ผู้เขียน หัวข้อ: ทังก้า ผ้าพระบฏ … ผืนผ้าศักดิ์สิทธิ์แห่งพูนาคา เพียงได้ยลก็หลุดพ้นได้  (อ่าน 1093 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
ทังก้า ผ้าพระบฏ … ผืนผ้าศักดิ์สิทธิ์แห่งพูนาคา เพียงได้ยลก็หลุดพ้นได้



วันสุดท้ายของงานประเพณี … มีการจัดแสดง “ผ้าทังก้า” ที่ใหญ่โตขนาดตึก 3-4 ชั้นให้นักท่องเที่ยวได้ชม แต่วัตถุประสงค์หลักจริงๆเพื่อให้ผู้เลื่อมใสได้เข้ามานมัสการ และบริจาคเงินเพื่อบำรุงศาสนา



ฉันแหงนหน้าขึ้นมองผืนผ้าพระบฏผืนใหญ่ที่สุดผืนแรกที่ฉันได้เห็นผ่านสายตา โดยไม่ผ่านทีวีหรือสื่อทางการสื่อสารอื่นๆ …

ภาพขนาดใหญ่ที่ปรากฏตรงกลางผืนผ้าคือภาพของ พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า

ใต้ภาพพระพุทธเจ้าคือ กูรู รินโปเช นอกจากนั้นยังรายล้อมด้วยปางทั้งแปดของท่านคุรุฯ เช่นเดียวกับเทพเจ้าของฮินดูที่สามารถปรากฏร่างได้หลายปาง ทั้งปางที่งามสง่า แสดงเมตตาต่อสัตว์โลก และปางที่ดุร้าย แสดงการข่มขวัญบรรดาภูติผีปีศาจทั้งหลาย

นอกจากนี้ยังมีภาพของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระนางทารา พระโพธิสัตว์มัญชูศรี พระจัมปาลา และบรรดาพระลามะองค์สำคัญ



คนไทยอาจจะได้ยินชื่อ “ผ้าพระบฏ” หน้ากว้างราวเมตรเศษเย็บต่อกันเป็นแถบยาวนับร้อยเมตร ประดับภาพวาดเรื่องราวในพุทธประวัติ ซึ่งชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช พากันแห่แหนขึ้นไปโอบรอบพระบรมธาตุเมืองนครฯ ซึ่งเป็นงานประเพณีสำคัญประจำปีที่รู้จักกันในชื่อ “งานแห่ผ้าขึ้นธาตุ”

ใครได้ไปร่วมจับผ้าเดินแห่ด้วย ถือเป็นอานิสงส์สูงสุดของชีวิตชาวพุทธอย่างหนึ่ง … เข้าใจว่าชาวนครศรีธรรมราชรับเอาธรรมเนียมนี้มาจากอินเดีย ผ่านเกาะลังกา ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ เผยแผ่สู่สยามประเทศที่นครศรีธรรมราชเป็นแห่งแรก ก่อนที่จะไปรุ่งเรืองที่สุโขทัย เชียงใหม่ และกรุงศรีอยุธยา ในเวลาต่อมา







ผ้าพระบฏตามคตินิยมของพุทธศาสนิกชนสายวัชระยาน อันได้แก่ชาวทิเบต เนปาล สิกขิม ภูฏาน แตกต่างจากของชาวไทยตรงที่พระสงฆ์จะเป็นผู้ทำขึ้น โดยก่อนจะมีขนาดใหญ่โตนั้น มักทำขนาดเล็กๆ ประดับภาพพระศรีสากยมุนี หรือพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ และพระโพธิสัตว์องค์ต่างๆที่นับถืออยู่บนผืนผ้าเดียวกัน สามารถม้วนเก็บสะดวกแล้วนำติดตัวไประหว่างการจาริกรอนแรมเพื่อเผยแพร่ธรรมในถิ่นทุรกันดาร หรือในยามศึกสงครามก็เก็บซ่อนได้ง่าย

“ทังก้า” หรือภาพพระบฏ (Patachitra) จึงจัดเป็นพุทธศิลป์ระดับสูง ทำขึ้นเพื่อเทิดทูนบูชาพระพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์องค์ที่นับถือ เพื่อเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ในการประกาศธรรม

นอกจากนี้ ทังก้า ยังมีสถานะดั่งยันต์ กันภูตผีและวิญญาณร้าย รวมถึงอวิชา ความโง่เชลามิให้มาแผ้วพาน และสุดท้ายคือประดับให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่สำหรับภูฏาน รัฐบาลยังกำหนดให้เป็นเครื่องบรรณาการแด่อาคันตุกะที่มาจากประเทศที่นับถือศาสนาพุทธอีกด้วย





