ทิพยอำนาจพระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง , ปธ. 6)วัดป่าเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่นเรียบเรียงบทที่ ๔
อุปกรณ์แห่งทิพยอำนาจท่านได้อ่านบทที่ ๑-๒-๓ มาแล้ว ย่อมทราบวิธีปฏิบัติอบรมจิตใจตามหลักพระพุทธศาสนาพอสมควร หากจะใช้วิธีเท่าที่บอกไว้ใน ๓ บทนั้นเป็นเครื่องมือปลูกสร้างทิพยอำนาจก็พอเพียงแล้วแต่เพื่อให้สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น ควรทราบวิธีอันเป็นอุปกรณ์แก่ทิพยอำนาจไว้ สำหรับปฏิบัติประกอบกัน ดังจะกล่าวในบทนี้
จิตใจเป็นธรรมชาติละเอียดอ่อนสุขุมาล น้อมไปทางดีก็ได้ น้อมไปทางชั่วก็ได้ หรือพูดฟังกันง่ายๆ ว่า เป็นที่ตั้งแห่งความดีและความชั่ว ความดีและความชั่วนั้นต่างก็มีพลังงานในตัวของมันเอง และพลังงานของทั้งสองฝ่ายนั้นเป็นปฏิปักษ์กันโดยธรรมชาติ มีการต่อสู้ล้างผลาญกันอยู่เนืองนิตย์ จิตใจเป็นสนามต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายนั้น และเป็นผู้พลอยได้ซึ่งผลแห่งการต่อสู้นั้นด้วยคือพลอยเป็นสุขเมื่อความดีชนะ พลอยเป็นทุกข์เดือดร้อนเมื่อความชั่วชนะ จิตใจเองย่อมมีอิสรเสรีที่จะเข้ากับฝ่ายใดก็ได้ ในเมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้วเห็นควรเข้ากับฝ่ายใด และมีทางเอาตัวรอดจากอำนาจทั้ง ๒ ฝ่ายนั้นด้วย ไม่จำเป็นจะยอมจำนนให้อำนาจของทั้งสองฝ่ายนั้นมาครองความเป็นเจ้าเป็นใหญ่เสมอไปก็ได้.
วิธีการที่จะเอาตัวรอดจากอำนาจของความดีและความชั่วนั้น เราต้องรู้เท่าลักษณะอำนาจทั้งสองนั้นอย่างถูกต้อง แล้วเข้ากับฝ่ายที่เป็นธรรม เปิดช่องทางให้อำนาจที่เป็นธรรมหลั่งไหลเข้ามามีอำนาจครองความเป็นใหญ่ในจิตใจของเราไปก่อน แล้วจึงผันผ่อนเพื่อความเป็นอิสรเสรีในบั้นปลาย.
ในบทนี้ ข้าพเจ้าจะได้ชี้ลักษณะอำนาจความดีและความชั่วทั้งสองฝ่ายนั้น เพื่อทราบและเลือกปฏิบัติในทางที่จะเพิ่มพูนอำนาจที่เป็นธรรมให้มากขึ้นในตัวเรา เพื่อเราจะได้มีอิทธิพลเพียงพอที่จะสลัดตนออกจากอำนาจของฝ่ายอื่น บรรลุถึง “ความเป็นตนของตน” เต็มที่ มีเสรีที่จะอยู่อย่างสบายต่อไป.
อนึ่ง ไม่ว่าในหมู่ชนหมู่ใดในโลกนี้ที่จะไม่มีกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่ง เป็นเครื่องเล่นเพลิดเพลินและบำรุงพลานามัยนั้นเป็นอันไม่มี แม้ในหมู่ชนผู้มีจิตใจสูงส่งสักเพียงไรก็ตาม ก็ย่อมมีกีฬาสำหรับเล่นเพลิดเพลิน และเป็นเครื่องบำรุงพลานามัยด้วยเช่นเดียวกัน ฉะนั้นในบทนี้ก็จะได้อธิบายถึงกีฬาในพระพุทธศาสนาไว้ด้วย เพื่อว่า เมื่อท่านต้องการเล่นกีฬาเพื่อความเพลิดเพลินหรือเพื่อพลานามัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะได้เล่นตามต้องการ.
ต่อไปนี้จะอธิบายลักษณะความดีและความชั่ว พร้อมด้วยวิธีเปิดช่องให้ความดีมามีอำนาจในจิตใจ และปิดช่องมิให้ความชั่วมาเป็นเจ้าจิตใจ เพื่อเป็นแนวทางสังเกตและปฏิบัติ ส่วนวิธีการเอาตัวรอดจากอำนาจของทั้งสองเพื่อเป็นตนของตนเต็มที่นั้น จะได้รอไว้กล่าวในบทว่าด้วยวิธีปลูกสร้างทิพยอำนาจชั้นสูง.
ความดีกับความชั่ว มีลักษณะตรงกันข้ามเสมอไป ตั้งแต่ชั้นต่ำที่สุดจนถึงชั้นสูงที่สุด เปรียบประดุจน้ำกับไฟ ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามเสมอไปฉะนั้น ความดีนั้นมีลักษณะที่พอประมวลมากล่าวได้เฉพาะลักษณะใหญ่ๆ เพียง ๓ ลักษณะ ดังนี้
๑. ความดีมีลักษณะทำจิตใจให้เย็น
๒. ความดีมีลักษณะทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง
๓. ความดีมีลักษณะทำจิตใจให้แจ่มใส
ส่วนลักษณะปลีกย่อยของความดี ย่อมมีมากมาย แต่ก็พอสังเกตได้โดยอาศัยลักษณะใหญ่ๆ ทั้ง ๓ ลักษณะนี้เป็นเครื่องวินิจฉัยเทียงเคียง ถ้าสังเกตให้ดีก็จะไม่หลงเข้าใจผิดไปได้.
ความชั่วมีลักษณะตรงกันข้ามกับความดี มีลักษณะที่พอจะประมวลมาได้เฉพาะลักษณะใหญ่ๆ เพียง ๓ ลักษณะ ดังนี้
๑. ความชั่วมีลักษณะทำจิตใจให้ร้อน
๒. ความชั่วมีลักษณะทำจิตใจให้อึดอัด
๓. ความชั่วมีลักษณะทำจิตใจให้มืดมัว
ส่วนลักษณะปลีกย่อยของความชั่วก็มีมากมายเช่นเดียวกัน แต่ก็พอสังเกตได้โดยอาศัยลักษณะใหญ่ ๓ ลักษณะนี้เป็นเครื่องวินิจฉัยเทียบเคียง ถ้าสังเกตให้ดีก็จะไม่หลงเข้าใจผิดไปได้.
ความดีย่อมอาศัยสิ่งที่ดีเป็นปัจจัย โดยนัยเดียวกัน ความชั่วก็ย่อมอาศัยสิ่งที่ชั่วเป็นปัจจัยสิ่งที่ดีและชั่วนั้นปันออกเป็น ๒ ชั้นคือ ชั้นโลกและชั้นธรรม ชั้นโลกได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ชั้นธรรมได้แก่ธรรมคือสภาวะที่มาสัมผัสกับจิตใจได้.
