ผู้เขียน หัวข้อ: ปรากฏการณ์ระบบนิเวศ และ สิ่งแวดล้อมเชิงพุทธในศตวรรษที่ ๒๑ (แม่ชีศันสนีย์ )  (อ่าน 1316 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ปรากฏการณ์ระบบนิเวศ และ สิ่งแวดล้อมเชิงพุทธในศตวรรษที่ ๒๑ 

มองนอกดูใน โดย แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต www.sdsweb.org

              เมื่อได้รับคำเชิญให้ไปร่วมประชุมเรื่อง ปรากฏการณ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเชิงพุทธในศตวรรษที่ ๒๑ (21st Century Buddhist Ecological Environment Phenomenon) ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ ๒๖ ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก และการจัดการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๑๗ ของยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (โดยเป็นการฉลองครบรอบ ๔๐ ปีของพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก) ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๖  มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่สาธารณรัฐเกาหลี ข้าพเจ้าก็หวนระลึกถึง ภิกษุณีเมียว ซอง (Ven.Myong Sung sunim) อดีตประธานภิกษุณีเกาหลี ซึ่งเคยมาร่วมการประชุมนานาชาติศากยธิดา ครั้งที่ ๑๒ ที่เสถียรธรรมสถาน เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔

               ข้าพเจ้าจึงประสานไปยังองค์กรภิกษุณีเกาหลีเพื่อไปเยี่ยมเยียน ท่านเมียว ซอง ดังที่ท่านได้เคยเมตตาเชื้อเชิญไว้ เมื่อไปถึงในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ท่านเมียว ซอง ได้ส่งนักเรียนพุทธนานาชาติมาดูแล และพาไปพักค้าง ณ วัดอุนมุน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโซล ๓ ชั่วโมง

               วัดอุนมุน ตั้งอยู่ในหุบเขา กว้างใหญ่กินพื้นที่ภูเขาถึง ๓-๔ ลูก เป็นวัดที่เก่าแก่ถึงกว่า ๑,๔๐๐ ปี เดิมมีเพียงศาลาโบราณหนึ่งหลัง แต่เมื่อท่านเมียว ซอง เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการพัฒนา จนมีอาคารแบบเกาหลีโบราณอีกเกือบสิบหลัง และทำให้วัดเป็นที่ศึกษาของผู้หญิงที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในวิถีของภิกษุณี โดยต้องเรียน ๔ ปี เพื่อการเป็นภิกษุณีที่สมบูรณ์

               วัดอุนมุนถือเป็นวัดที่ให้การศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี ปัจจุบันมีนักเรียน ๑๕๐ ท่าน คณะของเราได้เรียนรู้วิถีชีวิตนักบวชหญิงในวัฒนธรรมพุทธเกาหลีในหลากหลายแง่มุม อาทิ วินัยที่เข้มงวด โดยวิถีชีวิตเริ่มต้นตอนตี ๓, เรียน ๒ ชั่วโมงต่อวัน เป็นการให้การศึกษานักบวชโดยให้เรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเอง ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ห้องเรียน-ห้องฉัน-ห้องนอน...ห้องเดียวกัน ปลูกพืชผักรับประทานเอง และในเย็นวันที่ ๑๒ ท่านเมียว ซอง ได้เดินทางมาร่วมพิธีเปิดการประชุมที่เมืองโยสุพร้อมกับข้าพเจ้าด้วย การเปิดการประชุมในวันที่ ๑๒ มิถุนายน มีบุคคลสำคัญมาร่วมแสดงทัศนะที่น่าสนใจมากมาย อาทิ

               “พวกเราหวังที่จะพัฒนาโลกให้เดินทางสู่ดินแดนอันบริสุทธิ์ (Pure Land) ซึ่งเต็มไปด้วยสันติภาพ อิสรภาพ และความสุข ดังนั้นเราจึงต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อยุติปัญหาต่างๆ ที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ เราคงต้องช่วยกันทำให้การบริโภคที่มากเกินไปของสังคมโลกกลับเข้าสู่หนทางที่ถูกต้องในศตวรรษที่ ๒๑ นี้” พระอาจารย์จินเจ สังฆราชขององค์กรโจงเกของพุทธศาสนาในสาธารณรัฐเกาหลี

               “ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเตรียมการด้วยความรักของชาวเกาหลีเพื่อให้พวกท่านได้รับประสบการณ์ที่งดงามในท่ามกลางสภาพแวดล้อมของวิถีชีวิตนักบวชในวัฒนธรรมพุทธเกาหลี จะทำให้พวกท่านได้มีความเข้าใจในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการสื่อสารของชาวเกาหลีมากขึ้น และ เกิดความเข้าใจกันได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น” พระอาจารย์จาซุง ประธานองค์กรโจงเกของพุทธศาสนาของสาธารณรัฐเกาหลี

