ผู้เขียน หัวข้อ: วัดไทในดงฮินดู ( คอลัมน์บทความพุทธิกา )  (อ่าน 1091 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


วัดไทในดงฮินดู

โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 27 เดือนเมษายน 2557

อย่างที่รู้ อินเดียเป็นถิ่นกำเนิดของพุทธศาสนา แต่พุทธศาสนาเหลืออยู่ก็มักเป็นในชุมชนคนไท

คนไท ซึ่งไม่ใช่คนไทยที่โยกย้ายเข้าไปรวมตัวกันตั้งถิ่นฐานใหม่ หากแต่เป็นคนไทอีกสายที่อพยพไปสร้างบ้านแปลงเมือง อาจจะพร้อมๆ กับที่เราสร้างกรุงสุโขทัย

เป็นคนไทที่ยังคงวิถีชีวิตวัฒนธรรมแบบคนไท ทั้งรูปแบบการแต่งกาย การกินอยู่ ที่อยู่อาศัย การรับแขก และโดยเฉพาะภาษาพูด ซึ่งทุกวันนี้คนไทในอัสสัมยังพอพูดจากันรู้เรื่องกับคนไทยเรา คำพื้นฐานในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ยังเป็นคำเดียวกัน โดยเฉพาะการเรียกอวัยวะร่างกาย สรรพนามเรียกขานในเครือญาติ การนับเลข ฯลฯ

รวมทั้งความศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา

ในทุกชุมชนชาวไทพาเก ในแคว้นอัสสัม สุดแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ต้องมีวัดเก่าแก่อยู่ในชุมชน และการสร้างวัดใหม่ก็ยังเป็นค่านิยมของชาวไทพาเกที่นั่นด้วย

ยังไม่นับรวมว่าทุกบ้านต้องมีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นห้องพระ และการสวดมนต์ถือเป็นกิจวัตรอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันที่พวกเขาจะปฏิบัติทุกเช้าเย็น
มีแง่มุมมากมายที่น่าเล่า แต่ในที่นี้จะขอเริ่มที่ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งที่วัดน้ำพาเก

หมู่บ้านน้ำพาเกตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบุรีดิหิงช่วงปลาย ก่อนไหลลงบรรจบกับแม่น้ำพรหมบุตร ที่เมืองดีบรูการ์ วัดน้ำพาเกตั้งอยู่บนโคกสูงตรงโค้งแม่น้ำที่ไหลเลี้ยวหักศอกลงไปทางตะวันตก เป็นบริเวณที่มีภูมิทัศน์งดงามยิ่ง บนขอบตลิ่งริมลานวัดเป็นจุดที่มองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นจากแม่น้ำได้ในยามเช้า และเลื่อนลับลงหาแม่น้ำอีกด้านในตอนเย็น หากเดินตามความลาดชันของแนวตลิ่งลงไป ก่อนได้สัมผัสกับสายน้ำชุ่มเย็นที่ยังเป็นที่อาบน้ำซักผ้าของชาวบ้าน จะผ่านลายทรายกว้างซึ่งเป็นสำหรับทำกิจกรรมร่วมกันของชาวบ้าน โดยเฉพาะในวันงานบุญสงกรานต์

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ เคยเสด็จเยือนวัดน้ำพาเกเมื่อปี 2552 ซึ่งมีการสร้างอนุสรณ์จารึกไว้ที่หน้าวัด

นอกจากการทำนุบำรุงวัดการทำบุญอีกอย่างหนึ่งที่คนไทพาเกนิยมกันมากเห็นจะเป็นการสร้างพระไตรปิฎกถวายวัด ห้องโถงชั้นล่างของอาคารที่เพิ่งสร้างใหม่ของวัดน้ำพาเกดูคล้ายเป็นห้องสมุดที่เก็บสมุดข่อยเก่าๆ ที่เขียนด้วยอักษรไท หลากเรื่องราวที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวพุทธ แต่ที่น่าสะดุดตาเป็นชั้นของพระไตรปิฎกแบบใหม่ที่คนนำมาถวายกันในยุคหลัง ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกแบบซีร็อกซ์ เป็นวิธีการที่ง่าย ไม่ต้องนั่งคัดลอกกันอยู่โบร่ำโบราณ

