ผู้เขียน หัวข้อ: พระสูตรเว่ยหล่าง ข้อถกเถียง  (อ่าน 1486 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
พระสูตรเว่ยหล่าง ข้อถกเถียง
« เมื่อ: สิงหาคม 02, 2016, 03:44:42 pm »


พระสูตรเว่ยหล่าง ข้อถกเถียง..( 1 )

สำหรับผู้สนใจพระพุทธศาสนาแบบจีน คงรู้จักพระสูตรนี้ดี ( สูตรเว่ยหล่าง : 六祖壇經 ) โดยเฉพาะผ่านการแปลจากฉบับภาษาอังกฤษโดยท่านพุทธทาสภิกขุนับแต่ปี พ.ศ.2496 ( ค.ศ. 1953 ) จากพากย์อังกฤษของนายหวงเม่าหลิน ( 黄茂林 ค.ศ.1886-1933) โดยต้นฉบับเป็นการรวบรวมของนายติงฝูเป่า ( 丁福保 ค.ศ.1874-1852 )

 

ความเป็นมาโดยคร่าวๆของคัมภีร์เว่ยหล่าง

ท่านฮุ่ยเหนิง ( 慧能ค.ศ.638-713 ) หรือที่คนไทยรู้จักในนามเว่ยหล่าง ( ที่อ่านเว่ยหล่างเพราะใช้สำเนียงจีนกวางตุ้ง ชื่อของท่านมีเขียนอยู่ 2รูปแบบ คือ ฮุ่ย 慧 ที่หมายถึง “ปัญญา” กับ 惠ที่แปลว่า “ความดีงาม” แต่เป็นที่เชื่อได้ว่า สองคำนี้ใช้แทนกันได้ และ ให้ความหมายเดียวกันในอดีต โดยเฉพาะฉบับตุนหวง ) เกิดในสมัยราชวงศ์ถัง ปี ค.ศ.638 ในดินแดนทางใต้ของประเทศจีน เดิมมีอาชีพตัดฟืนขาย กระทั่งขณะอายุ 22 ปีได้ยินวัชรสูตร ( “จินกังจิง” 金刚经 )เกิดความสนใจในพระพุทธศาสนา จึงดั้นด้นไปกราบตัวเป็นลูกศิษย์ท่านหงเหริ่น ( 弘忍 ค.ศ.602-675 ) ซึ่งขณะนั้นได้ชื่อว่าเป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ 5 ในนิกายเซ็น ในพระสูตรนี้เล่าไว้ว่า ระหว่างอยู่ในสำนักท่านหงเหริ่น ท่านได้แต่งโศลกที่ได้รับการยอมรับ จนตามตำรายังกล่าวไว้ถึงว่า ให้สืบทอดเป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ 6 ( ผ่านการมอบบาตรและจีวร ) ทว่า สิ่งนี้กลับถือเป็นทุกขลาภของท่าน เพราะยังผลให้ท่านต้องลี้ภัยลงมาทางใต้ จนได้เผยแผ่ธรรมในแดนใต้จวบจนสิ้นอายุขัย สิริอายุ 75 พรรษา

ท่านฮุ่ยเหนิงถือได้ว่าเป็นต้นคณาจารย์ของพุทธเซ็นสายใต้ ( เรียกตามภูมิประเทศ ) หรือ “สายฉับพลัน” ( ตุ้นไพ่ 顿派 :Sudden School ) อันนี้ว่าตามหลักคำสอน ในขณะที่กลุ่มเดิมที่อยู่กับท่านอาจารย์หงเหริ่น นำโดยท่านเสินซิ่ว หรือรู้จักในนาม ชินเชา ( 神秀 ค.ศ.605-706 ) ได้สืบต่อคำสอนแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” หรือ “ตามลำดับขั้น” ( เจี้ยนไพ่ 渐派: Gradual School ) หรือเรียกอีกอย่างว่าพุทธเซ็นสายเหนือ ( ประวัติของท่านเสินซิ่วเองก็ถือได้ว่า “ไม่ยิ่งหย่อน” กว่าท่านฮุยยเหนิงแต่ใดเลย บางตำราก็อ้างว่าท่านได้รับการสืบทอดตำแหน่งสังฆปรินายกจากท่านหงเหริ่นเช่นกัน ในสมัยท่าน จักพรรดินีบูเช็คเทียนให้ความศรัทธาในตัวท่านเสินซิ่วเป็นอันมาก )

ในวงการเซ็นจีนถึงกับมีประโยคว่า “ใต้เหนิงเหนือซิ่ว” ( 南能北秀)


ในส่วนของคัมภีร์นี้ รู้จักกันโดยย่อว่า “ถันจิง” 坛经 ( “ถัน” แปลว่า บัลลังค์ ,แท่น ,อาสนะ “จิง” แปลว่า คัมภีร์, พระสูตร ) ต้องถือว่าเป็นผลิตผลของพุทธศาสนาแบบจีนโดยแท้ ( Made in China ) อีกทั้งชาวเซ็นทั่วโลกยังเคารพในพระสูตรนี้อย่างมาก น่าจะได้บันทึกขึ้นในช่วงปลายชีวิตของท่านฮุ่ยเหนิง ( ใช้คำว่าบันทึก เพราะเป็นการจดและจำของหนึ่งในศิษย์ท่านนามว่า ฝาไห่ 法海) ฉบับที่คงเหลืออยู่มีอยู่หลากหลาย ท่านพระอาจารย์ยิ่นซุ่น ( 印顺导师 ค.ศ.1906-2005 พระสงฆ์ที่เป็นเสาหลักในวงการพุทธศาสนาไต้หวันตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา อ่านประวัติท่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ http://en.wikipedia.org/wiki/Yin_Shun ) ได้แบ่งคร่าวๆ ไว้ 4 เวอร์ชั่นหลัก ตามความเก่าแก่