จะอธิบายชั้นโลกก่อน โลกบริบูรณ์ด้วยรูปอันเป็นวิสัยของตา เสียงอันเป็นวิสัยของหูกลิ่นอันเป็นวิสัยของจมูก รสอันเป็นวิสัยของลิ้น และโผฏฐัพพะอันเป็นวิสัยของกาย สิ่งเหล่านี้ย่อมมีทั้งดีและไม่ดี ทั้งเป็นสิ่งที่มีประจำโลก ถ้าโลกปราศจากสิ่งเหล่านี้ โลกก็ไม่เป็นโลกอยู่ได้โลกมนุษย์ก็ต้องมีสิ่งทั้ง ๕ นี้ โลกสวรรค์ก็ต้องมีสิ่งทั้ง ๕ นี้เต็มอยู่ โลกที่ต่ำกว่าสวรรค์และมนุษย์ลงไปก็ต้องมีสิ่งทั้ง ๕ นี้เช่นเดียวกัน สิ่งทั้ง ๕ นี้เป็นส่วนประกอบให้เป็นโลกสมบูรณ์ ถ้าโลกปราศจากสิ่งทั้ง ๕ นี้แล้ว จะเป็นโลกที่สมบูรณ์ไม่ได้ แม้แต่อัตภาพของคนเราตลอดถึงสรรพสัตว์ที่พระบรมศาสดาตรัสเรียกว่าโลก ก็ประกอบด้วยสิ่งทั้ง ๕ นี้ทุกประการ ในที่ใดมีสิ่งทั้ง ๕ นี้ ในที่นั้นต้องเป็นโลก จะเป็นอื่นไปมิได้ การพ้นโลกหรือถึงที่สุดโลกตามความหมายในพระพุทธศาสนาก็หมายถึงพ้นจากอำนาจของสิ่งทั้ง ๕ นี้นั้นเอง คือสิ่งทั้ง ๕ นี้ไม่มีอำนาจเหนือจิตใจ คนธรรมดาสามัญเมื่อประสพสิ่งทั้ง ๕ นี้อันเป็นสิ่งภายนอกตัวก็ดี ภายในตัวก็ดี ย่อมเกิดความรู้สึกขึ้นเป็น ๒ฝ่าย ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอ คือความรู้สึกฝ่ายดีกับฝ่ายชั่ว ความรู้สึกฝ่ายดีนั่นแหละคือความดีความรู้สึกฝ่ายชั่วนั่นแหละคือความชั่ว ความดีความชั่วดังว่านี้เป็นชั้นโลก ให้ผลดีชั่วอยู่ในโลกนี้เอง เมื่อเราพิเคราะห์ให้ดีก็จะเห็นว่า สิ่งที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกฝ่ายดีนั้นเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกฝ่ายชั่วนั้นเป็นสิ่งที่ชั่ว ที่ว่านี้หมายเฉพาะในกรณีสามัญธรรมดาทั่วไป ส่วนในกรณีพิเศษสำหรับมีความรู้สึกพิเศษอยู่ในใจนั้น ย่อมเกิดความรู้สึกผิดแปลกไปจากลักษณะสามัญดังว่านั้นได้ เช่นคนที่มีความรู้สึกริษยาอยู่ในใจ พอเห็นกิริยาอาการแช่มชื่นของผู้ได้ดิบได้ดี แทนที่จะรู้สึกแช่มชื่นไปด้วย ก็กลับรู้สึกเศร้าสร้อยหงอยเหงา หรือรู้สึกหมั่นไส้ไปก็ได้ ในลักษณะฝ่ายตรงกันข้ามก็เหมือนกัน บุคคลผู้ตั้งใจสังเกตความจริงของโลกในแง่ต่างๆ พอได้เห็นรูปที่น่าพึงเกลียดพึงหน่าย เช่น ซากของคนหรือสัตว์ที่ตายแล้ว แทนที่จะเกิดความรู้สึกเกลียดชังหรือเบื่อหน่ายอย่างในกรณีธรรมดาสามัญ ก็จะเกิดความรู้สึกซาบซึ้งในแง่แห่งความจริงของโลกขึ้นมาทันทีจะว่าเกลียดชังหรือเบื่อหน่ายรูปนั้นก็ไม่ใช่ ทั้งยังผลให้เกิดความรู้สึกหายกำหนัดในรูปได้ทันที ข้อนี้แล เป็นเหตุผลให้ทางพระพุทธศาสนาวางวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับให้ดูหรือพิจารณาอสุภะ เป็นเครื่องสอนใจไว้
ส่วนชั้นธรรม ได้แก่สิ่งซึ่งมาสัมผัสเข้ากับจิตใจโดยเฉพาะ และก่อให้เกิดความรู้สึกดีหรือชั่วขึ้นในจิตใจนั้นเอง ธรรมเป็นสภาวะที่สุขุมประณีตเห็นได้ยากรู้ได้ยาก แต่ก็ไม่เกินวิสัยที่จะรู้จะเห็นได้ ธรรมย่อมมีหยาบ ปานกลาง และละเอียด เช่นเดียวกับทางโลก ธรรมชั้นหยาบย่อมมีลักษณะใกล้ต่อความเป็นโลก หรือคล้ายคลึงกับโลกที่สุด ธรรมที่พอปานกลางมีลักษณะห่างออกจากโลกไปบ้าง ส่วนธรรมที่ละเอียดประณีตย่อมมีลักษณะห่างไกลจากโลกถึงกับตรงกันข้ามทีเดียว แต่จะอย่างไรก็ตามเมื่อกล่าวโดยส่วนสามัญทั่วไปแล้ว โลกกับธรรมต้องอาศัยกันและกันเป็นไป เกื้อกูลอุดหนุนกันบ้าง ล้างผลาญทำลายกันบ้าง พอแต่อาศัยกันเฉยๆ บ้าง เป็นเช่นนี้อยู่ตลอดนิรันดรกาลจะชี้ให้เห็นโลกกับธรรมชั้นตื้นๆ ที่เกื้อกูลหรือหักล้างกันให้เห็น คนที่มีจิตใจเข้มแข็ง มีความรู้สึกฝ่ายดีอยู่ในใจเสมอ ผิวพรรณวรรณะจะเปล่งปลั่งสดใส มีพลานามัยดี ถึงหากจะเผอิญเกิดเจ็บป่วยขึ้น ก็จะรักษาหายได้ไว ที่เป็นดังนี้ เพราะกำลังใจนั้นเองเป็นเหตุ ส่วนผู้มีจิตใจอ่อนแอ มีความรู้สึกฝ่ายชั่วอยู่ในใจเสมอ ผิวพรรณวรรณะเศร้าหมองซีดเผือด พลานามัยไม่ค่อยดี หากมีอันเป็นเกิดเจ็บป่วยขึ้น จะรักษาหายยากที่สุด ที่เป็นดังนี้เพราะขาดกำลังใจอุดหนุน ซ้ำมิหนำความรู้สึกอ่อนแอของใจนั้นกลับทำลายสุขภาพทางกายลงเสียด้วย ความข้อนี้ย่อมเป็นจริง ไม่เชื่อลองถามนายแพทย์ เขาจะรับรองเหตุผลข้อนี้ทันที
ความดีความชั่วชั้นธรรมนี้ พึงสังเกตสภาวะอันเกิดกับใจโดยเฉพาะ ซึ่งไม่ได้อิงอาศัยสิ่งทั้ง๕ ซึ่งเป็นโลกเกิดขึ้นแต่ประการใดประการหนึ่งเลย ลักษณะแห่งจิตใจในฌานชั้นต้นๆ ยังประกอบด้วยสภาวะที่เกิดกับใจโดยอาศัยสิ่งทั้ง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้นจึงนับว่าเป็นชั้นโลกครั้นจิตสงบเข้าถึงลักษณะฌานชั้นสูงขึ้นไป สภาวะที่เกิดกับใจนั้นๆ มิได้อิงอาศัยสิ่งทั้ง ๕ ประการใดประการหนึ่งเลย จึงนับว่าเป็นชั้นธรรม แต่เป็นธรรมชั้นหยาบ จึงมีลักษณะใกล้ต่อโลกหรือคล้ายคลึงกับโลก จิตในฌานชั้นประณีตประกอบด้วยสภาวะที่สุขุมประณีต ห่างจากลักษณะของโลกออกไป แต่ยังมีส่วนที่คล้ายคลึงกับโลกอยู่บ้าง ส่วนจิตใจในฌานชั้นสูงสุดหรือในธรรมชั้นสูงสุดนั้นประกอบด้วยสภาวะที่สุขุมประณีตที่สุด ไม่มีลักษณะของโลกเจือปนอยู่เลย เป็นลักษณะของธรรมล้วนๆ ตรงกันข้ามกับโลกทุกอย่าง ชั้นนี้แลที่ท่านเรียกว่า “โลกุตตรธรรม” มีได้ในความเป็นมนุษย์นี้แหละ ไม่ใช่สิ่งที่เกินวิสัยของมนุษย์ หากแต่เป็น “อัจฉริยมนุสสธรรม” คือธรรมของมนุษย์มหัศจรรย์ ผู้บรรลุถึงธรรมชั้นนี้เป็นบุคคลที่เพียบพร้อมไพบูลย์ด้วยความสุขสมปรารถนาลักษณะภาวะของโลก คือ ความเปลี่ยนแปลง ความบีบคั้น ความเป็นอื่น จะไม่มีเลยในธรรมชั้นนั้น คงมีแต่ลักษณะตรงกันข้าม คือ ความเที่ยงแท้ ความว่างโปร่ง ความเป็นตนของตนเองอย่างสมบูรณ์ที่สุด
