ผู้เขียน หัวข้อ: เทคโนโลยีในทัศนะของพุทธศาสนา พระไพศาล วิสาโล ( นิตยสาร CHIP )  (อ่าน 1111 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


เทคโนโลยีในทัศนะของพุทธศาสนา

พระไพศาล วิสาโล
นิตยสาร CHIP
มีนาคม ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๓


เทคโนโลยีในทัศนะของพุทธศาสนา

เทคโนโลยีเมื่อนำมาใช้ในทางที่ดีก็เป็นสิ่งดี เมื่อนำมาใช้ในทางที่ไม่ดีก็เป็นสิ่งเลวร้ายได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรมองเทคโนโลยีด้วยสายตาที่ไร้เดียงสาจนเกินไป มีหลายคนหลงคิดว่าเทคโนโลยีล้วนเป็นเพียงเครื่องมือ หรือ Tools ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อการใช้งาน แต่ถ้าเรามองให้ลึกซึ้งลงไปก็จะเห็นถึงความสลับซับซ้อนมากกว่านั้น

เทคโนโลยีไม่เป็นกลาง

เมื่อ 22 ปีก่อน อาตมาเคยแปลหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า "วิพากษ์คอมพิวเตอร์ เทวรูปแห่งยุคสมัย" เขียนโดยไมเคิล แชลลิส หนังสือเล่มนี้วิพากษ์วิจารณ์เทคโนโลยีใหม่ในยุคสมัยนั้น คือเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ว่ามีผลกระทบต่อสังคมและผู้คนทั้งโลกอย่างไร ประเด็นที่เขาหยิบยกขึ้นมานั้นน่าสนใจยิ่ง เขาอธิบายว่าเทคโนโลยีกับสังคมนั้นแยกกันไม่ออก เทคโนโลยีสามารถก่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้มากมาย อย่างเช่น คอมพิวเตอร์จะมีผลกระทบต่อแบบแผนการทำงานและความสัมพันธ์ในสังคม ยิ่งกว่านั้นมันยังทำให้ความคิดอ่านของผู้คนเปลี่ยนไปด้วย เป็นต้น



วิพากษ์คอมพิวเตอร์ เทวรูปแห่งยุคสมัย
The Silicon Idol: The Micro Revolution and Its Social Implications
โดย : ไมเคิล แชลลิส
แปล : พระไพศาล วิสาโล, สมควร ใฝ่งามดี
สำนักพิมพ์ : มูลนิธิโกมลคีมทอง
ISBN 974-7233-03-7


เทคโนโลยีกำหนดโลกทัศน์ของผู้ใช้เทคโนโลยี เปรียบเหมือนคนที่มีค้อนอยู่ในมือ ก็จะมองเห็นแต่ตะปู หรือมองอะไรเป็นตะปู คนที่มีมีดพร้า ก็จะสนใจว่ามีอะไรบ้างที่ตัวเองสามารถจะฟันหรือถากด้วยมีดได้

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คนใช้รถยนต์กับคนใช้จักรยาน จะมีทัศนะต่อโลกและชีวิตไม่เหมือนกัน คนใช้รถจะรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจ มองว่าคนข้ามถนนและคนเดินบนบาทวิถีคือตัวปัญหา มองว่าต้นไม้ที่เกาะกลางถนนเป็นตัวกีดขวางการเดินทางที่เร่งด่วน แต่ทัศนะเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นกับคนขี่จักรยาน เพราะเขาจะมองว่าคนเดินถนนคือเพื่อนร่วมทาง และต้นไม้ที่เกาะกลางถนนคือร่มเงา ทัศนะที่แตกต่างกันเป็นเพราะใช้เทคโนโลยีที่ต่างกัน

ความไม่เป็นกลางของเทคโนโลยี มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ที่มาของมัน เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมีที่มาจากอุตสาหกรรมการทหารและอาวุธ การทหารทำให้เกิดความจำเป็นที่มนุษย์ต้องใช้การประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล เพื่อคำนวณหาเป้าหมายในการทำลายล้าง และเสาะแสวงหาข่าวกรองด้านความมั่นคง เทคโนโลยีดิจิตอลที่เราใช้แปลงข้อมูลข่าวสารทั้งหลายในโลกเพื่อการส่งถึงกันนั้น ก็มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่การมองโลกแบบทวิลักษณ์ คือ 0 และ 1 ไม่ขาวก็ต้องเป็นดำ ซึ่งก็คือการปิดและเปิดกระแสไฟฟ้าบนแผงวงจรนั่นเอง ทั้งที่สรรพสิ่งในโลกของเราล้วนแตกต่างหลากหลายมากมายกว่านั้น คือนอกจากขาวและดำแล้ว ยังมีเทาด้วย


Binary
หมายถึงสิ่งที่มีองค์ประกอบ 2 อย่าง ยกตัวอย่างเช่นในทางคณิตศาสตร์ ระบบเลขฐานสอง หรือ Binary numeral system คือระบบการคำนวนที่ใช้เลขเป็นตัวแทนเพียง 2 ตัวเลข คือ 0 และ 1


อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นความไม่เป็นกลางของเทคโนโลยี คืออาวุธนิวเคลียร์ แม้จะมีการพูดว่าอาวุธชนิดนี้จะใช้เพื่อรักษาสันติภาพหรือคุกคามสันติภาพก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้เพื่ออะไร อย่างไรก็ตามเมื่ออาวุธชนิดนี้อยู่ในมือของประเทศใด ก็จะรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจมากกว่าเดิม แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีอาวุธชนิดนี้อยู่ในมือ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา สันติภาพโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงเปลี่ยนแปลงไปส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศมีการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ มากน้อยเพียงใด

