ผู้เขียน หัวข้อ: ศิลปะการแสดง สวดคฤหัสถ์ (Laymam Play) กำลังจะหายไป หาดูไม่ได้แล้ว !?  (อ่าน 1338 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด




<a href="https://www.youtube.com/v/757FEsKTUJI" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/757FEsKTUJI</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/ttemtMpA2rk" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/ttemtMpA2rk</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/j5598r9YopA" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/j5598r9YopA</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/e4NglGMyGCQ" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/e4NglGMyGCQ</a>

มีคำอธิบายเรื่องสวดคฤหัสถ์ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม โดยภาษิต จิตรภาษา ว่า สวดคฤหัสถ์ หรือ สวดกะหัด คือการสวดชนิดหนึ่ง เป็นการเล่นที่นิยมเล่นในงานศพ เป็นการเล่นเลียนแบบการสวดพระอภิธรรมของพระสงฆ์ และเล่นในตอนดึกหลังจากพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม เสร็จแล้ว

การแสดงจะมีบทสวด "พื้น" อยู่ 4 อย่าง คือ พื้นพระอภิธรรม (สวดบทพระอภิธรรม) พื้นโพชฌงค์มอญ หรือหับเผย พื้นพระมาลัย (สวดเรื่องพระมาลัย) และพื้นมหาชัย 1 แต่ที่นิยมใช้สวดกันอย่างแพร่หลาย คือพื้นพระอภิธรรม ทั้งนี้ แต่เดิมเป็นการละเล่นของพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์แล้วออกลำนำเป็นภาษาต่างๆ ซึ่งมีปรากฏในกฎหมายตราสามดวง ห้ามไม่ให้พระสงฆ์สวดออกลำนำแบบนี้ จากนั้นจึงแพร่หลายมาในหมู่ชาวบ้าน และเริ่มมีการแต่งตัวตามภาษาที่ใช้สวด

การเล่น สถานที่เล่นอาจเล่นตามวัด หรือเล่นที่บ้าน จะเล่นกันแต่ตอนค่ำ บ้างก็เลิกจนรุ่งสว่าง ผู้เล่นสวดคฤหัสถ์มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาส เรียกผู้สวดว่า "นักสวด" และเรียกผู้สวดคณะหนึ่งๆ ว่า "สำรับ" โดยแบ่งนักสวดเป็น 2 ประเภทคือ นักสวดอาชีพ และนักสวดสมัครเล่น นักสวดอาชีพมีทั้งสำรับพระสงฆ์ และสำรับฆราวาส สำรับหนึ่งมี 4 คน ที่นั่งสำหรับสวดเรียกว่า "ร้าน" ผู้ที่สวดทุกคนถือตาลปัตร ตั้งตู้พระธรรมข้างหน้า ตำแหน่งนักสวดทั้ง 4 คนนั่งเรียงจากซ้ายไปขวาของผู้ชม ดังนี้


1.ตัวตุ๊ย คือตัวตลก มีหน้าที่ทำ ความขบขันให้แก่ผู้ชม แต่จะต้องอยู่ในแบบไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางไป 2.แม่คู่ (หรือคอหนึ่ง) มีหน้าที่ขึ้นต้นบท และนำทางที่จะแยกการแสดงออกไปเล่นในชุดใด ทั้งเป็นตัวซักไซ้ให้เกิดความขบขันจากตัวตลกด้วย 3.คอสอง มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยแม่คู่ คอยซักสอดเพิ่มเติม และ 4.ตัวภาษา เป็นตัวภาษาต่างๆ และตัวนาง ผู้ทำหน้าที่นี้จะต้องร้องเพลงได้ดี พูดเลียนสำเนียงภาษาต่างๆ ได้ชัดเจน


เมื่อเริ่มสวดคฤหัสถ์นักสวดทั้งหมดจะใช้ตาลปัตรบังหน้าเหมือนพระสวดพระอภิธรรม หากเป็นบทสวดคฤหัสถ์ของ "สำรับพระ" จะขึ้นต้นบทสวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยพร้อมกัน 3 จบ แล้วจึงขึ้นบทสวดพระอภิธรรมสังคณี ตัวตุ๊ยก็จะขยับมือข้างหนึ่งออกท่ารำขณะที่ยังถือตาลปัตรอยู่ แม่คู่คนที่อยู่ใกล้จึงยึดมือไว้สักอึดใจหนึ่ง แต่ตัวตุ๊ยยังขยับมือรำอีกแต่จะเป็น 2 มือ หลังจากนั้นจึงมีการเจรจาระหว่างตัวตุ๊ยและแม่คู่

การเริ่มลองเสียงจะร้องว่า "เออเฮอะ เออๆๆๆ" หลายๆ ครั้ง ต่อจากนี้จึงขึ้นบท "เอ๋ย กุ...สลา ฯลฯ" แล้วจึงสวดแยกออกร้องเพลง ตัวตุ๊ยกับตัวภาษาก็ขึ้นรำแสดงท่าทาง มีการตีและตบกันด้วยตาลปัตรบ้างตามสมควร แล้วจึงหันเข้าบทพระธรรม ตัวภาษาตีกลองเข้าจังหวะเพลง ตัวตุ๊ยเข้าแทรกประกอบ แล้วจึงร้องลำจีนกำกับท้ายกราว ต่อจากนี้จึงแยกออกชุดจีน และชุดอื่นๆ ต่อไป ซึ่งการแสดงชุดต่างๆ ยังมีอีกมากแล้วแต่ทางคณะ เช่น ชุดภาษาญวน มอญ แขก ลาว พม่า เขมร ฝรั่ง เพลงฉ่อย และละคร เป็นต้น ไม่มีการวางลำดับตายตัว

ในการเล่นพื้นพระอภิธรรม ทั้งสี่คนจะสวดบทพระสังคิณี เริ่มจากบทสวดภาษาบาลีก่อน แล้วจึงเจือลำนำทีละน้อยจนเป็นลำนำล้วน เมื่อท้ายตู้กับหัวตู้แต่งตัวพร้อมแล้วจะร้องลำนำเป็นเรื่องต่างๆ เช่น ออกภาษาไทยจะเล่นเรื่องไกรทอง รามเกียรติ์ เป็นต้น ถ้าออกภาษาจีนจะนิยมเล่นเรื่องตั๋งโต๊ะ-เตียวเสี้ยน (สามก๊ก) ไกโซบุ๋น และจีนไหหลำ ซึ่งเป็นการเจรจาโต้ตอบแบบจำอวด ถ้าออกภาษาลาวนิยมเล่นเพลงเส่เหลเมา ถ้าออกภาษาญวน ใช้บทสวดสังคโหและใช้เพลงญวนทอดแห

เมื่อการเล่นสวดคฤหัสถ์เสื่อมความนิยมลงไป ได้มีอิทธิพลต่อการละเล่นในยุคต่อมาคือการเล่นจำอวด ปี่พาทย์ออกสิบสองภาษา การออกหางเครื่องลูกบทของมโหรี ปี่พาทย์ และเครื่องลูกบทของลิเก

จาก คอลัมน์ รู้ไปโม้ด ข่าวสด



การเล่นรำสวด : การละเล่นพื้นบ้านในงานศพ

การสวดหน้าศพ หรือการสวดพระอภิธรรม เป็นขั้นตอนหนึ่งของประเพณีการทำศพ เป็นเรื่องการสอนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท โดยให้พิจารณามรณานุสสติกัมมัฏฐาน คือ ให้มีสติระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เป็นบทสวดที่กล่าวถึงความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร ซึ่งตามปกติการสวดหน้าศพมักจะสวดตลอด ๗ คืนหรือ ๓ คืนก็ได้แล้วแต่ความสะดวกของเจ้าภาพ สมัยก่อนจะมีการสวดหน้าศพกันเกือบตลอดทั้งคืน แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะสวดเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น
การเล่นรำสวด เป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการสวดหน้าศพของคนในภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยสมัยก่อนชาวบ้านนิยมตั้งศพบำเพ็ญกุศลกันหลายๆวัน หลังจากการสวดพระอภิธรรมจบแล้ว พระจะสวดบทพระมาลัยต่อ เสมือนการอยู่เป็นเพื่อนศพ ซึ่งคนก็นิยมฟังกันมาก เนื่องจากท่วงทำนอง ลีลา และจังหวะของการสวดจะเป็นแบบละคร
ที่มุ่งสื่ออารมณ์แก่ผู้ฟังด้วยลีลาน้ำเสียงที่ฟังสนุก แต่มีเนื้อหาเน้นการสอนเรื่องบาปบุญคุณโทษ ครั้นต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงการสวดพระมาลัยจากพระมาเป็นฆราวาสเป็นผู้สวดแทน และเรียกว่า "สวดคฤหัสถ์” ซึ่งบางแห่งก็มีการปรับใหม่และเรียกว่า "การเล่นรำสวด” แทน เช่นที่จังหวัดตราด ซึ่งถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่ใช้เล่นในงานศพหลังจากพระสวดอภิธรรม เพื่อจะอยู่เป็นเพื่อนเจ้าภาพให้คลายความโศกเศร้า
จากผลงานวิจัยเรื่อง "การเล่นรำสวดในจังหวัดตราด”ของนางสาวปรารถนา มงคลธวัช และนางสาวสายสมร งามล้วน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อปี ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา พบว่าจังหวัดตราด เป็นจังหวัดหนึ่งที่เป็นที่ตั้งของคณะรำสวดที่มีชื่อเสียงจำนวนหลายคณะ และยังเป็นที่นิยมของคนในจังหวัดตราดและจังหวัดใกล้เคียง โดยคณะรำสวดจะมีอยู่ในหลายอำเภอ เช่น อำเภอเมืองตราด อำเภอแหลมงอบ อำเภอเขาสมิง เป็นต้น ซึ่งการเล่นรำสวดในจังหวัดตราดนี้มีพัฒนาการความเป็นมายาวนานเกือบ ๒๐๐ ปี โดยพัฒนามาจากการสวดพระมาลัยของฆราวาสที่ใช้สวดในงานศพ ซึ่งสมัยก่อนจะใช้ผู้ชายสวด จำนวน ๔-๖ คน ผู้สวดจะรำประกอบการสวด โดยนั่งรำอยู่กับที่ ไม่ลุกขึ้นมารำ จึงได้เรียกการสวดแบบนี้ว่า "รำสวด” และจากการศึกษาวิจัยได้พบว่า ผู้ที่เล่นรำสวดในจังหวัดตราดเป็นบุคคลแรกที่มือชื่อเสียงและเป็นที่พูดถึงในปัจจุบันคือ ครูทวดเสนาะ พญาเวช คนบ้านหินดาษ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว แต่หากจะนับอายุถึงปัจจุบันก็ประมาณ ๒๐๐ ปี อีกท่านคือครูแคล้ว เวชศาสตร์ที่ถึงแก่กรรมไปแล้วเช่นกัน ทั้งสองท่านถือได้ว่าเป็นครูรำสวดที่ได้ถ่ายทอดความรู้ด้านนี้ให้แก่ลูกศิษย์ลูกหามากมายรวมถึงรุ่นครูในปัจจุบัน