แขกจากเมืองไทยได้เยี่ยมชมแทบทุกซอกมุมของวัดก็ด้วยมีเพื่อนในคณะของเราบางคนสนิทสนมกับผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่มีนามฉายาว่า โฮรุภันเต ภิกษุวัย 30 กว่า ที่ดูเงียบขรึมกว่าอายุจริงในบางบุคลิก และกลับร่าเริงเหมือนเด็กๆ ในบางขณะ

โอ้ เชิญๆ นี่พื้นที่ของฉัน โฮรุภันเตเชื้อเชิญอย่างยินดีแต่แรกที่เราเข้าไปถึงหน้าอาราม จากนั้นก็สนทนาวิสาสะ ให้ดูโน่นนี่ ซึ่งตลอดเวลาท่านพูดเสียงดัง หัวเราะอย่างรื่นเริง จนดูเหมือนขาดความสำรวมหากถือตามขนบของพระไทย เพื่อนเราที่สนิทกับท่านกระเซ้าว่า ให้ควบคุมตัวเองหน่อย ท่านบอก ควบคุมไม่ได้แล้วตอนนี้

แต่เราไม่คิดว่าบุคลิกที่เห็นต่อหน้าจะนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ความจริงพื้นๆ สอนเราอยู่เสมอว่าแก่นสารกับภาพลักษณ์ภายนอกบางทีก็เป็นคนละเรื่อง

จนเมื่อท่านเดินนำเราเข้าไปเยี่ยมบ้านคนไทในหมู่บ้าน เจอเด็กร้องไห้โยเยท่านก็ล้วงเอาเงินยื่นให้ไปซื้อขนมกิน ไปเจอเด็กเล็กๆ ที่ยังพูดจากันไม่รู้เรื่องท่านก็เป่าปากเป็นเสียงนก เสียงสัตว์แปลกๆ ให้เด็กได้ตื่นใจเล่น กับอีกทีท่านถึงกับเอาเขี้ยวเสือมาจ่อที่มุมปากแล้วทำหน้าทำตาและส่งเสียงคำรามอย่างเสือ ฯลฯ

ผมก็ครื้มใจว่าเราคงเจอพระเซนเข้าให้แล้ว ดังที่เคยได้ยินว่าพระที่บรรลุเซนแล้วอาจเที่ยวร้องเพลงเล่นวิ่งจับกับเด็กๆ ได้โดยไม่ไยดีกับคำก่นด่าหรือสรรเสริญ
แต่ในอีกวัน ผมมาถึงศาลาวัดในช่วงที่มีแขก(อาคันตุกะ)ฮินดูกลุ่มใหญ่มาเยือนวัด โฮรุภันเตที่ยืนเทศนาอยู่ต่อหน้าศาสนิกต่างศาสนานั้นดูเหมือนเป็นคนละคน ท่านพูดจาในน้ำเสียงอ่อนโยน ช้า ชัด และเบา อย่างสำรวม เคลื่อนไหวเนิบช้า แม้ในช่วงท้ายที่ท่านไปหยิบเอาคัมภีร์ใบลานมาคลี่ถือให้แขกที่เป็นเยาวชนฮินดูถ่ายรูป หน้าตาของท่านก็ยังคงเรียบขรึมดูเข้ากันดีกับคัมภีร์พุทธศาสนาโบราณ

ความจริงอาตมาเป็นพระที่มีชื่อเสียงนะ โฮรุภันเตกระซิบกับผมเมื่อบรรดาแขกแยกย้ายกันไปเดินดูวัด และเป็นครูที่ดีด้วย อาตมาพยายามให้สิ่งดีกับชาวฮินดูที่เข้ามาในวัด ท่านพูดจริงจัง ในบุคลิกที่แตกต่างอย่างกลับด้านกับเมื่อวันก่อน