1. ฉบับตุนหวง (敦煌本) ประมาณปี ค.ศ.780-800 ถือได้ว่าเป็นฉบับที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีอยู่  แต่นักวิชาการทั่วไปยังลงความเห็นว่า “ยังไม่ใช่ฉบับแรกสุด” โดยฉบับนี้ น่าจะได้รับการแก้ไขโดยลูกศิษย์ของท่านฮุ่ยเหนิง นามว่า เสินฮุ่ย (神会 ค.ศ.668-760)พร้อมคณะ ( สำนักเหอเจ๋อ荷泽)

2. ฉบับโบราณ (古本) ได้รับต้นแบบมาจากคัมภีร์ “บันทึกเสริมประวัติเหล่าคณาจารย์ของเฉาซี ( 曹溪大师别传)” หรือรู้จักกันในนาม “เฉาซีหยวนเปิ่น” ( 曹溪原本) คาดว่าถูกปรับเปลี่ยนแก้ไขโดยสายของสมณะเต้าอี ( 道一 ค.ศ.709-788 )สำนักหงโจว洪州 ฉบับนี้จะเป็นหลังปี ค.ศ.800

3. ฉบับฮุ่ยซิน (惠昕) รวบรวมโดยสมณะฮุ่ยซิน สมัยต้นราชวงศ์ซ่งราวปี ค.ศ.967 โดยฉบับนี้ต่อมา น่าจะเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของฉบับที่ถ่ายทอดเข้าไปในญี่ปุ่นและเป็นที่รู้จักดีในเวลาต่อมาว่า ฉบับ Koshoji

4. ฉบับจื้อหยวน (至元) หรือพอจะเรียกได้ว่าฉบับ จงเป่า ( 宗宝 ) ราชวงศ์หยวน ปี ค.ศ.1271 ฉบับนี้ เป็นที่รู้จักกันทั่วไป และ “ฮิต” มากสุด โดยนายติงฝูเป่านำฉบับรวบรวมในราชวงศ์หมิงเป็นต้นแบบ  ฉบับที่ 4 นี้ เป็นที่สำนวนรู้จักกันทั่วไป ใช้กันมากที่สุดหรือว่าง่ายๆ ฉบับที่ท่านพุทธทาสแปลเป็นพากย์ไทย



พระสูตรเว่ยหล่าง ข้อถกเถียง..( 2 )


ประเด็นข้อถกเถียงตลอดเกือบศตวรรษที่ผ่านมา

สูตรเว่ยหล่าง จริงหรือเก๊?

ปัญหาหลัก และ ถือว่าเป็นประเด็นมากที่สุด คือ คัมภีร์นี้ถูกกล่าวหาว่าสร้างขึ้นโดย เสินฮุ่ย และคณะของท่าน?

ผู้จุดประเด็นนี้คือปราชญ์ชาวจีนนาม หูซื่อ ( 胡适 ค.ศ.1891-1962 ) โดยเริ่มแต่ปี ค.ศ.1929 ในบทความของท่านได้สรุปว่าพระสูตรนี้ หลักๆแล้วถูกแต่งโดยเสินฮุ่ย ( ในประวัติ หูซื่อได้มีโอกาสค้นคว้าจากคัมภีร์ต่างๆ โดยเฉพาะระหว่างการเดินทางไปปารีส และ อังกฤษ ซึ่งคัมภีร์โบราณของจีนถูกเก็บไว้ในห้องสมุดต่างๆ อีกทั้งผ่านการถกกับนักวิชาการในญี่ปุ่นหลายท่าน ) เหตุผลสำคัญของหูซื่ออันเนื่องด้วยการแข่งขันระหว่างพุทธเซ็นฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ในยุคนั้น ( มีเหตุผลอื่นอีกบ้างประปราย แต่หลักๆแล้ว ว่าด้วยเรื่องนี้ )

ต้องยอมรับว่า จากสถานะภาพของตัวหูซื่อเอง เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความรู้ความสามารถมาก อีกทั้งตัวท่านเป็นผู้ที่นิยม “หลักฐาน” และมีพื้นฐานการวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการตะวันตก

( อ่านประวัติโดยย่อของท่านหูซื่อได้ที่นี่http://en.wikipedia.org/wiki/Hu_Shih )

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ถกเถียงกันตลอดครึ่งศตวรรษหลังที่ผ่านมา ในหมู่ผู้สนใจพุทธนิกายเซ็น เฉพาะอย่างยิ่งในปลายยุค '60 นาย เฉียนมู่ ( 钱穆) กับ นายหยังหงเฟย ( 杨鸿飞)ได้ใช้หนังสือพิมพ์ไต้หวันจงยัง ( 中央日报 ) เป็นสังเวียนในการส่งบทความโต้แย้ง เรื่องนี้เป็นชนวนเหตุให้ท่านพระอาจารย์ยิ่นซุ่นเขียนหนังสือเรื่อง “ประวัตินิกายเซ็นในประเทศจีน” ( 中国禅宗史 ) ในช่วงต้นยุค '70 หนังสือเล่มหนากว่า 500 หน้านี้ ท่านได้สืบประวัติความเป็นมาของพุทธศาสนาเซ็นนับจากการเดินทางมาประเทศจีนนับแต่ท่านโพธิธรรม หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม ตั๊กม้อ ( จีนกลางอ่าน “ผูถีต๋าโม” 菩提达摩 ค.ศ.?-536 บางแห่งก็ว่า ท่านมรณะภาพปี 528 ) พร้อมทั้งแฝงนัยในการไม่เห็นด้วยกับท่านหูซื่อ ในเรื่องที่ว่าสูตรเว่ยหล่างเป็นคัมภีร์ที่สร้างขึ้นมาภายหลังโดยลูกศิษย์ โดยใช้หลักฐานในการโต้แย้งและให้ความเห็นในเชิงบูรณาการ วิเคราะห์ประเด็นนี้อย่างมีหลักการ ทั้งหยิบยกหลักฐานและข้อมูลเชิงวิชาการในการหักล้าง การตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ได้ยุติข้อถกเถียงในหัวข้อดังกล่าวพอควร จากผลงานชิ้นนี้ ท่านพระอาจารย์ยิ่นซุ่นได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยไตโช ของญี่ปุ่น คล้อยหลังต่อมาไม่นาน ท่านพระอาจารย์ยิ่นซุ่นยังได้เขียนบทความ “เสินฮุ่ยกับถันจิง วิพากย์ปัญหาสำคัญของประวัติเซ็นโดยหูซื่อ” ( 神会与坦经-评胡适禅史的一个重要问题 ) เนื้อหาภายในได้ชี้ถึงข้อผิดพลาดต่างๆในสมมุติฐานของท่านหูซื่ออย่างตรงไปตรงมา กระทั่งได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย


