มาหามุมสว่าง พุทธศาสนาได้อำนวยสุขให้ทุกคนโดยไม่เลือกหน้า โดยไม่เลือกว่าเป็นวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ความจริงข้าพเจ้าต้องการ เปลี่ยนศาสนาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๙๐ แต่เหตุการณ์ยังไม่อำนวย ข้าพเจ้าขอกล่าวว่าระบบวรรณะควรจะสูญไปจากอินเดียเสียที แต่ตราบใดที่ยังนับถือพระเวทอยู่ ระบบนี้ก็ยังคงอยู่ กับอินเดียตลอดไป อินเดียก็จะได้รับความระทมทุกข์ ความเสื่อมโทรมตลอดไปเช่นกัน พวกพราหมณ์พากัน จงเกลียดจงชังพระพุทธศาสนา แต่หารู้ไม่ว่าพระสงฆ์ในพุทธกาล ๙๐ % เป็นคนมาจากวรรณะพราหมณ์ทั้งสิ้น ข้าพเจ้าอยากจะถามพวกพราหมณ์ในปัจจุบันว่าเกิดอะไรขึ้น กับพวกเขาหรือ\"





อนุสาวรีย์ ดร. เอ็มเบตการ์ ที่หน้ารัฐสภาอินเดีย

บั้นปลายชีวิต

เป็นที่น่าเสียดายว่า หลังจากพิธีปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธได้ ๓ เดือน ท่านอัมเบดการ์ได้ถึงแก่กรรม ด้วยโรคร้าย ในวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ (ในอินเดียเป็นปี ๒๕๐๐ อินเดียนับพุทธศักราชเร็วกว่าไทย ๑ ปี เช่นเดียวกับพม่า และลังกา) สร้างความยุ่งเหยิงให้กับชาวศูทรมากมาย เพราะยังไม่ทันพาพวกเขาไปถึงจุดหมาย ท่านก็มาด่วนถึงแก่กรรม ไปเสียก่อน เหมือนเรือที่ขาดหางเสือ

เมื่อท่านอัมเบดการ์ถึงแก่กรรมนั้น มีหลายท่านแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง เมื่อข่าวการมรณะกรรมของท่านแพร่ออกไป มีทั้งรัฐมนตรี นักการเมืองเดินทางมาเคารพศพ และแสดงความเสียใจแก่ภรรยาของท่านอัมเบดการ์ นายกรัฐมนตรีเนรูห์ได้กล่าวอย่างเศร้าสลดว่า \"เพชรของรัฐบาลหมดไปเสียแล้ว\"

ในวันต่อมา นายกรัฐมนตรีเนรูห์ได้กล่าวไว้อาลัยด.ร.อัมเบดการ์ และสดุดีความดีของเขาอย่างมากมาย ตอนหนึ่งเขาได้กล่าวว่า \"ชื่อของอัมเบ็ดการ์ จะต้องถูกจดจำต่อไปอีกชั่วกาลนาน โดยเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อลบล้างความอยุติธรรมในสังคมฮินดู อัมเบดการ์ต่อสู้กับสิ่งที่ทุกคนเห็นว่าเป็นที่จำต้องต่อสู้ อัมเบดการ์ได้เป็นคนปลุกให้สังคม ของฮินดูได้ตื่นจากความหลับ\" และได้ให้มีการหยุดประชุมสภา เพื่อไว้อาลัยแด่ ด.ร. อัมเบดการ์

หลังจากนั้น ได้มีคนสำคัญต่างๆ และผู้ทราบข่าวการมรณกรรมของด.ร.อัมเบดการ์มากมาย ได้ส่งโทรเลขไปแสดงความเสียใจต่อภรรยาของอัมเบดการ์ มุขมนตรีของบอมเบย์ คือนายชะวาน ถึงกับประกาศให้วันเกิดของอัมเบดการ์ เป็นวันหยุดราชการของรัฐ เพื่อเป็นเกียรติแก่ดวงวิญญาณของท่านอัมเบดการ์
ภรรยาของเขาต้องการจะนำศพของท่านอัมเบดการ์ ไปทำพิธียังบอมเบย์ รัฐบาลก็ได้จัดเที่ยวบินพิเศษให้ เมื่อเครื่องบินนำศพมาถึงบอมเบย์ ประชาชนหลายหมื่นคนได้มารอรับศพของอัมเบดการ์ ซึ่งมีหลายคนที่ไม่สามารถอดกลั้นความเศร้าไว้ได้ ร้องไห้ไปตามๆกัน