ถึงแม้ทุกวันนี้ มีการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ในทางสันติ คือใช้เป็นเชื้อเพลิงพลังงาน มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก แต่ในท้ายที่สุด กากของเสียนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นก็ยังสร้างปัญหาเพราะสามารถเอาไปใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ ดังนั้นการมีอยู่ของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ จึงทำให้คนทั้งโลกรู้สึกไม่ปลอดภัยและหวาดกลัวต่อสงครามมาโดยตลอดเช่นกัน แม้ว่าสงครามเย็นจะยุติแล้ว แต่ภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ก็ยังไม่หมด เพราะมีความเป็นห่วงว่าอาวุธชนิดนี้อาจตกอยู่ในมือของกลุ่มก่อการร้าย โลกเราจึงไม่เคยสงบสุขได้อย่างแท้จริงเลยหลังจากที่มีการคิดค้นเทคโนโลยีชนิดนี้ขึ้นมา

อย่างไรก็ตามเราก็ต้องยอมรับความจริงว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงได้ยาก ขึ้นอยู่ว่าเราจะใช้มันอย่างไรมากกว่า ขณะเดียวกันก็ต้องรู้เท่าทันมันด้วยว่า มันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร และส่งผลต่อทัศนคติของผู้คนอย่างไร ทุกวันนี้เราไม่ค่อยมีหนังสือแนวของไมเคิล แชลลิส ให้อ่านกัน ตอนนี้อาตมาก็ไม่รู้ว่าตัวเขาเองจะหันมาใช้คอมพิวเตอร์แล้วหรือยัง แต่ข้อเสนอของเขายังน่ารับฟัง และนำมาอภิปรายเพื่อคิดอ่านร่วมกัน อย่างน้อยที่สุด ก็เพื่อไม่ให้เทคโนโลยีมาครอบงำเราไม่ว่าในด้านการดำเนินชีวิตหรือในระดับจิตสำนึก

คำสอนในพระพุทธศาสนา

ผู้ที่เคร่งศาสนาส่วนใหญ่มักจะมีแนวโน้มต่อต้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือเป็นพวก Luddite ทั้งนี้เพราะผู้ที่สนใจศาสนามักเป็นพวกอนุรักษ์นิยม ส่วนเทคโนโลยีมักก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่สวนทางกับประเพณีหรือค่านิยมของศาสนิกชน ดังนั้นเราจึงพบว่าในกลุ่มประเทศอิสลาม พวกเคร่งศาสนาแบบสุดโต่งมักต่อต้านอินเทอร์เน็ตหรือจานดาวเทียม เพราะว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นสื่อกลางที่นำเอาค่านิยมตะวันตกไปเผยแพร่ในประเทศของคน รวมทั้งทำให้เกิดความหลงใหลในเรือง เซ็กส์ วัตถุนิยม ความรุนแรง ฯลฯ

ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็มีลักษณะอนุรักษ์นิยมเช่นกัน แต่ไม่เข้มข้นหรือสุดโต่งขนาดนั้น แน่นอนว่าในสมัยพุทธกาลยังไม่มีการคิดค้นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ในคำสอนของพระพุทธเจ้าจึงไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้โดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถนำคำสอนของพระองค์ มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิตในโลกยุคดิจิตอลได้

หลักการแรกคือการพิจารณาถึงคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม ยกตัวอย่างเรื่องการกินอาหาร ก็มีคุณค่าอยู่ทั้ง 2 ด้าน คุณค่าแท้คือประโยชน์ด้านสุขภาพอนามัยที่ช่วยบำรุงร่างกายให้อยู่ได้ด้วยดี คุณค่าเทียมคือความเอร็ดอร่อย ความโก้เก๋ ดังนั้นการกินอาหารในร้านริมถนนกับการกินอาหารในภัตตาคารหรูหรา ในแง่คุณค่าแท้ก็ไม่ต่างกัน คือได้ประโยชน์ในทางสุขภาพใกล้เคียงกันมาก แต่เราทุกคนต่างก็อยากไปกินอาหารในภัตตาคาร เพราะมันอร่อยกว่า โก้เก๋กว่า นี่คือการให้ความสำคัญกับคุณค่าเทียมในเรื่องการกินอาหาร

พระพุทธเจ้าสอนว่าให้เราเอาคุณค่าแท้เป็นหลัก คือกินอาหารเพื่อบำรุงร่างกาย ให้มีเรี่ยวแรงในการทำงานและมีชีวิต ไม่ใช่กินเพื่อมุ่งเอาความเอร็ดอร่อยเป็นหลัก ถ้าใครติดคุณค่าเทียม ก็จะเกิดโทษ เช่น เป็นโรคอ้วน หรือถ้ากลัวอ้วน ก็กลายเป็นโรคบูลีเมียและอนอเรกเซีย

ถ้ามองในเรื่องเทคโนโลยีทั่วไปอย่างเช่นรถยนต์ คุณค่าแท้ของรถยนต์คือใช้เป็นพาหนะเพื่อเดินทาง เป็นการทุ่นแรงทุ่นเวลา คุณค่าเทียมของมันคือความโก้เก๋ การสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ผู้ขับขี่ สมัยนี้เราเน้นคุณค่าเทียมมาก ดังนั้นเวลาดูโฆษณารถยนต์ ให้สังเกตว่าเขาไม่ค่อยพูดว่ารถคันนี้ช่วยให้คุณไปถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัยและประหยัด แต่เน้นว่ารถคันนี้ขับแล้วโดดเด่น โก้เก๋ ไม่เหมือนใคร สถานะทางสังคมสูงส่งกว่าผู้อื่น

