ผู้เขียน หัวข้อ: The Grandmaster (ปรมาจารย์รุ่นแรก): กับความรักและกาลเวลาที่ไม่อาจไหลย้อนกลับ  (อ่าน 1196 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


โดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ
อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้า (ธนบุรี)

The Grandmaster (一代宗師: ปรมาจารย์รุ่นแรก): กับความรักและกาลเวลาที่ไม่อาจไหลย้อนกลับ

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นฝีมือของผู้กำกับ หว่อง กาไว กล่าวถึงประวัติของปรมาจารย์กังฟูหลายท่านด้วยกัน ได้แก่ ยิปมันผู้เป็นตัวเอกของเรื่องและเป็นปรมาจารย์ด้านมวยหย่งชุนในเวลาต่อมา กงอี้เถียน ผู้ประสานรวบรวมสำนักน้อยใหญ่ตั้งแต่ภาคเหนืออีสานจรดแดนใต้ของจีน กงเอ๋อ บุตรสาวกงอี้เถียนผู้สืบทอด 64 ฝ่ามือจากผู้เป็นพ่อ

หม่าซัน ศิษย์เอกและผู้สืบทอดสำนักในแดนเหนือของกงอี้เถียน ติงเลียนซาน ศิษย์พี่ของกงอี้เถียน ผู้เร้นกายทำงานด้านมืดให้แก่กงอี้เถียนอยู่ในแดนใต้ และ “มือมีดโกน” หรือ อวี้เซียนเถียน ปรมาจารย์ด้านมวยแข็งที่มีชื่อเสียงในฮ่องกงช่วงเวลาใกล้เคียงกับยิปมัน

<a href="https://www.youtube.com/v/Tnh7GofhLHs" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/Tnh7GofhLHs</a>

ภาพยนตร์เปิดเรื่องด้วยการเล่าถึงประวัติโดยคร่าวของยิปมัน นอกจากวิทยายุทธแล้ว ยิปมันนั้นได้รับของอีกสิ่งหนึ่งจากอาจารย์ของเขาได้แก่ สายคาดเอวซึ่งอาจารย์ของเขาอธิบายว่ามันหมายถึงสำนัก อาจารย์ และจารีตที่ไม่มีวันเสื่อมสูญ (แน่นอนว่าดั่งสายคาดเอว สามสิ่งนี้ย่อมผูกมัดยิปมันเอาไว้ไปตลอดชีวิตของเขา)

นอกเหนือจากเรื่องของยิปมันและอาจารย์แล้วในช่วงต้นเรื่องได้กล่าวถึงภรรยาของยิปมันด้วย เธอชื่อจางหย่งเซิ่ง สืบเชื้อสายนักการทูตสมัยราชวงษ์ชิง ซึ่งนักการทูตสิ่งสำคัญที่สุดก็คือทักษะการเจรจา กระนั้นก็ตาม จางหย่งซิ่งก็ไม่ชอบพูดแต่อย่างไร เธอมักกล่าวว่า “การพูดนั้นก็รังแต่จะยิ่งทำให้เจ็บปวด การอยู่นิ่งเงียบเอาไว้จะดีกว่า” หรืออีกนัยหนึ่งการกระทำก็อาจจะเป็นสิ่งที่เธอเห็นว่ามีความชัดเจนกว่าการพูดมากนัก ตลอดทั้งเรื่องเองแม้ยิปมันจะไม่ได้กล่าวอะไรกับเธอแต่เธอก็เข้าใจยิปมันได้เป็นอย่างดี แม้กระทั่งเรื่องที่ยิปมันตั้งใจโกหกเธอก็ทราบได้จากการกระทำซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปในอนาคต

หนังได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของทั้งคู่ ภรรยาของยิปมันนั้นชอบไปฟังอุปรากรจีนซึ่งจะเล่นในโรงน้ำชา (หอนางโลม) โดยทั่วไปแล้วหญิงมีเกียรติเองก็มักจะไม่ยอมเข้าไปในสถานที่อโคจรเหล่านี้ แต่เธอก็ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก ยิปมันเองก็มักจะพาเธอเข้าไปฟัง อันที่จริงแล้วอุปรากรจีนดั้งเดิม (Traditional Chinese opera) นี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ชนชั้นกลางหรือล่างที่ภายหลังการปฏิวัติของประธานเหมาจะสามารถเข้าถึงได้ง่ายนัก Yan Huizhu นักเล่นอุปรากรจีนก็ยังถูกกลุ่ม Red guard เข้าไปแขวนคอถึงบ้านเพราะเล่นบทอุปรากรเรื่อง “Scholar and Beauties” การชอบฟังอุปรากรจีนแบบดั้งเดิมของจางหย่งเซิ่งจึงมีนัยสะท้อนถึงชาติตระกูลอันเก่าแก่ของเธอนั่นเอง

