ผู้เขียน หัวข้อ: ม็อบพระ ปะทุวิกฤตศรัทธา สมเด็จช่วง – มหาเถรฯ - ธรรมกาย (พระไพศาล วิสาโล )  (อ่าน 1094 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ม็อบพระ ปะทุวิกฤตศรัทธา สมเด็จช่วง – มหาเถรฯ - ธรรมกาย

สัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับ ๓๒๙
วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

กระเทาะสมณสารูป ‘ม็อบพระ’ ผ่านสัมภาษณ์พิเศษ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ พระนักเผยแผ่ชื่อดังของเมืองไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยถอดบทเรียนกรณีเครือข่ายคณะสงฆ์ฝั่งสนับสนุนสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ระดมพลชุมนุมบริเวณ พุทธมณฑล จ.นครปฐม เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา อ้างเหตุว่าเพื่อสกัดแผนล้มล้างการปกครองคณะสงฆ์ไทย และยื่นสังฆมติต่อรัฐบาล ขณะที่ม็อบพระก่อวีรกรรมเป็นที่โจษจันทั้งล็อกคอทหารและโยกเขย่ารถของทหาร ตลอดจนประเด็นการชักใยยุ่มย่ามของ ‘ธรรมกาย’ ที่กำลังพ่นวิกฤตศรัทธาที่ประชาชนมีต่อ มหาเถรสมาคม (มส.)

การออกมาเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์และประกาศสังฆามติในครั้งนี้ ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร
 
ท่านเหล่านั้นมีสิทธิที่จะชุมนุมและแสดงความคิดเห็น ถึงแม้ว่าคสช.มีคำสั่งห้ามชุมนุมก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นใครก็มีสิทธิชุมนุมโดยสงบสันติทั้งนั้น  แต่การชุมนุมของพระสงฆ์จะสมควรหรือไม่ก็อยู่ที่จุดมุ่งหมายและวิธีการชุมนุม หมายความว่าควรจะมีจุดมุ่งหมายที่ถูกต้องดีงาม ขณะเดียวกวันวิธีการก็เหมาะสมกับสมณสารูป  คือ สงบ สันติ สุภาพ  ไม่ใช้ความรุนแรงไม่ว่าด้วยวาจาหรือการกระทำ  จะว่าไปแล้วการชุมนุมของพระต้องสงบและสันติยิ่งกว่าของฆราวาสด้วยซ้ำ  จะทำเช่นนี้ได้ต้องมีความอดทนหรือขันติธรรม หากขาดขันติธรรม ใช้วาจาหรือการกระทำที่ไม่สุภาพก็จะส่งผลเสียต่อตัวท่านและผู้ชุมนุม  เพราะว่าไม่เหมาะกับสมณสารูป 

ข้อเรียกร้องของทางคณะสงฆ์ยื่นต่อรัฐบาลมีความเหมาะสมหรือไม่

ข้อเรียกร้อง โดยเฉพาะข้อแรก ที่ว่าหน่วยงานรัฐไม่ควรก้าวก่ายคณะสงฆ์ อาตมาไม่ทราบว่าหน่วยงานรัฐในที่นี้หมายถึงอะไร ถ้าหมายถึง ดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) หน้าที่ของ ดีเอสไอ คือรักษากฎหมาย  ซึ่งบังคับใช้ทั้งพระและฆราวาส  ในเมื่อพระสงฆ์อยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่สามารถทำตัวเหนือกฎหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ หรือกรรมการมหาเถรสมาคม ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้นหากมีการกล่าวหาว่ากรรมการมหาเถรสมาคมทำผิดกฎหมาย ก็ย่อมเป็นหน้าที่ของดีเอสไอที่จะเข้าไปตรวจสอบ  การทำหน้าที่ของ ดีเอสไอ จึงไม่ถือว่าเป็นการก้าวก่ายคณะสงฆ์ เพราะว่าเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่  หากดีเอสไอไม่ทำ  ก็ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ย่อมเป็นความผิด