วัดพุทธอยู่ในชุมชนชาวไทพุทธ แต่รายรอบล้วนเป็นคนต่างเผ่าพันธุ์โดยเฉพาะชาวฮินดู แล้วด้วยทำเลที่ตั้งอยู่บนที่สวยงามทางภูมิทัศน์ธรรมชาติ จึงเลี่ยงไม่พ้นที่จะมีคนอยากมาเที่ยว

เรารู้จากการปะติดปะต่อคำบอกเล่าของหลายๆ คนว่า ช่วงหลังมานี้การเข้ามาของคนจากข้างนอกหนักหน่วงจนคนในถิ่นรู้สึกถูกรบกวน แต่โฮรุภันเภก็เปิดวัดต้อนรับคนต่างศาสนา จนถูกบางคนค่อนขอดว่าเป็น บริษัทโฮรุ

ได้ยินอย่างนี้ใจเราก็แกว่ง คลายความเลื่อมใสไปบ้างเหมือนกัน

เมื่อลองหยั่งด้วยคำถามว่า แล้วท่านเป็นคนไทพาเกในในหมู่บ้านนี้ไหมเล่า ท่านเลี่ยงที่จะบอกว่าตัวเองไม่ได้เป็นไทพาเก หากแต่เป็นเนปาลี ด้วยคำตอบคมคายว่า อาตมาไม่เป็นใครแล้วในทุกวันนี้ อาตมาเป็นภันเต (พระ)

หัวค่ำวันที่เราจะเดินทางออกจากหมู่บ้าน เราตั้งใจว่าจะต้องนมัสการลาท่านด้วย จอดรถลงเดินเข้าไปถึงหน้าศาลาในจังหวะเดียวกับที่ท่านเดินออกจากใต้ร่มโพธิ์ต้นใหญ่

ท่านบอกว่ามาจากบูชาพระ

ผู้ใหญ่ในคณะของเราบอกว่าจะหาทางนิมนต์ท่านไปจำพรรษาศึกษาธรรมที่วัดป่าในเมืองไทย โฮรุภันเตเคยมาเมืองไทย มีโอกาสได้ไปจำวัดและเดินบิณฑบาตกับพระสงฆ์ที่วัดหลวงปู่มั่น เพื่อนที่ตามปฏิบัติอุปัฏฐากบอกว่าดูท่านพึงใจมาก เมื่อได้ยินคำปรารภนิมนต์อีก โฮรุภันเตก็ตอบรับอย่างยินดี

ที่นี่เหมือนเป็นธุรกิจไปแล้ว ท่านพูดคำนี้ออกมาเอง ท่านอาจระแคะระคายถึงสิ่งที่ชาวบ้านครหาหรือหยั่งรู้ในสิ่งที่เราได้ฟังมาก็ตาม ท่านว่า ถ้าได้ไปอยู่ในที่สงบอย่างนั้นก็คงได้ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้ธรรมจริงจัง

เรานมัสการลาในท่วงทีเงียบขรึมน่าเลื่อมใสของท่าน

เพื่อนเราคนที่สนิทกับท่านมากที่สุด ทรุดตัวลงก้มกราบ-ในจังหวะเดียวกับที่ท่านผละไปทำอะไรสักอย่าง จึงไม่ทันได้รู้เห็นว่าถูกกราบ

แต่อีกใจหนึ่งเราไพล่ตีความไปว่านั่นอาจเป็นความฉับไวของผู้พ้นติฉิน-สรรเสริญไปแล้ว

ย่อมหลีกหนีทุกการกราบไหว้และการยกย่องสรรเสริญ

อย่างในตำนานเรื่อง “ท่านกานซานและท่าจิเต้แกล้งบ้า” ที่ฝาผนังโรงมหรสพทางวิญญาณ ที่สวนโมกข์ ไชยา

วีระศักร จันทร์ส่งแสง

จาก http://www.budnet.org/article/?p=1367
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...