โพธิสัตตวจรรยาวตาร...ตราบเท่าที่อากาศยังคงอยู่ และตราบเท่าที่สรรพสัตว์ยังคงอยู่ ตราบนั้น ข้าขอคงอยู่ เพื่อขจัดปัดเป่าความทุกข์โศกของโลก
- ศานติเทวะ-
โพธิสัตตวจรรยาวตาร ( Introduction to Bodhicaryavatara ) นี่ อาจารย์ ศานติเทวะ(Santideva) เป็นผู้รจนาขึ้นโดยขณะที่รจนานั้น อาจารย์ศานติเทวะมิได้รจนาด้วยความรู้สึกเย่อหยิ่งภาคภูมิใจในความรู้ของตนเลย แต่กลับรจนาขึ้นด้วยความคิดเพียงแค่จะเอื้อประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ดังนั้นกล่าวได้ว่า "โพธิสัตตวจรรยาวตาร" นี้เหมาะกับทุกคน เพราะหากผู้รจนาเต็มเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจในความเฉลียวฉลาดของตนแล้ว คำอธิบายทั้งหลายก็ย่อมไม่อาจกล่าวได้เหมาะสมกับคนทุกระดับ
และในโอกาศที่ "โพธิสัตตวจรรยาวตาร" อันมีความหมายว่าแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตของพระโพธิสัตต์ ในฉบับภาษาไทยที่ รศ.ดร ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ได้แปลไว้อย่างสมบูรณ์ตามพรที่ได้รับมาจากองค์ทาไลลามะ ซึ่งประทานหนังสือเล่มนี้ให้ ได้นำมาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งเพื่อให้คนไทยได้มีโอกาศอ่านงานของโพธิสัตต์มรรคชั้นเลิศทีได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยได้อย่างงดงามสมบูรณ์โดยอาจารย์ฉัตรสุมาลย์ ดังนั้นในโอกาสนี้จึงขอเขียนและกล่าวถึง "โพธิสัตตวจรรยาวตาร" โดยย่อพอให้เห็นภาพรวม เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถอ่านฉบับสมบูรณ์ของอาจารย์ฉัตรสุมาลย์ได้ต่อไป
ประวัติของอาจารย์ ...ศานติเทวะก่อนที่จะเล่าถึงคำสอนของผู้รจนา เราควรมาทำความเข้าใจประวัติของอาจารย์ศานติเทวะโดยย่อกันก่อน ศานติเทวะเป็นอาจารย์สอนพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยสงฆ์นาลันทา ประเทศอินเดีย กล่าวกันว่าชีวิตของท่านเริ่มต้นด้วยการเป็นเจ้าชาย ประสูติในเบงกอล(Bengal) แต่ต่อมาได้สละราชสมบัติและเริ่มออกแสวงหาคุรุทางจิตจิตวิญญาณ ได้เรียนรู้ศึกษาจากคุรุหลายท่าน จนในที่สุดก็ได้มาศึกษา ปฏิบัติ เรียนรู้ศาสตร์ทั้งหลายอย่างสมบูรณ์ที่มหาวิทยาลัยนาลันทาซึ่งเป็น
มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ดังทีสุดในยุคนั้น เล่ากันต่อว่าอาจารย์ศานติเทวะได้บรรลุธรรมแล้ว โดยได้ร่ำเรียนถ่ายทอดวิชาโดยตรงจากพระโพธิสัตต์ซึ่งจะมาสอนในตอนกลางคืน และด้วยเหตุที่อาจารย์ศานติเทวะดำเนินชีวิตอย่างสมถะและถ่อมตัวที่สุด ดังนั้นจึงไม่มีใครสนใจและไม่มีใครเห็นว่าอาจารย์ศานติเทวะเป็นบุคคลพิเศษที่บรรลุธรรมแล้วคนอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยนาลันทาต่างพากันคิดว่า ศานติเทวะเป็นคนต่ำต้อย ไร้ค่า ไม่ทำตัวให้เกิดประโยชน์ อันใดต่อมหาวิทยาลัยสงฆ์เลย มีแต่จะทำให้อาหารของสงฆ์สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์เท่านั้น