วิธีการแสดงรำสวดในจังหวัดตราด แต่ละคณะจะผู้แสดงประมาณ ๔-๖ คน โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันบ้าง แต่โดยหลักๆแล้วจะประกอบด้วย

การแต่งกายและเครื่องดนตรี ส่วนใหญ่นักแสดงฝ่ายชายจะเน้นการใส่สีดำ ขาวเป็นหลัก ส่วนนักแสดงหญิงจะเน้นสีดำทั้งเสื้อและผ้านุ่ง จะไม่ใส่กางเกง มีผ้าคล้องคอ (สีอะไรก็ได้) บางแห่งก็จะใช้ผูกเอวแทนคล้องคอ เครื่องดนตรีจะประกอบด้วยกรับ ฉิ่ง และตะโพน

ขั้นตอนการเล่นรำสวด หลังพระสวดพระอภิธรรมจบแล้ว ทางคณะจะมีการเตรียมเครื่องเคารพครู ได้แก่ ดอกไม้ ๓ สี เงิน ๑๒ บาท เทียน ๑เล่ม ธูป ๓ ดอก เหล้า ๑ ขวด หมาก ๓ คำ เมื่อไหว้ครูเสร็จ ก็จะเริ่มบทไหว้ครู โดยนั่งล้อมวงกัน บอกครูอาจารย์ก่อนแสดง เป็นการร้องรวมกันทั้งคณะ จากนั้นคณะก็จะถามเจ้าภาพก่อนว่าจะให้สวดพระมาลัยหรือไม่ ถ้าเจ้าภาพให้สวด ทางคณะก็จะสวดพระมาลัยให้ แต่ถ้าไม่ก็จะเล่นรำสวดต่อไปเลย หรือในอีกกรณีคือสวดพระมาลัยให้ตอนก่อนสว่างหรือก่อนการแสดงจะจบลง เมื่อเริ่มแสดงจะเป็นการเกริ่นนำ ด้วยการร้องรำบอกว่าวันนี้จะเล่นเรื่องอะไร คล้ายกับการแจ้งกำหนดการแสดง จากนั้นก็จะเป็นการรำสวดเป็นเรื่องๆตามที่ได้แจ้งเอาไว้ เช่น แสดงเรื่องพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน ฯลฯ โดยปกติถ้าเป็นเรื่องยาวจะแสดงไม่เกินคืนละ ๒ เรื่อง และระหว่างเรื่อง ยังอาจมีการคั่นจังหวะด้วยการเล่นลำแต่ง หรือร้องเพลงลูกทุ่งสลับบ้าง ยกเว้นบางคณะที่เล่นแบบอนุรักษ์ดั่งเดิมก็จะไม่เล่น ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะถามเจ้าภาพก่อนเพื่อให้เกียรติแก่เจ้าของงาน และสุดท้ายจะเป็นบทสั่งลาก่อนสว่าง มักจะเป็นการนำบทมาจากวรรณคดี ที่มีความหมายคล้ายๆกับการร่ำลาซึ่งกันและกัน ไม่ว่าศพสั่งลาญาติพี่น้อง ญาติสั่งลาศพ และคณะรำสวดลาเจ้าภาพ เพราะการรำสวดจะทำในคืนสุดท้ายก่อนเผา

สำหรับเนื้อเรื่องที่ใช้ในการรำสวด มักจะมาจากวรรณคดีเป็นส่วนใหญ่ เช่น เรื่องพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน ลักษณาวงศ์ ไกรทอง สังข์ทอง ฯลฯ โดยจะมีทั้งทำนองเก่า เช่น ลมพัดชายเขา นาคเกี้ยว สุดสงวน ฯลฯ และทำนองใหม่ เช่น ลูกสาวใครหนอมาเล่นรำโทน หรือทำนองเพลงลูกทุ่ง เป็นต้น ทั้งนี้ ท่าที่ใช้รำ จะไม่ได้คิดขึ้นมาใหม่ แต่จะใช้การประยุกต์จากท่ารำของลิเก หรือท่ารำของบทละคร เช่น ท่าชี้นก ชมไม้ เป็นต้น โดยจะฝึกกันเองในคณะ

โดยปกติแล้วโอกาสในการแสดงรำสวด จะเล่นในงานศพ ซึ่งเป็นคืนสุดท้ายของงาน หรืองานบรรจุอัฐิ งานทำบุญวันตาย และเวลาฝึกหัดเล่นรำสวด มักห้ามไม่ให้ฝึกที่บ้าน แต่จะไปหาที่ฝึกกันเฉพาะ เช่น วัด หรือศาลเจ้า เป็นต้น แต่ในปัจจุบันบางคณะ เช่น คณะบุญยิ่ง เจริญวงศ์ จากตำบลเกาะช้าง ได้ประยุกต์นำการรำสวดไปแสดงในพิธีที่ไม่เกี่ยวกับความตายแล้ว

โดยเป็นแสดงในลักษณะประชาสัมพันธ์การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของจังหวัดตราดในงานต่างๆ เช่น งานกาชาด งานเปิดสนามบิน เป็นต้น เพียงแต่คณะจะต้องระวังมิให้นำบทร้องที่เกี่ยวกับความตายไปใช้เท่านั้น แต่จะใช้ลำแต่ง ที่แต่งขึ้นมาใหม่เพื่องานนั้นๆโดยเฉพาะ เช่น เป็นเพลงอนุรักษ์ป่าไม้ หรือเพลงต่อต้านโรคเอดส์ เป็นต้น สำหรับค่าตอบแทนในการแสดงเล่นรำสวดนี้จะเหมาจ่ายทั้งคณะประมาณ ๒,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ขึ้นกับระยะทางของสถานที่ว่าใกล้-ไกลเพียงใดด้วย แต่ก็มีกรณียกเว้น เช่น เป็นญาติพี่น้องของคณะรำสวด ก็จะไม่คิดค่าตอบแทน ถือว่าเป็นการมาช่วยเหลือทำบุญร่วมกัน

การเล่นรำสวด ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางภาษาและวรรณกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงการธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมของคนในจังหวัดตราด ที่นอกจากจะให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมการแสดงแล้ว ยังเป็นการสร้างค่านิยมและหลักปฏิบัติด้านความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งได้มีส่วนอนุรักษ์ พัฒนาศิลปะการแสดงพื้นบ้านอีกอย่างหนึ่งของไทยอีกด้วย

จาก http://www.ilovethaiculture.com/young/ewt_news.php?nid=236&filename=index
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


รำสวด

สาระสำคัญโดยรวม

                       รำสวด เป็นศิลปะการแสดงแขนงหนึ่งที่มีการผสมผสานระหว่างการแสดงพื้นบ้านกับศิลปะด้านการดนตรีได้อย่างกลมกลืน จัดได้ว่าเป็นศิลปะของชาติที่สำคัญและมีคุณค่าทัดเทียมกับศิลปะประเภทอื่นๆ เพราะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณี และอุปนิสัยของคนในจังหวัดสมุทรสงครามว่าเป็นคนที่รักความสนุกสนาน แต่เป็นศิลปะที่หาดูค่อนข้างยากกำลังจะเลือนหายไปจากจังหวัดสมุทรสงคราม จึงจำเป็นต้องมีการจัดเก็บข้อมูลและบันทึกเรื่องราวไว้เป็นหลักฐานเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ใช้สืบค้นและศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับศิลปะชนิดนี้ต่อไป

จากการสืบค้นข้อมูลศิลปะการแสดงรำสวดมีประเด็นการศึกษาในเรื่องประวัติความเป็นมา พัฒนาการ

วิธีการแสดง บทบาทและหน้าที่ของการแสดงรำสวดที่มีต่อสังคมและวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมของคนในจังหวัดสมุทรสงคราม รวมถึงวิธีการและขั้นตอนการสืบทอดการถ่ายทอดจากผู้มีความรู้ความสามารถในการแสดงรำสวด โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์จากนักสวด  ผู้นำชุมชนและผู้เคยชมการแสดง การแสดงรำสวดในจังหวัดสมุทรสงครามมีที่มาเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่เป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนนิยมนำมาสวดกันทั่วไปในงานศพ ในระยะแรกนิยมนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระอภิธรรมหน้าศพ ซึ่งในบางครั้งนิมนต์พระสงฆ์สวดตลอดจนถึงรุ่งเช้า เพื่อเป็นเพื่อนศพและเป็นเพื่อนเจ้าภาพไม่ให้เงียบเหงา สร้างความอบอุ่นใจแก่เจ้าภาพ ต่อมาการสวดของพระสงฆ์เริ่มมีการปรับเปลี่ยนโดยระหว่างการสวดจะมีการสอดแทรกมุขตลก มีการลุกขึ้นรำหรือแสดงท่าทาง มีการใช้ถ้อยคำสองแง่สองมุมเพื่อให้เกิดความน่าสนใจและสนุกสนาน เรียกการสวดแบบใหม่นี้ว่า “สวดพระ” “ยี่เกพระ” หรือ “จำอวดพระ” การกระทำแบบนี้ดูแล้วไม่เหมาะสมกับสมณเพศ เป็นการขัดต่อพระวินัย จึงเป็นเหตุให้มีการประกาศห้ามพระภิกษุ สามเณรนำการขับร้องและการละเล่นต่างๆ มาแทรกกับการสวด การสวดพระหรือยี่เกพระจึงเลิกไปเหลือแต่การสวดพระอภิธรรมแบบธรรมดา แต่มีชาวบ้านบางกลุ่มที่เคยผ่านการบวชเรียนมาแล้วชอบการสวดแบบนี้ จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นคณะสวด ไปสวดในงานศพหลังการสวดพระอภิธรรมของพระสงฆ์ สวดเลียนแบบการสวดของพระสวดทุกอย่าง เช่นนำบทสวดพระอภิธรรมมาใช้สวด อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบมีตาลปัตรและ   ตู้พระธรรมเป็นต้น เมื่อการแสดงนี้เป็นที่นิยมกันมาจึงมีการแพร่กระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ในแต่ละท้องถิ่นได้มีการดัดแปลงเนื้อหาการสวดให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ในท้องถิ่นของตน ดังนั้นวิธีการสวด จำนวนผู้แสดง เพศ และการแต่งกายจึงแตกต่างกันไป และมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามความนิยมของท้องถิ่น เช่น เรียกว่า รำสวด ลำสวด สวดคฤหัสถ์ สวดฆราวาส สวดผี สวดมาลัย แม้แต่ในจังหวัดสมุทรสงครามยังเรียกชื่อแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นบางแห่งเรียกว่า “รำสวด”บางแห่งเรียกว่า “สวดรำ”หรือบางแห่งเรียกว่าการเล่นนักสวด ในอดีตที่ผ่านมาการแสดงรำสวดเป็นที่นิยมกันมากแต่ในปัจจุบันหมดความนิยม นักสวดที่เหลืออยู่ก็ล้วนแต่แก่ชรา อีกทั้งขาดผู้สนใจสืบทอด ศิลปะการแสดงรำสวดของจังหวัดสมุทรสงครามคงหมดสิ้นไปในอีกไม่ช้า...