เมื่อทราบได้ทราบลักษณะของความดี-ความชั่ว ทั้งที่เป็นชั้นโลกและชั้นธรรมพอสมควรเช่นนี้แล้ว ควรทราบวิธีปิดกั้นความชั่ว เปิดช่องความดี เพื่อให้ความดีหลั่งไหลเข้ามาครองความเป็นใหญ่ในจิตใจต่อไป.ช่องทางไหลเข้าสู่จิตใจของความดี และความชั่วก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งมีประสาทที่ให้สำเร็จการเห็น ได้ยิน รู้สึกกลิ่น รู้สึกรส และรู้สึกเย็นร้อนอ่อนแข็งประจำอยู่ เว้นแต่ผู้มีประสาททางช่องนั้นๆ พิการเท่านั้น เมื่อสิ่งที่เป็นโลก คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ผ่านมาในวิถีประสาททั้ง ๕ แล้ว จะเกิดวิญญาณสื่อคือความรู้สึกเห็นเป็นต้น ส่งกระแสสะเทือนไปตามวิถีประสาทแล่นเข้าถึงใจ ซึ่งเป็นเจ้าครองความเป็นใหญ่ในร่างกาย ใจจะรับรู้และเสวยรสของสิ่งนั้นแล้วทำการพิจารณาวินิจฉัยว่าควรทำอย่างไรต่อสิ่งนั้น ถ้าเป็นสิ่งที่ชอบใจก็จะรับเอาไว้ และหาทางได้มามากๆ ถ้าเป็นสิ่งไม่ชอบใจก็จะผลักดันออก และหาทางกำจัดออกไปให้ห่าง ถ้าเป็นสิ่งไม่ก่อให้เกิดความชอบใจหรือไม่ชอบใจก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่เอาใจใส่แต่ประการใด ปล่อยให้มันตกไปเองกระแสแห่งความรู้สึกทางวิถีประสาท ตลอดถึงความรู้สึกในใจนั้นจะส่งทอดถึงกันเร็วที่สุด และการพิจารณาวินิจฉัยก็เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะอาศัยความเคยชินเป็นประมาณ ถ้าเอาสติปัญญาเข้าไปประกอบทำการพิจารณาวินิจฉัยอารมณ์แล้วจะเป็นไปโดยอาการเชื่องช้าสุขุม และเที่ยงธรรม ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่ผู้ปฏิบัติจะพึงสำเหนียกให้ตระหนักที่สุด และถือเป็นจุดทำการปฏิบัติจิตใจจากลักษณะสภาพที่ต่ำทรามให้ก้าวขึ้นสู่ลักษณะสภาพที่ดีงามสูงส่งยิ่งขึ้นไป.สรีรศาสตร์จะอธิบายให้ท่านทราบลักษณะหน้าที่ของประสาททั้ง ๕ คือ ประสาทตา หูจมูก ลิ้น กาย แต่ไม่สามารถบอกท่านได้ถึงจุดรวมของความรู้สึกว่าอยู่ตรงไหน เมื่อว่าถึงหัวใจสรีรศาสตร์ก็บอกว่ามีหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงร่างกาย เมื่อว่าถึงมันสมอง สรีรศาสตร์ก็บอกว่ามีหน้าที่คิดนึกรู้สึก และลงความเห็นด้วยว่า “นั่นคือจิตใจ” แต่ในทางพระพุทธศาสนาจะบอกท่านว่า หัวใจนอกจากจะมีหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายแล้ว ยังมีหน้าที่รับถ่ายทอดความรู้สึกจากประสาททั้ง ๕ เข้าสู่จิตใจอีกด้วย แล้วจิตใจจึงจะทำการพิจารณาวินิจฉัยโดยอาศัยมันสมองแล้วสั่งการทางมันสมองอีกทีหนึ่ง ความข้อนี้พึงสังเกตเมื่อเวลาเราได้ประสบสิ่งที่แปลกประหลาดหรือน่าตื่นเต้นหวาดเสียว เราจะรู้สึกหัวใจเต้นแรงผิดปกติ ถ้าเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดหัวใจจะถึงกับหยุดเต้นเอาทีเดียว เคยมีตัวอย่างผู้ประสบเหตุที่น่าตกใจที่สุดถึงกับสลบสิ้นสมปฤดีไปก็มีความรู้สึกในชั้นนี้จะแสดงอาการอยู่ตรงหัวใจ หาได้แสดงที่มันสมองไม่ ความรู้สึกที่มันสมองนั้นจะมีในตอนพิจารณาวินิจฉัยอารมณ์อันเป็นขั้นต่อไป ฉะนั้นทางพระพุทธศาสนาจึงบัญญัติช่องทางรับรู้อารมณ์ไว้ถึง ๖ ทาง เรียกว่าทวาร ๖ หรืออินทรีย์ ๖ และสอนให้อบรมอินทรีย์ทั้ง ๖ นั้นให้ดีด้วย จะยกเอาหลักคำสอนที่สอนให้อบรมอินทรีย์มาตั้งไว้เป็นหลักปฏิบัติปิดกั้นความชั่ว และเปิดช่องความดี ดังต่อไปนี้อานนท์ การอบรมอินทรีย์อย่างเยี่ยมในอริยวินัยเป็นอย่างไร? อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยจักษุ ฟังเสียงด้วยโสตะ สูดกลิ่นด้วยฆานะ ลิ้มรสด้วยชิวหา สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมด้วยใน สิ่งน่าพอใจ สิ่งไม่น่าพอใจ สิ่งเป็นกลางๆ ย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ เธอรู้อย่างนี้ว่า สิ่งน่าพอใจ สิ่งไม่น่าพอใจ สิ่งเป็นกลางๆ นี้เกิดแก่เราแล้ว แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยสิ่งหยาบเกิดขึ้น อุเบกขาเป็นสิ่งสงบ เป็นสิ่งประณีตดังนี้ สิ่งน่าพอใจ สิ่งไม่น่าพอใจ สิ่งเป็นกลางๆ ที่เกิดแก่เธอแล้วนั้นย่อมดับไป อุเบกขายังคงดำรงอยู่ อย่างนี้แล อานนท์ การอบรมอินทรีย์อย่างเยี่ยมในอริยวินัย.อานนท์ พระเสขะเป็นผู้มีปฏิปทาอย่างไร? อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุฟังเสียงด้วยโสตะ สูดกลิ่นด้วยฆานะ ลิ้มรสด้วยชิวหา สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมด้วยใจแล้วสิ่งที่น่าพอใจ สิ่งที่ไม่น่าพอใจ สิ่งที่เป็นกลางๆ ย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ เธอย่อมเบื่อ ย่อมหน่าย ย่อมเกลียดมัน อานนท์ พระเสขะเป็นผู้มีปฏิปทาอย่างนี้แล.อานนท์ พระอริยะผู้อบรมอินทรีย์แล้วเป็นอย่างไร? อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุ ฟังเสียงด้วยโสตะ สูดกลิ่นด้วยฆานะ ลิ้มรสด้วยชิวหา สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมด้วยใจแล้ว สิ่งที่น่าพอใจ สิ่งที่ไม่น่าพอใจ สิ่งที่เป็นกลางๆ ย่อมเกิดขึ้นแก่เธอ ถ้าเธอหวังจะ...