หลังจากกล่าวถึงประวัติและชีวิตประจำวันของยิปมันได้ระดับหนึ่ง หนังจึงเดินเรื่องเข้าสู่ฉากเหล่าจอมคนมาประชุมกันในสถานที่ซึ่งเรียกว่า “หอทองคำ” อันเป็นโรงน้ำชาที่เลิศล้ำที่สุด กล่าวกันว่าสถานที่นี้สร้างด้วยทองจึงได้ชื่อว่าหอทองคำ และข้างในนั้นมีสาวสวยและอาหารชั้นดีบริการ หอทองคำจึงไม่ต่างอะไรกับโลกจำลองของเหล่าจอมยุทธ์ที่เปี่ยมความทะเยอทะยานต่ออำนาจ เพราะถึงที่สุดแล้วสูงสุดในทางโลกย์สำหรับผู้ชายเป็นใหญ่ก็คือ เงินตรา (ทองคำ), อิสตรี (นางโลม) และอำนาจ

การมาประชุมกันนั้นก็เพื่อที่จะเป็นเกียรติให้แก่การเกษียณอายุของ กงอี้เถียน ประธานสมาคมศิลปะการต่อสู้แห่งจีน กงอี้เถียนตั้งใจที่จะปลดเกษียณตนเองด้วยการประลองยุทธ์ โดยให้จอมยุทธ์แดนใต้ส่งตัวแทนเข้ามาร่วมประลองด้วย 1 คน เหล่าบรรดาจอมยุทธ์ในแดนใต้นั้นสนับสนุนให้ยิปมันซึ่งมีความอาวุโสน้อยมากในเวลานั้นเป็นตัวแทนประลอง — อันที่จริงแล้วก็ดังที่ยิปมันกล่าวถึงตนเองเอาไว้ว่า ตนนั้นฝึกกังฟูมาตั้งแต่เจ็ดขวบและด้วยสมบัติมรดกที่พ่อทิ้งเอาไว้ให้ยิปมันก็ไม่ต้องทำมาค้าขายแต่อย่างใด สิ่งเดียวที่ยิปมันลุ่มหลงก็คือกังฟู การได้รับเชิญให้เป็นตัวแทนชาวแดนใต้ประลงยุทธ์กับกงอี้เถียนจึงเป็นโอกาสที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้

ทว่า การประลองยุทธ์ดังกล่าวก็หมายถึงอันตรายที่อาจจะมาถึงครอบครัว อีกทั้งหากจินตนาการว่าเราเองจะมีสามีหรือภรรยาไปประลองยุทธ์ซึ่งอาจจะถึงตายนั้น ก็ย่อมต้องทำให้สมาชิกครอบครัวพะวงเป็นธรรมดา การเชื้อเชิญนี้จึงนำมาซึ่งความลำบากใจอย่างมากแก่ทั้งยิปมันและภรรยาของเขา ในขณะที่ยิปมันกำลังล้างเท้าให้ภรรยาของเขาอยู่นั้น ภรรยาก็เป็นฝ่ายกล่าวขึ้นมาเองว่าจะย้ายออกไปชั่วคราวพร้อมลูกๆ ทำไมยิปมันต้องล้างเท้าและทำไมภรรยาจึงอนุญาตในจังหวะเวลาของการล้างเท้านี้ ?

อันที่จริงแล้วหากจะตีความการล้างเท้าตามแนวทางแบบคริสต์แคธอลิคนั้น การล้างเท้าก็มีความหมายว่า “I am at your service” เพราะโป๊ปเองก็ล้างเท้าให้แก่คนโซภายหลังเข้ารับตำแหน่งด้วยความหมายนี้มานานนับ แต่การกล่าวว่าจะเข้ามารับใช้นี้ก็เป็นไปในลักษณะปกครองด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะการเข้ามารับใช้นี้ก็เป็นการรับใช้ในฐานะประมุข

