ผู้เขียน หัวข้อ: ทิพยอำนาจ : บทนำ ทิพยอำนาจคืออะไร ? โดย พระอริยคุณาธารย์( เส็ง ปุสโส )  (อ่าน 1284 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ทิพยอำนาจ

พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง , ปธ. 6)

วัดป่าเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

เรียบเรียง



คำนำ

ของผู้เรียบเรียง


เมื่อในพรรษา พ.ศ.๒๔๙๓ ขณะพักวิเวกอยู่ในป่าแห่งเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ระลึกขึ้นได้ถึงคำอาราธนาของบุคคลหลายคน คำอาราธนานั้นๆ เร้าใจให้คิดแต่งหนังสือเล่มนี้ขึ้น.

พระอาจารย์กันตสีลเถระ (เสาร์) อาราธนาให้แต่งอธิบายโพธิปักขิยธรรม ด้วยสำนวนและภาษาง่ายๆ เพื่อประโยชน์แก่นักปฏิบัติ ผู้มีการศึกษาปริยัติธรรมน้อย จะได้อาศัยศึกษาและปฏิบัติหลวงประฑิตกรณี อาราธนาให้แต่งสมาธิวิธีที่พอจะถือเป็นคู่มือในการทำสมาธิได้. ภิกษุรูปหนึ่งอาราธนาให้แต่งวิธีบำเพ็ญฌานและเจริญญาณทัสนะในพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์แก่ผู้ต้องการปฏิบัติในด้านนี้ และศิษย์ผู้อาราธนาให้แต่งวิธีสร้างทิพยอำนาจตั้งแต่ขั้นต่ำๆ ขึ้นไปถึงขั้นสูงสุด เพื่อเป็นคู่มือของผู้ต้องการสร้างทิพยอำนาจขึ้นไว้บำเพ็ญประโยชน์ เมื่อประมวลคำอาราธนาเหล่านี้เข้าด้วยกัน เห็นว่าเป็นความต้องการในแนวเดียวกัน พอจะทำเป็นหนังสือเล่มเดียวได้ จะได้ปลดเปลื้องคำอาราธนานั้นให้เสร็จสิ้นไปเสียที ในขณะที่มีกำลังพอทำได้นี้.

อนึ่ง เมื่อได้เรียบเรียงและพิมพ์พรหมจรรย์คืออะไร? เผยแผ่ไป สังเกตได้ว่ามีผู้สนใจในการฝึกฝนจิตใจตามหลักพระพุทธศาสนามากขึ้น หนังสือพรหมจรรย์คืออะไร? ได้ประมวลหลักพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนาไว้เพียงย่อๆ ไม่พอที่จะอาศัยเป็นเครื่องมือของผู้เริ่มศึกษา จึงเป็นโอกาสดีที่จะรีบเรียบเรียงวิธีฝึกฝนอบรมจิตใจ ตามหลักพระพุทธศาสนาไว้เสียในขณะนี้.

จึงประมวลเรื่องที่ต้องการมาเรียบเรียงเข้าลำดับและพิจารณาหาคำที่จะใช้เป็นชื่อหนังสือนี้ได้คำว่า “ทิพยอำนาจ” ซึ่งเป็นคำมีความหมายซึ้งชวนสนใจ และยังไม่มีใครเคยใช้เป็นชื่อหนังสือประเภทนี้มาก่อน แล้วตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ในพระไตรปิฎก เช่น หมวดพระสุตตันปิฎกเท่าที่สามารถจะค้นได้ นำมาเรียบเรียงเข้าหมวดหมู่ ตามความเหมาะสมของเรื่องนั้นๆ ส่วนหนังสืออื่นๆแม้มีความต้องการจะค้นเรื่องมาเรียบเรียงบ้าง ก็ไม่มีอยู่ใกล้มือสักเล่มเดียว เพียงแต่อาศัยความจดจำเรื่องนั้นๆ บางประการที่เคยอ่านมาแล้วเท่านั้น แม้เพียงเท่านี้ก็ต้องถือว่าเป็นหนี้บุญคุณของหนังสือเหล่านี้แล้ว ข้าพเจ้าขอขอบคุณไว้ในที่นี้ด้วย.

สำนวนโวหารและคำศัพท์แสงต่างๆ ที่นำมาใช้ ได้พยายามใช้สำนวนง่ายๆ และใช้คำที่มีความหมายตายตัว และใช้กันดื่นแล้ว ทั้งนี้มุ่งให้สำเร็จประโยชน์แม้แก่ผู้พออ่านออกเขียนได้แล้ว.แต่ก็ไม่พ้นไปจากความยาก เพราะเนื่องด้วยหลักวิชาชั้นสูง จะอธิบายให้ง่ายเกินไปก็ไม่ได้อยู่เองถ้าผู้อ่าน อ่านด้วยความสนใจพินิจพิจารณาสักหน่อยก็คงผ่านพ้นความยากไปได้บ้าง.

ผลมุ่งหมายของการฝึกฝนจิตใจ ทางพระพุทธศาสนา คือ อาสวักขยญาณ (ญาณเป็นเหตุทำอาสวะกิเลสให้สิ้นไป) โดยตรง นอกนั้นเป็นผลพลอยได้ ในเมื่ออบรมจิตใจไปถึงขั้นที่ควรมีทิพยอำนาจบางประการนั้นๆ มิใช่ผลมุ่งหมายโดยตรง ถึงอย่างนั้นผู้มุ่งบำเพ็ญประโยชน์กว้างขวางก็จำเป็นต้องฝึกใช้ทิพยอำนาจต่างๆ ไปด้วย เพราะคนโดยมากชอบอำนาจ ยิ่งเป็นอำนาจมหัศจรรย์เท่าใด ยิ่งชอบเท่านั้น ที่มีผู้เข้าใจว่าสมัยนี้คนต้องการเหตุผล ไม่จำเป็นต้องมีฤทธิ์เดชอำนาจมหัศจรรย์ ก็สามารถทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ ข้าพเจ้าได้ยินแล้วก็นำมาไตร่ตรองแล้วมองดูโลกทั่วๆ ไปในปัจจุบันนี้ ก็ยังเห็นว่าอำนาจมหัศจรรย์เป็นสิ่งจำเป็นอยู่นั่นเอง มีคนจำนวนน้อยที่สุดที่ต้องการเหตุผล คนส่วนมากแม้มีการศึกษาสูงสักเพียงไรก็ตาม มักไม่ค่อยเชื่อเหตุผลเท่าที่พูดสู่กันฟังได้นั้นเลย ยิ่งเรื่องที่ลึกลับเกินเหตุผลธรรมดา ซึ่งไม่สามารถหาเหตุผลสามัญธรรมดามาพูดให้ฟังได้แล้ว เขายิ่งไม่ยอมเชื่อว่ามีได้เป็นได้ เมื่อหาเหตุผลมาพูดให้ฟังไม่ได้เขาก็หาว่าทางพระศาสนาหลอกลวงเขาให้เชื่อเข้าไว้ เพื่อพระศาสนาและคนของพระศาสนาจะดำรงอยู่ได้เท่านั้น เขาไม่เห็นว่าศีลธรรมตามที่ทางพระศาสนาสั่งสอนเขานั้นเป็นประโยชน์ของเขาเอง ทั้งๆ ที่เขาอยู่สบายด้วยร่มเงาของศีลธรรม คนจำพวกนี้ต้องอาศัยอำนาจมหัศจรรย์เข้าช่วย จึงจะสามารถปลูกศรัทธาในพระศาสนา หรือศีลธรรมอันดีแก่เขาได้.