ในสังคมปัจจุบัน โรคภัยไข้เจ็บทางร่างกาย และปัญหาสังคมจำนวนมาก ล้วนเกิดขึ้นจากการที่ผู้คนหมกมุ่นยึดติดกับคุณค่าเทียมมากเกินไป อาตมามีความเห็นว่าคนในยุคปัจจุบัน ไม่ต้องถึงขั้นปฏิเสธคุณค่าเทียมไปเสียทั้งหมด เพียงแต่อย่าให้ความสำคัญกับมันมากไปจนมองข้ามคุณค่าแท้

การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน เราควรเลือกซื้อและนำมาใช้งานเพื่อคุณค่าแท้ คือเพื่อทำงานเอกสาร ใช้ค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ช่วยให้งานสำเร็จเสร็จสิ้นได้รวดเร็วขึ้น ไม่ควรเอาคุณค่าเทียมเป็นหลักคือใช้เพื่อความสนุกสนาน บันเทิง ความตื่นเต้น หลายคนใช้คอมพิวเตอร์เป็นประโยชน์ประเภทหลังจนหยุดไม่ได้ ถึงขั้นเสพติดเทคโนโลยี

เดี๋ยวนี้คนเสพติดเทคโนโลยีไอทีมาก โดยเฉพาะเกมออนไลน์ ในประเทศเกาหลีมีหลายคนติดเกมออนไลน์จนชีวิตย่ำแย่ บางคนติดเกมออนไลน์จนถูกไล่ออกจากงาน เลยเล่นเกมทั้งวันทั้งคืนจนหัวใจวายตาย มีอยู่ข่าวหนึ่งซึ่งน่าเศร้ามาก สามีและภรรยาชาวเกาหลีคู่หนึ่งติดเล่นเกมออนไลน์นอกบ้าน ทอดทิ้งลูกอายุเพียง 3 เดือนให้อดอาหารจนตาย

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 คิมแจบอม อายุ 40 ปี และ คิมยุนเจียง อายุ 25 ปี ถูกศาลตัดสินให้มีความผิดฐานทำให้ลูกสาวของตนเองอายุ 3 เดือนเสียชีวิตโดยประมาท

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็คือหลังจากเลิกงาน พวกเขากลับมาบ้านเพื่อเอาลูกเข้านอน แล้วรีบออกไปเล่นเกมออนไลน์ที่ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ นานกว่า 10 ชั่วโมง ก่อนจะกลับมาที่บ้านและพบว่าลูกสาวเสียชีวิตเพราะขาดอาหาร นี่นับเป็นข่าวสะเทือนขวัญของประเทศเกาหลี และนำไปสู่การออกกฎหมายจำกัดเวลาการเล่นเกมออนไลน์ในเวลาต่อมา

เกมออนไลน์ที่พวกเขาเล่นมีชื่อว่า "Prius Online" เป็นเกมที่มีตัวละครหลักเป็นเด็กผู้หญิงที่สามารถเติบโตขึ้นมาโดยมีพลังพิเศษมากมาย โดยผู้เล่นจะต้องแข่งกันคอยประคบประหงมเลี้ยงดูเธอแบบออนไลน์ตลอดเวลา

ลูกสาวอายุ 3 เดือนที่เสียชีวิต ชื่อว่า "คิมซาราง" โดยคำว่า "ซาราง" แปลว่า "ความรัก"


นี่คือตัวอย่างของการใช้ไอทีเพื่อสนองกิเลสจนเกิดความหลง ความมัวเมา และเสพติด เพราะเราใช้เพื่อมุ่งตอบสนองคุณค่าเทียมที่ไม่มีวันจบสิ้น จนหลงลืมคุณค่าแท้ไป

เทคโนโลยีนั้นสามารถทำให้เสพติดได้ไม่ต่างจากยาเสพติด โดยนักวิทยาศาสตร์เคยทำการวิจัยเรื่องการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ พบว่ามันมีผลต่อสมองในส่วนที่มีปฏิกิริยาต่อการได้รับรางวัล เหมือนกับคนที่ทำอะไรสำเร็จหรือได้รางวัล จะรู้สึกดีใจขึ้นมา มีความสุข สนุกสนาน เพราะมีสารเคมีบางอย่างหลั่งออกมาในสมอง เกมคอมพิวเตอร์ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน มันทำให้ผู้เล่นต้องเอาชนะ ต้องทำให้สำเร็จเป็นขั้นๆ ไปเรื่อยๆ และเมื่อชนะหรือผ่านได้แต่ละขั้น สารเคมีชนิดนี้หลั่งออกมาเรื่อยๆ ผู้เล่นก็จะรู้สึกมีความสุขและอยากได้ความรู้สึกเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นการเสพติดในที่สุด

อีกหลักการที่เกี่ยวกับการเลือกใช้เทคโนโลยี คือหลักมหาประเทศ 4 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าวางไว้เพื่อพิจารณาว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ในกรณีที่มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นในอนาคตโดยที่พระองค์ไม่ได้ระบุไว้ว่าอะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ เช่น ถ้าพระองค์ไม่ได้ห้ามไว้ แต่มันเข้ากับหลักที่ไม่ควร สิ่งนั้นก็ไม่ควรทำไม่ควรเสพ และถ้าพระองค์ไม่ได้อนุญาตไว้ แต่มันเข้ากับหลักที่ควร สิ่งนั้นก็ควรทำหรือทำได้ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรานำมาใช้เพื่อเผยแผ่ธรรม หรือเพื่อเพิ่มพูนสติปัญญา ก็ถือว่าใช้ได้หรือควรใช้ แต่ถ้านำมาใช้ในทางที่ส่งเสริมกิเลส ทำให้ขาดสติ ก็ไม่ควรใช้

พระพุทธานุญาตมหาประเทศ 4

ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายเกิดความรังเกียจในพระบัญญัติบางสิ่งบางอย่างว่า สิ่งใดหนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาต จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระมีพระภาคเจ้า.

