ผู้เขียน หัวข้อ: ขุนรองปลัดชู : การฟื้นฟูวีรกรรมสามัญชนที่ถูกลืม  (อ่าน 1309 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ขุนรองปลัดชู : การฟื้นฟูวีรกรรมสามัญชนที่ถูกลืม




webmaster@iseehistory.com

พูดกันมามากว่าประวัติศาสตร์ไทยไฉนเน้นย้ำแต่วีรกรรมและบทบาทของชนชั้นนำอยู่ตลอด นานๆ ถึงจะกล่าวถึงสามัญชนคนระดับตาสีตาสายายมายายมีบ้างสักครั้ง สมัยเด็กๆ ผมเคยอ่านหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการที่กล่าววิจารณ์ว่าราชวงศ์บ้านพลูหลวงเป็นยุคเสื่อมของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งก็เป็นเรื่องของชนชั้นนำอีกเช่นกัน เพียงแต่หนักไปในทางลบ แต่ท่านยังได้กล่าวพาดพิงถึงวีรกรรมของคนระดับชาวบ้านรายหนึ่งว่าท่านต้องตายเปล่าเพียงเพื่อรักษาอำนาจของผู้นำที่ไม่เอาไหน หลายปีผ่านมาจนถึงเวลานี้ เรื่องราวของท่านผู้นั้นเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากภาพยนตร์ไทยระดับคุณภาพที่คนไทยควรภูมิใจเรื่องหนึ่งที่ออกฉายในช่วงกลางปี 2554 นั่นคือ "ขุนรองปลัดชู" ผู้สร้างวีรกรรมนำพลพรรคเพียง 400 คนเข้าสกัดทัพพม่าที่อ่าวหว้าขาว ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน






เรื่องราวของ ขุนรองปลัดชู เท่าที่มีปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา (ที่มา topicstock.pantip.com)


เรื่องราวของขุนรองปลัดชูในประวัติศาสตร์จริงนั้น มีกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารบางฉบับแต่เพียงเล็กน้อย กล่าวคือ ก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองประมาณแปดปี (พ.ศ.๒๓๐๒) พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่าที่พึ่งจะได้ปราบปรามพวกมอญ รวบรวมพม่าให้เป็นปึกแผ่น ได้ยกทัพมาตีเมืองตะนาวศรีคืนจากไทย ขณะนั้นเป็นรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศ เมื่อทรงทราบข่าวศึก ได้ทรงจัดเกณฑ์กองทัพไปรบ ในการนี้ ขุนรองปลัดชู ข้าราชการหัวเมืองวิเศษชัยชาญซึ่งมีวิทยาคม ได้พรรคพวกจำนวนสี่ร้อยคนเข้ามาอาสาเป็นกองอาทมาตร่วมรบในครั้งนี้ด้วย แต่แล้วเมืองตะนาวศรีต้องแตกลงเสียก่อนที่ทัพจากอยุธยาจะไปถึง ทัพพม่าได้ยกเลยเข้ามาในเขตไทยทางด่านสิงขร และตีทัพหน้าของไทยที่ตั้งค่ายอยู่ที่แก่งตุ่มแตกไปอีก ขุนรองปลัดชูกับพรรคพวกพยายามสกัดทัพพม่าที่อ่าวหว้าขาวเขตเมืองกุยบุรี ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน แล้วก็ต้องพลีชีพกันทั้งหมดเนื่องจากทัพหนุนไม่ได้ช่วยเหลืออย่างทันท่วงที จากนั้น พระเจ้าอลองพญายกทัพมาจนประชิดกรุงศรีอยุธยา แต่ได้เกิดเหตุที่ทำให้ต้องถอยทัพกลับไป โดยฝ่ายไทยบันทึกว่าทรงถูกปืนใหญ่ระเบิดได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ทางพม่าบอกว่าทรงพระประชวร เอาเป็นว่าพระเจ้าอลองพญาได้สเด็จเดินทัพกลับแล้วสวรรคตระหว่าง จากเรื่องเดิมที่มีอยู่น้อยนิด การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้จึงน่ายกย่องในด้านการนำวีรกรรมของสามัญชนที่เคยถูกมองข้ามจนเหมือนจะถูกลืมมาให้คนไทยได้รับรู้กันมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง การนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ความยาวร่วมสองชั่วโมงก็ย่อมจะต้องมีการแต่งเติมเรื่องราวขึ้นมาไม่น้อย แล้วเรื่องเหล่านั้นจะมีความน่าเชื่อถือเพียงใด ลองมาชมกันครับ

