ประวัติตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไทยปลื้ม โชติษฐยางกูร
คำบรรยายกฎหมายคณะสงฆ์ ชั้นปริญญาตรี
คณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๐ หน้า ๑๕๐–๑๕๘
๑. ประวัติตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไทยสมเด็จพระสังฆราช เป็นประมุข เป็นที่เคารพสักการะของคณะสงฆ์ และเป็นผู้นำหมู่สงฆ์ที่เรียกว่า “สกลมหาสังฆปริณายก” ตำแหน่งนี้มีมานานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีจารึกไว้ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ราว พ.ศ. ๑๘๓๕ ว่า “พระนครสุโขทัย มีสังฆราช มีปู่ครู มีมหาเถร มีเถร” ตามตำนานคณะสงฆ์ พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้อธิบายถึงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไว้ตอนหนึ่งว่า
“สังฆราชเห็นจะเป็นสังฆนายกชั้นสูงสุด ตำแหน่งปู่ครู ตรงกับคำที่เราเรียกว่า พระครูในทุกวันนี้ เป็นตำแหน่งสังฆนายกรองลงมาจากสังฆราช สันนิษฐานว่าเอาอย่างมาจากยศพราหมณ์ ซึ่งมีตำแหน่งพระราชครู พระครูผู้สอนแบบประเพณี แต่พระมหาเถระและเถระที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกนั้น เห็นจะมีความหมายว่า พระภิกษุที่มีพรรษาอายุและทรงคุณธรรมในทางพระศาสนาเป็นมาเถระและเถระตามวินัยบัญญัติ มิได้เป็นสมณศักที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้ง”
และในตอนหนึ่งทรงนิพนธ์ไว้ว่า
"ในประเทศสยาม เมื่อพระนครสุโขทัยเป็นราชธานีเห็นจะมีสังฆราชมากกว่าองค์เดียว ด้วยวิธีการปกครองราชอาณาจักรในครั้งนั้น หัวเมืองใหญ่ที่ห่างไกลราชธานีเป็นเมืองประเทศราช แม้เมืองใกล้ราชธานี ที่เป็นเมืองใหญ่ ก็ตั้งเจ้านายออกไปปกครองอย่างทำนองประเทศราช เมืองใหญ่เมืองหนึ่งน่าจะมีสังฆราชองค์หนึ่งเป็นสังฆนายกในเมืองนั้น"
ความที่กล่าวนี้มีเค้าเงื่อนที่ปรากฏในทำเนียบชั้นหลัง ยังเรียกเจ้าคณะเมือง ว่า พระสังฆราช อยู่หลายเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงเปลี่ยนเป็น สังฆปาโมกข์ ในรัชกาลที่ ๔
ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมีประจำสังฆมณฑลตลอดมา จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตโกสินทร์ แต่ไม่มีทำเนียบหรือพระประวัติไว้โดยละเอียด เพิ่งมีทำเนียบเป็นหลักฐานในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง นับแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลปัจจุบัน มีพระมหาเถระได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จสังฆราช ๑๘ องค์ รวมทั้งองค์ปัจจุบัน มีพระนามสองอย่าง ถ้าเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ มีคำนำหน้าพระนามว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า หรือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า เป็นสามัญชนมีคำนำหน้าว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
ข้อความเฉพาะส่วนนี้คัดมาจาก http://www.mahathera.com/somdej/somdej.htmlสมเด็จพระสังฆราช เป็นตำแหน่งที่มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ดังมีหลักฐานจากศิลาจารึก ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้จารึกคำว่าสังฆราชไว้ด้วย
สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เป็นตำแหน่งสมณศักดิ์สูงสุดฝ่ายพุทธจักรของคณะสงฆ์ไทย ทรงเป็นประธานการปกครองคณะสงฆ์ ตำแหน่งนี้น่าจะมีที่มาจากคณะสงฆ์ไทย นำแบบอย่างมาจาก ลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงอัญเชิญพระเถระผู้ใหญ่ของลังกา ที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่าย เถรวาทในประเทศไทย
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เพิ่มตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็น สกลมหาสังฆปรินายก มีอำนาจว่ากล่าวออกไปถึงหัวเมือง โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่าย คามวาสี เป็นสังฆราชขวา สมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะฝ่ายอรัญวาสี เป็นสังฆราชซ้าย องค์ใดมีพรรษายุกาลมากกว่า ก็ได้เป็นพระสังฆราช ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พระอริยมุนี ได้ไปสืบอายุพระพุทธศาสนาที่ลังกาทวีป มีความชอบมาก