แสงธรรมนำใจ > หยาดฝนแห่งธรรม

ผลไม้ในสวนธรรม

<< < (2/4) > >>

ฐิตา:


หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร
 

...เวลาที่หมดไปสิ้นไป โดยไม่ได้ทำอะไรที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตัวเองบ้างในชีวิตที่เกิดมาในโลก
และได้พบพระพุทธศาสนานี้ ช่างเป็นชีวิตที่น่าเสียดายยิ่งนัก
เวลาแม้เพียงหนึ่งนาทีที่ผ่านไปนั้น แม้ว่าจะทุ่มเงินจำนวนมหาศาล ก็ไม่สามารถซื้อกลับคืนมาได้
ฉะนั้น สิ่งที่น่าเสียดายในโลกนี้
จะมีอะไรน่าเสียดายเท่ากับปล่อยวันเวลาผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ แม้ว่าจะเพียงแค่นาทีเดียว

   

เราผู้เป็นสาวก สาวิกา ศรัทธาญาติโยม ภิกษุสงฆ์ สามเณร ก็อย่าได้มีความท้อถอย อย่าไปคิดว่าเราทำไม่ได้
เราบุญน้อย วาสนาน้อย ละกิเลสไม่ได้ อย่าไปคิดอย่างนั้น
อะไรก็ตาม ถ้าหากว่าเรามีความตั้งใจมั่น ไม่หวั่นไหวแล้วย่อมได้ย่อมถึง เป็นไปได้ทุกถ้าวนหน้า

 

เรื่องการภาวนานั้น ไม่หมายเอาเพียงรูปร่างภายนอก... การนั่งแต่เพียงรูปร่างกายนั้นไม่ยุ่งยาก
ข้อสำคัญอยู่ที่การทำจิตใจตั้งมั่นรู้อยู่ภายใน รวมอยู่ภายใน รู้ตามเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ
มี อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น จนไม่ยึดมั่นถือมั่นเสียได้

 

การภาวนานั้น... ต้องรู้จักเลือกอุบายภาวนา พิจารณา อุบายที่ถูกจริต อาศัยความเพียรอย่างเดียวไม่ได้...
กิเลสมันพลิกแพลงเก่งต้องตามให้ทัน คนรู้จักพิจารณาก็ได้บรรลุธรรมเร็ว

 

การภาวนา เป็นเหมือนเครื่องค้นคว้าหาแก้วอันประเสริฐ คนเรามีแก้วอันประเสริฐอยู่ในตัว
แต่เมื่อไม่อาศัยการภาวนาก็ไม่สามารถค้นพบแก้วนั้นได้ พระพุทธศาสนามีคุณค่าสูงก็ด้วยสอนวิธีภาวนา
ทำใจที่มีกิเลสอาสวะเศร้าหมองอยู่ ให้หมดจดจากสิ่งเศร้าหมองกลับผ่องใสขึ้น

 

เป็นธรรมดาที่สังขารร่างกายของเรา จะต้องเดินไปสู่ความเสื่อมความสลาย แม้จะป้องกันแก้ไขอย่างไร
ก็เป็นแต่ยืดเวลาออกไปเท่านั้น ที่จะห้ามไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตายเลยนั้นไม่ได้
ฉะนั้น จึงให้มุ่งเอาจิตเป็นสำคัญ คือบำรุงรักษาร่างกายพอประมาณ แต่บำรุงรักษาจิตให้มากๆ
เป็นการหาสาระจากสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสารนั้นๆ ให้มากที่สุดที่จะทำได้ คือให้เร่งรัดบำเพ็ญกุศลเต็มสติกำลัง
ทั้งทาน ศีล ภาวนา แม้ร่างกายจะแก่ จะแตก จะตาย ก็ไม่วิตกกังวล เพราะสมบัติดี ๆ มีไว้
เตรียมไว้แล้ว ดังนี้ จะไปไหนก็ไม่ต้องกลัว

 

“การภาวนา” เป็นเรื่องของการบำเพ็ญเพื่อความสุข ไม่ใช่เพื่อความทุกข์ แม้จะมีความยากลำบากบ้างก็อย่าท้อถอย
ให้เห็นเป็นธรรมดาของการทำสิ่งมีค่าให้เกิดขึ้น

 

“มรณกรรมฐาน” นี้เป็นยอดกรรมฐานก็ว่าได้ คนเราเมื่ออาศัยความประมาทมัวเมา ไม่ได้มองเห็นภัยอันตราย
จะมาถึงตนคิดเอาเอง
หมายเอาเองว่า เราคงไม่เป็นไรง่าย ๆ เราสบายดีอยู่ เรายังเด็กยังหนุ่มอยู่ ความตายคงไม่กล้ำกรายได้ง่าย
อันนี้เป็นความประมาทมัวเมา