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอด้วยภาพขาวดำเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีสีแพล็มๆ ขึ้นมาบ้างในบางตอน เริ่มและดำเนินเรื่องจากคำรำพึงรำพันของขุนรองปลัดชูซึ่งใกล้จะตายอยู่ในน้ำทะเลที่อ่าวหว้าขาว แล้วเล่าเรื่องราวย้อนหลังไปยังปีที่มีดาวหางปรากฏบนท้องฟ้าซึ่งครูบาอาจารย์พยากรณ์ไว้ว่าจะเกิดเหตุอาเพท คืนหนึ่ง ขณะที่ขุนรองปลัดชูกำลังทำพิธีอาบน้ำมนต์ ก็ได้รับทราบข่าวจากลูกศิษย์ชื่อไกรซึ่งทำหน้าที่ม้าเร็วว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้สิ้นพระชนม์แล้ว วันรุ่งขึ้น กรมการเมืองวิเศษไชยชาญได้ประชุมกัน ออกพระวิเศษไชยชาญเจ้าเมืองขอให้ขุนรองปลัดชูนำลูกศิษย์เข้ากรุงศรีอยุธยา เนื่องจากสถานการณ์ขณะนั้น เจ้าฟ้าอุทุมพรจะต้องขึ้นครองราชย์ตามพระราชประสงค์ของพระบิดา แต่เจ้าฟ้าเอกทัศได้ลาผนวชออกมาตั้งแต่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกำลังทรงพระประชวร ขณะที่เจ้าฟ้าสามกรม(พระอนุชาต่างพระมารดาสามองค์ คือ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และ กรมหมื่นเสพภักดี) ไม่ยอมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ออกพระวิเศษไชยชาญเห็นว่าควรเข้าไปช่วยทางฝ่ายเจ้าฟ้าอุทุมพรและเจ้าฟ้าเอกทัศควบคุมสถานการณ์ โดยเห็นว่าทั้งสองพระองค์ต่างก็เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขชาววิเศษไชยชาญ ผู้ใดได้ครองบัลลังก์ย่อมจะเป็นประโยชน์ เหตุผลที่ว่าทำให้ขุนรองปลัดชูเริ่มรู้สึกว่าขุนนางผู้ใหญ่คิดแต่ประโยชน์ของตนมากกว่าบ้านเมือง


ทราบข่าวพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต


ออกญาวิเศษไชยชาญ (หันหน้าทางขวา) เรียกประชุมกรมการเมืองเพื่อส่งคนไปคุมสถานการณ์ในกรุง

ประเด็นที่ว่าเจ้าฟ้าอุทุมพรและเจ้าฟ้าเอกทัศมีเชื้อสายวิเศษไชยชาญนั้น ขอแทรกประวัติศาสตร์ที่เป็นตำนานพื้นเมืองเพิ่มเติมว่า ที่บ้านคำหยาด แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ มีข้าราชการรายหนึ่งชื่อว่า หลวงทรงบาศ เป็นนายกองช้างซึ่งมีลูกสาวที่งดงามมาก 2 คน ต่อมาทั้งสองได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ คือ องค์พี่ คือ กรมหลวงอภัยนุชิต เป็นพระมารดาของเจ้าฟ้าธรรธิเบศร์ และองค์น้อง กรมหลวงพิพิธมนตรี เป็นพระราชมารดาของเจ้าฟ้าเอกทัศ และเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อหรือเจ้าฟ้าอุทุมพรครับ ส่วนเจ้าฟ้าสามกรมนั้นเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่ประสูติแต่พระสนม

กลับมาเรื่องในภาพยนตร์กันดีกว่าครับ เมื่อขุนรองปลัดชูถึงกรุงอโยธยา กรมหมื่นเทพพิพิธ พระโอรสอีกองค์ของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งอยู่ฝ่ายเจ้าฟ้าอุทุมพรและเจ้าฟ้าเอกทัศได้เรียกประชุมขุนนางผู้ใหญ่ เนื่องจากได้มีการตรวจพบว่าเจ้าฟ้าสามกรมได้มีการซ่องสุมผู้คนและอาวุธ จึงได้วางแผนการประมาณว่าต้องชิงลงมือก่อน มีการแบ่งหน้าที่กันไปจับกุมเจ้าฟ้าสามกรมและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยขุนรองปลัดชูได้รับหน้าที่ให้ไปจับข้าราชการรายหนึ่งซึ่งแน่นอนครับว่าได้เกิดการต่อสู้กันถึงขั้นนองเลือด แผนการทั้งหมดสำเร็จลงได้ด้วยดี เจ้าฟ้าสามกรมถูกประหารด้วยท่อนจันทน์ เจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นครองราชย์ได้ไม่ทันไร เจ้าฟ้าเอกทัศได้แสดงอำนาจโดยเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งสุริยามรินทร์ อัญเชิญพระแสงดาบขึ้นพาดพระเพลา แสดงองค์เหมือนเป็นพระเจ้าอยู่หัวอีกพระองค์หนึ่ง สถานการณ์เริ่มตึงเครียดเหมือนจะมีการต่อสู้แย่งชิงบัลลังก์กันอีก พระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งเป็นเจ้านายทางฝ่ายข้าราชการจากวิเศษไชยชาญ เห็นดีเห็นงามทางฝ่ายเจ้าฟ้าเอกทัศ เจ้าฟ้าอุทุมพรได้เสด็จออกผนวชเพื่อลดความขัดแย้ง แต่บรรดาขุนศึกต่างๆ ยังคงมีความเคลื่อนไหว ในที่สุดก็เกิดการริดเสี้ยนหนามขึ้นมาอีกครั้ง บรรดาผู้ที่เคยก่อการกำจัดเจ้าฟ้าสามกรมกลับเป็นฝ่ายต้องถูกกำจัดไปเกือบทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่กรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งผนวชอยู่ก็ถูกกำจัด โดยผู้ได้รับคำสั่งให้ลงมือก็คือขุนรองปลัดชู ที่ต้องกระทำโดยไม่เต็มใจ เมื่อกลับมาถึงวิเศษไชยชาญ ขุนรองปลัดชูก็ดื่มเหล้าหนัก เมามายจนเผาบ้านเรือนตัวเองจนเกือบจะฆ่าตัวตายในกองเพลิง เคราะห์ดีที่บรรดาลูกศิษย์มาห้ามปรามและช่วยกันดับเพลิงไว้ได้






