ผู้เขียน หัวข้อ: ดาไลลามะองค์ที่ 14 แห่งธิเบต จำอดีตชาติได้  (อ่าน 1587 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ดาไลลามะองค์ที่ 14 แห่งธิเบต จำอดีตชาติได้

องค์ดาไลลามะ คือ ตำแหน่งสูงสุดในประเทศธิเบต ซึ่งเป็นทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณและเป็นผู้นำทางการเมือง การปกครอง ทรงมีตำหนักโปตาลาและตำหนักนอร์บูลิงกาเป็นที่ประทับและเป็นสถานที่สำหรับประชุมคณะรัฐมนตรี ตำแหน่งดาไลลามะนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบันนี้นับเป็นองค์ที่ 14 ชาวธิเบตนับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายานซึ่งได้เผยแพร่เข้าสู่ประเทศธิเบตในราวพุทธศตวรรษที่ 9 – 10 ใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าจะเอาชนะ ศาสนาบอน ซึ่งเป็นศาสนาท้องถิ่นได้ ต่อมาชาวธิเบตก็หันมายอมรับหลักคำสอนในพุทธศาสนากันอย่างแพร่หลายในทุกระดับสังคม จึงทำให้เปลี่ยนจากเผ่าพันธุ์ที่ดุดันและชอบรบพุ่ง มาเป็นชาวพุทธผู้อารีย์และรักสงบ จนกระทั่งถูกประเทศจีนบุกเข้ายึดครอง องค์ดาไลลามะต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศอินเดียจนถึงทุกวันนี้

ความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดและการเข้าทรงของชาวธิเบตนั้น เป็นความเชื่อที่ฝังอยู่ในสายเลือดของชาวธิเบตมานาน การกลับชาติมาเกิดชาวธิเบตเรียกว่า “ตุลกู” หมายถึงผู้ที่เลือกที่จะกลับมาเกิดใหม่ เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของตนต่อไปหรือเลือกที่จะมาเกิดเพื่อโปรดสัตว์เพื่อช่วยสัตว์โลก ให้พ้นทุกข์เช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์ ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางของพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่มุ่งปฏิบัติให้สำเร็จพระโพธิญาณ เพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ แต่ยังไม่ถึงนิพพาน เพื่อคอยโปรดสัตว์ผู้ยังมีทุกข์ให้พ้นจากสังสารวัฏ ทั้งๆที่สามารถนิพพานได้ นับเป็นการเสียสละที่น่ายกย่องยิ่งนัก ชาวธิเบตถือว่าการกลับชาติมาเกิดนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะในประเทศธิเบตมี “ตุลกู” คือผู้ที่กลับมาเกิดใหม่อยู่นับพันคน แต่ที่พิเศษไปกว่าตุลกูธรรมดา ก็คือการกลับชาติมาเกิดใหม่ขององค์ดาไลลามะหรือลามะชั้นสูงของธิเบต ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการ “อวตาร” มาเกิดก็ได้  ที่ผ่านมามีองค์ดาไลลามะและลามะชั้นสูงได้กลับชาติมาเกิดแล้วหลายท่าน ในที่นี้ผู้เขียนขอยกมาเฉพาะเรื่องราวการอวตารของ ดาไลลามะองค์ที่ 13 หรือการจำอดีตชาติได้ของดาไลลามะองค์ที่ 14 (องค์ปัจจุบัน) ซึ่งได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือ “อิสรภาพในการลี้ภัย Freedom Exile” เขียนโดยดาไลลามะองค์ที่  14 แปลเป็นภาษาไทยโดย “ฉัตรสุมาลย์กบิลสิงห์ ษัฏเสน”

เริ่มต้นด้วยเรื่องราวของดาไลลามะองค์ก่อนหน้านี้คือ สมเด็จพระทุบเท็น กยัตโส ดาไลลามะองค์ที่ 13 ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ.2419 สวรรคตเมื่อ พ.ศ.2476 รวมอายุได้ 57 ปี เมื่อครั้งที่พระองค์ยังมีชีวิตอยู่ทรงเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและเป็นผู้นำทางการเมืองที่เปี่ยมด้วยเมตตากรุณายิ่งนัก ทรงเป็นคนเรียบง่ายไม่ถือพระองค์ แต่ทรงเข้มงวดในระเบียบวินัย ทรงเป็นนักวิชาการที่มองการไกล ทรงสนใจในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประเทศธิเบตในสมัยที่พระองค์ปกครองอยู่นั้น เคยถูกรุกรานจนกระทั่งพระองค์ต้องลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกประเทศธิเบตถูกอังกฤษรุกรานเมื่อ พ.ศ. 2446 และครั้งที่สองถูกแมนจูรุกรานเมื่อ พ.ศ.2453 ครั้งแรกนั้นอังกฤษถอยทัพกลับไปเอง ครั้งที่สองกำลังทหารของธิเบตสามารถขับไล่ทหารแมนจูออกไปได้

เมื่อครั้งที่ดาไลลามะองค์ที่ 13(สมเด็จพระทุบเท็น กยัตโส) สวรรคตลงเมื่อ พ.ศ.2476 ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นคือ พระศพซึ่งเดิมหันพระพักตร์ไปทางทิศใต้ กลับหันไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ จากนั้นไม่นานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเป็นลามะชั้นสูงได้เห็นภาพจากสมาธิขณะเพ่งลงไปในทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ในธิเบตตอนใต้ โดยเห็นเป็นอักษรธิเบต 3 ตัว สมมุติให้เป็นตัวอักษร ไทยคือ “ อ,ก และ ม “ และเห็นภาพวัดเป็นตึก 3 ชั้นมีหลังคาสีฟ้าประดับลายทอง จากนั้นก็ปรากฏภาพทางเดินที่ขึ้นไปจากเชิงเขา สุดท้ายปรากฏเป็นภาพบ้านหลังเล็กๆที่มีรางน้ำรูปร่างแปลกๆ หลังจากนั้นรัฐบาลธิเบตได้จัดคณะค้นหาขึ้น เพื่อค้นหาสถานที่และแปลความหมายตัวอักษรทั้ง 3 ตัวที่ปรากฏในสมาธิของลามะชั้นสูง การค้นหาองค์อวตารของดาไลลามะองค์ที่ 13 จึงเริ่มขึ้น

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ปรึกษากับคณะค้นหาและลงความเห็นว่า อักษร “อ” น่าจะหมายถึง แคว้นอัมโด ซึ่งเป็นแคว้นทางตะวันออกเฉียงเหนือของธิเบต ซึ่งเป็นทิศที่พระพักตร์หันไป จึงส่งคณะค้นหาไปตามทิศทางนั้น เมื่อมาถึง วัดกุมบุม ซึ่งตรงกับอักษรตัวที่สองคือ “ก” คณะผู้ค้นหาก็เริ่มมั่นใจว่ามาถูกทาง เมื่อเห็นลักษณะของวัดกุมบุมซึ่งมีลักษณะเป็นตึก 3 ชั้น มีหลังคาสีฟ้าตรงตามที่เห็นในสมาธิ และสิ่งที่พวกเขาต้องค้นหาต่อไปคือบ้านหลังเล็กๆที่มีรางน้ำรูปร่างแปลกๆ ซึ่งน่าจะอยู่ไม่ไกลจากวัดกุมบุมนัก พวกเขาเริ่มค้นหาในหมู่บ้านระแวกใกล้เคียงกับวัดกุมบุม จนกระทั่งมาถึงบ้านหลังเล็กๆหลังหนึ่งมีไม้สนคดงอเป็นรูปร่างแปลกๆใช้ทำเป็นรางน้ำตรงกับที่เห็นในสมาธิ พวกเขาเริ่มมั่นใจยิ่งขึ้นว่า ดาไลลามะองค์ที่ 13 ที่จะอวตารกลับชาติมาเกิดนั้นคงจะอยู่ในบ้านหลังนี้หรือไม่ก็คงจะอยู่ไม่ไกลจากที่นั่นเป็นแน่