ยังมีประเด็นต่างๆในพระสูตรซึ่งเป็นข้อถกเถียง เช่นเรื่องการต้องหนีลงใต้ของท่านฮุ่ยเหนิงว่า เป็นอย่างที่เล่าไว้ในคัมภีร์ หรือ เกิดจากปัญหาการเมืองการกฎหมายในยุคนั้น (เรื่องการย้ายถิ่นฐานของท่านจากใต้มาเหนือ ) เช่น บางท่านว่าไม่มีเรื่องการสืบทอดตำแหน่ง โดยยกว่าในคัมภีร์ในยุคเดียวกันไม่ปรากฏการอ้างอิง บ้างถึงกับว่า ถ้าสำคัญขนาดนั้น ไม่ปรากฏว่าท่านเสินฮุ่ยนำบาตรและจีวรซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญออกมาแสดงในระหว่างการแข่งขันกับ

ทางฝ่ายเหนือในเวลาต่อมา ( ประเด็นนี้ ท่านพระอาจารย์ยิ่นซุ่น ไม่ยอมรับ ) , เรื่องที่ว่าท่านไม่รู้หนังสือนั้นจริงหรือ?

( หลายท่านไม่เชื่อว่าคนมีการศึกษาต่ำสามารถฟัง วัชรสูตร ได้เข้าใจอีกทั้งต่อมาแต่งยังประพันธ์โศลก และ สาธยายธรรมได้ลึกซึ้ง ), หรือในเรื่องคำพยากรณ์ในท้ายเรื่อง....ฯลฯ ซึ่งรายละเอียดคงต้องละไว้



กระนั้น มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และไม่ควรให้ข้ามไป ได้แก่โศลกที่แต่งไว้โดยท่านเสินซิ่ว และ ท่านฮุ่ยเหนิง อันเป็นที่รู้จักกันดี โดยเทียบเคียงระหว่างเล่มที่เก่าแก่ที่สุด ( ตุนหวง ) กับเล่มที่แต่งเติมขึ้นในสมัยหลัง ( ฉบับที่รู้จักกับแพร่หลาย และแปลไทยโดยท่านพุทธทาส )

โศลกของ ท่านเสินซิ่ว หรือรู้จักในนาม ชินเชา ( 神秀 ค.ศ.605-706 )

สำนัก ค่อยเป็นค่อยไป ( บางท่านใช้คำว่า “เชื่องช้า” ซึ่งผมว่า ดูไม่ให้ความยุติธรรมเท่าใดนัก )


จากฉบับตุนหวง มีข้อแตกต่างจากฉบับหลังเพียงเล็กน้อย ตรงนี้ไม่เป็นที่วิพากย์กันนัก

1.ในท่อนสี่ จากอักษร “โม่” 莫ที่ถูกเปลี่ยมาเป็น “วู่” 勿 ซึ่งทั้งสองคำแปลว่า “ไม่” เหมือนกัน

2.ในท่อนสี่ จากอักษร “โหย่ว” 有ที่ถูกเปลี่ยนมาเป็น “เหย่อ” 惹 ซึ่งคำแรกแปลว่า “มี,เกิด” กับคำหลังมีความหมายว่า “ก่อให้เกิด ( ในเชิงลบ )” ซึ่งไม่ทำให้รูปประโยคแปรเปลี่ยนในเชิงความหมาย

ประโยคฉบับตุนหวง ( แปลไทยโดย ผู้เขียนบทความนี้)

กายคือต้นโพธิ์ 身是菩提樹,

ใจเสมือนกระจกเงาใส 心如明鏡臺。

เพียรหมั่นเช็ดถูเป็นอาจิณ 時時勤拂拭,

เพื่อมิให้เกิดฝุ่นละออง 莫使有塵埃。



ประโยคฉบับหลัง ( แปลไทยจากภาษาอังกฤษโดยท่านพุทธทาส )

กายของเราคือต้นโพธิ์ 身是菩提樹,

ใจของเราคือกระจกเงาอันใส 心如明鏡臺。

เราเช็ดมันโดยระมัดระวังทุกๆ ชั่วโมง 时时勤拂拭,

และไม่ยอมให้ฝุ่นละอองจับ 勿使惹塵埃。




โศลกของ ท่านฮุ่ยเหนิง หรือรู้จักในนามเว่ยหล่าง ( 惠能 หรือ 慧能 ค.ศ.638-713 )

สำนัก รวดเร็วฉับพลัน


ในส่วนนี้ต่างหาก ที่เกิดปัญหาถกเถียงกันมาก เหตุด้วยมีข้อแตกต่างกันค่อนข้างมากกับฉบับหลัง

1.ในฉบับตุนหวง กลับปรากฏถึง 2 โศลกพร้อมกัน และทั้งสอง กลับมีความแตกต่างในระดับหนึ่ง