ภาพเหตุการณ์บางส่วนของปฏิบัติการกำจัดเจ้าสามกรม

ตรงนี้ต้องขอแทรกข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อีกทีว่า เมื่อเจ้าฟ้าอุทุมพรถวายราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าเอกทัศแล้ว กรมหมื่นเทพพิพิธได้ทรงผนวชและได้คบคิดกับข้าราชการในการที่จะนำเจ้าฟ้าอุทุมพรกลับขึ้นครองราชย์ แต่พระภิกษุเจ้าฟ้าอุทุมพรไม่เล่นด้วย ได้เสด็จไปทูลให้พระเจ้าเอกทัศทรงทราบ โดยมีข้อแม้ขออย่าให้มีการนองเลือด ซึ่งพระเจ้าเอกทัศก็ทำตามพระประสงค์ คือโปรดฯ ให้จับกุมบรรดาผู้ก่อการเข้าคุกซะเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งจับกรมหมื่นเทพพิพิธได้ มีพระบัญชาให้ลาผนวชและเนรเทศกรมหมื่นเทพพิพิธไปยังลังกา แต่ภายหลังกรมหมื่นเทพพิพิธหลบหนีกลับมายังอโยธยาได้ และมีบทบาทต่างๆ อีกมากมายจนกระทั่งเสียกรุงครั้งที่สอง ได้ทรงเป็นหัวหน้าชุมนุมเจ้าพินายซึ่งถูกพระเจ้าตากสินมหาราชปราบปรามลงในภายหลัง


เจ้าฟ้าเอกทัศ หรือ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์


เจ้าฟ้าอุทุมพร "ขุนหลวงหาวัด"




กำจัดเสี้ยนหนามกันอีกรอบ

กลับมาเรื่องในภาพยนตร์อีกทีครับ ทางฝ่ายพม่าซึ่งตามประวัติศาสตร์ทำสงครามขับเคี่ยวกับมอญมาระยะหนึ่ง พระเจ้าอลองพญากับพระราชบุตรมังระก็สามารถปราบปรามพวกมอญได้อย่างเด็ดขาดโดยยึดกรุงหงสาวดีได้ ต่อมาก็เริ่มไม่พอใจอโยธยาจากการที่เมืองท่าตะนาวศรีซึ่งอยู่ในอำนาจของไทยยึดสินค้าจากเรือพม่า และมีส่วนสนับสนุนให้หัวเมืองต่างๆ กระด้างกระเดื่อง แต่ก็ได้ทราบข่าวความวุ่นวายในราชสำนักอโยธยาที่เกิดการแย่งชิงอำนาจกัน และเห็นเป็นช่องทางที่จะเข้ารุกราน ขณะที่ทางฝ่ายขุนรองปลัดชูเองเมื่อตั้งสติได้ก็กลับมาสอนบรรดาลูกศิษย์ลูกหา ทั้งเรื่องความอ่อนแอของบ้านเมือง ทั้งฝึกสอนเพลงดาบ ทั้งคาถาอาคมที่จะให้อยู่ยงคงกระพัน หลักสูตรแบบนี้คนรุ่นหลังอย่างเราๆ จะเรียกว่าสอนกับแบบครบวงจรหรือแบบจัดเต็มจัดหนักก็แล้วแต่สะดวก ผ่านไปไม่นานข่าวศึกก็มาถึง พม่าได้ยกทัพเข้าตีตะนาวศรี ในกรุงได้มีการจัดเกณฑ์กองทัพ โดยพระยาอินทราชรั้งตำแหน่งยมราขเป็นทัพหน้า พระยารัตนาธิเบศร์เป็นทัพหนุน ซึ่งเจ้าคุณทั้งสองนี้นับเป็นกำลังสำคัญและเป็นเจ้านายของขุนรองปลัดชูในศึกชิงอำนาจเมื่อตอนต้นเรื่อง พระยารัตนาธิเบศร์ได้ส่งคนมาแจ้งว่าขอให้ขุนรองปลัดชูไปร่วมรบด้วย ขุนรองปลัดชูแม้จะมีท่าทีสะเทือนใจต่อเหตุการณ์ศึกชิงอำนาจที่ผ่านมาอยู่บ้าง แต่ก็ยังเห็นชาติบ้านเมืองสำคัญกว่า จึงตัดสินใจร่วมกับลูกศิษย์ทั้งสี่ร้อยคนออกเดินทางไปสมทบกับกองทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ เมื่อพบหน้ากัน ขุนรองปลัดชูแปลกใจที่ได้ทราบจากพระยารัตนาธิเบศร์ว่ามีผู้นำเรื่องที่ตนอาสาออกรบขึ้นกราบบังคมทูลจนมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กองอาสาจากวิเศษไชยชาญเป็นกองอาทมาต มีขุนรองปลัดชูเป็นแม่กอง ขุนรองปลัดชูเห็นว่าคนที่กราบบังคมทูลหวังจะเอาความดีความชอบใส่ตน พระยารัตนาธิเบศร์จึงทำทีเป็นผู้รักชาติพูดปลอบใจขุนรองปลัดชูว่าคงไม่มีใครคิดอย่างนั้นในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน แต่ถ้าจริงก็สมควรถูกประณาม ได้ผลครับ ทำเอาพระเอกของเราหลงเคลิ้มนึกว่าจะได้ร่วมรบกับผู้นำที่ดี แล้วก็ออกเดินทัพไปด้วยกัน ระหว่างทาง ขุนรองปลัดชูทราบข่าวว่าเมืองตะนาวศรีแตกแล้ว ทัพหน้าของพระยายมราชตั้งค่ายอยู่ที่แก่งตุ่ม ขุนรองปลัดชูจึงเสนอให้พระยารัตนาธิเบศร์เร่งเดินทัพทั้งวันทั้งคืน ด้านเจ้าคุณไม่เห็นด้วยอ้างว่าไพร่พลกำลังเหนื่อยอ่อน ขุนรองปลัดชูจึงขออาสานำกองอาทมาตล่วงหน้าไปก่อนจนถึงคลองวาฬ จึงทราบว่าค่ายใหญ่ที่แก่งตุ่มแตกแล้ว และทัพหน้าของพม่านำโดยราชบุตรมังระมีกำลังพลราวแปดพันกำลังรุกเข้ามา