ตามความเชื่อของชาวพุทธสายวัชระยาน พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์คือพระบริสุทธิคุณ ผู้ทรงเมตตาปล่อยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ แม้แต่ผู้ที่ทำบาปถึงขั้นปิตุฆาตหรือมาตุฆาต หรือแม้แต่ผิดคำสัตย์สายานต่อพระภิกษุสงฆ์ หากแม้นสำนึกผิด หันมาทำความดี โดยระลึกถึง หรือสัมผัสพระพุทธรูป ฟังพระธรรมคำสอน กระทั่งเพ่งมองผ้าพระบฏด้วยจิตศรัทธา ก็สามารถไถ่บาปของตนเองได้ … จนมีคำกล่าวว่า “เพียงได้ยลก็หลุดพ้นได้”

นี่ก็อาจจะเป็นคำตอบที่ว่า เหตุใดชาววัชระยานในแถบเทือกเขาหิมาลัยจึงถือเป็นพันธะกิจที่สำคัญของชีวิตที่ต้องไปร่มงานเทศกาลดรอมเช-เชจู เพื่อสักการะผ้าทังก้าผืนมหึมานี้กันอย่างมืดฟ้ามัวดิน



ชาวภูฏานมี “ทังก้า” เป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า ... คำว่า "ทังกา" มาจากภาษาทิเบต

ทัง (Thang) แปลว่า "ธง" .. กา (Ka) แปลว่าภาพวาด .. ดังนั้น ทังกา จึงมีความหมายว่า จิตรกรรมบนผืนธง

ประวัติความเป็นมาของทังกายังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เท่าที่มีการค้นคว้าและรวบรวมจิตรกรรมทังกาในแบบอย่างศิลปะหิมาลัย พบผ้าทังกาที่เก่าแก่ที่สุดในเนปาล วาดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 11

จิตรกรรมทังกาในภูฏานเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งล้ำค่าทางพุทธศาสนาที่ได้รับแบบอย่างและอิทธิพลจากทิเบต ทังกาจึงเป็นมากกว่าภาพวาดธรรมดา ... จุดประสงค์ของการสร้างภาพทังกา ก็เพื่อเป็นศาสนวัตถุ เชื่อว่าผู้วาดจะได้รับบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ แต่เนื่องจากจิตรกรผู้เขียนจะไม่ลงนามผู้วาด เพราะธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธถือว่า การกระทำสิ่งใดเพื่อพุทธศาสนาเป็นบุญกุศลต่อผู้สร้างและเป็นการบำรุงพระศาสนา ... ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถที่จะสืบค้นถึงผู้สร้างสรรค์ได้

การวาดทังก้าแบบโบราณดั้งเดิมมีกรรมวิธีที่ละเอียดอ่อน วิธีการวาดสับซับซ้อน กระบวนการทำก็ค่อนข้างยากลำบากใช้เวลาเนิ่นนาน … บางคนบอกว่าสีที่ใช้เขียนก็ต้องเป็นสีธรรมชาติที่ต้องเสาะหามาจากแร่ธาตุแถบเทือกเขาสูงของหิมาลัย เมื่อได้มาแล้วก็ต้องนำมาบดผสมกับยางไม้ธรรมชาติ อาจจะใช้ทองคำเป็นส่วนผสมร่วมกับน้ำแร่จากแหล่งธรรมชาติ ก่อนจะลงมือวาดและเขียนด้วยเกรียงที่ทำจากเขาของจามรี

ด้วยความชำนาญเชิงช่างของผู้วาด ที่ใช้เวลานานในการบรรจงวาดและลงสีในทุกรายละเอียด ผลงานของผ้าทังก้าแต่ละผืนจึงงดงามอลังการ สีสันสดใส แม้เวลาจะผ่านไปนับร้อยปี

ในปัจจุบัน ทังกา ทำจากผ้าไหมยกดอก เย็บต่อกันเป็นกอบสี่เหลี่ยม ปักอย่างประณีต นำมาตัดเย็บต่อกันเป็นผืนใหญ่ มีการเก็บรักษาไว้อย่างทะนุถนอม นำออกมากางปีละครั้ง



ผ้าทังก้าที่อยู่เบื้องหน้าเราขณะนี้ถูกกางคลุมวิหารของวัดซึ่งสูงราว 4 ชั้นได้มิดทั้งหมด … ความงดงามวิจิตรสามารถสะกดให้ผู้ที่พบเห็นตื่นตลึงได้ไม่ยาก เป็นภาพที่จับต้องได้ด้วยสายตา อารมณ์ความรู้สึก หรือแม้กระทั่งมือสัมผัส

ที่นี่แม้จะไม่ใช่กรุงลาซา ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ดั่งเมกกะของชาวพุทธวัชระยานตันตระ แต่ศรัทธาของชาวบ้านที่เห็นด้วยตานั้นก็ยิ่งใหญ่มากมาย

ลานกว้างของพูนาค ซองก์ บัดนี้คลาคล่ำด้วยพุทธศาสนิกชนที่ต่างหันหน้าเข้าสักการะผ้าผืนขนาดใหญ่มหึมาที่แขวนไว้หน้าวิหาร โดยเราทราบมาว่ามีพิธีการแห่แหนและคลี่กางออกมาตั้งแต่แสงดวงสุริยันยังไม่ทอดทาบโค้งฟ้า

