ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมบันเทิง : Inside Out เรียนรู้อารมณ์ของตัวเอง  (อ่าน 1193 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด





<a href="https://www.youtube.com/v/VQHEIASAMSg" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/VQHEIASAMSg</a>


Inside Out เรียนรู้อารมณ์ของตัวเอง

Inside Out เป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นจากค่ายดัง “พิกซาร์ (Pixar)” ที่ทำรายได้มหาศาล พร้อมเสียงวิจารณ์ในแง่บวก แถมยังมีลุ้นจะคว้ารางวัลออสการ์ในปีหน้าอีกด้วย
       
       หนังเปิดเรื่องที่การลืมตาดูโลกครั้งแรกของ “ไรลีย์” ทารกน้อยผู้เป็นที่รักของพ่อแม่ โดยความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ที่ต้องชื่นชมผู้สร้าง คือ การนำผู้ชมเข้าไปสำรวจความคิด และความทรงจำในสมองของไรลีย์ ผ่านรูปแบบตัวละคร 5 ตัว ที่มีบุคลิกแตกต่างกันไปตามอารมณ์ของมนุษย์
       
       ไรลีย์เติบโตมาพร้อมกับความคิดหลัก คือ “Joy” หรือความสนุก ความสุข ทำให้เธอเป็นคนที่มีความสุข สนุกสนาน เบิกบานกับชีวิต เป็นสาวน้อยที่มองโลกในแง่ดีเสมอ
       
       แต่แน่นอนว่า ชีวิตคนเราไม่ได้มีความสุขเพียงอย่างเดียว อารมณ์อื่นๆจึงเริ่มปรากฏเข้ามาในสมองของเธอ ตามเหตุการณ์ที่ได้พบเจอ เธอร้องไห้งอแงเมื่อมีเรื่องให้เสียใจ กลัวสิ่งที่รู้สึกเป็นอันตรายหรือสิ่งที่ไม่ชอบ รังเกียจสิ่งที่ไม่คุ้นเคย หรืออะไรก็ตามที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โกรธไม่พอใจเมื่อไม่ได้ดังใจ ทำให้ในสมองของไรลีย์มีอารมณ์อีก 4 ประเภท เข้ามาเติมเต็ม ได้แก่ “Sadness” ความเศร้า, “Fear” ความกลัว, “Disgust” ความรังเกียจหรือเกลียดชัง และ “Anger” ความโกรธ
       
       อารมณ์ทั้งหมดนี้ ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นตัวละครหน้าตาน่ารักน่าชัง 5 ตัว ซึ่งเป็นตัวแทนของความคิดความรู้สึกภายในสมองของไรลีย์ ที่คอยสั่งการผ่านแผงควบคุมส่วนกลางในพื้นที่ที่เรียกว่า “ศูนย์บัญชาการทางอารมณ์”
       
       โดยทุกอารมณ์ทุกความทรงจำที่เกิดขึ้นในชีวิต จะผลิตออกมาเป็นลูกกลมคล้ายลูกแก้วใส มีสีสันตามอารมณ์ในความทรงจำนั้น เช่น สีเหลืองเป็นความทรงจำที่ดีและความสุข สีเขียวเป็นความทรงจำเกี่ยวกับความเกลียดชัง สีม่วงเป็นความทรงจำเกี่ยวกับความกลัว เป็นต้น
       
       เจ้าลูกกลมความทรงจำนี้จะถูกเก็บสะสมไว้ บางส่วนถูกส่งต่อไปยังคลังเก็บความทรงจำที่มีความทรงจำมากมายมหาศาล ขณะเดียวกันข้อมูลความทรงจำดังกล่าว ก็จะแปรรูปไปสร้างเป็น “เกาะบุคลิกภาพ” (จำลองบุคลิกภาพของมนุษย์ เป็น “เกาะ” รูปร่างต่างๆ ตามลักษณะบุคคลนั้นๆ)
       
       สำหรับเกาะบุคลิกภาพของไรลีย์ ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและมีส่วนสำคัญในชีวิตของเธอ เช่น เกาะครอบครัวหมายถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างเธอกับพ่อแม่ เกาะมิตรภาพเกิดขึ้นจากความรักความสนิทสนมกับเพื่อนสนิทที่เรียนด้วยกัน เกาะฮอกกี้มาจากกีฬาฮอกกี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมสุดโปรด หรือเกาะทะเล้นที่มาจากความทะลึ่งทะเล้นตามประสาเด็กอารมณ์ดี
       