จนกระทั่งพระสงฆ์เหล่านั้นได้มาประชุมกันและเห็นพ้องต้องกันว่า " อาหารและปัจจัยของหมู่สงฆ์ต้องถูกจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่พระรูปนี้ (หมายถึงพระอาจารย์ศานติเทวะ) กลับทำตัวไร้ค่ามีแต่กินและนอนเท่านั้น แสดงว่าพระรูปนี้ต้องสะสมกรรมชั่วมานาน และกำลังจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อผู้อื่น ดังนั้นเราต้องหาทางกำจัดเขาให้ออกไปจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ของเรา"
ในทุก ๆ เดือนที่มีการประชุมสงฆ์ครั้งใหญ่ ที่เหล่าอาจารย์จะต้องมาอ่านพระสูตรและแสดงธรรม ด้วยความไม่รู้ที่ว่าแท้จริงแล้วอาจารย์ศานติเทวะได้บรรลุธรรมแล้ว เนื่องจากลักษณะภายนอกที่ดูต่ำต้อยที่ท่านแสดงออก สงฆ์เหล่านั้นจึงวางแผนกันว่าจะนิมนต์ให้ศานติเทวะขึ้นอ่านพระสูตรและแสดงธรรม ซึ่งเชื่อว่าอาจารยืศานติเทวะจะต้องทำไม่ได้ และจะต้องรู้สึกอับอายเป็นอย่างมาก สุดท้ายต้องออกไปจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้
จากการที่เหล่าสงฆ์ได้ร่วมกันวางแผนที่จะกลั่นแกล้งอาจารย์ศานติเทวะให้ได้รับความอับอาย ด้วยการนิมนต์ให้ท่านขึ้นมาอ่านพระสูตรและแสดงธรรม และเพื่อจะทำให้อาจารย์ศานติเทวะรู้สึกอับอายมากขึ้น สงฆ์เหล่านั้นก็จงใจตั้งธรรมาสน์ให้สูง แล้วนิมนต์อาจารย์ศานติเทวะขึ้นนั่งแสดงธรรม ซึ่งท่านก็ตอบรับคำนิมนต์นั้น
แต่ทันทีที่ท่านเอื้อมมือไปแตะธรรมมาสน์นั่นเอง ธรรมาสน์ที่เคยสูงก็กลับค่อย ๆ เลื่อนลดต่ำลงมาให้อาจารย์ศานติเทวะขึ้นนั่งได้อย่างสะดวก แล้วก็หันกลับไปถามเหล่าสงฆ์ว่า
" พวกท่านต้องการจะฟังพระสูตรที่มีอยู่แล้ว หรือ จะฟังอะไรใหม่ ๆ "เหล่าสงฆ์พากันประหลาดใจอย่างมาก แต่ด้วยความเชื่อที่ว่าอาจารย์ศานติเทวะไม่มีความรู้ใด ๆ จึงพากันขอให้ท่านแสดงอรรถกถาของตัวท่านเอง
และ นี่คือจุดเริ่มต้นของคำสอนใน
"โพธิสัตตวจรรยาวตาร" และ
เมื่อท่านแสดงจนถึงบทที่ว่าด้วยปัญญา ตัวท่านก็ลอยสูงขึ้น สูงขึ้นไปในอากาศจนกระทั่งหายลับไป เมื่อเหล่าสงฆ์ได้ฟังคำสอนเรื่อง
"โพธิสัตตวจรรยาวตาร" ก็รู้สึกเสียใจที่คิดและแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีต่ออาจารย์ศานติเทวะ จึงพากันออกตามหาท่านแต่ก็ล้มเหลว
จนกระทั่งก็มีผู้ไปพบอาจารย์ศานติเทวะบำเพ็ญเพียรอยู่บนภูเขาลูกหนึ่ง ผู้คนและคณะสงฆ์ที่ออกตามหาก้พากันไปเฝ้าดู และสังเกตุเห็นว่ามีกวางตัวหนึ่งเดินหายเข้าไปในถ้ำที่อาจารย์ศานติเทวะพำนักอยู่ โดยไม่กลับออกมาอีกเลย ทุกคนจึงพากันคิดว่าอาจารย์ศานติเทวะต้องฆ่ากวางเพื่อเอาเนื้อมากินแน่ จึงพากันเดินขึ้นไปบนถ้ำเพื่อจะเข้าไปทำร้ายท่าน แต่เมื่อถึงปากทางเข้าถ้ำ ปรากฎว่ามีกวางจำนวนมากมายตบแต่งด้วยเครื่องประดับอันสวยงามพากันเดินออกมาจากถ้ำโดยมีอาจารย์ศานติเทวะเดินตามมารั้งท้าย
