ผู้เขียน หัวข้อ: เอ็นโซ วงกลมมหัศจรรย์ ( Enso the Zen Circle )  (อ่าน 1894 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



" เอ็นโซ – วงกลมมหัศจรรย์ Enso, the Zen Circle "

ปรมาจารย์แห่งเซน ใช้ศิลปะพู่กันและหมึกจีน เขียน" วงกลม " ซึ่งเป็นการเขียนที่ " ง่าย " ที่สุด
ประกอบกับอักษรจำนวนไม่มาก . . . สื่อสารกับสหธรรมิกหรือสานุศิษย์
ซ่อนธรรมะที่มีความซับซ้อนลึกซึ้งแห่งพุทธศาสนา

เอ็นโซ วงกลม คือ . . . "  ความว่าง  "


ที่ . . . " เต็ม " 
         " หาที่สุดมิได้ "
         " สว่างประภัสสร "
         " สมบูรณ์ "


เพียงรอยเส้นหมึกแค่นี้ ก็สามารถเปิดฟ้าเปิดจักรวาล ในรหัสยนัยของปรมาจารย์



โกอานเรื่องวงกลม มีความดังต่อไปนี้

ในสมัยโบราณ มีขุนนางคนหนึ่งนามว่า เฉินเชา เลื่อมใสศรัทธานิกายเซ็นมาก วันหนึ่ง เข้าไปนมัสการอาจารย์ จื้อฝู

อาจารย์จื้อฝู พรรณาท้องฟ้า โดยวาด วงกลม ขึ้นวงหนึ่ง

เฉินเชาถามว่า " เจ้าสิ่งนี้มีประโยชน์หรือครับ "

แต่อาจารย์กลับเดินเข้ากุฏิไป ซ้ำยังปิดประตูด้วย



นิทานเซน : ปีศาจแมงมุม

    ยังมีพระเซนรูปหนึ่ง ทุกครั้งที่กำหนดจิตใจเพื่อเข้าฌานสมาธิ พลันปรากฏแมงมุมตัวใหญ่เข้ามารบกวนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะไล่อย่างไรก็ไม่ไป
       
       พระเซนไม่ทราบว่าเป็นเรื่องราวใด สุดท้ายได้แต่ไปปรึกษาอาจารย์เซน
       
       เมื่อทราบปัญหาของศิษย์ อาจารย์เซนจึงแนะนำว่า
       
      "ครั้งต่อไปเมื่อเจ้านั่งสมาธิ จงเตรียมพู่กันจุ่มหมึกเอาไว้ หากปรากฏแมงมุมขึ้นอีก เจ้าจงใช้พู่กันในมือวาดวงกลมเอาไว้ที่ท้องของแมงมุมเพื่อทำสัญลักษณ์
       
       คราวนี้เราจะได้รู้กันว่า ที่แท้แล้วแมงมุมตัวนี้ เป็นสัตว์ประหลาดมาจากที่ใดกันแน่"

       
       พระเซนจึงนำคำแนะนำของอาจารย์มาปฏิบัติ
       
       ครั้งต่อมาเมื่อเขาเริ่มนั่งสมาธิและปรากฏแมงมุมออกมารบกวนเช่นเคย จึงรีบใช้พู่กันที่เตรียมเอาไว้ วาดวงกลมบนท้องของแมงมุม
       
       ทว่าเมื่อออกจากสมาธิ พระเซนจึงพบว่า วงกลมที่เขาวาดเอาไว้บนท้องของแมงมุม บัดนี้กลับมาอยู่บนท้องของเขาเอง
       
       ยามนี้อาจารย์เซนจึงกล่าวว่า "ความคิดร้ายดีล้วนสร้างจากใจ ที่แท้แมงมุมตัวนั้นเป็นจิตของเจ้านั่นเองที่สร้างขึ้นมา"
          
      ปัญญาเซน : อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของคนเรา มักเกิดขึ้นมาจากภายในจิตใจของตนเอง
       
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 184 เมษายน 2559 โดย มุมจีน : manager online) http://astv.mobi/A38te7n