การล้างเท้าของยิปมันต่อภรรยานั้นก็เป็นการรับใช้แต่ก็ดำเนินไปในนัยยะแบบประมุข ปกครอง หรือเป็นเจ้าของภรรยาด้วยในเวลาเดียวกัน (เราคงไม่ยอมให้ชายแปลกหน้ามาล้างเท้าภรรยาของเราง่ายๆ) เมื่อผู้ปกครองนั้นมีเจตนาที่จะเข้าประลองยุทธ์ภรรยาในฐานะผู้ที่อยู่ใต้ปกครองนั้นก็ต้องอนุญาต แม้คำอนุญาตดังกล่าวจะเป็นคำอนุญาตที่นำมาซึ่งความเจ็บปวดสำหรับผู้เป็นภรรยาก็ตาม

ไม่ใช่แค่ยิปมันเท่านั้นที่ถูกคัดค้านมิให้ประลอง ฝ่ายกงอี้เถียนเองก็ถูกคัดค้านจากหลายๆ ฝ่ายรวมถึงลูกสาวของเขาเองด้วย เพราะหากชนะก็เหมือนผู้ใหญ่รังแกเด็ก หากแพ้ก็ถือว่าแพ้เด็กเมื่อวานซืน การชกมวยคนละรุ่นนั้นจึงเป็นข้อห้ามมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่กงอี้เถียนเองก็ยืนยันว่าจะต้องประลองให้ได้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อเปิดทางให้แก่คนรุ่นใหม่ได้ก้าวหน้าต่อไป าการประลองในครั้งนั้นกงอี้เถียนกำหนดกติกาว่า หากยิปมันสามารถที่จะหักแผ่นแป้งในมือของกงอี้เถียนได้ก็ให้ถือว่าตนเองแพ้



ผลการประลองได้ข้อยุติว่า ยิปมันสามารถหักแผ่นแป้งได้เป็นผลสำเร็จและพร้อมกันนั้น ยิปมันก้ยังได้ตีความนัยของแผ่นแป้งอย่างไร้ขอบเขต สลายเส้นแบ่งเหนือ/ใต้ โลกแห่งการต่อสู้/โลกด้านอื่นๆ ทำให้กงอี้เถียนยอมรับฝีมือและความคิดของยิปมันด้วยน้ำใสใจจริงและยกให้ยิปมันเป็นฝ่ายชนะ

ฝ่ายลูกสาวของกงอี้เถียนนั้นต้องการที่จะกู้ศักดิ์ศรีตระกูลกงกลับมา โดยการท้าประลองกับยิปมันใหม่อีกครั้ง ในการประลองครั้งนี้ยิปมันเป็นคนเสนอเงื่อนไขว่าหากมีสิ่งใดในหอทองคำแห่งนี้แตกหักก็ให้ตนเองเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทั้งสองประลองกันโดยยิปมันเป็นฝ่ายเริ่มรุกก่อนด้วยหมัด ซึ่งหากพิจารณาพื้นฐานของมวยหย่งชุนของยิปมัน และลีลาของการต่อสู้ที่ยิปมันเองแสดงออกมาตลอดตั้งแต่ต้นเรื่องนั้นก็พบว่า

การประลองนี้มีความแปลกไปอย่างเด่นชัด เพราะมวยหย่งชุนเป็นมวยรับและเน้นความอ่อนไหว (อาศัยการฉกกับปัดป้อง) แต่ยิปมันกลับกำหมัดรุกกงเอ๋ออย่างหนักตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ยังมีจังหวะที่ทั้งสองประสานตัวกันในแนวขนาน มีลักษณะจ่อหน้ากันใกล้ชิด ลีลาการต่อสู้ของยิปมันต่อกงเอ๋อจึงเป็นการ “เกี้ยวกัน” หรือเป็นการรุกด้วยแรงขับทางเพศมากกว่าอย่างอื่น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็เป็นยิปมันเองที่พ่ายแพ้

ภายหลังรู้ผลแพ้ชนะกงเอ๋อก็จากไปเพื่อกลับแดนเหนือ หลังการจากไปของเธอทำให้ยิปมันเองก็ประสบกับความว้าวุ่นใจ ภาพยนตร์ฉายภาพของยิปมันกำลังคิดหนักเพื่อเขียนจดหมายถึงกงเอ๋อโดยภาพที่นำเสนอออกมานั้นคือ ภาพของยิปมันที่ “ถูกมอง” ป่านแผ่นกระจกแล้วสะท้อนเป็นสองคน ยิปมันขณะกำลังเขียนจดหมายถึงกงเอ๋อจึงเป็นยิปมันที่กำลังลังเลใจ