แท้ที่จริงแล้ว การที่กวางเหล่านั้นหายเข้าไปในถ้ำเป็นเวลานาน ๆ ก็้้เพื่อไปฟังธรรมจากอาจารย์ศานติเทวะนั่นเอง เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้คนทั้งหลายและเหล่าสงฆ์ต่างก็รู้สึกละอายใจ และพากันไปสารภาพผิดต่ออาจารย์ศานติเทวะและขอให้อาจารย์ศานติเทวะเมตตาถ่ายทอดธรรมให้นับตั้งแต่นั้นมา
สำหรับคำสอนในเรื่อง โพธิสัตตวจรรยาวตาร ของอาจารย์ศานติเทวะนี้ ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะคำสอนในเรื่องการสอนโพธิจิต อันเป็นรากฐานที่สำคัญสู่เส้นทางเดินแห่งโพธิสัตตมรรค ถึงยุคสมัยก่อนนั้น ไม่เคยมีใครได้ยินเรื่องนี้มาก่อนเลย
อย่างไรก็ตามคำสอนโพธิสัตตวจรรยาวตารก็มิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของคำสอนของพระพุทธองค์เช่นเดียวกัน เพียงแต่โพธิสัตตวจรรยาวตารนี้เป็นอรรถกถาอาจารย์ศานติเทวะตามความรู้และการปฏิบัติตามที่ท่านได้ทำมา
ในบทนำของโพธิสัตตวจรรยาวตาร อาจารย์ศานติเทวะกล่าวไว้ว่า
" อรรถกถาเหล่านี้อาจจะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น แต่อย่างน้อยที่สุดอรรถกถาเหล่านี้เอื้อประโยชน์อย่างสูงต่อตัวอาตมา และ สารธารแห่งจิตของอาตมา " การที่อาจารย์ศานติเทวะกล่าวเช่นนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นวิถีแห่งอาจารย์เชิงพุทธธิเบตที่จะพยายามลดทิฐิมานะ ยึดมั่นในอัตตาตัวตนของตนเองออกเสียและยกย่องผู้อื่นด้วยความนอบน้อมถ่อมตนเพื่อเป็นหนทางในการช่วยขจัดทิฐิมานะหยิ่งทะนงในอัตตาตัวตนออกไปเสีย
อรรถกถาโพธิสัตตวจรรยาวตาร จะประกอบไปด้วยทั้งสิ้น 10 บท คือ
บทที่ ๑ ประโยชน์แห่งโพธิจิต ในบทแรกนี้อาจารย์ศานติเทวะได้กล่าวถึงคุณค่าของการได้เกิดมามีชีวิตเป็นมนุษย์ และเราควรใช้ชีวิต ของการเป็นมนุษย์นี้ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมที่สุดพร้อมกันนั้นที่ได้เริ่มเกริ่นนำถึงโพธิจิต(Bodhichitta) อรรถกถากล่าวไว้ว่า การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่มีลักษณะสมบูรณ์ครบถ้วนนั้น เป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่ง นัก ดังนั้น ในเมื่อเวลานี้เราต่างพากันโชคดีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เราที่ควรจะใช้ชีวิต ใช้ร่างกายที่เป็นมนุษย์ ให้เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสมอย่างคุ้มค่าที่สุด เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะมีโอกาสได้กลับมาเกิด เป็นมนุษย์อีกครั้ง และที่สำคัญเมื่อเป็นมนุษย์แล้วโอกาสที่จะใช้ร่างกายนี้ไปกระทำความชั่วที่มีอยู่ตลอด เวลา จนกระทั่งโอกาสที่คิดจะกระทำดีที่ดูน้อยลงไปยิ่งนักหากไม่มีสติรู้เท่าทัน แต่บางครั้ง เราก็มีความคิดที่ดี ๆ ได้เช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากความกรุณาขององค์พระพุทธเจ้าที่ คอยอำนวยอวยพร หรืออาจจะเป็นผลแห่งกรรมดีที่เราเคยสั่งสมมา แต่ความคิดดีงามเช่นนี้ บ่อยครั้ง