พระเจ้าอลองพญา 1 ใน 3 มหาราชที่พม่ายังยกย่องมาจนทุกวันนี้ จากการปราบปรามมอญได้สำเร็จ


เริ่มกลับมาสอนวิชาดาบ


นำลูกศิษย์อาบน้ำมนต์ให้อยู่ยงคงกระพัน


เดินทัพ


ผลสำเร็จในตอนต้น


ถูกต้อนมาจนมุมที่ชายหาด


ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ควรทราบประกอบการชมภาพยนตร์

1.ไม่มีหลักฐานใดระบุว่าขุนรองปลัดชูได้เข้ากรุงศรีอยุธยาหรือกรุงอโยธยาเพื่อมาร่วมในศึกชิงอำนาจระหว่างฝ่ายเจ้าฟ้าอุทุมพร เจ้าฟ้าเอกทัศน์ และกรมหมื่นเทพพิพิธ กับฝ่ายเจ้าสามกรมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จากการที่พระราชมารดาของเจ้าฟ้าอุทุมพร และ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ เป็นธิดาของหลวงทรงบาศ ข้าราชการเมืองวิเศษไชยชาญ การที่หลวงทรงบาศได้เป็น "พ่อตาพระเจ้าแผ่นดิน" นั้น อาจจะคาดการณ์ได้ว่าหลานของตนย่อมมีโอกาศจะได้เป็นกษัตริย์ แต่อาจจะต้องเผชิญอุปสรรคจากพระราชโอรสต่างพระมารดาด้วย จึงเป็นไปได้ที่จะได้มีการจัดตั้งฐานกำลังขึ้นในเขตท้องที่ของตนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งไว้เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น การที่ขุนรองปลัดชูถูกเรียกตัวเข้าไปรักษาความสงบในกรุงจึงเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์แต่งเติมขึ้นมาแบบพอจะมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง รวมถึงการเกิดวีรกรรมชาวบ้านบางระจันในภายหลังเมื่อคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ก็น่าจะเป็นผลพวงจากการเตรียมซ่องสุมกำลังดังกล่าวนั้นด้วย
 
2.หลังจากพระเจ้าเอกทัศขึ้นครองราชย์ แม้จะมีการจับกุมผู้คิดการกบฎ แต่ไม่มีผู้ก่อการรายใดถูกประหารชีวิต รวมถึงกรมหมื่นเทพพิพิธ ดังที่ได้กล่าวในย่อหน้าก่อนๆ การสังหารศัตรูทางการเมืองที่บวชเป็นพระภิกษุนั้น เกิดขึ้นในรุ่นของพระราชบิดา คือย้อนไปเมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จขึ้นครองราชย์ มีการสังหารข้าราชการที่หนีราชภัยไปพึ่งผ้าเหลืองถึงสองรายด้วยกัน การนำประเด็นนี้มาบรรจุในภาพยนตร์อาจเป็นเพียงการเพิ่มสีสันให้เห็นความเสื่อมโทรมของสมัยอยุธยาตอนปลาย และเพิ่มความรู้สึกท้อแท้หมดหวังให้กับตัวละครเอกของเรื่องเท่านั้น
 
3.หลักฐานบางฉบับเรียกขุนรองปลัดชูว่า "พระยาสงครามนามชื่อปลัดชู" ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าท่านผู้นี้เป็นข้าราชการระดับใดกันแน่
 
4.หลักฐานบางฉบับกล่าวว่า ในช่วงที่ขุนรองปลัดชูเผชิญหน้ากับกองทัพพม่านั้น พระยารัตนาธิเบศร์ได้ส่งกำลังหนุนไปให้จำนวน 500 นาย เมื่อเห็นว่าขุนรองปลัดชูกับพรรคพวกทั้งที่มีอยู่เดิมและที่ส่งไปสมทบสู้พม่าไม่ไหวจริงๆ ถึงได้เผ่น อันนี้ภาพยนตร์น่าจะตัดเรื่องการส่งกำลังเสริมออกไปเพื่อให้พระยารัตนาธิเบศร์ได้เป็นตัวร้ายสุดๆ ประเภทหน้าซื่อใจคด โดยไม่จำเป็นต้องตะโกนดุด่าใครอย่างผู้ร้ายในหนังละครน้ำเน่าที่เราเห็นกันบ่อยๆ
 
