เราก็อย่าเป็นคนเชื่อง่าย ใครบอกอะไรเชื่อไปหมด เราต้องหูหนักและปากเบา “หูหนัก” คือ อย่าไปเชื่อง่าย “ปากเบา” คือ ชอบถาม มีอะไรก็อย่าไปเชื่อก่อน ให้ถาม ถามว่ามันเป็นอย่างไร เราไม่ค่อยถามกัน ใครลืออะไรมาก็เชื่อเลย
มีวิธีหนึ่งที่เงินสามารถให้ความสุขอย่างรวดเร็วและยั่งยืน (อย่างน้อยก็นานกว่าการเที่ยวห้าง) นั่นคือ
บริจาคเงินให้แก่คนจนหรือผู้ทุกข์ยาก รอยยิ้มของเขาสามารถทำให้คุณอิ่มเอิบไปได้นานทีเดียว
เราแก่ไปทุกวัน ใกล้ความตายไปทุกที
รีบสร้างความดีไว้มากๆ พ่อกับแม่ทำดีกับลูกนับหมื่นครั้ง ลูกอาจไม่ซาบซึ้งใจเพราะชินกับความดีของพ่อแม่
แต่พอพ่อแม่ทำไม่ดีกับเขาแค่ไม่กี่ครั้ง เขาจะจำได้ไม่ลืม
“จนปัญญา เพราะยึดมั่นถือมั่น” เคยสังเกตไหมว่าเวลาเพื่อนทำกระเป๋าเงินหาย เราสามารถสรรหาเหตุผลมาได้มากมายเพื่อช่วยให้เธอทำใจ (ยังดีที่ไม่เสียมากกว่านี้, ถือว่าใช้กรรมก็แล้วกัน, เงินทองเป็นของนอกกาย ฯลฯ) ในทำนองเดียวกันเวลาเพื่อนอกหัก ถูกแฟนทิ้ง เราก็รู้ว่าควรจะพูดอย่างไรเพื่อให้เธอปล่อยวาง
แต่เวลาเราประสบเหตุอย่างเดียวกัน กลับทำใจไม่ได้ เอาแต่เศร้าซึมจ่อมจมอยู่กับความสูญเสีย คำแนะนำดีๆ ที่ให้กับเพื่อนกลับเอามาใช้กับตัวเองไม่ได้ บ่อยครั้งก็นึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าควรจะทำใจอย่างไร ใช่หรือไม่ว่าสาเหตุที่เราสามารถแนะนำเพื่อนได้อย่างฉาดฉาน ก็เพราะเงินของเพื่อน ไม่ใช่เงินของฉัน แฟนของเพื่อน ไม่ใช่แฟนของฉัน เราจึงไม่รู้สึกทุกข์ร้อนเท่าใดนัก ปัญญาจึงทำงานได้เต็มที่ แต่เมื่อใดที่เหตุร้ายเกิดกับเงินของฉัน หรือกับแฟนของฉัน อารมณ์จะท่วมท้นใจจนนึกอะไรไม่ออก
ความเชื่อว่าคนเราเกิดมาเพื่อใช้กรรม มักทำให้ผู้คนยอมจำนนต่อทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตน โดยถือเสียว่าเป็นวิบาก แต่การคิดเช่นนี้ทำให้เราเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยวิบากฝ่ายเดียว
ทั้งๆ ที่เราสามารถใช้วิบากนั้นให้เกิดประโยชน์ เช่น เมื่อล้มป่วย เราสามารถใช้ความเจ็บป่วยสอนใจให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของชีวิต รวมทั้งเตือนใจไม่ให้ประมาทกับชีวิต เร่งทำความดี
คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อใช้กรรมอย่างเดียว แต่ยังสามารถสร้างกรรมใหม่ได้ด้วย ความผิดพลาดในอดีตนั้นเราแก้ไขไม่ได้แล้ว
แต่เราสามารถสร้างกรรมดีขึ้นมาเพื่อชดเชยหรือทดแทนได้ เราสามารถใช้วิบากกรรมหรือเคราะห์กรรมให้เป็นประโยชน์ได้ เช่น ทำให้เราไม่ประมาทและรู้จักปรับปรุงพัฒนาตนเอง เพื่อให้ชีวิตเจริญงอกงาม
อย่าเอาความสุขไปผูกติดกับทรัพย์สมบัติ เหตุการณ์บ้านเมือง หรือกระแสเศรษฐกิจ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีความแน่นอน ผันผวนปรวนแปรตลอดเวลา ขอให้ระลึกว่าสุขแท้อยู่ที่ใจ ถ้าวางใจเป็น รู้จักปล่อยวาง รู้จักพอ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นรอบตัวก็มีความสุขได้