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 29, 2016, 01:33:16 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Re: เอ็นโซ – วงกลมมหัศจรรย์ " Enso, the Zen Circle "
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 29, 2016, 01:28:16 pm »


The Natural Cycle Seen through Circles

วัฏฏะแห่งธรรมชาติในรูปของวงกลม

วงกลมถูกใช้ในทางสัญลักษณ์เพื่อแสดงวงจรที่สมบูรณ์ของชีวิตเรา ไม่ว่าจะเป็นการบูชาพระอาทิตย์ นิยายปรัมปรา หรือศาสนศิลปะ วงกลมก็แสดงให้เห็นแง่มุมที่มีชีวิตที่สุดของการมีตัวตนของเรา ซึ่งก็คือความสมบูรณ์ วงกลมก่อให้เกิดความรู้สึกสงบและสมบูรณ์มาทุกยุคทุกสมัย คาร์ล จุง (Carl Jung) เขียนไว้ในงานของเขาว่าวงกลมคือ “ตัวอย่างของความเป็นทั้งหมดตลอดกาล”

ความเชื่อมโยงของเรากับวงกลมนั้นค่อนข้างชัดเจน เราถูกโอบล้อมด้วยวงกลมของขอบฟ้า เราอาศัยอยู่ในดาวเคราะห์ทรงกลมที่โคจรเป็นวงรอบดวงอาทิตย์ภายใต้โดมขนาดมหึมาที่พร่างพราย เราได้รับความรักจากดวงจันทร์ ศิลปะให้ความสำคัญกับรูปร่างในธรรมชาติที่สะท้อนวงกลมที่เป็นนามธรรมนี้ ตั้งแต่แหวน รูปทรงกลม ไปถึงวงล้อ เราประดับรัศมีไว้เหนือศีรษะของเหล่านักบุญ และเต้นระบำอันศักดิ์สิทธิ์เป็นวงกลม

มีตัวอย่างการใช้วงกลมมากมายในพุทธศาสนา เราเรียกคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “ธรรมจักร” หรือกงล้อแห่งความจริง เซนต่อยอดคำสอนนี้ โดยกล่าวว่าเมื่อกงล้อแห่งธรรมหมุน มันหมุนไปในทั้ง 2 ทิศทาง ศาสนาพุทธสายทิเบตมีการฝึกทำ “มันดาละ” ภาพวงกลมที่แสดงถึงจักรวาลและแง่มุมต่างๆ เพื่อฝึกความสงบของจิตใจ สำหรับเซนแล้ว คือ “เอ็นโซ” (enzo) หรือการวาดภาพวงกลม


เอ็นโซเป็นเรื่องสามัญที่สุดในการวาดภาพแบบเซน มันเป็นสัญลักษณ์ของการรู้แจ้ง พลัง และจักรวาล เป็นการแสดงผลแห่งการกระทำและปัจจุบันขณะ เอ็นโซเป็นวิชาที่ลึกซึ้งที่สุดในบรรดาภาพเขียนแบบเซนที่เรียกว่า “เซนงะ” (zenga) เชื่อกันว่าคุณลักษณะของศิลปินจะแสดงออกมาอย่างชัดเจนผ่านวิธีที่เขาหรือเธอวาดเอ็นโซ คนที่มึจิตและวิญญาณที่สมบูรณ์เท่านั้นจึงจะวาดเอ็นโซที่แท้จริงได้ ศิลปินบางคนฝึกเขียนเอ็นโซทุกวันเพื่อฝึกฝนจิตใจ

แม้รูปร่างของเอ็นโซจะดูไม่ซับซ้อน แต่แก่นของมันกลับยากที่จะเข้าถึงหรือให้คำจำกัดความ ด้านหนึ่งมันเป็นเพียงภาพวงกลมที่เขียนด้วยการลากพู่กันเพียงครั้งเดียวภายในหนึ่งลมหายใจ อีกด้านหนึ่งเอ็นโซเป็นตัวแทนของความสมบูรณ์ของช่องว่าง บางคนบอกว่าเอ็นโซไม่มีความหมายที่แท้จิรง ขณะที่บางคนยืนยันว่ามันชี้นำและแสดงให้เห็นการกระทำต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา เมื่อผู้ชมดูภาพเอ็นโซ ภาพจะสื่อสารและได้รับการชื่นชมได้ในหลายระดับขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของจิตใจผู้ชม