ในฉากนี้ปลายพู่กันของยิปมัน (อันเป็นสัญญะของลึงค์) หยุดค้างอยู่ในระยะเฉียดเยื่อกระดาษอันเป็นรูปสัญญะของหญิงสาวบริสุทธิ์ที่รอการขีดเขียนโดยชายหนุ่ม พู่กัน (ลึงค์) จดจ่ออยู่เนิ่นนานก่อนจรดเขียนจดหมายสะท้อนว่ายิปมันเองก็ต่อสู้กับตนเองอย่างมากเพื่อที่จะเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้นมา หลังเขียนจดหมายเสร็จหนังก็ตัดเป็นข้อความขึ้นมาว่า:

“บุปผาพริ้วไหวใต้พฤกษา เฝ้ารอดอกเหมยท่ามกลางหิมะ”

ถ้อยความนี้น่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากหากคิดโดยผนวกรวมสถานการณ์ทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้วก็อาจจะเดาได้ว่า ยิปมันนั้นมีใจผูกพันกับกงเอ๋อนับตั้งแต่การประลอง ทำให้คิดถึงและเขียนจดหมายไปหาเพื่อเผยถึงความรู้สึกของตนเอง (เพราะข้อความนี้แสดงขึ้นมาหลังภาพยิปมันเขียนจดหมาย) แต่หากตีความตัวบทของจดหมายฉบับนี้ดีๆ แล้วจะพบว่า “บุปผาพริ้วไหวใต้พฤกษา” นั้นเป็นชื่อกระบวนท่าหนึ่งใน 64 ฝ่ามือของสกุลกง อันน่าจะเป็นตัวแทนของกงเอ๋อมากกว่ายิปมันเอง

ยิ่งเมื่อพิจารณาวรรคหลังที่กล่าวถึงการรอคอยดอกเหมยท่ามกลางหิมะจึงยิ่งเป็นยิปมันไปไม่ได้ เนื่องจากยิปมันอยู่ตอนตอนใต้ของประเทศจีนจึงไม่มีหิมะแต่อย่างไร ข้อความนี้จึงไม่ใช่ข้อความของยิปมันหากเป็นข้อความของกงเอ๋อ แม้หนังจะนำเสนอภาพยิปมันเขียนจดหมายก่อน แต่อันที่จริงแล้วจดหมายฉบับแรกกลับถูกเขียนด้วยกงเอ๋อต่างหาก

หนังนำเสนอภาพของกงเอ๋อตอบกลับจดหมายและขึ้นข้อความว่า  “กำหนดวันแล้ว ภูเขาหมื่นลูกล้วนไร้อุปสรรค”

จดหมายนี้คล้ายกับว่าเป็นกงเอ๋อที่ตอบยิปมันแต่ความจริงกลับกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ยิปมันได้ตอบจดหมายด้วยข้อความนี้กลับไปหากงเอ๋อซึ่งเขียนจดหมายฉบับแรกว่าตนเองนั้นวางแผนจะขึ้นเหนือและกำหนดเวลาเรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไรจะขวางกั้นทั้งสองได้อีก (แม้แต่ภรรยาของยิปมันก็ตาม) ทว่า การนัดพบดังกล่าวก็ต้องเป็นอันยกเลิกไปเพราะประเทศจีนและญี่ปุ่นเข้าสู่สภาวะสงครามโลกครั้งที่สอง เสื้อกันหนาวที่ยิปมันสั่งตัดเตรียมเอาไว้ให้เป็นของขวัญแก่กงเอ๋อจึงไม่อาจจะนำไปให้ได้ สิ่งที่ยิปมันทำคือส่งต่อเสื้อนั้นไปเป็นของขวัญให้แก่ภรรยาของเขา แล้วลอบตัดกระดุมออกมาเม็ดหนึ่งเพื่อเก็บเอาไว้เป็นที่ระลึกถึงความปรารถนาดีที่มีต่อกงเอ๋อ