๑. กำหนดความไม่น่าเกลียด ในสิ่งน่าเกลียด
๒. กำหนดความน่าเกลียด ในสิ่งไม่น่าเกลียด
๓. กำหนดความไม่น่าเกลียด ทั้งในสิ่งน่าเกลียด ทั้งในสิ่งไม่น่าเกลียด
๔. กำหนดความน่าเกลียด ทั้งในสิ่งไม่น่าเกลียด ทั้งในสิ่งน่าเกลียด
๕. เว้นความน่าเกลียดและไม่น่าเกลียดทั้ง ๒ นั้นแล้ว เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะวางเฉยอยู่ดังนี้ เธอก็ปฏิบัติได้ตามความหวังนั้นทุกประการ อานนท์ พระอริยะผู้อบรมอินทรีย์แล้วเป็นอย่างนี้แล.
อานนท์ การอบรมอินทรีย์อย่างเยี่ยมในอริยวินัย พระเสขะผู้มีปฏิปทา พระอริยะผู้อบรมอินทรีย์แล้ว เราแสดงแล้วอย่างนี้ ซึ่งเป็นกรณียะที่ศาสดาผู้มีความเอ็นดู หวังความเกื้อกูลแก่สาวกควรทำ เราได้อาศัยความอนุเคราะห์ ทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย เหล่านั้นรุกขมูล เหล่านั้นที่เรือนว่างเธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าเดือดร้อนภายหลัง นี้เป็นอนุสาสนีของเราสำหรับเธอทั้งหลาย ดังนี้แล.
การที่จำลองเอาหลักวิธีการอบรมอินทรีย์มาตั้งไว้ทั้งดุ้นเช่นนี้ ก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบวิธีการ พร้อมด้วยสำนวนโวหารที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนมาแล้วอย่างไร ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะถอดใจความเพื่อทราบวิธีปฏิบัติให้จะแจ้งอีกชั้นหนึ่ง.
การฝึกจิตใจเนื่องด้วยอินทรีย์ มีพระบาลีแสดงไว้ในที่อื่น เป็นวิธีการปฏิบัติขั้นต้นก่อนขั้นที่จำลองเอาพระบาลีมาไว้นี้ จะขอถอดใจความมาไว้เพื่อทราบทีเดียว ดังนี้
“เห็นรูปด้วยจักษุ ฟังเสียงด้วยโสตะ สูดกลิ่นด้วยฆานะ ลิ้มรสด้วยชิวหา สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมด้วยใจแล้ว ไม่ยึดถืออารมณ์โดยนิมิต คือ รวมหมด หรือแยกส่วนออกถือ ซึ่งจะเป็นช่องทางให้อกุศลบาปกรรมติดตามมาครอบงำ ปฏิบัติปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้” วิธีนี้เป็นขั้นที่เรียกว่า สติสังวร = ระวังด้วยสติเป็นการป้องกันบาป.
ส่วนพระบาลีที่จำลองมาไว้แล้วนี้ มีใจความดังต่อไปนี้ คือ เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุ ฟังเสียงด้วยโสตะ สูดกลิ่นด้วยฆานะ ลิ้มรสด้วยชิวหา สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมด้วยใจ ความพอใจไม่พอใจ และความรู้สึกกลางๆ ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่อาศัยปัญญารู้เท่าว่า มันเป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยสิ่งหยาบเกิดขึ้น อุเบกขาเป็นธรรมสงบประณีตกว่า เมื่อรู้เท่าเช่นนี้ ความรู้สึกพอใจไม่พอใจ และกลางๆ นั้นก็จะดับไป ใจเป็นอุเบกขาดำรงอยู่ เช่นนี้เป็นการอบรมอินทรีย์ด้วยปัญญาละความพอใจ ไม่พอใจ และความรู้สึกกลางๆ ด้วยอำนาจปัญญารู้เท่า เป็นขั้นปฏิบัติที่เรียกว่าญาณสังวร = ระวังด้วยญาณ เป็นการขจัดอกุศลบาปธรรมให้จางตกไปจากใจ บำรุงรักษาความดีคืออุเบกขาธรรมให้ดำรงอยู่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจให้เที่ยงธรรม มั่นคงแข็งแรงสืบไป
ขั้นต่อจากนั้นมา เป็นขั้นใช้ความอดทนต่อสู้กับอารมณ์ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเห็นรูป ได้ยินเสียงดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ และรู้ธรรมด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖ นั้น ย่อมอึดอัด ระอิดระอา เกลียดชังอยู่ ไม่พอใจรับเอามันไว้ในจิตใจ ไม่นานมันก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของมัน วิธีนี้เป็นการข่มความรู้สึกฝ่ายชั่วด้วยอำนาจความอดทนที่เรียกว่า ขันติสังวร = ระวังบาปด้วยความอดทน เป็นขั้นปราบอกุศลบาปธรรมให้ตกไปจากใจ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เสขปฏิปทา = วิธีปฏิบัติของพระเสขะ= นักศึกษา
อีกขั้นหนึ่งซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายในวิธีการฝึกอินทรีย์ ใช้วิธีเปลี่ยนความรู้สึกในสิ่งที่ได้ประสพด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖ นั้นให้เป็นไปตามต้องการ คือให้รู้สึกเกลียดก็ได้ ไม่เกลียดก็ได้ ทั้งในสิ่งน่าเกลียดทั้งในสิ่งไม่น่าเกลียด และเว้นความรู้สึกทั้งสองนั้นเสีย ให้มีความรู้สึกเป็นกลางๆ มีสติสัมปชัญญะกำกับตนอยู่เท่านั้นก็ได้ ขั้นนี้เป็นการใช้ความพากเพียรเอากำลังใจที่มีอยู่กดความรู้สึกอันเกิดขึ้นเองนั้นเสีย เปลี่ยนเป็นความรู้สึกตามต้องการ เป็นวิธีขับไล่อกุศลบาปธรรมให้ออกไปจากใจที่เรียกว่า วิริยสังวร = ระวังบาปด้วยอำนาจความเพียร เป็นวิธีการที่พระอริยเจ้าใช้อบรมอินทรีย์มาแล้วเป็นผลดี สมเด็จพระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนให้ใช้วิธีนี้อีกวิธีหนึ่ง ในการอบรมอินทรีย์
เมื่อสรุปรวมแล้ว ได้วิธีอบรมหรือฝึกอินทรีย์ ๔ ประการ คือ
๑. สติสังวร เอาสติระมัดระวังอินทรีย์ ซึ่งเป็นช่องทางไหลข้าวของอกุศลบาปธรรม มิให้มันได้ช่องไหลเข้ามาครอบงำใจ.
๒. ญาณสังวร เอาความรู้ทำการพิจารณาอารมณ์ และความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้รู้เท่าทัน คัดเอาไว้แต่อุเบกขา คือความมีใจเป็นกลางเฉยอยู่นั้นไว้ ปล่อยให้ความรู้สึกดีร้ายจางตกไปจากใจ.
๓. ขันติสังวร เอาความอดทนเข้าข่มความรู้สึกอันเกิดขึ้นจากอินทรีย์ทั้ง ๖ นั้น จนมันดับไปเอง.
๔. วิริยสังวร เอาความพากเพียรเข้าแก้ไขเปลี่ยนแปลงความรู้สึกไปตามความต้องการของตน โดยทำนองหนามยอกเอาหนามบ่ง จนสามารถทำความรู้สึกเป็นกลางในอารมณ์ทั้งดีร้ายได้อย่างดี.