 

กิเลสมันมีอุบายหลายอย่างที่มักจะเอาชนะคน ผู้จะปราบมันเสมอ แทนที่จะปราบมัน กลับถูกมันปราบเอา
ฉะนั้น วันคืนล่วงไปอย่าให้ล่วงไปเปล่า ต้องประกอบความพากเพียรภาวนา
อย่าเห็นแก่กินแก่นอนเป็นใหญ่ ให้มุ่งชำระกิเลสเป็นของจำเป็น เป็นหน้าที่สำคัญ

 

ยิ่งเจริญ ยิ่งภาวนาเท่าใด จิตใจมันก็มีกำลัง เมื่อใจมีกำลัง มีความสามารถอาจหาญแล้ว
สิ่งที่เราว่ายากก็ไม่มีอะไรยาก สิ่งที่เราคิดว่าเหลือวิสัยก็ไม่เหลือวิสัย อยู่ในวิสัยทุกคนจะทำได้ทั้งนั้น

 

ภัยต่าง ๆ ที่เห็นกันนั้นอย่างมากเป็นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วก็ผ่านไป แต่ส่วนภัยของกิเลสนั้น
ตายแล้วยังไม่หมดภัย มันยังเป็นภัยข้ามภพข้ามชาติไปอีกไม่รู้สิ้นสุด
ถ้าเราไม่หาอุบายวิธีกำจัดมันให้หมดสิ้นหรือเบาบางไป เราก็ต้องประสบภัยจากมันเรื่อยไป

 

กาลเวลามันล่วงไปผ่านไป แต่มันก็ไม่ได้ล่วงไปเปล่า มันเอาอายุวัยของเราไปด้วย

 

ถ้าเราชำระเอากิเลส โลภ โกรธ หลง ออกไปมากเท่าไร ก็เท่ากับความเป็นพุทธะ ธัมมะ สังฆะ ของเราเพิ่มขึ้นทุกที

 

เมื่อสิ่งที่ไม่เที่ยงนั่นแหละ มาถึงบุคคลใด บุคคลนั้นจะต้องรู้เท่าทัน อย่าไปยึดเอาถือเอา
เมื่อไปยึดสิ่งใด ถือสิ่งใด สิ่งนั้นไม่เป็นไปตามใจหวัง ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา
ถ้าไม่ยึดเอาถือเอา เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีความไม่เที่ยงอย่างนี้ มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป
เกิดขึ้นใหม่ ตั้งอยู่ ก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นอยู่อย่างนี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง
ไม่ว่าคน สัตว์ วัตถุธาตุทั้งหลาย มีความไม่เที่ยงแท้แน่นอนอย่างนี้

 

อุบายใดก็ตามเป็นอุบายยังจิตของตนให้สงบระงับได้ ก็ให้ถือเป็น “อุบายภาวนา” ได้ทั้งนั้น

 

คนเราโดยมากมักถืออุปสรรคเป็นเครื่องบั่นทอนกำลังใจ เลยท้อแท้ที่จะแก้ไขปรับปรุง
หรือดำเนินกิจการให้รุดหน้าต่อไป
ส่วนผู้ที่มีความเข็มแข็ง หรือจะทำจิตใจของตนให้เข้มแข็งต่อไป จะต้องถืออุปสรรคอันตรายต่าง ๆ
เป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างเสริมบารมีของตนให้เพิ่มขึ้น

 

ชีวิตของเราเป็นของไม่ยั่งยืน เป็นของที่ต้องตายลงโดยแน่นอน เวลานี้อาจได้ยินข่าวมรณกรรมของผู้อื่น
ของพระอื่น แต่อีกไม่นาน
ข่าวนั้นจะต้องเป็นของเราบ้าง เพราะชีวิตทุกชีวิตจะต้องเป็นไปในลักษณะนี้ทั้งนั้น
...ฉะนั้น อย่าประมาทเรื่องความตาย ให้เร่งภาวนาทำจิตใจให้หมดกิเลส หมดทุกข์หมดร้อนให้ได้
ก่อนความตายจะมาถึง

ฐิตา:


หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
 

ใครจะหยาบละเอียดแค่ไหน นิสัยวาสนามีมาก มีน้อยเพียงไร จงยกตนให้เหนือกิเลสประเภทต่าง ๆ ด้วยความเพียร
จะจัดว่าเป็นผู้มีวาสนาบารมีเต็มหัวใจด้วยกัน หากไม่มีความเพียรเป็นเครื่องแก้
อย่างไรก็นอนกอดวาสนาที่เต็มไปด้วยกิเลสตัวหยิ่ง ๆ อยู่นั่นแล บาง...ก็ฟาดมันลงไปให้แหลกละเอียด หนา...
ก็ฟาดมันลงไปให้แหลกละเอียดเหมือนกันหมด จะสมนามว่าเป็นนักรบนักปฏิบัติเพื่อกำจัดสิ่งที่เป็นข้าศึกออกจากใจโดยแท้

   

ถ้าจับจุดของความรู้ไม่ได้ ก็อย่าลืมคำบริกรรมภาวนา ไปที่ไหน อยู่ในท่าอิริยาบถใด คำบริกรรมให้ติดแน่นกับจิต
ให้จิตเกาะอยู่กับคำบริกรรมภาวนานั้นเสมอเช่น พุทโธ ก็ตาม อัฐิ ก็ตาม เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ
บทใดก็ตาม ให้จิตติดอยู่กับบทนั้น ไม่ให้จิตไปทำงานอื่น

ถ้าปล่อยนี้เสีย จิตก็เถลไถลไปทำงานอื่นซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสไปเสีย ไม่ใช่เรื่องของธรรมที่เป็นความมุ่งหมายของเรา
บทธรรมที่เราตั้งขึ้นมานั้น เพื่อให้จิตเกาะอยู่กับคำบริกรรมบทนั้น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมที่เรากำหนดขึ้นเอง
อาศัยธรรมบทต่างๆ เป็นเครื่องยึดเครื่องเกาะของจิต ขณะทำลงไปก็เป็นธรรม จิตใจก็สงบ นี่แล
หลักการปฏิบัติที่จะทำให้จิตสงบเยือกเย็นได้โดยลำดับของนักภาวนาทั้งหลาย

 

เรื่องสติปัญญาต้องขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ เราจะไปเอาเรื่องเก่าที่เคยเป็นมา มาปฏิบัติไม่ได้ เป็นเรื่องนิทาน
หรือเป็นเรื่องปริยัติ เป็นตำรับตำราไปเสีย มันไม่ขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ
หากว่าจะเป็นอุบายของสติปัญญาที่เคยเป็นมาแล้ว ก็ให้เกิดขึ้นมาโดยสด ๆ ร้อน ๆ
อย่าให้เกิดด้วยการคาดหมาย

 

การที่จะตั้งหลักตั้งฐานเบื้องต้นนี้ลำบากเหมือนกัน แม้ลำบากแค่ไหนก็อย่างถือเป็นอารมณ์
จะเป็นอุปสรรคเพื่อผลที่ตนต้องการ
จงถือความเพียรเพื่อความพ้นทุกข์นี้เป็นธรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเพิ่มพูนให้มาก
สติ ซึ่งเป็นธรรมสำคัญ จะต้องเพิ่มพูนให้มากเพื่อความเหนียวแน่นมั่นคง เพื่อความสืบต่อแห่งการระลึกรู้ตัวเสมอ

 

จิตเป็นสิ่งลึกลับมากเพราะกิเลสพาให้ลึกลับ กิเลสมันเอาจิตเข้าไปหมกไปซ่อนไว้
ในสถานที่ที่เราไม่อาจเอื้อมรู้ได้เห็นได้ ถูกกิเลสตัวจอมปลอมปิดบังไว้หมด
ตัวมันออกหน้าออกตาหลอกลวงไว้ตลอดเวลาจึงไม่เห็นโทษของตน ไม่เห็นโทษของกิเลสที่พาให้เกิดให้ตาย

 

ปัญญา...ในโอกาสที่ควรพิจารณาก็ควรพิจารณาแยกแยะทั้งภายนอกทั้งภายใน เทียบเคียงกัน
มรรคนั้นเป็นได้ทั้งภายนอกทั้งภายใน ปัญญาเป็นได้ทั้งภายนอกภายใน ถ้าทำให้เป็นปัญญาที่เรียกว่า “มรรค”

 

ทุกขสัจนี้เป็นเหมือนหินลับปัญญานะ ถ้าเราพิจารณาแบบพระพุทะเจ้าสอน แบบอริยสัจเป็นของจริง ๆ
เรื่องทุกขเวทนานี้เป็นหินลับปัญญาให้คมกล้า ทุกขเวทนากล้าสาหัสเข้าไปเท่าไร สติปัญญายิ่งหมุนติ้วๆ ถอยไม่ได้