ความสำคัญ/หลักการเหตุผล

๑.   แก้ปัญหาความกลัว ความโศกเศร้า และสร้างขวัญกำลังใจให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่
๒.   แสดงถึงจุดสิ้นสุดของชีวิต
๓.   เป็นปริศนาธรรม ให้เห็นว่าคนเราเมื่อตายไปแล้ว แม้นำของหอมหรือน้ำอบน้ำมนต์ใดๆ มา
ราดรด ก็ไม่อาจที่จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ แม้หมากพลูที่เคยชอบนักหนา เมื่อตายแล้วก็ไม่สามารถเคี้ยวกินได้ ขนาดตำป้อนให้แล้วก็ยังไม่รู้จักเคี้ยวไม่รู้จักคาย หรือแม้แต่ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ตายไปก็ไม่มีใครนำติดตัวไปได้ นอกจากบุญกุศลและคุณความดีที่สร้างไว้เท่านั้นที่จะติดตัวไป ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ควรประมาท เร่งขวนขวายสร้างบุญกุศลและคุณงามความดีไว้
๔.   สร้างความสามัคคีในชุมชน เป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา

ประวัติความเป็นมา

“รำสวด” เป็นศิลปะการแสดงแขนงหนึ่งที่มีการผสมผสานระหว่างการแสดงพื้นบ้านกับศิลปะด้านการดนตรีได้อย่างกลมกลืน เป็นการแสดงที่เกี่ยวข้องกับประเพณี พิธีกรรมที่เกี่ยวกับความตาย ใช้แสดงเฉพาะในงานศพเท่านั้น มีที่มาเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น บางที่เรียกว่า สวดคฤหัสถ์ สวดฆราวาส สวดมาลัย การแสดงนี้มีที่มามาจากการสวดพระอภิธรรมของพระสงฆ์ในงานศพ ด้วยถือการสวดพระอภิธรรมว่าเป็นกุศลยิ่งใหญ่แก่ผู้ตายและเพื่ออยู่เป็นเพื่อนศพและเป็นเพื่อนเจ้าภาพช่วยให้เจ้าภาพคลายจากความเศร้าเสียใจแล้วพัฒนามาหลายยุคหลายสมัยจนกระทั่งมาเป็น “รำสวด”

นิสา เมลานนท์ (๒๕๔๑:๓๑-๓๒) กล่าวถึงที่มาของการสวดพระอภิธรรมหน้าศพว่า “กล่าวกันว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์โปรดพระพุทธมารดา ดังนี้ สมเด็จพระศาสดาเจ้าเมื่อพระองค์ทรงผนวชได้ ๗ พระวัสสา มีพระหฤทัยประกอบด้วยพระกตัญญู จะสนองคุณพระชนนี(มารดา) ปาฏิเหราวสานมฺหิ เมื่อกระทำพระยมกปาฏิหาริย์ทรมานดิตถีนิครนถ์ยังใต้ต้นไม้คัณฑามพฤกษ์สำเร็จแล้ว พระพุทธองค์เสด็จพระบาทสองสามย่างแล้วล่องหนทางอากาศ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ก็ถึงดาวดึงส์พิภพ เมื่อถึงดาวดึงส์พิภพแล้ว บรรดาเทพยดาทั้งหลายโดยมีพระอินทร์เป็นประธานพากันมาเฝ้า พระองค์จึงโปรดให้ไปเชิญสมเด็จพระพุทธมารดาจากสวรรค์ชั้นดุสิต ครั้นพระพุทธมารดามาถึงที่นั่น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “เอหิ ยมก ดูก่อนพระมารดา มาเถิดมารับโปสาวนิกมูลค่าน้ำนม ข้าวป้อนและค่าอาบน้ำ บำรุงบำเรอเลี้ยงรักษา สมเด็จพระบรมศาสดาเจ้าจึงถวายพระสรรพธรรมเทศนาพระอภิธรรมทั้ง ๗ พระคัมภีร์ สนองคุณพระชนนี(มารดา) ในดาวดึงส์สวรรค์ อันประกอบด้วย พระสังคิณี พระวิภังค์ พระธาตุกถา บุคคลบัญญัติ พระกถาวัตถุ พระยมก และพระมหาปัฏฐาน… โดยนัยดังกล่าวนี้เองทำให้พุทธศาสนิกชนนิยมนิมนต์พระมาสวดพระอภิธรรมหน้าศพ ด้วยเชื่อว่าเป็นการสนองพระคุณแก่ผู้ตายและเกิดบุญกุศลแก่ผู้ตาย ช่วยให้ผู้ตายไปสู่สุคติภพ”

ในสมัยก่อนชาวบ้านนิยมตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้าน เนื่องจากวัดมีจำนวนไม่มากและอยู่ไกล การเดินทางไม่สะดวกจึงเกิดประเพณีการอยู่เฝ้าศพขึ้น และนิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมตลอดทั้งคืนเพื่อไม่ให้เงียบเหงาและเพื่อให้พระสงฆ์สวดเป็นเพื่อนเจ้าภาพและผู้ที่มาร่วมงานไปในตัว การสวดพระอภิธรรมสามารถแบ่งได้ตามเนื้อหาและทำนองการสวดได้ ๖ ชนิด คือ การสวดพระธรรม ๗ คัมภีร์ การสวดสังคหะ การสวดสหัสนัย การสวดพระมาลัย การสวดธรรมบรรยายแปล และการสวดของพระพิธีธรรม (ทองพูล บุณมาลิก, ๒๕๔๒:๒๕-๒๖) ต่อมาได้มีพระสงฆ์ที่คิดรูปแบบการสวดให้สนุกสนานขึ้นโดยแปลงทำนองสวดให้สนุกสนาน ตลกคะนอง เรียกการสวดหลังการสวดพระอภิธรรมนี้ว่า “สวดพระ” “ยี่เกพระ”หรือ “จำอวดพระ” การใช้คำพูดหรือการแสดงอาการที่ไม่สำรวมของพระทำให้มีผู้เกรงว่าจะเกิดความเสื่อมเสียต่อพระพุทธศาสนาจึงเกิดข้อห้ามการสวดของพระสงฆ์ในงานศพให้สวดได้เฉพาะบทสวดพระอภิธรรมเท่านั้น แต่เนื่องจากความนิยมของชาวบ้านมีมากทำให้มีผู้ที่ชื่นชอบจดจำและนำไปสวดกันเอง โดยใช้นักสวดที่เป็นฆราวาส เป็นบุคคลทั่วไปไม่ใช่พระเรียกการสวดนี้ว่า “สวดคฤหัสถ์” สวดฆราวาส สวดมาลัย หรือ “รำสวด”

ทองพูล บุญมาลิก (๒๕๔๑:๒๖-๒๗) กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการสวดพระอภิธรรมในงานศพ ว่ามีจุดมุ่งหมาย ดังนี้

๑. เพื่อความอบอุ่นใจแก่เจ้าภาพ เพราะพระสงฆ์เป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านมีความทุกข์เดือดร้อน พระสงฆ์จึงหาวิธีสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวบ้านด้วยการนำธรรมะมาสวด
๒. เพื่อเป็นเพื่อนศพและเป็นเพื่อนเจ้าภาพ ธรรมเนียมของชาวพุทธในประเทศไทยใช้เวลาหลายวันในการจัดพิธีศพ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการรอคอยญาติพี่น้องที่อาจอยู่ไกลกัน ส่วนหนึ่งเพราะความรัก ความอาลัยระหว่างคนตายกับคนเป็น คนเป็นจึงไม่อยากจากกับคนตาย (ด้วยการเผา) เร็วเกินไป จึงจัดพิธีศพหลายวัน หรือเก็บศพไว้นานๆ ดังนั้นการสวดของพระสงฆ์จึงมีบทบาทในฐานะเป็นเพื่อนศพและเป็นเพื่อนเจ้าภาพด้วย
๓. เหตุผลอีกอันหนึ่งที่มีการนำเอาพระอภิธรรมปิฎกมาสวดในงานศพ ก็เพราะเชื่อว่าการฟังสวดพระอภิธรรมเป็นการเจริญรอยตามพระบาทแห่งพระบรมศาสดา ผู้ซึ่งได้เสด็จไปเทศน์พระอภิธรรมโปรดพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
๔. เป็นการช่วยสืบต่อพระศาสนา เพราะการทรงจำพระพุทธพจน์เป็นการสืบต่อพระศาสนาอย่างหนึ่ง การสวดพระอภิธรรมจึงเป็นการส่งเสริมความจำ และเป็นการทบทวนความจำเกี่ยวกับธรรมที่ได้ท่องจำไว้ไปในตัวด้วย
๕. เป็นเหตุแห่งการบำเพ็ญบุญอย่างหนึ่งของมวลญาติผู้อยู่เบื้องหลัง คือบุญที่เกิดจากการฟังธรรม (ธัมมัสสวนามัย) เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตายเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งของลูกหลานและญาติมิตรที่จะพึงปฏิบัติต่อผู้ตายตามแบบอย่างของชาวพุทธ ดังนั้น เมื่อมีการฟังพระสวดพระอภิธรรม และได้ถวายปัจจัยสี่แด่พระสงฆ์ ผู้สวดแล้ว เจ้าภาพก็ได้บุญ เมื่อได้บุญแล้วก็อุทิศกุศลส่วนนั้นไปให้แก่ผู้ตาย
๖. เป็นการอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ให้ทำหน้าที่ดำรงศาสนาสืบต่อไป ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในติโรกุฑฑสูตรว่า “เป็นการให้กำลังแด่พระสงฆ์ (พลัญจ ภิกขุนมนุป-ปทินนัง)”