บ้านเล็กๆหลังนั้นคือบ้านของ เด็กชาย ลาโม ทอนดุป และครอบครัว ซึ่งต่อมาเด็กชายลาโมได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นดาไลลามะองค์ที่ 13 อวตารหรือกลับชาติมาเกิดนั่นเอง เมื่อคณะค้นหาเข้าไปในบ้านก็ไม่ได้แจ้งจุดประสงค์ที่แท้จริงให้คนในบ้านทราบ เพียงแต่ขอค้างแรมระหว่างทางสักคืนเท่านั้น หัวหน้าคณะค้นหาคือ คิวซัง ริมโปเช่  ซึ่งเป็นลามะชั้นสูงท่านหนึ่งปลอมตัวเป็นคนรับใช้ในคณะเพื่อพิสูจน์ความจริงบางอย่าง และเพื่อไม่ให้คนในบ้านได้รู้ถึงการทดสอบนั้น แต่เมื่อคณะค้นหาเข้ามาในบ้าน เด็กชายลาโมเห็นเขากลับจำได้และเรียกเขาว่า “ลามะจากเซร่า” ความรู้สึกมั่นใจเริ่มเกิดขึ้นเพราะท่านคิวซัง ริมโปเช่ นั้นมาจากวัดเซร่าจริงๆ แต่เพียงเท่านี้ยังไม่ทำให้เด็กชายลาโมผ่านการทดสอบได้ พวกเขายังไม่เปิดเผยสิ่งใดพอรุ่งเช้าจึงขอตัวเดินทางต่อ

หลังจากนั้นอีก 2- 3 วันคณะผู้ค้นหาเดินทางมายังบ้านของเด็กชายลาโมอีกครั้ง แต่คราวนี้มาอย่างเป็นทางการและได้นำสิ่งของเครื่องใช้หลายอย่างมาด้วย ซึ่งในจำนวนเครื่องใช้เหล่านั้นมีสิ่งของเครื่องใช้ที่เคยเป็นของ ดาไลลามะองค์ที่ 13 รวมอยู่ด้วย แต่ได้จัดปนเปกันมาเพื่อพิสูจน์การระลึกชาติของเด็กชายลาโม ทอนดุป

การพิสูจน์ได้เริ่มต้นขึ้น เด็กชายลาโมซึ่งขณะนั้นอายุ 3 ขวบ สามารถเลือกสิ่งของเครื่องใช้ที่เคยเป็นของดาไลลามะองค์ที่ 13 ได้อย่างถูกต้องทั้งหมด ทั้งยังบอกด้วยว่า “ของฉัน ๆ” จากการพิสูจน์ทำให้คณะค้นหาแน่ใจแล้วว่า เด็กชายลาโม ทอนดุป คือดาไลลามะองค์ที่ 13 กลับชาติมาเกิดตามเจตนารมณ์ของท่านที่เลือกที่จะกลับมาเกิดใหม่เพื่อประโยชน์สุขของชาวธิเบต เฉกเช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้บรรลุพุทธภูมิแล้ว ก็ยังกลับมาเกิดอีก เพื่อประโยชน์สุขแห่งสรรพสัตว์ในโลก จนกว่าสรรพสัตว์ทั้งปวงจะเป็นอิสระจากสังสารวัฏจนหมดสิ้นแล้วจึงจะบรรลุนิพพาน

เมื่อทำการพิสูจน์จนแน่ใจแล้วว่า เด็กชายลาโม ทอนดุป คือดาไลลามะองค์ที่ 13 กลับชาติมาเกิด คณะพิสูจน์ก็ส่งข่าวไปยังผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเมืองลาซา เพื่อรายงานผลการพิสูจน์ จนกระทั่งได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ จากนั้นอีก 18 เดิอนจึงมีการจัดขบวนมาต้อนรับอย่างสมเกียรติไปยังเมืองหลวง เพื่อรอการแต่งตั้งเป็นดาไลลามะองค์ที่ 14 ต่อไปเมื่อ เด็กชายลาโม บรรลุนิติภาวะแล้ว

เด็กชายลาโม ทอนดุป(Lhamo  Thondup) เกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2476 ณ.หมู่บ้านตักเซอร์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศธิเบต มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน เสียชีวิตไปแล้ว 4 คน ยังมีชีวิตอยู่ 4 คน คือ

1.       เซริง ดอลมา(หญิง)
2.       ทุบเท็นจิกเม นอร์บู(ลามะตักเซอ ริมโปเช่ อวตารมาเกิด)
3.       ลอบซัง สามเท็น(ชาย)
4.       ลาโม ทอนดุป(ดาไลลามะองค์ที่ 13 อวตารมาเกิด)

ในครอบครัวของเด็กชายลาโมมี “ตุลกู" อีกคนหนึ่งคือ ทุบเท็น จิกเม นอร์บู ซึ่งได้รับการพิสูจน์และยอมรับว่าเป็น ลามะ ตักเซอร์ ริมโปเช่ ลามะชั้นสูงท่านหนึ่งกลับชาติมาเกิด และต่อมาเขาได้ไปอยู่ที่วัดกุมบุมอันเป็นวัดที่ลามะ ตักเซอร์ ริมโปเช่ เคยอยู่เมื่อในอดีตชาติ

มารดาของเด็กชายลาโม(ดาไลลามะองค์ที่ 14) เล่าถึงเรื่องราวการจำอดีตชาติได้ของเด็กชายลาโมว่า เด็กชายลาโมป็นเด็กที่มีความเมตตาสูง ชอบช่วยเหลือผู้คนโดยเฉพาะคนที่อ่อนแอกว่า เขาชอบเก็บข้าวของลงกระเป๋าเดินทางโดยบอกว่า “ฉันจะไปลาซา” เวลาที่กินข้าวกับครอบครัวเขาจะนั่งหัวโต๊ะเสมอและไม่ยอมให้ใครถือชามอาหารนอกจากมารดา สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แสดงว่า เด็กชายลาโมจำอดีตชาติได้ แต่มารดาของเด็กชายลาโมคิดไม่ถึงว่าเด็กชายลาโมจะเป็น ดาไลลามะองค์ที่ 13 กลับชาติมาเกิด และคิดไม่ถึงว่าในครอบครัวจะมี “ตุลกู” ถึงสองคน (มารดาของ ดาไลลามะองค์ที่ 14 ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.2524)