วิธีทั้ง ๔ นี้ เป็นวิธีอบรมอินทรีย์อย่างประเสริฐในอริยวินัย คือ พระพุทธศาสนา ผู้มุ่งความเจริญก้าวหน้าทางจิตใจควรถือเป็นหลักอบรมจิตใจ จะได้ผลดีโดยง่าย เป็นวิธีฝึกให้จิตใจมีอำนาจสามารถบังคับอารมณ์ในใจของตนได้ ซึ่งเป็นวิธีการบังคับตนเองวิธีหนึ่ง เมื่อทำได้ดี จิตใจย่อมมีอิทธิพลเหนือความรู้สึก สามารถวางสีหน้าให้เป็นปกติอยู่ได้ ทั้งในเวลาน่ายินดี ทั้งในเวลาน่ายินร้าย จัดเป็นบุคคลที่น่าอัศจรรย์ ผิดแปลกไปจากมนุษย์ธรรมดาสามัญเป็นไหนๆ
เจริญสติปัฏฐานสติปัฏฐาน ได้แก่การบำรุงสติให้ไพบูลย์เป็นมหาสติ เพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อระงับความเศร้าโศก คร่ำครวญ เพื่อดับทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุวิชชา เพื่อเปิดเผยพระนิพพาน มีวิธีการดังต่อไปนี้
๑. กายานุปัสสนา ตั้งสติดูความเปลี่ยนแปลง เกิด-ดับ ของกาย ตามลำดับขั้น ดังนี้
(ก.) ตั้งสติตามดูลมหายใจเข้า-ออก ให้รู้ทันระยะสั้น-ยาว, แผ่ความรู้สึกไปทั่วร่างกายทุกส่วน, ผ่อนบรรเทาลมหายใจให้สงบลงจนเป็นลมประณีตไม่กระเทือนความรู้สึก, สำเหนียกธรรมดาประจำกาย คือความเกิด-ความเสื่อมสลายให้เห็นชัด ทั้งในกายภายใน ทั้งในกายภายนอกทั้งสองส่วนเทียบกัน, ดำรงสติไว้ว่า กายมีเพียงเป็นที่รู้เป็นที่ระลึก ไม่ติด และไม่ยึดถือสิ่งใดๆ ที่ได้พบเห็นในกายนั้น.
(ข.) ทำสติให้รู้ทันอาการเคลื่อนไหวกายโดยอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน, สำเหนียกธรรมดาประจำกาย ตั้งสติไว้ให้มั่นโดยทำนองข้อ ก.
(ค.) ทำสัมปชัญญะให้รู้ทันอาการเคลื่อนไหวทุกๆ อาการของกาย เช่น ก้าวไป ถอยกลับ เหลียวซ้าย แลดูขวา คู้ เหยียด พาดสังฆาฏิ ถือบาตร ห่มจีวร กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มรส ถ่ายอุจจาระ-ปัสสาวะ เดิน ยืน นั่ง นอน หลับ ตื่น พูด นิ่ง และสำเหนียกธรรมดาประจำกาย กับตั้งสติโดยนัยข้อ ก.
(ฆ.) ตั้งสติพิจารณาให้เห็นอาการ ๓๒ ในกาย คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร (และมันสมอง) แล้วสำเหนียกธรรมดาประจำกาย กับตั้งสติดังนัยข้อ ก.
(ง.) ตั้งสติกำหนดพิจารณาดูกายให้เห็น โดยความมีธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันอยู่ในกายเต็มอยู่ สามารถแยกออกได้ตามลักษณะธาตุทั้ง ๔ แล้วสำเหนียกธรรมดาประจำกายและตั้งสติโดยนัยข้อ ก.
(จ.) ดูสรีระที่ตายแล้วในลักษณะต่างๆ กัน ตั้งแต่ตายใหม่ๆ จนกระทั่งเหลือแต่กระดูกผุยุ่ยเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย น้อมเข้ามาเทียบกับสรีระของตนเองให้เห็นว่าเช่นเดียวกัน แล้วกำหนดดูธรรมดาประจำกาย และตั้งสติโดยนัยข้อ ก.
เมื่อปฏิบัติตามลำดับชั้นดังกล่าวมานี้ ชื่อว่าบำรุงสติให้ไพบูลย์ในการติดตามดูกาย ที่เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะเกิดความสำนึกและรู้เห็นความจริงของกายขึ้นอย่างดีทีเดียว
๒. เวทนานุปัสสนา ตั้งสติติดตามดูความรู้สึกรสของผัสสะ ที่เรียกว่าเวทนาทั้ง ๓ อาการคือ สุข ทุกข์ และไม่ทุกข์ไม่สุข ให้รู้ทันทุกอาการ เวทนามีอามิสคือเกิดแต่สัมผัสกับกามคุณก็รู้ทันเวทนาปราศจากอามิสคือไม่เกิดจากกามคุณก็รู้ทัน แล้วสำเหนียกธรรมดาประจำเวทนา คือความเกิดขึ้นแปรเปลี่ยน เสื่อมไปของเวทนา จนรู้เห็นแจ่มแจ้งในใจ และตั้งสติไว้เพียงเป็นที่รู้เป็นที่ระลึกว่าเวทนามีเท่านั้น ไม่ติดและไม่ยึดถือสิ่งไรๆ ที่ตนได้ประสพพบเห็นในเวลานั้นๆ
๓. จิตตานุปัสสนา ตั้งสติติดตามดูจิตใจของตน ให้รู้ทันอาการปกติ, มีกิเลสเจือ, ปราศจากกิเลสเจือ, ฟุ้ง, ไม่ฟุ้ง, ใหญ่, ไม่ใหญ่, เยี่ยม, ไม่เยี่ยม, ตั้งมั่น, ไม่ตั้งมั่น, หลุดพ้น, ไม่หลุดพ้น, ของจิตใจทุกๆ อาการไป แล้วสำเหนียกธรรมดาประจำจิต คือ อาการเกิดขึ้น แปรเปลี่ยน เสื่อมสลายไปให้รู้ทัน และตั้งสติไว้เพียงเป็นที่รู้ และเป็นที่ระลึกว่าจิตมีเท่านั้น ไม่ติด และไม่ยึดถืออะไรๆ ที่ตนได้ประสพพบเห็นในจิตใจทุกๆ ประการ
๔. ธัมมานุปัสสนา ตั้งสติตามดูธรรม คือสภาวะที่ปรากฏแก่จิตใจ ซึ่งทำลายคุณภาพของจิตใจบ้าง บำรุงจิตใจให้มีคุณภาพบ้าง หมุนจิตใจอยู่โดยสภาวะปกติบ้าง จนรู้เท่าทันสภาวะนั้นๆตามเป็นจริง แล้วสำเหนียกธรรมดาของสภาวะนั้นๆ ว่ามีอาการเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงแปรไปอย่างไร ควรละหรือควรเจริญอย่างไร หรือเพียงเป็นสภาวะที่ควรกำหนดรู้ให้แจ่มแจ้ง และพึงตั้งสติเพียงเป็นที่รู้เท่าเป็นที่ระลึกว่า สภาวธรรมเป็นสิ่งมีอยู่ ไม่ติด และไม่ยึดถืออะไรๆ ในธรรมที่ตนได้ประสพพบเห็นนั้นๆ
ผู้เจริญสติปัฏฐาน ต้องประกอบด้วยสติ สัมปชัญญะ และอาตปะความเพียรให้เป็นไปด้วยกัน จึงจะสามารถกำจัดความเศร้าโศกคร่ำครวญ ความทุกข์โทมนัสออกไปจากใจได้ และจึงจะสามารถบรรลุถึงวิชชา และนิพพานสมประสงค์