ทองพูล บุญมาลิก (๒๕๔๒: ๒๗) กล่าวถึงการสวดพระอภิธรรมว่า มีขั้นตอน ดังนี้

๑) เจ้าภาพเตรียมจัดอาสนะสงฆ์สำหรับพระนั่งสวด ๔ รูป ไว้หน้าศพด้านใดด้านหนึ่งของบริเวณที่ตั้งศพขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ตั้งตู้พระธรรมไว้บนอาสนะพระที่มาสวดในตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างรูปที่ ๒ กับรูปที่ ๓ นำคัมภีร์สวดพระมาลัยออกมาจากตู้พระธรรมแล้วนำมาวางไว้บนตู้ หน้าตู้พระธรรมตั้งที่บูชาออกมา ๑ ที่ ประกอบด้วยพานดอกไม้ตั้งกลางชิดตู้พระธรรม สองข้างพานตั้งแจกันดอกไม้ ๑ คู่ ตั้งกระถางธูปตรงกับพานดอกไม้ สองข้างกระถางธูปตั้งเชิงเทียน พร้อมเทียน อยู่ตรงกับแจกัน มีธูป ๓ ดอกปักไว้ที่กระถางธูป
๒) นิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระอภิธรรมสำรับเดียวหรือหลายสำรับแล้วแต่ศรัทธา
๓) พระสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์ถือพัด (ตาลปัตร) ขึ้นนั่งยังอาสนะที่เตรียมไว้
๔) เจ้าภาพจุดเทียนบูชาพระรัตนตรัย จุดเทียนหน้าศพ จุดเทียนหน้าพระสงฆ์ที่มาสวดพระอภิธรรม จากนั้นอาราธนาศีล
๕) พระสงฆ์ให้ศีล เจ้าภาพรับศีล
๖) พระสงฆ์ทุกรูปตั้งพัด (ตาลปัตร) เริ่มสวด บทสวดอาจใช้อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เจ้าภาพนิมนต์ หรือตามที่พระจะสวด
๗) เมื่อสวดครบ ๔ จบแล้ว พิธีกรชักด้ายสายสิญจน์หรือวางภูษาโยงหน้าพระ เจ้าภาพทอดผ้า พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล ถวายเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี

ลุงบุญ รวบรวม (๒๕๒๑:๓๔-๓๕) กล่าวถึงการสวดในรูปแบบตลกคะนอง ที่เรียกว่า

“จำอวดพระ” หรือ “ยี่เกพระ” ว่า ในสมัยก่อนนิยมตั้งศพไว้ที่บ้าน เนื่องด้วยวัดตั้งอยู่ไกลบ้านและยังมีจำนวนไม่มาก ประกอบกับการเดินทางไม่สะดวกอย่างในปัจจุบัน เจ้าภาพต้องต้อนรับแขกที่มาในงานได้ทุกเวลา จึงเกิดเป็นประเพณีการอยู่เฝ้าศพขึ้น โดยผู้ที่มางานส่วนใหญ่จะอยู่ที่บ้านงานกันทั้งคืน เพื่อเป็นเพื่อนเจ้าภาพ จึงนิยมนิมนต์พระสงฆ์มาสวดกันทั้งคืนจนรุ่งเช้าเพื่อไม่ให้เงียบเหงา และเพื่อให้พระสงฆ์เป็นเพื่อนเจ้าภาพและผู้ที่มาร่วมงานไปในตัว ในช่วงเวลาที่นานนี้ จึงมีพระสงฆ์ที่คิดการสวดให้สนุกสนานขึ้น โดยสวดให้ออกตลกคะนองเป็นทำนองต่างๆ มีทำนองเอื้อนนานๆ จนพัฒนาถึงการออกท่าทาง มีการแต่งหน้าแต่งตัวตามเนื้อเรื่องที่จะแสดง และใช้คำพูดในแนวตลกสองแง่สองง่าม ใช้เท้าคีบตาลปัตร โดยมีตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ กันในการแสดง อันประกอบด้วย ตัวตุ๊ย คอ ๑ คอ ๒ และตัวภาษา และเรียกพระสงฆ์ที่มีความสามารถในการสวดแบบนี้ว่า “พระนักสวด” จนกลายเป็นมหรสพอย่างหนึ่งที่เจ้าภาพนิยมจัดหามาแสดงในงานศพ เช่นเดียวกับ โขน ละคร แต่การที่พระสงฆ์สวดออกตลกคะนองเช่นนี้ เป็นการไม่สำรวมกิริยา ไม่เหมาะสมต่อสมณเพศทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระพุทธศาสนา และสิ่งเหล่านี้เป็นการผิดวินัยสงฆ์ ทางคณะสงฆ์จึงออกกฎห้าม แต่เนื่องจากการสวดแบบนี้เป็นที่ชื่นชอบของประชาชน ฆราวาสที่เคยชมการสวดแบบนี้ตลอดจนพระสงฆ์ที่เคยเป็นพระนักสวด เมื่อสึกออกมาเป็นฆราวาส ได้สืบทอดการสวดแบบนี้ไว้ โดยนำมาแสดงต่อหลังจากที่พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมจบ จึงกลายมาเป็นการสวดของฆราวาส และได้เรียกการแสดงเช่นนี้ว่า “สวดคฤหัสถ์” ต่อมาประมาณปลายรัชกาลที่ ๗ การสวดคฤหัสถ์ในงานศพเริ่มไม่เป็นที่นิยม ประกอบกับการแสดงนี้ใช้ในงานศพได้อย่างเดียว นักสวดจึงเริ่มหันไปประกอบอาชีพอื่น

นันทา ขุนภักดี (๒๕๓๙:๓๗) กล่าวว่า “...การสวดคฤหัสถ์นั้น นิยมสวดกันในภาคกลาง ใช้แสดงเฉพาะในงานศพ เริ่มมาจากการสวดพระอภิธรรมหน้าศพของพระสงฆ์ ซึ่งเมื่อสวดหลายคืนติดต่อกันผู้มาร่วมงานเริ่มเบื่อหน่าย พระสงฆ์บางรูปจึงเริ่มคิดทำนองสวดที่แปลกออกไปจากทำนองเดิมขึ้น มีการใส่ท่าทางประกอบหรือใช้ตาลปัตรเคาะพื้นเป็นจังหวะ บางทียังมีการแต่งตัวแต่งหน้าประกอบเพื่อให้ครึกครื้นมากขึ้น จะเริ่มสวดเมื่อพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมจบแล้ว...”
เรณู โกศินานนท์ (๒๕๔๐:๑๐๖) กล่าวถึงที่มาของการสวดคฤหัสถ์ น่าจะมาจากการสวดพระอภิธรรมหน้าศพของพระสงฆ์ ๔ รูป และกล่าวถึงว่าได้รับฟังจากผู้เคยสวดคฤหัสถ์เล่าให้ฟังเมื่อราว ๒๐ ปีมาแล้วว่า “พระสงฆ์ท่านเห็นคนฟังสวดอภิธรรมต่างนั่งหลับโงกเงกกันหมด ท่านก็เลยใส่ความสนุกสนานเข้าไปบ้างบางตอนพอให้หายง่วง กระเดียดไปทางเรื่องสนุกๆ แล้วก็วกเข้าหาทำนองสวดสลับกันไปบ้าง...เป็นอุบายของพระสงฆ์จะเอาใจชาวบ้านมิให้ลืมวัดลืมพระ...แต่ก็กลายเป็นเรื่องไม่ค่อยดี เพราะการสวดออกจะกลายเป็นจำอวดมากขึ้น ถึงกับลุกขึ้นทำท่าทางต่างๆ แล้วก็เลยเถิดไปถึงขั้นถวายน้ำชาผสมเหล้าโรง พระท่านรับแล้วก็ดื่มทันที ไปรู้เอาเมื่อเหล้าเข้าคอ...”

นิสา เมลานนท์ (๒๕๔๑:๓๑-๓๒) กล่าวว่า “...การสวดคฤหัสถ์นั้นมีที่มาจากการสวดพระอภิธรรมของพระสงฆ์ในพิธีงานศพ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเกิดขึ้นในสมัยใด ทราบเพียงแต่ว่าสวดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในงานศพแห่งหนึ่งได้นิมนต์พระภิกษุมา ๔ รูป ไปสวดพระอภิธรรม โดยมีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อนิลเป็นหัวหน้า บังเอิญไปตั้งวงสวดประจันหน้าอยู่กับโรงลิเก เสียงการแสดงลิเกดังมากกลบเสียงพระสวด พระสงฆ์ก็พยายามเร่งเสียงแข่งขึ้นไปเพิ่มลูกเล่น (มุขตลก และวิธีการแปลกๆ ที่ใช้ในการสวด) เรียกความสนใจจากผู้ชมได้มากขึ้น แต่ก็ยังสู้ลิเกไม่ได้ จึงเอาเพลงพื้นบ้านต่างๆเข้ามาร่วมร้องเล่นด้วย พร้อมกับลุกขึ้นรำลอยหน้าลอยตาเข้าจังหวะ ทำให้เป็นจุดสนใจและเป็นที่นิยมชมชอบแก่ผู้ชมมาก เพราะไม่คิดว่าพระสงฆ์จะกล้าทำเช่นนั้น จึงกลายเป็นของแปลก

ตั้งแต่นั้นมา พระสงฆ์ที่รับนิมนต์สวดพระอภิธรรมก็เริ่มดำเนินรอยตามพระภิกษุนิล วิธีการสวดแบบนี้เรียกว่า “สวดพระ”...ต่อมาเมื่อห้ามพระสวด พวกชาวบ้านจึงเลียนแบบ โดยผู้สวดส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เคยผ่านการบวชเรียนมาแล้วสึกออกมา รวมทั้งพระภิกษุที่ทางคณะสงฆ์ออกคำสั่งให้สึก...”