2.ท่อน 3 มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยฉบับหลังประโยคที่ว่า “เดิมแล้ว ไร้ซึ่งทุกสิ่ง” ( ท่านพุทธทาสใช้ว่า “เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว” จากประโยคภาษาอังกฤษที่ว่า Since intrinsically it is void ) ไม่ปรากฏในโศลกเดิม ซึ่งใช้แตกต่างกันไป ดังนี้


ประโยคฉบับตุนหวง ( แปลไทยโดย ผู้เขียนบทความนี้ )

เดิมไร้ซึ่งต้นโพธิ์ 菩提本无樹,

ทั้งไม่มีกระจกเงาใส 明鏡亦非臺。

พุทธภาวะสะอาดบริสุทธิ์ตลอดเวลา佛性常清淨,

แล้วจะมีฝุ่นละออง ณ.ที่ใด 何處有塵埃。



ใจคือต้นโพธิ์ 心是菩提樹,

กายดั่งกระจกเงาใส 身為明鏡臺。

เดิมแล้วกระจกใสสะอาดบริสุทธิ์ 明鏡本清淨,

ฝุ่นละอองจะจับลงที่ใด 何處染塵埃。



ประโยคฉบับหลัง ( แปลไทยจากภาษาอังกฤษโดยท่านพุทธทาส )

ไม่มีต้นโพธิ์ 菩提本无樹,

ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด明鏡亦非臺。

เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว 本来无一物

ฝุ่นจะลงจับอะไร何處惹塵埃。



ตรงนี้ ผู้เขียนบทความนี้ ขอละไว้ให้ท่านผู้อ่านวินิจฉัยกันเอง ทั้งในกรณีนี้เป็นเรื่องนามธรรมชั้นปรมัตถะ

การแปลของผู้เขียน พยายามที่จะแปล “ตรงตัว” รูปศัพท์ มากกว่าใส่สำนวน เพื่อมิให้เกิดปัญหาในเชิง “การตีความ” จนเกินไป อนึ่ง สำหรับผู้ที่อ่านภาษาอังกฤษได้ อาจหาอ่านเพิ่มเติมได้ในลิ้งค์ต่อจากนี้ แม้แต่ผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษเอง ก็มีความเห็นที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก


ท่านที่ได้มีโอกาสอ่านเทียบเคียงกันทั้งสองฉบับ จะเห็นข้อแตกต่างในหลายจุด โดยเราต้องให้น้ำหนักไปที่ฉบับตุนหวง ที่เก่าแก่กว่าฉบับใดๆ

( เรื่องของถ้ำตุนหวงนี่น่าสนใจมาก เพราะหลังจากการขุดค้นในต้นศตวรรษที่แล้ว ค้นพบเอกสารในยุคราชวงศ์ถังและยุคต่อมาจำนวนมากมาย ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์จีนในแง่มุมต่างๆ เบื้องต้น แนะนำให้เข้าเว็บอย่างเป็นทางการของที่นี่ก่อนครับ http://www.dunhuangcaves.org/ )


สำหรับผู้อ่านภาษาอังกฤษ

http://www.thezensite.com/ZenTeachings/Translations/Platform_Sutra_Yampolsky.pdf

ฉบับแปลอังกฤษของ Philip B.Yampolsky

*ผมไม่แน่ใจว่าเจ้าของเว็บเค้าขอเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเปล่า เล่นสแกนเป็นหน้าอย่างนี้ ...ถือว่าเป็นฉบับภาษาอังกฤษที่แปลจากต้นฉบับตุนหวงเป็นเล่มแรกๆ พากย์อังกฤษ..แต่มีนักวิชาการชาวจีนไม่ค่อยเห็นด้วยกับการแปลของท่านในหลายจุด อย่างไรก็ดี นับเป็นพากย์อังกฤษที่สำคัญมากฉบับหนึ่งในวงผู้ศึกษาพระสูตรเว่ยหล่าง

http://www.angelfire.com/realm/bodhisattva/platform-sutra.html

http://zen.thetao.info/read/platform.htm

*ฉบับหลัง มีการปรับแต่งสำนวนภาษาอังกฤษนิดหน่อย หลังจากอ่านเทียบกับสำนวนเดิมของ นายหวงเม่าหลิน

http://www.sinorama.com.tw/en/show_issue.php?id=200459305064e.txt&table=2&h1=About%20Taiwan&h2=Religion

*ข่าวการมรณะภาพของท่านพระอาจารย์ยิ่นซุ่น ซึ่งในเนื้อหา ถึงกับเทียบเคียงความสำคัญของพระอาจารย์กับท่านไตรปิฎกจารย์ ( ถังซำจั๋ง 唐三藏 “玄奘”ค.ศ. 600-604 )

สำหรับผู้อ่านภาษาจีนได้

http://ccbs.ntu.edu.tw/BDLM/sutra/chi_pdf/sutra19/T48n2007.pdf

*ฉบับตุนหวง

http://www.fzrj.com/dszz/read-database=yinshun&book=es59&innercode=1.htm

*หนังสือของท่านพระอาจารย์ยิ่นซุ่น เรื่องประวัตินิกายเซ็นในจีน 中国禅宗史

http://www.yfta.net/view.asp?xxid=341

ลิ้งค์นี้เทียบเคียงการแปลโศลกดังกล่าวจากจีนเป็นอังกฤษครับ น่าสนใจถ้าใครอ่านจีนออก

http://zbohy.zatma.org/Dharma/zbohy/chinese_text/book.phtml?_file_dir=platform&_page_file=1_5