เจริญอิทธิบาทภาวนาและปธานสังขารอิทธิบาท คือ ธรรมที่เป็นพื้นฐานของฤทธิ์ หรือธรรมที่ให้สำเร็จสิ่งประสงค์ เป็นธรรมที่จำเป็นต้องอบรม เพื่อเป็นอุปกรณ์แก่ทิพยอำนาจ มี ๔ ประการ และมีวิธีอบรมดังต่อไปนี้
๑. ฉันทะ ความพอใจ ได้แก่ความต้องการทิพยอำนาจ มุ่งมั่นหมายมือที่จะได้จะถึงอย่างแรงกล้า
๒. วิริยะ ความเพียร ได้แก่ความบากบั่นมั่นคง ไม่วางธุระในกุศลธรรม อันเป็นบันไดไปสู่ทิพยอำนาจ พยายามไต่ไป คืบคลานไป ไม่ยอมถอยหลัง ก้าวหน้าเรื่อยไป
๓. จิตตะ ความเอาใจฝักใฝ่ ได้แก่ความมีใจแน่วแน่ในความมุ่งหมายของตน และแน่วแน่ในการเจริญกุศลละอกุศล อันเป็นวิธีก้าวไปสู่ทิพยอำนาจทีละขั้นๆ
๔. วิมังสา ความไตร่ตรอง พิจารณา ได้แก่ความสอดส่อง ไต่สวน ทวนเหตุผล เลือกคัดจัดสรรกุศล-อกุศลให้ออกจากกัน เพื่อละกุศล-เจริญกุศลได้สะดวก และสอดส่องแสวงหาวิธีการเจริญทิพยอำนาจให้ทราบลู่ทางชัดใจอีกด้วย
ขั้นแรกอาศัยคุณธรรมทั้ง ๔ นี้ เจริญสมาธิก่อน เมื่อได้สมาธิแล้ว จึงอาศัยสมาธิที่ได้เพราะอาศัยธรรม ๔ ประการนี้ ทำความพากเพียรละอกุศล-เจริญกุศลให้เต็มกำลังอีกทีหนึ่ง ซึ่งท่านเรียกว่าปธานสังขาร=แต่งความเพียร วิธีอาศัยอิทธิบาทเจริญสมาธิขั้นต้นนั้น เรียกว่า อิทธิบาทสมาธิ=สมาธิเกิดด้วยอิทธิบาท รวมกันเข้าเรียกสั้นๆ ว่า อิทธิบาทภาวนา=เจริญอิทธิบาท
ท่านพรรณนาคุณแห่งอิทธิบาทภาวนามากว่าผู้ที่ได้เจริญอิทธิบาทให้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว ถ้าจำนงจะมีชีวิตอยู่กัปป์หนึ่งหรือเกินกว่ากัปป์หนึ่ง ก็สามารถอธิษฐานให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแย้มพรายหลายครั้ง เพื่อให้พระอานนท์กราบทูลอาราธนาให้ทรงอธิษฐานพระชนม์ชีพอยู่ถึงกัปหรือเกิน
๑ กว่า แต่พระอานนท์รู้ไม่ทันอั้นตู้เสียทุกครั้งที่ทรงแย้มพราย นัยว่า มารดลใจจึงมิได้กราบทูลอาราธนา ภายหลังเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระเถระทั้งหลาย มีพระมหากัสสปเถระเป็นต้นจึงพากันตำหนิพระอานนท์ในข้อนี้อย่างมาก
เรื่องอำนาจแห่งอิทธิบาทภาวนานี้ มีผู้ยกขึ้นเป็นปัญหาค่อนขอดในภายหลังว่า สรรเสริญคุณไว้เปล่าๆ ถ้ามีอำนาจทำได้ถึงเพียงนั้นทำไมถึงไม่ทำเสียเอง จะรอให้คนอื่นต้องอาราธนาทำไมพระนาคเสนเถระแก้แทนว่า ทรงมีอำนาจถึงเพียงนั้นมิได้ตรัสมุสา อยากจะทำตามนั้น แต่มีผู้ประสงค์มิให้ทรงลำบากพระกายไปนาน เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิทรงพรรณนาถึงความสามารถของม้าอาชาไนยของพระองค์ว่า ฝีเท้าเร็วอาจขี่รอบโลกได้ในวันเดียว และปรารถนาจะทรงทำเช่นนั้น บรรดาเสนามาตย์ราชเสวกทั้งหลายผู้ที่มีความจงรักภักดีกลัวว่า จะทรงลำบากพระกายเปล่าๆ จึงกราบทูลห้ามเสียฉันใด เรื่องเกี่ยวกับสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เป็นฉันนั้น เพราะพระธรรมวินัยทรงแสดงว่าเพียงพอแล้ว อัตภาพเป็นสิ่งประกอบไปด้วยทุกข์ที่จำต้องทน แม้จะบริบูรณ์ดีเพียงไร ก็ไม่พ้นที่ต้องลำบากด้วยภัยธรรมชาติทั้งภายในและภายนอก ปรากฏประหนึ่งคูถแก่ผู้วางอุปาทานในอัตภาพแล้วฉะนั้น ใครๆ ผู้แลเห็นความลำบากของพระผู้มีพระภาคเจ้าในข้อนี้ จึงไม่สามารถที่จะเห็นพระองค์ทรงลำบากพระกายไปนาน ส่วนการตำหนิพระอานนท์ในภายหลังก็ทำไปพอเป็นทีเท่านั้นดังนี้
สร้างอินทรีย์และพละอินทรีย์ คือสภาวะที่เกื้อกูลแก่ความเป็นใหญ่ร่างกายธรรมดาของคน ต้องประกอบด้วยอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จึงให้สำเร็จกิจในการ ดู ฟัง ดม ลิ้ม รับสัมผัส และรู้เรื่องได้ฉันใด กายพิเศษซึ่งเป็นส่วนภายในกายธรรมดานี้อีกชั้นหนึ่ง จะเป็นกายที่มีอำนาจพร้อมมูลเพื่อทำกิจให้สำเร็จได้ก็ต้องประกอบด้วยอินทรีย์ฉันนั้น อินทรีย์สำหรับกายชั้นในที่ต้องเพิ่มเติมขึ้นมี ๕ สิ่ง คือ
๑. ศรัทธา ความเชื่อมั่นในความรู้ของครูสั่งสอนตน สำหรับพระพุทธศาสนา ได้แก่เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
๒. วิริยะ ความเพียร คือความบากบั่นขยันขันแข็งไม่ทอดธุระในการละความชั่ว ทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป
๓. สติ ความยั้งคิด หรือการตรวจตราควบคุมตนเอง มิให้พลั้งพลาดในการทำ พูด คิด ยังกิจที่ประสงค์ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
๔. สมาธิ ความมีใจมั่นคง ไม่เหลาะแหละ ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน หนักในเหตุผลเที่ยงตรงเหมือนเสาอินทขีล ไม่หวั่นไหวต่อลมฉะนั้น
๑. คำว่า กัป ในที่นี้ หมายถึง อายุกปฺโป คือเกณฑ์อายุขัยของคนแต่ละสมัย๕. ปัญญา ความฉลาด คือรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงถูกต้อง เป็นความรู้แจ่มกระจ่างในใจตัดความสงสัยลงได้ อย่างสูงหมายถึงรู้ทางสิ้นทุกข์ถูกต้อง