การแสดงสวดคฤหัสถ์นี้มีชื่อเรียกได้หลายชื่อ เช่นในกรุงเทพมหานครนิยมเรียกว่า สวดกระหัด ในต่างจังหวัดนิยมเรียกกันแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ลำสวด สวดผี สวดมาลัย รำสวด สวดฆราวาส เป็นต้น (อานันท์ นาคคง, ๒๕๓๙:๙๒-๙๓) ส่วนการแสดงในจังหวัดสมุทรสงครามเรียกว่า “รำสวด” สวดรำ หรือ “เล่นนักสวด”

การกระจายตัว

บทบาทและหน้าที่ของการเล่นรำสวดที่ปรากฏในสังคมและวัฒนธรรม

๑.   บทบาทด้านการสืบทอดพระพุทธศาสนา ในบทเนื้อร้องการแสดงรำสวดเน้นในเรื่องการทำ
ความดี บาป บุญ นรก สวรรค์ สอดแทรกคติธรรมเป็นการสั่งสอนคนให้มีความเชื่อและศรัทธาในพระพุทธศาสนาและไม่ประพฤติชั่ว และเป็นการทบทวนความจำเกี่ยวกับธรรมะไปในตัวด้วย
๒.   ด้านความบันเทิง เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้ที่อยู่ในภาวะเศร้าโศกเสียใจจากการ
สูญเสียคนที่รักได้คลายจากความทุกข์ คลายความเงียบเหงา รวมทั้งผู้ที่มาช่วยเฝ้าศพ หรือแม่ครัวคลายจากความง่วงและความหวาดกลัว
๓.   บทบาทด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยม ประเพณี ความเชื่อ ความสามัคคี
ความเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลกันที่คนในชุมชนมีต่อกันในยามที่ต้องสูญเสียคนอันเป็นที่รัก
๔.   บทบาทด้านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีการผสมผสานระหว่างดนตรี และการแสดง
พื้นบ้าน การร่ายรำ มีการนำบทสวดมนต์มาเรียบเรียงใส่ทำนองใหม่ได้อย่างผสมกลมกลืนน่าฟังตามความสามารถของนักสวดแต่ละท้องถิ่น

ลักษณะการแสดง

ขนบธรรมเนียมประเพณี มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์เรามาโดยตลอด ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย

ความตายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน เป็นสิ่งที่ธรรมชาติกำหนดมาสำหรับชีวิตมนุษย์ทุกรูปนาม ดังมีคำกล่าวที่ว่า "มรณัง อนตีโต" คือ เราจะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อมนุษย์ทุกคนมีความตายเป็นของคู่กับการเกิด จึงไม่ควรเกรงกลัวกับความตาย สิ่งที่ควรคำนึงคือเมื่อยังมีชีวิตอยู่ได้ประกอบคุณงามความดีและสร้างบุญกุศลเอาไว้ได้แค่ไหน พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์มีตั้งแต่เกิดจนถึงตายความตายมีอยู่หลายอย่างเช่น พิธีโกนจุก บวชนาค แต่งงาน ทำบุญต่ออายุ ฯลฯ ส่วนพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตายได้แก่ พิธีการทำศพ

พิธีกรรม หมายถึง การปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานทางวัฒนธรรมอันเกี่ยวกับสัญลักษณ์ที่กระทำในโอกาสต่างๆ หรือหมายถึงพฤติกรรมทางสังคมอันละเอียดอ่อนที่ถูกกำหนดขึ้นโดยขนบธรรมเนียม กฎหมาย หรือระเบียบของสังคม ซึ่งแสดงออกถึงสัญลักษณ์ของคุณค่านิยมหรือความเชื่อ (ดวงเด่น นุเรมรัมย์:พิธีกรรมกับจริยธรรมในสังคม) พิธีกรรมถือเป็นการขนบธรรมเนียมประเพณี ที่คนในสังคมหรือท้องถิ่นต่างๆ นิยมปฏิบัติสืบต่อกันมา อาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น พิธีกรรมต่างๆ นั้น จัดได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของศาสนาทุกศาสนา เพราะศาสนาคือแหล่งกำเนิดของประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ ของสังคม

สาขา/ประเภท ศิลปะการแสดง | การแสดง

ความเชื่อ

พิธีกรรมการทำศพ ส่วนใหญ่มีลักษณะการประกอบพิธีคล้ายกัน ดังนี้

๑. เมื่อสิ้นลมหายใจ ให้จุดเทียนหรือตะเกียงไว้ข้างศพ
๒. อาบน้ำศพ ก่อนเอาศพใส่โลงต้องทำพิธีอาบน้ำศพเสียก่อน โดยวางบนเตียง จับแขนข้างหนึ่ง
ให้ทอดออกมา ผู้มารดน้ำศพก็เอาน้ำหรือน้ำหอมที่เจ้าภาพเตรียมไว้เทลงที่ฝ่ามือของศพ อธิษฐานในใจให้อโหสิกรรม
๓. นำศพใส่โลง ก่อนเอาศพใส่โลงให้ตำหมากใส่ในปากศพคำหนึ่ง แล้วหาเงินบาทหรือแหวน
ทองคำใส่ลงไปในปาก เอากรวยดอกไม้ธูปเทียนใส่มือ แล้วตราสังข์ศพด้วยผ้าขาว ยกไปวางในโลง ปิดฝาโลงให้เรียบร้อย
๔. การเคลื่อนขบวนศพ ในการเคลื่อนขบวนศพนั้น ให้ลูกหลานของผู้ตายถือกระถางธูป และ
รูปของผู้ตายนำหน้าต่อมาจึงเป็นพระสงฆ์ ๔ รูป ถือสายสิญจน์ที่ต่อมาจากการมัดตราสังศพ และโยงออกมาหน้าโลงซึ่งสัปเหร่อได้จัดเตรียมไว้ไห้แล้ว สายสิญจน์ที่ให้พระจับเวลาสวดศพทุกคืนก็ใช้เส้นเดียวกันนี้
5. การตั้งศพทำบุญการตังศพทำบุญจะทำที่บ้านหรือที่วัดก็ได้ตอนค่ำมีการนิมนต์พระมาสวดพระ
อภิธรรมเป็นประจำทุกคืนจนกว่าจะถึงวันกำหนดทำพิธีเผา หรือเก็บศพไว้เผาทีหลัง
๖. การสวดพระอภิธรรม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า สวดหน้าศพ นิมนต์พระสงฆ์ ๔ รูป เตรียมสถาน
ที่ตั้งตู้พระอภิธรรม ๑ ตู้, แจกัน ๑ คู่, เชิงเทียน ๑ คู่, กระถางธูป ๑ ที่, อาสนะสำหรับพระนั่ง ๔ ที่ หมากพลู, น้ำร้อน น้ำชาถวายพระพร้อมความมุ่งหมายก็เพื่อให้เจ้าภาพได้มีโอกาสฟังธรรม และสนทนาธรรมตามควร จะสวด ๓ คืน ๗ คืน หรือทุก ๗ วัน จนถึงวันเผาก็ได้ ในสมัยโบราณหลังจากพระสงฆ์พระอภิธรรมเสร็จแล้วนิยมจัดการแสดงรำสวดเพื่อให้ผู้ที่อยู่เฝ้าศพ แม่ครัว และเจ้าภาพคลายจากความเงียบเหงา
๗. การฌาปนกิจศพ หรือการเผาศพ โดยทั่ว ๆ ไปนิยมตั้งศพทำบุญในตอนเช้าวันฌาปนกิจ
๘. การเก็บอัฐิ เมื่อจัดการฌาปนกิจเสร็จแล้ว สาวนใหญ่เก็บอัฐิในตอนเย็นวันเผาเลย
๙. แปรธาตุ หลังจากเผาเสร็จ ครั้งแรกให้ทำกองกระดูกให้เป็นรูปคนนอนหงาย หันศีรษะไปทาง
ทิศตะวันตก สมมติว่าตาย แล้วนิมนต์พระมาบังสุกุล ตอนนี้เรียกว่า "บังสุกุลตาย" จะมีผ้าทอดก็ได้ หรือไม่มีก็ได้ พระสงฆ์จะพิจารณาว่า "อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปปาทวยธมฺมิโน อุปปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺ ติ เตสํ วูปสโม สุโข" เมื่อพระพิจารณาจบแล้ว ก็ให้ทำรูปอัฐินั้นใหม่ เป็นรูปคนหันศีรษะไปทางทิศตะวันออก สมมติว่าเกิด แล้วเจ้าภาพก็ใช้น้ำหอมประพรมโปรยด้วยดอกไม้และเงินทอง นิมนต์พระสงฆ์บังสุกุลอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เรียกว่า "บังสุกุลเป็น" พระสงฆ์บังสุกุลว่า "อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวึ อธิเสสฺสติ ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นอรตฺถํ วกลิงฺครํ" แล้วทำการเก็บอัฐิ เมื่อเก็บอัฐิตามต้องการแล้วอัฐิที่เหลือรวมทั้งเถ้าถ่านก็รวบรวมไปบรรจุ, ทิ้งแม่น้ำหรือฝังในที่เหมาะสมต่อไป
๑๐.   ทำบุญอัฐิ (ออกทุกข์) เมื่อเก็บอัฐิเสร็จตอนเช้า และนำอัฐิไปถึงบ้านแล้ว จะทำบุญในวันนั้น
หรือจะพัก ๓ วัน หรือ ๗ วัน จึงทำก็ได้ (พิธีกรรมเมื่อมีศพคนตาย)


เรื่องพระมาลัยมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อความเชื่อของคนไทย ในเรื่อง นรก สวรรค์ บาป บุญ คุณ โทษ คือเชื่อว่า เมื่อทำาบาปก็จะได้รับ ผลตอบแทนที่ไม่ดีคือตกนรก ส่วนเมื่อทำาบุญ ทำาทานอันเป็นความดีก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดีคือได้ขึ้นสวรรค์ เป็นต้น คณะมาลัยหนึ่งๆ จะมีคนสวดมาลัยอย่างน้อย ๔ คนคือ แม่เพลง ๒ คน และลูกคู่ ๒ คน ดนตรีรำามะนากับขลุ่ย หรือไม่ ใช้ดนตรีก็ได้ อุปกรณ์อื่นๆ ก็มี ตาลปัตร แป้งผัดหน้า หนวดปลอม เขี้ยวปลอม แว่นตา ฯลฯ สมัยก่อนการสวดมาลัย เป็นการสวดหนังสือมาลัยจริงๆ ต่อมาธรรมเนียมนี้ได้เปลี่ยนไป มีการสวดแบบเปิดหน้า และคิดประดิษฐ์คำาร้องทำานองต่างๆ ขึ้นมาใช้ด้วย เนื้อร้องมีพระมาลัย ไว้เล็กน้อย และยังนำาเรื่องจากวรรณคดีเข้าแทรกเป็นตอนๆ

สวดพระมาลัย คณะนายแก้ว มีอีก ตามลิ้งไปเลย https://www.youtube.com/user/tourimsgt/videos

<a href="https://www.youtube.com/v/TDOlqJ0ExLI" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/TDOlqJ0ExLI</a>

