ภัยร้ายที่รู้ว่าอันตรายกับลูก แต่พ่อแม่ก็ยังทำ..!! /สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน 18 สิงหาคม 2553 06:37 น.
ถ้าให้ลองนับดูว่าภัยร้ายชนิดใดที่คุณรู้ว่าอันตราย แต่ก็ยังทำอยู่..!!
ดิฉันเชื่อว่ามีมากมายหลายสิ่งที่เราก็ชอบทำ แม้จะรู้ว่าอันตราย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ ดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ ถึงขนาดต้องมีองค์กรต่างๆ รณรงค์กันมากมายว่าอย่าทำพฤติกรรมเหล่านี้
"ทั้งที่เป็นชีวิตของเราเอง"
แต่ดูเหมือนก็มีผู้คนจำนวนมากไม่ได้แคร์ และก็ยังมีข่าวคราวจำนวนผู้เสียชีวิต หรือประสบอุบัติเหตุเพราะพฤติกรรมที่ว่าข้างต้น
ยังไม่นับรวมกับพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ที่บางครั้งไม่ควรทำ หรือห้ามทำ แต่ก็ยังฝืนทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน แม้จะมีข้อห้าม แต่ก็ไม่สามารถห้ามใจได้เพราะความอยากกิน โดยไม่ได้ห่วงเรื่องสุขภาพ
"ทั้งที่เป็นชีวิตของเราเอง"
บางคนก็อาจจะมีประโยคต่อท้ายว่า เป็นเรื่องของฉัน
แต่...ถ้าไม่ใช่เฉพาะ “เรื่องของฉัน”อย่างเดียว เป็นประเด็น “เรื่องลูกของฉัน” ด้วยล่ะ..!!
ประเด็นที่น่าห่วงในขณะนี้ก็คือ ด้วยลักษณะของพ่อแม่เหล่านี้ ได้กลายเป็นพฤติกรรมที่เป็นแบบอย่างให้กับเด็ก ให้กับลูกหลานจำนวนมาก
และที่น่าห่วงมากยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ การที่พ่อแม่เป็นผู้นำภัยร้ายให้กับลูกเอง
"ทั้งที่รู้ว่าเป็นอันตรายกับลูกน้อยของเราเอง"
ดังเช่น เรื่องโทรศัพท์มือถือ ที่ยังคงเห็นเด็กเล็กจำนวนมากใช้โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะบรรดาโรงเรียนชื่อดังทั้งหลาย เด็กส่วนใหญ่ที่ใช้โทรศัพท์มือถือก็มักจะเป็นเด็กในสังคมเมือง เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะดี
สอบถามเด็กจำนวนหนึ่งได้คำตอบใกล้เคียงกันว่า พ่อแม่ซื้อให้ เพราะเวลาพ่อแม่ขับรถมารับแล้วไม่มีที่จอดรถ ก็เลยซื้อโทรศัพท์มือถือให้ เวลาพ่อแม่มารับจะได้สะดวก เมื่อถามต่อไปอีกว่าแล้วทางโรงเรียนไม่ว่าอะไรหรือ เด็กน้อยบอกว่าคุณครูไม่อนุญาตให้เอามา แต่พ่อแม่บอกว่าไม่เป็นไรอย่าให้คุณครูเห็นละกัน
เอาเข้าไป...สอนลูกโกหกอีกต่างหาก
เด็กที่ดิฉันเจอเล็กสุดที่ใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ระดับชั้นอนุบาลสาม ดิฉันได้คุยกับคุณแม่ของเด็ก ได้คำตอบว่า "หน้าโรงเรียนไม่มีที่จอดรถ จำเป็นจริงๆ ที่ต้องให้ลูกมีโทรศัพท์มือถือ แต่มีพี่คนโตอีกคนอยู่ ป.3 ก็มีโทรศัพท์ด้วยเหมือนกัน ก็เลยไม่ค่อยห่วง เวลามาถึงหน้าโรงเรียนก็จะโทรหาลูกชายคนโต ให้ตามน้องมาขึ้นรถ เขาก็จะโทรศัพท์หากันเอง สะดวกดี จริงอยู่ว่ามันอันตราย แต่เราไม่ได้โทรบ่อย วันหนึ่งใช้เฉพาะตอนกลับบ้าน แป๊บเดียวเอง ไม่น่าเป็นอะไรหรอก"
ประโยคในท่วงทำนองที่ว่า ไม่น่าเป็นอะไร เพราะโทรแป๊บเดียว มักได้ยินอยู่เสมอเมื่อพ่อแม่อนุญาตให้ลูกใช้โทรศัพท์มือถือ แท้ที่จริงแล้ว ลูกก็อยู่กับคลื่นความถี่ทั้งวัน เพราะขณะเปิดเครื่องอยู่ แม้จะไม่ได้ใช้ แต่โทรศัพท์มือถือก็ปล่อยรังสีออกมาอยู่ดี
นี่..ยังไม่นับรวมกับเด็กที่ต้องติดเกมในโทรศัพท์มือถืออีกต่างหาก แล้วพ่อแม่จะไปบ่นภายหลังได้อย่างไรว่าลูกติดเกม
ความจริงภัยร้ายที่มาจากโทรศัพท์มือถือมีมากมาย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องรังสีจากโทรศัพท์มือถือเท่านั้น
ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) ได้เคยเตือนถึง การใช้โทรศัพท์มือถือในเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ว่าเด็กมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่เนื่องจากสมองและระบบประสาทยังพัฒนาไม่เต็มที่ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ อีกทั้งเด็กยังมีความไวต่อรังสีทุกชนิด จึงมีโอกาสได้รับรังสีสะสมสูงกว่า และอาจทำให้เกิดเซลล์กลายพันธุ์ได้มากกว่าผู้ใหญ่
นอกจากนี้ ความที่ศีรษะของเด็กมีขนาดเล็กกว่าและกะโหลกบางกว่า ยังทำให้คลื่นพลังงานจากโทรศัพท์มือถือสามารถทะลุทะลวงเข้าสู่สมองเด็กได้มากกว่าอีกด้วย
อ้างอิงไปถึงงานวิจัยจากประเทศสวีเดน ซึ่งศาสตราจารย์เลนนาร์ต ฮาร์เดลล์ จากประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัย เคยแถลงผลการวิจัยว่า ผู้ที่เริ่มใช้โทรศัพท์มือถือก่อนอายุ 20 ปี มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 5 เท่าที่จะเป็นเนื้องอกในสมองชนิดร้ายแรง (glioma) หรือมะเร็งที่เกิดที่เซลล์ค้ำจุนระบบประสาท (glial cells) ขณะที่ความเสี่ยงของโรคนี้ต่อเด็กจากการใช้โทรศัพท์ไร้สายในบ้านสูงถึงเกือบ 4 เท่า
ส่วนผู้ที่เริ่มใช้โทรศัพท์ในช่วงเด็กหรือวัยรุ่นมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 5 เท่าที่จะเป็นมะเร็งบริเวณส่วนต่อของหูกับสมอง (Acoustic neuromas) ซึ่งแม้ไม่เป็นอันตราย แต่การตัดเนื้องอกนี้จากเส้นประสาทรับเสียงอาจทำให้เกิดอาการหูตึงได้
ผลศึกษานี้ถือเป็นสัญญาณอันตราย และบ่งชี้ว่าเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือ ยกเว้นเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ส่วนวัยรุ่นควรใช้อุปกรณ์แฮนด์ฟรีหรือชุดหูฟัง และควรใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อพิมพ์ข้อความเป็นหลัก
ความจริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงมากพอสมควร หลายหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศก็ออกมาเตือนว่ามันอันตรายอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตรงกันข้ามก็คือ จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ประเด็นของกลุ่มวัยรุ่นคงยากที่จะบอกไม่ให้เขาใช้ เพราะในกลุ่มวัยรุ่นเรื่องโทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งจำเป็น และกลายเป็นแฟชั่นไปซะแล้ว
แต่สำหรับกลุ่มเด็กๆ ทั้งหลาย โดยเฉพาะเด็กระดับประถมและอนุบาล ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะรีบให้เขาได้ใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะเสมือนพ่อแม่เป็นผู้หยิบยื่นภัยร้ายให้กับลูกเอง มีวิธีการมากมายที่พ่อแม่สามารถรับลูกได้โดยไม่ต้องให้ลูกใช้โทรศัพท์มือถือ แม้จะไม่สะดวกนัก แต่เมื่อเทียบกับภัยร้ายที่ติดตัวไปกับลูก ก็คงต้องเลือกเอา
ความจริงปัญหาที่ตามมานอกจากภัยที่สะสมมาจากรังสีจากโทรศัพท์มือถือแล้ว อีกประเด็นหนึ่งก็คือ เป็นการสร้างค่านิยมเรื่องวัตถุนิยมให้กับลูกตั้งแต่เด็กอีกด้วย
ความจำเป็น ความสะดวก เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ต้องการ แต่สิ่งที่ตามมาก็ต้องมีความปลอดภัยด้วย
อยู่ที่ว่าเราจะเลือกเป็นพ่อแม่แบบไหน ต้องเลือกเอา..!!!
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000114348