ดาไลลามะองค์ที่ 14 ทรงเล่าเรื่องราวการจำอดีตชาติของท่านไว้ในหนังสืออัตชิวประวัติของตัวท่านเองว่า ปัจจุบันนี้ท่านจำเรื่องราวในอดีตไม่ค่อยได้แล้ว เพราะว่าเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นในขณะที่ท่านยังเด็กมาก เท่าที่พอจำได้ก็เป็นเรื่องราวที่มารดาของท่านเล่าให้ท่านฟังเมื่อตอนที่ท่านโตแล้วเท่านั้น เมื่อกล่าวถึงการที่ท่านลืมเรื่องราวในอดีตชาตินั้น ท่านเองคิดว่าอาจมีสาเหตุมาจากการที่ท่านแอบกินกินไข่ ซึ่งโบราณเชื่อว่าคนที่จำอดีตชาติได้ถ้ากินไข่แล้ว จะทำให้ลืมเรื่องราวในอดีตชาติ ซึ่งท่านได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “อาตมาถูกห้ามไม่ให้รัปทานอาหารบางชนิดเช่น ไข่ และ หมู จำได้ว่าครั้งหนึ่ง ยอปเค็นโป ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จับได้ว่าอาตมาเสวยไข เขาตกใจมากพอๆกับอาตมา” โดยส่วนตัวของท่านเอง ท่านไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องราวในอดีตชาติมากนัก เพราะท่านลืมไปมากแล้ว แต่เรื่องราวในช่วงที่ท่านจำความได้นั้น มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านรู้สึก มีความผูกพันกับอดีตชาติของท่านดังเช่น

ครั้งหนึ่งท่านไปเยี่ยม วัดเซรา และ วัดครีบุง ซึ่งเป็นสถานศึกษาสูงสุดของธิเบตเป็นครั้งแรก ท่านรู้สึกคุ้นเคยกับสถานที่ของวัดทั้งสองมาก ราวกับว่าท่านเคยมาที่นี่มาก่อน ดังคำพูดตอนหนึ่งของท่านที่ว่า “อาตมาต้องเป็นกังวลที่จะต้องเยี่ยมวัด ซึ่งเป็นสถานศึกษาสูงสุดของธิเบตเป็นครั้งแรกในชีวิต แต่มีบางอย่างที่ทำให้รู้สึกคุ้นเคยและทำให้ค่อนข้างแน่ใจถึงความสัมพันธ์ในอดีตชาติของอาตมา กับสถานที่เหล่านั้น”



ข้อที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ดาไลลามะองค์ที่ 13 นั้นท่านจะมีญาณพิเศษสามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้ ส่วนดาไลลามะองค์ที่ 14 นั้นจะรับรู้เหตุการณ์ในอนาคตได้จากความฝัน ซึ่งเมื่อก่อนท่านคิดว่ามันเป็นเพียงความฝันธรรมดา แต่เมื่อเวลาผ่านไปท่านจึงเข้าใจว่า สิ่งที่ท่านเห็นนั้นคือภาพในอนาคตที่มาให้ท่านเห็นในรูปของความฝันนั่นเอง ดังคำพูดของท่านตอนหนึ่งที่ว่า      “อาตมามีประสบการณ์แปลก ๆ หลายประการ โดยเฉพาะในรูปของความฝัน แม้ว่าตอนนั้นจะดูไม่สำคัญ แต่บัดนี้อาตมาเข้าใจแล้วว่ามันมีความสำคัญอย่างไร” ตัวอย่างความฝันที่กลายเป็นจริงของท่านคือ คืนหนึ่งขณะที่ท่านหลับสนิทท่านได้ฝันเห็นหมู่บ้านของท่านซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปถูกเผาทำลาย ผู้คนถูกฆ่าตายเห็นศพคนตายเกลื่อนไปหมด คนที่ได้รับบาดเจ็บก็ร้องโหยหวนด้วยความเจ็บปวด ทรมาน เมื่อท่านตื่นขึ้นมาทรงตกใจมาก หลายคนปลอบใจท่านว่าเป็นฝันร้ายธรรมดาเท่านั้น แต่ต่อมาความฝันนั้นก็ได้รับการพิสูจน์ เมื่อกองทัพจีนได้บุกทำลายหมู่บ้านของท่าน ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก จึงเป็นที่มาของคำพูดของท่านดังที่กล่าวมาแล้ว และยังมีอีกหลายความฝัน ซึ่งต่อมาท่านได้ให้ความสำคัญกับความฝันของท่านเป็นพิเศษ

ปัจจุบันนี้ ดาไลลามะองค์ที่ 14 ได้ลี้ภัยไปอยู่ในประเทศอินเดีย และยังคงต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประเทศธิเบตและประชาชนของท่าน...ต่อไป

จาก https://sites.google.com/site/thaireincarnation/foreign-cases/sri-langka/xngkh-da-lila-ma



การดำเนินชีวิต

พระองค์ตรัสเสมอว่า "ข้าพเจ้า เป็นเพียงพระสงฆ์ธรรมดา ไม่มีอะไรมากกว่านี้ และน้อยกว่านี้" พระองค์ ทรงปฏิบัติตน ในฐานะเป็นพระสงฆ์ พำนักอาศัย ในกระท่อมในธรรมศาลาทรงดำเนินชีวิต อย่างเรียบง่าย ดังที่พระองค์ ได้ตรัสเล่าไว้ว่า "ตามปกติ อาตมาตื่นนอนตีสี่ พอลุกขึ้นมาก็สวดมนต์ภาษาธิเบต อุทิศส่วนกุศลที่ได้ทำ ได้พูด ได้คิด ของทั้งวัน เป็นการแผ่ส่วนบุญ  เพื่อช่วยเหลือ เกื้อกูลผู้อื่น อาตมาก็เหมือนพระทุกรูป คือ อยู่กับความจน ไม่มีสมบัติส่วนตัวในห้องนอนมีแต่เตียง เวลาลุกขึ้น สิ่งแรกที่ได้เห็นคือ พระพักตร์ของพระพุทธเจ้า จากพระพุทธรูปเวลาตื่นขึ้นมานั้น หนาวเย็นนัก จึงต้องออกกำลังกาย และรีบอาบน้ำ แต่งตัวอย่างรวดเร็ว อาตมานุ่งจีวรสีแดงเข้ม เช่นนี้ดุจพระองค์อื่น ๆ ผ้าหยาบ ๆ มีปะชุน หากเป็น ผ้าผืนเดียว ก็จะเอาไปขาย หรือแลกเปลี่ยน กับอะไรได้ การนุ่งห่มผ้า อย่างนี้เอาไปขายไม่ได้ เป็นการยืนหยัด ปรัชญาของเรา ที่สอนให้ไม่ติดยึด ในสิ่งของต่าง ๆ ทางโลก  อาตมาภาวนา จนถึงตีห้าครึ่ง จากนั้นก็ทำพุทธบูชา กราบแบบ อัษฎางคประดิษฐ์ (คือกราบโดย ให้อวัยวะ ๘ ส่วนสัมผัสพื้น นอนคว่ำหน้าราบกับพื้น และปลงอาบัติ เพื่อสำรวจตรวจดู ความผิดของเราที่แล้ว ๆ มา เพื่อแถลง ให้สงฆ์ทราบ แล้วสวดมนต์ให้พร เพื่อความสวัสดี ของสรรพสัตว์  พอสว่างอากาศดี อาตมาจะลงสวน เวลาเช่นนี้ นับว่าวิเศษมาก สำหรับอาตมา อาตมาจะมองดูฟ้า ที่กระจ่าง มองเห็นดวงดาวมากมาย ทำให้เกิด ความรู้สึกพิเศษว่า เราแทบไม่มีความสำคัญ อันใดเลย ในจักรวาล ทำให้ชาวพุทธ ตระหนักใน ความไม่เที่ยงแท้ นับว่าเหมาะ แก่การพักผ่อน บางครั้งอาตมา ไม่คิดเลย อาตมามีความสุข กับยามรุ่งอรุณ และเสียงนกร้อง จากนั้นพระ จะนำอาหารเช้า มาถวาย ขณะฉันเช้า อาตมาจะฟังวิทยุ บีบีซี ราว ๆ ย่ำรุ่ง อาตมาจะย้าย ไปยังอีกห้องหนึ่ง เพื่อภาวนาจน ๐๙.๐๐ น. การภาวนาเป็นพุทธวิธี ที่ช่วยตั้งกระแสจิต ไปในทางที่สุจริต หรือสัมมาทิฏฐิ เพราะให้เกิดความกรุณา การให้อภัย และความมีใจกว้าง อาตมาภาวนาราว ๆ วันละ ๖-๗ ครั้ง