พระพุทธศาสนาผ่านพ้นภัยพิบัติร้ายแรงมาได้จนถึงปัจจุบัน ก็ด้วยอำนาจมหัศจรรย์ สมัยพุทธกาลไม่ต้องพูดถึงก็ได้ เพราะเป็นสมัยเริ่มตั้งพระพุทธศาสนา ย่อมเป็นความจำเป็นอยู่ดี ที่ต้องใช้อำนาจมหัศจรรย์เข้าช่วยในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสมัยหลังพุทธปรินิพพานมา ปรากฏในประวัติของพระพุทธศาสนาว่า ได้ผ่านพ้นภัยพิบัติร้ายแรงมาด้วยอำนาจมหัศจรรย์หลายครั้ง เท่าที่นึกเห็นพอจะนำมาเล่าได้ ดังนี้

ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงได้ประมาณ ๒๓๖ ปี พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชหันมานับถือพระพุทธศาสนา และทำนุบำรุงเป็นการใหญ่ ก็เพราะอำนาจมหัศจรรย์ของพระภิกษุรูปหนึ่งและอำนาจมหัศจรรย์ของพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ถึงกับทำให้พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ทรงมอบพระกายถวายพระชีวิตในพระพุทธศาสนา และแผ่พระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่.

อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปประมาณ ๕๐๐ ปี คณะสงฆ์ต้องแตกพ่ายพระพุทธศาสนาถูกทำลายลงด้วยมือของพระราชาชาวกรีก ที่มารุกรานและครอบงำอินเดียแหล่งกำเนิดของพระพุทธศาสนา พระอัศวคุตตเถระ ซึ่งเป็นหัวหน้าสงฆ์ฝ่ายเหนือ ถึงต้องไปอัญเชิญเทพบุตรให้จุติลงมาเกิด แล้วให้พระผู้สามารถไปพยายามเอามาบวชในพระพุทธศาสนาอบรมให้สำเร็จความรู้สูงสุดในพระพุทธศาสนา พร้อมด้วยอำนาจมหัศจรรย์หลายประการ แล้วส่งไปปราบพระราชาชาวกรีก แห่งสาคลนคร ประเทศมัจฉะ ซึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้ามิลินท์พระราชาชาวกรีกทรงเห็นอำนาจมหัศจรรย์ของพระนาคเสนเถระ ทั้งทรงจำนนต่อคำแก้ปัญหาของพระเถระ จึงบังเกิดพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา และทรงมอบพระกาย ถวายพระชีวิตรับใช้พระพุทธศาสนา ทรงทำนุบำรุงและป้องกันภัยแห่งพระพุทธศาสนาด้วยพระราชอำนาจ.

เมื่อหันมามองดูเหตุการณ์ของโลกในปัจจุบันนี้แล้ว พิจารณาดูทางที่จะรอดพ้นภัยพิบัติของพระพุทธศาสนา ก็เห็นมีแต่อำนาจมหัศจรรย์เท่านั้นที่จะช่วยได้ เพราะเพียงแต่ปากพูดปาวๆชี้แจงเหตุผลเป็นการไม่เพียงพอเสียแล้ว คนของพระพุทธศาสนาจะต้องเป็นคนศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์เดชมหัศจรรย์ จึงจะสามารถรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่และแผ่ไพศาลไปได้ ความจริงพระพุทธศาสนาเป็นพระศาสนาที่ศักดิ์สิทธิ์ในด้านเหตุผลอยู่แล้ว คนของพระพุทธศาสนาต้องศักดิ์สิทธิ์ สามารถเป็นพยานในเหตุผลตามที่ทางพระพุทธศาสนากล่าวไว้ด้วยจึงจะสมกัน คือ ต้องพูดได้และทำได้ตามพูดด้วย เมื่อเป็นได้ดังว่านี้จะทำให้พระพุทธศาสนาเด่น และศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้นเพียงแต่พูดได้ แต่ทำไม่ได้ตามพูด ก็จะไม่ศักดิ์สิทธิ์ จะเข้าทำนองที่ว่า “จงทำตามที่ฉันพูด แต่อย่าทำตามฉัน” ในเมื่อไปสั่งสอนผู้อื่น ถึงแม้ไม่พูดคำนี้ออกมาตรงๆ ก็ตาม การทำและพฤติการณ์ที่แสดงออกมา มันบอกอยู่โดยตรงแล้ว คนมีความคิดย่อมรู้จักอยู่ดี เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดสั่งสอนย่อมไม่มีน้ำหนักพอจะจูงใจผู้ฟังให้เชื่อถือได้ ก็จะเป็นเพียงสักว่าพูดและฟังกันไปเท่านั้นเอง จะหาคนทำตามคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาจริงๆ ไม่ได้ เมื่อเป็นถึงขั้นนี้ จะชื่อว่ายังมีพระพุทธศาสนาอยู่หรือ? ขอเชิญชวนพุทธบริษัท มาช่วยกันคิดอ่านหาทางทำนุบำรุง และป้องกันภัยพระพุทธศาสนา มาช่วยกันทำให้เกิดมีบุคคล ซึ่งมีตนเป็นพยานในคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาจารย์ สามารถยืนยันได้เต็มปากว่า พระพุทธศาสนาอำนวยผลสูงสุดแก่ผู้ปฏิบัติตามได้จริง ไม่ล้าสมัย มรรค ผล นิพพาน ธรรมวิเศษมีจริง แม้ในสมัยปัจจุบัน ข้าพเจ้าเรียบเรียงทิพยอำนาจนี้ขึ้น มุ่งหมายหาบุคคลได้เป็นพยานในคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา หวังว่าจะได้รับความสนใจจากสาธุชนทั่วกัน.