เมื่อกลับมาได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับจนเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชดำริให้คงราชทินนามนี้ไว้ จึงทรงตั้งราชทินนามสมเด็จพระสังฆราชเป็น สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดี และมาเป็น สมเด็จพระอริยวงศาญาณ ในสมัยกรุงธนบุรี และได้ใช้ต่อมาจนถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จึงได้ทรงปรับปรุงเพิ่มเติมเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ซึ่งได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ตามทำเนียบสมณศักดิ์ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่มีตำแหน่งสังฆปรินายก ๒ องค์ ที่เรียกว่า พระสังฆราชซ้าย ขวา ดังกล่าวแล้ว ยังมีคำอธิบายอีกประการหนึ่งว่า สมเด็จพระอริยวงศ์ เป็นพระสังฆราชฝ่ายขวาว่า คณะเหนือ พระพนรัตน์เป็นพระสังฆราชฝ่ายซ้ายว่า คณะใต้ มีสุพรรณบัฏจารึกพระนามเมื่อทรงตั้งทั้ง ๒ องค์ แต่ที่สมเด็จพระพนรัตน์ โดยปกติไม่ได้เป็นสมเด็จ ส่วนพระสังฆราชฝ่ายขวานั้นเป็นสมเด็จทุกองค์ จึงเรียกว่า สมเด็จพระสังฆราช จึงเป็นมหาสังฆปรินายก มีศักดิ์สูงกว่าพระสังฆราชฝ่ายซ้าย
ที่พระพนรัตน์ แต่เดิม ทรงยกเกียรติยศเป็นสมเด็จแต่บางองค์ มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงเป็นสมเด็จทุกองค์
เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี วิธีการปกครองพระราชอาณาจักรในครั้งนั้น หัวเมืองใหญ่ที่ห่างไกลจากราชธานี เป็นเมืองประเทศราชโดยมาก แม้เมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้ราชธานี ก็ตั้งเจ้านายในราชวงศ์ออกไปครอง ทำนองเจ้าประเทศราช เมืองใหญ่แต่ละเมือง จึงน่าจะมีสังฆราชองค์หนึ่ง เป็นสังฆปรินายกของสังฆบริษัทในเมืองนั้น ดังปรากฏเค้าเงื่อนในทำเนียบชั้นหลัง ยังเรียกเจ้าคณะเมืองว่าพระสังฆราชอยู่หลายเมือง จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จึงได้ทรงเปลี่ยนมาเป็นสังฆปาโมกข์
พระสงฆ์ฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสีนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล คือฝ่ายที่พำนักอยู่ใกล้เมืองเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย เรียกว่า คามวาสี อีกฝ่ายหนึ่งบำเพ็ญสมณธรรมในที่สงบเงียบตามป่าเขา ห่างไกลจากบ้านเมืองเรียกว่า อรัญวาสี ภิกษุแต่ละฝ่ายยังแบ่งออกเป็นคณะ แต่ละคณะจะมีพระราชาคณะปกครอง หัวหน้าพระราชาคณะเรียกว่า สมเด็จพระราชาคณะ
แบบแผนการปกครองคณะสงฆ์ของไทย เริ่มจัดวางหลักตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีการพัฒนาเพิ่มเติมใน สมัยกรุงศรีอยุธยาและต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยมาตามลำดับ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ การปกครองคณะสงฆ์ก็ยังจัดโดยมีตำแหน่งเปรียบเทียบดังนี้
สกลสังฆปรินายก ได้แก่สมเด็จพระสังฆราช
มหาสังฆนายก ได้แก่เจ้าคณะใหญ่
สังฆนายก ได้แก่เจ้าคณะรอง
มหาสังฆปาโมกข์ ได้แก่เจ้าคณะมณฑล
สังฆปาโมกข์ ได้แก่เจ้าคณะจังหวัดที่เป็นพระราชาคณะ
สังฆวาห ได้แก่เจ้าคณะจังหวัดที่เป็นพระครู
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามพระบรมราชวงค์ ชั้นพระองค์เจ้า ผู้ดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชขึ้นใหม่ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ทรงเศวตฉัตร ๕ ชั้น พระราชวงค์ชั้นรองลงมา เท่าที่ปรากฏ มีชั้นหม่อมเจ้า ผู้ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีคำนำหน้า พระนามว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงฉัตร ๕ ชั้น
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕ ได้บัญญัติถึงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้ว่า ในกรณีตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศนาม สมเด็จพระราชาคณะ ที่มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำพระนามสมเด็จพระราชาคณะ ๔ รูป คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สมเด็จพระวันรัต สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ เสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แล้วนำกราบถวายบังคมทูล ให้พระมหากษัตริย์ทรงวินิจฉัย และจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ สถาปนาสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชต่อไป