               “พวกเราอยู่ในช่วงเวลาที่โลกต้องการความเป็นหนึ่งเดียว ความกรุณา และความเข้าใจ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือกันของมนุษยชาติ ดังนั้นผมจึงขอขอบคุณทุกท่านที่มีหน้าที่เผยแผ่พระธรรมไปทั่วทุกมุมโลกที่มาร่วมงานในครั้งนี้” ท่านแผน วรรณเมธี ประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก 
 
               “ข้าพเจ้าหวังว่า ทุกท่านจะเปิดใจกว้าง และมีโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างการประชุมสัมมนาที่เต็มไปด้วยสาระและประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ” ดร. ยู จอง คิม ประธานสมาคมฆราวาสชาวพุทธขององค์กรโจงเกของพุทธศาสนาในสาธารณรัฐเกาหลี
 
               “คำสอนที่สำคัญของพระพุทธเจ้า เรื่องความกรุณาที่พระองค์ได้ตรัสรู้มาเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีที่แล้ว  ทำให้ผู้คนมากมายได้พ้นทุกข์ ทำให้เกิดสันติภาพบนโลก…ในขณะที่ยังคงมีความขัดแย้ง ความทุกข์ภายใน รวมทั้งการหลงทางของผู้คนบนโลก ดังนั้น นี่อาจเป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะนำคำสอนของพระพุทธเจ้าออกมาเผยแผ่ให้เกิดสันติภาพ และการอยู่ร่วมกันอย่างที่พระองค์แสดงให้เห็น เปรียบราวกับการที่น้ำพวยพุ่งออกเป็นน้ำพุที่เย็นฉ่ำ ทำให้สรรพสิ่งสดชื่น” ลี มยอง บัค  ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเกาหลี 

               การประชุม ปรากฏการณ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเชิงพุทธในศตวรรษที่ ๒๑ นั้นเป็นการสัมมนาทางวิชาการ และสัมมนาทางธุรกิจ โดยมีตัวแทนนักวิชาการและนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงมากมายมาร่วมนำเสนอทางเลือกในมุมมองพุทธศาสนาในประเด็นที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลก โดยงานในครั้งนี้เป็นการจัดการประชุมครั้งที่ ๓ ของการสัมมนาธุรกิจของชาวพุทธ ทั้งยังเป็นการพบปะกันครั้งที่ ๙ ของคณะกรรมการมหาวิทยาลัยพุทธโลก...(อ่านเพิ่มเติมได้จากนิตยสาร ‘ธรรมสวัสดี’ ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕)
 
       ธรรมสวัสดี

จาก http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/133315

http://www.sdsweb.org/sdsweb/index.php/home/2010-09-17-07-06-53/viewphoto/622/

เพิ่มเติม http://www.sdsweb.org/sdsweb/index.php/2011-07-01-04-54-30/629--2555

http://www.sdsweb.org/sdsweb/index.php/2010-09-03-16-43-09/2010-09-04-10-17-19/690--2555

ดาวโหลด http://www.sdsweb.org/sdsweb/images/stories/dhammasawasdee/issue_19.pdf

http://www.sdsweb.org/sdsweb/images/stories/dhammasawasdee/issue_23.pdf
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


เคารพตน...เคารพท่าน...เคารพโลก : มองนอกดูใน โดย แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต

               ปี ค.ศ. ๒๐๑๒ เป็นช่วงเวลาครบรอบ ๒๐ ปีของการจัดประชุม Earth Summit องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้จัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๑๒ หรือ ‘Rio+20’ ขึ้นที่เมืองริโอ เดอจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๒ มิถุนายน โดยมีหัวข้อการประชุมหลัก ๒ เรื่อง คือ Green Economy in the Context of Sustainable Development and Poverty Eradication และ Institutional Framework for Sustainable Development โดยมีประมุขของรัฐและประมุขของรัฐบาลรวม ๑๓๒ ประเทศ รวมทั้งผู้แทนรัฐบาลทุกรัฐบาลทั่วโลก ประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน เข้าร่วมด้วย การประชุมครั้งนี้เป็นการจัดในโอกาสครบ ๒๐ ปี จากการจัดการประชุมริโอซัมมิท หรือการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม ค.ศ.๑๙๙๒

               ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ และทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยตามคำกราบทูลเชิญของประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลไปทรงร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.๒๐๑๒ ด้วย
 
               นอกจากนี้ยังมีการจัดการประชุมของหลายภาคส่วนอยู่ทั่วเมืองริโอ เดอจาเนโร อาทิ  People Summit ซึ่งเป็นการประชุมของภาคประชาชนจากทั่วโลก โดยทั้งหมดทั้งมวลเป็นการประชุมที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น GPIW (Global Peace Initiative of Women) ก็ได้จัดการเสวนาขึ้นทั้งในงาน People Summit และที่ Aldeia Nova Terra ป่าดงดิบในภูเขาที่ร่มรื่น และข้าพเจ้าก็ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรในทั้งสองส่วน และเข้าร่วมประชุมในส่วนของ Earth Summit ด้วย
 