บุญกุศลอันเกิดจากการเรียบเรียงหนังสือนี้ทั้งหมด ข้าพเจ้าขออุทิศถวายแด่ พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภกทุกพระองค์ และแก่พระโบราณาจารย์ ผู้บริหารพระพุทธศาสนาสืบต่อกันมาทุกท่าน จนถึงสมัยปัจจุบันนี้.

อนึ่ง การคัดจากต้นร่าง สำเร็จด้วยน้ำพักน้ำแรงของ พระภิกษุไกรลาส คนฺธรโต ทั้งสิ้น จึงขอขอบคุณเธอไว้ในที่นี้ด้วย.

พระอริยคุณาธาร

สำนักบำเพ็ญธรรมเขาสวนกวาง ขอนแก่น

๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๓




จาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/ ทิพยอำนาจ-01.htm

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


บทนำ

ทิพยอำนาจคืออะไร?


เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า มีสตรีในต่างประเทศ เกิดมีหูทิพย์ตาทิพย์ สามารถรู้เห็นเหตุการณ์ในที่ไกล เกินวิสัยตามนุษย์ธรรมดาจะมองเห็น และสามารถสนทนากับวิญญาณของคนที่ตายไปแล้วรู้เรื่องกันได้ หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นให้ข่าวต่อไปว่า มีนักวิทยาศาสตร์ไปพิสูจน์ความจริงก็ประจักษ์ว่า สตรีคนนั้นซึ่งไม่เคยรู้จักนักวิทยาศาสตร์คนนั้นมาก่อน แต่สามารถบอกความจริงบางอย่างของนักวิทยาศาสตร์คนนั้น ถูกต้องเป็นที่น่าพิศวง แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่กล้าลงความเห็นรับรองว่าเป็นได้ด้วยความรู้ของสตรีคนนั้นเอง สงสัยว่าจะมีอะไรสิงใจอย่างพวกแม่มดหมอผี ซึ่งมีดกดื่นในอัสดงคตประเทศ และเขาพากันรังเกียจถึงกับมีกฎหมายลงโทษผู้ฝ่าฝืน หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นให้ข่าวรายละเอียดต่อไปว่า สตรีคนนั้นเกิดหูทิพย์ตาทิพย์ขึ้นโดยบังเอิญ หลังจากป่วยหนักมาแล้ว.

เรื่องคล้ายคลึงกันนี้ ก็มีอยู่แม้ในเมืองไทยเรา ข้าพเจ้าได้รู้จักกับสตรีคนหนึ่ง เมื่อปีที่แล้วมานี้เอง เมื่อคุ้นเคยกันแล้ว สตรีคนนั้นได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ได้ป่วยหนักมาแรมเดือน ในระหว่างป่วยหนักนั้นใครจะมาหาหรือพูดจาว่ากระไรรู้ล่วงหน้าหมด ครั้นหายป่วยแล้วก็ยังมีได้เป็นบางครั้งบางคราว แต่ไม่บ่อยนัก เนื่องจากไม่ค่อยได้สงบใจเหมือนในคราวยังป่วยอยู่ เพราะต้องวุ่นวายกับธุรกิจประจำวัน ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้ครองเรือน.

เรื่องที่นำมาเล่านี้ เป็นพยานให้เราทราบว่า ภายในร่างกายของมนุษย์เรานี้ มีอำนาจสิ่งหนึ่งแปลกประหลาดวิเศษเกินกว่าอำนาจของคนธรรมดาซ่อนอยู่ ที่เมื่อทราบวิธีปลุกหรือปลูกสร้างขึ้นให้มีประจำแล้ว จะเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ โดยสามารถรู้เห็นสิ่งต่างๆ ซึ่งมนุษย์ธรรมดาไม่อาจรู้เห็นได้.

ในทางพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงอำนาจที่ว่านี้ และเรียกชื่อว่า ทิพพจักขุ-ตาทิพย์, ทิพพโสต-หูทิพย์คล้ายจะยืนยันว่ามีอำนาจทิพย์ในร่างกายมนุษย์นี้ด้วยแต่นักศึกษาทางพระพุทธศาสนาโดยส่วนมากมองข้ามไป ไม่ได้สนใจศึกษาเพื่อพิสูจน์ความจริงเรื่องนี้ เมื่อมีใครพูดถึงเรื่องนี้ ก็มักตำหนิหาว่างมงาย เชื่อในสิ่งซึ่งไม่อาจเป็นไปได้ หาได้เฉลียวใจไม่ว่า พระบรมศาสดาเป็นผู้ทรงแสดงไว้ ทั้งปรากฏในพระประวัติของพระองค์ว่าทรงสามารถใช้อำนาจนั้นได้อย่างดีด้วย น่าที่เราพุทธศาสนิกชนจะพึงศึกษาค้นคว้าพิสูจน์ความจริงกันดูบ้าง จะเป็นสิ่งไร้สาระเทียวหรือ ถ้าจะทำการพิสูจน์วิชาหูทิพย์ตาทิพย์ ให้ทราบความจริงอย่างมีหลักฐาน ข้าพเจ้ากลับเห็นว่าจะเป็นทางช่วยให้พระพุทธศาสนาเด่นขึ้นอีก เพราะสิ่งใดที่พระบรมศาสดาตรัสไว้ ซึ่งปรากฏมีอยู่ในพระไตรปิฎกหากเราพิสูจน์ให้เห็นจริงว่า สิ่งนั้นเป็นได้ตามที่ดำรัสไว้ ก็ย่อมเป็นพยานแห่งพระปัญญาของพระบรมศาสดา เป็นทางให้เราเกิดความเชื่อมั่นในพระปัญญาตรัสรู้ของพระบรมศาสดาอย่างแน่นแฟ้น จะเพิ่มกำลังให้เราปฏิบัติตามพระบรมพุทโธวาทได้โดยไม่ลังเลใจ ทั้งเป็นหลักฐานต่อต้านปรัปวาทด้วย เพราะในโลกสมัยวิทยาศาสตร์เฟื่องฟูนี้ เขาไม่ค่อยเชื่อในอำนาจลึกลับนี้เมื่อพระพุทธศาสนากล่าวถึงเขาจึงน่าจะยิ้มเยาะอยู่แล้ว แม้แต่เราซึ่งเป็นศาสนิกชนแท้ๆ ก็ยังไม่เชื่อ แล้วจะให้นักวิทยาศาสตร์เขาเชื่ออย่างไร? เพราะเขาตั้งหลักเกณฑ์ของเขาไว้ว่า เขาจะเชื่อเฉพาะสิ่งที่เขาได้พิสูจน์ทราบความจริงแน่ชัดแล้วเท่านั้น หลักเกณฑ์ที่เขาตั้งไว้นี้เป็นหลักเกณฑ์ที่ดี เป็นวิสัยแห่งนักศึกษาความจริง ซึ่งจะไม่ยอมให้ความเชื่อของเขาไร้เหตุผล แม้พระบรมศาสดาของเราก็ปรากฏว่าทรงดำเนินปฏิบัติมาทำนองเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ในสมัยปัจจุบัน คือทรงทำการพิสูจน์ความจริงทางใจ จนได้หลักฐานแน่นอนแล้ว จึงทรงพอพระหฤทัยว่าได้ตรัสรู้แล้ว มิได้ทรงไปเที่ยวเก็บเอาความรู้ของผู้อื่น ที่เขาค้นคว้าไว้มาร้อยกรองเข้าเป็นหลักแห่งศีลธรรมจรรยาที่ทรงสั่งสอน และมิได้ทรงอ้างว่าใครเป็นศาสดา หรือผู้บังคับบัญชาเหนือให้ประกาศธรรมสั่งสอนมหาชน พระองค์ทรงค้นพบความจริงด้วยพระองค์เอง แม้หลักความรู้นั้นๆ จะมีมาในลัทธิศาสนาหรือในความเชื่อถือของมหาชนมาแล้วแต่โบราณกาลก็ตาม ถ้ายังไม่ได้พิสูจน์ด้วยความรู้ของพระองค์เองก่อนแล้วก็มิได้นำมาบัญญัติสั่งสอนมหาชนแต่ประการใด เป็นแต่ไม่มีความรู้ส่วนใดที่เกินพระปัญญาของพระองค์ไปเท่านั้นเอง เราจึงได้พบว่าบรรดาบัญญัติธรรมที่ถูกต้องตามหลักเหตุผลนั้นๆ ได้มาปรากฏในพระบัญญัติของพระองค์ทั้งหมด ที่ปรากฏว่ามีบางอย่างที่ไม่ทรงพยากรณ์ไว้ ก็มิใช่ว่าไม่ทรงทราบ เป็นแต่ทรงเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ จึงไม่ทรงกล่าวแก้หรือแสดงไว้ เช่น อันตคาหิกทิฏฐิ หรือ นิยตมิจฉาทิฏฐิ ไม่ทรงกล่าวแก้ เป็นแต่ทรงแสดงธรรมโดยปริยายอื่นให้ฟัง เมื่อผู้ฟังพิจารณาตามก็ทราบความจริงในเรื่องนั้นด้วยตนเอง แล้วสิ้นสงสัยไปเอง วิธีการแก้ความเห็นของคนที่พระบรมศาสดาทรงใช้ คล้ายวิธีการรักษาโรคของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่ตรวจหาสมุฏฐานของโรคก่อนแล้ว จึงรักษาแก้ที่สมุฏฐาน ไม่ตามรักษาที่อาการเจ็บปวดซึ่งเป็นปลายเหตุ เพราะเมื่อแก้สมุฏฐานถูกต้องแล้วโรคก็สงบ อาการเจ็บปวดก็หายไปเอง ฉะนั้นเรื่องที่ไม่ทรงกล่าวแก้อันตคาหิกทิฏฐิก็เช่นเดียวกัน เพราะความเห็นนั้นเป็นเพียงปลายเหตุ มิใช่สมุฏฐานอันเป็นตัวเหตุดั้งเดิม จึงทรงแสดงธรรมโดยปริยายอื่นอันสามารถแก้ตัวเหตุเดิมซึ่งเป็นสมุฏฐาน.

อำนาจลึกลับมหัศจรรย์ เกินวิสัยสามัญมนุษย์นั้นแม้มิได้ตรัสเรียกว่า ทิพยอำนาจ โดยตรงก็ตาม ก็ได้ทรงกล่าวถึงอำนาจนั้นไว้แล้วอย่างพร้อมมูล และตรัสบอกวิธีปลูกสร้างอำนาจนั้นขึ้นใช้อย่างดีด้วย เป็นการเพียงพอที่เราจะสันนิษฐานว่า พระบรมศาสดาได้ทรงบรรลุอำนาจนั้นทุกประการ และทรงใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลมาแล้วในสมัยทรงพระชนม์อยู่.

ความข้อนี้มีหลักฐานในพระไตรปิฎกมากมาย จะนำมาเล่าพอเป็นอุทาหรณ์ ดังต่อไปนี้

๑. เมื่อตรัสรู้แล้วใหม่ๆ เสด็จไปโปรดภิกษุเบญจวัคคีย์ที่สวนกวาง อันเป็นที่พักของฤษี ณเมืองพาราณสี แล้วเสด็จจำพรรษาที่นั่น.

ในภายในพรรษา ท่านพระยศเถระเมื่อยังมิได้บวช บังเกิดความคิดเห็นขึ้นว่า ฆราวาสคับแคบวุ่นวายสุดที่จะทานทนได้ จึงหนีออกจากบ้านไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่สวนกวางนั้น เดินบ่นไปตามทางว่า ที่นี่คับแคบ ที่นี่วุ่นวาย พระบรมศาสดาได้ทรงสดับ จึงทรงขานรับว่า ที่นี่ไม่คับแคบที่นี่ไม่วุ่นวาย เชิญมาที่นี่ เราจะแสดงธรรมให้ฟัง ท่านพระยศเถระก็เข้าไปตามเสียงที่ทรงเรียก เมื่อได้ถวายบังคมและนั่งเรียบร้อยแล้ว ก็ได้รับฟังพระธรรมเทศนาอันน่าจับใจ จนได้บรรลุดวงตาเห็นธรรมขึ้นในใจ ทันใดนั้นบิดาของท่านก็ติดตามไปถึง พระบรมศาสดาเกรงว่า เมื่อพระยศเถระกับบิดาได้เห็นกัน ก็จะเป็นอันตรายแก่ธรรมาภิสมัย จึงทรงทำ ติโรภาพปาฏิหาริย์ คือทรงทำฤทธิ์กำบังมิให้บิดากับบุตรเห็นกัน แล้วทรงแสดงธรรมให้ทั้งสองนั้นฟัง จนท่านพระยศเถระได้บรรลุถึงพระอรหัตตผล ถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว และบิดาของท่านได้บรรลุดวงตาเห็นธรรมแล้วจึงทรงคลายฤทธิ์ให้บิดากับบุตรเห็นกัน ทันใดนั้นบิดาของท่านพระยศเถระก็แจ้งให้ทราบว่า ทางบ้านพากันตามหา ขอให้ท่านกลับบ้าน พระบรมศาสดาจึงชิงตรัสว่ายศะได้ฟังธรรม ถึงความเป็นผู้ไม่ควรแก่การครองเรือนแล้ว บิดาของท่านพระยศเถระจึงทูลอาราธนาพระบรมศาสดากับท่านพระยศเถระไปฉันที่เรือน ครั้นบิดากลับไปแล้ว ท่านพระยศเถระจึงทูลขอบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา แล้วเป็นปัจฉาสมณะตามหลังพระบรมศาสดาไปฉันภัตตาหารที่เรือนของบิดาเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์แห่งอิทธิวิธี ชนิดที่เรียกว่า ติโรภาพ หรือที่สามัญชนเรียกว่า กำบังหรือหายตัว