เก้าโมงจนเที่ยง อาตมาศึกษา พระธรรมจากคัมภีร์ พุทธศาสนานั้น ลึกซึ้งมาก แม้อาตมาจะได้ศึกษา มาจนตลอดชีวิต ก็ยังต้องศึกษาอีกมาก อาตมา พยายามอ่านหนังสือ ของผู้รู้ฝรั่งด้วย อาตมาอยากเรียนรู้ ปรัชญาตะวันตก และวิทยาศาสตร์ของฝรั่ง โดยเฉพาะ นิวเคลียร์ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ ประสาท-ชีววิทยา บางครั้ง อาตมาก็ทำงาน ด้านเครื่องยนต์กลไก เช่น เปลี่ยนแบตเตอรี่ สำหรับวิทยุ หรือแก้เครื่อง เวลาเที่ยงครึ่ง อาตมาฉันอาหาร ซึ่งมีเนื้อด้วย แม้อาตมา จะชอบอาหารมังสวิรัติก็ตาม พระย่อมฉัน เท่าที่เขาถวายมา บ่ายเป็นงานราชการ พบปะ กับพวกรัฐมนตรี ที่ลี้ภัย ออกมาด้วยกัน และตัวแทน จากรัฐบาลของธิเบต นอกจากนี้ ก็ยังมีคน มาขอพบเสมอ ส่วนมาก มาจากธิเบต ส่วนมาก ไม่ได้รับอนุญาต จากจีนคอมมิวนิสต์ คนกล้าพวกนี้ หนีออกมา จากช่องแคบ แถบเชิงเขา หิมาลัยกว่า ๑๗,๐๐๐ คนแล้ว

วลาย่ำค่ำ อาตมาฉันน้ำชา ตอน ๑ ทุ่ม เป็นเวลาดูโทรทัศน์ อาตมา ชอบดูรายการบีบีซี ที่ว่าด้วยอารยธรรมตะวันตก และรายการต่าง ๆ แล้วก็ถึงเวลา ที่กำหนด เป็นเวลาภาวนา และบูชาพระ อาตมาหลับง่าย ๆ ตอน ๒ ทุ่มครึ่ง หรือ ๓ ทุ่ม แต่ถ้ามีพระจันทร์ อาตมาจะนึกถึงว่า มีพระจันทร์มองลงมายัง ประชากรของอาตมา ที่ถูกขังดังติดคุก อยู่ในธิเบต แม้อาตมา จะเป็นผู้ลี้ภัยแต่ก็เสรีภาพ ในการพูด เพื่อประชากร ของอาตมา ทุกวัน อาตมาสวดอ้อนวอน ต่อ พระอวโลกิเตศวร โพธิสัตว์ ผู้เป็นองค์พิทักษ์ ของธิเบต ขอให้ทรงปกปักรักษา พวกเขาทุกชั่วโมง ที่กินอยู่ อาตมานึกเสมอ ถึงความทุกข์ยาก ของประชากร ของอาตมา ซึ่งถูกเขากางกั้นเอาไว้ (ในอุ้งมือจีนคอมมิวนิสต์)



การรุกรานของจีน

มีเหตุผลสามประการที่ก่อให้จีนอยากได้ธิเบต

๑.ดินแดนที่กว้างขวางแต่มีประชากรเพียง ๓-๘ ล้าน จีนมีพลเมืองถึง ๖๐๐ ล้าน และเพิมขึ้นเป็นมากขึ้นเรื่อยๆมักประสบทุพภิกขภัย จึงอยากได้ธิเบตเข้าไว้ในการปกครอง ความจริงได้ส่งชาวนาของตนมาหากินในธิเบตเป็นอันมากแล้ว ขณะนี้จำนวนชาวไร่ชาวนาของธิเบตนั้นลดน้อยลงทุกที และความเป็นอยู่ก็ยิ่งเลวลงกว่าชาวนาของชาติเข้ามายึดครอง ในประวัติศาสตร์ธิเบตไม่เคยประสบทุพภิกภัย บัดนี้ประสบเข้าแล้ว

๒.ประเทศของเรามีทรัพยากรมาก ยังไม่ได้นำเอามาใช้ เพราะไม่เคยคิดว่าร่ำรวยกันในทางโลก จีนอ้างว่าพัฒนาให้ธิเบตได้มาก แต่ขอแย้งว่าการพัฒนานั้นมิใช่เพื่อชาวธิเบตหากแต่เพื่อชาวจีน

๓.จีนประสงค์จะประสงค์ปกครองทั่วทวีปเอเชีย และบางที่จะประสงค์จะโลกโลกด้วย จีนหลายคนถึงกับรับว่าการยึดครองธิเบตเป็นก้าวแรกของนโยบายนี้ ข้าพเจ้าไม่รู้เรื่องเลยในทางทหารแต่ก็รู้ว่าธิเบตมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มาก ภูเขาสูงๆเช่นในธิเบต เหมาะสำหรับฐานทัพจรวดสมัยใหม่ อันจะส่งโจมตีอินเดีย ปากีสถาน พม่าและประเทศอื่นๆในเอเชียอาคเนย์แล้วจีนก็จะได้ยึดครองประเทศนั้นและทำลายศาสนาพร้อมกับเผยแพร่ลัทธิวัตถุนิยมต่อไป
เชื่อว่าจีนมีแผนการเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อสิบปีก่อนตอนบุกเข้ามาในธิเบตครั้งแรก ตอนนั้นนกว่าจะยึดเอาธิเบตได้เพียงด้วยข้ออ้างทางนิตินัยและก็ใช้กำลังขุ่เสียหน่อย แต่วัตถุประสงค์ทั้งสามข้อที่กล่าวมาแล้วนั้น ยิ่งข้อสามด้วยแล้วยิ่งต้องปราบให้ราบทั้งๆที่ต้องเสียเงินแลเสียชีวิตไปเป็นอันมาก

ในเมื่อประชากรถูกทำลายแลสูญเสียชีวิตไปเช่นนี้ ในขณะที่ข้าพเจ้าต้องอาศัยอยู่นอกประเทศ ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ด้วยความหวังอย่างเดียว คือขอทำการต่างๆเพื่อเตือนโลกให้สหประชาชาติ บอกให้โลกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในธิเบตและอะไรกำลังเกิดขึ้นอยู่ที่นั่น นอกจากนี้ข้าพเจ้าก็ได้แต่เอาใจใส่ต่อชาวธิเบตที่ลี้ภัยมากับข้าพเจ้าและวางแผนเพื่ออนาคต

ผู้ลี้ภัยทั้งหลายนี้แตกกระส่านซ่านเซ็นไปตามที่ต่างๆในอินเดีย ภูฐาน สิขิม และเนปาล ชนชั้นนำในอิเดียได้ตั้งกรรมการกลางขึ้นช่วยผู้ลี้ภัยชาวธิเบต กรรมเหล่านี้ทำการร่วมกับอินเดียในด้านการช่วยเหลือ องค์การอื่นๆในประเทศต่างๆก็ส่งเงิน อาหารและเครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนยารักษาโรคมาช่วยรัฐบาล อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ก็ส่งของมาช่วยการศึกษา รัฐบาลเวียดนามก็ได้ให้ข้าว