*หน้านี้ลองคลิกที่แต่ละตัวอักษรดู...น่าสนใจครับ


สำหรับผู้สนใจฉบับที่ท่านพุทธทาสแปล

http://www.mahayana.in.th/tmayana/Wei-Lang.html



ในหมู่นักวิชาการ โดยมากแม้เห็นพ้องกันว่า โศลกนี้ไม่ได้แต่งขึ้นโดยท่านฮุ่ยเหนิง
 แต่โดยทั่วไปจะยอมรับว่าเป็นหลักการของสายความคิดของท่านจริง มีบางท่านเลยไปถึงว่า
แม้แต่โศลกของท่านเสินซิ่วก็ไม่ใช่ของจริง ( ท่านที่ว่านี้คือ เริ่นจี้ยวี่ 任继愈 ผู้เชี่ยวชาญทางพุทธศาสนา
และปรัชญาจีน อดีตเคยดำรงค์ตำแหน่งประธานหอสมุดแห่งชาติของประเทศจีน ) มิพักต้องกล่าวถึงท่านหูซื่อเอง
 ยิ่งปฏิเสธความน่าเชื่อถือของโศลกทั้งสองนี้อย่างสิ้นเชิง แม้แต่พระอาจารย์ยิ่นซุ่นก็เสนอความเห็นว่า
น่าจะเป็นโศลกที่ประพันธ์ขึ้นโดยเสินฮุ่ย ภายหลัง

การยกประเด็นนี้ของท่านหูซื่อก่อให้เกิดการถกเถียงถึงขนาดสั่นสะเทือนถึงความน่าเชื่อถือของพระสูตรนี้ 
ถึงแม้ว่า ต่อมาจะพบข้อผิดพลาดในบางจุด และสามารถคลี่คลายได้โดยมากในเวลาต่อมา กระนั้น
หลายฝ่ายก็ยังเห็นคุณูปการของท่านในการหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจ
ทั้งยังก่อให้เกิดความตื่นตัวในวงการพุทธศาสนาในจีน ( โดยเฉพาะไต้หวัน ) และญี่ปุ่นอย่างดีเยี่ยม

สรุปในเรื่องที่ว่า “จริงหรือเก๊” นั้น เราอาจกล่าวได้ว่า จากคัมภีร์ทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่
ต้องยอมรับว่ามีการตกแต่งเสริมเติมบ้างจากคณาจารย์รุ่นหลัง โดยเฉพาะท่านเสินฮุ่ย
ทว่า ในเรื่องโดยเนื้อหาและหลักการในพระสูตรนี้ เมื่อเทียบเคียงจากหลักฐานต่างๆแล้ว
 กลับไม่พ้องและแตกต่างจากท่านเสินฮุ่ยอย่างสิ้นเชิง ฉะนั้นสมมุติฐานของท่านหูซื่อที่ว่าพระสูตรน
 “สร้าง” ขึ้นโดยท่านเสินฮุ่ยและเหล่าลูกศิษย์นั้น ดูจะตกไปในหมู่ผู้ศึกษาพุทธศาสนารุ่นหลัง
แต่ประเด็นนี้ ยังคงอยู่เป็นตำนานหน้าสำคัญของประวัติการศึกษานิกายเซ็น
โดยเฉพาะกับพระสูตรที่เรียกได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดระดับนี้



พระสูตรเว่ยหล่าง ข้อถกเถียง..( 3 )


ปิดท้าย

ในราชวงศ์ถัง พระพุทธศาสนาแบบอินเดียได้เปลี่ยนกลายเป็นแบบจีนแท้ในยุคนี้ จนถึงขีดสุดในทุกๆด้าน ทั้งประชาชนยังให้การสนับสนุน ( พระถังซำจั๋งเอง ก็นับว่าเป็นอาจารย์ร่วมสมัยกับท่านหงเหริ่น )

ท่านพระอาจารย์ยิ่นซุ่นมองการวิวัฒนาการดังกล่าวในเชิงบูรณาการ เป็นพลวัตที่มีการพัฒนาขึ้นในตัวมันเอง มากกว่าจะมองว่าเซ็นนั้นเกิดขึ้นจากคณาจารย์องค์ใดรูปหนึ่งรูปใดไม่

วิธีการแบบท่านเสินซิ่วที่เดินตามรูปแบบโดยเริ่มจากสมถะกรรมฐาน ( สมาธิ ) เพื่อเป็นบาทฐานในการเดินวิปัสสนา ( ปัญญา ) นั้นก็ถูกในด้านหนึ่ง ในขณะที่ของท่านฮุ่ยเหนิงดำเนินทางลัดโดยการเจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวันนั้น ก็เป็นจริงอีกด้านหนึ่ง ซึ่งหากเรามองด้วยใจเป็นกลางแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีแสดงไว้ในพระสูตรเดิมต่างๆ แม้ในพระบาลีของพุทธเถรวาทเราทั้งสิ้น

ส่วนตัวผู้เรียบเรียงมิได้ข้องใจในหลักธรรมที่แสดงอยู่ในพระสูตร ( อาจาริยวาท ) โดยแม้จะเป็นผู้นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท แต่ก็ยอมรับว่า พระสูตรนี้มีความสอดคล้อง ( แม้บางเรื่องเอง ก็ยากแก่การตีความ ) กับพุทธดั้งเดิม โดยเฉพาะในเรื่องหลักการในการปฏิบัติธรรม ( กระนั้น ต้องขอแสดงความเคารพท่านพุทธทาสที่กล่าวเตือนในคำชี้แจงที่ให้ไว้ในปี พ.ศ. 2496 ว่า

“เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ มีเรื่องที่จะต้องทราบกันเสียก่อนในเบื้องต้นอยู่ 2 ข้อ