๒. เมื่อออกพรรษาแรกนั้นแล้ว เสด็จไปสู่อุรุเวลา ตำบลเสนานิคม แคว้นมคธ เพื่อโปรดชฎิล ๓ พี่น้อง พร้อมด้วยบริวาร เสด็จเข้าไปขอพักอาศัย ท่านอุรุเวลกัสสปะ ผู้เป็นหัวหน้าชฎิลตอบขัดข้อง พระบรมศาสดาตรัสขอร้องด้วยเหตุผลทางสมณวิสัยถึง ๓ ครั้ง ท่านจึงยอมรับให้พักอาศัย พระบรมศาสดาขอพักในโรงไฟ ท่านก็ห้ามว่ามีนาคร้าย เกรงจะเป็นอันตราย ขอให้พักในที่อื่น พระบรมศาสดาตรัสรับรองว่าไม่เป็นไร แล้วเสด็จไปพัก ได้ทรงทำฤทธิ์สู้กับนาคร้ายจนมันหมดพยศ รุ่งเช้าทรงจับนาคร้ายใส่บาตรมาให้ท่านอุรุเวลกัสสปะดู ท่านก็อัศจรรย์ แต่ยังไม่ปลงใจเชื่อว่าเป็น “พระอรหันต์” ผู้วิเศษกว่าตน จึงไม่ยอมเป็นสาวก.

วันต่อมาอีก เสด็จไปบิณฑบาตอุตตรกุรุทวีป ได้ผลหว้าลูกใหญ่มาสู่ท่านอุรุเวลกัสสปะฉันซึ่งเป็นที่รู้กันในสมัยนั้นว่า ผลหว้าชนิดนั้นไม่มีในที่ใกล้ๆ นั้น นอกจากในป่าหิมพานต์ ในวันต่อมาอีก เวลากลางคืนมีแสงสว่างในบริเวณที่ประทับตลอดราตรีทั้งสามยาม แต่ละยามก็มีแสงสว่างต่างสีกันด้วย รุ่งเช้าท่านอุรุเวลกัสสปะจึงทูลถาม ตรัสพฤติการณ์ว่า ปฐมยามท้าวมหาราชทั้ง ๔ มาเฝ้า มัชฌิมยามท้าวสักกเทวราชลงมาเฝ้า ปัจฉิมยามท้าวมหาพรหมลงมาเฝ้า ท่านอุรุเวลกัสสปะหลากใจแสดงความอัศจรรย์ อยากจะยอมตนลงเป็นสาวกแล้ว แต่ยังมีมานะเกรงจะได้ความอับอายแก่สานุศิษย์ รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ฝนพรำ อากาศเย็นจัด พวกชฎิลหนาวพากันผ่าฟืนเพื่อก่อไฟผิง พระบรมศาสดาทรงทำปาฏิหาริย์ให้ผ่าฟืนไม่แตก และก่อไฟไม่ติด พวกชฎิลพากันหลากใจและลงความเห็นว่าเป็นด้วยฤทธิ์ของพระบรมศาสดา จึงพากันไปอ้อนวอนอาจารย์ขอให้พาพวกตนถวายตัวเป็นศิษย์พระบรมศาสดา ท่านอุรุเวลกัสสปะได้โอกาส จึงพาศิษย์บริวารเข้าขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระบรมศาสดา น้องชายทั้งสองซึ่งอยู่ในอาศรมทางใต้ลงไปพาบริวารมาเยี่ยมพี่ชาย เห็นบวชเป็นภิกษุแล้วก็พากันบวชตามพี่ชาย พระบรมศาสดาทรงเทศนาอบรมท่านทั้งสาม พร้อมด้วยบริวารพันหนึ่ง โดยปริยายต่างๆ จนเห็นว่ามีอินทรีย์แก่กล้า พอจะรับฟังพระธรรมเทศนาเพื่อปัญญาชนชั้นสูงแล้ว จึงพาไปสู่ตำบลคยาสีสะ๓ ทรงแสดงอาทิตตปริยาย โปรดให้บรรลุอรหัตตผลทั้ง ๑,๐๐๐ องค์พร้อมกัน พอเวลาอันสมควรแล้วจึงพาพระอรหันต์ทั้ง ๑,๐๐๐องค์ เสด็จยาตราเข้าสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสารต่อไป.

เรื่องที่เล่ามานี้ เป็นอุทาหรณ์แห่งปาฏิหาริย์ทั้งหลายประการ คือ ทรงทรมานนาคร้ายให้หายพยศได้นั้นทรงใช้ปาฏิหาริย์บังควันก่อน แล้วจึงทรงใช้ปาฏิหาริย์เปลวเพลิงภายหลัง ที่ทรงแหวกน้ำจงกรมนั้น ทรงใช้ ปาฏิหาริย์ติโรปาการภาพ คือทรงเนรมิตกำแพงขึ้นกั้นน้ำไว้ ที่เสด็จไปบิณฑบาตอุตตรกุรุทวีปนั้น ทรงใช้ปาฏิหาริย์เหาะไป ทรงทราบว่ามีเทวดามาเฝ้ายามทั้งสามของราตรีนั้น เป็นด้วยทิพพจักขุญาณ และ ทิพพโสตญาณ ที่ทำให้พวกชฎิลผ่าฟืนไม่แตก ก่อไฟไม่ติดนั้น เป็นด้วยอธิษฐานฤทธิ์.