๒. การสถาปนาพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช การสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นการถวายพระราชอำนาจไว้ให้ทรงสถาปนาได้ตามพระอัธยาศัยตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช มีข้อควรทราบอยู่ ๓ ประการ คือ
๑. คุณสมบัติของผู้ควรได้รับการสถาปนา
๒. พิธีการสถาปนา
๓. ความเห็นของมหาเถรสมาคม
คุณสมบัติของผู้ควรได้รับการสถาปนา๑. ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะ
๒. มีพรรษาสูงสุด หรืออาวุโสสูงสุด *
๓. มีศีลสมาจารวัตรเพียงพร้อม ไม่ด่างพร้อย เป็นที่เคารพสักการะของคณะสงฆ์ และประชาชน และ
๔. ได้บำเพ็ญศาสนกิจเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา และราชอาณาจักรเป็นอย่างมาก ทั้งยังสามารถปฏิบัติภารกิจต่อไปได้
* มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราช บัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติให้เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดพิธีการสถาปนา๑. การดำเนินการ
๒. การตั้งพระราชพิธีสถาปนา
การดำเนินการสถาปนาเมื่อตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง กระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมการศาสนา ซึ่งมีอธิบดีเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม จะรวบรวมพระประวัติและผลงานของสมเด็จพระราชาคณะทุกรูป เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา แล้วนายกรัฐมนตรีนำขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงพิจารณาวินิจฉัย สถาปนารูปใดรูปหนึ่ง ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ตามพระราชอัธยาศัย แล้วจะมีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
การตั้งพระราชพิธีสถาปนาแต่เดิมไม่ได้กำหนดพิธีสถาปนาขึ้นเป็นพิเศษ โดยถือเอาวันเฉลิมพระชนมพรรษา หรือวันฉัตรมงคลเป็นวันพิธีสถาปนา ร่วมกับพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาหรือฉัตรมงคล แล้วแต่เวลาสถาปนาจะอยู่ใกล้กับวันพระราชพิธีใด ต่อมาเมื่อครั้งทรงสถาปนาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฎฐายี) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ทรงดำริว่า ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงสมณศักดิ์สูงสุด เป็นสกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีสงฆ์ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ และเป็นจุดรวมศรัทธาปสาทะของพุทธบริษัท ทั้งในและนอกราชอาณาจักร สมควรจัดพิธีสถาปนาขึ้นเป็นพิเศษต่างหาก ไม่ถือเอาวันเฉลิมพระชนมพรรษา หรือวันฉัตรมงคลเป็นวันสถาปนา ตั้งแต่นั้นมา
พิธีการ จะทรงมีพระกระแสรับสั่งให้สำนักพระราชวัง จัดพิธีการกำหนดวัน เวลา และรายการตามพระราชประเพณีขึ้น ท่ามกลางสังฆมณฑลอันประกอบด้วยกรรมการมหาเถรสมาคม โดยสมณศักดิ์เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี ประธานรัฐสภาฯ ประธานศาลฎีกา ณ พระอุโบสถพระศรีรัตนศาสดาราม มีการจารึกพระสุพรรณบัฏ
เมื่อได้เวลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมายังพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วทรงประเคนผ้าไตรแด่พระสงฆ์กรรมการมหาเถรสมาคม เสด็จไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระรัตนตรัย ทรงศีล สมเด็จพระราชาคณะทรงถวายศีลจบ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พนักงานอาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการการสถาปนา จบแล้วสมเด็จพระราชาคณะนำสวดสังฆานุโมทนา เสด็จไปถวายน้ำมหาสังข์ทักษิณาวัฏ พระสุพรรณบัฏ พระตราตำแหน่ง พัดยศ เครื่องสมณศักดิ์แด่สมเด็จพระสังฆราช พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา โหรลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ พนักงานประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ พระสงฆ์ตามอารามทั่วราชอาณาจักร เจริญชัยมงคลคาถาและย่ำระฆัง แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถวายใบปวารณาแด่พระสงฆ์ในสังฆมณฑล พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก จบแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ สมเด็จพระสังฆราชขึ้นประทับอาสน์สงฆ์กลางพระอุโบสถ พระเถระผู้ใหญ่ ผู้แทนพระบรมวงศานุวงศ์ หัวหน้าคณะรัฐบาล ผู้แทนองคมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลฎีกา เข้าถวายเครื่องสักการะ เสร็จแล้วสมเด็จพระสังฆราชทรงออกไปรับเครื่องสักการะของบรรพชิตญวนและจีน แล้วเสด็จกลับ เป็นเสร็จพิธี