 

เรียนไปทำไม เรียนไม่สังเกต เรียนไม่พิจารณา เรียนไม่นำมาเป็นคติเครื่องพร่ำสอนตน
จะเกิดประโยชน์อะไรเพราะการเรียนการจดจำเปล่า ๆ นั้น

 

การสั่งสอนอรรถสั่งสอนธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน สอนตรงที่มันแบกมันหามนี่
ให้ปลดให้เปลื้องออกไปด้วยสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร แล้วจะได้โปร่งโล่งเบาสบาย
อิสระเสรี คือ ใจที่หลุดพ้นจากกิเลสนี้เท่านั้น

 

การคลี่คลาย การพิจารณาทางด้านปัญญา ก็เพื่อแก้สิ่งจอมปลอมทั้งหลาย ซึ่งปีนเกลียวกับธรรม
คือ ความจริงล้วน ๆ ออกโดยลำดับ จิตจะเปิดเผยตัวเองขึ้นอย่างชัดเจน
ความยึดมั่นถือมั่นภายในร่างกาย เมื่อพิจารณาจนถึงขั้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อย่างซึ้งภายในใจแล้ว จะยึดถือไว้ไม่ได้ จะสลัดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นภายในร่างกายนี้ออกโดยสิ้นเชิง

รู้ประจักษ์กับจิต กาย เวทนา ก็สักแต่ว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ตามธรรมชาติของมันเป็นความจริงแต่ละอย่างๆ
กายก็ไม่ทราบความหมายของทุกขเวทนา หรือสุขเวทนา อุเบกขาเวทนา
เวทนานั้นจะเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ก็ไม่ทราบความหมายของตน
และไม่ทราบความหมายของกายของใจ เป็นแต่ธรรมชาติที่ปรากฏขึ้นตามหลักความจริงของตน
แล้วก็ดับไปตามธรรมชาติของมัน

 

ถ้าจิตมีสติปัญญารอบตัวอยู่แล้ว จะพิจารณารู้แจ้ง เห็นความจริงในความจริงทั้งหลาย ทั้งส่วนเวทนาสาม
แยกตัวออกโดยลำดับๆ ส่วนสัญญาสังขารไม่ต้องพูด มันก็เป็นอาการเหมือนกันนั่นแล
เกิดขึ้นแล้วดับไป มันเป็นกองไตรลักษณ์ทั้งหมด คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และเบิกออก ๆ จิตถอยตัวเข้ามา
การพิจารณาก็แคบเข้าไปๆ เพราะสิ่งไรที่พิจารณารู้แจ้งเห็นจริงแล้วมันปล่อยเอง

 

...จิตเป็นเหมือนกัน สมาธิแน่นปึ๋งเหมือนหิน แต่มันไม่ใช้ปัญญานะสิ ถ้าใช้ปัญญามันก็ไปรวดเร็วกว่านั้น
มันเพลินกิน เพลินนอนอยู่กับสมาธินั่นเสีย มันขี้เกียจ มันสบาย ไม่ยุ่งกับอะไร
จิตอิ่มของมัน อิ่มตัวในขั้นสมาธินะ ไม่ใช่อิ่มตัวด้วยการหลุดพ้นโดยประการทั้งปวงแล้ว

มันอิ่มตัวในสมาธิไม่ยุ่งกับอารมณ์อะไร รูปเสียงอะไร ๆ ไม่ยุ่ง สบายอยู่อย่างนั้นแบบหมูได้เขียง
ไม่ได้คิดว่า เขียงคือที่รองสับยำหมูเลย

 

ธรรมะ...ท่านสอนให้ดูตัวเอง ระวังตัวเอง จะได้เห็นความบกพร่องของตนเอง แล้วแก้ไขตัวเองไปเรื่อยๆ
จนสมบูรณ์ได้

 

กิเลสนี้อยู่ประจำตลอดเวลา และกล่อมสัตว์โลกได้อย่างสนิทปิดหูปิดตา ไม่สามารถที่จะทราบว่า
มันเป็นภัยได้เลย

ดอกโศก:
อนุโมทนากับการนำธรรมะมาเผยแผ่เป็นทานค่ะ พี่แป๋ม

 :45:

ชอบหนังสือเล่มนี้มากเหมือนกันค่ะ

พี่ที่เป็นกัลยาณมิตรให้มาหลายเล่มแล้วก็ได้แจกจ่ายให้เพื่อน พ้อง น้องพี่ไปหลายคนค่ะ