5.หลักฐานบางฉบับกล่าวว่าขุนรองปลัดชูถูกพม่าจับได้ ส่วนที่เหลือกล่าวเพียงว่ากองอาทมาตถูกตีแตกพ่าย และมีผู้รอดตายอยู่บ้างแม้จะเพียงไม่กี่คน การที่ภาพยนตร์ให้ขุนรองตายในที่รบซะเลยก็เพื่อให้เรื่องจบลงอย่างกระชับและเป็นดรามาสมบูรณ์แบบ คือถูกนายหลอกใช้ให้ไปตาย ถ้าให้ถูกจับเป็นตามประวัติศาสตร์ต้องมาเสียเวลาคิดอีกว่า ทางพม่าเอาไปบีบบังคับให้สอนวิชาคงกระพัน หรือเอาไปเยาะเย้ยถากถางประการใดก่อนจะสังหารทิ้ง


ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม

ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ต้นเหตุความระส่ำระสายจนเสียกรุง? แนวคิดเดิมๆ ในประวัติศาสตร์ไทยมักจะกล่าวในทำนองนี้ ประมาณว่าอยุธยาไม่สิ้นคนดี เพียงแต่เจ้านายไม่ดีจึงเสียกรุง ราชวงศ์บ้านพลูหลวงอันเป็นราชวงศ์สุดท้ายซึ่งได้อำนาจมาจากการรัฐประหารสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แล้วก็มีแต่การฆ่าฟันแย่งชิงราชสมบัติกันมาตลอด ซึ่งจะว่าไปแล้ว แนวคิดนี้ไม่ได้ผิดหรือถูกโดยสิ้นเชิง คือการจะเกิดเหตุการณ์หรือความเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ว่าจะปุบปับหรือค่อยเป็นค่อยไป ย่อมจะเกิดจากหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน ไม่ใช่อะไรๆ ก็ขึ้นอยู่กับผู้นำระดับสูงสุดไปซะหมด ดังเช่นในสมัยนี้ที่ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ต้องเผชิญกับข้อเรียกร้องของกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ที่คิดแต่จะให้ช่วยเหลือตนโดยไม่รู้ว่าได้พยายามพึ่งตัวเองมาก่อนแค่ไหน กลับมาเรื่องของเราดีกว่า ไม่ใช่ว่ามีแต่ราชวงศ์บ้านพลูหลวงนะครับที่มีการแย่งชิงบัลลังก์กันจนนองเลือด ระบอบกษัตริย์โบราณไม่ว่าชาติไหนยุคไหน ก็เกิดเรื่องแบบนี้ได้บ่อยๆ ในเมื่อระบอบนี้มีเบอร์หนึ่งเพียงเบอร์เดียว และสืบทอดอำนาจทางสายเลือดไปยังลูกได้เพียงคนเดียว แต่ท่านกลับมีเมียมีลูกหลายคน เอ่อ ,,, ต้องเรียกว่ามีพระมเหสี พระสนม และพระโอรสหลายพระองค์ซีนะ เมื่อพระราชบิดาตายลง มีแต่พระโอรสองค์เดียวที่จะได้ราชสมบัติ แล้วพระองค์อื่นๆ ที่เหลือจะไปนั่งทำอะไรที่ไหนล่ะครับ ถ้ามีช่องทางก็ต้องหาทางยึดอำนาจ ซ่องสุมกำลังคน หาข้ออ้างว่าองค์รัชทายาทมีความไม่ชอบธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างตามเรื่องตามราว บางชาติบางยุคจึงอาจจะมีวิธีประนีประนอม เช่น ให้แบ่งกันปกครองแผ่นดินคนละส่วนคนละแคว้น ให้กษัตริย์ในแต่ละแคว้นย่อยหมุนเวียนกันเป็นประมุขของอาณาจักร ของไทยก็เคยมีการตั้งตำแหน่งวังหน้าบ้าง หรืออย่างในรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการปฏิรูประบบราชการ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรส และพระญาติพระวงศ์ได้มีตำแหน่งในการบริหารบ้านเมืองบ้าง เหล่านี้เป็นต้น

บทบาทของพม่า แน่นอนว่า บรรดาพี่หม่องน้องหม่องทั้งหลายยังคงรับบทผู้ร้ายเช่นเดียวกับในภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ทั่วไป แต่ก็เป็นผู้ร้ายในด้านการศึกสงครามล้วนๆ เป็นความเหี้ยมหาญมากกว่าความเหี้ยมโหด แม้จะมีการฆ่าตัดหัวมอญเสียบประจาน และกับไทยคือกองอาทมาตของขุนรองปลัดชูก็รุมทุบตีหักกระดูกกระเดี้ยวบ้าง เอาช้างไล่เหยียบบ้าง ก็เป็นเรื่องสงครามล้วนๆ ไม่ทราบว่าคนพม่าจะมีความเห็นอย่างไร แต่สำหรับผมเห็นว่าอาจจะเกินๆ อยู่นิดหน่อย แต่ไม่ถึงขนาดฆ่าโหดชาวบ้านที่ไม่มีทางสู้ตายเป็นเบือราวกับนาซีหรือเขมรแดงอย่างที่เรามักเห็นในหนังไทยอีกหลายเรื่อง