ด.ร.อัมเบดการ์ ผู้เกิดมาจากสังคมอันต่ำต้อย ต่อสู้เพื่อตัวเอง เพื่อสังคม และเพื่อประเทศชาติอันเป็นส่วนรวม ตั้งแต่เกิดจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต บัดนี้ เขาได้จากไปแล้ว ทิ้งแต่ความดีเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้สรรเสริญ ชาวพุทธในอินเดียเชื่อว่า วิญญาณของอัมเบดการ์คงยังไม่ไปไหน จะคงอยู่กับพวกเขา คอยช่วยพวกเขา เพราะอัมเบดการ์ไม่เคยทิ้งคนจน ไม่เคยลืมคนยาก ช่วยเหลือพวกเขาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ต่อท้ายจากบทสวดสังฆรัตนะ พวกเขาจึงอ้างเอาด.ร.อัมเบดการ์เป็นสรณะด้วย โดยสวดว่า พิมพัง(ขื่อเดิมของอัมเบดการ์) สรณัง คัจฉามิ อยู่จนทุกวันนี้.

คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง


มีความมุมานะพยายามในการศึกษาเล่าเรียน แม้จะประสบความลำบาก ความเดือดร้อนมากเพียงใด ก็ก้มหน้ามุมานะต่อไปโดยไม่หยุดยั้งจนกระทั่งจบปริญญาเอก นี่คือความสำเร็จของเด็กยากจนที่เกิดในวรรณะศูทรที่ได้มาด้วยความมานะพยายาม
มีความอดทนเป็นเลิศ เมื่อครั้งศึกษาเล่าเรียน โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย ดร.เอ็มเบดการ์ ได้เผชิญกับปัญหาต่างๆถูกข่มเหงจากนักศึกษาต่างวรรณะ บางคนได้ข่มเหงรังแก ทุบตีอย่างทารุณ แต่ท่านก็ได้กัดฟันต่อสู้ต่อเหตุการณ์เหล่านั้นด้วยความอดทน และได้นำเหตุการณ์เหล่านั้นมาเป็นกำลังใจให้มีความมุมานะในการศึกษาเล่าเรียนยิ่งขึ้น

มีสติปัญญาดี จนสามารถเรียนจนจบปริญญาเอก

ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ดร.เอ็มเบดการ์ ได้นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นหลักในการปฏิวัติระบบชนชั้นวรรณะของสังคมอินเดีย ดังที่ท่านประกาศไว้ตอนหนึ่งว่า "ระบบวรรณะนั้นเป็นความบกพร่อง ใครเกิดมาในวรรณะเลวก๊ต้องเลวอยู่ชั่วชาติ จะทำอย่างไรก็ไม่มีทางดีขึ้นมาได้ ข้อนี้จึงเป็นเรื่องฟังไม่ขึ้นอีกจ่อไป...กฏแห่งกรรมของพระพุทธเจ้าไม่มีใครลบล้างได้ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญความเพียร ชัยชนะของแต่ละคนขึ้นอยู่กับความเพียร ยาจกก็สามารถยกตนขึ้นเป็นมหาเศรษฐีได้ เพราะความเพียร ด้วยที่ท่านมีนำ้ใจที่หนักแน่น มีอุดมคติสูง กล้าหาญ เสียสละ จึงได้รับสมญานามว่า มนุษย์กระดูกเหล็ก ฝีปากกล้า และอภิชาตบุตรของชาวหริจันทร์(ชาวศูทร)

จาก http://www.oocities.org/watdonta_y/mbedkar.htm


ดร.เอ็มเบดการ์นำชาววรรณะศูทรปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ 5 เเสนคน

การปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ ๕ แสนคน เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙
ผู้ปฏิญาณตนได้กล่าวคำปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ และคำปฏิญญา ๒๒ ข้อ ของท่านอัมเบดการ์ ดังนี้