เมื่อภรรยาของยิปมันได้รับเสื้อกันหนาวก็ถามยิปมันว่า “ฝอซัน (ที่อยู่ของยิปมัน ทางตอนใต้ของจีน) นี่หนาวมากหรือ?” ฝ่ายยิปมันไม่ตอบ กลับบอกว่า ภรรยาของตนนั้นสวยมากเมื่อใส่เสื้อโค้ทตัวนี้ พร้อกันนั้นก็ชวนภรรยาถ่ายภาพครอบครัว ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ก็เพียงพอที่จะทำให้ภรรยาของยิปมันทราบว่า ยิปมันเองคงมิได้ซื้อเสื้อตัวนี้ให้แก่เธอแต่เป็นสาวเหนือคนอื่น นั่นทำให้เธอร้องไห้ออกมาตอนถ่ายรูปซึ่งไม่ใช่รอยน้ำตาของสาวที่ซาบซึ้งใจจากการได้ของขวัญจากสามีแต่อย่างไรหากเป็นดวงตาของความเศร้า แต่ก็เช่นที่เธอว่า บางเรื่องนั้นกล่าวไปก็มีแต่จะเจ็บปวด เธอได้แต่เงียบและไม่เอ่ยถึงเรื่องนี้ขึ้นมาอีก

การที่ยิปมันชวนภรรยาถ่ายรูปนั้นก็น่าสนใจเพราะ รูปถ่าย (Photography) นั้นก็มาจากรูปภาพ (Photo) และคำว่า การบันทึก (Graphos) กล่าวง่ายๆ ก็คือรูปถ่ายนั้นก็เพื่อที่จะแช่แข็งหรือบันทึกบางอย่างซึ่งหากไม่บันทึกไว้ก็จะไม่เหมือนเดิมอีก การชวนภรรยาถ่ายภาพหลังจากที่ไม่สามารถจะหาคำตอบให้กับคำถามเกี่ยวกับเสื้อโค้ท (ซึ่งเป็นหลักฐานของการนอกใจ อย่างน้อยก็ในระดับความคิด) นั้น สะท้อนถึงความอ่อนไหวและรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตครอบครัวของยิปมันเอง

เรื่องนี้ยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อภาพถ่ายของยิปมันนั้นมีเก้าอี้เว้นว่างอยู่หนึ่งตัวทั้งๆ ที่จะเอาออกไปจากภาพก็ได้ ทำไมจึงต้องมีเก้าอี้ที่เป็นส่วนเกินเข้ามา ? เก้าอี้นี้ก็สะท้อนถึงว่าครอบครัวนี้ไม่ได้มีสมาชิกเพียงเท่าที่เห็นในภาพแล้วเท่านั้น กงเอ๋อได้เข้ามามีส่วนพัวพันในชีวิตครอบครัวของยิปมันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว



หลังจากนั้นหนังก็นำพาเรื่องราวเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แน่นนอนว่าสำหรับช่วงเวลานี้ครอบครัวของยิปมันก็ประสบความยากลำบากนานา ลูกสาวสองคนต้องตายเพราะขาดอาหาร เพื่อนฝูงก็ทยอยตายไปเพราะเหตุของสงคราม ฝ่ายกงเอ๋อก็พบกับความสูญเสียครั้งใหญ่เมื่อหม่าซันศิษย์เอกของกงอี้ถังเกิดมีปากเสียงกัน และหม่าซันก็พลั้งมือฆ่าอาจารย์ตาย

ก่อนที่จะเกิดการลงมือถึงตายระหว่างศิษย์อาจารย์ กงอี้ถังถามลูกศิษย์ว่า ตีความท่าไม้ตายที่ตนถ่ายทอดให้ไปออกหรือไม่ ? โดยชื่อท่าไม้ตายนั้นคือ “วานรเฒ่าแขวนป้าย – เจ้าลิงหันหลังไปในเงาสะท้อน” อาจารย์กงอธิบายว่ากุญแจสำคัญของท่าไม้ตายนี้อยู่ที่การหันหลังไม่ใช่อยู่ที่การแขวนป้าย สิ่งสำคัญคือการกลับใจให้ได้ ที่กงอี้ถังกล่าวเช่นนี้ก็เพื่อชักชวนให้หม่าซันกลับใจจากการไปช่วยเป็นลูกน้องชาวญี่ปุ่นกดขี่ชาวจีนด้วยกันเอง แต่หม่าซันยืนยันว่าไม่สามารถหันหลังกลับได้อีกแล้วโดยให้เหตุผลว่า “นักรบหล่อหลอมตนเองเข้ากับกาลเวลา”