การยอมรับ จากชาวโลก

ในด้านความรู้ มหาวิทยาลัย และสถาบัน ในประเทศตะวันตก เป็นจำนวนมาก ได้ทูลถวายรางวัลสันติภาพ และ ถวายปริญญาบัตรแด่พระองค์  ในเรื่อง รางวัลระดับโลก คณะกรรมการรางวัลโนเบล ประเทศนอรเวย์ ได้มอบ "รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ" แด่พระองค์ ใน ปี ค.ศ. ๑๙๘๙ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ด้วยเหตุผลว่า "คณะกรรมการ ต้องการเน้นความเป็นจริงที่ องค์ทะไลลามะ ได้พยายามต่อสู้ อย่างต่อเนื่อง และอย่างสันติเพื่อปลดปล่อยธิเบต ทรงเสนอหนทาง แก้ไขปัญหา โดยเน้น เรื่องความอดทน และการเคารพ ซึ่งกันและกัน เพื่อคุ้มครองมรดกทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของประชาชนธิเบต"

ดาไลลามะได้รางวัล Templeton Prize ด้วยผลงานสนับสนุนวิทยาศาสตร์และศาสนา

Submitted by terminus on Fri, 30/03/2012 - 21:29

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2012 คณะกรรมการของ Templeton Foundation ประกาศให้ Tenzin Gyatso ดาไลลามะองค์ที่ 14 (องค์ปัจจุบัน) เป็นผู้ได้รับรางวัล Templeton Prize ในฐานะที่ทุ่มเทส่งเสริมงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และศาสนาอย่างต่อเนื่อง

รางวัล Templeton Prize ถือเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติที่สุดของผู้ทำงานด้านศาสนาเทียบเท่าได้กับรางวัลโนเบลทางฝั่งวิทยาศาสตร์

John M. Templeton, Jr ผู้อำนวยการ Templeton Foundation คนปัจจุบัน (ลูกชายของ Sir John Templeton ผู้ก่อตั้งรางวัล) กล่าวชื่นชมดาไลลามะว่าเป็นดั่ง "กระบอกเสียงแห่งจริยธรรมสากล, อหิงสา, และความสมานฉันท์ของศาสนาทั่วโลกอย่างที่ไม่สามารถหาใครมาเปรียบได้" เขาให้ความเห็นว่าในโลกที่พึ่งพาความก้าวหน้าเทคโนโลยี มนุษย์ก็ยังคงต้องการความมั่นคงทางจิตวิญญาณจากศาสนา

ดาไลลามะมีความสนใจวิทยาศาสตร์หลากหลายแขนงไม่ว่าจะเป็นชีววิทยา, ประสาทวิทยา, จักรวาลวิทยา, คณิตศาสตร์, เคมี, ฟิสิกส์, กลศาสตร์ควอนตัม ฯลฯ และมีผลงานตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับศาสนาและวิทยาศาสตร์หลายเล่ม เช่น The Art of Happiness, The Universe in a Single Atom, The Dalai Lama at MIT

นอกจากนี้ องค์ดาไลลามะก็ยังริเริ่มโครงการ "Science for Monks" ในอินเดีย และสถาบัน Mind & Life Institute ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์และพระร่วมกันทำงานวิจัยในแขนงที่วิทยาศาสตร์และศาสนาพุทธมีความเชื่อมโยงซ้อนทับกัน

หลังจากผลประกาศ ดาไลลามะกล่าวตอบรับอย่างถ่อมตนว่าเขาเป็นแค่พระธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น เกียรติยศของรางวัล Templeton Prize เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่เตือนให้ระลึกถึงผลงานอันเล็กน้อยที่เขาได้ทำให้กับมนุษยชาติ โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อยุติความรุนแรงและการสร้างเอกภาพบนความแตกต่างระหว่างศาสนาต่างๆ

ดาไลลามะถือเป็นมนุษย์คนที่สองที่ได้ทั้งรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ (ปี 1989) และรางวัล Templeton คนแรกที่ทำได้คือ แม่ชีเทเรซา ผู้ซึ่งได้รับรางวัล Templeton ในปี 1973 และรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 1979

อย่างไรก็ตาม การเข้ามายุ่งกับวิทยาศาสตร์ของดาไลลามะก็สร้างความไม่พอใจให้กับนักวิทยาศาสตร์บางคน ตัวอย่างเช่น ในปี 2005 ก็มีนักวิทยาศาสตร์กว่า 500 คนเข้าร่วมลงรายชื่อประท้วงที่ดาไลลามะมาปรากฏตัวในการประชุมของ Society for Neuroscience โดยอ้างว่าเป็นการลากเอาศาสนากับวิทยาศาสตร์มาปนกัน

ดาไลลามะจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พิธีมอบรางวัลจะจัดขึ้นที่วิหารเซนต์พอล ณ กรุงลอนดอน ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2012

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 31, 2016, 03:49:14 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Re: ดาไลลามะองค์ที่ 14 แห่งธิเบต จำอดีตชาติได้
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 31, 2016, 04:15:24 pm »



องค์ดาไลลามะที่ 14

องค์ดาไลลามะ คือ ตำแหน่งสูงสุดในประเทศธิเบต ซึ่งเป็นทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณและเป็นผู้นำทางการเมือง การปกครอง ทรงมีตำหนักโปตาลาและตำหนักนอร์บูลิงกาเป็นที่ประทับและเป็นสถานที่สำหรับประชุมคณะรัฐมนตรี ตำแหน่งดาไลลามะนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบันนี้นับเป็นองค์ที่ 14 ชาวธิเบตนับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายานซึ่งได้เผยแพร่เข้าสู่ประเทศธิเบตในราวพุทธศตวรรษที่ 9 – 10 ใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าจะเอาชนะ ศาสนาบอน ซึ่งเป็นศาสนาท้องถิ่นได้ ต่อมาชาวธิเบตก็หันมายอมรับหลักคำสอนในพุทธศาสนากันอย่างแพร่หลายในทุกระดับสังคม จึงทำให้เปลี่ยนจากเผ่าพันธุ์ที่ดุดันและชอบรบพุ่ง มาเป็นชาวพุทธผู้อารีย์และรักสงบ จนกระทั่งถูกประเทศจีนบุกเข้ายึดครอง องค์ดาไลลามะต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศอินเดียจนถึงทุกวันนี้

                ความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดและการเข้าทรงของชาวธิเบตนั้น เป็นความเชื่อที่ฝังอยู่ในสายเลือดของชาวธิเบตมานาน การกลับชาติมาเกิดชาวธิเบตเรียกว่า “ตุลกู” หมายถึงผู้ที่เลือกที่จะกลับมาเกิดใหม่ เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของตนต่อไปหรือเลือกที่จะมาเกิดเพื่อโปรดสัตว์เพื่อช่วยสัตว์โลก ให้พ้นทุกข์เช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์ ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางของพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่มุ่งปฏิบัติให้สำเร็จพระโพธิญาณ เพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ แต่ยังไม่ถึงนิพพาน เพื่อคอยโปรดสัตว์ผู้ยังมีทุกข์ให้พ้นจากสังสารวัฏ ทั้งๆที่สามารถนิพพานได้ นับเป็นการเสียสละที่น่ายกย่องยิ่งนัก ชาวธิเบตถือว่าการกลับชาติมาเกิดนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะในประเทศธิเบตมี “ตุลกู” คือผู้ที่กลับมาเกิดใหม่อยู่นับพันคน แต่ที่พิเศษไปกว่าตุลกูธรรมดา ก็คือการกลับชาติมาเกิดใหม่ขององค์ดาไลลามะหรือลามะชั้นสูงของธิเบต ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการ “อวตาร” มาเกิดก็ได้  ที่ผ่านมามีองค์ดาไลลามะและลามะชั้นสูงได้กลับชาติมาเกิดแล้วหลายท่าน

“ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเข้าสู่ทิเบตประมาณพุทธ ศตวรรษที่ 11 ในรัฐสมัยของกษัตริย์ซองต์เชน กัมโป (พ.ศ. 1151-1193) ทิเบตมีศาสนาอยู่ก่อนแล้ว คือศาสนาบอน (Bon) หรือ บอนโป ซึ่งมีความเชื่อในการถือโชคลางไสยศาสตร์ และเทพเจ้า พิธีกรรมบางอย่างน่ากลัว เพราะต้องมีการสละเลือดเพื่อเซ่นสังเวยแด่เทพเจ้า เหมือนในความเชื่อของทางอินเดียโบราณ” ผู้เขียนแสดงความเห็นแม้แต่ความเชื่อของชาวสยามเองก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนักเป็นที่น่าสังเกตว่า “พระพุทธศาสนามักจะเกิดขึ้นและเจริญรุ่งเรืองในประเทศที่เคยนับถือเรื่องโชคลาง ไสยศาสตร์ แม้แต่ในสยามประเทศเองการที่พระพุทธศาสนาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมินี้ได้ก็เพราะการผสมผสานระหว่างความเชื่อเก่ากับความเชื่อใหม่ การนับถือพระพุทธศาสนาไม่ได้ทำลายความเชื่อเดิม ชาวไทยยังคงสวดมนต์ไหว้พระพร้อมกับประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ไปด้วย บางแห่งพระสงฆ์กลายเป็นผู้เข้าทรงเสียเอง นี่อาจจะเป็นคุณลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของพุทธศาสนาคือการผสมผสานแนวคิดเดิมกับความเชื่อใหม่เหมือนกับการต่อกิ่งต้นมะม่วงของชาวสวน ในขณะที่มะม่วงต้นเดิมยังอยู่ แต่มีมะม่วงพันธ์ใหม่เกิดขึ้นที่ต้นมะม่วงต้นเดิม พระพุทธศาสนาในทิเบตก็เช่นเดียวกัน ความเชื่อเก่ายังมีอยู่แต่มีความเชื่อใหม่คือพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น



 “กษัตริย์ซองต์เซน กัมโป ของทิเบตมีพระมเหสี 2 พระองค์คือ เจ้าหญิง เวน เชงหรือบุ้นเช้งจากจีน และเจ้าหญิงภฤกฏเทวี จากเนปาล พระมเหสีทั้งสองเป็นพุทธศาสนิกชนได้นำเอาพระพุทธศาสนาเข้าไปด้วย ดังนั้นในยุคแรกพระพุทธศาสนาในทิเบตจึงเป็นการผสมระหว่างมหายายแบบจีน เนปาล และไสยศาสตร์ของทิเบต”ผู้ที่วางรากฐานของพระพุทธศาสนาในทิเบต คือท่านปัทมะสัมภาวหรือคุรุปัทมสัมภวะ(Padmasambhava) กับ ท่านศัณฑะรักขิต(สังฆรักขิต) ภิกษุจากแคว้นแคชเมียร์ ประมาณพุทธศักราช 1308-1363) ได้สร้างวัดแรกขึ้นชื่อวัดซัมเย การเผยแผ่พุทธศาสนาในยุคแรกเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนัก เพราะถูกผู้นิยมในศาสนาเก่าคือศาสนาบอนคอยขัดขวาง แต่มีพระทิเบตจำนวนหนึ่งได้เดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาทั้งจากจีนและอินเดียมีการแปลคัมภีร์เป็นภาษาทิเบตเป็นจำนวนมากทำให้คำสอนของพระพุทธศาสนาแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 เรื่อยมา พระพุทธศาสนาในทิเบตมีความเจริญและแตกเป็นนิกายต่าง ๆ 4 นิกาย คือ

1. นิกายญิงมาปะ (Rnin-ma-pa ) ให้กำเนิดโดยท่านคุรุปัทมะสัมภวะ ภิกษุชาวแค็ซเมียร์ กษัตริย์ตริซอง เด็ทเซ็น ได้อาราธนาไปวางรากฐานพระพุทธศาสนาในทิเบต ระหว่างพุทธศักราช (1308-1363) ท่านได้ตั้งคณะสงฆ์ชาวทิเบตขึ้น มีการแปลพุทธธรรมและบทบัญญัติต่างๆเป็นภาษาทิเบต เมื่อท่านมรณภาพแล้วได้มีคณาจารย์สืบต่อกันเรื่อยมา เป็นพุทธศาสนาแบบตันตระ (Tantra) สวมหมวกแดง เครื่องแต่งกายสีแดง

2. นิกายการยุดปะ ((Bka-rgyud-pa) ก่อตั้งโดยท่านนาโรปะ ( Naropa พ.ศ.1555-1642 ) ภิกษุชาวอินเดีย นิกายนี้นิยมสีขาวในการประกอบพิธีบางครั้งพระจะห่มผ้าสีขาว กำแพงวัด วิหารล้วนนิยมสีขาว จึงมักนิยมเรียกนิกายนี้ว่า นิกายขาว (White Sect) พระในนิกายนี้ที่โด่งดังมากที่สุดรูปหนึ่งคือท่านมิราเลปะ (Milarepa) ผู้ประพันธ์ A Hundred Thousand Songs) ซึ่งบางตอนของบทเพลงตามนี้ ร. บุญโญรส ได้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยในชื่อธรรมคีตาของมิลาเรปะ

3. นิกายศากยะ (Sa-skya-pa) ก่อตั้งโดยท่านอติษะ (Atisa พ.ศ. 1536-1593) ชาวอินเดีย นิกายนี้มีความเชื่อว่าสัจธรรมของพระโพธิสัตว์สามารถจะบรรลุได้ด้วยการเจริญสมาธิภาวนาตามลำดับขั้น ต้องรักษาศีลอย่างเคร่งครัดและหมั่นศึกษาพุทธธรรมอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังเน้นที่การประสานงานระหว่างอาจารย์ลูกศิษย์สัจธรรมจนกลายเป็นหนึ่งเดียว

4. เกลุกปะ (Dge-lugs-pa) ก่อตั้งโดยท่านซองขะปะ (Tsong kha-pa พ.ศ. 1890-1962)ภิกษุชาวทิเบต ซึ่งปฏิรูปมาจากคำสอนของท่านอติษะ แห่งนิกายศากยะ เมื่อเริ่มก่อตั้งเรียกว่าคาแดมปะ (Kha-dam-pa) ซึ่งเน้นหนักที่มายาศาสตร์ ท่านซองขะปะนักบุญชาวทิเบตได้ปฏิรูปนิกายนี้เสียใหม่ โดยเน้นที่ความเป็นเลิศทางศีลธรรมและสติปัญญา พระในนิกายนี้นิยมเรียกว่าพระหมวกเหลือง (เกี่ยวกับการจำแนกนิกายในทิเบต ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก Buddhism in Tibet โดย Donald S. Lopez, Jr. รวมพิมพ์ใน Companion Encyclopedia of Asian Philosophy พิมพ์ในปีคริสตศักราช 1997)