ลำดับขั้นตอนการแสดง

รำสวด เป็นการแสดงที่แสดงใช้ในงานศพ นักสวดจะเริ่มแสดงหลังจากพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมแล้วก็จะเล่นกันจนรุ่งสว่าง มีขั้นตอนการแสดงดังนี้
๑) บูชาพระรัตนตรัย ก่อนการแสดงนักสวดต้องมีการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย โดยตัวแทนนักสวด เพื่อเป็นการขอขมาที่นำพระธรรมมาล้อเล่นโดยไม่สำรวม เป็นการแสดงล้อเลียนการสวดของพระสงฆ์และเพื่อเป็นการไหว้ครูไปในตัวด้วย จากนั้นเริ่มต้นสวดด้วย
๒) เริ่มการสวดด้วยตั้ง “นะโม” ๓ จบ ด้วยทำนองที่คิดขึ้นใหม่ เพื่อสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย
และครูอาจารย์ ต่อด้วยบทสวดที่เป็นเนื้อหาพระธรรม ส่วนใหญ่เป็นเนื้อเรื่องจากหนังสือพระมาลัย เนื้อหาของบทนี้เป็นการเล่าของพระมาลัยเถระชาวลังการับดอกบัว ๘ ดอก จากทุกคตะคนยากแล้วนำไปบูชาพระจุฬามณี ซึ่งเป็นพระเมาฬีของพระพุทธองค์ที่พระอินทร์รับไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบปะและสนทนากับพวกเทวดาน้อยใหญ่ต่างๆ โดยมีพระอินทร์เป็นผู้แนะนำและซักถามว่า เมื่อยังเป็นมนุษย์ได้ทำบุญสุนทานไว้อย่างไร จนได้สนทนากับพระศรีอารยเมตไตรย ผู้ซึ่งจะมาอุบัติในมนุษย์โลกเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ห้า หลังจากที่ผ่านพ้นยุคประลัยกัลป์ไปแล้ว และเพื่อมนุษย์โลกจะได้มีความสุขอีกครั้งหนึ่ง ต่อจากนั้นพระเถระก็ได้ลงไปเยี่ยมเมืองนรก พวกสัตว์นรกก็พ้นทุกข์ชั่วคราว โดยได้สนทนาบอกกล่าวถึงความชั่วของตนที่ทำไว้เมื่อยังเป็นมนุษย์และให้ช่วยบอกญาติพี่น้องให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บ้าง (นิสา เมลานนท์, ๒๕๔๑:๔๓) เมื่อสวดจบแล้วต่อด้วยเรื่องราวจากวรรณคดีต่างๆ เช่น ขุนช้างขุนแผน สังข์ทอง ไกรทอง เป็นต้น

ตัวอย่างบทสวดในคัมภีร์พระมาลัย

ในการอันลับล้น   พ้นไปแล้วแต่ครั้งก่อน   
ภิกขุหนึ่งได้พระพร   ชื่อมาลัย   เทพเถร
อาศัยบ้านกัมโพช   ชนบทโลหะเจน   
อันเป็นบริเวณ   ในแว่นแคว้นแดนลังกา
พระเถรนั้นเธอมีฤทธิ์   ประสิทธิ์ด้วยปัญญา   
มีศีลครองสิกขา   ญาณสมาบัติบริบูรณ์...
กงจักรพัดหัวไว้   เลือดไหลซาบอาบตนลง   
บาปตีแม่แลตีสงฆ์   กงจักรพัดร้องคราง ตาย
เลือดไหลลงย้อยหยด   กงจักรกรดพัดบ่วาย
เร่งร้องเร่งครางตาย   กงจักรกรดเร่งพัดผัน
ตีตีนมือสั่นระเยิ้ม   ตัวสั่นเทิ้มอยู่งกงัน
ยืนตรงอยู่ทุกวัน   เหนื่อยลำบากยากหนักหนา
พระมาลัยเทพเถร   ท่านจึงเสด็จเหาะลงมา
หักกงจักรด้วยฤทธา   สัตว์ผู้นั้นสร้างทุกข์ทน

(ร่าย) ยังมีเปรตหนึ่งลำบากหนักหนา   เป็นเหยื่อแร้งกาฝูงสัตว์อยู่รุม
สุขนักใหญ่น้อยพลอยกัดกินกลุ้ม   แร้งกานกตระกุมริมจิกสับเอา
เนื้อนั้นหมดสิ้นยังแต่โครงเปล่า   จักสับเฉี่ยวเฉาร้องครางเสียงแข็ง
แร้งกานกตระกุมรุกจิกด้วยแรง   จิกทึ้งกวัดแกว่งยื้อแย่งไปมา
นรกแลเปตา   ถวายวันทาไหว้สั่งไป
จึงพระเถรชื่อมาลัย   บอกแก่ญาติถ้วนทุกคน
ดูราท่านทั้งหลาย   เร่งขวนขวายสร้างกุศล
ญาติท่านได้ทุกข์ทน   สั่งให้ท่านเร่งทำบุญ
เปรตนรกสั่งฉันใด   พระมาลัยผู้มีคุณ   
ให้ญาติเขาทำบุญ   อันเขาอยู่ในเมืองคน
เปรตนรกสั่งดังนี้   ร้องสั่งมี   มาทุกตน   
ทำบาปได้ทุกข์ทน   บาปดังนี้อย่าให้ทำ...
๓) นักสวดบางสำรับมีเพลงก่อนเริ่มเข้าการแสดงเรียกว่า “ลำสวด” “ลำนอก” หรือ “ออกลำ” ร้องก่อนขึ้นชุดการแสดง

องค์ประกอบของการแสดงรำสวด

องค์ประกอบของการแสดงรำสวดคล้ายกับการสวดคฤหัสถ์ มีรายละเอียดดังนี้

๑.   ผู้แสดง
ผู้แสดงสวดรำสวดเรียกว่า “ นักสวด” ในแต่ละชุดมี ๔-๖ คน
ตำแหน่งของการสวดจะคล้ายกับการสวดของพระสงฆ์ คือ ๑ สำรับ มีพระ ๔ องค์ เรียกว่าคู่สวด มีแม่คู่
และลูกคู่ แม่คู่สวดตั้งต้นแล้วลูกคู่รับ เพื่อไม่ให้ขาดเสียงเพราะหยุดหายใจ (เสถียร โกเศศ, ๒๕๓๒:๘๗-๘๘)
๑.   สถานที่และอุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดง
สถานที่และอุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงใช้เช่นเดียวกับของพระสงฆ์ คือสถานที่จะอยู่บริเวณ
ที่ตั้งศพคือที่พระสงฆ์นั่งสวด เมื่อพระสงฆ์สวดเสร็จนักสวดก็เข้าแทนที่อุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงประกอบด้วย

๒.๑ ตู้พระธรรม
๒.๒ หนังสือสวดพระมาลัย
๒.๓ ชุดเครื่องบูชา ประกอบด้วย พานดอกไม้ แจกันดอกไม้ กระถางธูป เชิงเทียน
๒.๔ ตาลปัตร จำนวน ๔ ด้าม
บทสวดที่ใช้ในการแสดงรำสวดคือบทสวดที่พระสงฆ์ในสวดในโอกาสต่างๆ ใช้เป็นบทขึ้น
เท่านั้นไม่ได้นำบทสวดทั้งหมดมาสวด บทสวดพระมาลัย และบทสวดพระอภิธรรมเป็นบทสวดที่นิยมนำมาสวด
กันมาก เมื่อเริ่มการแสดง จะนำเรื่องราวนอกเหนือจากพระธรรม เช่น นำเรื่องราวจากวรรณคดีขุนช้าง ขุนแผน ไกรทอง รามเกียรติ์ มาร้องในทำนองต่างๆ มีลักษณะคล้ายกับการร้องเพลงฉ่อย การแหล่ หรือการขับเสภา
นอกจากนี้นักสวดยังนำด้ามตาลปัตรเคาะเป็นจังหวะด้วย ท่วงทำนอง เนื้อหา และลูกเล่นต่างๆ เหล่านี้จะแตกต่างกันไปตามความสามารถของนักสวดในแต่ละท้องถิ่นด้วย

๒.   การแต่งกายและเครื่องดนตรี การแต่งกายไม่เน้นว่าต้องใส่สีดำ จะใส่สีใดก็ได้แต่ที่นิยมคือสี
เรียบๆ ไม่ฉูดฉาด เป็นชุดที่ใสมาในงานศพ บางแห่งอาจมีการแต่งกายให้เข้ากับเนื้อเรื่องบ้าง ไม่ใช้เครื่องดนตรี ใช้วิธีกระแทกด้ามตาลปัตรกับพื้น หรือปรบมือเป็นจังหวะ

๓.   โอกาสในการแสดง การแสดงรำสวดนิยมเล่นในงานศพเท่านั้น
การถ่ายทอดและการสืบทอด

การสืบทอดหรือถ่ายทอดความรู้การแสดงรำสวดมีข้อข้อจำกัดไม่ให้ฝึกหัดที่บ้าน ให้ไปฝึกหัดที่

วัด หรือศาลเจ้า โดยเชื่อว่าหากมีการฝึกที่บ้านจะนำความอัปมงคลมาสู่บ้าน การแสดงรำสวดนี้นักแสดงไม่ได้แสดงเป็นอาชีพ ไม่มีค่าตอบแทน เป็นลักษณะของงานช่วย ต่อมาเมื่อมีความเจริญมากขึ้น การคมนาคมมีความสะดวกสบาย มีวัดเพิ่มขึ้น วิถีชีวิตของคนในชุมชนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ประเพณีการจัดงานศพก็มีการปรับเปลี่ยนไป ชาวบ้านหันไปนิยมไว้ศพที่วัด ที่ไม่ต้องมีคนอยู่เฝ้าศพ หรืออยู่เป็นเพื่อนเจ้าภาพอีก หลังจากพระสวดพระอภิธรรมจบแล้วทั้งเจ้าภาพและแขกที่มาร่วมงานต่างก็กลับบ้านของตน การแสดงหลังการพระอภิธรรมจึงไม่มีความจำเป็นอีก หรือถ้ามีการจัดการแสดงรำสวดผู้มาร่วมงานไม่ให้ความสนใจ ต่อมามีมหรสพหรือการแสดงอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น ภาพยนตร์ วงดนตรีใหม่ เจ้าภาพบางรายก็หันไปนิยมจัดให้มีภาพยนตร์แทน เมื่อโอกาสในการเล่นน้อยลงและไม่ค่อยมีผู้ชม จึงหาผู้ที่สนใจสืบทอดได้ยาก เพราะนอกจากต้องฝึกซ้อมการร้อง ท่องจำบทสวดและทำนองต่างๆ แล้วการแสดงรำสวดในปัจจุบันยังไม่เป็นที่นิยมอีกและไม่สามารถทำเงินได้ การแสดงรำสวดจึงเริ่มเลือนหายไปจากจังหวัดสมุทรสงคราม ในปัจจุบันเหลือผู้ที่สวดได้เพียงไม่กี่คน ส่วนมากเป็นผู้เฒ่า ผู้แก่ที่สืบทอดการเล่นมาตั้งแต่อดีต และผู้ที่ชื่นชอบเท่านั้นที่จะจดจำท่วงทำนองและบทร้องนำไปเล่าขานให้ลูกหลานได้รับฟังได้