๑. ข้าพเจ้าจะไม่บูชาพระพรหม พระศิวะ พระวิษณุต่อไป
๒. ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่าพระราม พระกฤษณะ เป็นพระเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่เคารพต่อไป
๓. ข้าพเจ้าจะไม่เคารพบูชาเทวดาทั้งหลายของศาสนาฮินดูต่อไป
๔. ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อลัทธิอวตารต่อไป
๕. ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าคืออวตารของพระวิษณุ การเชื่อเช่นนั้น คือคนบ้า
๖. ข้าพเจ้าจะไม่ทำพิธีสารท และบิณฑบาตแบบฮินดูต่อไป
๗.ข้าพเจ้าจะไม่ทำสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า
๘. ข้าพเจ้าจะไม่เชิญพราหมณ์มาทำพิธีทุกอย่างไป
๙. ข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้มีศักดิ์ศรีและฐานะเสมอกัน
๑๐. ข้าพเจ้าจะต่อสู้เพื่อความมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน
๑๑. ข้าพเจ้าจะปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ โดยครบถ้วน
๑๒. ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ โดยครบถ้วน
๑๓. ข้าพเจ้าจะแผ่เมตตาแก่มนุษย์และสัตว์ทุกจำพวก
๑๔. ข้าพเจ้าจะไม่ลักขโมยคนอื่น
๑๕. ข้าพเจ้าจะไม่ประพฤติผิดในกาม
๑๖. ข้าพเจ้าจะไม่พูดปด
๑๗. ข้าพเจ้าจะไม่ดื่มสุรา
๑๘. ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญตนในทาน ศีล ภาวนา
๑๙. ข้าพเจ้าจะเลิกนับถือศาสนาฮินดู ที่ทำให้สังคมเลวทราม แบ่งชั้นวรรณะ
๒๐.ข้าพเจ้าเชื่อว่าพุทธศาสนาเท่านั้นที่เป็นศาสนาที่แท้จริง
๒๑. ข้าพเจ้าเชื่อว่าการที่ข้าพเจ้าหันมานับถือพระพุทธศาสนานั้นเป็นการเกิดใหม่ที่แท้จริง
๒๒. ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตนตามคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด

หลังจากปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะแล้ว เขากล่าวว่า \"ข้าพเจ้าเกิดมาจากตระกูลที่นับถือศาสนาฮินดู แต่ข้าพเจ้าจะขอตายในฐานะพุทธศาสนิกชน\"


<a href="https://www.youtube.com/v/B4nvjEbvwV0" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/B4nvjEbvwV0</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/6bbSVyCS-JQ" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/6bbSVyCS-JQ</a>

จากสลัมด็อก สู่รัฐบุรุษ - ว.วชิรเมธี ชุด ธรรมะ..เชิญตะวัน

<a href="https://www.youtube.com/v/tPXO-Pjw57M" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/tPXO-Pjw57M</a>

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ จัณฑาลผู้เปลี่ยนโฉมหน้าอินเดีย


“มหาตมะมาแล้วก็ไป แต่จัณฑาลถึงอย่างไรก็เป็นจัณฑาลอยู่วันยังค่ำ”

ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์
ในทศวรรษ ๑๙๓๐ จอห์น สติลล์ นักเขียนพเนจรชาวอังกฤษ ตั้งข้อสังเกตในหนังสือชื่อ The Jungle Tide ว่า “ความทรงจำของมนุษย์นั้นเป็นด้ายที่เปราะบางเกินกว่าจะแขวนประวัติศาสตร์ได้”

แต่บางครั้ง วีรกรรมของใครบางคนก็ได้รับการถ่ายทอดจากปากต่อปาก จากรุ่นสู่รุ่น ถักทอด้ายความจำของปัจเจกจนกลายเป็นผืนผ้าแห่งความทรงจำร่วมกันของสังคมที่แน่นหนา และสะท้อนความจริงอย่างซื่อสัตย์กว่าประวัติศาสตร์ที่จารึกในหน้าหนังสือหรืออนุสาวรีย์ใดๆ

มหาตมะคานธีอาจเป็นชาวอินเดียที่คนทั่วโลกรู้จักดีที่สุดตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน แต่อินเดียคงไม่มีวันทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ ได้เลยหากปราศจากชายชื่อ บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ (ค.ศ. ๑๘๙๑-๑๙๕๖) ผู้สร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้แก่ชาวอินเดียนับล้านคนที่ถูกเพื่อนร่วมชาติหมิ่นแคลนสืบมานานนับพันปี

ดร. บาบาสาเฮบ พิมเรา รามจิ อัมเบดการ์ (Dr. Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar) เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ค.ศ. ๑๘๙๑ ในตระกูลคนอธิศูทร (ชื่อเรียกคนวรรณะจัณฑาล) ที่ยากไร้ตระกูลหนึ่งในรัฐมหาราษฏระของอินเดีย เป็นบุตรชายคนที่ ๑๔ และคนสุดท้องของนายรามจิกับนางพิมมาไบ สักปาล บิดามารดาตั้งชื่อเขาว่า “พิม”