ราชบุตรมังระ ตีทัพไทยที่ค่ายแก่งตุ่มแตก

ภาษาพม่ากับแนวโน้มการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ที่น่าสนใจอีกอย่างคือดูเหมือนว่า "ขุนรองปลัดชู" จะเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ไทยเรื่องแรกที่พม่าพูดภาษาพม่าล้วนๆ ไม่ใช่พม่าพูดไทยเหมือนเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมา ความสมจริงในด้านนี้พึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากที่บรรดาพี่หม่องน้องหม่องทั้งหลายเข้ามาเป็นแรงงานในไทยมาเป็นเวลาตั้งหลายปี แม้อย่างนั้นผมยังอดสงสัยไม่ได้ว่า ดาราไทยที่มารับบทพม่าพูดภาษาพม่านี่ พูดได้ถูกต้องแค่ไหน ทราบแต่เพียงว่าขณะนี้สังคมไทยเริ่มสนใจภาษาพม่ากันมากขึ้น ไม่ใช่ว่าอยากเรียนเพื่อไปพูดกับบรรดาลูกจ้างแรงงานในไทยหรอกนะครับ แต่เป็นอิทธิพลจากการท่องเที่ยวที่มีมานาน บวกกับสถานการณ์ในพม่าตอนนี้ที่มีแนวโน้มว่าจะเปิดประเทศมากขึ้น ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับวงการประวัติศาสตร์ไทยคืออาจจะทำให้เกิดการตื่นตัวที่จะศึกษาหลักฐานประวัติศาสตร์จากทางพม่ามากขึ้น จากเดิมที่เคยศึกษากันแต่หลักฐานไทยแบบตีความเข้าข้างตัวเองมาตลอด ก็อาจจะเกิดศึกทางวิชาการระหว่างนักวิชาการแนวเดิมที่ยังยึดมั่นกับหลักฐานและการตีความแบบเดิมๆ กับคนที่ได้ขวนขวายศึกษาหลักฐานทางพม่าแล้วเกิดการตีความใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมาได้เหมือนกัน สำหรับผมแล้ว การยึดมั่นถือมั่นกับหลักฐานเดิมๆ แนวคิดเดิมๆ กับการไป "เห่อ" ของใหม่จนคิดแต่จะเอาของใหม่มาล้มล้างของเก่านั้น ล้วนแต่สุดโต่งกันไปคนละด้านครับ หลักฐานจะเก่าใหม่ประการใดขอให้ตีความตามหลักวิชาอย่างมีสติจะดีกว่า

แนะนำ "หนังสงคราม" สมัยโบราณกันทั้งที ต้องขอพูดถึงคิวบู๊สักหน่อย ตามตำนานนั้น ขุนรองปลัดชูมีทั้งวิชาอาคมอยู่ยงคงกระพันและเพลงดาบสองมือที่เป็นเลิศ แต่ในภาพยนตร์ ท่าทางการฟันดาบสองมือของตัวละครยังดูขัดๆ ไม่มีความสวยงามและความสมจริงสักเท่าไหร่ อันที่จริงถ้ามองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เน้นดราม่า เล่นคิวบู๊เพลงอาวุธได้ขนาดนี้ก็นับว่าบุญแล้ว แต่ถ้าจะทำการบ้านเพิ่มให้ผู้แสดงแต่ละท่านมีท่าทางที่สวยงามสมจริงอีกสักหน่อยน่าจะเสริมความน่าชมให้กับภาพยนตร์ได้อีกมาก แถมด้วยเรื่องวิชาคงกระพัน ถ้าจะมีฉากที่อาจารย์ขุนรองปลัดชูทดสอบความเหนียวของลูกศิษย์ที่ยังกล้าๆ กลัวๆ อยู่ อาจจะได้ฉากขำๆ พอคลายเครียดได้สักช่วงสั้นๆ


ย้อนกลับมาดูการต่อสู้อีกฉากหนึ่ง

การคัดเลือกนักแสดงนี่แทบจะเรียกว่าเขตปลอดคนหล่อคนสวยเลยก็ว่าได้ คือไม่มีผู้แสดงประเภทขวัญใจวัยรุ่นมาสร้างกระแสอย่างฉาบฉวย กลับเลือกที่จะนำเอาคุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ มารับบทตัวเอกของเรื่อง ซึ่งดูเหมาะสมกว่า ตัวประกอบอื่นๆ ก็หน้าตาแบบไทยๆ กันทั้งนั้น สังเกตว่าคนใต้ค่อนข้างจะได้เปรียบกับการได้รับการคัดเลือกแบบนี้

