ภูเขาไกลาส เป็นภูเขาสีเงินยวง เนื่องจากมีหิมะและน้ำแข็งสีขาวโพลนปกคลุมอยู่ตลอดปี ยอดเขาตั้งตระหง่านอยู่บนท้องฟ้า รูปร่างเป็นเหลี่ยมคล้ายกับว่าถูกเจียระไน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของทิเบต ยอดเขาสูง 22,020 ฟุต หรือ 6,600 เมตร ยอดเขาสูงเป็นอันดับที่ 32 ของโลก สูงเป็นที่ 19 ของเทือกเขาหิมาลัย มีเขา 3 ลูกรองรับ เป็นฐานเรียกว่า ตรีกูฏ (สามเส้าหรือสามยอด) มีทะเลสาบล้อมรอบ 7 แห่ง ทะเลสาบที่มีชื่อเสียงที่สุดคือทะเลสาบมานัสสะ หรือมนัสโรวาร์ (Manasrovar Lake) มีภูเขาล้อมรอบ 7 ทิว เรียกว่า สัตบริภัณฑคีรี คือ ทิวเขา ยุคนธร กรวิก อิสินธร สุทัศ เนมินธร วินตก และอัสกัณ มีมหาทวีปทั้ง 4 คือ ชมพูทวีป อมรโคยาน ปุพพวิเทห และ อุตรกุระ รายล้อม บริเวณเขาเป็นต้นกำหนิดของแม่น้ำสำคํญในภูมิประเทศเอเชีย 4 สายคือ คงคา (Ganges), แม่น้ำสินธุ (Indus or Sindhus), แม่น้ำสัตเลจ (Sutlej หรือ Sutudri ) และ แม่น้ำพรหมบุตร (Brahmaputra River)
ไกลาสเป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า เขาพระสุเมรุ ตามตำนานกล่าวว่าเขาพระสุเมรุคือศูนย์กลางของจักรวาล มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาวต่างๆ หมุนรอบ และมี วงแหวนของทวีปทั้งเจ็ดกับมหาสมุทรทั้งเจ็ดหมุนสลับกันอยู่รอบนอก เขาพระสุเมรุทั้งสี่ด้านเชื่อมต่อกันด้วยยอดเขาที่ทำจากทอง แก้วผลึกหินสีน้ำเงินหรือหินลาปิส ลาซูลี (lapis lazuli) และหินทับทิม (Ruby)
ภาษาทิเบตเรียกว่า คัง ติเซ (Gang Tise) แปลว่า ธารน้ำแข็ง เป็นชื่อในภาษาชางชุง (Zhang Zhung) ซึ่งเป็นอาณาจักรโบราณแห่งเอเซียกลาง ซึ่งเชื่อว่ามีใจกลางอยู่ที่บริเวณเขาไกรลาศ
ภาษาไทยในวรรณคดีเรียกว่า "เขาไกรลาส" ภูเขานี้มีทั้งตำนานและความเชื่อมากมายเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ ทั้งความเชื่อของคนที่นับถือศาสนาฮินดู (Hindu) ศาสนาพุทธ (Buddhism) ศาสนาเชน (Jainism) และ วิถีแห่งจิตวิญญาน (spiritual tradition) พุทธเพิน (Bon Buddhism) เป็นต้น
คนในศาสนาฮินดูเชื่อว่าเขาไกลาสเป็นที่ประทับของพระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดของเขา และทะเลสาบมนัสโรวาร์เป็นที่ประทับของพระนางอุมาเทวี ในแต่ละปีชาวฮินดูจำนวนมากจากทุกแห่งหน นับล้านคนจึงเดินทางมาสักการะและเดินภาวนารอบภูเขา หากทำได้ครบ 39 รอบ ก็ถือว่าเป็นการสักการะบูชาที่สูงที่สุดแล้ว