ธรรมทั้ง ๕ นี้ เมื่อได้ทำการอบรมให้บริบูรณ์ขึ้นจนมีอำนาจในหน้าที่ของแต่ละข้อแล้วจัดเป็นพละและเป็นอินทรีย์ หรือจะรวมเข้ากันเป็นพละกำลังอันยิ่งใหญ่ก็ได้ ผู้มีธรรมหมวดนี้เต็มเปี่ยมในตน เป็นบุคคลผู้สามารถจะรับทิพยอำนาจไว้ในตนได้ ถ้าปราศจากธรรมหมวดนี้แล้ว จะไม่สามารถรับทิพยอำนาจไว้ได้เพราะกำลังไม่พอนั่นเอง ฉะนั้น ก่อนจะก้าวไปสู่ทิพยอำนาจ จึงควรสร้างทิพยพละและอินทรีย์ขึ้นก่อน
ศรัทธาข้อต้น ต้องได้รับการปลูกสร้างเพิ่มเติมให้ไพบูลย์เป็นศรัทธามั่นคง วิริยะข้อ ๒ นั้นเมื่อได้อบรมตามหลักปธานสังขาร ในการเจริญอิทธิบาทแล้วก็เป็นอันได้สร้างสำเร็จแล้ว สติข้อ ๓ต้องอบรมตามหลักสติปัฏฐาน ๔ คือให้มีสติตั้งมั่นในการรู้เห็น กาย-เวทนา-จิต-ธรรม จนมีสติไพบูลย์เป็นมหาสติ สมาธิข้อ ๔ เมื่อได้เจริญฌานมาตรฐานทั้ง ๔ ประการสำเร็จแล้ว ก็ชื่อว่ามีสมาธิบริบูรณ์ในขั้นนี้แล้ว ปัญญาข้อ ๕ ต้องอบรมให้มากขึ้น และให้เป็นสัมมาปัญญาคือรู้ดีรู้ชอบจึงเป็นคุณแก่ตน เมื่อมีอินทรีย์ ๕ บริบูรณ์ขึ้นทุกประการแล้ว กายชั้นในคือนามกายจะเปลี่ยนรูปเป็นทิพยกายทันที มีอินทรีย์ ๕ นั้นเป็นส่วนประกอบให้มีอำนาจเห็น-ได้ยิน-ได้กลิ่น-ลิ้มรส-สัมผัสและรู้อะไรๆได้ เช่นเดียวกับกายธรรมดาของคนเราผู้ฝึกหัดชำนาญแล้วสามารถถอดออกจากร่างหยาบๆ นี้ไปเที่ยวอยู่ในทิพยโลกได้ ข้อนี้จะได้กล่าวในวิธีสร้างทิพยอำนาจในบทข้างหน้า
เจริญโพชฌงค์
โพชฌงค์ คือองค์ธรรมอันเป็นเหตุให้เกิดการตรัสรู้ขึ้นในดวงจิต หรือเป็นเหตุปลุกจิตใจให้ตื่นเต็มที่มี ๗ ประการ คือ
๑. สติ ความยั้งคิด มีลักษณะตรวจตราควบคุมจิตใจ และปรับปรุงธรรมข้ออื่นๆ ให้สมดุลกัน เมื่อได้อบรมตามหลักสติปัฏฐาน ๔ เพียงพอแล้ว ก็ชื่อว่ามีสติสัมโพชฌงค์
๒. ธัมมวิจยะ ความวิจัยธรรม คือพินิจคิดค้นเหตุผลของสิ่งนั้นๆ จนทราบชัดแก่ใจจริงๆเมื่อได้ปฏิบัติตามปธานสังขารในการเจริญอิทธิบาทข้อ ๔ ก็ชื่อว่ามีธรรมวิจยสัมโพชฌงค์แล้ว
๓. วิริยะ ความเพียร มีนัยเช่นเดียวกับในปธานสังขาร ในการเจริญอิทธิบาทข้อ ๒
๔. ปีติ ความดูดดื่ม ได้แก่ปีติในองค์ฌานนั่นเองเมื่อได้เจริญฌานมาตรฐาน ๔ ประการรู้จักปลูกปีตีแล้ว ก็ชื่อว่ามีปีติสัมโพชฌงค์แล้ว
๕. ปัสสัทธิ ความราบเรียบของกายใจ ไม่เคลื่อนไหวกายใจในกริยาที่ไม่จำเป็น เมื่อได้เจริญฌานมาตรฐานจนถึงชั้นจตุตถฌาน ระงับกายสังขารคือลมหายใจได้แล้ว ชื่อว่ามีปัสสัทธิสัม-โพชฌงค์แล้ว
๖. สมาธิ ความมีใจมั่นคง เมื่อได้เจริญฌานมาตรฐาน ๔ ประการให้บริบูรณ์แล้ว ก็ชื่อว่ามีสมาธิสัมโพชฌงค์แล้ว
๗. อุเบกขา การเข้าไปเพ่งดูด้วยใจเป็นกลางเที่ยงตรง อันเป็นเหตุให้รู้จริงเห็นแจ้ง เมื่อได้เจริญอุเบกขาฌาน คือฌานที่ ๔ สำเร็จแล้ว ก็นับว่ามีอุเบกขาสัมโพชฌงค์พอสมควร ถ้ายิ่งได้เจริญถึงชั้นอุเบกขาฌานแล้วยิ่งชื่อว่ามีอุเบกขาสัมโพชฌงค์บริบูรณ์ดี วิธีเจริญโพชฌงค์ที่จะให้ได้ผลดี ต้องอาศัยหลัก ๔ ประการ เป็นเครื่องประกอบ คือ
๑. อาศัยความเงียบเป็นเครื่องประกอบ
๒. อาศัยความพรากจิตจากกามคุณเป็นเครื่องประกอบ
๓. อาศัยความดับธรรมที่เป็นข้าศึกเป็นเครื่องประกอบ
๔. อาศัยน้อมจิตไปในทางสละโลกเป็นเครื่องประกอบ
ความเงียบมี ๓ ชั้น คือเงียบทางกาย เงียบทางจิต และเงียบจากกิเลสเป็นเหตุยึดขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตนแก่นสาร ความพรากจิตจากกามคุณเป็นขั้นต้นของฌาน ต่อจากนั้นไปต้องหัดพรากจากอารมณ์ของฌานที่หยาบก้าวไปสู่ฌานประณีตโดยลำดับ จนถึงพรากจากอารมณ์ได้เด็ดขาด ความดับธรรมที่เป็นข้าศึกนั้นหมายตั้งแต่ชั้นต่ำที่สุดจนถึงสูงที่สุด สิ่งใดเป็นปฏิปักษ์กับความดีต้องพยายามดับสิ่งนั้นให้หมด ส่วนความน้อมจิตไปในทางสละโลกนั้นเป็นการหัดใจให้รู้จักเสียสละประโยชน์น้อยเพื่อประโยชน์ใหญ่โดยลำดับ ไม่อาลัยติดอยู่ในความสุขชั้นต่ำๆ ที่ตนได้ประสพในเมื่อยังมีทางจะได้ความสุขดีกว่าประณีตกว่านั้นขึ้นไปจนถึงสละโลกทั้งสิ้น เพี่อบรรลุธรรมอันยิ่งกว่าโลกในที่สุด คำว่าโลกในที่นี้ ก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นๆ ของบทนี้ มิได้หมายโลกคือแผ่นดินแผ่นฟ้าและประชาสัตว์แต่ประการใด ผู้ต้องการสิ่งใดที่ดีกว่าประณีตกว่าโลกเมื่อพบแล้วก็จำต้องสละโลกอยู่ดี แต่เมื่อมีความอาลัยไม่ยอมสละ ก็จะไม่ได้ประสพสิ่งที่ดีกว่าประณีตกว่า ถ้าหากบังเอิญได้ประสพก็จะหลุดมือไปโดยเร็ว คนผู้ไม่ยอมสละโลกเพื่อได้ธรรมก็จะเป็นเหมือนบุรุษไม่ยอมทิ้งมัดป่านในเมื่อพบแก้วฉะนั้น มีนิทานเล่ามาว่า มีชาย ๕-๖ คน ได้ทราบข่าวว่าบ้านร้างแห่งหนึ่ง มีคนล้มตายไปด้วยโรคปัจจุบันจนหมดจึงชวนกันไปเก็บเอาทรัพย์ที่ถูกทอดทิ้งไว้ ชายคนหนึ่งพอไปถึงเรือนหลังแรก