รูปร่างของเอ็นโซต่างกันไปตั้งแต่ภาพที่เป็นสมมาตรไปจนถึงภาพที่ไม่เป็นรูปเป็นร่าง ฝีแปรงบางและนุ่มนวลไปจนเส้นกว้างและรุนแรง เอ็นโซหลายภาพมีข้อความหรือกลอนสั้นๆ ที่เรียกว่า “ซัง” (san) ประกอบ ศิลปินอาจเป็นคนเขียนขึ้นเองหรือเป็นผู้ชมที่เขียนวิจารณ์ภาพ เพื่อทำให้บริบททางศาสนาหรือจิตวิญญาณชัดเจนและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ภาพเอ็นโซทำหน้าที่เป็นข้อความหรือคำถามที่ขัดแย้งที่มองเห็นได้ หรือเป็นการสาธิตที่ชี้หรือแนะให้เห็นธรรมชาติของความจริง มันสะท้อนให้เห็นความเข้าใจของศิลปินว่าที่สุดแล้วคำพูดและภาพใดๆ ก็ไม่สามารถแสดงให้เห็นความเป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์ อาจารย์เซนจึงพยายามชี้ให้เห็นเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาที่สุดเพื่อช่วยให้เราเห็นธรรมชาติที่แท้ของความจริงแทนที่จะมานั่งอธิบาย

ความสำคัญของการชี้แนะอย่างตรงไปตรงมาภายใต้การฝึกฝนทางศาสนาเป็นสิ่งที่สืบทอดและขัดเกลากันมาในศาสนาพุทธนิกายเซน ท่านโพธิธรรมผู้ก่อตั้งเซนนิยามธรรมเนียมนี้ไว้ดังนี้

“...การส่งผ่านที่อยู่เหนือสิ่งที่เขียน
ไม่ต้องอาศัยคำพูดหรือตัวอักษร
ชี้ตรงไปยังจิตใจของมนุษย์
และการตระหนักถึงการรู้แจ้ง...”


การชี้นำมีหลายแบบ แต่ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับรายงานเล่มนี้มากที่สุดคือการที่ศิลปะทำหน้าที่นำปัญญาไปสู่คำถามที่ขัดแย้งซึ่งเป็นพื้ยฐานของคำสอนเซนเกือบทั้งหมด หลายร้อยปีมาแล้วที่เอ็นโซเป็นแนวทางให้พระและผู้ฝึกฝนแก้ปมอันซับซ้อนของเงื่อนคำถามที่ปรมาจารย์ตั้งไว้ บางครั้งเอ็นโซก็ปรากฏในคำถามที่ขัดแย้งนี้เอง


ในสมัยคามาคุระ (Kamakura, ค.ศ. 1200-1350)มีความเจริญรุ่งเรืองด้านการผสมผสานวัฒนธรรมแบบเซน โดยสามารถหลอมรวมศิลปะ วิถีชีวิต และคำสอนทางศาสนาให้เป็นเอกภาพ ศิลปะเหล่านี้ได้พัฒนาเป็น “ฉะโด” (chado) หรือศิลปะการชงชา ขลุ่ยไม้ไผ่ การจัดสวน ละครโน (no) เครื่องกระเบื้อง “คิวโด” (kyudo) หรือการยิงธนู และที่สำคัญที่สุดคือ “โชโด” (shodo) หรือภาพเขียนและบทกวี โด แปลว่าทาง ศิลปะเหล่านี้ถูกเปรียบเป็น “ทาง” เพราะมันเป็นลายแทงแห่งศาสตร์ในการขัดเกลาความเข้าใจตนเองของศิลปินและความเข้าใจในธรรมชาติของควมจริง เมื่อศาสตร์เหล่านี้รวมกันจึงกลายเป็นสิ่งที่รู้จักกันในนาม “ศิลปะที่ไร้ศิลปะของเซน” เทคนิคต่างๆ ได้รับการถ่ายทอดต่อกันมา และใช้เป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารความจริงแบบเซน

ศิลปะแบบเซนแตกต่างจากพุทธศิลป์แขนงอื่นๆ เนื่องจากไม่ได้เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งอื่น จุดประสงค์ของเซนไม่ได้อยู่ที่การทำให้ประสบการณ์ทางศาสนาของผู้ที่เลื่อมใสลึกซึ้งขึ้น ไม่มีการใช้ศิลปะแบบนี้ในการบูชา พิธีกรรม หรือการสวดภาวนา ไม่แม้แต่ใช้เพื่อทำให้รู้สึกถึงความเปิดเผย การมีสติรู้ตัว หรือความอ่อนไหวต่อคำสอนทางจิตวิญญาณ ศิลปะแบบเซนในฐานะ

ศิลปะอันศักดิ์สิทธิ์เป็นการแสดงสิ่งที่เหนือคำบรรยายอย่างตรงไปตรงมา มันช่วยเปลี่ยนความเข้าใจของเราต่อตัวเองและจักรวาล มันทำให้สิ่งที่มองไม่เห็นมีรูปร่าง



ในศิลปะเซนแบบดั้งเดิม ภาพเขียนและการเขียนอักษรทำหน้าที่เป็นวาทกรรมทางสายตา ขณะที่บทกลอนสื่อถึงแก่นแห่งความไร้คำพูดของเซน ดี.ที. ซูซูกิ (D.T. Suzuki) กล่าวถึงรูปแบบที่มีเอกลักษณ์เหล่านี้ว่า


“...ศิลปะแห่งเซนไม่ได้มีจุดหมายเพื่อการใช้งาน หรือเพื่อความบันเทิงทางสุนทรียะ แต่เพื่อฝึกฝนจิตใจอย่างหนักเพื่อให้จิตสื่อสานกับความจริงสูงสุด...”


นอกจากนี้ยังมีมรดกทางวัฒนธรรม วรรณกรรม และศิลปะของเซนที่เรายังค้นไม่พบ เมื่อรากแห่งการฝึกฝนและปฏิบัติได้หยั่งลงบนฝั่ง ก็ถึงเวลาชื่นชมกับแง่มุมอื่นๆ ของมรดกทางวัฒนธรรม พร้อมกับทำให้เราเข้าใจศิลปะที่ไร้ศิลปะของเซนยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วเราควรพิจารณาเอ็นโซที่ไม่มีเหตุผลหรือชี้ไปยังการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ นอกจากตัวเอง มันดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์ไร้ที่ติ และมีคุณค่าทางศิลปะในตนเอง เอ็นโซเป็นรางวัลแก่ตัวเอง มันไม่มีเหตุอื่นนอกเหนือจากตัวเอง และไม่ส่งผลอื่นๆ นอกเหนือจากตัวเองเช่นกัน ผลผลิตของเอ็นโซคือเอ็นโซ

“...วงกลมนี้วงเดียว
ไม่มีพระองค์ใดกระโดดข้ามไปได้...”


การใช้ภาพวงกลมในพุทธศาสนาสามารถสืบย้อนไปได้ถึงตำนานพระพุทธศากยมุนี (ประมาณ 563 ปีก่อนคริสต์กาล) อาจารย์เซนท่านหยุนเหมิน (Yun-men) อ้างว่าพระองค์ทรงยกพระหัตถ์ชี้ไปบนสวรรค์หลังประสูติ แล้วเดินเป็นวงกลม 7 ก้าว และประกาศองค์เป็นผู้ทรงเกียรติ การเวียนเทียนรอบบริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น เจดีย์นั้นเป็นประเพณีพุทธมาแต่โบราณ อย่างไรก็ตาม แนวคิดพุทธยุคแรกๆ ให้ความสนใจสัญลักษณ์รูปกลมน้อยกว่าความว่างเปล่า คตินี้พัฒนาถึงขีดสุดในสมัยพระกปิมล (Kapimala) พระสังฆปรินายกองค์ที่ 13 ของอินเดีย (ศตวรรษที่ 2-3) ผู้ซึ่งถูกเอ่ยถึงใน Denkoroku ของอาจารย์ชาวญี่ปุ่น ท่านเคซัง โจคิน (Keizan Jokin ค.ศ.1268-1325) ท่าเคซังเขียนถึงพระองค์ไว่ว่า เมื่อท่านเคาะความว่างเปล่าก็จะเกิดเสียงสะท้อน เสียงต่างๆ จึงกังวานขึ้น การเปลี่ยนแปลงความว่างเปล่าให้กลายเป็นสิ่งต่างๆ เป็นเหตุผลว่าทำไม