ศาสนาเชน (Jainism) เชื่อว่าองค์ตีรถังกร (Tirathankar) ซึ่งแปลว่าผู้สร้างทางข้ามพ้นไป ศาสดาองค์แรกของเขาที่ชื่อ ฤษภะ (Rishabha) บรรลุนิรวาณ (นิพพานในพุทธศาสนา) ที่ภูเขาไกลาสแห่งนี้
ผู้ที่นับถือในวิถีแห่งพุทธเพินเชื่อว่า ไกลาสคือที่ประทับของพระเมรีแห่งชางชุง เป็นพระยีตัมในคัมภีร์ตันตระ และพระพุทธเจ้าเติมปา เชนรับ มิโวเช (Tonpa Shenrab Mivoche) ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระพุทธเจ้าศากยมุนี ประสูติ ณ บริเวณนั้น
ส่วนพุทธนิกายอื่นๆ เชื่อว่า ไกรลาสเป็นที่ประทับของพระจักรสัมภระ (Chakrasambhara หรือ Buddha Demchok) และพระฑากินีวัชรวราหิ (Dakini Vajravarahi)
ชาวทิเบตถือว่าหากเดินภาวนาเวียนรอบเขาและปฏิบัติบูชาได้ครบ 108 รอบ ถือว่าเป็นการสักการะบูชาที่สูงที่สุด จะถึงนิพพาน
ดังนั้นเขาไกลาสจึงได้ชื่อว่าเป็นเขาที่ศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และคือแห่งเดียวกันกับเขาพระสุมรุ อีกทั้งเป็นศูนย์รวมของเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหลาย ๆ ศาสนาโดยปราศจากความขัดแย้งกัน
สำหรับชาวทิเบต ปีมะเมียถือว่าเป็นปีแห่งภูเขาไกรลาส ผู้ใดที่ได้ไปจาริกภาวนารอบภูเขาไกรลาสในปีนี้จะได้อานิสงส์จากการบำเพ็ญกุศลเพิ่มพูนขึ้นถึง 12 เท่า เปรียบเสมือนว่าได้เดินจาริกบุญครบ 12 รอบ และได้สลายอกุศลกรรมที่ได้เคยทำมาในทุกภพทุกชาติ อันจะนำไปสู่บุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตต่อไป ดังนั้นในปี 2557 ซึ่งเป็นปีมะเมีย ชาวทิเบตจึงออกมาจาริกบุญที่เขาไกลาสจำนวนมากโดยเฉพาะในเดือนที่เป็นเทศกาลวิสาขบูชาปุณมี (Saga Dawa Festival) ตามปฏิทินของทิเบต
คณะเราเดินสวดมนต์ภาวนารอบภูเขาไกลาสเป็นระยะทาง 52 กิโลเมตรใช้เวลา 3 วัน พักค้างคืนบนเขา 2 วัน
วันแรกของการภาวนารอบเขา ระยะทาง 20 กิโลเมตร เริ่มเดินจากเมืองดาเชน (Darchen) ตั้งแต่เช้าจรดเย็นไปพักค้างคืนบนเขาที่เกสต์เฮ้าส์ใกล้กับวัด Diraphuk ทางเดินวันนี้ค่อนข้างเรียบกว่าวันอื่น ๆ แต่การเดินขึ้นเขาระยะทาง 20 กิโลเมตรก็สาหัสสากรรจ์สำหรับเราทีเดียว ช่วงเย็นวันนั้นขณะที่กำลังเดินอยู่ ฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก แต่เรามีเสื้อกันฝน จึงไม่เปียกปอน เพียงแต่เดินลำบากขึ้นและเหนื่อยมากขึ้น เนื่องจากไม่เคยเดินไกลท่ามกลางแสงแดดจัด ฝนตก และอากาศเบาบางขนาดนี้มาก่อน เราใช้เวลาเดินถึง 8 ชั่วโมงเต็ม พอถึงที่พักก็หมดแรง ล้มตัวลงนอนรวดเดียวถึงเช้าโดยไม่รู้สึกหิวเลย น้ำก็ไม่ต้องอาบ เพราะไม่มีน้ำ ใช้น้ำดื่มในขวดสำหรับล้างหน้าเท่านั้น ที่จริง เราก็ไม่ได้อาบน้ำมาหลายวันก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะต้องการรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้อบอุ่น จะได้ไม่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ตามคำแนะนำของอาจารย์กฤษดาวรรณ ประธานมูลนิธิพันดารา ผู้นำจาริกบุญ สำหรับห้องสุขาของเราก็คือ ท้องที่ทั่วไปในธรรมชาติอันโล่งโถง โปร่งสบาย ตรงไหนก็ได้ที่ไม่มีใครมอง
วันที่สองของการภาวนารอบเขา ระยะทาง 20 กิโลเมตร เป็นทางที่สูงชัน ขรุขระ เต็มไปด้วยหินหยาบก้อนโต ๆ ระหว่างทางเดินบนเทือกเขาขึ้นสู่ความสูง 5,000 เมตร เป็นเส้นทางการสลายบาปกรรม (Dikpa La Pass) เดินทางด้วยความลำบากมาก ผู้จาริกบุญจะสวดมนต์ภาวนาขอสลายบาปกรรมให้พ่อแม่ ทิ้งของส่วนตัวเช่นหมวก ถุงมือ หรือเสื้อ และตั้งใจละทิ้งกิเลสและอกุศลกรรมไว้ที่นั่น เป็นสัญลักษณ์ว่าเราจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ประกอบแต่กุศลกรรม ก่อนเดินขึ้น Drolma La Pass (เส้นทางแห่งตารา) ที่มีจุดสูงสุดที่ 5,630 เมตร อากาศเบาบางและเย็นมาก
เราตัดสินใจขี่ม้า 8 กิโลเมตรแรกของวันนั้น จึงทำให้ไม่เหนื่อยจนเกินไป แต่ใช่ว่าขี่ม้าแล้วจะสบายนัก เจ้าของม้าเราเขาไม่ได้จูงม้าเลย ปล่อยให้ม้าเดินเอง ม้าที่เราขี่มันยังเด็กและคะนองนัก มันชอบเดินไปเบียดตัวอื่นเพื่อแซงขึ้นหน้า อย่างกับจะเอาชนะให้ได้ บางทีท้องมันก็เบียดก้อนหินใหญ่ ๆ ตามขอบทาง มันไม่เจ็บหรอกเพราะรู้ว่าท้องมันอยู่ตรงไหน แต่ขาเราที่ทาบบนท้องมันนี่สิ น่าหวาดเสียวนักว่าจะถูกหินหรือสัมภาระที่ห้อยอยู่บนม้าตัวอื่นครูดน่องหายไปสักกิโลหรือเปล่า ต้องคอยยกหนีก้อนหินอยู่เรื่อย บางครั้งพอผ่านเหวก็กลัวว่ามันจะเหยียบพลาด พาเราตกลงไป แต่ก็ทำใจ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด หลับตาลงเสียบ้าง ความเหน็ดเหนื่อยและความเย็นของอากาศทำให้เราสัปหงก แต่เจ้าของม้าหยิกขาเราเต็มแรง หายง่วงเลย เพราะหากตกจากม้าไปกระทบหินก็คงบาดเจ็บ และอาจถูกม้าตัวอื่นเหยียบอีกด้วย ระหว่างทางจาริกบุญ เราผ่านสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่ง เราได้อธิษฐานขอสลายบาปกรรมที่ได้ทำมาในสามกาลให้พ่อแม่ของเราในทุกภพทุกชาติ และให้สัตว์โลกทั้ง 6 ภพภูมิ เมื่อถึงทางเดินตรงจุดสูงสุดของเทือกเขาที่เรียกว่า Drolma La Pass ก็ได้เห็นธงมนต์ผูกไว้มากมาย เห็นเขาไกลาสแจ่มกระจ่างชัดกว่าที่ใด ๆ ท้องฟ้าเปิดสวยงามมาก รู้สึกปิติ ตื้นตันใจเป็นที่สุด ได้สวดมนต์ขอให้พระรัตนตรัยได้ขจัดอุปสรรคทั้งภายนอก ภายในใจ ในส่วนลึกก้นบึ้งของจิตใจ ของทุกชีวิตให้สัมฤทธิ์ผลสมดังใจปรารถนาด้วยเทอญ ขณะที่เดินลงเขาแม้จะเหนื่อยมากแทบเดินไม่ไหว หันไปมองยอดเขาไกลาสครั้งใดจิตใจก็เข้มแข็ง มีพลัง เป็นสุขทุกย่างก้าวที่เดินจากมา