๓. ในสมัยพระธรรมวินัยกำลังแผ่ไปทั่วมัชฌิมชนบทนั้น พราหมณ์พาวรีซึ่งตั้งอาศรมอยู่ฝั่งน้ำโคธาวารี ในแดนทักษิณาบถ คือ อินเดียภาคใต้ ได้ทราบกิตติศัพท์ของพระบรมศาสดาว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงผูกปริศนาให้ศิษย์ผู้ใหญ่ ๑๖ คนไปเฝ้าทูลถาม เพื่อหยั่งภูมิของพระบรมศาสดาว่าจะจริงอย่างคำเล่าลือหรือไม่ เวลานั้นพระบรมศาสดาเสด็จประทับที่ปาสาณ-เจดีย์ ประเทศโกศล มาณพศิษย์พราหมณ์พาวรีทั้ง ๑๖ คน พร้อมด้วยบริวารไปถึงเข้าเฝ้าในเวลาเย็น ณ ร่มเงาปาสาณเจดีย์นั้น พระบรมศาสดาทรงปฏิสันถารด้วยสัมโมทนียกถาพอสมควรแล้วจึงทรงแสดงพระปาฏิหาริย์เป็นประเดิมก่อนเปิดโอกาสให้ถามปริศนา ด้วยทรงชมโฉมพาวรีพราหมณ์ ผู้เป็นอาจารย์ของมาณพเหล่านั้นก่อนว่า มีลักษณะของมหาบุรุษ ๓ ประการ และตรัสบอกความคิดของพาวรีที่ผูกปริศนามาถามว่ามีความประสงค์เช่นไร แล้วจึงเปิดโอกาสให้ถามปริศนาทีละคนจนจบทั้ง ๑๖ คน ท่านเหล่านั้นก็เกิดอัศจรรย์ใจขนพองสยองเกล้า จนเกือบจะไม่ทูลถามปริศนา แต่พระบรมศาสดาเห็นว่าการแก้ปริศนานั้นจะเกิดสำเร็จประโยชน์ใหญ่หลวง จึงทรงบัญชาให้ถามปริศนาต่อไปแล้ว ทรงแก้ปริศนานั้นๆ ได้อย่างคล่องแคล่วไม่มีการขัดข้องอึดอัดในที่สุดแห่งการแก้ปริศนาของแต่ละท่าน ท่านเจ้าของปริศนาพร้อมด้วยบริวาร ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลทั้งหมด เว้นแต่ปิงคิยะ หลานท่านพาวรีเท่านั้น เพราะโทษที่มีใจห่วงใยถึงท่านพาวรีผู้เป็นลุง.



๑. วิ. มหา. ๔/๑๕. , ๒. วิ. มหา. ๔/๕๔

๓. คือ คชาสีสะ เขาหัวช้าง. พ.ม.ส. , ๔. ขุ. สุ. ๒๕/๕๒๔


เรื่องนี้ เป็นอุทาหรณ์แห่งอิทธิปาฏิหาริย์หลายประการ คือ ทรงทราบลักษณะพาวรีพราหมณ์ด้วยทิพยจักษุญาณ ทรงทราบความคิดของพาวรีพราหมณ์ด้วยปรจิตตวิชชาญาณ หรือที่เรียกว่า เจโตปริยญาณ ทรงแก้ปริศนาได้คล่องแคล่วไม่ติดขัดนั้น เป็นด้วยพระปรีชาญาณหลายประการ มีพระปฏิสัมภิทาญาณ เป็นต้น.

๔. สมัยหนึ่ง ทรงรับนิมนต์ของพกาพรหมแล้ว เสด็จไปพรหมโลก ทรงทรมานพกาพรหมด้วยอิทธิปาฏิหาริย์หลายหลาก มีการเล่นซ่อนหาเป็นต้น แล้วทรงแสดงธรรมสั่งสอนให้พกาพรหมละพยศร้ายได้ด้วยวิธีที่เรียกว่า ญาณคทา.

๕. สมัยหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะ ไปทำความเพียร ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม ถูกถีน-มิทธะครอบงำ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบด้วยเจโตปริยญาณ จึงเสด็จไปด้วยพระมโนมัยกาย ทรงแสดงวิธีแก้ถีนมิทธะแก่พระเถระ แล้วเสด็จกลับที่ประทับ.

๖. อีกครั้งหนึ่ง ทรงทรมานท่านพระองคุลีมาลเถระ เมื่อยังเป็นโจร ด้วยพระปาฏิหาริย์ทูเรภาพ คือ ทรงดำเนินโดยปกติ แต่ท่านพระองคุลีมาลตามไม่ทัน เห็นพระองค์อยู่ในระยะไกลอยู่เสมอ จึงตะโกนบอกให้หยุด ทรงตอบไปว่า พระองค์หยุดแล้ว ท่านเองสิไม่หยุด พระองคุลีมาลร้องตะโกนไปว่า ตรัสมุสา เดินอยู่แท้ๆ บอกว่าหยุดได้ ตรัสตอบว่าทรงหยุดทำบาปแล้วต่างหาก ท่านเองสิไม่หยุดทำบาปใส่ตัว พระองคุลีมาลได้สติ จึงทิ้งอาวุธเข้าไปเฝ้าทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระบรมศาสดาก็โปรดให้บรรพชาอุปสมบท แล้วพามาวัดพระเชตวันในวันนั้น.

๗. อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นครั้งที่มีประวัติการณ์โด่งดังที่สุด คือ ครั้งทรงทำ ยมกปาฏิหาริย์เพื่อทรมานเดียรถีย์นิครนถ์ ที่มาแข่งดีท้าทายด้วยประการต่างๆ ครั้งนั้นทรงทำที่กรุงสาวัตถี ณต้นไม้มะม่วงชื่อคัณฑามพฤกษ์ โดยแสดงพระองค์ให้มีหลากหลาย มีอิริยาบถและทำกิจต่างๆ กันบ้างนั่ง บ้างนอน บ้างแสดงธรรม บ้างจงกรมกลางหาว และทรงทำท่อน้ำ ท่อไฟ และรังสีสลับสีให้พุ่งออกจากพระวรกายเป็นคู่ๆ แล้วเสด็จลับพระองค์ไปในอากาศ ณ ยอดเขาพระสุเมรุ นัยว่าเสด็จไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์ ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระมารดา วันออกพรรษาจึงเสด็จลง ณประตูนครสังกัสสะ ทางทิศเหนือกรุงสาวัตถี แล้วทรงทำอาวีภาพปาฏิหาริย์ คือทรงเปิดโลกให้คนและเทวดาเห็นกันได้ พระองค์เสด็จลงโดยบันไดแก้วที่เทวดานฤมิต มีพระอินทร์กับพระพรหมตามเสด็จทั้งสองข้าง ด้วยบันไดเงินและทอง มหาชนได้ประชุมกันต้อนรับโดยสักการะมโหฬาร นัยว่ามีผู้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้ากันในครั้งนั้นมากมาย ประมาณเท่าเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคา คนและเทวดาได้เห็นกันชัดแจ้งในครั้งนั้น.