       แต่ละเกาะบุคลิกภาพจะมีความเคลื่อนไหวคึกคัก หรือมั่นคงหนักแน่น ก็ล้วนมาจากการกระทำต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น เวลาที่ไรลีย์อารมณ์ดี นึกสนุกอยากทำหน้าตาทะเล้นใส่พ่อแม่ พฤติกรรมและความทรงจำดังกล่าว จะถูกส่งผ่านไปยังเกาะทะเล้น ให้มีความเคลื่อนไหว ดูมีสีสันและคึกคักขึ้นมาทันที
       
       Joy ซึ่งเป็นความคิดหลักของไรลีย์ เป็นคล้ายผู้ควบคุมอารมณ์แต่ละอย่างของเธอ หากมีปัญหาที่มีแนวโน้มจะทำให้สาวน้อยมีอารมณ์ในด้านลบแล้วละก็ Joy จะพยายามคุยกับเพื่อนๆ อารมณ์อื่น เพื่อแก้ปัญหาจนกระทั่งไรลีย์กลับมาอารมณ์ดีทุกครั้งไป
       
       “ชีวิตวัยเด็ก มันจะมีอะไรมากมาย” Joy พูดกับตัวเองอย่างสบายใจ
       
       แต่ในขวบปีที่ 11 ของไรลีย์ Joy กับเพื่อนๆอารมณ์อีก 4 ประเภท กำลังจะเผชิญกับประสบการณ์ครั้งใหม่ที่เข้ามาท้าทาย นั่นคือครอบครัวไรลีย์ต้องย้ายบ้าน !!
       
       ชีวิตที่แสนสุขของไรลีย์ในเมืองมินนิโซต้าจำต้องยุติลง เมื่อพ่อของเธอเปลี่ยนงาน การเดินทางครั้งใหม่ของครอบครัวจึงเริ่มต้นขึ้น มุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่อย่างซานฟรานซิสโก
       
       จากเมืองอันเงียบสงบ มาสู่เมืองใหญ่ระดับประเทศ ทำให้ชีวิตเด็กสาววัย 11 ขวบ ต้องเผชิญกับความกังวลอย่างช่วยไม่ได้ ภาพแรกที่เธอเห็นบ้านหลังใหม่ มันดูโทรมๆ คล้ายอพาร์ทเมนต์ในเมืองใหญ่ๆทั่วไป มันไม่ได้เป็นบ้านที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางแบบบ้านเก่าที่เธอคุ้นเคย
       
       Fear กับ Disgust จึงเริ่มทำหน้าที่ตรงแผงควบคุมอารมณ์ทันที เพราะบ้านหลังใหม่นี้ มันดูไม่น่าอภิรมย์ซะเลย แต่ Joy ก็ไม่ปล่อยให้อารมณ์กลัวหรือรังเกียจ เข้ามามีส่วนสำคัญในสมองได้ง่าย เธอรีบจัดการเติมแต่งจินตนาการว่า ห้องนอนใหม่จะตกแต่งยังไงให้ดูน่ารัก
       
       และเมื่อเธอเห็นห้องโถงซึ่งมีข้าวของวางระเกะระกะ ก่อนที่อารมณ์ด้านลบจะมีบทบาท Joy ก็ส่งลูกกลมความทรงจำเกี่ยวกับฮอกกี้ให้สาวน้อยนึกถึง ทำให้เธอคว้าไม้ฮอกกี้มาวาดลวดลาย เล่นกับพ่อแม่อย่างมีความสุข
       
       แต่ความสนุกสนานเกิดขึ้นเพียงครู่เดียว โทรศัพท์เรื่องงานของพ่อก็ดังขึ้น พ่อจึงต้องออกไป ยามนั้น Sadness กับ Fear ก็เข้ามามีบทบาท แต่ Joy ก็รีบแก้ปัญหาด้วยการชวนแม่ออกไปหาพิซซ่ากิน เพื่อให้ความสัมพันธ์ของเกาะครอบครัวดีขึ้น และลดทอนความกังวลลง
       