ทำไมนักรบที่หล่อหลอมตนเองเข้ากับกาลเวลาจึงส่งผลให้ไม่อาจจะกลับหลังได้อีกแล้ว ? นั่นก็เพราะเวลานั้นไม่เคยไหลย้อนกลับ และเช่นเดียวกับสายน้ำไหล การหย่อนขากลับลงไปบนแม่น้ำสายเดิมนั้นก็ไม่ใช่แม่น้ำสายเก่าอีกต่อไป เราไม่อาจจะหวนย้อนกลับไปบนแม้น้ำสายเดิมได้อีกเป็นครั้งที่สอง นักรบผู้หลอมรวมตัวเองเข้ากับกาลเวลาจึงเป็นคนซึ่งปล่อยตนเองไหลไปกับกระแสกาลเวลา ไม่อาจจะย้อนกลับมาบนทางสายเดิมได้อีก กาลเวลาของหม่าซันจึงเป็นเส้นตรง (Unilinear) และเป็นเส้นทางเดียวเท่านั้น อันเป็นมโนทัศน์ความก้าวหน้า (Progress) ในแบบตะวันตก ซึ่งขัดแย้งกับเวลาแบบตะวันออกอันมีลักษณะเป็นวัฏจักรหมุนวนไม่จบสิ้น — ด้วยความไม่ลงรอยทางความคิดนี้เอง ทำให้หม่าซันและอาจารย์กงต้องประมือกันและเป็นเหตุให้กงอี้ถังเสียชีวิต

การตายของบิดาทำให้กงเอ๋อเสียใจมากและตัดสินใจยกเลิกการแต่งงานกลับมาแก้แค้นแทนบิดา แต่การจะทำเช่นนั้นได้ก็จะต้องสาบานที่จะครองตนเป็นโสดและห้ามเป็นครูสอนวิทยายุทธ์ไปชั่วชีวิต การกระทำดังกล่าวดูเหมือนว่าจะขัดต่อเจตนารมณ์ของกงอี้ถังที่ต้องการจะให้กงเอ๋อแต่งออกเรือนไปเป็นแพทย์ ใช้ชีวิตสุขสงบแบบบุคคลทั่วไป แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ถ้าหากกงอี้ถังต้องการให้กงเอ๋อใช้ชีวิตอย่างสงบสุขจริง เหตุใดจึงยังแบ่งวรยุทธ์เป็นสองส่วนแล้วถ่ายทอดให้แก่กงเอ๋อครึ่งหนึ่ง หม่าซันครึ่งหนึ่ง ? หากต้องการให้กงเอ๋อใช้ชีวิตทั่วไปจริงเหตุใดจึงไม่ห้ามกงเอ๋อฝึกวรยุทธ์ตั้งแต่ต้น ? นี่คือความย้อนแย้งของกงอี้ถัง และในท้ายที่สุดก็ส่งผลมาสู่โศกนาฏกรรมเพราะกงเอ๋อสุดท้ายก็ยอมสาบานเพื่อแก้แค้นให้แก่บิดา

เหตุผลที่กงเอ๋อให้แก่ตนเองเพื่อแก้แค้นแทนบิดานั้นก็คือ “ต้องก้าวไปข้างหน้าดีกว่าหยุดนิ่ง… ต้องก้าวไปข้างหน้าเท่านั้น มันหยุดไม่ได้” นัยนี้ กงเอ๋อเองก็หล่อหลอมตนเองเข้ากับกาลเวลา เวลาที่เป็นเส้นตรงและไม่อาจไหลย้อนกลับ ในปี1940 เธอไปดักรอหม่าซันอยู่ที่สถานีรถไฟภาคเหนือและได้รับชัยชนะ แม้กระนั้นเธอก็บาดเจ็บหนักและได้ย้ายถิ่นฐานจากอีสานของจีนมาอยู่ที่ฮ่องกง โดยเปิดโรงหมอเพื่อยังชีพ

ส่วนยิปมันนั้นก็ทิ้งภรรยาของเขาไว้ที่เมืองจีนและเดินทางมาแสวงโชคในฮ่องกง โดยเปิดสำนักสอนมวยหย่งชุน เขาสัญญากับภรรยาของเขาไว้ว่าจะกลับไปรับ ด้วยการใช้นิ้วเขียนอักษรแทนความในใจลงบนฝ่ามือของภรรยา… เรื่องบางเรื่องพูดไปก็ยิ่งเจ็บปวด การกล่าวคำอำลานั้นว่าเจ็บปวดแล้ว การกล่าวคำสัญญาที่ไม่รู้ว่าจะทำจริงได้ไหมยิ่งเจ็บปวดยิ่งกว่า