ทีนี้อาตมาอยากให้ความเห็นเพิ่มเติม ว่าข้อเรียกร้องทั้งหมด โดยเฉพาะ ๔ ข้อแรก ซึ่งเป็นการเรียกร้องต่อรัฐหรือหน่วยงานรัฐ  สะท้อนให้เห็นว่าในทัศนะของผู้ชุมนุม ประเด็นเรื่องมหาเถรสมาคมหรือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์   เป็นความขัดแย้งระหว่าง หน่วยงานรัฐ กับกรรมการมหาเถรสมาคม และผู้สนับสนุนเท่านั้น  แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นความขัดแย้งที่ใหญ่กว่านั้น คือเป็นความขัดแย้งระหว่างกระแสสังคมกับมหาเถรสมาคม  กล่าวคือชาวพุทธจำนวนไม่น้อยไม่พอใจมติของมหาเถรสมาคมกรณีธัมมชโย เกิดความเสื่อมศรัทธาในสมเด็จช่วง (สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์) 

พระสงฆ์ที่ชุมนุมที่พุทธมณฑลดูเหมือนจะไม่ได้ตระหนักเรื่องนี้ คือคิดว่ามันเป็นความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐกับมหาเถรสมาคมเท่านั้น จึงเรียกร้องไม่ให้หน่วยงานรัฐมาก้าวก่าย แต่ถึงแม้ว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐทำตามข้อเรียกร้องเหล่านี้ ก็ยังไม่ได้ทำให้ปัญหาหมดไป  เพราะปัญหาที่แท้จริงคือ ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยมีความเคลือบแคลงกังขาในมติและพฤติกรรมของกรรมมหาเถรสมาคมโดยเฉพาะสมเด็จช่วง  การชุมนุมของพระสงฆ์ไม่ได้ทำให้กระแสสังคมหายสงสัยเคลือบแคลงมหาเถรสมาคมหรือกลับมามีศรัทธาในสมเด็จช่วงเลย  ตรงกันข้ามกับรู้สึกไม่ดีกับมหาเถรสมาคมและสมเด็จช่วงหนักขึ้น หรือถึงกับเสื่อมศรัทธาในพระสงฆ์โดยรวมด้วยซ้ำ ยังไม่ต้องพูดถึงความรู้สึกไม่ดีกับพระสงฆ์ที่มาชุมนุม  นั่นหมายความว่า สมมติว่านายกรัฐมนตรีทูลเกล้า ฯ เสนอให้สมเด็จช่วงเป็นพระสังฆราชจริง ๆ   สมเด็จช่วงก็ยังถูกกระแสสังคมต่อต้านอยู่นั่นเอง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับท่านเลย

การที่คณะสงฆ์ออกมาชุมนุมเรียกร้อง โดยไม่สร้างความเข้าใจต่อสังคมจะเกิดวิกฤตศรัทธาต่อตัวพวกเขาเอง

สิ่งที่พระสงฆ์ที่ชุมนุมต้องตระหนักคือว่า  สถานการณ์ตอนนี้ สังคมกำลังเสื่อมศรัทธาในกรรมการมหาเถร นี้คือปัญหาที่ใหญ่กว่าความขัดแย้งกับหน่วยงานรัฐ   ดังนั้นประเด็นสำคัญก็คือ ทำอย่างไรจึงจะกอบกู้ศรัทธาผู้คนที่มีต่อมหาเถรสมาคมให้กลับคืนมา  แต่การชุมนุมที่พุทธมณฑลไม่ได้สนใจตอบโจทย์ข้อนี้เลย คิดแต่จะสร้างกระแสกดดันฝ่ายรัฐอย่างเดียว แต่ถึงแม้ฝ่ายรัฐยินยอมรับทั้ง 4 ข้อ  ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังเสื่อมศรัทธาในกรรมการมหาเถรสมาคมและสมเด็จช่วงอยู่นั่นเอง   ถ้าวิกฤตศรัทธาตรงนี้ไม่ได้แก้ไข ก็เชื่อได้เลยว่า การคัดค้านสมเด็จช่วง ความเคลือบแคลงสงสัยในกรรมการมหาเถรสมาคม และการต่อต้านคัดค้านธัมมชัยโยก็จะมีต่อไป และอาจรวมถึงความเสื่อมศรัธาในพระสงฆ์โดยรวมด้วย