       เช้าวันถัดมา ดูเหมือนว่าทุกอย่างกำลังค่อยๆ ปรับตัวให้เข้าที่เข้าทาง ไรลีย์ไปโรงเรียนใหม่ ซึ่งต้องเจอกับสภาพแวดล้อมใหม่ที่เธอไม่รู้จัก ในขณะที่คุณครูให้เธอแนะนำตัว Joy พยายามตัดความกังวลต่างๆ และใช้ลูกกลมความทรงจำในแง่ดี เกี่ยวกับเมืองมินนิโซต้า แต่นาทีนั้น Sadness ก็เดินไปจับลูกกลมความทรงจำในอดีต ลูกกลมความทรงจำจึงเปลี่ยนเป็นความเศร้าทันที ผลคือ แทนที่ไรลีย์จะเล่าถึงบ้านเก่าด้วยความสนุก เธอกลับเล่าด้วยความโศกเศร้า คิดถึง จนกระทั่งร้องไห้ออกมากลางชั้นเรียน
       
       นาทีนั้นสถานการณ์ในศูนย์บัญชาการทางอารมณ์ของไรลีย์ ได้กลายเป็นความโกลาหล เพราะลูกกลมความทรงจำดีๆหล่นออกมา Joy ต้องพยายามควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายลง ส่วน Sadness ก็ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องเดินไปจับโน่นจับนี่ จนความทรงจำสำคัญกลายเป็นความเศร้า
       


       แต่ไฮไลท์สำคัญกลับเป็นว่า จังหวะที่ Joy กับ Sadness พยายามยื้อแย่งลูกกลมความทรงจำอยู่นั้น ระบบส่งต่อความทรงจำก็ดูดอารมณ์ทั้งคู่เข้าไปในท่อ ที่ส่งต่อไปยังคลังเก็บความทรงจำใหญ่ ด้านนอกศูนย์ควบคุมอารมณ์ส่วนกลาง
       
       นั่นจึงหมายถึง ณ เวลานี้ ไรลีย์มีอารมณ์ 3 ประเภท คือ “กลัว เกลียดชัง และโกรธ” เป็นตัวขับเคลื่อนชีวิต!!
       
       ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ Fear, Disgust และ Anger ต้องรับมือกับแผงควบคุมอารมณ์ ซึ่งแน่นอนว่า อารมณ์ทั้ง 3 นี้ ไม่ส่งเสริมบุคลิกภาพด้านบวกใดๆ แม้จะพยายามช่วยกันให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ธรรมชาติของอารมณ์ทั้งสามก็ดูเหมือนจะซ้ำเติมเสียมากกว่า และกลายเป็นชนวนให้อาหารมื้อเย็นวันนั้น ไรลีย์หงุดหงิดและทะเลาะกับพ่อ จนโดนไล่ขึ้นห้องนอน
       
       พ่อตามไปขอโทษและเล่นด้วย เพื่อเรียกเสียงหัวเราะของลูกสาว แต่ในเมื่อ Joy ไม่อยู่ในศูนย์บัญชาการแล้ว ทุกอย่างจึงมีแต่ความเงียบงัน และนาทีนั้นหากตัดภาพเข้ามาในสมองก็จะเห็นว่า “เกาะทะเล้น” ของไรลีย์ ได้พังทลายลงไปในพริบตา
       
       กลับมาที่เรื่องราวในสมองของไรลีย์ Joy กับ Sadness ที่ถูกดูดผ่านท่อส่งความทรงจำออกมาด้านนอกศูนย์บัญชาการทางอารมณ์ ทั้งคู่ต้องหาวิธีกลับไปยังจุดเดิมให้ได้ ก่อนที่ไรลีย์จะย่ำแย่ไปกว่านี้
       
       แต่ระหว่างการหาทางออก ทั้งสองก็ได้เจอ “Bing Bong” ซึ่งเป็นตัวการ์ตูนในจินตนาการวัยเด็กของไรลีย์ Bing Bong บอกว่า เขาไม่ค่อยมีบทบาทอะไรกับเจ้าของความคิดแล้ว เพราะด้วยวัยที่เติบโตขึ้น เด็กๆก็ไม่ต้องการเพื่อนในจินตนาการอีกต่อไป แต่ Bing Bong ก็รู้เส้นทางและวิธีที่จะพา Joy กับ Sadness กลับไป
       