ข้อแรก หนังสือเล่มนี้จะไม่เป็นที่เข้าใจได้สำหรับผู้อ่านที่ยังไม่เคยศึกษาทางพุทธศาสนามาก่อนเลย, มันไม่ใช่หนังสือเล่มแรกสำหรับผู้ริเริ่มการศึกษาพุทธศาสนา. อย่างน้อยที่สุดผู้ที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ แม้จะไม่เคยอ่านหนังสือของทางฝ่ายมหายานมาบ้างแล้ว ก็ควรจะได้เคยศึกษาศึกษาหลักแห่งพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมาบ้างพอสมควรแล้ว จนถึงกับ จับใจความได้อย่างใดอย่างหนึ่งว่า พุทธศาสนาที่ตนศึกษาแล้วนั้นมีหลักอย่างไร หรือวิธีปฏิบัติอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ได้ โดยเฉพาะ. และอีกทางหนึ่งสำหรับ.ผู้ที่เคยศึกษาแต่ฝ่ายเถรวาทมาอย่างเคร่งครัด และยังแถมยึดถือทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งไว้อย่างเหนียวแน่นนั้น อาจจะมองไปเห็นว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ผิดหลักพระพุทธศาสนาเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือเป็นสิ่งที่น่าอันตรายไปอย่างยิ่ง ไปก็ได้. ทั้งนี้ เพราะเหตุที่ หลักคิด และ แนวปฏิบัติ เดินกันคนละแนว เหมือนการเดินของคนที่เดินตามทางใหญ่ที่อ้อมค้อม กับคนที่เดินทางลัด หรือถึงกับดำดินไปผุดขึ้นในที่ที่ตนต้องการจะให้ไปถึงเสียเลย ฉันใดฉันนั้น.

ข้อที่สอง ผู้ที่อ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความสนใจ ความทราบไว้เสียก่อนว่า หลักนิกายเซ็นและโดยเฉพาะของพระสังฆปรินายกชื่อ เว่ยหล่าง นี้ นอกจากจะเป็นวิธีการที่ลัดสั้นแล้ว ยังเป็นวิธีปฏิบัติที่อิงหลักธรรมชาติทางจิตใจของคนทั่วไป แม้ที่ไม่รู้หนังสือ หรือไม่เข้าใจพิธีรีตองต่างๆ จึงเป็นเหตุให้ลัทธินี้ถูกขนานนามว่า "ลัทธิพุทธศาสนาที่อยู่นอกพระไตรปิฎก" หรืออะไรอื่นทำนองนี้อีกมากมาย. ที่จริง ผู้ที่จะอ่านหนังสือนี้ ควรจะได้รับการชักชวนให้ลืมอะไรต่างๆที่เคยยึดถือไว้แต่ก่อนให้หมดสิ้นเสียก่อน จึงจะเป็นการง่ายในการอ่านและเข้าใจ; โดยเฉพาะก็คือ ให้ลืมพระไตรปิฎก ลืมระเบียบพิธีต่างๆทางพุทธศาสนา ลืมความคิดดิ่งๆด้านเดียว ที่ตนเคยยึดถือ กระทั่งลืมความเป็นพุทธบริษัทของตนเสีย คงเอาไว้แต่ใจล้วนๆของมนุษย์ ซึ่งไม่จำกัดว่าชาติใดภาษาใด หรือถือศาสนาไหน เป็นใจซึ่งกำลังทำการคิดเพื่อแก้ปัญหาที่ว่า "ทำอย่างไร จิตของมนุษย์ทุกคนในลักษณะที่เป็นสากลนี้ จักหลุดพ้นจากความบีบคั้นหุ้มห่อพัวพันได้โดยสิ้นเชิง?" เท่านั้น. การทำเช่นนี้จักเป็นประโยชน์อย่างสูงแก่ผู้อ่าน ในการที่จะได้ทราบอย่างชัดแจ้งถึง ความแตกต่างระหว่างพุทธศาสนาในขอบเขตของคัมภีร์ กับพุทธศาสนาซึ่งอยู่เหนือคัมภีร์; พุทธศาสนาที่อิงอยู่กับพิธีรีตองต่าง ๆ กับพุทธศาสนาที่เป็นอิสระตามธรรมชาติ และเดินตามหลักธรรมชาติ; พุทธศาสนาที่ให้เชื่อก่อนทำ กับพุทธศาสนาที่ให้ลองทำก่อนเชื่อ; พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นวรรณคดี กับพุทธศาสนาประยุกต์; และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างพุทธศาสนาที่ใช้ได้แต่กับคนบางคน กับพุทธศาสนาที่อาจใช้ให้สำเร็จประโยชน์ได้แก่บุคคลทุกคนแม้ที่ไม่รู้หนังสือ ขอเพียงแต่ให้มีสติปัญญาตามปรกติสามัญมนุษย์เท่านั้น ผู้ที่ได้ทราบเช่นนี้แล้วจะได้รับพุทธศาสนาชนิดที่ปฏิบัติได้จริง ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาปฏิบัติอย่างเหลือเฟือ และลัดดิ่งไปสู่สิ่งที่จะให้เกิดความอิ่ม ความพอ ได้โดยเร็ว ถ้ามิฉะนั้นแล้ว เขาก็จะเป็นตัวหนอนที่มัวแต่กัดแทะหนังสือ หรือเป็นนักก่อการทะเลาะวิวาทตามทางปรัชญา ไปตามเดิมแต่อย่างเดียว....”

การผ่านระยะเวลาอันยาวนาน ก็อาจยังผลให้เกิดการแต่งเติม เสริมปรับ หรือ ดัดแปลงในบางส่วนได้ ทั้งที่อาจเกิดได้ทั้งเจตนาที่ดี หรือ เพื่อการอื่น เรื่องนี้ย่อมเป็นที่เข้าใจ


ในส่วนของผู้ศึกษาธรรมควรใช้โยนิโสมนสิการ ในการเลือกเฟ้นเฉพาะส่วนที่เป็นแก่นสาระ และ หลักธรรมในพระสูตรนี้ ( ถึงแม้หลายท่านจะหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า “พระสูตร” เนื่องจากคัมภีร์นี้มิใช่พุทธพจน์ )เพื่อยังให้เกิด “ปฏิเวธ” ยิ่งๆขึ้นไป...