ความเห็นของมหาเถรสมาคมแม้กฎหมายมิได้บัญญัติไว้ว่า การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช จะต้องได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมก็ตาม แต่รัฐบาลจะต้องสอบถามความเห็นของกรรมการมหาเถรสมาคม นำขึ้นทูลเกล้าถวาย พร้อมทั้งพระประวัติผลงานของสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อทราบความเห็นของฝ่ายสงฆ์ด้วย ในคำประกาศสถาปนาจะปรากฏสังฆทรรศนะอันเป็นมติของมหาเถรสมาคมอยู่ด้วย ตามทางปฏิบัติ กรรมการมหาเถรสมาคมจะถวายให้เป็นพระราชอำนาจที่จะทรงดำริวินิจฉัยตามพระราชอัธยาศรัย (ขอให้สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้ามีพระมหากรุณา ทรงพระราชดำริสถาปนาตามพระราชอัธยาศัย เป็นการเหมาะสมอย่างยิ่ง กรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูปเต็มใจที่จะสนองพระเดชพระคุณ) เหตุผลก็เพราะว่า สมเด็จพระสังฆราชเป็นพระประมุข เป็นสังฆบิดร ผู้ปกครองสังฆมณฑล ควรเป็นที่ยอมรับเคารพสักการะของคณะสงฆ์มาก่อน หากไม่ฟังเสียงอาจเกิดเสียหายทางการปกครอง และการพระศาสนาได้
๓. อำนาจหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเดิมเมื่อยังไม่มีกฎหมายคณะสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชมีอำนาจหน้าที่ในการปกคองคณะสงฆ์ตามพระธรรมวินัย ระเบียบแบบแผนในฐานะเป็นพระมหาเถรผู้ใหญ่สุดของคณะสงฆ์เท่านั้น อำนาจบัญชาการอันเป็นตัวบทกฎหมายยังอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ ผู้เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก และอยู่ที่เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ผู้บริหารกิจการพระศาสนาต่างพระเนตรพระกรรณ ซึ่งออกเป็นพระบรมราชโองการ หรือประกาศให้คณะสงฆ์ถือปฏิบัติหรือวางระเบียบในการปกครอง
ต่อมาเมื่อประกาศใช้ พ.ร.บ. ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ กฎหมายได้กำหนดให้เจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะรอง เป็นมหาเถรสมาคมเป็นที่ทรงปรึกษากิจการคณะสงฆ์และการพระศาสนาในขณะยังว่างสมเด็จพระสังฆราช ต่อเมื่อได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชอำนาจบัญชาการคณะสงฆ์ในสมัยนี้ตกมาอยู่กับองค์สมเด็จพระสังฆราชมากขึ้น สมเด็จพระสังฆราชมีอำนาจในการบัญชาการคณะสงฆ์ หรือมีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชในกิจการคณะสงฆ์ได้ แต่อำนาจสูงสุดอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ตามรูปแบบการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นเอง
ต่อมาเมื่อประกาศใช้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ อำนาจหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเด่นชัดขึ้น เป็นอำนาจสูงสุดเด็ดขาด ไม่ขึ้นกับองค์พระมหากษัตริย์ หรือฝ่ายบ้านเมืองอีก พระองค์มีอำนาจในการบัญชาการคณะสงฆ์ในฐานะดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก แต่ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย คือ ทรงออกสังฆาณัติโดยคำแนะนำของสังฆสภา ทรงบริหารการคณะสงฆ์ทางคณะสังฆมนตรี และทรงวินิจฉัยอธิกรณ์ทางคณะวินัยธร ผู้ปฏิบัติหน้าที่แต่ละฝ่ายรับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้วกฎหมายให้พระองค์ใช้อำนาจนั้นในฐานะพระประมุขเท่านั้น
ส่วนอำนาจหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในฐานะสกลมหาสังฆปริณายกตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ ว่า “สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม” และมาตรา ๙ ว่า “สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม”