ขณะเดินลงจาก Drolma La Pass เราก็ได้เห็นและได้สวดมนต์ภาวนาที่ ทะเลสาบฑากินีอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Dakini Lake or Gauri Kund Lake) ซึ่งเป็นทะเลสาบเป็นแอ่งน้ำเล็ก ๆ หลายแห่ง อยู่ในที่ลุ่มจากทางเดิน น้ำในทะเลสาบเป็นสีเขียวข้น แปลกตามาก ไม่เคยเห็นน้ำสีนี้มาก่อน เราได้ยินเสียงสวดมนต์บทพระแม่ตารา (Tara Mantra) ของชาวทิเบต ดังอยู่ตลอดเวลา ..Om Tare Tuttare Ture Soha ... เราจึงสวดไปกับเขาด้วย บางคนก็นำขวดเล็ก ๆ มาใส่น้ำจากทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้กลับไปบ้านด้วย
คืนนั้นเราหลับสบายในเต้นท์ขนาดที่นอนรวมกันได้ 8 คน บริเวณที่กางเต้นนั้นเป็นทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ มีเทือกเขารายล้อม มองเห็นฝูงจามรีกำลังเล็มหญ้าอยู่แต่ไกล งดงามตาและประทับใจยิ่งนัก วันนั้นเราไม่รู้สึกหิวอีกเช่นเคย ง่วงนอนมากกว่า ห้องสุขาที่ทำธุระส่วนตัวก็โล่งโถงโปร่งสบายเช่นเดียวกับวันก่อน ๆ อีก เลือกมุม เลือกบรรยากาศได้ตามใจชอบ
วันที่ 3 เป็นวันที่เดินภาวนาแบบสบาย ๆ บนทางราบลงเขา ระยะทางวันนี้ 12 กิโลเมตร เราเดินได้ 8 กิโลเมตรก็มีรถเล็กมารับอีก 4 กิโลเมตรสุดท้าย
ก่อนเดินลงถึงชายเขาเมืองดาเชน (Darchen) อาจารย์กฤษดาวรรณก็ได้นำพวกเราสวดมนต์ชุดใหญ่ด้านหน้าของรอยเท้าพระฑากินีที่ประทับไว้บนก้อนหินหลายรอย เราต่างผลัดกันไปกราบที่รอยพระบาทและขอพรให้ท่านได้โปรดอภิบาล ปกป้องกันผองภัยให้แก่สัตว์โลกทั้งมวล
เมื่อจบการภาวนารอบเขาไกลาส คณะเราก็ได้ไปอาบน้ำแร่ ซึ่งเป็นน้ำพุร้อนชำระร่างกายที่เมือง Tirthapuri อย่างมีความสุข ทุกคนรู้สึกผ่อนคลาย หายเหนื่อย หลังอาหารเย็นในวันนั้น เราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความประทับใจในการเดินภาวนารอบเขาไกลาสที่ชาวทิเบตเรียกว่า "คอร่า” (Kora) อังกฤษเรียกว่า "Circumambulation" ฮินดูเรียกว่า "ยาตรา" (Yatra) เล่าสู่กันฟังค่ะ
..... อ่านต่อได้ที่:
https://www.gotoknow.org/posts/578492อ่านได้อีกที่
http://www.sookjai.com/index.php?topic=178415.0