ผู้เขียนไม่แปลกใจว่าทำไมทิเบตจึงยอมรับพระพุทธศาสนานิกายตันตระก่อนนิกายอื่น เพราะนิกายตันตระ ออสติน แวดเดล (Austin Waddel ) ได้อธิบายตันตระไว้ในหนังสือพุทธศาสนาประวัติระหว่าง 2500 ปีที่ล่วงแล้วหน้า 251 ว่า “ลัทธิตันตระในพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากลัทธิพุทธ ผีสางเทวดา” ลักษณะพิเศษของตันตระคือเชื่อในเทพเจ้าและเทพี ชาวตันตระเชื่อว่าด้วยความโปรดปรานของเทพเจ้าจะทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุ “สิทธิ” หรือความสำเร็จได้ ซึ่งความเชื่อแบบนี้สอดคล้องกับความเชื่อดังเดิมของชาวทิเบตคือความเชื่อในอำนาจของเทพเจ้า ชาวทิเบตรับเอาพุทธศาสนานิกายตันนตระเพราะตรงกับความเชื่อแบบ ดั้งเดิมของพวกเขา เป็นการเสริมพลังอำนาจให้เข้าใกล้ตัวเทพเจ้ามากยิ่งขึ้น ดังนั้นตันตระซึ่งยังคงมีอิทธิพลต่อชาวทิเบตตลอดมา



นิกายที่มีอิทธิพลมากที่สุดคือนิกายเกลุกปะ ต่อมาในปีพุทธศักราช 2086 ผู้นำชาวมองโกลชื่อ อัลตานข่าน (Altan Khan) ได้มองเห็นความสำคัญของลามะในนิกายเกลุกปะ จึงได้สถาปนาผู้นำนิกาย เกลุกปะ ชื่อสอดนัมยาโส ประมุขสงฆ์องค์ที่ 3 ขึ้นเป็นดาไลลามะ แต่ให้มีผลย้อนหลังไปยังประมุขสงฆ์องค์ที่ 1คือเกดัน ทรัปปะ ดังนั้นคำว่า “ดาไลลามะ”(Dalai Lamas) จึงเริ่มต้นในปี 2121 และสืบต่ออำนาจเรื่อยมา ดาไลลามะที่มีอิทธิพลมากที่สุดคือองค์ที่ 5 พระนามว่า งาวัง โลซัง กยัตโส มีอายุระหว่างพ.ศ. 2158-2223 พระองค์เป็นทั้งนักปราชญ์และนักปกครอง ได้ทรงรวบรวมประเทศทิเบตให้เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งกษัตริย์มองโกล ซึ่งมีอำนาจปกครองทิเบตในขณะนั้น ได้มอบอำนาจให้ดาไลลามะเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองทิเบตอย่างเด็ดขาดทั้งฝ่ายราชอาณาจักรและศาสนจักร ทิเตจึงถือเป็นปีระเพณีสืบต่อกันมาว่า ดาไลลามะคือผู้ปกครองประเทศที่มีอำนาจสูง (การสถาปนาลามะ ความเป็นไปของคณะสงฆ์ในทิเบต ผู้สนใจศึกษาเพิ่มเติมได้จาก The Tibet : The Rise and Fall of a Monastic Tradition โดย Per Kvaerne รวมพิมพ์ใน World of Buddhism พิมพ์ในปีค.ศ.1984)

ปัจจุบันทิเบต มีดาไลลามะองค์ที่ 14 มีพระนามว่าจัมเฟล ลอบซัง เยเซ เท็นซิน กยัตโส (ชื่อเดิมคือลาโม ทอนดุป ลูกชายชาวนาแห่งหมู่บ้านตักเซอร์ แคว้นอัมโด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชายแดนระหว่างทิเบตกับจีน ทิเบตมีนายกรัฐมนตรี 2 ตำแหน่งคือลามะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และนายกรัฐมนตรีฆราวาสเป็นผู้นำทางการเมือง ส่วนดาไลลามะเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศที่ตัวเองต้องลี้ภัยในการเมือง มีรัฐบาลที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศของตน แต่ที่ทำการรัฐบาลตั้งอยู่ในเมืองธรรมศาลาหรือธรัมศาลา (Dharamsala ) ประเทศอินเดีย ในปี 2532 พระองค์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วย มีเพียงประเทศเดียวในโลกที่ประมุขของประเทศเป็นพระสงฆ์คือดาไลลามะแห่งทิเบต

การกลับชาติมาเกิดของดาไลลามะ เพราะเคยดูจากภาพยนตร์เรื่อง Little Buddha ดร. วังยัลได้อธิบายให้ฟังว่า “การกลับชาติมาเกิดเป็นความเชื่อที่ชาวทิเบตเชื่อถือกันมานาน บุคคลที่จะเป็นดาไลลามะจะถูกเรียกว่าลามะตุลกู (Lamas tulku)เป็นผู้มีพลังจิตสูง เมื่อมรณภาพไปแล้ว ย่อมกลับชาติมาเกิดอีกเพื่อช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นจากความทุกข์ พระองค์เป็นพระราชาและพระสังฆราชของทิเบต จะไม่ทอดทิ้งชาวทิเบตจึงต้องเวียนว่ายตายเกิดเพื่อทำหน้าที่ต่อไป ซึ่งเป็นเพราะพลังอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ดังนั้นองค์ดาไลลามะตั้งแต่องค์ที่ 1 จนถึงองค์ปัจจุบันจึงเป็นองค์เดียวกัน คือเปลี่ยนแปลงเพียงร่างกายส่วนวิญญาณคือดวงเดียวกัน”ทิเบตมีคณะผู้ค้นหาองค์ดาไลลามะโดยเฉพาะ ลามะชั้นสูงต้องตรวจสอบด้วยสมาธิชั้นสูงเพื่อหาสถานที่เกิดแห่งวิญญาณของดาไลลามะองค์ก่อนจุติ เมื่อพบแล้วจะทำการพิสูจน์โดยนำสิ่งของที่ดาไลลามะเคยใช้มาให้เลือก โดยปนไว้กับสิ่งของชนิดเดียวกันหลายๆอย่าง ถ้าเด็กเลือกได้ถูกก็ให้ตั้งสมุติฐานไว้ก่อนว่าคือองค์ดาไลลามะ บางครั้งต้องใช้เวลาค้นหาหลายปีจึงจะพบ ท่านซองโปลามะชาวอิตาเลี่ยนพูดแทรกขึ้นมาว่า “จะแน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นองค์ทะลไลามะกลับชาติมาเกิดจริงๆ”

ดร.วังยัลจึงชี้แจงต่อว่า “แน่ใจได้สิ เพราะเหตุผลง่ายๆว่า ถ้าไม่ใช่วิญญาณที่ระลึกชาติได้จริง จะไม่มีทางจดจำเรื่องราวในอดีตได้ จะต้องมีการเลือกที่ผิดๆถูกๆ เมื่อดาไลลามะสิ้นพระชนม์เด็กที่เกิดในช่วงนั้นหรือประมาณ 1-3ปี มีสิทธิ์เป็นดาไลลามะกลับชาติมาเกิด การค้นหาวิญญาณดาไลลามะในร่างใหม่ถือว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ เด็กที่ผ่านการคัดเลือกยังต้องเตรียมตัวอีกหลายปี ด้วยการให้การศึกษาอย่างเต็มรูปแบบภายใต้การควบคุมดูแลของลามะชั้นสูง ต้องฝึกงานทุกอย่างแม้แต่การเข้าร่วมฟังการประชุมคณะรัฐมนตรี”