       ระหว่างเดินทาง สหายใหม่ทั้งสาม เริ่มเห็นความผิดปกติมากขึ้นเรื่อยๆ คือ เกาะบุคลิกภาพประเภทต่างๆ พังทลายลงไปทีละเกาะ สาเหตุก็มาจากชีวิตของไรลีย์ยามนี้ ไม่มี Joy หรือความสุข เป็นตัวขับเคลื่อนเลย
       
       ขณะเดียวกันเหตุการณ์ภายนอกสมอง ก็ยิ่งทวีความเลวร้ายลง เมื่อสาวน้อยที่เต็มไปด้วยความกลัว ความเกลียดชัง และความโกรธ ผลักดันให้เธอตัดสินใจหนีออกจากบ้าน กลับไปมินนิโซต้า เพื่อหวังว่าอะไรๆจะดีขึ้น ซึ่งนั่นทำให้เกาะครอบครัวพังทลายลงไปอีก
       
       แต่ด้วยความช่วยเหลือและร่วมมือร่วมใจของอารมณ์ทุกๆฝ่าย สุดท้ายแล้ว Joy ก็กลับมาดึงสติของสาวน้อยคนเดิมให้กลับมา และอารมณ์ทั้ง 5 ยังได้เรียนรู้ว่า ความจริงแล้วชีวิตที่สมบูรณ์ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีเพียงความสุขอย่างเดียว
       
       ในวินาทีที่ไรลีย์กลับมากอดพ่อแม่แล้วร้องไห้ เพื่อระบายสิ่งที่เธออัดอั้นมานาน นั่นก็ทำให้เกาะครอบครัว มีความมั่นคงเหนียวแน่น เมื่อพ่อแม่ลูกได้พูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหากัน ความสุขก็ทำหน้าที่ต่อไปได้ และท้ายที่สุดแล้ว ลูกกลมความทรงจำของไรลีย์ ก็ไม่ได้มีเพียงสีเดียวอีกต่อไป แต่กลายเป็นลูกกลมๆ ที่มีสีสันปะปนไปตามความเป็นจริง
       
       Inside Out เป็นภาพยนตร์ที่มีข้อคิดดีมาก เพราะแก่นสำคัญด้านหนึ่งของหนัง ชี้ให้ผู้ชมเห็นว่า คนเราต้องเติบโตไปตามวัย และอารมณ์เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ไม่สามารถคงอยู่ได้ตลอดไป เพราะชีวิตเราย่อมมีทั้งสุข เศร้า กลัว โกรธ เกลียด ปะปนกันไป และอารมณ์เหล่านี้มักเกิดขึ้นทุกวัน เราจึงต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ เพื่อให้ชีวิตเดินต่อไปได้ในทางที่เหมาะสม
       
       ในพุทธศาสนาบอกว่า “อารมณ์” คือ “สิ่งยึดเหนี่ยวจิต ดึงจิตเอาไว้” หรือ “สิ่งที่กำหนดจิตในขณะนั้น” อาจเรียกได้ว่าเป็น “อายตนะภายนอก” หรือเครื่องติดต่อสื่อสารเชื่อมต่อที่อยู่ภายนอกตัวเรา ซึ่งได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สิ่งที่มาถูกต้องหรือแตะต้องสัมผัสทางกาย) และธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดทางใจ สิ่งที่ใจรู้สึก คิด จินตนาการ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน หรือในอนาคต)
       
       เมื่อเราพิจารณาอารมณ์ทางพุทธศาสนา กับเรื่องราวในภาพยนตร์ ก็จะได้ข้อคิดที่ดีว่า การสำรวจตรวจตราอารมณ์ของตนอยู่เสมอ แล้วใช้ “สติและปัญญา” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทาง ก็จะช่วยควบคุมอารมณ์ไม่ดีทั้งหลาย มิให้มีอิทธิพลเหนือจิตใจของเรา และนั่นย่อมหมายความว่า “Joy” หรือ ความสุข ความเบิกบาน จะกลายเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนชีวิตเราไปสู่สิ่งที่ดีงามต่อไป
       
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 178 ตุลาคม 2558 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)

จาก http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9580000110539
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...