ก่อนการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้จะว่าวีรกรรมของขุนรองปลัดชูและพรรคพวกเป็นวีรกรรมที่ถูกลืมก็คงพูดได้ไม่เต็มปาก กล่าวคือ หลังจากผ่านไป 11 ปี ชาวเมืองวิเศษไชยชาญได้สร้าง "วัดสี่ร้อย" ขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลและเป็นอนุสรณ์แก่ขุนรองปลัดชูและผู้เสียชีวิตจากกองอาทมาตทั้งหมดเมื่อ พ.ศ. 2313 และได้มีการกล่าวแทรกอยู่ในวรรณกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับอยุธยาตอนปลายและการเสียกรุงครั้งที่ 2 ไม่ว่าพระนิพนธ์ "ไทยรบพม่า" ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หนังสือประวัติศาสตร์ไทยต่างๆของหลวงวิจิตรวาทการที่ผมได้เคยอ่าน เป็นต้น การรำลึกถึงขุนรองปลัดชูแบบเน้นๆ พึ่งจะเริ่มมีในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้แก่ ปี พ.ศ. 2550 จึงได้มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชูขึ้นภายในบริเวณวัดสี่ร้อย และได้มีการทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์แห่งนี้โดยเทศบาลตำบลบางจัก จังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ในปี พ.ศ.2550 เช่นกัน พงษ์พัฒน์ เพชรรัตน์ นักเขียนการ์ตูนชาวไทย ได้นำชีวประวัติของขุนรองปลัดชูไปดัดแปลงเขียนเป็นการ์ตูนเรื่อง กองอาทมาตประกาศศึก เมื่อ พ.ศ. 2550 การ์ตูนเรื่องดังกล่าวได้รับรางวัลชมเชยในงานประกาศผลรางวัลมังงะนานาชาติ ครั้งที่ 3 ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2552 แล้วจึงมาถึงภาพยนตร์เรื่อง "ขุนรองปลัดชู" เรื่องนี้แหละครับ สร้างโดยบริษัทบีบีพิคเจอร์ ได้มีการฉายให้ชมฟรีที่โรงภาพยนตร์สกาล่า ระหว่างวันที่ 7–11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 และแพร่ภาพทั่วประเทศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 22.00 น. หลังจากนั้นจึงมีการออกอากาศซ้ำโดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 9 ตอน ประกอบการอภิปรายเชิงวิชาการประวัติศาสตร์ ในรายการ ถกหนังเห็นคน ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันจันทร์ เวลา 23.00 น. - 24.00 น. เริ่มในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 จากนั้นผมจึงมาเห็นวางจำหน่ายในรูปแบบดีวีดีเมื่อราวๆ ต้นปี 2555 นี้เอง ใครหาซื้อไม่ได้ทางเว็บไม่มีนโยบายที่จะนำมาให้ดูหรือ Download  ขอให้ Search ชื่อภาพยนตร์ใน Youtube กันเอาเองนะครับ  แล้วผมตั้งใจจะจบเรื่องยังไงหว่า อ้อ! ดังที่ได้เกริ่นไว้ตอนต้นเรื่องแหละครับว่า การนำวีรกรรมของสามัญชนคนระดับล่างที่ถูกบันทึกไว้เพียงไม่กี่บรรทัดมาสร้างเป็นภาพยนตร์รำลึกถึงคุณความดีของท่านย่อมเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน แต่จากอะไรหลายๆ อย่างในกระบวนการผลิตภาพยนตร์ พบว่าทำให้เนื้อหาบางส่วนคลาดเคลื่อนจากประวัติศาสตร์ที่ควรจะเป็นบ้าง การจะนำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปใช้เป็นสื่อการสอนประวัติศาสตร์หรือสอนความสามัคคีในชาติกันอย่างไรก็ตามสะดวก ในข้อแม้ว่าควรจะได้มีการทำความเข้าใจข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ประกอบไปด้วยครับ


พระยารัตนาธิเบศร์ (คนที่ 2 จากขวา) ได้แต่ดูจุดจบของกองอาทมาตแล้วก็จากไป

เนื่องจากบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์อัน ชอบธรรมของผู้เขียน และอาจะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลบ้างตามความเหมาะสม ในการนำบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์อื่นๆ จึงขอความร่วมมือให้ใช้วิธีการคัดลอกเฉพาะ Link หรือ URL Address แทนการคัดลอกบทความทั้งหมด หากมีการคัดลอกไปในลักษณะแอบอ้างเป็นผู้เขียน หรือมีเจตนาอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทางเว็บ iseehistory.com แล้ว จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย

คำคมชวนคิด

"ไอ้เรามันเป็นข้าราชการหัวเมืองเล็กๆ ไม่ได้หวังลาภยศอำนาจ ขอเพียงใครมีบุญญาบารมีได้ขึ้นมา ก็ขอให้ผู้นั้นเห็นแก่แผ่นดินเถอะ" ขุนรองปลัดชู พูดกับภรรยาในคืนก่อนเข้ากรุง
 
"ดาบในมือกู กูเป็นคนใช้ แต่กูไม่ได้ใช้ตามใจ เพราะหน้าที่บีบให้กูต้องทำ ทำทั้งๆที่รู้ว่าพวกกูชาววิเศษไชยชาญ คงเป็นแค่หมากตัวเล็กๆ บนกระดานแห่งอำนาจ" ขุนรองปลัดชูรำพึงขณะเข้าร่วมการจับกุมเจ้ากรมปลัดกรม
 
"ใช้ดาบฆ่าคนที่สมควรฆ่าไม่ใช่เรื่องผิด แต่ในชีวิตกู ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาฆ่าคนบ้านเดียวกัน ฆ่าคนที่ไม่เคยรู้จัก ฆ่าโดยไม่มีเรื่องแค้นเคืองอาฆาต" ขุนรองปลัดชูรำพึงขณะเข้าร่วมการจับกุมเจ้ากรมปลัดกรม
 
แม้แต่ผ้าเหลืองยังคุ้มครองคนดีไม่ได้" ขุนรองปลัดชูรำพึงก่อนจะปลงพระชนม์กรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งทรงผนวชอยู่
 