ได้เห็นมัดป่านก็ดีใจเหลือล้น ค่าที่ตนชอบถักแห จึงแบกเอามัดป่านนั้นไป ครั้นสอบค้นไปยังเรือนหลังอื่นๆ ก็ไปพบเงินทองและแก้วโดยลำดับกัน คนอื่นๆเขาทิ้งสิ่งที่เขาถือมาก่อนซึ่งมีค่าน้อยกว่าเสีย แล้วเก็บเอาสิ่งมีค่ามากกว่าไป ส่วนตาที่ชอบมัดป่านอ้างว่าได้แบกมานานแล้วจะทิ้งก็เสียดาย ครั้นจะเอาเงินทองหรือแก้ว ซึ่งเป็นสิ่งมีค่ากว่าเพิ่มขึ้น ก็เหลือกำลังของตัว จึงคงแบกมัดป่านกลับบ้าน คนอื่นๆ เขาร่ำรวยมีเงินทองแก้วเลี้ยงชีพเป็นสุขสืบไป ส่วนตาที่ชอบป่าน ก็ยังคงนั่งฟั่นป่านถักแหไปตามเดิม นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้จักสละสิ่งมีค่าน้อย เพื่อถือเอาสิ่งมีค่ามาก จึงจะมีสุขสมปรารถนา
เจริญอริยมรรคอริยมรรค คือข้อปฏิบัติสายกลาง ประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นข้อปฏิบัติประเสริฐนำไปสู่แดนสุขสมบูรณ์คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกคือเห็นอริยสัจ ๔ เป็นเหตุให้อยากพ้นทุกข์ไปสู่แดนสุขสมบูรณ์คือ พระนิพพาน
๒. สัมมาสังกัปโป ความคิดชอบ คือคิดออกจากกามคุณ (= โลก) คิดออกจากความเคียดแค้น คิดออกจากความเบียดเบียน
๓. สัมมาวาจา พูดชอบ คือประพฤติสุจริตทางวาจา ไม่มีเจตนาพูดให้ร้ายหรือทำลายประโยชน์ใคร
๔. สัมมากัมมันโต ทำการงานชอบ คือประพฤติสุจริตทางกาย ไม่มีเจตนาทำร้ายใคร ไม่ล่วงละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์และสามีภรรยาของผู้อื่น
๕. สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นมิจฉาชีพประกอบสัมมาชีพเลี้ยงชีวิต ไม่ยอมให้ชีวิตบังคับให้ประกอบกรรมบาปใส่ตัว คือไม่ยอมทำบาปเพราะชีวิตเป็นเหตุ
๖. สัมมาวายาโม พยายามชอบ คือพยายามละบาปอกุศล บำเพ็ญบุญกุศลใส่ตน ให้เป็นคนมีบุญมาก รุ่งเรืองด้วยบุญ
๗. สัมมาสติ นึกชอบ คือนึกดูความจริงอันมีในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม จนรู้ความจริงแจ่มแจ้ง
๘. สัมมาสมาธิ ความมั่นคงของใจถูกทาง คือจิตเป็นสมาธิตามหลักฌานมาตรฐาน ๔ ประการ เว้นการประกอบสมาธิในทางผิด ซึ่งเป็นไปเพื่อความผิดของข้อปฏิบัติทุกๆ ประการ
พระบรมศาสดาจารย์ตรัสว่า “มรรคมีองค์ ๘ นี้ สัมมาสมาธิเป็นองค์ประธาน
๑ เป็นประมุขนอกนั้นเป็นองค์ประกอบ” เพราะเมื่อบุคคลมีใจมั่นคง เที่ยงตรง มุ่งในทางถูกชอบแล้ว ความรู้เห็น ความคิดอ่าน การพูด การทำ การเลี้ยงชีพ ความพากเพียรและความรอบคอบ ย่อมเป็นไปทางเดียวกันหมด พุ่งสู่จุดหมายปลายทางที่ตนตั้งไว้ ย่อมจะบรรลุผลที่มุ่งหมายสมประสงค์โดยรวดเร็ว สัมมาสมาธิเปรียบเหมือนเข็มทิศประจำเรือเดินทะเลฉะนั้น ถ้าเข็มทิศดีการเดินเรือย่อมบรรลุถึงที่หมายปลายทางสะดวกฉันใด การปฏิบัติธรรมก็เป็นฉันนั้น
การฝึกฝนอบรมจิตใจตามวิธีเท่าที่ได้บรรยายมาในบทที่ ๑ จนถึงบทที่ ๔ นี้ ย่อมเพียงพอที่จะใช้เป็นเครื่องมือปลูกสร้างทิพยอำนาจได้แล้ว เพราะจิตใจที่ได้รับการอบรมตามวิธีที่กล่าวมา เมื่อสำเร็จภูมิรูปฌานที่ ๔ แล้ว ย่อมเป็นจิตใจที่มีลักษณะดีงาม นิ่มนวล เหนียวแน่นมั่นคงและบริสุทธิ์ผุดผ่อง ควรแก่การน้อมไปเพื่อทิพยอำนาจอย่างดี ถ้าท่านประสงค์ทิพยอำนาจใดๆ จะเป็นชั้นโลกีย์ก็ตาม ชั้นโลกุตตระก็ตาม ก็ย่อมจะสำเร็จได้ดังประสงค์ทุกประการ
แต่ว่ายังมีภูมิแห่งจิตใจอีกบางประการ ซึ่งเป็นอุปกรณ์อย่างดีแก่ทิพยอำนาจ เป็นเครื่องเล่นเพลิดเพลิน และบำรุงพลานามัยอย่างดีในพระพุทธศาสนา ควรศึกษาอบรมเพิ่มเติมอีก ดังจะได้อธิบายในลำดับต่อไปนี้
เจริญอรูปฌานอรูปฌาน เป็นภูมิจิตใจที่ประณีตยิ่งกว่าฌาน ๔ อันเป็นฌานมาตรฐาน ที่ได้แสดงแล้วในบทก่อนๆ ฌาน ๔ ประการนั้นท่านเรียกชื่อรวมว่ารูปฌาน แปลตรงๆ ว่าเพ่งรูป แต่ความจริงมิได้เพ่งรูปเสมอไป อารมณ์ คือข้อคิดคำนึงหรือพินิจเพื่ออบรมจิตใจให้เป็นสมาธิและเป็นฌานขั้นต้นนั้น ย่อมมีทั้งรูปธรรม ทั้งอรูปธรรม เช่น หมวดอสุภะเป็นรูปธรรม อุปสมานุสสติในหมวดอนุสสติเป็นอรูปธรรม เป็นต้น การที่ท่านเรียกว่ารูปฌานย่อมหมายถึงภูมิจิตใจเป็นประมาณ คือจิตใจในภูมินี้ยังแลเห็นรูปธรรมในมโนทวารได้ แม้อัตภาพของตนเองก็เป็นรูปธรรม และปรากฏแก่จิตใจอยู่ตลอดมา จนถึงฌานที่ ๔ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดในหมวดรูปฌาน ส่วนอรูปฌานนั้นอารมณ์ที่นำมาคิดคำนึงก็เป็นอรูปธรรม เมื่อจิตใจสงบเข้าถึงขีดขั้นของอรูปฌาน แม้ชั้นต้นคืออากาสานัญจายตนะก็จะไม่สามารถแลเห็นรูปธรรมในมโนทวาร แม้อัตภาพของตนเองก็ปรากฏเป็นอากาศไปไม่เห็นรูปร่างเหมือนในรูปฌาน ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าอรูปฌาน ความแปลกต่างกันแห่งรูปฌานกับอรูปฌานมีเพียงเท่านี้ ต่อไปนี้จะได้อธิบายเป็นข้อๆ ผู้ต้องการเจริญพึงศึกษาสำเหนียกตามให้ดีดังต่อไปนี้
๑. องฺ สตฺตก ๒๓/๔๒