ป.ล. ถ้าพี่แป๋มอยากได้กระซิบบอกนะคะ จะจัดส่งไปให้ด้วยความยินดียิ่งค่ะ
 :13:

ฐิตา:

ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก
 
เขาภาวนาเพื่อให้ละ ไม่ใช่ภาวนาเพื่อให้เอา

ก่อนที่จะพูดอะไร ให้ถามตัวเองว่า ที่จะพูดนี้จำเป็นหรือเปล่า ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าพูด
นี่เป็นขั้นต้นของการอบรมใจ
เพราะถ้าเราควบคุมปากตัวเองไมได้ เราจะควบคุมใจได้อย่างไร


คนเราต้องบ้าภาวนา จึงจะภาวนาได้ดี เวลาภาวนาอย่าไปกลัวว่า ภาวนาแล้วจะเป็นนั่นเป็นนี่
เพราะเป็นของแก้กันได้ ให้กลัวอย่างเดียวว่า จะภาวนาไม่เป็น

 
ให้ภาวนา อย่ามัวแต่ง่วงนอน นอนกันมาไม่รู้กี่ชาติแล้ว ไม่รู้จักอิ่มสักที มัวแต่เป็นผู้ประมาท
ไม่รู้จักมนุษย์สมบัติเอาไว้ ระวังจะเหลือไม่เท่าเก่า

 
อะไร ๆ ก็ขึ้นอยู่กับความสังเกตของเรา ถ้าความสังเกตของเรายังหยาบ ๆ เราจะได้แต่ของหยาบๆ
การภาวนาของเราก็จะไม่มีทางเจริญก้าวหน้าไปได้

 
พระธรรมถามว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่... แล้วเราจะตอบท่านว่ายังไง

 
ไปกี่วัดกี่วัด รวมแล้วก็วัดเดียวนั่นแหละคือ วัดตัวเรา

 
คนเราเวลานั่งภาวนา กว่าใจจะสงบได้ก็ต้องใช้เวลานานแต่พอจะออกจากที่นั่งก็ทิ้งเลย อย่างนี้เรียกว่า
เวลาขึ้นบ้านก็ขึ้นบันใด เวลาลงก็กระโดดลงหน้าต่าง

 
เราเกิดมานับอสงไขยไม่ถ้วน ถ้าจะเอากระดูกที่เราเคยตายเกิดมากองไว้ ก็จะโตกว่าเขาพระสุเมรุ
น้ำในแม่น้ำมหาสมุทรน้อยใหญ่ทั้งหลายนะ ก็ยังน้อยกว่าน้ำตาที่เคยหลั่งรินเพราะความทุกข์ทั้งหลายเสียอีก

 
ผู้รู้แล้วจะไม่ทุกข์ ผู้ไม่รู้เท่านั้นเป็นทุกข์ ทุกข์มันก็มีอยู่กับทุกคน ไม่มีใครไม่มีหรอก
ตราบใดที่ยังมีขันธ์ ๕ อยู่ ทุกข์ก็ต้องมีแต่ถ้าเรารู้แล้ว เราจะอยู่อย่างสบาย

 
ผู้มีปัญญา เมื่อเห็นเช่นนี้ ย่อมเกิดความสลดสังเวชในภพชาติ ไม่ยินดีในการเกิดมีจิตมุ่งตรงต่อนิพพานอย่างเดียว

 
คนทั้งหลายเขาก็อยู่กับทุกข์ ๆ ๆ ทั้งนั้น แต่ไม่รู้จักทุกข์จึงพ้นจากทุกข์ไม่ได้

 
มัวแต่ตัดรากถอนโคน ระวังลูกมันจะหล่นลงมางอกอีก

 
ใจจะคิดจะปรุงอะไรก็ปรุงได้ แต่อย่าหลง

 
การกำหนดทุกข์ ก็ต้องเอาให้ละเอียด ต้องเอาถึงขนาดแค่ลืมตาปุ๊บ รูปมากระทบก็รู้ว่าทุกข์แล้ว

 
นิพพานนั้นเป็นเรื่องละเอียด ต้องใช้ปัญญาเอามากๆ ไม่ใช่ของจะถึงด้วยแรงอยาก
ถ้าเป็นของที่จะถึงด้วยแรงอยาก พวกเราคงจะตรัสรู้กันหมดแล้วทั้งโลก