ที่เปรียบได้กับค่ำคืนอันมืดมิดที่ไร้แม้แสงจันทร์แสงดาว ทันใดนั้นก็เกิดฟ้าแลบให้เราได้เห็นความจริง ของสรรพสิ่งเพียงชั่ววินาทีเดียว จากนั้นก็คืนสู่ความมืดมิดอีกครั้งหนึ่ง ชีวิตในแต่ละวันของเราที่เปรียบ ได้ดุจเดียวกัน อกุศลนั้นมีพลังอันยิ่งใหญ่อยู่เสมอ จนพลังแห่งคุณธรรมในตัวเรานั้นมันอ่อนแอยากที่ จะเกิด ดุจเดียวกับแสงแห่งสายฟ้าแลบที่จะเกิดขึ้นเพียงชั่ววินาทีเดียว แต่ยามใดที่คุณธรรมในตัวเรายังเกิดขึ้นเราต้องหล่อหลอมพลังแห่งคุณธรรมเข้ากับทุกขณะจิตของควาคิดและการกระทำ นี่แหละคือจุดเปลี่ยนแห่งชีวิตของเราเอง พลังอกุศลกรรมนั้นยิ่งใหญ่จนยากที่เราจะขจัด เพราะตัวเราเองเป็นผู้สั่งสมมันมานานแสนนาน ขณะที่กุศลกรรมนั้นเรากลับสั่งสมไว้เพียงให้มีพลังปรากฎ ดุจสายฟ้าแลบในชั่วขณะเดียว ดังนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะขจัดพลังอกุศลกรรมนั้นได้ อย่างไรก็ตามด้วยความเมตตาและปัญญาแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงสั่งสอนเราถึงวิธี การเอาชนะพลังอกุศล ด้วยการสร้างสรรค์โพธิจิตอันสมบูรณ์ที่จะเพียรและยึดมั่นในการตรัสรู้ เพราะนอก จากโพธิจิตอันสมบูรณ์แล้วยากที่จะมีพลังคุณธรรมอื่นใดที่จะเอาชนะพลังแห่งอกุศลที่สั่งสมมานานแสน นานได้ เปรียบได้กับการพยายามที่จะจุดไฟเผาพุ่มไม้ที่กองทับถมสูงเท่าภูเขาด้วยเพียงแค่ไม้ขีดไฟหยิบมือ เดียว พลังแห่งโพธิจิตนั้นล้ำลึกเพราะด้วยโพธิจิตนี้เองที่สามารถแปรเปลี่ยนเราผู้เป็นมนุษย์ธรรมดาสู่การเป็น ผู้ตรัสรู้ แปรเปลี่ยนกายเนื้อของมนุษย์สู่กายแห่งพุทธะที่ไม่มีพลังคุณธรรมอื่นใดจะเทียมเท่า อาจได้เปรียบ กว่าคุณธรรมอื่น ๆ ที่สั่งสมนั้นที่เป็นเพียงต้นกล้วยที่เมื่อให้ผลแล้วจักต้องตายจากไป แต่พฤกษาแห่ง โพธิจิตนั้นจักผลิดอกออกผลไม่รู้จบตลอดไป โพธิจิตมีอยู่ 2 นัย คือ โพธิจิตที่ยึดมั่นในการตรัสรู้ ( Aspirig Bodhichitta ) และโพธิจิตที่เพียรเพื่อการตรัสรู้ ( Engaging Bodhichitta ) โพธิจิตที่ยึดมั่นในการตรัสรู้เปรียบได้กับเมื่อเราต้องการที่จะเดินทางไปอเมริกา อันดับแรกเรามีความตั้งใจที่จะไป จากนั้นก็ตัดสินใจที่จะไป การตัดสินใจที่จะไปนี่เองคือโพธิจิตที่ยึดมั่น ในการตรัสรู้ ในทางปฏิบัติก็คือการตั้งปณิธาน " เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง ข้า ขอตั้งมั่นสู่การรู้แจ้ง " โพธิจิตที่ยึดมั่นในการตรัสรู้ ( Aspirig Bodhichitta ) ก็เหมือนกับเราตัดสินใจแล้วที่จะไป เราชื้อตั๋วเครื่องบิน และขึ้นเครื่องเพื่อออกเดินทางและจากจุดนี้เองที่โพธิจิตที่เพียรเพื่อการตรัสรู้( Engaging Bodhichitta) เริ่ม ทำงานเมื่อการเดินทางเกิดขึ้นจริง ๆ ขณะที่เครื่องบินบินสู่จุดหมายนั้น เราก็เข้าไกล้การตรัสรู้มากขึ้น ๆ ทุก ที ตลอดเส้นทางสายการปฏิบัตินั้น เราจะค่อย ๆ สั่งสม คุณธรรมและปัญญา พร้อม ๆ กับ ขจัดพลังอกุศล จนกระทั่งได้ถึงจุดหมายปลายทางคือการบรรลุซึ่งการตรัสรู้นั่นเอง