เมื่อมือถูกไฟลวก มือจะชักออก นี่คือความฉลาดของ
“กาย” แต่เมื่อโกรธ
“ใจ” จะกอดความโกรธเอาไว้ ใครด่าเรา เราจะจำได้และนึกถึงเขาบ่อยๆ ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์ มองในแง่นี้จะเห็นว่าใจโง่กว่ากาย ชอบหาทุกข์ใส่ตัว
คนเราโกรธก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังโกรธ เศร้าก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังเศร้า ก็เลยจมอยู่ในความทุกข์เป็นวันเป็นเดือน
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องมาฝึกสติกัน เพราะคนเราทุกข์แล้วยังไม่รู้ตัว เรียกว่าทุกข์แล้วลืมตัว คนที่รวยแล้วลืมตัวนั้นมีไม่มาก เพราะมีน้อยคนที่จะร่ำรวย
แต่แทบทั้งหมดทุกข์แล้วลืมตัวทั้งนั้น สาเหตุที่สิ่งง่ายๆ กลับเกิดขึ้นได้ยาก ก็เพราะเราถูกฝึกมาให้คิดและทำอย่างซับซ้อน จนสิ่งง่ายๆ กลายเป็นเรื่องยากขึ้นมา ระหว่างการ
“ทำ” กับ
“ไม่ทำ” ใครๆ ก็รู้ว่าการไม่ทำนั้นง่ายกว่า แต่ในชีวิตจริงผู้คนส่วนใหญ่กลับไม่อาจอยู่นิ่งๆ หรืออยู่เฉยๆ ได้ (แม้ไม่ต้องทำมาหากินเลยก็ตาม) ต่างดิ้นรนทำอะไรต่ออะไรมากมาย ทั้งๆ ที่ทำแล้วก็ใช่ว่าจะมีความสุข กลับกลายเป็นการหาเรื่องใส่ตัวด้วยซ้ำ เพราะเหตุนี้ผู้คนจึงกลัวการนั่งสมาธิเป็นอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่ไม่ต้องทำอะไรเพียงแต่นั่งนิ่งๆ และดูลมหายใจเฉยๆ เท่านั้น แม้แต่คนที่พาตนมานั่งสมาธิได้แล้วก็ตาม ก็ยังมีปัญหาอีกเพราะพยายามเข้าไป
“จัดการ” กับความคิดปรุงแต่งไม่หยุดหย่อน แทนที่จะ
“ดู” มันเฉยๆ ทั้งๆ ที่การดูเฉยๆ โดยไม่ต้องทำอะไรกับมันนั้นเป็นเรื่องง่ายแสนง่าย แต่คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้และไม่ยอมทำเพราะถูกฝึกมาให้ทำอะไรต่ออะไรมากมายจนอยู่เฉยๆ หรือทำใจเฉยๆ ไม่ได้
คุณจะใช้เวลา ๑๐ ปีในที่ทำงาน, ๒๐ ปีบนเตียงนอน, ๓ ปีบนโถส้วม, ๗ เดือนรถติด, ๒.๕ เดือนรอสาย (โทรศัพท์), ๑๒ ปีดูโทรทัศน์, ๑๙ วันเที่ยวมุดหารีโมทคอนโทรล
และทั้งหมดทั้งปวงนี้...ทำให้คุณเหลือเวลาเพียง ๑/๕ ของชีวิตที่จะเอาไว้ใช้ แล้วคุณจะมัวรีรออะไรอยู่ - บางตอนจากคำนำ
ในหนังสือ “ใช่เกลียดตะวัน มันแสบตา” โดย ผาด พาสิกรณ์ อนาคตนั้นเป็นสิ่งที่ยากแก่การทำนายได้ แม้แต่ผู้รู้ก็ทำนายผิดได้
ดังนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ขอให้ใช้สติปัญญาอย่างดีที่สุด เมื่อมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ดี ถูกต้อง ชอบธรรม ก็พึงทำด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่ อย่ากังวลกับผลข้างหน้า หรือหวั่นไหวไปกับการคาดคะเนในอนาคต
ปล่อยให้ผลสำเร็จเป็นเรื่องของอนาคต หน้าที่ของเราคือทำปัจจุบันให้ดีที่สุด น้ำเสียนั้นเราไม่จำเป็นต้องวิดดอก เพียงแค่ทดน้ำดีเข้าไปมากๆ มันก็จะไปไล่น้ำเสียเอง