 
เมื่อรู้แล้ว ก็ให้อยู่เหนือรู้

 
อย่าทำแต่ถูกใจ ต้องทำให้ถึงใจ

 
ผู้มีปัญญาย่อมใช้อะไรๆ ให้เป็นประโยชน์ได้ทั้งนั้น

 
จิตเปรียบเหมือนพระราชา อารมณ์ทั้งหลายเปรียบเหมือนเสนา เราอย่าเป็นพระราชาที่หูเบา

 
ปฏิบัติยังไม่เข้าขั้นแล้วอย่าไปเที่ยวสอนเขา มันมีโทษนะ ที่จริงไปถูกเขาเผยแพร่มากกว่า
สอนไปสอนมากลายเป็นปฏิกูลน่ากิน อสุภะน่ากอด

 
ของดีจริงไม่ต้องโฆษณา คนชอบขายความดีของตัวเอง ที่จริงขายความโง่ของตัวเองมากกว่า
คมให้มีในฝัก ให้ถึงเวลาที่จะต้องใช้จริงๆ จึงคอยชักออกมา จะได้ไม่เสียคม

 
มัวแต่นึกถึงวันเกิด ให้นึกถึงวันตายเสียบ้าง

 
ต้องหมั่นมีสติ หมั่นพิจารณาร่างกายจนเป็นเป็นกระดูกจนร่วงลงไปกอง แล้วเผาให้เกลี้ยงไปเลย
ถามตัวเองซิ มีตัวตนไหม อะไรทำให้ทุกข์ ทำให้เจ็บปวด มีตัวเราไหม ดูให้ถึงแก่นแท้ของธรรมชาติ
พิจารณาไปจนไม่มีอะไรของเราสักอย่าง

 
มันไม่มีใครเจ็บ มันไม่มีใครตาย นั่นแหละ ตรงนั้นแหละ มันมีอยู่แล้วทุกคน เหมือนเราคว่ำมืออยู่
เราก็หงายมือเสีย แต่ผู้ที่มีปัญญาเท่านั้นที่จะทำได้ ถ้าโง่ก็ไม่เห็น ก็ไม่ได้ ไม่พ้นเกิด พ้นตาย

 
การภาวนาของเราต้องมี ปีติ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ไม่อย่างนั้น ทำไป ๆ มันจะเหี่ยวแห้ง

 
สักวันหนึ่งความตายจะมาถึงเรา มาบีบบังคับให้เราปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง
ฉะนั้น เราต้องหัดปล่อยวางล่วงหน้าให้มันเคย ไม่อย่างนั้น พอถึงเวลาไปจะลำบาก

 
จิตเห็นจิตตามความเป็นจริง เขาก็วางของเขาเอง

 
เมื่อคิดที่ พุทโธ แล้วไม่ต้องลังเลว่า จะนั่งไม่ได้ดี ถ้าตั้งใจจริงแล้วมันต้องได้ สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว
เป็นมารผจญ เขาเล่นละครอะไร ๆ เราก็ไปดู ไม่ใช่ว่าไปเล่นกับเขาด้วย

 
อยู่บนที่สูงแล้ว ก็สามารถมองเห็นอะไร ๆ ได้หมด

 
ถึงความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้าเรายึดเข้าไว้มันก็ผิด

 
เวลาเราทำงานอะไรอยู่ ถ้าเราสังเกตว่าใจเราเสีย ก็ให้หยุดทันที แล้วกลับมาดูใจของตนเอง
เราต้องรักษาใจของเราไว้เป็นงานอันดับแรก

 
คนอื่นเขาด่าเรา เขาก็ลืมไป แต่เราไปเก็บมาคิด เหมือนเขาคายเศษอาหารทิ้งไปแล้ว เราไปเก็บมากิน
แล้วจะว่าใครโง่

 
ธรรมะ เราอ่านมามากแล้ว ฟังมานานแล้ว เราก็ว่าเราเข้าใจ แต่มันถึงใจ ดีจริงหรือยัง

 
การภาวนาต้องทิ้งเป็นขั้น ๆ เหมือนเขายิงจรวจในอวกาศพอพ้นจากโลกแล้ว กระสวยอวกาศ
ก็ต้องทิ้งยานแม่ จึงจะไปถึงโลกพระจันทร์ได้

 
คนเราถ้าทำดีแล้วติดดีก็ไปไม่รอด เมื่อใจยังมีติดภพชาติยังมีอยู่

 
ทำดีให้มันถูกตัวดี อย่าให้มันดีแต่กิริยา

 
การภาวนาก็คือการฝึกตาย เพื่อเราจะได้ตายเป็น

 
ของจริงจึงอยู่กับเรา ถ้าเราทำจริง เราจะได้ของจริง ถ้าเราทำไม่จริง เราจะได้แต่ของปลอม

ฐิตา:


หลวงพ่อชา สุภทฺโท
 

ใจจะสงบได้ ก็ด้วยความเห็นที่ถูก

 
คนตายแล้วเดินได้ พูดได้ หายใจได้ ใครเคยเห็นไหม ใครเคยคิดไหม ตายทางจิต... ตายทางสติปัญญา

 
ดูซิ... เราข้ามกันไปหมด พากันทำบุญ แต่ว่าไม่พากันละบาป ...ผ้าสกปรก ไม่ฟอก แต่อยากจะรับน้ำย้อมนะ

 
...เราจึงไม่จำกัดรูปแบบการปฏิบัติ แต่มักสอนให้ภาวนา พุทโธ หรือ อานาปานสติ คือการกำหนดลมหายใจเข้าออก
ทำไปพอสมควรแล้วจึงค่อยทำความรู้ความเห็นของเราให้ถูกต้องเรื่อยไป


ที่เรามาปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อให้เห็นจิตเดิม เราคิดว่าจิตเป็นสุขเป็นทุกข์ แต่ความจริงจิตไม่ได้สร้างสุขสร้างทุกข์
อารมณ์มาหลอกลวงต่างหาก มันจึงหลงอารมณ์ ฉะนั้น เราจึงต้องมาฝึกจิตใจให้ฉลาดขึ้น ให้รู้จักอารมณ์
ไม่ให้เป็นไปตามอารมณ์ จิตก็สงบเรื่องแค่นี้เอง ที่เราต้องมาทำกรรมฐานกันยุ่งยากทุกวันนี้

 
สติ เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งซึ่งให้ธรรมทั้งหาลายเกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียง สติ ก็คือ ชีวิต
ถ้าขาดสติเมื่อใดก็ตามเหมือนตาย

 
การทำจิตใจของเราให้มีกำลัง กับการทำกายของเราให้มีกำลังมันต่างกัน การทำกายให้มีกำลังก็คือ
การออกกำลังกาย บริหาร มีการกระโดด การวิ่ง นี่คือการทำกายให้มีกำลัง
การทำจิตให้มีกำลังก็คือ ทำจิตให้สงบ ไม่ใช่ทำจิตให้คิดนั่นคิดนี่ไปต่าง ๆ ให้อยู่ในขอบเขตของมัน
เพราะว่าจิตของเรานั้นไม่เคยได้สงบ ไม่เคยมีกำลัง มันจึงไม่มีกำลังทางด้านสมาธิภายใน

 
การฝึกจิตไม่เหมือนฝึกสัตว์ จิตนี่เป็นการฝึกยากแท้ๆ แต่อย่าไปท้อถอยง่าย ๆ ถ้ามันคิดไปทั่วทิศ
ก็กลั้นใจมันไว้ พอใจมันจะขาดมันก็คิดอะไรไม่ออก มันก็วิ่งกลับมาเอง ให้ทำไปเถอะ

 
จิตของเรานี้ เมื่อไม่มีใครตามรักษา มันก็เหมือนคนคนหนึ่งที่ปราศจากพ่อแม่ที่ดูแล
เป็นคนอนาถานั้นเป็นคนที่ขาดที่พึ่งก็เป็นทุกข์ จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าขาดการอบรมบ่มนิสัย
หรือทำความเห็นให้ถูกต้องแล้ว จิตนี้ก็ลำบากมาก

 
ผู้ไปยึดอารมณ์จะเป็นทุกข์ เพราะอารมณ์มันไม่เที่ยง

 
การทำความเพียรให้ทำอย่าหยุด อย่าปล่อยไปตามอารมณ์ให้ฝืนทำไป ถึงจะคร้านก็ให้ทำ
จะขยันก็ให้ทำ จะนั่งก็ทำ จะเดินก็ทำ เมื่อจะนอนก็ให้กำหนดลมหายใจว่า
“ข้าพเจ้าจะไม่เอาความสุขในการนอน” สอนจิตไว้อย่างนี้ พอรู้สึกตัวก็ลุกขึ้นมาทำความเพียรต่อไป...