"ทำสิ่งที่ยากแสนยากให้สำเร็จ อาศัยอะไรมึงรู้ไหมไอ้แสน" "อาศัยอะไรขอรับ" "อาศัยคาถาเพียงแค่สี่คำ" "คาถาอะไรขอรับ" "ร่วมแรงร่วมใจ"  "โอ นึกว่าคาถา แล้วถ้าใช้แล้วไม่สำเร็จละ" "อาศัยคาถาอีกสองคำ" "คาถาอะไรขอรับ" "แลกชีวิต" บทสนทนาระหว่าง ขุนรองปลัดชู กับลูกศิษย์ชื่อแสน ขณะกำลังฝึกสอนวิชาดาบให้คนอื่นๆ
 
"สิ่งที่เราต้องเสียสละคือชีวิตเท่านั้น ไม่ใช่น้ำตา" ขุนรองปลัดชู บอกเมืองซึ่งกำลังคิดถึงบ้านขณะกำลังเดินทาง
ชื่อภาษาไทย : ขุนรองปลัดชู

ผู้กำกำกับ : สุรัสวดี เชื้อชาติ

ผลิต : บุญชัย เบญจรงคกุล

ผู้เขียนบท : เอก เอี่ยมชื่น

ผู้แสดง :

ขุนรองปลัดชู ... สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ
ราชบุตรมังระ ... จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม
พระยารัตนาธิเบศ ... พิบูลย์ ท้ายห้วน
พระเจ้าอลองพญา ... มนัส สะการะพันธ์ทิพย์
ออกพระวิเศษชัยชาญ ... อนุรักษ์ หีบทอง
แม่จันทร์ ... พรทิพย์ ปาปะนัย
กรมหมืนเทพพิพิธ ... วิสูต ศรีสมบุญ
ไกร ... วัชรชัย สุนทรศิริ
ผาด ... ชัยพร ตอพล
แสน ... กรวินท์ ประทุมศิริ
เมือง ... บัลลพ ล้อมน้อย
เมงข่องนรธา ... ปวิช จันทร์จิตร
สมภารวัดโพธิ์ทอง ... โยธิน มาพบพันณธ์
แผลง ... วุฒิชัย สีดาจิตร์
บุญอิน ... ธนวัฒน์ แก่อก
แก่น ... ชนินทร์ เพ็งแตงโม
บุญจันทร์ ... สุทธิพงษ์ ดิบแดง
นกเล็ก ... ชัยพร ถนอมรอด
พระยายมราช(เก่า) ... นุกูล พูลสวัสดิ์
พระยายมราช(ใหม่) ... วัชระ ฤกษ์สมเด็จ
เจ้าฟ้าเอกทัศ ... สุรสิทธิ์ ฉลาดชื่นชม
เจ้าอุทุมพร ... นพเก้า พุ่มคล้าย
กรมหมื่นจิตรสุนทร (เจ้าสามกรม) ... ภูเบศน์ อินทริด
กรมหมื่นสุนทรเทพ (เจ้าสามกรม) ... ปรินทร์ โกมารทัต
กรมหมื่นเสพภักดี (เจ้าสามกรม) ... เชิดเกียรติ นวลอินทร์
แมงละ ... สัญญา กันทะเสน
แมงข่อง ... วุฒิชัย สีดาจิตร์
พระยาอภัยราชา ... จิรศักดิ์ ธนวรพงศ์
หลวงพิเรณทรเทพ ... สรนันทน์ เอกวัฒน์
พระยาอินทรเทพ ... วินัย บุญทับ
พระยาเพชรพิชัย ... สมพงษ์ มีห่วง
เจ้ากรม ... อมรเทพ ริมดุสิต
ควรอ่านเพิ่มเติม

http://th.wikipedia.org/wiki/ขุนรองปลัดชู
 
http://th.wikipedia.org/wiki/ขุนรองปลัดชู_(ภาพยนตร์)
 
รุกปชส.อนุสาวรีย์'ขุนรองปลัดชู'ดึง​เยาวชนรัก​แผ่นดิน http://www.ryt9.com/s/bmnd/1087598
 
ขุนรองปลัดชู วีรชนคนที่ถูกลืม http://mobile.mthai.com/movie/movie-news/155.html
 
ด่านสิงขร http://www.prachuaptown.com/travel/prachuap/Singkhon.php
 
ขุนรองปลัดชู หัวหน้ากองกำลังอาทมาต สี่ร้อย คน กรมการเมืองวิเศษไชยชาญ http://www.maameu.net/forum/index.php?topic=8918.0
 
ประวัติพระตำหนักคำหยาด http://seashore.buu.ac.th/~52020826/mobile/articles.php?lng=th&pg=14
 
http://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์
 
http://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
 
http://th.wikipedia.org/wiki/กรมหมื่นเทพพิพิธ
 
http://th.wikipedia.org/wiki/เจ้าสามกรม
 
http://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าอลองพญา
 
http://th.wikipedia.org/wiki/สงครามพระเจ้าอลองพญา
 
http://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้ามังระ
 
[ถามครับ]ประวัติศาสตร์ในเรื่องขุนรองปลัดชู http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2011/07/K10800000/K10800000.html

จาก http://www.iseehistory.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538787084&Ntype=7

<a href="https://www.youtube.com/v/e_Z6IOyW60I" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/e_Z6IOyW60I</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/mJgAoT4r1IE" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/mJgAoT4r1IE</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/8dYo23OibyI" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/8dYo23OibyI</a>
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 31, 2016, 04:56:32 am โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...