แม้จะยากจน นายรามจิกับนางพิมมาไบก็สู้อดมื้อกินมื้อ ทำงานแบกหามสารพัดเพื่อส่งเสียให้เด็กชายพิมได้เรียนจนจบชั้นมัธยม แต่กว่าจะเรียนจบเด็กชายพิมก็ต้องกัดฟันทนพฤติกรรมหยามเหยียดของครูและเพื่อนร่วมชั้นซึ่งเป็นคนในวรรณะสูงกว่า ครูและนักเรียนรังเกียจกระทั่งไม่ยอมให้เขา
นั่งเก้าอี้ พิมต้องไปปูกระสอบนั่งเรียนกับพื้นอยู่มุมห้องทุกวัน ทุกครั้งที่ครูสั่งให้พิมออกมาทำแบบทดสอบหน้าห้อง เพื่อนนักเรียนจะวิ่งไปเอาปิ่นโตและห่ออาหารที่วางไว้บนรางชอล์กกระดานดำออกมา เพราะกลัวว่าเสนียดของพิมจะไปติดอาหารของพวกเขา เวลาที่พิมกระหายน้ำเขาก็ดื่มน้ำจากแก้วตรงๆ ไม่ได้ ต้องวิงวอนขอความเห็นใจจากเพื่อนให้คอยเทน้ำลงในปากของเขา

โชคดีที่โลกวัยเยาว์ของพิมไม่ได้มีแต่คนใจไม้ไส้ระกำ ครูคนหนึ่งในวรรณะพราหมณ์มีเมตตาต่อพิม คอยหาโอกาสแบ่งอาหารให้เขารับประทาน ครูผู้นี้เล็งเห็นว่าสาเหตุข้อหนึ่งที่พิมถูกรังเกียจคือ “สักปาล” นามสกุลของเขาซึ่งบ่งบอกความเป็นอธิศูทร จึงไปแก้ทะเบียนที่โรงเรียน เปลี่ยนให้พิมใช้นามสกุลของตนคือ “อัมเบดการ์” นับแต่นั้นเป็นต้นมา นามสกุลใหม่นี้ทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าพิมเป็นคนในวรรณะพราหมณ์ ซึ่งช่วยลดแรงเสียดทานที่เขาต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี

พิมบากบั่นเล่าเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ด้วยผลการเรียนดีเด่น จนมีนักสังคมสงเคราะห์พาเขาเข้าเฝ้ามหาราชาแห่งเมืองบาโรดา มหาราชาผู้ประสงค์จะสนับสนุนการศึกษาให้แก่คนอธิศูทร พระองค์พระราชทานเงินทุนจนพิมเรียนจบปริญญาตรี และหลังจากนั้นก็ส่งเขาไปเรียนต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา


ดร.อัมเบดการ์ระหว่างศึกษาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ค.ศ.๑๙๑๓-๑๙๑๖

ชีวิตนักศึกษาที่อเมริกาเปิดประตูให้พิมได้ลิ้มรสชาติของความเท่าเทียมทางสังคมเป็นครั้งแรก เพราะที่นั่นไม่มีใครแสดงอาการรังเกียจความเป็นอธิศูทรของเขาเหมือนอย่างในอินเดีย พิมเดินทางกลับอินเดียด้วยความมุ่งมั่นว่าจะต่อสู้เพื่อคนในวรรณะเดียวกัน สร้างสังคมอินเดียที่เสมอภาคให้จงได้

พิมเข้าเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยซิดนาห์ม บอมเบย์ (มุมไบปัจจุบัน) ในปี ค.ศ. ๑๙๑๘ ต่อมาย้ายไปเป็นข้าราชการในเมืองโครักขปุระตามคำเชิญของมหาราชาชาหุที่ ๑ ผู้ทรงสนับสนุนสิทธิของคนอธิศูทร มหาราชาพระองค์นี้นอกจากจะรับพิมเข้าทำงานแล้วยังออกทุนให้เขาเขียนและตีพิมพ์วารสารรายสัปดาห์ชื่อ มุขนายก (ผู้นำพลังเงียบ) ในบอมเบย์ตั้งแต่ปี ๑๙๒๐ พิมใช้วารสารฉบับนี้โจมตีนักการเมืองอนุรักษนิยมที่ไม่แยแสต่อการกดขี่คนวรรณะต่ำ ต่อมาเขากลับไปเรียนที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (แอลเอสอี) ในอังกฤษ ด้วยเงินที่ยืมจากมหาราชาและเพื่อน ใช้ชีวิตในอังกฤษอย่างแร้นแค้น มุมานะจนเรียนจบปริญญาโทที่นั่น และปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ทั้งยังสอบผ่านเนติบัณฑิต วุฒิการศึกษาสูงลิ่วจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่พิมซึ่งตอนนี้เป็น ดร. อัมเบดการ์ ได้มาด้วยความยากลำบาก ทำให้ในที่สุดเขาก็กลับมาทำงานเป็นทนายความในศาลสูงของบอมเบย์ได้สำเร็จ