ภาพของทังก้าที่แขวนทาบอยู่บนวิหาร บ่งบอกว่างานดรอมเช-เชจู ดำเนินมาจนถึงวันสุดท้าย ซึ่งเป็นวันแขวนทังก้าเพียงวันเดียวในรอบปี … บรรยากาศผสมผสานด้วยกลิ่นธูป กำยาน และเสียงสวดมนต์





หลายคนก้มลงกราบกับพื้นแบบ “สัตตางคประดิษฐ์” ซึ่งคือการกราบที่มี 7 ส่วนของร่างกายแตะพื้น (หน้าผาก มือทั้งสอง เข่าทั้งสอง เท้าทั้งสอง) … คุณยายที่เห็นในภาพก้มกราบแบบนี้หลายร้อยครั้ง แรงศรัทธาที่แรงกล้าเป็นสิ่งขับเคลื่อนให้การลึกยืน ก้มลงกราบแนบพื้นราบสามารถทำได้โดยไม่มีทีท่าเหน็ดเหนื่อย







เวลาผ่านไปนับชั่วโมงที่ชาวพูนาคาทุกคนพากันยืนเข้าแถวเพื่อจะได้สัมผัสผืนผ้าแห่งศรัทธาอย่างใกล้ชิดเพียงปีละครั้ง …

เราเห็นหลายคนเอาศีรษะแนบผืนผ้า ด้วยเชื่อว่าเมื่อทำเช่นนี้แล้วอธิษฐาน สิ่งที่ประสงค์ก็จะบังเกิดตามความปรารถนา … ส่วนบางคนก็มุดศีรษะเข้าไปในผ้า พร้อมพร่ำบ่นภาวนาด้วยใบหน้าปิติ อิ่มเอม แล้วทุกคนจะหยิบธนบัตรออกมาแตะที่ศีรษะตน ก่อนที่จะบรรจงวางลงบนถาดถวายเป็นพุทธบูชา





ผู้คนส่วนใหญ่ที่ไปกราบและทำบุญบริจาคเงินเรียบร้อยแล้ว มักจะมาจับจองพื้นที่เพื่อชมการแสดงระบำหน้ากาก ซึ่งจะมีขึ้นหลังจากพิธีการบูชาผ้าทังก้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว





พระสงห์ก็มาร่วมงานเทศกาลที่สำคัญรี้เช่นเดียวกับฆราวาส







ฉันได้ยินมาว่า ปกติแล้วเมื่อใกล้เวลาแสงแรกของพระอาทิตย์จะสาดส่องทาบลงมาบนผืนผ้า ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อสีของผ้าศักดิ์สิทธิ์ บรรดาสัตบุรุษจะกุลีกุจอมาช่วยกันม้วยเก็บผืนผ้าอย่างพร้อมเพรียง ด้วยต่างถือเป็นมงคลสูงสุดในชีวิตของผู้ชายที่ครั้งหนึ่งควรได้รับ

การม้วนผ้าทังก้า จะมีพระผู้ควบคุมพิธีอยู่บนวิหารชั้นบนสุด จะมีการควบคุมให้ค่อยๆหย่อนผ้าทังก้าส่วนบนลงมาด้วยการชักรอกอย่างระมัดระวัง … ผู้ชายที่อยู่ด้านล่างจะเข้ามาช่วยกันม้วนจากด้านล่างขึ้นไปอย่างแข็งขันและระมัดระวังเช่นกัน



สำหรับคนอื่นๆที่ไม่ได้เข้าไปช่วย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มักจะพนมมือไหว้ บางคนก็ทำ “สัตตางคประดิษฐ์” บนลานวัดนั่นเอง

.:.:.: เราและคนอีกมากมายที่มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไปของงานและพิธีกรรมนี้มาจากโลกอีกใบหนึ่งที่มีความเชื่อที่แตกต่าง … เมื่อแรกเริ่ม หลายคนอาจจะมีคำถามในใจตามประสาคนธรรมดาๆว่า จริงหรือที่เพียงได้ยิน ได้สัมผัส หรือแม้แต่คิดถึงพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์แล้ว คนเราก็จะหลุดพ้นไปได้?

แต่คำถามนี้กลับละลายหายไปดั่งผงธุลีในอากาศ เมื่อได้ประจักษ์ภาพแห่งศรัทธาของผู้คนที่อยู่เบื้องหน้าทังก้า …

บางทีเราก็ไม่ควรที่จะหาเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์กันมากมาย ตราบใดที่ผ้าผืนใหญ่นี้สามารถทำให้ผู้คนมีศรัทธา เปี่ยมกำลังใจสร้างความดีเพื่อตนเอง เพื่อส่วนรวม หรือแม้แต่เพื่อภพนี้ และภพหน้า …

ศรัทธา … ที่หลอมรวมสร้างสังคมให้สงบสุข ไม่เป็นเงื่อนปมในการทำลายล้างชาติและสังคมให้เสื่อมสบลายลง แค่นี้ก็เป็นเหตุผลที่ดีพอที่จะเชื่อแล้วใช่ไม๊คะ? :.:.:.

จาก http://www.oknation.net/blog/supawan/2012/05/11/entry-2
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...