หวังว่าบทความชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย


ศริน SIRAN

บทเสริม

ผู้เขียนอ่านงานของท่าน อ.เสถียร โพธินันทะชิ้นนี้แล้ว เห็นว่าน่าสนใจแล้วสอดคล้องกับบทความชิ้นนี้อยู่ จึงคัดบางส่วนที่พ้องกับเรื่องของพระสูตรเว่ยหล่าง เพื่อประกอบความเข้าใจ และ เพิ่มอรรถรสในการศึกษาธรรมะ :

บางส่วนจากปาฐกถาเรื่อง “สุญญตา” แสดงโดย อ.เสถียรโพธินันทะ

แสดง ณ.มูลนิธิอภิธรรม มหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุ พระนคร

วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2509

“มติที่บอกว่า จิตเดิมว่างอยู่นั้น กิเลสมาภายหลัง หรือว่าจิตเดิมนั้นบริสุทธิ์ มติอย่างนี้ไม่ใช่นิกายเถรวาท แต่เป็นมติของนิกายเซน อย่างนี้คือ จิตเดิมแท้ บริสุทธิ์ จิตเดิมแท้ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย จิตเดิมแท้นั้นเป็นนิพพาน จิตเดิมแท้นั้นว่างเปล่าจากกิเลส กิเลสต่างๆ เพิ่งมากอบโกย มาเป็นอาคันตุกะแขกหน้าใหม่แปลกปลอมจรเข้ามา นิกายเซนสอนอย่างนี้ หลักเดิมของนิกายเซน เขาสอนอย่างนี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นมตินี้เราก็ต้องฉีกออกไปว่า ผู้ใดว่าอย่างนี้ว่าจิตเดิมแท้บริสุทธิ์ จิตเดิมว่างเปล่าจากกิเลส มติวาทะอย่างนี้เป็นวาทะนิกายเซนฝ่ายมหายาน”

“แต่ว่าถ้ากล่าววาทะนิกายเถรวาทแล้วคำว่า “จิตเดิม” ไม่มี ไม่เจอในบาลีเลย คำว่า เดิม เวลาคนแปลภาษาไทยเติมเอาเอง “ประภัสสระมิทัง ภิกขเว จิตตัง” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ประภัสสร ไม่มีในบาลี หาคำว่า “เดิม” ไม่มี ที่นี้นักเลงบาลีที่แปลเป็นไทยไปคว้าคำว่า “เดิม” มาจากไหนก็ไม่รู้ มาใส่เข้าไปจึงได้หลงผิดเข้ารกเข้าพงเป็นการใหญ่”

“ “จิตเดิม” แล้วยังมีคำ “แท้” มาอีก ในบาลีไม่มีคำว่า “แท้” มาจากไหนเลย “เดิมแท้” ๒ คำนี้ไม่มีในบาลี ถ้าจะมีก็มีเฉพาะนิกายเซน นิกายเซนเขาว่าอย่างนั้นจริงๆ จิตเดิมแท้จริงๆ เขาเรียกว่า “ปึงแซ” ( เปิ่นซิ่ง 本性:ศริน ) ปึง (本)แปลว่าเดิม แซ (性)แปลว่าสภาวะดั้งเดิม ตรัสรู้ในภาวะดั้งเดิมของตัวมันเอง นี่คำว่า “เดิมแท้” นิกายเซน ภาคจีนมีคำว่า “เดิมแท้” ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่านิกายเถรวาทภาคบาลีคำว่า “เดิมแท้” นั้นไม่มี และคำว่า ประภัสสรแปลว่า ผุดผ่องหรือรัศมี คำนี้แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผ่องใส จิตนี้ผุดผ่อง ประภัสสรแปลอย่างนี้ แปลว่าผุดผ่อง มีแสงในตัว ผ่องใส”

“คำว่าผุดผ่องกับผ่องใส ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส ทีนี้วิเคราะห์พุทธภาษิตต่อไปว่า จิตเศร้าหมองไปเพราะอาคันตุกะกิเลสจรมา อาคันตุกะกิเลสคืออะไร อุปกิเลส ๑๖ ในอุปกิเลส ๑๖ นี้ไม่มีคำว่า อวิชชา ไปดูได้ ดูในวัตถูปมสูตรบาลีมัชฌิมนิกายท่านแสดงลักษณะอุปกิเลส ๑๖ แบ่งไว้เป็นคู่ๆ ทีเดียวในนั้น ไม่มีอวิชชา เรื่องนี้แสดงว่าจิตประภัสสรมีอวิชชาอยู่ ที่ว่าผ่องใส ก็เพียงแต่ว่าไม่มีอุปกิเลส ๑๖ แต่หาได้หมายความว่าจะไม่มีอวิชชาไปด้วยหามิได้ เพราะในอุปกิเลส ๑๖ นั้นไม่มีคำว่าอวิชชาในนั้นเลย นั่นก็คือแปลว่าในจิตประภัสสรนั้นยังมีอวิชชาอยู่ แต่ที่เรียกประภัสสรหรือผุดผ่องเพราะไม่มีอุปกิเลส ๑๖ อุปกิเลส ๑๖ ถ้าโดยย่อแล้วก็ได้แก่นิวรณ์ ๕ นี่แหละอยู่ในหมู่นิวรณ์ ๕ ทั้ง ๑๖ ข้อลงไปแล้วรวมในนิวรณ์ ๕ มีกามฉันท์ เป็นต้น นี่ประเภทนี้อยู่ในนิวรณ์ ๕ นิวรณ์ ๕ นั้นเป็นเพียงทำให้จิตใจผ่องใสเท่านั้นเอง มีภิกษุได้บำเพ็ญถึงปฐมฌาน จิตผ่องใสแล้ว ถ้าทุติยฌานผ่องใสภายในกระทั่งจตุตถฌานผ่องใสในภายในทั้งสิ้น นี่แหละจิตประภัสสร เพราะฉะนั้นจิตประภัสสร เล็งเอาก็ได้แก่ภูมิธรรมตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปเป็นจิตประภัสสร ไม่ใช่หมายความว่าจิตเป็นนิพพาน ไม่มีกิเลส ไม่มีอวิชชาแล้ว ”