เวลานอน ให้นอนตะแคงข้างขวา กำหนดอยู่ที่ลมหายใจ “พุทโธ พุทโธ” จนกว่าจะหลับ
ครั้นตื่นก็เหมือนกับมี “พุทโธ” อยู่ไม่ขาดตอนเลย จึงจะเป็นความสงบเกิดขึ้นมา มันเป็นสติอยู่ตลอดเวลา

 
สมเด็จพระบรมศาสดา ท่านตรัสสอนไว้แล้วทุกอย่างในเรื่องการประพฤติปฏิบัติ แต่พวกเราทั้งหลาย
ยังไม่ได้ปฏิบัติกันหรือไม่ก็ปฏิบัติแต่ปากเท่านั้น
หลักของพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่การพูดกันเฉย ๆ หรือด้วยการเดา หรือการคิดเอาเอง

หลักของพระพุทธศาสนาที่แท้จริงคือ การรู้เท่าทันความจริงตามความเป็นจริงนั่นเอง
ถ้ารู้เท่าทันตามความเป็นจริงนี้แล้ว การสอนก็ไม่จำเป็น แต่ถ้าไม่รู้ถึงความเป็นจริงอันนี้ แม้จะฟังคำสอนเท่าใด
ก็เหมือนกับไม่ได้ฟัง

 
เวลาในชีวิตของเรามีไม่มากนัก ให้สอนตัวเอง ไม่ต้องไปพยายามสอนคนอื่น เดินไปเดินมาก็ให้สอนตัวเอง
เอาชนะตัวเอง ไม่ต้องเอาชนะคนอื่น จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะไป จะมา
ทุกอย่างจิตกำหนดอยู่เสมอ... ถ้าเราตามดูจิตเรา มันจะเห็นกิเลส มันจะเห็นจิตของเราสม่ำเสมอ
สติจะติดต่อเป็นวงกลม ปฏิบัติเช่นนี้เร็วมาก ปัญญามันจะเกิดขึ้น มันจะเห็นตามสภาวะมันเองทุกๆ อย่าง

 
การนั่งสมาธิ นั่งให้ตัวตรง อย่างเงยหน้ามากไป อย่าก้มหน้าเกินไป เอาขนาดพอดี เหมือนพระพุทธรูปนั่นแหละ
มันจึงสว่างไสวดี
ครั้นจะเปลี่ยนอิริยาบถ ก็ให้อดทนจนขีดสุดเสียก่อน ปวดก็ให้ปวดไป อย่างเพิ่งรีบเปลี่ยน
อย่าคิดว่า “บ๊ะ ไม่ไหวแล้ว พักก่อนเถอะน่า” อดทนมันจนปวดถึงขนาดก่อน พอมันถึงขนาดนั้นแล้ว
ก็ให้ทนต่อไปอีก ทนต่อไป ๆ จนมันไม่มีแก่ใจจะว่า “พุทโธ”

เมื่อไม่ว่า “พุทโธ” ก็เอาตรงที่มันเจ็บนั่นแหละมาว่าแทน “อุ๊ย เจ็บ เจ็บแท้ ๆ หนอ” เอาเจ็บนั้นมาเป็นอารมณ์
แทน “พุทโธ” ก็ได้ กำหนดให้ติดต่อกันไปเรื่อยๆ นั่งไปเรื่อย ดูซิว่าเมื่อปวดถึงที่สุดแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น
พระพุทธเจ้าว่ามันปวดเอง มันก็หายเอง ให้มันตายไปก็อย่าเลิก บางครั้งมันเหงื่อแตกเม็ดโป้ง ๆ
เท่าเม็ดข้าวโพดไหลย้อยมาตามอก ถ้าครั้นทำจนมันได้ข้ามเวทนาอันหนึ่งแล้ว มันก็รู้เรื่องเท่านั้นแหละ
ให้ค่อยทำไปเรื่อย ๆ อย่าเร่งรัดตัวเองเกินไป

 
จิตนี้ ถ้าอารมณ์มาถูก มันก็กวัดแกว่งไปตามอารมณ์ ยิ่งมันไม่รู้เรื่องธรรมะแล้ว ก็ยิ่งปล่อยไป
ตามอารมณ์ของเจ้าของเรื่อยไป อารมณ์สุขก็ปล่อยตามไป อารมณ์ทุกข์ก็ปล่อยตามไป
วุ่นวายไปเรื่อย ๆ
จนชาวมนุษย์ทั้งหลายเกิดเป็นโรคประสาท เพราะไม่รู้เรื่อง ปล่อยไปตามอารมณ์ ไม่รู้จักรักษาจิตของเจ้าของ

 
การปฏิบัติจริงๆ ต้องปฏิบัติเมื่อมีอารมณ์ มีสติตามรู้เท่าทันอารมณ์อยู่ตลอดเวลา ไม่เลือกเวลา สถานที่
หรือโอกาส ทุกอิริยาบถเป็นการปฏิบัติอยู่ทั้งนั้น

 
ผู้ใดมีสติอยู่ทุกเวลา ผู้นั้นก็ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version