ข้อมูลผู้บอกรายละเอียด

๑ นางยิ้ม ศรีเผือก
๑.๑ ประวัติ นางยิ้ม ศรีเผือก เกิดเดือน ๒ ปีมะเมีย อายุ ๗๖ ปี เกิดที่บ้านหัวหาด ตำบล
เหมืองใหม่ อำเภออัมพวา อยู่บ้านเลขที่ ๓๖ หมู่ที่ ๙ ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่.๔ สมรสกับนายฉลวย ศรีเผือก (เสียชีวิตแล้ว) มีบุตร ๕ คน ปัจจุบันประกอบอาชีพทำสวนผลไม้
๑.๒ ประวัติการเรียนรู้ด้านการแสดงรำสวด นางยิ้ม ศรีเผือก ไม่เคยได้รับการถ่ายทอดความรู้
หรือฝึกฝนการแสดงรำสวดจากผู้ใดมาก่อนแต่ได้เห็นการแสดงนี้มาตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อเติบโตขึ้นก็สามารถจดจำบทร้องและทำนองได้ เมื่อมีการแสดงก็ได้เข้าร่วมกับคณะนักสวดด้วย โดยสามารถเป็นผู้นำสวดในตำแหน่งหัวตู้หรือแม่เพลงได้


๒. นางทองหยิบ แก้วนิลกุล
๒.๑ ประวัติ นางทองหยิบ แก้วนิลกุล เกิดวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๒อายุ ๖๗ ปี
เกิดที่บ้านหัวหาด ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา บ้านเลขที่ ๓๔ หมู่ที่ ๙ ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ม.๓ สมรสกับนายธนู แก้วนิลกุล มีบุตร ๘ คน ปัจจุบันประกอบอาชีพค้าขาย
๒.๒ ประวัติการเรียนรู้ด้านการแสดงรำสวด นางทองหยิบ แก้วนิลกุล ได้รับการถ่ายทอด
ความรู้ด้านการแสดงรำสวดและการร้องเพลงพื้นบ้านจากบรรพบุรุษและจดจำจากผู้เฒ่า ผู้แก่ในหมู่บ้าน โดยบรรพบุรุษของนางทองหยิบเคยแสดงละครพื้นบ้านของจังหวัดสมุทรสงครามเรียกละครนี้ว่า “สโมทัย” ปัจจุบันไม่พบการแสดงละครนี้แล้ว

๓. นางปุ้น หัตถเขตร์
๓.๑ ประวัติ นางปุ้น หัตถเขตร์ เกิดเดือน ๙ ปีชวด อายุ ๙๕ ปี เกิดที่บ้านหัวหาด
ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ ๙๓ หมู่ที่ ๙ ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จบการศึกษาชั้น ป.๔ สามีถึงแก่กรรมแล้ว มีบุตร ๑๐ คน
๓.๒ ประวัติการเรียนรู้ด้านการแสดง/การเล่นรำสวด นางปุ้น หัตถเขตร์เคยเล่นเป็นลูกคู่
ในการแสดงรำสวด โดยได้เห็นการแสดงมาตั้งแต่เด็ก จำได้บ้าง ไม่ได้บ้างจึงเล่นเป็นลูกคู่ แต่ไม่เคยไปฝึกจากใคร โดยทั่วไปไม่นิยมนำบทสวดมาสวดเล่นกันในเวลาอื่นนอกจากในงานศพ การเรียนรู้ส่วนใหญ่จดจำกันเอง เนื่องจากการแสดงรำสวดเป็นการแสดงของผู้ที่มาช่วยงานศพ ผู้ใดสามารถสวดได้ก็ไปสวดเล่นกัน ไม่มีค่า ตอบแทนต่อมาภายหลังการจัดงานศพมักจะไม่ต้องให้มีคนมาอยู่เฝ้า การเล่นนี้จึงได้หายไปนาน ๒๐-๓๐ ปี

๔. นายสุรินทร์ สุวรรณบุตร
๔.๑ ประวัติ นายสุรินทร์ สุวรรณบุตร เกิด พ.ศ.๒๔๖๙ อายุ ๘๐ ปี เกิดที่บ้านยี่สาร
ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา บ้านเลขที่ ๗๕ หมู่ที่ ๑ ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ สมรสกับนางฟ้อน สุวรรณบุตร (ถึงแก่กรรมแล้ว) มีบุตร ๘ คน ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นเจ้าของโรงงานรีดเหล็กเส้น อยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ
๔.๒ ประวัติการเรียนรู้ด้านการแสดงรำสวด นายสุรินทร์ สุวรรณบุตรไม่เคยได้รับการ
ฝึกสอนหรือถ่ายทอดความรู้การเล่นรำสวด แต่จะได้เห็นการแสดงรำสวดมาตั้งตั้งแต่เด็ก จึงจดจำบทร้อง ทำนองได้ ต่อมาเมื่อเติบโตขึ้นก็ได้เข้าร่วมแสดงกับคณะด้วย และเรียกการแสดงนี้ว่า “สวดรำ” เนื่องจากมีการรำ ประกอบกับการสวด


๕. นายไพบูลย์ รัตนพงศ์ธระ
๕.๑ ประวัติ นายไพบูลย์ รัตนพงศ์ธระ เกิดวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๘ อายุ
๗๒ ปี เกิดที่บ้านคลองโคน ตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม อยู่บ้านเลขที่ ๑/๓ หมู่ที่ ๓ ตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม สมรสกับนางสุพรรณ รัตนพงศ์ธระ มีบุตร ๕ คน ปัจจุบันประกอบอาชีพเกษตรกรรม (เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง)
๕.๒ วิธีการและขั้นตอนการแสดง ในสมัยโบราณหมู่บ้านคลองโคน ตำบลคลองโคน อำเภอ

จาก http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/performing-arts/236-performance/317-----m-s

<a href="https://www.youtube.com/v/e4QZxrLISkU" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/e4QZxrLISkU</a>
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด





การสวดคฤหัสถ์

คนโดยทั่วไปจะเข้าใจว่า การสวดคฤหัสถ์เป็นการเล่นที่เคยมีมาแต่ในงานศพ ที่คิดเช่นนี้ก็เนื่องมาแต่ความเคยชิน เช่นเดียวกับแลเห็นปี่พาทย์มอญ ก็ต้องคิดว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในงานศพทั้งสิ้น แท้จริงปี่พาทย์มอญนั้น ในประเพณีของชาวรามัญเขาบรรเลงได้ไม่ว่างานอย่างไร จะเป็นทำบุญบ้าน แต่งงาน หรืองานใดๆ เขาก็ใช้ปี่พาทย์เช่นนั้นบรรเลง แต่ไทยเราเท่านั้นที่นำมาใช้แต่ในงานศพ จึงเห็นเป็นของประจำงานศพไป สวดคฤหัสถ์ก็มีนัยอันเดียวกัน การแสดงสวดคฤหัสถ์มีบทสวดที่เรียกว่า "พื้น" อยู่ 4 อย่าง คือ พื้นพระอภิธรรม 1 พื้นโพชฌงค์มอญหรือหับเผย 1 พื้นพระมาลัย 1 และพื้นมหาชัย 1 แต่ที่นิยมใช้สวดกันอย่างแพร่หลาย ก็คือพื้นพระอภิธรรม มีบทขึ้นต้นว่า "กุสลา ธมฺมา อกสุลา ธมฺมา ฯลฯ" ซึ่งเราได้ยินพระภิกษุสวดประจำในงานศพอยู่เสมอ แต่ธรรมทั้งหลายที่เป็นพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้า ย่อมเป็นธรรมคำสั่งสอนที่ดีมีมงคลอยู่ในตัวทั้งสิ้น หามีบทใดตอนหนึ่งที่จะเป็นสิ่งอัปมงคลไม่ ยิ่งพระอภิธรรมซึ่งแปลว่า ธรรมอย่างยิ่งหรืออย่างสูง จะถือว่าเป็นอัปมงคลได้อย่างไร บทกุสลา ธมฺมา อกสุลา ธมฺมา นี้เป็นหลักแห่งหมวด 3 ในคัมภีร์พระอภิธรรมที่เรียกว่า 1 กุสลติก" กล่าวถึงเรื่องธรรมที่เป็นกุศล อกุศล และอัพยากฤต ตลอดไปตนสังขารวิญญาณ ล้วนแต่เป็นคำสั่งสอนให้รู้จักพิจารณาทั้งสิ้น แต่การที่มีประเพณีนำบทพระอภิธรรมมาสวดในงานศพ ก็น่าจะเนื่องมาจากดำเนินรอยตามรอยพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ได้นำพระอภิธรรมไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดา เมื่อชาวพุทธศาสนิกชนจะบำเพ็ญกุศลอุทิศแทนคุณบิดามารดา และบุพการีโดยเฉพาะงานศพของท่านเหล่านั้น จึงนำบทพระอภิธรรมมาใช้เป็นบทสวดหน้าศพ เสมือนหนึ่งสวดให้ท่านผู้นั้นฟัง และก็ได้ใช้สืบต่อกันมาจนเป็นประเพณี แต่แท้ที่จริงแล้ว พระอภิธรรมย่อมเป็นธรรมอย่างสูงอันควรฟังได้ทุกเวลาสถานที่
การแสดงสวดคฤหัสถ์ ได้สืบต่อเปลี่ยนแปลงมาจากการสวดพระอภิธรรมของพระภิกษุ สิ่งประกอบที่ยังแสดงให้เห็นประจักษ์อยู่ก็คือ มีนักสวด 4 คน เรียกว่า "สำรับ" ที่นั่งสำหรับสวดเรียกว่า "ร้าน" ผู้ที่สวดทุกคนถือตาลปัตร ตั้งตู้พระธรรมข้างหน้า บทขึ้นต้นใช้พระธรรมที่พระภิกษุสวด และการแสดงนี้ยังเรียกกันว่า "สวด" สวดคฤหัสถ์เป็นการแสดงที่นำความสนุกสนานครึกครื้นมาสู่ท่านผู้ชมเป็นอันมากอย่างหนึ่ง ซึ่งมีมาแต่ในสมัยโบราณ ผู้ที่สวดทั้ง 4 คน มีหน้าที่ปฏิบัติต่างกัน คอยรับคอยสอดประสมประสานกันตลอดไป ตำแหน่งของนักสวดทั้ง 4 ซึ่งนั่งเรียงกันนับจากซ้ายไปขวาของผู้ชมมีดังนี้

1. ตัวตุ๊ย คือ ตัวตลก มีหน้าที่ทำความขบขันให้แก่ผู้ชม สิ่งใดที่จะนำความขบขันมาสู่ จะเป็นการขัดแย้งหรือโลดโผนใดๆก็ได้ทั้งสิ้น แต่จะต้องอยู่ในแบบแผนรักษาแนวทางมิให้ออกนอกลู่นอกทางไป