“เพราะฉะนั้นเราต้องแยกเอาวาทะนิกายไหนมาพูด ถ้าหากว่าวาทะนิกายเซน ไม่เถียง เป็นจริงตามนั้น ว่าจิตเดิมแท้บริสุทธิ์ จิตคือนิพพาน จิตเดิมแท้ไม่มีกิเลส กิเลสเป็นของแปลกปลอมเข้ามาภายหลัง จิตเดิมแท้เป็นของ “ว่าง” นี่ว่าตามนิกายถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ตามนิกายเซน แต่ถ้าว่าตามนิกายเถรวาทแล้วผิด นิกายเถรวาทไม่ใช่เป็นอย่างนี้ ”

“ถ้าจิตเดิมบริสุทธิ์แล้วพระอรหันต์ก็กลับเป็นปุถุชนได้ซิ ถ้าจิตเดิมบริสุทธิ์แล้วว่าตามเถรวาท พระอรหันต์ก็กลายเป็นปุถุชนได้ เมื่อบริสุทธิ์แล้วจะมาเวียนว่ายตายเกิดอีกทำไมเล่า เพราะฉะนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า จิตเดิมบริสุทธิ์ไม่มีในพุทธศาสนา นิกายเถรวาทไม่เคยสอนว่า “จิตเดิม” คำว่า “จิตเดิม” ไม่มีแม้คำว่า “เดิม” หาไม่เจอแล้วตามนิกายเถรวาท มีแต่คำว่า “จิตประภัสสร” จิตนี้เป็นธรรมชาติผ่องใส พูดไว้เท่านี้ ก็ไม่มีคำว่า “เดิม” กับ “แท้” ”

“เรามาคิดกันง่ายๆ ถ้าเดิมแท้บริสุทธิ์แล้วทำไมให้กิเลสจับง่ายๆ เล่า ก็เพราะยังมีอวิชชา เมื่อรับว่ายังมีอวิชชาก็แปลว่ายังไม่บริสุทธิ์น่ะซิ ถึงรับว่ายังมีอวิชชาอยู่ นั่นก็คือคำว่า “เดิมแท้” ไม่มีแล้ว เพราะยังรับว่ามีอวิชชาอยู่ แต่ปล่อยให้กิเลสเข้ามาจับง่ายๆ อาคันตุกะกิเลส กิเลสอย่างกลาง อย่างหยาบเป็นแขกแปลกหน้า พระพุทธองค์ใช้คำว่า “อาคันตุกะ กิเลโส” แขกที่จรมา ถ้าเจ้าบ้านเป็นคนรู้เท่าถึงการณ์ พวกนี้เป็นโจรแล้วเจ้าบ้านจะยอมรับหรือ นี่เพราะไม่รู้เท่าทันจึงยอมรับเขาเข้ามาใช่ไหม ให้เขาครอบงำใช่ไหม นั่นแสดงว่าเจ้าบ้านยังโง่ คือมีอวิชชานั่นเอง พื้นเดิมจะเป็นบริสุทธิ์ไม่ได้ตามตรรกนัย เราคิดตามหลักของตรรกวิทยาอย่างใช้ลอยิค (logic)มาจับ”

 “เพราะฉะนั้น วาทะของนิกายเถรวาท จึงรู้สึกไม่เป็นเช่นนั้นมากกว่า เพราะธรรมะในนิกายเถรวาทนี้ เราพยายามเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมคอนเซอร์เวตีฟทีเดียว ธรรมะในเถรวาทในสายตานิกายอื่น เห็นพวกเถรวาทว่าเป็นพวกจารีตนิยม ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรตามกาลเวลาเลย เพราะเหตุนี้เราจึงรักษาธรรมะส่วนใหญ่ของพระพุทธองค์ ให้บริสุทธิ์ไว้ได้ ส่วนธรรมะต่างๆ ในนิกาย ที่แยกจากเถรวาทออกไปนั้น เขาเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา อธิบายตามมติเกจิอาจารย์ และสาวกก็เชื่อตามคำอธิบายของเกจิอาจารย์ แยกย้ายเป็นนิกายต่างๆ ออกไป เราก็ไม่ได้คัดค้านเขา ไม่ใช่ว่าตัวเราถือเถรวาท แล้วหักโค่นเขาก็ผิดนะ เราเป็นชาวพุทธด้วยกัน ต่างคนต่างทรรศนะต่างนิกาย ท่านก็ถือนิกายท่าน ผมก็ถือนิกายผม แต่เราก็รู้ว่า อ้อ นี่วาทะนิกายนั้น วาทะนิกายนี้ เพราะฉะนั้นถ้าใครมาตั้งปัญหาถามเรา ก็ต้องย้อนถามเสียก่อนว่า เอานิกายไหน ถ้านิกายนี้ว่าอย่างนี้ นิกายโน้นว่าอย่างนี้แล้ว การเชื่อนิกายไหนก็ตาม จิตใจของเราอยู่กลางๆอย่างนี้”


จาก http://www.oknation.net/blog/siran/category/Religion

<a href="https://www.youtube.com/v/6lC-f3GlTbI" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/6lC-f3GlTbI</a>
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...