วัตถุเป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสประทานสำหรับอ้าง 8 ข้อ ดังต่อไปนี้.

1. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่าสิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้น ไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย.
2. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่าสิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย.
3. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่าสิ่งนี้ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย.
4. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่าสิ่งนี้ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย.


Space & Time ที่เปลี่ยนไป

ในยุคนี้ที่เปี่ยมไปด้วยเทคโนโลยีอันรวดเร็วฉับไว มีสิ่งหนึ่งที่น่าแปลกใจก็ คือคนสมัยนี้มักรู้สึกว่าไม่ค่อยมีเวลา ไม่รู้เวลาหายไปไหน ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยีนานาชนิดล้วนทุ่นแรงทุ่นเวลาให้เรา เช่น รถยนต์ ทำให้เราถึงที่หมายเร็วขึ้น โทรศัพท์ทำให้เราติดต่อคนที่อยู่ไกลได้โดยใช้เวลาน้อยลง แต่ทำไมทุกวันนี้เราถึงกลับรู้สึกว่า ไม่ค่อยมีเวลาเลย

ทุกวันนี้สำนึกเรื่องเวลาของคนรุ่นเราเปลี่ยนแปลงไป สมัยก่อนเราเคยนั่งรอกันได้เป็นชั่วโมง ๆ เป็นวัน ๆ เวลาทำงานสำคัญสักชิ้น เราใช้เวลานานเป็นเดือนหรือเป็นปี โดยไม่รู้สึกว่ามันนานเกินไป เวลากษัตริย์ไทยยกทัพไปตีเชียงใหม่ กองทัพต้องเดินเท้าเป็นเดือน ๆ กว่าจะถึง โดยไม่รู้สึกว่ามันนาน แต่เดี๋ยวนี้พวกเราแค่รอรถติด 2 นาที ก็กระสับกระส่าย หงุดหงิด หรือเวลาเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ถ้ามันบูธเกิน ๑ นาที ก็ทนไม่ไหวแล้ว อยากหาซื้อเครื่องใหม่ อยากได้รุ่นที่เร็วกว่านี้ นั้นเป็นเพราะเราไม่รู้จักรอ เราจึงหงุดหงิดง่ายขึ้น

อาตมาคิดว่ามันขัดแย้งกันมาก เรามีเทคโนโลยีทุ่นแรง ทุ่นเวลา มากมาย แต่แทนที่เราจะมีเวลาเหลือมากขึ้น มีเวลาสบาย ๆ มากขึ้น กลับกลายเป็นว่าเราไม่ค่อยมีเวลา ผิดกับคนสมัยก่อนกว่าข้าวจะสุกต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง ต้องใช้เวลาเกือบชั่วโมงกว่าจะซักผ้าเสร็จ กว่าจะเดินออกจากบ้านไปถึงไร่นาก็อีก 1 ชั่วโมง แต่ทำไมในแต่ละวันเขามีเวลาว่างเหลือมากมาย ตรงกันข้ามกับคนในเมืองใหญ่ มีรถยนต์ที่เร็วมาก มีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต สามารถทำงานที่บ้านได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง แต่กลับมีเวลาว่างน้อยลง ไม่มีเวลาให้ครอบครัว เวลาพักผ่อนก็ไม่ค่อยมี นอนได้ไม่เต็มที่

คำถามคือ "เวลาหายไปไหน" คำตอบคือ "เวลาหายไปอยู่กับเทคโนโลยี"

เคยมีคนทำวิจัยพบว่าคนกรุงเทพฯ ใช้เวลาอยู่บนรถ 65 วันต่อปี คือใช้เวลา 1 ใน 6 ของทั้งปีเลยทีเดียว ตัวเลขนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกหรอก ถ้าเราต้องเดินทางไปกลับที่ทำงานวันละ 4 ชั่วโมง ก็คือ 1 ใน 6 ของวัน

เด็กวัยรุ่นไทยในแต่ละวัน อยู่กับ เกมออนไลน์และอินเทอร์เน็ต 3 ชั่วโมง ดูทีวีอีก 3 ชั่วโมง คุยโทรศัพท์อีก ๒ ชั่วโมง รวมแล้ว 8 ชั่วโมง ซึ่งก็คือ 1 ใน 3 ของวัน แล้วเด็กจะมีเวลานอน เวลาเรียน เวลาออกกำลังกาย เวลาคุยกับพ่อแม่ได้อย่างไร

ข้อมูลข่าวสารจำนวนมากมายมหาศาลในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กินเวลาเราอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะในอินเทอร์เน็ตมีข่าวสารมากมาย อาตมาเองเสียเวลากับเรื่องนี้วันหนึ่ง ๆ ก็ไม่น้อย แค่ตอบอีเมล์ก็เกือบชั่วโมงแล้ว ข้อมูลเหล่าในอินเทอร์เน็ตเหล่านี้บางทีก็อดใจไม่ไหวที่จะเปิดอ่าน เราจึงควรคุมตัวเองให้ได้ อย่าไปจมกับมันมาก เพราะมันจะดึงดูดเราลึกเข้าไปเรื่อยๆ ข้อมูลข่าวสารที่มากเกินไปแบบนี้ มันจะดึงเราเข้าไปแบบไม่มีวันจบ ได้ข้อมูลมากเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด ไม่มีวันสิ้นสุด ต้องเตือนใจให้รู้จักหยุด รู้จักพอ