ดังที่ St.Paul กล่าวไว้ว่า “ฉันเชื่อ ฉันจึงกล่าวมันออกมา” (Credidi propter quod locutus sum — I believe, therefore I have spoken) เมื่อไม่พูดแต่เขียนลงบนฝ่ามืออันว่างเปล่าแทน ก็หมายความได้ว่ายิปมันเองก็ไม่ได้มั่นใจในคำสัญญาของเขาเท่าใดนัก และภายหลังเวลาก็ได้พิสูจน์ว่าจริง ยิปมันไม่ได้กลับไปรับภรรยาของเขาที่เมืองจีนอีกเลยจนกระทั่งเธอเสียชีวิตลง

ในปี 1950 วันขึ้นปีใหม่จีน ยิปมันเดินทางไปหากงเอ๋อเพื่อขอชม 64 ฝ่ามืออีกครั้งหนึ่งและเพื่อมอบกระดุมเม็ดที่เขาพกติดตัวตลอดเวลาให้แก่เธอ ยิปมันให้เหตุผลที่ต้องการจะเห็น 64 ฝ่ามืออีกครั้งก็เพราะไม่ต้องการให้ 64 ฝ่ามือสูญหายไปกับ “กาลเวลา” แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากกงเอ๋อ โดยเธอได้ชี้ให้เห็นว่าทุกสิ่งล้วนไม่เที่ยง ศิลปะป้องกันตัวอีกมากที่สูญหายไปแล้วก่อน 64 ฝ่ามือ ส่วนเรื่องกระดุมนั้น เธอบอกให้ยิปมันเก็บกระดุมนี้ไว้ เนื่องจากมันอาจจะเป็นสิ่งชวนระลึกถึงอะไรบางอย่างที่ยิปมันเองอาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้วตลอดชีวิตนี้

คำกล่าวของกงเอ๋อที่ตระหนักถึงความไม่เที่ยงแห่งชีวิตก็ดูไม่คล้ายจะเป็นไปได้ เพราะกงเอ๋อเองก็ไม่ใช่คนที่จะปล่อยวางอะไรโดยง่าย กงเอ๋อคนนี้จึงเป็นคนละคนกับกงเอ๋อคนที่อาฆาตหม่าซัน การเอาชนะหม่าซันได้เปลี่ยนแปลงเธอไปสิ้นเชิงแล้ว

หลังจากนั้นเพียงสองปี กงเอ๋อยุติการรักษาคนไข้ ยิปมันและกงเอ๋อนัดพบกันครั้งสุดท้ายที่โรงน้ำชาพายัพ อุปรากรจีนยังคงบรรเลงแต่คนฟังเปลี่ยนไปแล้ว กงเอ๋อที่ไม่แต่งหน้ากลับทาปากเข้มและทาหน้าขาว การแต่งหน้านั้นก็สะท้อนถึงการไม่มั่นใจสั่นคลอนในภาพลักษณ์ของตนเอง ซึ่งก็เป็นผลมาจากความเสื่อมโทรมด้วยฤทธิ์ฝิ่น อุปรากรที่บรรเลงอยู่นั้นชื่อว่า “ความฝันแห่งรัก” กงเอ๋อวิจารณ์ว่าความรักก็เหมือนความฝัน และเครื่องดนตรีไหนก็ไม่ไพเราะเท่ากับเสียงร้อง… การเปรียบความรักดุจความฝันนั้นก็น่าจะเป็นเพราะความรักสำหรับกงเอ๋อนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในความจริง แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งก็เพราะพันธะที่ผูกมัดเธอเอาไว้กับคำสาบาน