ข้อเขียนที่วิพากษ์นักการเมืองอย่างตรงไปตรงมาและการเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อสิทธิของคนจัณฑาลอย่างต่อเนื่องทำให้ ดร. อัมเบดการ์ได้รับความนิยมชมชอบจากชาวอินเดียร่วมวรรณะมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี ๑๙๓๒ เขาได้รับเชิญไปร่วมงานเสวนาโต๊ะกลมเกี่ยวกับอนาคตของอินเดียที่กรุงลอนดอน ในห้วงเวลาที่จักรวรรดิอังกฤษเริ่มเปิดพื้นที่ให้คนอินเดียมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ

ดร. อัมเบดการ์เชื่อมั่นว่า ความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตของคนวรรณะจัณฑาลทั้งมวลจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อพวกเขามี “อัตลักษณ์” ต่างหากจากทั้งสภาคองเกรสแห่งชาติ (ซึ่งมีมหาตมะคานธีเป็นผู้นำ) และอังกฤษเจ้าอาณานิคม ด้วยเหตุนี้เขาจึงเรียกร้องว่าชาวจัณฑาลควรมีสิทธิเลือกผู้แทนของตนต่างหาก คานธีไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของ ดร. อัมเบดการ์ (ทั้งที่เห็นว่าชนกลุ่มน้อยอื่นๆ อาทิชาวมุสลิม และซิกข์ควรมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน) เนื่องจากเกรงว่าการกันผู้แทนให้แก่จัณฑาลโดยเฉพาะจะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมฮินดูรุ่นหลัง (เพราะมองว่าจัณฑาลยังเป็นฮินดู ไม่ใช่คนต่างศาสนาอย่างมุสลิมหรือซิกข์)

ระหว่างที่รัฐบาลอังกฤษเห็นด้วยกับ ดร. อัมเบดการ์ว่าจัณฑาลควรมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน คานธีก็เริ่มอดอาหารประท้วงข้อเสนอดังกล่าวระหว่างที่ถูกคุมขังในคุกเมืองปูเน เรียกร้องว่าชาวฮินดูทั้งมวลจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และประกาศว่าจะอดอาหารจนถึงแก่ชีวิต การประท้วงของคานธีได้รับการสนับสนุนมหาศาลจากมวลชนทั่วทั้งอินเดีย ผู้นำหัวอนุรักษนิยมชาวฮินดูและนักกิจกรรมชั้นแนวหน้าขอนั่งโต๊ะเจรจากับ ดร. อัมเบดการ์และผู้สนับสนุนเขา พยายามกดดันให้ ดร. อัมเบดการ์ยอมยกเลิกข้อเรียกร้องเรื่องผู้แทนของจัณฑาล แรงกดดันประกอบกับความหวั่นเกรงว่าคนในวรรณะจัณฑาลจะตกเป็นเป้าความโกรธแค้นของชาวฮินดูหมู่มากถ้าหากคานธีสิ้นชีวิตจริงๆ ทำให้ ดร. อัมเบดการ์ยอมละทิ้งจุดยืนที่เคยยึดมั่น

ดร. อัมเบดการ์มองว่าการประท้วงอดอาหารของคานธีเป็นอุบายอันแยบยลที่จะกีดกันไม่ให้จัณฑาลมีสิทธิทางการเมือง และเขาก็มองว่าสภาคองเกรสแห่งชาติภายใต้การนำของคานธีอย่างดีที่สุดก็จะทำให้ชาวฮินดูรู้สึกสมเพชเวทนาจัณฑาล แต่ยังปฏิเสธว่าพวกเขาควรมีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียม

อย่างไรก็ตาม คานธีก็หาได้ผูกใจเจ็บ ดร. อัมเบดการ์ไม่ หากมองว่าเขาเป็นเสาหลักที่สำคัญต่ออนาคตของอินเดีย หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ คานธีหว่านล้อม เยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรก ให้แต่งตั้ง ดร. อัมเบดการ์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และเชิญเขาให้มามีบทบาทนำในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ

ร่างรัฐธรรมนูญที่ ดร. อัมเบดการ์เขียนขึ้นนั้นชัดเจนว่ามุ่งสร้าง “การปฏิวัติทางสังคม” ในอินเดียเหนือสิ่งอื่นใด ด้วยการประกันและคุ้มครองสิทธิพลเมืองนานัปการ ตั้งแต่เสรีภาพในการนับถือศาสนา การยกเลิกวรรณะจัณฑาล และประกาศให้การเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ดร. อัมเบดการ์ยังเสนอให้ใช้โควตาในระบบราชการ โรงเรียน และวิทยาลัยเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รัฐธรรมนูญที่ ดร. อัมเบดการ์เป็นหัวหอกผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๙