รูปร่างและรูปทรงจึงมีความหลากหลาย ท่านจึงไม่ควรคิดว่าความว่างเปล่าไม่มีรูปร่างหรือไม่มีเสียง หากพิจารณาให้ดีแล้ว สิ่งนี้ไม่อาจเรียกได้ว่าที่ว่าง แต่ก็ไม่อาจเรียกได้ว่ามีอยู่เช่นกัน

พระสังฆปรินายกทรงถ่ายทอดคำสอนของท่านไปยังพระโพธิสัตว์นาครชุน (Nagarjuna) ซึ่งได้เชื้อเชิญท่านไปเยี่ยมและมอบแก้วสารพัดนึกให้ พระโพธิสัตว์นาครชุนจึงถามว่า “นี่เป็นหินที่ล้ำค่าที่สุดในโลก มันมีรูปหรือไร้รูปกัน” พระกปิมลตอบว่า “ท่านรู้จักแต่มีรูปหรือไร้รูป ท่านไม่รู้ว่าหินนี้มีรูปหรือไร้รูป และท่านยังไม่รู้ว่าอัญมณีนี้ไม่ใช่อัญมณี” ถึงตอนนี้พระโพธิสัตว์นาครชุนจึงเห็นแจ้ง และกลายเป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ 14 พร้อมกันนั้นยังมีความเชื่ออีกว่า พระโพธิสัตว์นาครชุนเป็นผู้แรกที่เขียนปรัชญาปารมิตาสูตร (Prajnaparamita-sutra) หรือพระสูตรแห่งปัญญาแห่งการรู้แจ้ง ซึ่งเป็นบทที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุย้อนไปถึง 100 ปีก่อนคริสต์กาล และเป็นพระสูตรที่เป็นรากฐานของพุทธแบบมหายาน ในพระสูตรบทนี้ แนวคิดที่ว่า “ช่องว่าง” แสดง “ความว่างเปล่า” หรือ “ความไม่มี” พัฒนาล้ำหน้างานเขียนชิ้นก่อนๆ ไปมาก นอกจากนี้พระสูตรบทนี้ยังทำให้เกิดแนวคิดเรื่องการเป็นอยู่ สภาวะสูงสุดของการดำรงอยู่ แนวคิดทั้งสองนำไปสู่การรู้แจ้งที่สมบูรณ์ หรือสิ่งที่เป็นอยู่ขณะนี้คือการรู้แจ้งอย่างสมบูรณ์ไม่มีใดเปรียบ ผลแห่งการกระทำนี้ไม่มีเพิ่มหรือลด พระสูตรบทนี้ยังรวมมหาปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร (Mahaprajnaparamitahridaya-sutra) ซึ่งกล่าวถึง

“...รูปร่างคือความว่างเปล่า ความว่างเปล่าคือรูปร่าง
รูปร่างไม่ใช่อย่างอื่นนอกจากความว่างเปล่า ความว่างเปล่าไม่ใช่อย่างอื่นนอกจากรูปร่าง
สิ่งที่มีรูปร่างคือความว่างเปล่า สิ่งที่ว่างเปล่านั้นคือรูปร่าง
ข้อนี้ใช้ได้กับอารมณ์ ความคิด ความเคลื่อนไหว และการแยกแยะ…”