ไม่น่าแปลกใจที่คนเราใช้เวลามากมายกับข้อมูลข่าวสาร หรืออยู่กับเทคโนโลยีไอที จนกระทั่งไม่มีเวลาเหลือ ในบ้านมีพ่อแม่ลูก 4 คน มีโทรทัศน์คนละเครื่อง แต่ละคนก็อยู่ในห้องตัวเอง ทั้งวันก็ต่างคนต่างอยู่หน้าจอโทรทัศน์ หรืออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ จนไม่มีเวลาคุยกัน พ่อจะเรียกลูกมากินข้าว ต้องใช้โทรศัพท์มือถือเรียกลงมา บางคนถึงกับส่ง SMS หรือเขียนอีเมล์ถึงลูกให้ลงมากินข้าว

นั่นแปลว่า ไม่เพียงแค่สำนึกเรื่องเวลาเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป สำนึกในเรื่อง space รวมทั้งความสัมพันธ์กับผู้คนก็เปลี่ยนไปพร้อมกันด้วย ในด้านหนึ่งเทคโนโลยีช่วยให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งมันทำให้เราเหินห่างจากคนใกล้ตัวเช่นคนในบ้าน ขณะที่คนไกลได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่คนใกล้กลับห่างเหินกัน Space บิดเบือนไปหมด เราติดต่อกับเพื่อนที่อเมริกาทุกวัน แต่เราไม่คุยกับพ่อแม่เราเอง



การปฏิบัติธรรมในยุคดิจิตอล

เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ตรงข้ามกับธรรมะ ในแง่ที่ว่ามันมุ่งจัดการกับสิ่งรอบตัว ขณะที่ธรรมะเน้นที่การจัดการกับตัวเอง เมื่อเทคโนโลยีล้อมรอบตัวเรามากขึ้น มันบิดเบือน Space & Time ของเราไปทั้งหมด ทุกอย่างต้องเร่งรีบ ขณะเดียวกันจิตใจก็ส่งออกนอก ถูกดึงออกนอกตัว จนอยู่เฉยไม่ได้ ต้องวิ่งวุ่นไปทั่ว เดี๋ยวนี้เราไม่สามารถจะอยู่นิ่งได้นานๆ รอได้นานๆ แค่ 1 ชั่วโมงก็ทนไม่ได้ หากต้องวิ่งวุ่นและเร่งรีบแบบนี้ เราจะรู้จักตัวเองได้อย่างไร เราจะมีความสงบใจได้อย่างไร การเข้าถึงธรรมะจึงเป็นเรื่องที่ยากขึ้น เพราะธรรมะเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความสงบ การหันมามองตน ดูจิตใจของตนเอง

คนเราจะมีความสุขได้ก็ต้องรู้จัก "เป็นมิตรกับตัวเอง" คนเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเป็นมิตรกับตัวเองเท่าไร ถ้าเรารักตัวเองจริงอย่างที่พูดกัน ทำไมเราไม่อยากอยู่กับตัวเองล่ะ ถ้าให้นั่งอยู่ในห้องคนเดียว จะทนได้นานสักแค่ไหน นั่งไปชั่วโมงเดียวก็กระสับกระส่าย เบื่อ เหงา อยากโทรศัพท์หาเพื่อน อยากเล่นเกมออนไลน์ อยากเล่นบีบี อยากแชทกับเพื่อน หรือไปเที่ยวห้าง

สังเกตจากคนที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดของอาตมา วันแรกๆ ที่เข้ามา หลายคนจะมีอาการกระสับกระส่าย อาตมาเรียกว่ามีอาการเหมือนลงแดง เพราะห้ามพูดคุยกัน ต้องเดินจงกรมวันละหลายชั่วโมง ไม่มีโทรทัศน์ให้ดู โทรศัพท์ก็ไม่ได้ คนที่เสพติดเทคโนโลยีจึงรู้สึกเป็นทุกข์ นอกจากการฝึกปฏิบัติธรรมที่จัดเป็นประจำ ทางวัดยังจัดงานเดินธรรมยาตรา ทุกวันที่ 1-8 ธันวาคม ของทุกปี และจะมีโรงเรียนจากกรุงเทพฯ ส่งครูและเด็กนักเรียนไปร่วมกัน ครูจะยึดโทรศัพท์มือถือไว้หมด วันแรก ๆ เด็กวัยรุ่นที่มาร่วมงานจะกระสับกระส่ายกันมาก โทรก็ไม่ได้ ทีวีก็ไม่มีดู

อย่างไรก็ตาม อาการนี้จะมีอยู่แค่ 1-2 วันแรกเท่านั้น วันหลังๆ พวกเขาจะหาย และไม่ต้องพึ่งพาโทรศัพท์อีกแล้ว ผ่านไปไม่กี่วัน เขาได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วชีวิตคนเราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขนาดนั้นก็ได้ ถึงแม้ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ก็ยังอยู่ได้อย่างมีความสุข เพียงแต่ทุกวันนี้เราเสพเทคโนโลยีจนเคยตัว พอไม่มีอะไรทำก็ควักโทรศัพท์ขึ้นมากด แล้วก็เสพติดมัน เด็กนักเรียนหลายคนบอกว่าชีวิตเบาลงเยอะ ได้ดูใจตัวเอง ได้มีเวลาคุยกับเพื่อน ได้มีเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตบ้างก็ดี

การที่คนสมัยนี้เข้าถึงธรรมะได้ยากขึ้น ทำให้เขาโหยหาธรรมะมากกว่าเดิม เพราะชีวิตเครียดมากขึ้น สมัยนี้เรามีความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ได้เสพได้บริโภคเต็มที่ ก็เลยรู้สึกอิ่มตัวเร็ว สมัยก่อนวัตถุสิ่งเสพไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนอย่างตอนนี้ ดังนั้นจึงไม่รู้สึกอิ่มตัวเหมือนคนสมัยนี้ พออิ่มตัวเร็ว ก็เลยรู้สึกว่าวัตถุไม่ใช่คำตอบ ไม่ได้ให้ความสุขอย่างแท้จริง เกิดความเบื่อหน่าย จึงหันไปแสวงหาสิ่งอื่นที่เชื่อว่าจะทำให้มีความสุขมากกว่านี้