ตามกฎหมายนี้ สมเด็จพระสังฆราช ในฐานะสกลมหาสังฆปริณายกทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยพระองค์เองได้ และในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ย่อมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารคณะสงฆ์และกิจการพระศาสนาทั้งหมด ต่างกับสมัยแรกที่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่พระมหากษัตริย์ สมัยต่อมามีอำนาจแต่เพียงในนามพระประมุขจะใช้อำนาจบัญชาการก็ต้องผ่านสังฆสภา สังฆมนตรี และคณะวินัยธรผ่านสังฆสภา สังฆมนตรี และคณะวินัยธร อำนาจสมเด็จพระสังฆราชในปัจจุบันเท่ากับอำนาจสังฆนายก ประธานสังฆสภา และประธานคณะวินัยธร รวมกัน เพราะองค์กรทั้งสาม คือสังฆสภา คณะสังฆมนตรี คณะวินัยธร ตามกฎหมายปี ๒๔๘๔ รวมเป็นมหาเถรสมาคม ตามกฎหมายนี้จึงแยกพิจารณาเป็น ๒ ส่วนคือ
๑. อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก
๒. อำนาจหน้าที่ ในตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก เป็นอำนาจในตำแหน่งพระประมุขโดยตรง มี ๒ อย่างคือ อำนาจบัญชาการคณะสงฆ์กับอำนาจตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช อำนาจบัญชาการหมายถึงอำนาจที่จะสั่งการใดๆ อำนาจตราพระบัญชาคือ อำนาจที่จะวางระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติใดๆ ได้ เมื่อมีพระดำริเห็นว่าเป็นการสมควรในการบริหารคณะสงฆ์ กฎหมายให้อำนาจไว้อย่างกว้างๆ มีข้อจำกัดเพียงว่า การบัญชาการและการตราพระบัญชานั้น ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม หากขัดแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม ก็ไม่มีผลบังคับ คำสั่งหรือพระบัญชานั้นใช้ไม่ได้
อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม นับเป็นอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการบริหาร และการปกครองคณะสงฆ์ร่วมกับมหาเถรสมาคม ซึ่งมีอำนาจออกกฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือออกคำสั่ง เพื่อให้การปกครองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ต้องไม่ขัดกับกฎหมายและพระธรรมวินัย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘ มหาเถรสมาคมเป็นสถาบันบริหารการคณะสงฆ์ส่วนกลาง ซึ่งรวมอำนาจสังฆสภา คณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร ตามกฎหมายเก่าเข้าไว้ อำนาจของสมเด็จพระสังฆราชในตำแหน่งนี้ จึงกว้างขวางและมีความรับผิดชอบสูงสุดในการบริหารคณะสงฆ์ร่วมกับมหาเถรสมาคม
ทำเนียบสมเด็จพระสังฆราช กรุงรัตนโกสินทร์๑. สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆังโฆสิตาราม พ.ศ. ๒๓๒๕–๒๓๓๗
๒. สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พ.ศ. ๒๓๓๗–๒๓๕๙
๓. สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พ.ศ. ๒๓๕๙–๒๓๖๒
๔. สมเด็จพระสังฆราช “ญาณสังวร” (สุก) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พ.ศ. ๒๓๖๓–๒๓๖๕
๕. สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พ.ศ. ๒๓๖๕–๒๓๘๕
๖. สมเด็จพระสังฆราช (นาค) วัดราชบูรณะราชวรวิหาร พ.ศ. ๒๓๘๖–๒๓๙๒
๗. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พ.ศ. ๒๓๙๔–
๒๓๙๖
๘. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. ๒๓๙๖–๒๔๓๕
๙. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุส.สเทว) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม
พ.ศ. ๒๔๓๖–๒๔๔๒
๑๐. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ. ๒๔๔๒–๒๔๖๔
๑๑. พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
พ.ศ. ๒๔๖๔–๒๔๘๐
๑๒. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติส.สเทว) วัดสุทัศนเทพวราราม
พ.ศ. ๒๔๘๑–๒๔๘๗
๑๓. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๔๘๘–๒๕๐๑
๑๔. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภณ มหาเถระ) วัดเบญจมบพิตร
ดุสิตวนาราม พ.ศ. ๒๕๐๓–๒๕๐๕
๑๕. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) วัดสระเกศราช
วรมหาวิหาร พ.ศ. ๒๕๐๖–๒๕๐๘
๑๖. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายีมหาเถระ) วัดมกุฏกษัตริยาราม
พ.ศ. ๒๕๐๘–๒๕๑๔
๑๗. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริมหาเถระ) วัดพระเชตุพน
วิมลมังคลาราม พ.ศ. ๒๕๑๕–๒๕๑๗
๑๘. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสนมหาเถระ) วัดราชบพิธสถิต
มหาสีมาราม พ.ศ. ๒๕๑๗–๒๕๓๑
๑๙. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศ
วิหาร พ.ศ. ๒๕๓๒-ปัจจุบัน
จาก
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk-05-page.htm