ในปรัชญาปารมิตาสูตร พระโพธิสัตว์นาครชุนได้พัฒนาแนวคิดเรื่องสัมพันธภาพของท่านว่าด้วยทุกสิ่งดำรงอยู่ได้ด้วยอีกสิ่งหนึ่ง ดังนั้น ทุกสิ่งจึงเป็นเพียงความสัมพันธ์ต่อกันและไม่ได้มีแก่นใดๆ หรือเรียกได้ว่าว่างเปล่า แนวคิดนี้ค่อยๆ ถูกกลั่นกรองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเซน เซนมองว่าความคิดเรื่อง “สิ่งที่เป็นอยู่ขณะนี้” เป็นการรู้แจ้งในชีวิตประจำวัน เป็นการชื่นชมประสบการณ์และวัตถุที่เรียบง่ายธรรมดา และเป็นความคิดเกี่ยวกับการอยู่กับปัจจุบันขณะ


เมื่อมีการวาดภาพเอ็นโซมากขึ้น ความหลากหลายของแนวคิดหลักและคำอธิบายภาพก็เพิ่มขึ้นด้วย แม้ภาพเอ็นโซบางภาพจะไม่มีคำอธิบายประกอบ ภาพส่วนใหญ่จะมีข้อความหรือวลีที่สะท้อนแง่มุมคำสอนแบบเซน ชิบายามา เซ็นเค เขียนไว้ว่า “คุณจะเห็นจิตวิญญาณของผู้เขียนในคำอธิบายสั้นๆ นั้น นั่นเป็นลักษณะเฉพาะของเซน...การเลือกคำอธิบายมาจากนั้น คำอธิบายคือการแสดงออกถึงจิตวิญญาณ ในฐานะผู้ที่เชื่อในเซน หัวใจของผมถูกดึงไปในทิศต่างๆ ที่อธิบายไม่ได้”

โดยรวมแล้ว เอ็นโซแสดงให้เห็นคุณสมบัติเหลือคณานับของจักรวาล ทั้งความยิ่งใหญ่ อำนาจอันไร้ขีดจำกัด และปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่เอ็นโซยังสามารถแสดงช่องว่างได้อย่างง่ายดาย “ภายนอก-ว่างเปล่า ภายใน-ว่างเปล่า ทั้งภายในและภายนอก-ว่างเปล่า” ปกติแล้วภาพเอ็นโซมักสื่อถึงดวงจันทร์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนการรู้แจ้ง แต่ยังแสดงถึงภาพสะท้อนของพระจันทร์ในน้ำ สัญลักษณ์แทนความเปล่าประโยชน์ที่จะค้นหาความรู้แจ้งจากภายนอกตนเอง ถ้าจะไม่พูดในแง่ปรัชญา เอ็นโซก็สามารถสื่อถึงสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น แป้งต้ม ข้าวปั้น ตะกร้า หรือถ้วยชากับจิตที่จดจ่ออยู่กับการดื่มในปัจจุบันขณะ

“วงกลมคือหน้าต่าง มันคือความสงบ ความเงียบ ความสมบูรณ์ และความสอดคล้อง มันคือทั้งหมดและหนึ่งเดียว ในทางกลับกัน รูปทรงที่มีมุมแสดงความขัดแย้ง ความขัดเคือง และความตื่นเต้น มันสื่อถึงการปกปิด ความไม่เท่ากัน ส่วนใดส่วนหนึ่ง และจุดเฉพาะ แนวคิดทั้งสองตรงข้ามกัน อย่างไรก็ตาม การพิจารณาภาพเอ็นโซของเซนในแง่มุมนี้นั้นผิดไปมาก ภาพเอ็นโซของเซนวาดเป็นวงกลม จุดศูนย์กลางของวงกลมซ่อนมุมต่างๆ ไว้ และวงกลมก็ถูกซ่อนอยู่ภายในมุมทั้ง 4 ทั้งวงกลมและมุมต่างปิดบังความเป็นหนึ่ง ในจุดกึ่งกลางของเอ็นโซ ความจริงเผยให้เห็นชีวิตและวิญญาณของวงกลมและมุมธรรมดา นี่คือวงกลมที่เหยือกเย็นที่สุด”

จาก http://www.supavee.com/microsite/archetype/Archetype_tea_natural_t.php
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...