ในภาวะนี้ เราจะตกอยู่บนทางแพร่ง ทางหนึ่งก็คิดว่าเราต้องมีเงินให้มากกว่านี้ มีวัตถุให้มากกว่านี้ เราถึงจะมีความสุข เหมือนคนติดยาเสพติด ต้องใช้ยามากขึ้น หรือยาแรงขึ้น ถึงจะเพลิดเพลินเหมือนเก่า เหมือนนักการเมือง เสพติดในอำนาจก็ต้องแสวงหาอำนาจมากขึ้น หรือตำแหน่งสูงขึ้น คนที่ติดเทคโนโลยีก็เช่นกัน พอมีแล้วก็ยังไม่พอใจ อยากได้สินค้ารุ่นใหม่ขึ้น แพงขึ้น ดีขึ้น

อีกทางหนึ่ง คือการหันหลังให้กับสิ่งเหล่านั้น แล้วมาหาธรรมะ เหมือนกับชาวตะวันตกที่มีความเจริญทางวัตถุสูงมาก เสพสุขกันเต็มที่ทั้ง ตา หู จมูก สิ้น กาย แล้วก็รู้สึกอิ่มตัว เบื่อหน่ายวัตถุ จึงหันเข้าหาธรรมะ ในอเมริกา ยุโรป คนจึงสนใจพุทธศาสนาหรือทำสมาธิภาวนามากขึ้น

ถึงแม้จะไม่ได้เข้าวัดปฏิบัติธรรมหรือเจริญสติ ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ที่ถูกรายล้อมไปด้วยเทคโนโลยี เราก็สามารถมีชีวิตสงบเย็นได้ โดยใช้หลักการดังต่อไปนี้

1. ความพอดีและความสันโดษ คือใช้เทคโนโลยีหรือเสพวัตถุแต่พอดี ทั้งในแง่เวลาและปริมาณ คือถ้าเราใช้เทคโนโลยีแต่พอดี เราก็มีเวลามากขึ้นในการทำสิ่งอื่นที่มีความสำคัญ ดังนั้นจึงควรกำหนดเวลาให้ตัวเอง ว่าวันหนึ่งจะใช้เวลากับเฟซบุคนานเท่าไร เล่นเกมนานเท่าไร จะแชทนานเท่าไร ดูทีวีนานเท่าไร ถ้าไม่กำหนด ไม่มีวินัย ความพอดีก็เกิดขึ้นได้ยาก

2. มีสติ สติช่วยให้เราไม่หลงเพลินกับการเสพเทคโนโลยี รู้จักหยุดเมื่อถึงเวลา ถ้าไม่มีสติ ก็จะหลงจนเพลิน จนเสียงานเสียการ บางคนดูละครเกาหลีตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง แล้วก็มาบ่นว่าทำอย่างไรดี ติดละครเกาหลีจนไม่มีเวลาทำงาน

3. ต้องรู้คุณและโทษ ของทุกสิ่งมีทั้งคุณและโทษ ใช้ให้มันเป็นคุณมากกว่าโทษ

4. แยกแยะระหว่างคุณค่าแท้กับคุณค่าเทียม ใช้หรือบริโภคสิ่งต่าง ๆ โดยมุ่งคุณค่าแท้มากกว่าคุณค่าเทียม

ถ้าทำเช่นนี้ได้ เราจะเป็นนายเทคโนโลยี ไม่ใช่ปล่อยให้เทคโนโลยีมาเป็นนายเรา เราจะมีเวลาว่างมากขึ้น รวมทั้งมีเวลาสำหรับการศึกษาหาความรู้ ดูแลครอบครัว อ่านหนังสือ พัฒนาตัวเอง ออกกำลังกาย และถ้ามีเวลาเหลืออีกก็ออกไปช่วยเหลือผู้อื่น บำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม

อนาคตของมนุษยชาติ

อาตมาไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้า เทคโนโลยีจะนำพามนุษย์ไปไหน จะดีขึ้นหรือแย่ลง ก็บอกไม่ได้ เพราะเมื่อก่อนเราเคยคาดหวังกันไว้สูงมาก ว่าเทคโนโลยีจะทำให้สังคมเราดีขึ้น ชีวิตของเราดีขึ้น หรือทำให้โลกมีสันติภาพ แต่ก็อย่างที่เรารู้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกลับทำให้มนุษย์ทำลายล้างกันมากขึ้น จนทุกวันนี้โลกก็ยังไม่มีสันติภาพอย่างแท้จริง ในเวลาเดียวกันเคยมีคนคาดทำนายว่าในโลกยุคสารสนเทศ คนจะมีความรู้มากขึ้น อวิชชาจะน้อยลง แต่ความเป็นจริงก็คือทุกวันนี้ ความเท็จก็ยังแพร่ระบาดอยู่ และยิ่งแพร่ระบาดได้ง่ายและเร็วกว่าเดิมด้วยซ้ำ แม้กระทั่งในหมู่คนที่มีความรู้ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ ก็ยังมีความหลง มีอวิชชา หรือเชื่อความเท็จได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น ในอเมริกาทุกวันนี้มีถึง ๓๐ ล้านคนที่เชื่อว่าประธานาธิบดี บารัก โอบามา เป็นมุสลิม คนพวกนี้ใช้อินเทอร์เน็ตกันทั้งนั้น แต่เขาก็ยังหลงเชื่อข่าวลือนี้เพราะความเท็จเรื่องนี้แพร่หลายมากในอินเทอร์เน็ต