หลังจากที่ผลักดันรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ ก้าวต่อไปของดร. อัมเบดการ์ คือการเขียนกฎหมายกฎบัตรฮินดู (Hindu Code Bill) เพื่อแทนที่จารีตฮินดูซึ่งผู้หญิงตกเป็นเบี้ยล่างมาตลอด ด้วยกฎหมายที่มอบสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย โดยเฉพาะเรื่องมรดก การแต่งงาน และเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่า ดร. อัมเบดการ์จะได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีเนห์รู ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ถูกต่อต้านอย่างหนักจากนักการเมืองส่วนใหญ่ในสภา ความขัดแย้งส่งผลให้ ดร. อัมเบดการ์ตัดสินใจลาออกจากคณะรัฐมนตรีในปี ๑๙๕๑ ปีต่อมาเขาลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่แพ้การเลือกตั้ง เขาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปีเดียวกัน และเป็นวุฒิสมาชิกจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต


ค.ศ.๑๙๒๗ ดร.อัมเบดการ์นำพิธีสัตยาเคราะห์ดื่มน้ำในสระโชว์ดาร์
ที่เมืองมหัท(Mahad)ซึ่งเดิมห้ามคนวรรณะต่ำใช้น้ำในสระนี้
นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ “ศตวรรษแห่งความเสมอภาค”



โปสเตอร์ ดร.อัมเบดการ์ชวนเพื่อนร่วมวรรณะมานับถือพุทธในช่วงทศวรรษ ๑๙๕๐

ดร. อัมเบดการ์เป็น “บิดาแห่งอินเดียสมัยใหม่” ที่คนนอกอินเดียรู้จักน้อยที่สุด ต่างจากรัฐบุรุษร่วมสมัยที่ได้รับสมญานามนี้อีก ๒ คน คือเนห์รูกับคานธี แต่พุทธศาสนิกชนทั่วโลกจำนวนมากรู้จักเขาในฐานะผู้นำคนอธิศูทรกว่า ๕ แสนคน เข้าพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะพร้อมกันในงานฉลองพุทธชยันตี เมืองนาคปุระ ในปี ค.ศ. ๑๙๕๖

เหตุผลที่ ดร. อัมเบดการ์ประกาศตนเป็นชาวพุทธและชักชวนเพื่อนร่วมวรรณะให้เป็นพุทธด้วยนั้นชัดเจนจนไม่ต้องอธิบายให้มากความ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ไม่ปิดกั้นใคร มองคนทุกคนเสมอกันในความเป็นมนุษย์ ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะเหมือนศาสนาฮินดูซึ่ง ดร. อัมเบดการ์เคยตั้งข้อสังเกตในวารสารของเขาว่า

“สังคมฮินดูมีส่วนประกอบอยู่ ๓ ประการ คือ พราหมณ์ มิใช่พราหมณ์ และอธิศูทร พราหมณ์ผู้สอนศาสนามักกล่าวว่าพระเจ้ามีอยู่ในทุกหนแห่ง ถ้าเช่นนั้นพระเจ้าก็ต้องมีอยู่ในอธิศูทร แต่พราหมณ์กลับรังเกียจคนอธิศูทร เห็นเป็นตัวราคี นั่นแสดงว่าเขากำลังเห็นพระเจ้าเป็นตัวราคีใช่หรือไม่”

พิธีปฏิญาณตนของ ดร. อัมเบดการ์และชาวอธิศูทรในวันนั้นเป็นที่โจษขานกันสืบมาว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์อินเดียสมัยใหม่ นอกจากคำปฏิญาณตน ๒๒ ข้อจะรวมหลักธรรมะเช่น “ข้าพเจ้าจะไม่ทำสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า” และ “ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญตนในทาน ศีล ภาวนา” แล้ว ยังมีข้อที่สะท้อนเจตนารมณ์ของ ดร. อัมเบดการ์ เช่น “ข้าพเจ้าจะต่อสู้เพื่อความมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน”

ดร. อัมเบดการ์เลือกเมืองนาคปุระเป็นสถานที่ในการประกอบพิธี แทนที่จะเลือกเมืองใหญ่อย่างเดลีหรือบอมเบย์ ด้วยเหตุผลว่าเมืองนี้เป็นเมืองแห่งนาค ซึ่งตามพุทธประวัตินาคเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกชาวอารยันย่ำยีข่มเหง คล้ายกับที่คนวรรณะต่ำถูกกดขี่จากคนวรรณะสูงกว่า ชนเผ่านาคเลื่อมใสในศาสนาพุทธหลังจากได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรม ร่วมกันเผยแผ่พุทธศาสนาไปทั่วทั้งอินเดีย จวบจนปัจจุบันศูนย์กลางพุทธศาสนาก็ยังอยู่ที่เมืองนาคปุระ แม้หลังจากที่ถูกชาวฮินดูขับไล่กดขี่จนถูกปรามาสว่าเป็นชนชั้นจัณฑาล (เหตุนี้ชาวจัณฑาลส่วนใหญ่จึงสืบเชื้อสายมาจากชาวพุทธ เป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ ดร. อัมเบดการ์ใช้จูงใจให้คนอธิศูทรเปลี่ยนศาสนา)