ช่วงเวลาแห่งชีวิตก่อนที่จะได้รับการสถาปนาเป็นองค์ดาไลลามะมิใช่เรื่องง่าย วิชาที่ถูกบังคับให้เรียนตามบันทึกของดาไลลามะองค์ปัจจุบันท่านบันทึกไว้ในหนังสือ Freedom in Exile มีใจความตอนหนึ่งว่า “อาตมาจะตื่นนอนเวลา 6 นาฬิกาทุกเช้า แต่งตัวเสร็จสวดมนต์บำเพ็ญสมาธิ เวลา 7 นาฬิกาฉันอาหาร หลังจากนั้นเข้าเรียนช่วงแรก เมื่อเรียนอ่านได้แล้วจึงเรียนเขียน ท่องจำพระสูตรและคัมภีร์ 10 โมงเช้า เข้า

ร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรี แล้วกลับไปเรียนต่อที่ห้อง” ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกวันกว่าจะผ่านวัยเด็กไปได้คงต้องใช้ความอดทนเป็นพิเศษ


เกี่ยวกับหลักสูตรที่ดาไลลามะต้องเรียน เป็นหลักสูตรเดียวกันกับที่ลามะรูปอื่นใช้ศึกษาในระดับปริญญาเอก ท่านบันทึกไว้ว่า “หลักสูตรที่ต้องเรียนเป็นวิชาเอก 5 วิชา วิชาโท 5 วิชา วิชาเอกได้แก่ ตรรกศาสตร์, ศิลปและวัฒนธรรมทิเบต,ภาษาสันสกฤต,วิชาแพทย์และพุทธปรัชญา โดยเฉพาะวิชาพุทธปรัชญายังแบ่งเป็นรายวิชาย่อยอีกคือปรัชญาปารมิตา,มัธยามิกะ,วินัยบัญญัติ,อภิธรรมปิฎก,และประมาณทวิทยา วิชาโท 5 สาขาได้แก่ กาพย์กลอน,ดนตรีและการละคร,โหราศาสตร์,วากยสัมพันธ์และคำสมาส วิชาพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ในระบบการศึกษาของลามะในทิเบตคือวิภาษวิธี (Dialectic) ซึ่งใช้เป็นศิลปะในการตอบโต้ธรรมะ” (ประวัติและความเป็นมาของดาไลลามะองค์ปัจจุบัน ศึกษาได้จากหนังสือที่พระองค์นิพนธ์เองคือ Freedom in Exile)



เมื่ออ่านจากหนังสือที่องค์ดาไลลามะนิพนธ์เองแล้ว ต้องยอมรับว่าการกลับชาติมาเกิดแม้จะถือเป็นหลักการใหญ่ แต่การจัดการศึกษาในช่วงระยะเวลาต่อมาก่อนที่จะได้รับการสถาปนาเมื่อายุ 18 ปี นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า ผู้ที่จะเป็นผู้นำของทิเบตจึงต้องมีความรู้แทบทุกสาขาเทียบเท่าปริญญาเอก จึงไม่น่าแปลกใจที่พระพุทธศาสนาแบบทิเบตได้เผยแผ่ไปทั่วโลกได้ในเวลารวดเร็ว เพราะภูมิรู้ของลามะโดยเฉาะดาไลลามะองค์ปัจจุบันเป็นผู้มีความรู้ลึกซึ้งทั้งทางโลกและทางธรรม

ถึงจะมีความรู้และความสามารถขนาดไหน ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้ชาวทิเบตได้รับเอกราช จากจีน แม้แต่พระองค์เองก็กลายเป็นราชาและสังฆราชาที่ต้องลี้ภัยการเมืองอาศัยแผ่นดินของชาติอื่นเป็นที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2505 ร่วมเสพเคาะห์กรรมกับพลเมืองทิเบตที่ต้องจากมาตุภูมิกลายเป็นผู้ไร้แผ่นดิน แต่ไม่สิ้นชาติ เพราะทุกวันนี้ชาวทิเบตยังคงกู่ร้องหาอิสรภาพด้วยสันติวิธีตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา แม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายปีแล้วก็ตาม

เคราะห์กรรมของชาวทิเบตที่ต้องกลายเป็นผู้ไร้อิสรภาพ ต้องอพยพจากบ้านเกิดเมืองนอนมาอาศัยแผ่นดินของผู้อื่นอยู่ ท่านจิบน้ำชาที่รสชาติเริ่มจืดชืด ผู้เขียนจึงสั่งเด็กชาวเนปาลให้นำโค็กมาให้พอดื่มและหายเหนื่อยแล้วท่านวังยัล ก็เริ่มจะสาธยายชีวิตความเป็นอยู่ของชาวทิเบตในภารตะประเทศต่อไป แต่ท่านธูปเท็น ชองโป โบกมือขอให้พอก่อนพร้อมด้วยประโยคที่ชาวอิตาเลี่ยนและชาวโลกไม่เคยลืมเลือนว่า “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว” พวกเราจึงเข้าใจ และจบการสนทนากึ่งวิชาการบนดาดฟ้าอาคารหอวัฒนธรรมทิเบต ริมฝั่งแม่น้ำยุมนา ในขณะที่ดวงตะวันยามสายัณห์กำลังจะเลือนหายไปจากขอบฟ้าเบื้องปัจฉิมทิศ ฝูงนกกากำลังกลับรวงรังเหนือสายน้ำที่กำลังเอื่อยไหล หลังจากอ่อนล้าจากการแสวงหาอาหาร คงจะได้พักผ่อนเสียที ผู้เขียนรู้สึกอิจฉานกกาที่ยังมีรวงรังให้หวนกลับ แต่ศากยบุตรรูปนี้ไร้รัง เพราะต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนมาร่อนเร่พเนจรเหมือนนกจากรัง แฝงตัวอยู่ในท่ามกลางของผู้คนที่แตกต่างทางวัฒนธรรม พูดกันคนละภาษา อาหารการกินมีรสชาติที่ไม่ค่อยจะถูกลิ้น แต่ยังดีที่มีร่องรอยแห่งพระพุทธศาสนาให้ศึกษาผ่านวัฒนธรรมที่แตกต่างนั่นเอง

ดร.ลอบชัง วังยัล จบการสนทนาด้วยประโยคที่น่าคิดว่า “เวลาที่มนุษย์มีอิสรภาพมักจะมองไม่เห็นคุณค่าของอิสรเสรี แต่เมื่อใดที่คุณเป็นผู้ลี้ภัยจึงจะเห็นคุณค่าของอิสรภาพว่ามีคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใด ทุกวันนี้ชาวทิเบตประมาณหกล้านคน ยังคงคิดอยู่เสมอว่าจีนจะใจกว้างยอมให้ทิเบตปกครองตนเองโดยเสรี เมื่อนั้นพวกเราชาวทิเบตคงจะมีประเทศเป็นของตัวเองเสียที ”

ในรอบหลายปีที่ผ่านมาองค์ดาไลลามะยังคงเดินทางพบปะผู้นำประเทศต่างๆทั่วโลก แม้จะมีนัยแอบแฝงทางการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่มีผลตามมาคือชาวโลกได้รู้จักพระพุทธศาสนามากขึ้น และมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงหลายท่านหันมานับถือพระพุทธศาสนาตันตรยานแบบทิเบต หากจำไม่ผิดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีจะมีงานใหญ่เฉลิมฉลองในกลุ่มชาวทิเบตที่เมืองธรรมศาลา อินเดีย ในช่วงเวลานั้นจะมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงจากทุกมุมโลกเดินทางมาร่วมงาน

จาก http://supattrapanyabut.blogspot.com/?view=classic
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...