สมัยนี้เว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จและความเห็นแบบสุดโต่ง มีมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากมันจะทำให้ความเท็จแพร่ออกไปมากขึ้นแล้ว มันยังทำให้กลุ่มคนที่สุดโต่งทางความคิดติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น เมื่อก่อนก็มีคนสุดโต่งอยู่ แต่ใน 1 หมู่บ้านอาจจะมีอยู่แค่ 2-3 คน จะติดต่อคนที่คิดแบบเดียวกันก็ยาก เพราะคนเหล่านี้มักจะอยู่กระจัดกระจาย แต่ในทุกวันนี้ เขาติดต่อกันได้ง่ายมากเพราะมีอินเทอร์เน็ต คนคอเดียวกันก็เลือกเข้าเว็บไซต์เดียวกัน จึงพากันสุดโต่งยิ่งกว่าเดิม

ความสุดโต่งในยุคสารสนเทศนี่น่ากลัวมาก ในอเมริกามีกลุ่มคนสุดโต่งไปในหลากหลายรูปแบบ คนเหยียดผิว คนเกลียดเกย์ คนเกลียดมุสลิม คนเกลียดยิว คนพวกนี้อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเผยแพร่ความคิดของตัว รวมทั้งพูดกรอกหูพวกเดียวกันจนมีอคติรุนแรงมากขึ้น

ข้อสรุปของอาตมาคือ ความดีงาม ความเจริญรุ่งเรือง ของมนุษยชาติ จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุเทคโนโลยีมากเท่ากับคุณภาพจิตของผู้คน ถ้าใจเราคับแคบ เห็นแก่ตัว เทคโนโลยีก็ยิ่งทำให้เราคับแคบและเห็นแก่ตัวยิ่งขึ้น

การเซนเซอร์ไม่เคยได้ผลยั่งยืนไม่ว่าในยุคใดสมัยใด ไม่ว่าจะใช้กับสื่อเก่าหรือสื่อใหม่ในยุคดิจิตอล การเซนเซอร์เป็นดาบสองคมที่จะย้อนกลับมาทำร้ายคนที่เซนเซอร์เอง รัฐบาลจะไม่สามารถปิดเว็บไซต์ของฝ่ายตรงข้าม หรือปิดหูปิดตาประชาชนได้นาน เพราะเขาก็ย้ายไปเปิดที่อื่น สู้เอาความจริงหรือเหตุผลมาสู้กันไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและผู้คนที่รวมตัวกันเป็นสังคมในโลกออนไลน์ ก็ไม่ควรรอให้ใครมาเซนเซอร์ แต่เราควรควบคุมกันเอง ยกตัวอย่างเช่น ในเฟซบุคมีกลุ่มที่สร้างขึ้นมาเพื่อปลุกปั่นความเกลียดชัง ก็ควรมีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อความสันติเป็นต้น

ในหมู่ผู้ใช้ควรจะร่วมกันสร้างวัฒนธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกัน เช่น ช่วยกันสร้างมาตรฐานว่า ไม่ใช้คำหยาบคาย ไม่กล่าวประณามหยามเหยียดผู้อื่น ไม่ปลุกปั่นความเกลียด เรื่องนี้ควรทำให้เป็นวัฒนธรรม คือนอกจากวัฒนธรรมในวงการอินเทอร์เน็ตที่เน้นสิทธิเสรีภาพในด้านข้อมูลข่าวสารแล้ว เรายังควรมีมารยาทต่อกัน ถกเถียงกันด้วยเหตุผล เมื่อสังคมออนไลน์มีวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ต่อไปพวกผู้ใช้ที่คำหยาบคายหรือเกเรก็จะพูดเบาลง หรือย้ายไปที่อื่น พวกที่ชอบด่าทอ เผยแพร่ความเกลียดชัง ใส่ร้าย กล่าวเท็จ ก็จะหดแคบลงไปเรื่อยๆ อาตมาเชื่อว่าวิธีนี้ดีกว่าการเซนเซอร์

ในส่วนของพระสงฆ์ จริงๆ แล้วทุกวันนี้ พระรู้เรื่องเทคโนโลยีกันเยอะมาก จนมีคนเอาไปพูดล้อกัน "อยากรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ให้ถามพระ อยากรู้เรื่องธรรมะให้ถามฆราวาส" พระสมัยนี้ไปเดินแถวพันธุ์ทิพย์กันเยอะมาก นี่ก็เป็นแนวโน้มที่น่าสังเกต อาตมาคิดว่าพระสงฆ์ควรจะใช้งานให้เหมาะสม อย่างเช่นการใช้งานโซเชียลเน็ทเวิร์ค ถ้าใช้เพื่อการพูดเล่นกัน อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์ แต่ถ้าใช้เผยแผ่ธรรมะ ก็น่าจะเหมาะสม และพระสงฆ์ควรเรียนรู้ที่จะใช้งานในด้านนี้ให้มากขึ้น