การทำให้กระแสสังคมกลับมามีศรัทธาในมหาเถรสมาคมและคณะสงฆ์โดยรวม เป็นเรื่องสำคัญกว่าการกดดันให้รัฐบาลยอมตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ถามว่าจะทำอย่างไรให้มหาเถรสมาคมเป็นที่ศรัทธาของประชาชน  ทางออกเฉพาะหน้าก็คือจะต้องทำให้กรณีธัมมชโยมีความกระจ่างขึ้น ไม่ใช่เตะลูกออก หรือปัดสวะให้พ้นตัว  ซึ่งเท่ากับบ่งชี้เป็นนัยว่าธัมมชโยนั้นมีความผิดจริง มหาเถรสมาคมจึงไม่กล้าพิจารณาเรื่องนี้ให้กระจ่าง   จึงหาทางปัดเรื่องนี้ออกไป  โดยอ้างความผิดพลาดทางเทคนิค   เหตุผลหลายข้อที่นำกล่าวอ้างก็อ่อนมาก  เช่น บอกว่าเมื่อมีการพิจารณาคดีธัมมชโยในศาลทางโลกแล้ว  การพิจารณาในศาลสงฆ์ก็ต้องยุติ อันนี้เป็นเรื่องที่คนรับได้ยาก เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ความผิดทางโลกก็เป็นเรื่องของศาลทางโลก ส่วนความผิดทางพระวินัยก็เป็นเรื่องของศาลสงฆ์

อันที่จริงแม้ศาลสงฆ์ชั้นต้นยังพิจารณาอธิกรณ์ธัมมชโยอยู่  มหาเถรสมาคมก็ยังมีอำนาจที่จะวินิฉัยให้ธัมมชโยสละสมณเพศได้หากเห็นว่าผิดจริง แม้การพิจารณาในศาลสงฆ์ชั้นต้นยังดำเนินอยู่ก็ตาม อันนี้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๑ ปี ๒๕๓๘ ให้อำนาจแก่มหาเถรสมาคม หากเห็นว่าถ้าพระภิกษุรูปนั้นดำรงอยู่ในสมณเพศจะก่อความเสียหายแก่พระศาสนาหรือการปกครองคณะสงฆ์ ก็สามารถจับสึกได้เลย

กฎระเบียบมีอยู่ เปิดช่องให้มหาเถรสมาคมตัดสินและวินิจฉัยเรื่องธัมมชโย แต่ท่านไม่สนใจที่จะปฏิบัติตาม คิดแต่จะเตะลูกออก หรือปัดสวะให้พ้นตัวอย่างเดียว  ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่  หากมหาเถรสมาคมใส่ใจกับการรักษาพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง จะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านเลยไป แต่จะต้องทำให้ความจริงหรือความถูกต้องในกรณีนี้กระจ่างชัดเจน  ไม่ใช่ปฏิเสธความรับผิดชอบ หรือมีมติที่เสมือนกับอุ้มธัมมชโยไว้ต่อไป  ชนิดที่ค้านสายตาของประชาชนจำนวนไม่น้อย

ตอนนี้กฎระเบียบของมหาเถรสมาคมไม่ศักดิ์สิทธิ์ ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของมหาเถรสมาคมก็ย่ำแย่ลง  ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อมหาเถรสมาคมและต่อคณะสงฆ์ไทยเลย