ยมกปาฏิหาริย์ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุด ไม่มีพระสาวกรูปใดทำได้ ไม่มีใครสามารถเป็นคู่แข่งได้ จึงเป็นปาฏิหาริย์ที่น่าอัศจรรย์ที่สุด.

เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงส่วนน้อย นำมาเล่าพอเป็นอุทาหรณ์เท่านั้น ถ้าจะเล่าเรื่องที่ทรงทำปาฏิหาริย์ในคราวต่างๆ ให้สิ้นเชิงแล้ว ก็จะกลายเป็นหนังสือเล่มใหญ่ ซึ่งมิใช่จุดหมายของหนังสือเล่มนี้.



๑. ม. มู. ๑๒/๕๙๐. , ๒. ม. ม. ๑๓/๔๗๙. , ๓. ยมกปฺปาฏิหาริยวตฺถุ ธมฺมปทฏฺฐกถา ๖/๒๑๑


ปาฏิหาริย์นี้ ทรงแสดงไว้ว่ามี ๓ ประการ คือ

๑. อิทธิปาฏิหาริย์ ฤทธิ์อัศจรรย์

๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจถูกต้องอย่างน่าอัศจรรย์

๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสั่งสอนที่น่าอัศจรรย์ โดยมีเหตุผลพร้อมมูล และปฏิบัติได้ผลจริงๆ ด้วย.

ในปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ ประการนี้ ทรงสรรเสริญอนุสาสนีปาฏิหาริย์ว่าเป็นเยี่ยม เพราะยั่งยืนดำรงอยู่หลายชั่วอายุคน และสำเร็จประโยชน์แม้แก่คนรุ่นหลังๆ ส่วนปาฏิหาริย์อีก ๒ ประการนั้นเป็นประโยชน์เฉพาะแก่ผู้ได้ประสบพบเห็นเท่านั้น และเป็นสิ่งที่สาธารณะ แม้ชาวโลกบางพวกเขาก็ทำได้ เช่น ชาวคันธาระ และชาวมณีปุระ เป็นต้น ที่เรียกกันในครั้งนั้นว่า คันธารวิชา มณีวิชาพระบรมศาสดาจึงไม่ทรงแสดงบ่อยนัก เว้นแต่จำเป็น และเห็นว่าจะสำเร็จประโยชน์จึงทรงทำอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์ นัยว่าทรงห้ามพระสาวกมิให้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์เช่นเดียวกัน แต่ก็ปรากฏว่ามีพระสาวกแสดงปาฏิหาริย์กันเรื่อยๆ มา ตั้งแต่สมัยพระบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ จนถึงสมัยหลังพุทธปรินิพพานมานาน ที่ตรัสสั่งให้แสดงก็มี เช่น ทรงแนะอุปเทศแห่งฤทธิ์แก่พระมหาโมคคัลลานะ ให้ทรมานนันโทปนันทนาคราช และตรัสสั่งพระมหาโกฏฐิตะไปทรมานพญานาค ที่ท่าปยาคะ เป็นต้น เมื่อคราวจะทำยมกปาฏิหาริย์ก็มีพระสาวกสาวิกาหลายองค์ขอแสดงฤทธิ์แทน แต่ไม่ทรงอนุญาต โดยทรงอ้างว่า เป็น พุทธวิสัย และ พุทธประเพณี.

อำนาจอันแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ดังที่เล่ามานี้ เป็นสิ่งเกินวิสัยสามัญมนุษย์จะทำได้เป็นเหมือนเทพบันดาลฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงพอใจเรียกอำนาจชนิดนี้ว่า ทิพยอำนาจ แต่มิได้หมายความว่าอำนาจนี้เป็นของเทวดาหรือเทวดาดลใจให้ทำ ข้าพเจ้าหมายถึงภาวะหนึ่งซึ่งเป็นภาวะทิพย์ มีอยู่ในภายในกายของมนุษย์ธรรมดานี่เอง หากแต่ไม่ทำการปลุกหรือปลูกสร้างขึ้นให้มีประจักษ์ชัด จึงไม่มีสมรรถภาพทำการอันน่าอัศจรรย์ได้ ส่วนผู้รู้จักปลุกหรือปลูกอำนาจชนิดนั้นขึ้นใช้ ย่อมสามารถทำอะไรๆ ที่น่าอัศจรรย์ได้เกินมนุษย์ธรรมดา.

ทิพยภาวะนั้น จะปรากฏขึ้นแก่บุคคลในเมื่อเจริญสมาธิจนได้ฌาน ๔ แล้ว และฌาน ๔นั้นเองเป็นทิพยวิสัย คือ แดนทิพย์ ซึ่งเมื่อบุคคลเข้าไปถึงแดนทิพย์นี้แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับตนโดยฐานเป็นเครื่องใช้ ของกิน ความคิดนึกรู้สึกและความรู้ ก็ย่อมกลายเป็นทิพย์ไปหมด ดังที่ตรัสแก่พราหมณ์และคหบดี ชาวเวนาคปุระว่า เราเข้าฌานที่ ๑-๒-๓-๔ ถ้าจงกรมอยู่ที่จงกรมก็เป็นทิพย์ ถ้ายืนอยู่ที่ยืนก็เป็นทิพย์ ถ้านั่งอยู่ที่นั่งก็เป็นทิพย์ ถ้านอนอยู่ที่นอนก็เป็นทิพย์ ... ดังนี้และมีในที่อื่นอีกหลายแห่งที่ตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเมื่อรวมความแล้ว ก็ทรงรับรองว่าเมื่อเข้าฌานที่ ๑-๒-๓-๔ แล้ว ทุกสิ่งจะกลายเป็นทิพย์ อาหารที่ได้ด้วยการบิณฑบาตก็เป็นทิพย์ ผ้าบังสุกุลก็เป็นทิพย์ โคนไม้ที่อาศัยก็เป็นทิพยวิมาน ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่าก็กลายเป็นยาทิพย์ไป เครื่องใช้สอยต่างๆ ก็เป็นทิพย์ ภาวะแห่งจิตใจในสมัยนั้นก็บริบูรณ์ไปด้วยทิพยภาวะ สิ่งที่ได้ประสพพบเห็นสัมผัสถูกต้อง ล้วนแต่น่าชื่นใจ ประหนึ่งว่าได้เข้าไปอยู่ในโลกทิพย์อย่างเต็มที่แล้วฉะนั้น.