ทุกวันนี้อาตมาใช้เฟซบุคในการเผยแผ่ธรรมะ คิดว่าเฟซบุคได้รับความนิยมมากกว่า และเข้าถึงผู้คนได้ง่ายกว่า เว็บไซต์ของอาตมาที่ visalo.org ก็ยังทำอยู่ แต่คนเข้าน้อยกว่ามาก อาจเป็นเพราะว่าเว็บไซต์เป็นสิ่งที่เราต้องขวนขวายเข้าไปหา ส่วนเฟซบุคนั้น เวลาเราเขียนอะไร ข้อความจะไปปรากฏในหน้าเฟซบุคของคนอื่นทันที คือไม่ต้องไปหา มันมาเอง อาตมาคิดว่าโซเชียลเน็ตเวิร์คเหล่านี้ อาจจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ อย่างเช่นการให้สติแก่ประชาชนไทยในช่วงเวลาที่กำลังมีความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เราอาศัยแค่เฟซบุคอย่างเดียวไม่ได้ การรอให้คนมากดไลค์หรือใส่คอมเมนต์เห็นด้วยเท่านั้น ยังไม่มีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร คนหนุ่มสาวในยุคนี้ต้องลงทุนและลงแรงให้มากกว่านี้ แต่คนหนุ่มสาวสมัยนี้ไม่ค่อยมีเวลาต่อสู้กับอะไร แค่ต่อสู้กับความเบื่อ ความเหงา ความหงุดหงิด ความเซ็ง ก็เหนื่อยแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงความสะดวกสบายจนเคยตัวจากเทคโนโลยีทั้งหลาย ต้องสู้กับสิ่งยั่วยุกิเลสตัณหาสารพัด รวมทั้งสิ่งดึงดูดความสนใจไปจากสิ่งที่เป็นสาระแท้จริงของชีวิต ถ้ายังผ่านสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้ ชีวิตเขาก็คงลำบาก ยากที่คิดทำอะไรเพื่อผู้อื่นได้

**********************************

1. เทคโนโลยีกำหนดโลกทัศน์ของผู้ใช้เทคโนโลยี เปรียบเหมือนคนที่มีค้อนอยู่ในมือ ก็จะมุมมองที่เห็นแต่เฉพาะตะปู โฟกัสไปที่หัวตะปู มุ่งไปที่การตอกตะปูตัวนั้น

2. คุณค่าแท้ของเทคโนโลยีรถยนต์คือใช้มันเพื่อการเดินทางไกลแทนเท้า คุณค่าเทียมของมันคือความโก้เก๋ การแสดงออกถึงเอกลักษณ์ของผู้ขับขี่ โฆษณารถยนต์ในยุคที่มุ่งเน้นคุณค่าเทียม จึงไม่ได้โฆษณาว่ารถคันนี้ช่วยให้คุณไปถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัยและประหยัด ยังโฆษณาว่ารถคันนี้ขับแล้วโดดเด่น โก้เก๋ ไม่เหมือนใคร

3. ในอินเทอร์เน็ตมีข่าวสารมากมายบางทีก็อดใจไม่ไหวที่จะเปิดอ่าน แต่ก็ต้องคอยคุมตัวเองไว้ อย่าไปยุ่งกับมันมาก เพราะมันจะดึงดูดเราลึกเข้าไปเรื่อยๆ ข้อมูลข่าวสารที่มากเกินไปแบบนี้ มันจะดึงเราเข้าไปแบบไม่มีวันจบ เราค้นหาข้อมูลได้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีวันหมด ไม่มีวันสิ้นสุด

4. มีคนเอาไปพูดล้อกัน "ถ้าอยากรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ให้ถามพระ ถ้าอยากรู้เรื่องธรรมะให้ถามโยม" พระสมัยนี้ไปเดินพันธุ์ทิพย์กันทั้งนั้น นี่ก็เป็นแนวโน้มที่น่าสนใจ และพระสงฆ์ควรจะหาทางใช้งานที่เหมาะสม

5. เราอาศัยแค่เฟซบุคไม่ได้ การรอให้คนมากดไลค์หรือใส่คอมเมนต์เห็นด้วยเท่านั้น ยังไม่มีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร คนหนุ่มสาวในยุคนี้ต้องลงทุนและลงแรงให้มากกว่านี้

อาตมาใช้คอมพิวเตอร์ครั้งแรกในปี 2537 ใช้อินเทอร์เน็ตตั้งแต่ปี 2538 ได้ใช้เวลามากรุงเทพฯ อาศัยสำนักงานของเพื่อน ๆ สำหรับต่ออินเทอร์เน็ต มีอีเมล์แอคเคานต์ของตนเองเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2542 ที่ yahoo.com และเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตประจำ ตั้งแต่ปี 2548 โดยใช้โทรศัพท์มือถือเป็นโมเด็ม ต่ออินเทอร์เน็ตผ่านทาง GPRS

ในปัจจุบันอาตมาใช้โน้ตบุค 1 เครื่อง สำหรับการทำงาน เขียนหนังสือ แปลหนังสือ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ในตอนเช้าและเย็น เอาไว้เปิดดูข่าวประจำวัน เช็คข้อมูลในการเขียนหนังสือ ค้นคว้าวิกิพีเดีย เช็คอีเมล์งาน และเผยแพร่งานในเฟซบุค นอกจากนี้ มีเน็ตบุค 1 เครื่อง เอาไว้พกพาไปใช้ในเวลาเดินทางไกลๆ และมีเครื่องเล่นเอ็มพีสาม เพื่ออัดเสียงคำบรรยาย นำไฟล์เสียงไปให้ลูกศิษย์ นำไปแกะแล้วอาตมาจะขัดเกลาข้อความ เพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ เฟซบุคมี 3 แห่ง คืออาตมาทำเอง 1 แอคเคานต์ และมีลูกศิษย์ช่วยทำให้อีก ๒ แอคเคานต์

อาตมามีเวลาใช้อินเทอร์เน็ตไม่เกิน 30 ชั่วโมงต่อเดือน จึงกำหนดตัวเองว่าจะใช้อินเทอร์เน็ตวันละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากมีเวลาใช้จำกัด อาตมาจึงไม่ไปเสียเวลาแวะดูเว็บไซต์พร่ำเพรื่อ ไม่ไปโหลดคลิปวิดีโอ เพราะใช้เวลานานมากเนื่องจากโมเด็มโหลดข้อมูลค่อนข้างช้า ผิดกับหลายคนที่ออนไลน์ทั้งวัน สามารถใช้อินเทอร์เน็ตโดยไม่จำกัด ทำให้มีความพอดีได้ยาก



จาก http://visalo.org/columnInterview/chip10.htm
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...