ในเมื่อมติมหาเถรสมาคมยังค้านสายตาประชาชน ดังนั้นถึงแม้ข้อเรียกร้องทั้ง ๕ ข้อของพระสงฆ์ที่มาชุมนุมได้รับการตอบสนอง  กระแสต่อต้านมหาเถรสมาคม สมเด็จช่วง รวมทั้งคณะสงฆ์ก็ยังมีอยู่ต่อไป และอาจหนักกว่าเดิม ถ้าไม่ทำตรงนี้ให้กระจ่าง ไม่มีการฟื้นฟูศรัทธาของประชาชน ที่มีต่อมหาเถร และสมเด็จช่วง การคัดค้านจะมีต่อไป  ดังนั้นแม้รัฐบาลจะยอมรับและทำตามข้อเรียกร้องของพระสงฆ์ที่มาชุมนุม  ความแตกแยกก็จะยังมีอยู่ต่อไป

กล่าวคือมหาเถรสมาคมควรจะได้รับการสังคยนาครั้งใหญ่

เราควรจะช่วยกันเรียกร้องผลักดันมหาเถรสมาคม ให้มีความเด็ดขาดและความกล้าหาญในการแก้ปัญหากรณีธัมมชโย ด้วยการเอาคดีธัมมชโยขึ้นมาพิจารณาอย่างโปร่งใส อย่าปัดสวะ จะต้องชี้ผิดชี้ถูกให้เห็นชัดเจนไปเลย การบ่ายเบี่ยงไม่พิจารณา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดนั้นฟังไม่ขึ้น ไม่ทำให้ศรัทธาประชาชนกระเตืองขึ้นมาได้ ต้องพิสูจน์ว่ามหาเถรสมาคมเป็นที่พึ่งของพุทธบริษัท มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม และปกป้องพระธรรมวินัยอย่างแท้จริงสมกับเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของสงฆ์

การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ ท่านมีความกังวลในประเด็นใดเป็นพิเศษไหม

อาตมาคิดว่าชาวพุทธเราไม่ว่าจะเคลื่อนไหวในเรื่องใดก็ตาม รวมทั้งเวลาไม่เห็นด้วยกับการกระทำของใครก็ตาม เราต้องรักษาความเป็นพุทธให้ได้ นั่นคือ เวลาจะพูดหรือแสดงความเห็นคัดค้านต้องใช้ปิยวาจา มีจิตเมตตาต่อผู้อื่น พูดด้วยเหตุผลอย่าใช้อารมณ์  ต้องมีขันติธรรม  ใครไม่เห็นด้วยกับเราก็อย่าไปโกรธเกลียดหรือด่าว่าเขา   กรณีธรรมกายก็เช่นกัน ถ้าเราใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หรือทำด้วยความโกรธความเกลียด เท่ากับว่าความเป็นพุทธของเราลดน้อยถอยลงไปด้วย  ในเมื่อตั้งใจจะรักษาพุทธศาสนา ก็ต้องปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าก่อน  ถ้าต้องการปกป้องพุทธศาสนา แต่ใช้วิธีการที่ไม่ใช่พุทธ  แล้วจะปกป้องพุทธศาสนาได้อย่างไร  จะทำอะไรเพื่อพระศาสนาก็ต้องไม่ลืมเมตตา กรุณา ขันติธรรม ยึดมั่นในหลักอหิงสา อย่าใช้วาจาที่รุนแรง พยามชี้แจงทำความเข้าใจด้วยเหตุผล  แม้จะถูกต่อว่าด่าทอ ก็ควรอดกลั้น ไม่ควรด่ากลับ  ไม่ใช่ว่าถ้าเขาแรงมาเราก็แรงไป อันนี้ไม่ใช้วิสัยของชาวพุทธ

ภาพพฤติกรรมไม่เหมาะสมของสงฆ์ที่ร่วมชุมนุนมตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ยิ่งสั่นคลอนความศรัทธา