ดร. อัมเบดการ์ถึงแก่กรรมก่อนกาลในวันที่ ๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ ด้วยโรคร้าย เพียง ๓ เดือนหลังจบพิธีพุทธชยันตี ท่ามกลางความตกใจและเศร้าโศกเสียใจของชาวอินเดียนับล้านคน นายกรัฐมนตรีเนห์รูกล่าวคำสดุดีเขาตอนหนึ่งว่า “เพชรของรัฐบาลได้จากไปเสียแล้ว…ชื่อของอัมเบดการ์จะต้องถูกจดจำชั่วกาลนาน ในฐานะสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อลบล้างความอยุติธรรมในสังคมฮินดู”


รูปปั้น ดร.อัมเบดการ์ในชุมชนคนอธิศูทร

ถึงแม้ว่าเขาจะล่วงลับไปแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ มรดกทางความคิดและอิทธิพลของ ดร. อัมเบดการ์ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบว่ายิ่งใหญ่เพียงใด ถ้าหากมหาตมะคานธีเป็นมโนธรรมของโลกแล้วไซร้ ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ ก็เป็นมโนธรรมของอินเดียอย่างไม่ต้องสงสัย ถ้าหากคานธีเป็นสัญลักษณ์ของอุดมคติทางศีลธรรม ดร. อัมเบดการ์ก็เป็นสัญลักษณ์ของพลังทางการเมืองและการปฏิวัติสังคม และถ้าหากคุณูปการของคานธีคือการปลุกเร้ามโนธรรมของชนชั้นสูงให้มองเห็นการกดขี่ข่มเหงคนวรรณะต่ำ คุณูปการของ ดร. อัมเบดการ์ก็ยั่งยืนยิ่งกว่านั้นในแง่ที่มอบอัตลักษณ์ใหม่ให้แก่คนวรรณะต่ำ และมอบความเชื่อมั่นในตนเองให้พวกเขาลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรมในสังคม

ขณะที่มหาตมะคานธีเป็นวีรบุรุษในดวงใจของชาวโลกและปัญญาชนผู้มีฐานะในอินเดีย คน (ไม่) สำคัญของโลกแต่สำคัญสำหรับอินเดีย นาม ดร. บาบาสาเฮบ อัมเบดการ์ ก็เป็นวีรบุรุษที่ลูกหลานคนอธิศูทรในอินเดียไม่มีวันลืม ชีวิตของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ด้อยโอกาสจำนวนมหาศาลฮึดสู้กับโชคชะตา มุมานะเล่าเรียนและทำงานหนักเพื่อกำหนดอนาคตของตนเอง มีส่วนร่วมอย่างเต็มภาคภูมิในการเติบโตทางเศรษฐกิจอันน่าทึ่งของอินเดีย

ชาวพุทธในอินเดียเชื่อว่าวิญญาณของเขายังเวียนวนอยู่ในภพนี้ คอยช่วยเหลือพวกเขาและผู้ด้อยโอกาสทั้งมวล ด้วยเหตุนี้จึงนับเขาเป็นสรณะทัดเทียมกับพระรัตนตรัย โดยเพิ่มชื่อเดิมต่อท้ายบทสวดไตรสรณคมน์ว่า “พิมพัง สรณัง คัจฉามิ” สืบมาจนทุกวันนี้

ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๓๑๑ มกราคม ๒๕๕๔ http://www.sarakadee.com/2011/03/29/babasaheb/



<a href="https://www.youtube.com/v/bRYkezxfRrY" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/bRYkezxfRrY</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/2GkKO5ua0Tw" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/2GkKO5ua0Tw</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/2GAG8r7LMB8" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/2GAG8r7LMB8</a>

รายการ หนังพาไป นาที่ 16.40 กล่าวถึง ท่าน เอมเบดการ์

<a href="https://www.youtube.com/v/NWZutjSf7-c" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/NWZutjSf7-c</a>