นิสัยไม่ดีก็เช่นกัน เพียงแต่เพิ่มกำลังให้จิตใจใฝ่ดีเท่านั้น มันก็จะไปกำจัดนิสัยไม่ดีเอง ใจที่อ่อนโยนนุ่มนวลกับชีวิต ไม่คิดบังคับควบคุมทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิต นี้ต่างหากที่ทำให้ชีวิตใหม่บังเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
ชีวิตของคนเราก็เช่นกัน มีคนจำนวนไม่น้อยที่ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากประสบวิกฤต บางคนเป็นโรคหัวใจเจียนตาย ภัยร้ายได้บังคับให้เขาต้องหันมาทบทวนชีวิตของตน และพบว่าการหมกมุ่นอยู่กับตนเอง ตัดขาดจากผู้อื่น และจมอยู่กับความหดหู่เศร้าหมอง เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เขามีอาการดังกล่าว เขาจึงปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เข้าหาผู้คน ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อผู้อื่น และปล่อยวางความกังวลหม่นหมอง ไม่นานสุขภาพของเขาก็ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น เขายอมรับว่าการเป็นโรคหัวใจเป็นสิ่งดีที่สุดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเขา
“ทางดับทุกข์” เส้นนี้แปลก เพราะเส้นทางส่วนใหญ่หรือว่าทั้งหมดนั้น มีไว้สำหรับเดินสำหรับวิ่ง ถ้าเดินช้าก็ขับรถไป
แต่ว่า “ทางดับทุกข์” เส้นนี้ไม่ได้มีไว้ให้วิ่งแต่มีไว้ให้หยุด ไม่เหมือนกับเส้นทางทั่วไป
เพราะมีไว้ให้หยุด ถ้าหยุดเป็น ถ้ารู้จักหยุด ก็ดับทุกข์ได้ “พุทธชยันตี” ปีนี้ครบรอบ ๒,๖๐๐ ปี ที่พระพุทธเจ้าทรงชนะกิเลสมารทั้งปวง โอกาสดีที่คนไทยจะเข้าใจความจริงอันยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไรและนำมาใช้ได้อย่างไร
ร่วมเฉลิมฉลองและดำเนินชีวิตตามรอยพระพุทธเจ้า โลกนี้หาความจีรังยั่งยืนไม่ได้ แปรเปลี่ยนเป็นนิจ สิ่งที่เรายกย่องเชิดชูว่าดีวิเศษในวันนี้ สามารถกลายเป็นอื่นในวันหน้า นี้เป็นธรรมดาของสิ่งที่เรียกว่าสมมติ
ใครที่ยึดติดถือมั่นกับสมมติ ปักใจเชื่อว่ามันต้องดีไปตลอด ย่อมเป็นทุกข์เมื่อเจอความเปลี่ยนแปลง
ในการสื่อธรรมะสู่ประชาชนนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักก็คือ ธรรมะนั้นจะต้องสัมพันธ์กับชีวิตของเขา การเผยแผ่ธรรมตามใจนึกของผู้สอนนั้น ได้ผลน้อยกว่าการเอาปัญหาของฆราวาสเป็นตัวตั้ง ข้อที่ต้องตระหนักคือปัญหาของฆราวาสในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากสมัยปู่ย่าตายายมาก แม้เรื่องอบายมุข เช่น การพนัน ยาเสพติด รวมทั้ง การละเมิดเบียดเบียนตามแนวศีล ๕ ยังเป็นปัญหามาถึงสมัยนี้ แต่ก็มีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้ง มีปัจจัยใหม่ๆ มาเกี่ยวข้องกับชีวิตมากขึ้น ทำให้ปัญหาเก่าๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น
(มีต่อ)