เธอยังกล่าวต่อด้วยว่า หากสมัยเธอยังเด็กเธอศึกษาจริงจังเสียหน่อย ป่านนี้ก็คงอาจจะกลายเป็นนักแสดงอุปรากรไปแล้ว และคงเป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์หากตนเองได้ร้องเพลง “ตื่นจากฝัน” โดยมียิปมันเป็นผู้ชม ยิปมันถามกงเอ๋อต่อไปว่า ถ้ายิปมันหาตั๋วไม่ได้จะทำอย่างไร ? กงเอ๋อกล่าวว่า ยิปมัน (ในจินตนาการของเธอ) ทำให้เธอปลื้มดังนั้นเธอก็จะให้ตั๋วแก่เขา ยิปมันกล่าวต่อไปว่าหากเปรียบเขาและกงเอ๋อเป็นนักแสดงอุปรากร กงเอ๋อก็เล่นได้หมดจดงดงามทั้งในแง่จังหวะและท่าทาง แต่พลาดตรงไม่เฉลียวใจ… แต่หากจะมีใครสักคนที่ไม่เฉลียวใจ คนนั้นน่าที่จะเป็นยิปมันเสียมากกว่า ยิปมันดูเหมือนจะไม่เฉลียวใจเลยว่าตนเองนั้นเป็นความฝัน (และความรัก) ของกงเอ๋ออย่างลึกซึ้งเพียงไร

เพลง “ตื่นจากฝัน” ซึ่งกงเอ๋อจินตนาการว่าจะร้องให้ยิปมันฟังนั้นเป็นอุปรากรที่แต่งขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง (ปี 1368-1644) มีเนื้อหาเกี่ยวกับ หญิงสาวที่งีบหลับไปและฝันว่า ได้คบหากับชายหนุ่มคงแก่เรียนคนหนึ่ง เมื่อเธอตื่นขึ้นมาและพบว่าทุกอย่างเป็นเพียงฝันไปเธอจึงฆ่าตัวตายด้วยความเศร้า หลังจากนั้นเธอได้รับอนุญาตให้กลับมาบนโลกมนุษย์ในฐานะผีเพื่อที่จะทำให้ชายที่เธอรัก ตกหลุมรักเธอให้ได้ เพื่อให้เธอได้กลับเป็นมนุษย์อีกครั้ง

การที่กงเอ๋ออยากร้องเพลงนี้ให้แก่ยิปมันนั้นก็แฝงนัยลึกซึ้ง เธอเปิดเผยความจริงว่ายิปมันอยู่ในหัวใจของเธอมาโดยตลอด พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า “ความรักไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่มันก็จะเป็นได้เพียงแค่นั้น” เพราะความรักสำหรับกงเอ๋อนั้นแม้ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องสวยงามแต่อย่างไร เพราะรักดังกล่าวก็เป็นเพียงฝัน ฝันที่เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วก็พบแต่ความเศร้าและความตายรออยู่เท่านั้น

<a href="https://www.youtube.com/v/8L2YcwrfdeA" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/8L2YcwrfdeA</a>

ยิปมันนั้นเมื่อได้ยินก็ตอบกลับไปว่า ระหว่างเขาและกงเอ๋อนั้นไม่มีอะไรต้องนึกเสียใจ เขาและเธอผูกพันกันด้วยกาลเวลา การกล่าวเช่นนั้นก็ไม่ต่างจากการปฏิเสธกงเอ๋อและย่อมทำให้เธอดำดิ่งไปสู่ความเศร้าที่ลึกล้ำยิ่งขึ้น เพราะการผูกพันกันด้วยกาลเวลานั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหวนย้อนกลับมาได้อีก รอยยิ้มของกงเอ๋อจึงหายไปและแปรเปลี่ยนเป็นน้ำตาเมื่อได้คำพูดของยิปมัน

กงเอ๋อกล่าวกับตนเองว่า กาลเวลาได้หล่อหลอมเราและนำเรามาถึงทางเลือก เธอเลือกที่จะอยู่กับช่วงเวลาของเธอเอง ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เธอไม่ต้องการที่จะเลื่อนไหลไปตามกระแสเวลาอันเป็นเส้นตรงของโลกใบนี้อีกแล้ว เธอสูบฝิ่นและใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตอยู่กับความฝันของเธอและเสียชีวิตในปี1953

สารัตถะของหนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่หนังที่เล่าเกี่ยวกับเรื่องวิทยายุทธ์ และยิ่งไม่ใช่หนังที่เล่าถึงประวัติของยิปมัน หากวางอยู่บนสองเรื่องสำคัญได้แก่ความรักและกาลเวลา ตัวละครทุกตัวนับตั้งแต่ กงอี้เถียน หม่าซัน กงเอ๋อ และยิปมัน ทุกคนล้วนกล่าวถึงเวลาที่ไม่มีวันไหลย้อนกลับ…

จาก http://www.siamintelligence.com/the-grandmaster/

http://www.siamintelligence.com/practical-report/culture/page/6/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...