อันนี้เป็นเพราะท่านคิดแต่จะกดดันรัฐบาล คิดแต่จะเอาชนะรัฐบาล จึงใช้วิธีแบบนั้น แต่ท่านลืมไปว่าปัจจัยสำคัญมิใช่รัฐบาล  แต่เป็นกระแสสังคมหรือสังคมชาวพุทธต่างหาก หากคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับท่าน ไม่มีศรัทธาในมหาเถรสมาคม ไม่ศรัทธาในบุคคลที่พวกท่านนับถือ ท่านก็ควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้กระแสสังคมมาเห็นด้วยกับท่าน มิใช่คิดแต่จะมุ่งกดดันรัฐบาล จนเผลอทำตัวให้เป็นที่เสื่อมศรัทธาในหมู่ประชาชน เท่ากับว่าทำให้ปัญหาลุกลามมากขึ้น ท่านต้องมองให้กว้างว่ามันไม่ใช่เรื่องระหว่างรัฐกับมหาเถรสมาคม มันเป็นเรื่องระหว่าง กระแสสังคมโดยรวม กับมหาเถรสมาคม ที่มีมติและพฤติกรรมที่ค้านสายตาผู้คน จนเขาเสื่อมศรัทธา ถ้าพระสงฆ์ที่มาชุมนุมเห็นตรงนี้ท่านคงจะไม่ทำอย่างที่ทำ แต่เป็นเพราะท่านเห็นว่านี้เป็นเรื่องของท่านกับรัฐ เลยมุ่งกดดันรัฐ ใช้ภาษาและใช้วิธีการกดดันอย่างเดียว ซึ่งวิธีนี้ไม่สามารถเรียกศรัทธาประชาชนให้ฟื้นขึ้นมาหรือทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายได้ 

อย่างที่อาตมาบอก  จะกู้ศรัทธาประชาชนได้ มหาเถรสมาคมต้องเอาคดีธัมมชโยมาทำให้กระจ่าง ผลการตัดสินจะเป็นอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับว่าท่านได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ นั่นคือ ต้องใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง อิงอยู่กับความถูกต้อง และมีความกล้าหาญ  ถ้าธัมมชโยจะพ้นผิดต้องพ้นผิดเพราะว่ามีหลักฐานว่าไม่ได้ทำผิดอย่างที่ว่า แต่การเตะลูกออกไม่ได้มีประโยชน์ต่อธัมมชโย และไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อมหาเถรสมาคม ด้วย และยิ่งทำให้พระสงฆ์กลุ่มที่สนับสนุนมหาเถรสมาคมและธัมมชโย มีภาพพจน์ติดลบในสายตาของประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อท่านจัดการชุมนุมแล้วใช้วิธีการที่มิใช่วิสัยของพระ  ไม่ได้ทำให้ประชาชนเห็นด้วยกับเหตุผลและมุมมองของท่านเลย

เครือข่ายธรรมกายในปัจจุบัน ท่านมองว่าอย่างไรบ้าง

เครือข่ายธรรมกายตอนนี้กว้างขวางมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ใช้เงินและเส้นสายมาช้านาน  เงินจำนวนมหาศาลถูกใช้ในการสร้างเส้นสาย ซึ่งขยายไปถึงกรรมการมหาเถรสมาคมหลายท่าน รวมทั้งสมเด็จช่วง แล้วยังลงลึกไปจนถึงพระสงฆ์ในชนบท ซึ่งเป็นฐานที่กว้างขวางของธรรมกาย  อีกส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ชาวพุทธเองมีความเข้าใจเรื่องธรรมะแม้กระทั่งขั้นพื้นฐานน้อย เช่น มีความเข้าใจเรื่องบุญไม่ค่อยถูกต้อง เพราะฉะนั้นจึงคล้อยตามและสนับสนุนธรรมกาย เพราะธรรมกายบอกว่าถ้าทำบุญกับเขาจะ “รอดตาย หายป่วย ร่ำรวย มีชื่อเสียง”  คนจำนวนไม่น้อยทำบุญกับธรรมกายเพราะเหตุผลนี้ ไม่ได้คิดทำบุญเพื่อละกิเลสหรือลดความตระหนี่ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา

ขณะเดียวกันหลายคนก็คิดว่าพระของธรรมกายเป็นแบบอย่างของพระสงฆ์ที่ดีงาม ต้องยอมรับว่าคนที่ศรัทธาธรรมกายด้วยความบริสุทธิ์ใจก็มีเยอะ แต่เป็นเพราะไม่เข้าใจว่าพระในพุทธศาสนาควรมีปฏิปทาอย่างไร เช่น ควรอยู่อย่างสันโดษ ไม่หรูหรา ไม่แสวงหาลาภยศ  อันนี้ก็ต้องโทษการสอนพุทธศาสนาที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน  รวมทั้งต้องโทษชาวพุทธที่มีความเข้าใจในธรรมอย่างไม่ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่พระสงฆ์ลงมาจนถึงประชาชนทั่วไป พอเราสอนธรรมะกันไม่ถูกต้อง ส่งเสริมให้ชาวพุทธหวังแต่ความร่ำรวย  เวลาพระจะให้พรก็อวยพรว่าขอให้รวย ๆๆๆๆ  แทนที่จะสอนให้เขามุ่งทำความดี หรือรู้จักลดละ  ก็เป็นธรรมดาที่คนจะหันมานิยมธรรมกาย เพราะธรรมกายเขาให้ความหวังว่าถ้าทำบุญกับเขาก็จะ รอดตาย หายป่วย ร่ำรวย มีชื่อเสียง   ในแง่นี้ธรรมกายจึงเป็นภาพสะท้อนความบกพร่องชาวพุทธไทยทั้งระบบ รวมทั้งความบกพร่องของการศึกษาคณะสงฆ์ และความบกพร่องของการปกครองคณะสงฆ์ที่ปล่อยให้ธรรมกายแผ่อิทธิพลถึงเพียงนี้ ทั้ง ๆ ที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหลายอย่างตลอด ๒๐-๓๐ ปีที่ผ่านมา
 
อาตมามองว่าปัญหาที่น่ากลัวน่าวิตกกว่าเรื่องธรรมกายก็คือ ปัญหาชาวพุทธเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับพุทธศาสนาแม้กระทั่งธรรมะเบื้องต้น  หากคนไทยเข้าใจธรรมะถูกต้องก็จะไม่หลงใหลหรือศรัทธาธรรมกาย เพราะย่อมรู้ว่าสิ่งที่ธรรมกายสอนนั้นสวนทางกับคำสอนของพระพุทธเจ้าหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่เรื่องบุญถึงเรื่องนิพพาน เมื่อเข้าใจไม่ถูกต้องจึงมาศรัทธาธรรมกาย  ดังนั้นจึงต้องถามว่าทำไมชาวพุทธไทยเข้าใจธรรมะไม่ถูกต้อง นั่นก็เพราะเราสอนธรรมะผิดพลาดมานานแล้ว อันนี้เป็นปัญหาของพระสงฆ์ทั้งระบบด้วย

สาเหตุที่เครือข่ายธรรมกายขยายตัวอย่างขว้างขวาง ก็เพราะชาวพุทธทั้งหลายรวมทั้งองค์กรสงฆ์ปล่อยให้ธรรมกายทำอะไรตามใจมาช้านานแล้ว เพราะฉะนั้น จะโทษธรรมกายอย่างเดียวไม่ได้ต้องโทษชาวพุทธพวกเรากันเองด้วย แต่ก็ยังไม่สายที่เราจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมให้ถูกต้อง จนสามารถตัดสินว่าอะไรถูก อะไรผิด  ไม่หลงใหลไปตามกระแสที่เขาสร้างขึ้นมาด้วยอำนาจเงิน อย่างที่ธรรมกายได้ทำ

นอกจากการหันมาทำความเข้าใจธรรมะให้ถูกต้องแล้ว จำเป็นที่เราจะต้องทบทวนและใคร่ครวญ บทบาทคณะสงฆ์ ระบบการปกครองคณะสงฆ์ ระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ ว่าเราผิดพลาดไปมากแค่ไหนแล้ว และทำอย่างไรจึงจะแก้ไขปรับปรุงหรือปฏิรูปให้ดีขึ้น

จาก http://visalo.org/columnInterview/5902Manager.html
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...