2. แม่คู่ (หรือคอหนึ่ง) มีหน้าที่ขึ้นต้นบท และนำทางที่จะแยกการแสดงออกไปเล่นในชุดใด ทั้งต้องเป็นหลักซักไซ้นำให้เกิดข้อขบขันจากตัวตลกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นหลักสำคัญของสำรับนั่นเอง


3. คอสอง มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยแม่คู่ คอยซักสอดเพิ่มเติม และเป็นหลักในการร้องเมื่อแม่คู่ได้ขึ้นต้นบทมาแล้ว


4. ตัวภาษา มีหน้าที่เป็นตัวเอกในทางสวยงาม เช่น เป็นตัวภาษาต่างๆ และตัวนาง เป็นต้น ผู้มีตำแหน่งนี้จะต้องร้องเพลงได้ดี พูดเลียนสำเนียงภาษาต่างๆได้ชัดเจน


วิธีการแสดงของสวดคฤหัสถ์

วิธีการแสดงของสวดคฤหัสถ์เฉพาะพื้นพระอภิธรรม เริ่มต้นด้วยการลองเสียงเป็นทำนองแต่ไม่มีถ้อยคำ มีแต่ร้องว่า "เออเฮอะ เออๆๆๆ" หลายๆครั้ง ต่อจากนี้จึงขึ้นบท "เอ๋ย กุ...สลา ฯลฯ" แล้วก็หาทางสวดแยกออกร้องเพลง ตัวตุ๊ยกับตัวภาษาก็ขึ้นรำแสดงท่าทาง มีการตี และตบกันด้วยตาลปัตรบ้างตามสมควร แล้วหันเข้าบทพระธรรมอีกนิดหน่อย ตัวภาษาตีกลองเข้าจังหวะเพลง ตัวตุ๊ยเข้าแทรกประกอบ มีติดตลกเล็กๆน้อยๆ แล้วจึงร้องลำจีนกำกับท้ายกราวเพื่อให้ตัวตุ๊ยกับตัวภาษาออกรำทำบทประกอบ ต่อจากนี้จึงแยกออกชุดจีน และชุดอื่นๆต่อไป

การแสดงชุดต่างๆของสวดคฤหัสถ์นี้มีมากมายหลายอย่าง เช่น ชุดภาษาญวน มอญ แขก ลาว พม่า เขมร ฝรั่ง เพลงฉ่อย และละคร เป็นต้น แต่ก็มิได้วางไว้ตายตัวว่าจะต้องเรียงลำดับอย่างไร แล้วแต่ความพอใจของคณะ ซึ่งแต่ละชุดก็มีวิธีการนำความขบขันมาสู่ผู้ชมต่างๆกัน และชุดหนึ่งก็กินเวลามิใช่น้อย โดยปกติที่เล่นกันตามวัดหรือบ้าน จะลงมือเล่นกันแต่ตอนค่ำ บางทีก็ไปเลิกจนรุ่งสว่าง

คำว่า "เบญจพรรณ" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลไว้ว่า "แม่สีทั้งห้า คือ ขาว ดำ เหลือง เขียวแดง, ห้าชนิด, หลายอย่าง, เรียกต้นไม้ที่ปลูกไว้ในที่แห่งเดียวกัน"

คำแปลที่ว่า หลายอย่าง" นั้น ในที่นี้ตรงกับความหมายในด้านการแสดงมหรสพ เมื่อพูดถึงคำว่าเบญจพรรณแล้วย่อมเป็นที่รู้กันวงศิลปินสมัยก่อนทุกท่าน ว่าหมายถึงการแสดงหลายๆอย่าง ที่นำมาระคนเข้าในที่อันเดียวกัน เช่นการแสดงเป็นตัวเทวดาของตัวตลกละครหรือลิเก ก็มักจะแทรกการแสดงเบญจพรรณเพื่อความตลกขบขันในตอนนี้ การแสดงเบญจพรรณของตัวเทวดาตลกนี้ ตามแบบแผนโบราณมีอยู่ 2 ชนิด คือ "เบญจพรรณร้อง" และ "เบญจพรรณหน้าพาทย์"
การแสดงเบญจพรรณร้อง มีวิธีแสดงดังนี้ ตัวเทวดาตลก ซึ่งมักแต่งตัวด้วยอาภรณ์อันวิตถาร เพื่อจูงใจให้เกิดความขบขันตั้งแต่แรกเห็น เช่นนุ่งผ้าเกี้ยวหยักรั้งสวมสังวาลกับตัวเปล่าอย่างละครโนห์ราชาตรีโบราณ สวมชฎาเก่าๆหักๆ และต่อยอดด้วยสิ่งที่มีรูปลักษณะน่าเกลียดต่างๆ เช่น กระจ่า เป็นต้น ใช้ฝุ่นผัดหน้าป้ายลงมาตรงกลางตั้งแต่หน้าผากตลอดคางเป็นทางยาว ดังนี้เป็นต้น เมื่อได้ออกมายืนบนเตียงหน้าฉากแล้ว (เทวดาตลกมักไม่นั่งเหมือนตัวอื่นๆ เพราะการยืนสามารถทำบทบาทได้มากกว่า) ก็จะร้องเพลงโนเน ซึ่งมักมีบทว่า "จะกล่าวถึงเทวาสุราฤทธิ์ ..." การร้องเพลงโนเนนี้ โดยปกติลูกคู่จะต้องรับเป็นทำนองซึ่งมีบทว่า "โนเนโนช้า ไม่รักไม่มาเลยเอย" แต่ลูกคู่ก็หารับเพลงนั้นไม่ แกล้งไปรับเสียเป็นเพลงอื่น เช่น แกล้งรับเป็นทำนองญวนว่า "เฮ้ว เฮ้วกวางกะย่อฮ่อกวาง..." เป็นต้น ตัวเทวดาก็จะต่อว่าลูกคู่หาว่ารับผิดเพลง พวกลูกคู่ก็จะตอบว่า "หางเสียงแหย่ไปเพลงนั้นนี่" ตัวเทวดาก็ตกลง เปลี่ยนไปร้องเพลงญวนตามที่ลูกคู่ได้ร้องรับไปแล้วนั้น แต่ลูกคู่ก็เปลี่ยนไปรับเพลงอื่นเสียอีก เช่น แกล้งรับเป็นทำนองลาวว่า "จ้อยแม่นาสูกำพร้าเรียมเอย..." เป็นต้น เทวดาก็ต่อว่าอีก ลูกคู่ก็แก้ว่าหางเสียงแหย่ไปอย่างนั้นอีก ตัวเทวดาจะต้องร้องตามเพลงที่ลูกคู่ร้องรับนั้นทุกๆเพลง และลูกคู่ก็แกล้งรับเชือนไปเสียทุกๆเพลง ซึ่งผู้แสดงเทวดาตลกออกเบญจพรรณร้องนี้ จะต้องสามารถร้องเพลงเบ็ดเตล็ดได้มากพอที่จะร้องตามลูกคู่ได้ เมื่อเปลี่ยนร้องเพลงไปหลายเพลงพอสมควรแล้ว ตัวเทวดาก็ทำโกรธเลิกร้อง บอกปี่พาทย์ให้ทำเพลงเชิดทีเดียว ต่อจากนี้ก็เปลี่ยนไปเล่นเบญจพรรณหน้าพาทย์ต่อไป

การแสดงเบญจพรรณหน้าพาทย์ เป็นการเล่นระหว่างเทวดาตลกกับปี่พาทย์ เริ่มด้วยปี่พาทย์ทำเพลงเชิดให้เทวดาไป ตัวเทวดารำทำท่าเชิดไปได้สักเล็กน้อย ปี่พาทย์ก็เบาลงจนแทบไม่ได้ยิน ตัวเทวดาก็รำย่อตัวลงไปๆ และทำประหนึ่งพยายามสดับเสียงเพลง หรือเที่ยวหาปี่พาทย์ตามใต้เสื่อใต้เตียงบ้าง ครั้นแล้วปี่พาทย์ก็ตีกระโชกดังขึ้นดังเดิม ตัวเทวดาก็สะดุ้งตกใจรำถลาไป แล้วปี่พาทย์ก็ตีให้เบาลงเช่นเดิมอีก ต่อจากนั้นปี่พาทย์จะหยุดชะงัก จนตัวเทวดารำค้างแทบยั้งไม่ทัน ครั้นตัวเทวดาต่อว่า และอ้อนวอนขอให้ปี่พาทย์ทำต่อไป ปี่พาทย์ก็จะเปลี่ยนเป็นทำนองเพลงลงสรง พอตัวเทวดาต่อว่า ทางปี่พาทย์ก็บอกว่าจะไปไหนก็ต้องอาบน้ำเสียก่อน เทวดาก็ต้องรำเพลงลงสรงไปตามเพลง พอถึงท่ากอบน้ำขึ้นจะบ้วนปาก ปี่พาทย์ก็หยุดให้รำค้างอยู่เพียงนั้น ครั้นเทวดาต่อว่ากันเล็กน้อย ปี่พาทย์ก็เปลี่ยนเป็นเพลงอื่น เช่น กราวในบ้าง กราวนอกบ้าง และหยุดในท่าสำคัญๆที่จะทำให้ยืนไม่อยู่ทั้งนั้น เช่น ท่ารำที่กำลังยกเท้าขึ้นข้างหนึ่ง เทวดาก็ต้องรำตามหน้าพาทย์นั้นทุกเพลง ในตอนท้ายปี่พาทย์ก็เปลี่ยนเป็นเพลงทยอยสลับกับโอด ตอนแรกๆก็สลับกันห่างพอสมควร แต่ท้ายที่สุดก็สั้นและเร็วเข้า เป็นโอดหน่อยทยอยนิด จนตัวเทวดารำไม่ทัน ในที่สุดปี่พาทย์ก็ทำเพลงเชิดให้ไปได้ตามเนื้อเรื่อง การแสดงเบญจพรรณหน้าพาทย์นี้ ผู้แสดงเป็นเทวดาจะต้องสามารถรำหน้าพาทย์ได้ทุกเพลง และฝ่ายปี่พาทย์ก็จะต้องรู้ท่ารำ เพราะจะต้องหยุดลงในท่ารำที่จะทำให้เกิดความขบขันได้

จาก http://thairoyalorchid.blogspot.com/2007/12/blog-post_6117.html

<a href="https://www.youtube.com/v/HD9n-aJSimw" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/HD9n-aJSimw</a>

สวดคฤหัสถ์ [ คณะสี่สำราญ ] ที่เหลือ ตามฟังได้ ที่ https://www.youtube.com/watch?v=HD9n-aJSimw&list=PLzhKvSB-FpwptOcBM42DZR3opSSsyGu6d
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...