               การประชุมของ GPIW เริ่มต้นขึ้นด้วยการกล่าวเปิดประชุมของผู้เป็นประธาน...ดีน่า มีร์เรียม
 
               “การประชุม Rio+20 เน้นเรื่อง ‘เศรษฐกิจสีเขียว’ ซึ่งมีความหมายหลากหลาย เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยความกรุณาทำให้เกิดระบบการพัฒนาชีวิตที่ยั่งยืน ซึ่งให้ความสำคัญกับท่วงทำนองแห่งธรรมชาติและความจำเป็นที่ต้องใช้พลังจากธรรมชาติ รวมทั้งการดูแลสรรพสิ่งที่มีชีวิต และหลักการทางจิตวิญญาณอะไรที่ควรเป็นพื้นฐานของวิสัยทัศน์นี้...”
 
               นอกจากนี้ยังมีผู้แสดงทัศนะที่น่าสนใจยิ่ง อาทิ
 
               “เมื่อ ๓-๔ ปีก่อนผมได้ทำสถิติโดยตั้งคำถามให้กลุ่มคนอายุ ๑๓-๓๕ ปี ตอบว่า หากมีสิ่งของสองราคา จะเลือกซื้ออะไรระหว่าง หนึ่ง...ราคาถูก สอง...ราคาแพงขึ้นมาหน่อยแต่ได้ช่วยสิ่งแวดล้อม ๗๐% ของเด็กอายุ ๑๓-๑๙ ปี เลือกซื้อของราคาถูก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเราคงต้องทำงานมากขึ้นเพื่อทำให้เยาวชนเข้าใจถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม...
 
               “หากเราตระหนักว่า พวกเราทุกคนเป็นทั้งปัญหาและทางออก ไม่ใช่เฉพาะผู้นำประเทศหรือนักการเมืองที่จะแก้ไขปัญหา และศาสนาเป็นพื้นฐานในการหล่อหลอมทัศนคติของชุมชน เมื่อไรที่ศาสนาเริ่มกระตุ้นให้คนในชุมชนมองทุกเรื่องอย่างเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ก็จะเกิดการกระทำของชุมชนที่ช่วยเหลือธรรมชาติ ผมเชื่อว่าเรามีความหวัง เพราะในฐานะคนในศาสนาและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน...เรากำลังทำสิ่งนี้อยู่” เป็นคำกล่าวของ บาทหลวงริชาร์ด ซีซิค ประธานองค์กร นิวอิแวนเจลิคอล จากประเทศสหรัฐอเมริกา
 
               สำหรับข้าพเจ้า ได้แลกเปลี่ยนกับที่ประชุมตอนหนึ่งว่า
 
               “เราเกิดมาเพื่อไป โลกนี้ไม่ใช่ของเรา เราเป็นแค่เพียงผู้อาศัย เป็นผู้ขอยืม อย่าติดหนี้แล้วจากไปอย่างทิ้งความทุกข์ไว้กับโลกใบนี้ กลับมามีความสุขเล็กๆ กับลมหายใจเข้าที่อ่อนโยน ได้ออกซิเจนจากต้นไม้ และคืนคาร์บอนไดออกไซด์อย่างคนที่มีความรักให้กับทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้...ข้าพเจ้าขอนำเสนอความสุข ๓ แบบที่เราทำได้ทันที สุขแรกคือ การกลับมามีความสุขง่ายจากการใช้น้อย สุขที่สอง คือมีความสุขกับการเป็นผู้สร้าง ไม่ใช่สุขในฐานะของผู้เสพ สุขที่สามสำคัญมาก คือเราต้องสุขกับการมีจิตที่คิดจะให้ เราต้องช่วยกันทำเศรษฐกิจประเภทที่จะมีความสุขที่ได้จากการให้มากกว่าความสุขที่ได้จากการรับ เรามีชีวิตที่มีร่างกายและจิตใจ แต่เราก็บังคับทั้งกายและใจไม่ได้ แต่เราสามารถอยู่กับกายกับใจของเรา โดยอยู่ในปัจจุบันขณะอย่างที่เคารพชีวิตของเราได้ และถ้าเราเคารพชีวิตของเราได้ เราก็เคารพคนที่อยู่ข้างหน้าเราได้ เคารพโลกได้”
 
               ติดตามทัศนะอันหลากหลายและน่าสนใจเพิ่มเติมได้จากนิตยสาร ‘ธรรมสวัสดี’ ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕ โดยรับได้ที่สถานีรถไฟฟ้า BTS และที่เสถียรธรรมสถาน หรือ www.sdsweb.org

           ธรรมสวัสดี

จาก http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/134422
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...