ฌานทั้ง ๔ เป็นที่ตั้งแห่งทิพยอำนาจทั้งปวง คือ ทิพยอำนาจทั้งปวงจะเกิดขึ้นแก่บุคคลย่อมต้องอาศัยฌาน ๔ เป็นบาทฐาน เพราะฌาน ๔ เป็นทิพยวิสัย ที่บริบูรณ์ด้วยภาวะทิพย์ ซึ่งจะเป็นกำลังหนุนให้เกิดทิพยอำนาจได้ง่าย.

ทิพยอำนาจนี้ เมื่อว่าโดยลักษณะอย่างต่ำ ย่อมหมายถึงโลกียอภิญญา ๕ ประการ แต่เมื่อว่าโดยลักษณะอย่างสูง ย่อมหมายถึงโลกุตตรอภิญญา ๖ ประการ หรือวิชชา ๘ ประการ คือ

๑. อิทธิวิธิญาณ ฉลาดในวิธีทำฤทธิ์

๒. มโนมยิทธิ ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ

๓. ทิพพโสตญาณ ฉลาดในโสตธาตุทิพย์

๔. เจโตปริยญาณ ฉลาดในการรู้ใจผู้อื่น

๕. บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ฉลาดในการระลึกชาติก่อนได้

๖. ทิพพจักขุญาณ ฉลาดในทางตาทิพย์

๗. จุตูปปาตญาณ ฉลาดรู้จุติและอุปบัติ ตลอดถึงการได้ดีตกยากของสัตว์ตามกำลังกรรม

๘. อาสวักขยญาณ ฉลาดในการทำอาสวะให้สิ้นไป.

ข้อ ๑-๓-๔-๕-๖ และ ๘ เป็นอภิญญา ถ้าขาดข้อ ๘ ไปก็เป็นเพียงโลกิยอภิญญา ถ้ามีข้อ ๘ ก็เป็นโลกุตตรอภิญญา อภิญญา ๖ หรือวิชชา ๘ ประการนี้ข้าพเจ้าจะเรียกว่าทิพยอำนาจต่อไป.

ทิพยอำนาจนี้ พระบรมศาสดาและพระสาวกสาวิกาได้ทรงมี และได้ใช้บำเพ็ญประโยชน์มาแล้ว มีหลักฐานมากมายในพระไตรปิฎก เราผู้อนุชนหรือปัจฉิมชนไม่ควรจะมองข้ามไป หรือไม่ควรดูหมิ่นว่าไม่น่าเชื่อ แล้วแหละทอดธุระเสีย.

บุคคลผู้ฝึกฝนอบรมตนจนได้ทิพยอำนาจนี้ แม้เพียงบางประการ จะต้องมีศีลธรรมเป็นหลักประจำใจมาแล้วอย่างพอเพียง อย่างต่ำก็จะต้องมีศีล ๕ และกัลยาณธรรมประจำใจ เป็นผู้รักดีเกลียดบาปกลัวบาป ชอบสงบตามวิสัยของคนดีไม่เป็นภัยแก่สังคม เขาจึงควรได้ชื่อว่า “นรเทพ”ส่วนบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิพยอำนาจทุกประการนั้น ย่อมบริบูรณ์ด้วยศีลธรรมชั้นสูงสุด เป็นอุดมบุรุษในพระพุทธศาสนา ไม่เป็นข้าศึกต่อโลก ท่านผู้เช่นนี้ควรได้ชื่อว่า เทวาติเทพ ได้แล้ว.

บุคคลทั้งสองจำพวกนี้ เมื่อมีทิพยอำนาจขึ้น ย่อมวางใจได้ว่าจะไม่นำอำนาจนั้นไปใช้ในทางที่เป็นโทษหรือผิดศีลธรรม ย่อมใช้บำเพ็ญประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน และประโยชน์ส่วนรวมของชาติและพระศาสนา ดังที่พระบรมศาสดาและพระสาวกสาวิกา ได้บำเพ็ญมาแล้ว.

ทีนี้มีปัญหาเกิดขึ้นว่า ในสมัยปัจจุบันนี้ จะสร้างทิพยอำนาจขึ้นใช้ได้หรือไม่? ข้าพเจ้าขอตอบเพียงสั้นๆ ว่า เมื่อทิพยอำนาจมีได้ในความบังเอิญ ก็ย่อมจะมีได้ในการทำจริง และขอชี้แจงว่าพระบรมศาสดาทรงแสดงไว้ว่า พระธรรมเป็นอกาลิโก คือไม่จำกัดกาล มรรค ผล ธรรมวิเศษ มีอยู่ทุกยุคทุกสมัย มิได้สูญหายไปไหน เป็นแต่เมื่อบุคคลไม่ปฏิบัติบำเพ็ญ มรรค ผล ธรรมวิเศษก็ไม่ปรากฏ เพราะมรรค ผล ธรรมวิเศษ ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของบุคคล เมื่อบุคคลเป็นผู้ปฏิบัติจริงจังย่อมจะต้องได้ธรรมวิเศษหรือมรรค ผล อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่ และจะถึงความเป็นสักขีพยานของพระบรมศาสดาจารย์ในธรรมนั้นๆ สมัยนี้ปฏิปทาเพื่อได้เพื่อถึงมรรคผลธรรมวิเศษนั้นๆ ยังมีบริบูรณ์ ยังไม่อันตรธานไปจากโลก.

ข้าพเจ้าขอเชิญชวนสาธุชนมาร่วมกัน พิสูจน์ความจริงด้วยการปฏิบัติ ข้าพเจ้าจะประมวลปฏิปทามาไว้ในที่เดียวกัน เพื่อสะดวกแก่ผู้ต้องการปฏิบัติ ดังจะกล่าวในบทต่อไป.



จาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/ ทิพยอำนาจ-02.htm
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...