ภาพยนต์ เรื่อง ท่าน เอมเบดการ์ ภาษา อังกฤษ

<a href="https://www.youtube.com/v/yv6aU-_9xQ0" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/yv6aU-_9xQ0</a>
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ประวัติ ท่าน อัมเบดการ์  ใน สารคดี ตามรอยพระพุทธเจ้า ตอนแรก

<a href="https://www.youtube.com/v/rpwfSdtWaBQ" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/rpwfSdtWaBQ</a>

วีดีโอ : สารคดีแห่งศตวรรษ "ตามรอยพระพุทธเจ้า"

เคยมีคนกล่าวไว้ว่า ปรัชญาทางศาสนาพุทธ คือรากฐานของวิทยาศาสตร์ ในยุคปัจจุบันทำไมเขาจึงกล่าวเช่นนั้น

กว่า 2500 ปีก่อน เจ้าชายสิทธัตถะทรงค้นพบอะไร ทำไมสิ่งที่พระองค์ทรงค้นพบ จึงเปลี่ยนแปลงความเชื่ออย่างขนานใหญ่ ให้กับคนในยุคนั้น ยุคที่เต็มไปด้วยความเชื่อเรื่องเทพเเจ้าและอิทธิฤิทธิ์ปาฎิหารย์ และ ทำไมศาสนาพุทธจึงสูญหายไปจากอินเดีย ดินแดนที่ถือว่าเป็นจุดกำเนิดแล้วปัจจุบันหล่ะ ศาสนาพุทธหายไปจากอินเดียจริงหรือหรือยังคงเหลือ อะไรบางอย่างไว้

ตามรอยพระพุทธเจ้า สารคดีความยาว 12 ชั่วโมง กับการเดินทางอันยาวนาน เพื่อค้นหาความจริงอันยิ่งใหญ่ ที่เคยฝังตัวอยู่ใต้แผ่นดินของอินเดียมานานกว่า 700 ปี เรื่องราวของศาสดาเอกองค์หนึ่งของโลก ผู้มีปรัชญายึดหลักทางสายกลาง

ตามรอยพระพุทธเจ้า จะพาผู้ชมย้อนเวลากลับไปในอดีต ครั้งสมัยก่อนพุทธกาล เพื่อเรียนรู้สภาพสังคม และความเชื่อในดินแดนชมพูทวีป ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อครั้งใหญ่ ความรุ่งเรืองและมั่นคงอย่างถึงขีดสุด ของศาสนาพุทธในสมัยพุทธกาล ความล่มสลายและสูญสิ้นไปจากแผ่นดินเกิดอย่างสิ้นเชิง ในสมัยหลังพุทธกาล

อะไร เป็นสาเหตุความเสื่อมสลายในครั้งนั้น ความแตกต่างทางความเชื่อของศาสนาพุทธ แต่ละนิกายเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมชาวอินเดีย จึงยังคงรักษาความเชื่อในศาสนาฮินดูเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

ตามรอยพระพุทธเจ้า สารคดีที่จะเปิดเผยเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนาอย่างลึกถึงแก่น อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในประวัติศาสตร์ เพื่อให้เป็นสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ โบราณคดีและมานุษยวิทยาที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งศตวรรษ

รายชื่อเรื่องสารคดีแห่งศตวรรษ "ตามรอยพระพุทธเจ้า"

ตอนที่ ๑ : สู่ต้นกำเนิดแม่น้ำคงคา
ตอนที่ ๒ : ค้นพบกรุงกบิลพัสดุ์
ตอนที่ ๓ : การค้นพบความจริงอันยิ่งใหญ่ที่พุทธคยา
ตอนที่ ๔ : พาราณสี นคร ๔,๐๐๐ ปี
ตอนที่ ๕ : เปิดประตูเมืองราชคฤห์
ตอนที่ ๖ : การเดินทางครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า
ตอนที่ ๗ : กองทัพธรรมพระเจ้าอโศก วันที่โลกได้รู้จักพระพุทธเจ้า
ตอนที่ ๘ : ปรัชญาที่เปลี่ยนไป
ตอนที่ ๙ : วันที่พุทธหายไปจากอินเดีย
ตอนที่ ๑๐ : เมืองพุทธแห่งหิมาลัย
ตอนที่ ๑๑ : การกลับมาของสาวกพระพุทธเจ้า
ตอนที่ ๑๒ : ไขปริศนาการค้นพบอันยิ่งใหญ่

ตามลิ้ง ไปเลย https://www.youtube.com/watch?v=rpwfSdtWaBQ&index=1&list=PLUTT6Xf47URf75OwFRT9PMhsQMOt2XrCZ

https://www.youtube.com/playlist?list=PLUTT6Xf47URf75OwFRT9PMhsQMOt2XrCZ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 17, 2024, 08:40:16 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...